fbpx

[ความน่าจะอ่าน] โลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งความเป็นเจ็บใน ‘เราต่างงดงามแล้วจางหาย’

*มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญในหนังสือ

ฉันเริ่มอ่าน ‘เราต่างงดงามแล้วจางหาย’ ในร้านทำผมชุมชนด้วยความบังเอิญ และเพียงบทแรกที่นำพาฉันไปพบกับแม่และเจ้าหมาน้อย ร้านทำผมในประเทศไทยก็ดูจะกลายเป็นห้องสมุด เป็นหลุมหลบภัย เป็นบ้าน เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เหลื่อมซ้อนกันกับวรรณกรรมมหาสมุทรของนายมหาสมุทร หรือ โอเชียน วอง (Ocean Vuong) ผู้ที่เขียนวรรณกรรมเล่มนี้ในตู้เสื้อผ้า และเขียนด้วยมือ

ฉันจะเริ่มเล่าเรื่องนี้โดยเขียนจากสิ่งที่ได้อ่านไปทีละบท นี่คือบทแรก I. เริ่มอ่านจากหน้าแรกถึงหน้า 82

ดังนั้นฉันจึงไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องราวย่อๆ ทั้งหมดได้อย่างไร ได้แต่บอกว่ามันเป็นเรื่องราวของครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนพยายามจะใช้ชีวิตกันในความจำกัดจำเขี่ยของความรัก ไม่ว่าโลกจะพยายามผลักพวกเขาออกไปให้ห่างไกลเสียเท่าไหร่ ความ ‘มีกันแค่นี้’ ก็ทำงานเหมือนตัวอักษรสวยงามที่ทั้งนักเขียนและนักแปลจับวางใส่แผ่นกระดาษ เต้นรำตามกันจนเป็นเรื่องราวที่หากใครอ่อนไหวหน่อยก็อาจจะห้ามน้ำตาไม่ให้ไหลได้ยากในบางช่วงตอน

หนังสือเล่มนี้คือจดหมายจากลูกชายถึงแม่ผู้ที่จะไม่มีวันได้อ่านเพราะหล่อนอ่านหนังสือไม่ออก เจ้าหมาน้อยในวัยยี่สิบกว่าจำอะไรได้บ้าง ในเวียดนามบ้านเกิดหลงเหลืออะไรให้จดจำ ในอเมริกาบ้านไม่เกิดไม่ควรจดจำอะไรแต่ก็จำได้จนขึ้นใจ ถิ่นฐานใหม่ของพวกเขาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรืออยู่ในโลกแห่งความเป็นเจ็บ

ประวัติศาสตร์ผ่านผู้น้อย ผู้น้อยกว่า ผู้น้อยที่สุดที่ยิ่งเล่าสวยงาม ยิ่งเล่ายิ่งรู้ว่าผู้เขียนละเอียดกับความเจ็บปวดจนน่าเหลือเชื่อ

I. เราต่าง

    แม้จะไม่ใช่นักวิชาการหรือนักมานุษยวิทยา แต่ฉันนึกถึงเรื่องมานุษยวิทยาของความเป็นพื้นที่ใน 82 หน้าแรกที่ได้อ่าน มันเชื่อมโยงกับชีวิต มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ และมีมิติของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์ไว้กับพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่พื้นที่เปล่าๆ ที่มีความหมายในเชิงภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่มีความหมายที่เกิดขึ้นจากมนุษย์และสิ่งต่างๆ ที่อาจจับต้องไม่ได้ และจำเป็นที่ต้องใช้ความรู้สึกในการอธิบายปฏิสัมพันธ์ของความหมายระหว่างกัน

    เจ้าหมาน้อย ยายลาน และแม่เดินทางอยู่ในสงคราม ในบ้าน ในร้านทำเล็บ ในโรงเรียน ในห้างสรรพสินค้า บนถนน ในสงครามที่ตัวเองไม่ได้ถือปืนจุดระเบิด แต่ถูกสะเก็ดระเบิดเพราะทหาร (ที่ดูเหมือนจะ) เป็นสมาชิกของบ้านนำสงครามใส่กระเป๋ากลับมาด้วย

    ทุกพื้นที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากความทรงจำที่สอดไส้ความงดงามของชีวิตภายใต้ความโหดร้าย ทุกพื้นที่ชีวิตคือพื้นที่ทางจิตใจที่แม้แต่เรื่องง่ายๆ น่าหัวเราะ ก็จัดลำดับชนชั้นและมุมมองที่มนุษย์มองไม่ทันโลกอีกด้าน เช่น ยามที่แม่ทำเล็บลูกค้าชาวอเมริกันในร้านที่เต็มไปด้วยพนักงานชาวเวียดนาม แล้วหล่อนร่ำไห้ถึงจูเลีย แม่เทอารมณ์ร่วมไปกับหล่อน แล้วจึงค่อยค้นพบทีหลังว่าลูกค้าชาวอเมริกันคนนี้พูดถึง ‘ม้า’ ที่เป็นมะเร็งตายในสวน

    แม่พูดเป็นภาษาเวียดนาม “ไอ้ฉิบหาย ฉันเตรียมจะเอาดอกไม้ไปวางหลุมศพลูกสาวเธออยู่แล้ว!” ทั้งวันหลังจากนั้น ระหว่างทาเล็บลูกค้าคนอื่นๆ แม่จะเงยหน้าขึ้นมา ตะโกนว่า “แม่งคือม้าว่ะ!” แล้วพวกเราก็จะหัวเราะกันถ้วนหน้า”  น.21

    ฉันพบโลกที่กว้างและขมขื่นในซีนเล็กๆ ซีนนี้ ความตายของคนและความตายของม้าที่เลี้ยงอย่างดีในสวนหลังบ้านมีค่าไม่เท่ากันหรอก หากไม่เข้าใจว่าการหนีตายจริงๆ คืออะไร นี่คือความแตกต่างทางชาติพันธุ์ พื้นที่ ความเป็นชุมชน ความตลกเสียดสี สีสันของชีวิตที่มองความตายในประสบการณ์ที่มีความโหดร้ายต่างกันสูง 

    และภาษา

    แม่พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย คุยกับลูกค้าได้ และพอฟังเข้าใจ ภาษาที่แม่ใช้สื่อสารกับลูกค้าและเพื่อนพนักงานด้วยกันต่างกันในแง่ของความเป็นทางการและชนชั้นทางสังคม ภาษาที่แม่ใช้สื่อสารกับยายและลูกต่างกันในแง่ของความยอมจำนน ความอ่อนแอ สั่งการ ลุแก่อำนาจ แต่ล้วนเปราะบาง เพราะครอบครัวที่เหลืออยู่เป็นทั้งชีวิตที่เหมือนนกปีกหักของแม่ ยายเป็นเสมือนลมใต้ปีกและโครงกระดูกที่ช่วยพยุงให้อยู่ได้ในอากาศ ส่วนเจ้าหมาน้อยคือดวงตา ขนนก และจิตวิญญาณในการบินที่เย็บซ่อมปีกของแม่อยู่เสมอ

    “พูดอังกฤษสิวะ” เด็กชายผมเหลืองทรงหัวเห็ดพูด พวงแก้มเขาสีแดงเรื่อและกระเพื่อมไหว

    กำแพงที่อำมหิตที่สุดทำจากกระจก แม่ฮะ ผมปรารถนาจะทะลุบานกระจก พุ่งตัวออกทางหน้าต่างบานนี้

    “เฮ้ย” เด็กแก้มยุ้ยโน้มตัวเข้ามา ปากที่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวของเขาระแก้มผม “มึงพูดอะไรหน่อยสิวะ พูดอังกฤษไม่เป็นหรือไง” น. 34

    “เป็นลูกผู้ชายประสาอะไร” ควันแทรกตัวออกมาจากสองมุมปาก “แกไม่ทำอะไรเลย” แม่ยักไหล่ “นอกจากยอมพวกมัน”

    ผมคิดถึงหน้าต่างนั่นอีกครั้ง คิดว่าทุกอย่างดูราวกับกระจกหน้าต่าง กระทั่งไออากาศระหว่างเรา

    แม่คว้าสองไหล่ผม หน้าผากแม่ดันหน้าผากผม “หยุดร้องไห้ได้แล้ว แกร้องไห้ตลอดเลย!” แม่อยู่ใกล้จนผมได้กลิ่นขี้เถ้าและยาสีฟันแทรกผ่านร่องฟันแม่ “ยังไม่มีใครแตะตัวแกเลย หยุดร้อง—ฉันบอกให้หยุดไง ให้ตายสิ!”

    แรงตบที่สามของวันเหวี่ยงสายตาผมไปอีกฝั่ง จอโทรทัศน์กะพริบถี่ก่อนผมจะหันขวับไปเผชิญหน้าแม่ ดวงตาแม่วิ่งวนทั่วหน้าผม

    แล้วแม่ก็ดึงตัวผมเข้าไป คางผมกดแน่นบนไหล่แม่

    “แกต้องเอาตัวรอดให้ได้ ไอ้หมาน้อย” แม่พูดใส่หัวผม “แกต้องรอดให้ได้ เพราะแม่ไม่ภาษาอังกฤษไปช่วยแก แม่บอกให้พวกมันหยุดไม่ได้ แกต้องหาทางให้ได้ ถ้าแกไม่ทำก็ไม่ต้องมาเล่าให้ฉันฟังอีก ได้ยินไหม” แม่ผละออก” น.36

    แต่ละหน้า ภาษาของโอเชียนทำงานอย่างแท้จริง ทำงานอย่างหนัก และทำงานอย่างปลอบประโลม ทั้งปลอบประโลมผู้เขียน ผู้อ่าน และตัวละครที่อยู่ในเรื่อง ทุกช่วงตอนมีความโหดร้าย มีความงดงาม และจางหาย เหมือนกับที่ผู้แปลและจัดทำหนังสือคลอดมันมาออกมาจากชื่อภาษาอังกฤษ ‘On Earth We are Briefly Gorgeous’ 

    ฉันนั่งเจ็บใจในร้านทำผมเมื่ออ่านทุกถ้อยคำและการกระทำที่แม่ทำร้ายลูก ช่างทำผมกำลังบรรยายการไดร์ผมสีดำของลูกค้าหญิงสาววัยกลางคน ฉันไม่เคยเกิดมาในครอบครัวที่มีความรุนแรงในระดับหนักหนา เป็นครอบครัวชาวเอเชียที่พ่อแม่ตีตามระบบคุ้นชินทางวัฒนธรรม หากใครได้อ่านจะรู้ว่าเหตุการณ์ที่มีแรงตบแรงตีจากแม่สู่ลูกเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ราวกับแสงวิบวับลอดใบไม้ที่มีลมไหว แต่ยิ่งเล่าถึงการถูกตบตีและบาดแผลมากเท่าไหร่ ความอ่อนไหวของแม่ก็ค่อยปริแตกแบบสโลว์เบิร์นมากขึ้นเท่านั้น 

    แต่เมื่อมีฉากที่บรรยายถึงพอล คุณตาที่อ่อนโยน คนรักของยาย ตัวละครกึ่งลับกึ่งสำคัญที่เกี่ยวพันกับเส้นเรื่องหลักพอสมควร ก็เหมือนกับเป็นความปราณีของโอเชียนที่มีให้กับผู้อ่านอยู่บ้าง เพราะตามีส่วนผสมที่คล้ายกับเจ้าหมาน้อยอย่างน่าประหลาด เขารับหน้าที่เป็นผู้ค้นพบผู้ที่ถูกกดขี่

    ผู้ค้นพบว่าหลานผู้ถูกกดขี่ร้องไห้และเข้าไปโอบกอด ถามว่าเป็นอะไร และยิ้มให้กับความกร้านชีวิตของเด็กวัยห้าขวบ ไม่ใช่ความรักแบบมาเฟียและกอดไว้เหมือนความรักของแม่ ตาไม่ได้ทิ้งให้เขาไร้ตัวตนและหาทางรอดให้สมกับชื่อเจ้าหมา แต่ตายังปกป้องเขาจากคนอื่นๆ ที่มองว่าหลานเป็นอื่น ดังฉากที่เขาออกไปเดินเล่นด้วยกันแล้วมีผู้หญิงผมบลอนด์มองว่าหลานเป็นแค่เด็กจูงหมา

    แต่ตาบอกว่า นี่คือ “หลานชายผม” “จำไว้ด้วยนะครับ”

    “เรามุ่งหน้ากลับบ้าน ไม่พูดคุยกัน หลังบ้านทาวน์เฮาส์สีขาวพวกนั้น มีต้นสปรูซแถวหนึ่งเรียงรายอยู่ ชูตัวตรง แน่นิ่งอยู่คู่กับท้องฟ้าสีแดง เท้าของเจ้าบีเกิลครูดกับพื้นคอนกรีต โซ่กระทบกันจนเกิดเสียงขณะที่มันดึงเรากลับบ้าน แต่เสียงเดียวที่ผมได้ยินคือเสียงของพอลในหัวผม หลานชายผม นี่หลานชายผมเอง” น.78

    และความอบอุ่นที่สร้างมาจากความปวดร้าวในอดีตของแม่ ยาย ตา หรือเจ้าหมาน้อยก็รัดพวกเขาไว้ในอ้อมกอดของคำว่า ‘ครอบครัว’ อีกทีหนึ่ง ครอบครัวที่เป็นผลพวงมาจากสงคราม

    ทั้งสงครามภายในและสงครามภายนอกที่เกิดขึ้นจริง

    ฉันในฐานะผู้อ่านอาจจะยังไม่ทันเข้าใจว่าซ้ายขวาหน้าหลังของอดีตและเหตุการณ์ที่เล่าถึงคืออะไร สงครามอะไร ทหารจีไออะไร ยูเอ๊ต เออะไร ใบอนุญาตติดอาวุธประจำการอะไร ปืนไรเฟิลอะไร เด็กหญิงสาวผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร แต่ที่แน่ๆ คือมีคนเจ็บปางตาย ทั้งจากสงครามและจากสิ่งที่สงครามพรากเอาไป ความ ‘อะไร’ เหล่านี้ถูกเล่าผ่านยายผู้เป็นหญิงฉี่ราด ผ่านภาษาที่ถ่ายทอดความหน้าตายภายใต้ความปกติ ซื่อสัตย์กับความเป็นจริงและละเอียดกับบรรยากาศเหล่านั้น

    “หญิงสาวยืนอยู่ในวงล้อมของฉี่ตัวเอง ไม่หรอก เธอกำลังยืนอยู่บนจุดมหัพภาคขนาดเท่าชีวิตในประโยคตัวเอง ยังไม่หมดลมหายใจ…” น. 55 

    ฉันอ่านประโยคนี้ในร้านทำผมแล้วร้องโอ้แบบไม่มีเสียงออกมา เสียงไดร์เป่าผมอื้ออึงในร้านแคบ ยายผมสีดอกเลานั่งหน้าตาสงบอยู่กับช่างทำผมอีกคน

    “…เด็กหนุ่มหันหลัง เดินกลับไปประจำการที่ด่านตรวจ เด็กหนุ่มอีกคนแตะหมวกเหล็กของตนและพยักหน้าให้เธอ เธอสังเกตว่านิ้วของเขายังอยู่บนไกปืน มันเป็นประเทศที่หมดจดงดงาม เพราะแม่ยังคงอยู่ที่นั่น เพราะชื่อของแม่คือโรส และแม่คือแม่ของผม และปีนั้นคือปี 1968— ปีนักษัตรลิง

    หญิงสาวก้าวไปข้างหน้า เดินผ่านทหารยามไป เธอเหลือบมองปืนไรเฟิลครั้งสุดท้าย สังเกตเห็นว่าปากกระบอกไม่ได้มืดดำไปกว่าปากของลูกสาว แสงไฟกะพริบเพียงครั้ง แล้วส่องสว่างอยู่อย่างนั้น” น.55,56

    ดังนั้นจึงถือว่าในบทแรก ฉันเอาใจช่วยเจ้าหมาน้อย สงสารตาผู้ต้องประสบกับความเป็นคนนอกแต่อยู่ใน เอ็นดูยาย และพยายามเข้าใจแม่อย่างมากมายและปวดใจตามไปด้วย

    โอเชียน วองเคยถูกสัมภาษณ์ว่าเขาโกรธหรือเปล่าที่โดนกระทำแบบนั้นตอนยังเล็กๆ เขาตอบว่าเขารู้สึกถึงมัน แต่ไม่แสดงออก เมื่อต้องอยู่กับผู้สูงอายุที่เป็น PTSD (โรคจิตเภทที่เกิดขึ้นจากการเจอภาวะหรือสถานการณ์สะเทือนขวัญ) หรือในสังคมคนผิวดำที่ความโหดร้ายทารุณของตำรวจมีให้เห็นทั่วไป เขาเห็นว่าโทสะจะเป็นจุดสิ้นสุดของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และในฐานะนักคิด นักเขียน เขาจะทำประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเขาถามตัวเองว่า แล้วจะเอายังไงต่อ แล้วเราทำอะไรได้บ้าง และเขาก็พยายามที่จะเขียนหนังสือจากชุดคำถามเหล่านี้

    II. งดงาม

    สองสิ่งที่ฉันไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในบทที่สอง คือ หนึ่ง สูบบุหรี่ขณะอ่านแล้วเจอฉากเจ้าหมาน้อยทำงานในไร่ยาสูบ และสอง การตั้งชื่อตอนที่สองว่างดงามในช่วงที่เจ้าหมาน้อยรู้สึกว่าตัวเองงดงามพอดีเพราะมีชายหนุ่มแล้ว

    ในบทนี้ โอเชียน วองยังเล่าเรื่องแรงงานร่าเริงภายใต้ความร้าวรานได้อย่างน่าประทับใจ เขาเล่าถึงตัวละครต่างๆ ที่ทำงานในไร่ยาสูบ ลักษณะของสถานที่ทำงาน ชาติพันธุ์ ภาระผูกพัน และการกดหัวตัวเองจมยอมกับระบบและความถ่มถุยของโลกอเมริกาที่ไม่ใช่ของพวกเขาแต่แรก เสมอ และตลอดไป

    และอย่างที่เล่าไปในตอนแรก การใช้ภาษามาเป็นตัวแสดงหลักอีกตัวนอกจากแม่ ยาย และเจ้าหมาน้อย ก็ยังโดดเด่นและลากผู้อ่านให้เข้าไปกล้ำกลืนกับความเป็นแรงงานในไร่ยาสูบผ่านชุดคำเพียงไม่มีคำ สลับแทรกด้วยซีนเดิมๆ ในร้านทำเล็บที่มีแม่และเจ้าหมาวนเวียน เป็นและไม่เป็นตัวเองอยู่ในนั้น แล้วค่อยขยายความคำคำเดียวให้เป็นจักรวาลของความพิสดารมนุษย์

      “คำภาษาอังกฤษที่พูดกันเป็นปกติที่สุดในร้านทำเล็บคือ ขอโทษ มันคือคำสร้อยที่เป็นใจความสำคัญของงานเสริมสวย ครั้งแล้วครั้งเล่า ผมมองช่างทำเล็บโค้งตัวเหนือมือเหนือเท้าของลูกค้าที่บางครั้งก็เป็นเพียงเด็กเจ็ดขวบพูดว่า “ขอโทษค่ะ ฉันขอโทษ ขอโทษมากจริงๆ” ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ผมเคยเห็นคนงาน รวมถึงแม่ กล่าวขอโทษเป็นสิบๆ หนระหว่างเวลาสี่สิบห้านาทีของการทำเล็บมือ หวังจะได้รับน้ำจิตน้ำใจที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือทิป— เพื่อจะกล่าว ขอโทษ อยู่ดี แม้ไม่ได้รับมัน

      ในร้านทำเล็บ เราประจบด้วยคำ ขอโทษ จนมันกลายเป็นอัตราแลกเปลี่ยน เราไม่ได้พูดเพียงเพื่อจะขอโทษ แต่เพื่อยืนยัน ย้ำเตือนว่า ฉันอยู่ที่นี่ ตรงนี้ ข้างใต้คุณ” น.102

      จากนั้นจึงเชื่อมร้อยไปยังคำว่า “โล เซียนโต” (ขอโทษ ในภาษาสเปน) ที่แมนนี แรงงานในไร่ยาสูบเอ่ยขึ้นต่อหน้าเจ้านายและสถานการณ์อื่นๆ เพราะคำขอโทษเป็นอำนาจ เป็นประเทศมหาอำนาจที่จะเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในประเทศนั้นมีกิน มีที่ทางอยู่ได้แม้ไม่ถูกยอมรับ อยู่ได้แม้ตัวเองจะไม่ได้ทำผิดอะไร แต่การเอ่ยขอโทษไว้ก่อนคือสัญชาตญาณเอาตัวรอด คำพูดง่ายๆ ขอโทษในทุกๆ วัน

      และภายใต้ของการถูกเหยียบหัวทางเชื้อชาติที่เด่นชัด โอเชียนเขียนให้เรารู้ว่าตัวละครสามารถเหยียบหัวตัวเองได้อย่างช่ำชองโดยไม่คณามือ เหยียบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ถ้ามันจะทำให้คนที่พวกเขารักมีชีวิตรอดได้อย่างดี ความครุ่นคิดกับชีวิตแบบนักปรัชญานั่งเท้าคางถูกส่งผ่านออกมาในรูปแบบของการเอาชีวิตรอดไปวันๆ ผ่านอาชีพอันไร้ศักดิ์ศรี ผ่านความซ้ำซากจำเจในดงต้นยาสูบที่สูงท่วมหัวจนมองไม่เห็นท้องฟ้า

      เงินเป็นสิ่งสำคัญแต่ก็เป็นแค่กระดาษที่ดูเหมือนจะสำคัญ เสมือนว่าพวกเขามองเห็นความหมายที่แท้จริงของมัน เป็นสิ่งที่อยากได้มาก แต่มันก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือคุณค่าอื่นๆ 

      “ผมคิดถึงพวกคนงานเหงื่อท่วม กำลังเล่นมุกตลก และร้องเพลงอยู่ข้างผมในไร่ยาสูบสุดลูกหูลูกตา คิดถึงจอร์จ ผู้ต้องเก็บเงินอีกพันดอลลาร์ หรือทำงานอีกประมาณสองเดือน ก็จะซื้อบ้านนอกกัวดาลาฮาราให้แม่ของเขาได้ คิดถึงแบรนดอน ผู้กำลังจะส่งลูซินดา ลูกสาวอายุสิบหก ไปเรียนเป็นหมอฟันที่มหาวิทยาลัยในเม็กซิโกซิตี้อย่างที่เธอฝันมาตลอด คิดว่าอีกเพียงหนึ่งฤดูเก็บเกี่ยว แมนนีจะได้กลับไปหมู่บ้านริมทะเลในเอลซัลวาดอร์ ลากไล้ปลายนิ้วเหนือแผลเป็นบนกระดูกไหปลาร้าของแม่เขา ตรงจุดที่เนื้องอกควรจะถูกผ่าออกด้วยเงินจากการเก็บใบยาสูบบนแผ่นดินคอนเนกติคัต เขาจะเอาเงินเก็บที่เหลือซื้อเรือแล้วออกไปตกปลากระโทงเสี่ยงโชค สำหรับพวกเขา ขอโทษ คือหนังสือเดินทางให้ได้อยู่ต่อ” น.103,104

      ชีวิตของเจ้าหมาน้อยในไร่ยาสูบผลิบานเหมือนสีชมพูหวานจ๋อยของดอกยาสูบ เพราะเขาได้พบกับเทรเวอร์ หลานชายของนายใหญ่ ผู้หลบพ่อติดเหล้ามาทำงาน ผู้ที่ ‘มองเห็น’ หางที่ลู่ตกของเจ้าหมาและเข้ามาพูดคุย หยอกล้อ แรปโย่ว ร่วมเดินทาง และทำให้เขาค้นพบความงดงามในตัวเอง

      ความโรแมนติกแทรกตัวอยู่ในซี่ล้อจักรยาน รถกระบะ ทางลูกรัง มวนกัญชา เพลงแรป ใต้ผ้าห่ม และกิจกรรมบนเตียงที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองในรูปแบบมนุษย์ที่มีเนื้อหนังมังสาจริงๆ งดงามแล้ว รู้สึกว่าตัวเองงดงามแล้ว แต่ก็ยังเหมือนอยู่คนเดียว ฉากความรุนแรงที่บ้านแทรกเข้ามาเป็นพักๆ เช่นเคยเหมือนกำลังฝันร้าย คล้ายตอนที่อยู่กับครอบครัว มีแค่ตาเท่านั้นที่เพิ่งเครื่องหมายบวก นอกนั้นเป็นลบหรือไม่ก็หาร  

      เทรเวอร์สอนบทเรียนชีวิตผ่านความกำหนัด วัยเยาว์ที่แตกหน่อ และความศิโรราบที่ไม่ได้ดูวิกฤตมากนัก อาจจะเพราะต่างฝ่ายต่างมองหาความเป็นเพศที่ซ่อนอยู่ในนิยามของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ความอับอายของชายแท้ ความอยู่เป็นของชายเกือบแท้ เจ้าหมาน้อยชอบบอกให้เทรเวอร์ทำแรงๆ เพราะนี่เป็นวิธีการเรียนรู้ของเขา ชีวิตสอนให้หาตัวตนและความสวยงามผ่านแรงตบ การถูกทำร้าย การสยบยอม แต่เหนือไปกว่านั้นคือการพยายามที่จะอยู่กับมันโดยไม่คร่ำครวญเพ้อคลั่ง เหมือนเขาค่อยๆ ค้นพบศิลปะผ่านการรู้จักยอม และเทรเวอร์ก็อาจจะอ่อนลงอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเห็นว่าเจ้าหมาน้อยไม่เคยทำร้ายใคร 

      “ผมจะเรียนรู้ในไม่ช้า ว่าการจำนนเป็นอำนาจชนิดหนึ่ง เพื่อจะอยู่ในความสำราญ เทรเวอร์ต้องการผม มันคือศิลปะ เขาจะเคลื่อนขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับว่าผมต้องการเว้นที่ให้เขาหรือไม่ เพราะไม่อาจลอยขึ้นได้โดยไม่มีสิ่งใดอยู่เบื้องล่าง ใต้การจำนน เราคุมบังเหียนได้โดยไม่ต้องอยู่สูงกว่า” น.130

      ฉันอ่านบทนี้ในร้านหนังสือ บุหรี่หมดไปสองมวนและพลิกหน้ากระดาษด้วยความรวดเร็วเพราะลุ้นให้เจ้าหมาน้อยมีความสุข เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดตั้งแต่เริ่มอ่าน ดีใจที่ในหน้า 130 ก็มีคนพูดเสียทีว่าเขาไม่ต้องกลัวอะไรเพราะเป็นคนฉลาด ไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรเลย เพราะโอเชียนทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้เรียกร้องอะไร ไม่ตะโกนออกมาดังๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือบอกว่าชีวิตตัวเองช่างน่าเวทนามากแค่ไหน

      มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างบรรทัด ท่ามกลางบริบทของคนอื่น นี่คือการเล่าผ่านมุมมองของเจ้าหมาน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับเหมือนถูกทำให้จมลงในเรื่องเล่าของตัวเองโดยคนอื่น ดังนั้นเมื่อมีฉากเทรเวอร์เข้ามา มันทำให้ฉันปลาบปลื้มใจ อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในหน้าหนังสือให้นานและเร็วที่สุด เพราะก็หวาดกลัวว่าเมื่อความลับนี้ไปถึงแม่ ความเจ็บปวดจะอุบัติซ้ำ

      แต่ก็ผิดคาด โอเชียนเหนือชั้นกว่านั้น เขามีวิธีการถ่ายเทอำนาจในการเล่าเรื่องที่บางครั้งก็เหมือนหยดน้ำทีละหยดในเครื่องกรองรุ่นเก่า บางครั้งเหมือนน้ำกระฉอกจากการวางแก้วแรงจนเกินไป บางครั้งเหมือนปื้นน้ำยามฝนตกที่รถยนต์แล่นฉิวโดยไม่ทันระวังจนเหยื่อบนฟุตบาทเปียกปอนไปด้วยโคลนและรอยเท้าที่เก็บชีวิตของใครสักคนมาทั้งวัน มันหนักอึ้งและเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์

      เขาหยิบ ‘กระโปรง’ มาเป็นสัญลักษณ์ก่อน เรื่องที่ง่ายที่สุดแต่ก็แยบยลที่สุดที่แม่จะคิดได้ แม่ถามเจ้าหมาน้อยหลังจากที่เขาบอกว่าตัวเองชอบผู้ชาย ว่าทีนี้แกจะใส่กระโปรงแล้วใช่ไหม จากนั้นจึงเป็นความหวาดกลัวว่าลูกชายจะโดนฆ่า จากนั้นจึงเป็นความหวาดกลัวว่าแล้วแม่จะอยู่กับใคร

      ทั้งบทที่หนึ่งและบทที่สอง นอกจากภาษา เครื่องหมายทั้งหลายก็ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ทั้งจุลภาคหรือมหัพภาค โอเชียนไม่ทิ้งสิ่งของที่ไม่มีชีวิตหลังจากที่มอบชีวิตให้มัน เช่น กระโปรง หลังจากที่แม่ตั้งคำถามว่ากระโปรงจะนำพาความฉิบหายมาให้ลูกเพราะรสนิยมทางเพศของลูก ในปลายบท เขาก็เขียนอธิบายฉากที่เจ้าหมาน้อยเอากระโปรงสีไวน์แดงมาใส่เพื่อเต้นรำในโรงบ่มไวน์เก่าต่อหน้าชายหนุ่มที่นั่งพิงยางรถยนต์และดูดปุ๊นไปด้วย ใส่ความหมายและความแตกต่างสุดขั้วลงไปในสิ่งของที่เป็นภาพแทนของความเป็นหญิง ให้ภาพที่สวยงาม และให้ภาพที่บิดเบี้ยวคล้ายตอนหมุนตัวกระโปรงพลิ้ว ที่อาจจะสวยงามถึงตายหากผู้ที่สวมใส่เป็นคนเวียดนามอพยพ เป็นแค่ลูกจ้างในไร่ยาสูบ เป็นลูกของลูกจ้างในร้านทำเล็บ และเป็นเควียร์

      แต่เขาเป็นมนุษย์ เป็นลูกของแม่ เป็นหลานของยาย และเป็นที่รักของใครสักคนที่อาจไม่ได้เอื้อนเอ่ยคำรักนั้นออกมา

      สำหรับฉันนี่คือบทแห่งความกล้าหาญ ทั้งการออกไปเผชิญโลกวัยหนุ่ม เอาตัวเองเข้าไปใกล้เคียงกับความรักให้ได้มากที่สุดของเจ้าหมาน้อย (ซึ่งเขาก็ทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว) และการ come out กับแม่ และแม่เองก็เป็นตัวแทนของผู้กล้าในทุกๆ สถานการณ์ (เหมือนที่แม่ทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว) เพราะการเอาชีวิตรอดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

      หล่อนแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เป็นความลับเหมือนกันกับลูก ว่าลูกเคยมีพี่ชายตอนที่แม่ยังไม่พร้อม และต้องไปทำแท้ง ถ่ายทอดความเจ็บปวดของแม่ให้ฟังเหมือนกัน ความกดดัน ความอดอยาก ความวัยรุ่นที่โดนริบชีวิต หลังจากนั้นแม่ก็รำลึกถึงวิญญาณของพี่ชาย แล้วก็อ้วก

      เจ้าหมาน้อยเป็นดั่งแอ่งน้ำศักดิ์สิทธิ์และถังขยะที่แม่จะใส่อะไรลงไปในนั้นก็ได้ เพราะสุดท้ายมันกลายเป็นจะแอ่งน้ำและถังขยะที่จดจำเรื่องราวของแม่ไว้และแปลสารออกมาเป็นวิธีการอยู่ร่วมกับแม่เอง

      “ผมอ่านมาว่า ตามประวัติศาสตร์ ความงามเรียกร้องการทำซ้ำ เราผลิตซ้ำสิ่งที่คิดว่าน่าพึงใจในเชิงสุนทรียะ ไม่ว่าจะเป็นแจกัน ภาพวาด ถ้วยไวน์ บทกวี เราผลิตซ้ำเพื่อที่จะเก็บมันไว้ ยึดมันข้ามผ่านเวลาและพื้นที่ การจ้องมองสิ่งที่เราพึงใจ— ทั้งภาพวาดฝาผนัง ทิวเขาสีส้มแดง เด็กหนุ่มคนหนึ่ง และไฝบนกรามเขา— คือการทำซ้ำในตัวมันเอง” น.150

      โอเชียน วองเล่าในรายการสัมภาษณ์ Late Night with Seth Meyers ว่าแม่เขามาร่วมงานอ่านหนังสือ หลังอ่านจบผู้คนยืนขึ้นปรบมือให้เขายกใหญ่ แต่แม่กลับร้องไห้อย่างหนักแล้วบอกว่า เธอไม่อยากจะเชื่อว่าใช้ชีวิตมาจนถึงจุดที่เห็นพวกคนขาวหัวหงอกพวกนี้ปรบมือให้กับลูกชาย

      III. แล้วจางหาย

        “ผีเสื้อตัวหนึ่งถูกย้อมเป็นสีชมพูด้วยโมงยามหนึ่ง ถลาลงเกาะใบเรียวยาวของหญ้าหวานใบหนึ่ง แล้วจึงโผบิน ใบแหลมกระตุกหนึ่งครั้งแล้วนิ่ง ผีเสื้อตัวนั้นพุ่งทะยานจนสุดสนาม สองปีกคล้ายมุมหนังสือนวนิยาย Suala ของโทนี มอร์ริสัน ที่ผมพับแล้วพับอีกจนมุมเล็กๆ ขาดลงในเช้าวันหนึ่งที่นิวยอร์ก ปลิวตกลงบนท้องถนนเจิ่งนอกกลาวฤดูหนาว มันเป็นหน้าที่อีวาราดน้ำมันใส่ลูกชายขี้ยา แล้วจุดไม้ขีดเพื่อแสดงออกถึงความรักและกรุณา สองสิ่งที่ผมทั้งหวังจะทำให้ได้—และไม่ต้องรู้จักมัน

        ผมหรี่ตามอง มันไม่ใช่ผีเสื้อจักรพรรดิ — เป็นเพียงเงาสีขาวจางๆ ที่พร้อมจะจากไปเมื่อความหนาวยะเยือกเฮือกแรกมาถึง แต่ผมรู้ว่าพวกผีเสื้อจักรพรรดิอยู่ไม่ไกล ปีกสีส้มสลับดำจะพับลง เปื้อนฝุ่น อุ่นแดด พร้อมบินลงใต้ เส้นแสงสนธยาถักทอโครงร่างเราเป็นสีแดงเข้ม” น.232,233

        ในบทสุดท้ายตั้งแต่หน้า 174-251 ฉันรู้สึกว่าตัวเองถูกดึงรั้งไปมาในสำนึกของผีเสื้อจักรพรรดิ ลิงมาคาก หรือแม่วัวที่คอนเน็คติคัต บทสุดท้ายนี้เป็นบทของความตายของทั้งยายลานและเทรเวอร์ เช่นเคย เขาเล่าถึงการจากไปในความหมายของการดำรงอยู่ เล่าให้มันไม่เป็นปัญหาของผู้ใดแต่ต้องมีคนรับผิดชอบกับความเศร้าที่หลั่งไหลออกไปสู่โลก

        ฉันชอบที่เขาเล่าถึงสารออกซิคอนติน ยาแก้ปวด หรือเฮโรอีนอัดเม็ดเหมือนกับที่เล่าถึงกระโปรงในบทที่สอง นั่นเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้อีกคนตาย แต่ทำให้อีกคนคลายเจ็บปวดก่อนตาย เป็นตัวกลางที่เชื่อมเจ้าหมาน้อยเอาไว้ในความรัก แต่ไม่ได้เชื่อมตรงๆ ออกซิคอนตินเชื่อมกับเทรเวอร์ ความตาย แล้วค่อยเป็นเจ้าหมาน้อย ออกซิคอนตินเชื่อมกับยาย แม่ ป้ามาย แล้วค่อยเป็นเจ้าหมาน้อย 

        แล้วเจ้าหมาน้อยเองก็เชื่อมตัวเองไว้กับความเป็นสารเสพติด เขียนเล่ามันให้แม่ฟังว่าตัวเองอาจมีสารเคมีผิดตัว หรือไม่ก็มีสักตัวน้อยเกินไป เขาพูดถึงโรคไบโพลาร์ และใช้ศิลปะของนักเขียนข้ามจากเรื่องความเศร้าไปสู่การหาเงินจากความเศร้า ‘ผมอยากเจอมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากความทุกข์เศร้าของอเมริกันชน ผมอยากจ้องตาเขา จับมือเขา แลัวบอกว่า “เป็นเกียรตินักที่ได้รับใช้ชาติ”’ แล้วค่อยเชื่อมมันเข้ากับตัวเองอีกทีหนึ่งยามที่บอกว่าไม่อยากให้ความเศร้าเป็นอื่นจากตัวเอง

        การลอยคว้างเท้งเต้ง อยู่ระหว่างอะไรบางอย่างคือมวลที่ฉันสัมผัสได้ จริงๆ อ่านจบเล่มแล้วก็ไม่ได้ประหลาดใจอะไรกับความตายเพราะนี่ไม่ใช่นิยายลุ้นตอนจบ การหักมุมล้มคะเมน แต่คือการโลดแล่นไปกับเจ้าหมาน้อยและมิตรใจ หลักๆ คือการเอาใจช่วยให้เขารอดจากมหันตภัยต่างๆ เอาใจช่วยภาษาของเขาให้มันช่วยชีวิตทุกคน ทุกจินตนาการเอาไว้  

        ในบทนี้ฉันคิดว่าโอเชียนเผยความเป็นนักเขียนแบบตรงไปตรงมามากขึ้น ง่ายที่สุดก็เพราะเขาพูดถึงมันกับแม่ ทุกครั้งที่เขาเขียนเล่าความที่อยากสื่อสารกับแม่โดยตรง ไม่ใช่ผ่านฉากยาวนานของสงคราม วันวานของยาย หรือตัวตนที่ถูกเปลื้องโดยเทรเวอร์ ถ้อยคำเหล่านั้นจะชัดเจนและผ่อนคลายอย่างน่าประหลาด

        “แม่ถามว่าการเป็นนักเขียนนั้นเป็นยังไง คำตอบของผมไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวหรอกฮะ ผมรู้ แต่มันก็ไม่ได้เรื่องได้ราวแบบนี้แหละ— ผมไม่ได้แต่งเรื่องขึ้นมา แต่ผมเขียนมันลงไป นั่นแหละฮะการเขียน หลังจากเพ้อพร่ำรำพัน เราจะย่อตัวต่ำจนโลกใจดีเสนอมุมมองใหม่ให้ วิสัยทัศน์กว้างไกลซึ่งประกอบขึ้นจากสิ่งเล็กๆ เหมือนเศษฝุ่นที่จู่ๆ ก็กลายเป็นหมอกผืนยักษ์ขนาดเท่าลูกตาเรา” น.199

        จากอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ เจ้าหมาน้อยเดินทางมาฝังศพยายที่เวียดนาม เขาสลับบทตอนวาระสุดท้ายไปกับวาระสุดท้ายของเทรเวอร์ และบทรักที่ค่อยปอกตัวตนเขาออกมาเหมือนพลาสติกโดนความร้อน แต่หยุดละลายกลางทางเพื่อพูดคุยกับเปลวไฟ

        “หลังเช็ดตัวและเปลี่ยนชุดให้ยาย เก็บผ้าปูที่นอนและขัดของเหลวจากร่างกายออกจากพื้นและศพ— เพราะนี่คือสิ่งที่ภาษาบัญชา ณ ตอนนี้ คำว่าศพแทนคำว่ายาย— เราก็กลับมานั่งล้อมยาย แม่ใช้ทุกนิ้วของแม่ง้างกรามที่ประกับกันแน่นของยาย ส่วนป้ามายที่นั่งอยู่อีกฝั่งก็สอดฟันปลอมเข้าไป แต่เพราะตัวยายแข็งไปแล้ว กรามเลยงับลงมาก่อนฟันเขี้ยวจะเข้าที่ แล้วฟันปลอมก็หลุดออกมา ร่วงลงพื้นเสียงดัง แม่หลุดกรี๊ด แต่แล้วก็รีบเอามือปิดปาก “ฟัก” แม่พูดเป็นภาษาอังกฤษแบบที่ไม่ค่อยได้พูด “ฟัก ฟัก ฟัก” เมื่อลองอีกที ฟันก็เข้าที่ แม่ทิ้งตัวพิงกำแพงข้างๆ แม่ที่จากไปแล้วของตัวเอง” น. 221

        เขาเล่าบทตอนเหล่านี้แบบกวี หลายความหมายฉันไปไม่ถึง หลายความหมายฉันถูกทำให้คิดว่าไปถึงเพราะรู้สึกถึง แต่ท้ายที่สุด ฉันก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะเล่าออกมาได้อย่างไร เหมือนหลายอย่างจางหายไปในความหนักแน่นของตัวอักษร อย่างที่บอกว่ามันคล้ายกับอยู่ในสำนึกของสัตว์วิเศษ ฉันทำได้เพียงแค่นั่งกอดเข่า และดำรงอยู่ภายในภาษาของเขา

        ค่อยๆ จางหายไป

        ฉันอ่านบทสุดท้ายในหลายที่ เริ่มจากร้านทำผมชุมชนที่เดิม ต่อไปในรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะจะไปซื้อดอกไม้สดลดราคามาให้แม่ในวันเกิดที่ปากคลองตลาด ขากลับท่อนแขนข้างซ้ายหนีบช่อดอกลิลลี่และไลเซ็นทัส ข้างขวาเปิดหนังสืออ่าน ส่วนใหญ่เป็นบทรักและอาลัยที่เจ้าหมาน้อยมีให้กับเทรเวอร์ การจากลาเสียงดังปังเหมือนเห็นคนเป่าขมับจากด้านนอกหน้าต่าง แล้วค่อยกลับบ้านมาลงหลุมในเก้าอี้หวายสำหรับยี่สิบหน้าสุดท้าย

        “ค่ำคืนปะทุขึ้นต่อหน้า ผู้คนพลันปรากฏทุกหนแห่ง ราวกับส่องกล้องสลับลายแล้วพบสีสันหลายหลาก เสื้อผ้า แขนขา เครื่องประดับ และเม็ดเลื่อมระยับตา พ่อค้าแม่ค้าขายมะพร้าวเต็มลูกมะม่วงพร้อมกิน ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ห่อใบตอง แล้วนึ่งในหม้อนึ่งขนาดใหญ่ น้ำอ้อยในถุงพลาสติกตัดมุมที่เด็กชายคนหนึ่งถือดูดแล้วยิ้มกว้าง ชายแขนดำกรำแดดนั่งยองๆ อยู่บนถนน ตรงหน้ามีเขียงขนาดไม่ใหญ่กว่าฝ่ามือ เขาใช้ปังตอผ่าไก่อบทั้งตัวแบบฉับเดียว แล้วแจกจ่ายชิ้นไก่มันๆ ให้เด็กๆ ที่ยืนรออยู่

        ท่ามกลางหลอดไฟที่ห้อยลงมาจากระเบียงสองฝั่ง ผมเห็นเวทีที่ทำขึ้นชั่วคราว บนเวทีมีกลุ่มผู้หญิงแต่งตัวขัดๆ เต้นกรุยกรายและร้องคาราโอเกะ เสียงร้องขาดลงและล่องลอยไปตามถนน” น.233

        ฉันชอบมากที่สุดที่เขาบรรยายฉากในไซ่ง่อน พ่อค้าแม่ค้า ผู้คนทำมาหากิน รูปรสกลิ่นเสียงเพิ่งจะเดินทางมาถึงจริงๆ เมื่อเขากลับบ้าน ที่ฮาร์ตฟอร์ด ทุกอย่างชัดเจนในแง่ความรู้สึก แต่ห่างไกลในเชิงสารคดีและความเป็นจริง ฉันหมายถึงว่า ห่างไกลในเชิงความรู้สึกจริงๆ แต่วิทยายุทธของโอเชียนที่ฉันชื่นชอบมาตั้งแต่เริ่มอ่าน คือการแทรกความเป็นสารคดีลงไปตามเหลี่ยมมุมของเหตุการณ์ร้าวราน และพอถึงบทสุดท้าย เขาก็พาฉันล่องแก่งผ่านแง่งหินและสายน้ำเชี่ยวกรากมาจนถึงจุดที่น้ำนิ่ง เราไม่ต้องพายด้วยซ้ำ ภาษาของเขาพาฉันไปตามสายธาร พร้อมกับลมหวิวที่พรมจูบบนใบหน้า

        นั่นอาจจะเป็นที่มาของจุดมุ่งหมายที่เขาเคยกล่าวไว้ในรายการสัมภาษณ์ว่า “ผมอยากที่จะเริ่มเล่าเรื่องด้วยความจริง และจบด้วยศิลปะ” 

        ฉันอ่าน เราต่างงดงามแล้วจางหาย จบ พร้อมกับความสงบจากการไม่ได้อ่านภาษาที่สวยงามลึกถึงใจมายาวนาน จริงๆ คือฉันอ่านเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษตอนที่อยู่โฮจิมินห์เมื่อปลายปี 2565 ไปได้นิดหน่อย ใช้สมาธิอย่างหนักพอๆ กับอ่านภาษาไทย อ่านในร้านกาแฟแถบพิพิธภัณฑ์เมืองโฮจิมินห์ ในโฮสเทลซอกหลืบแถวเขต 1 ที่มีข้าวหมูอบสุดอร่อยยามเช้า แล้วก็ยังตั้งคำถามว่าจะแปลประโยค ระหว่างบรรทัด และความเป็นแม่ ยาย ตา เจ้าหมาน้อยออกมาได้อย่างไร แต่การแปล บรรณาธิการ และพิสูจน์อักษรของเล่มนี้ทำได้งดงามและไม่จางหาย ละเอียดและสละสลวยจนฉันคิดแทนผู้ทำไปเองว่าคงจะสะใจและโล่งใจอย่างมากเมื่อคลอดสิ่งที่สวยงามอย่างนี้ออกมาได้

        และท้ายที่สุดเมื่ออ่านจบ

        ฉันนึกถึงรอยยิ้มและความอ่อนโยนของแม่

        นั่นคงจะเป็นสิ่งที่เกินกว่าภาษาจะรับได้ไหว ในแง่ของความงดงาม


        On Earth We’re Briefly Gorgeous เราต่างงดงามแล้วจางหาย

        ผู้เขียน: โอเชียน วอง

        ผู้แปล: วรรษชล ศิริจันทนันท์

        สำนักพิมพ์: แซลมอน

        MOST READ

        Spotlights

        14 Aug 2018

        เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

        ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

        ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

        14 Aug 2018

        Life & Culture

        14 Jul 2022

        “ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

        คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

        ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

        14 Jul 2022

        Life & Culture

        27 Jul 2023

        วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

        เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

        เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

        พิมพ์ชนก พุกสุข

        27 Jul 2023

        เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

        Privacy Preferences

        คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

        Allow All
        Manage Consent Preferences
        • Always Active

        Save