fbpx

ไม่มีวิกฤตไหนที่เป็น The End of the World: นวลพรรณ ล่ำซำ

ย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวจีนโพ้นทะเลนาม อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน หอบเสื่อผืนหมอนใบฝ่าคลื่นท้องทะเลจากมณฑลกวางตุ้งเข้ามาปักหลักทำธุรกิจการค้าจนเติบใหญ่บนแผ่นดินสยาม พร้อมตั้งชื่อภาษาไทยให้ตัวเองว่า ‘ล่ำซำ’ หมายถึงคนใส่เสื้อสีน้ำเงิน ก่อนที่ต่อมาชื่อล่ำซำนี้ได้กลายเป็นนามสกุลของบรรดาทายาทผู้สืบทอดสายตระกูลจากอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน กระทั่งปัจจุบัน ‘ตระกูลล่ำซำ’ เป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลยิ่งในแวดวงการเงินและการประกันของไทย จากการก่อร่างสร้างกิจการอันเลื่องชื่อและปักธงใหม่ๆ ในวงการเศรษฐกิจไทยมากมาย ทั้งธนาคารกสิกรไทย เมืองไทยประกันชีวิต และเมืองไทยประกันภัย

ณ ปัจจุบัน ธุรกิจตระกูลล่ำซำได้ถูกผลัดใบส่งต่อมาอยู่ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ห้า โดยหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงโดดเด่นยิ่ง หนีไม่พ้น นวลพรรณ ล่ำซำ หรือมาดามแป้ง นักธุรกิจหญิงผู้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเมืองไทยประกันภัย หลังประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมดังอย่าง Hermès (แอร์เมส) ไม่เพียงแต่ในแวดวงธุรกิจเท่านั้น นวลพรรณยังมีบทบาทอย่างสูงในวงการฟุตบอลไทย ผ่านบทบาทผู้จัดการทีมฟุตบอลทั้งในระดับชาติและระดับสโมสร โดยเฉพาะความสำเร็จในการพาฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยเข้าแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

แต่กว่าจะเป็นนวลพรรณผู้ที่นิตยสาร Forbes (ฟอบส์) ยกเป็นหนึ่งใน ‘หญิงผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย’ ในวันนี้ เธอก็ไม่ต่างจากคนตระกูลล่ำซำคนอื่นๆ ที่ต้องผ่านบทพิสูจน์ชีวิตที่มาในรูป ‘วิกฤต’ อยู่หลายครั้ง ยิ่งธุรกิจที่เธอบริหารนั้นคือธุรกิจประกันภัย วิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจึงล้วนส่งผลต่อธุรกิจของเธออย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่ง เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่นวลพรรณเข้ามาบริหารเมืองไทยประกันภัยใหม่ๆ เธอถูกรับน้องด้วยมหาภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิปี 2547 ตามด้วยมหาอุทกภัยปี 2554 และวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เมื่อไม่นานนี้ แต่จนแล้วจนรอด เธอก็กัดฟันนำพาบริษัทฟันฝ่ามาได้ทุกครั้ง

ในฐานะผู้บริหารบริษัทประกันภัยที่ต้องทำงานคลุกคลีกับวิกฤตเป็นนิจ นวลพรรณมองวิกฤตอย่างไร ใช้หลักคิดอะไรในยามต้องเผชิญหน้ากับมัน หน้าตาวิกฤตในอนาคตสำหรับนวลพรรณเป็นแบบไหน และมีข้อคิดอะไรฝากถึงภาคเศรษฐกิจและสังคมไทยในวันนี้บ้าง

ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤตจากบันทึกชีวิตอันโลดโผนของหญิงแกร่งแห่งเมืองไทยอย่างนวลพรรณ นับจากบรรทัดนี้

ตระกูลล่ำซำผ่านร้อนผ่านหนาวในแวดวงธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานหลายชั่วรุ่น อยากให้เล่าเส้นทางฝ่าวิกฤตใหญ่ของ ‘ล่ำซำ’ ให้ฟังหน่อย

ตระกูลเราเคยผ่านวิกฤตมาหลายช่วง แต่ถ้าพูดเฉพาะสมัยที่แป้งเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว วิกฤตครั้งสำคัญก็คือต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นหลายธนาคาร รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ ต้องเผชิญความยากลำบาก บริษัทของตระกูลเราเองอย่างเช่นบริษัทภัทรธนกิจ จำกัด ที่คุณพ่อของแป้ง (โพธิพงษ์ ล่ำซำ) เป็นประธานก็ประสบกับปัญหานี้จนต้องปิดตัวลงในที่สุด เรียกว่าหลายธุรกิจที่ตระกูลเราทำได้รับผลกระทบกันไปไม่น้อย ตอนนั้นก็ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ อย่างคุณบัณฑูร (ล่ำซำ) ก็มีการทำ reengineering (รื้อปรับระบบ) ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นแนวคิดธุรกิจที่ฮิตมากในช่วงเวลานั้น

ตระกูลของเราแต่ละรุ่นได้ฟันผ่าคลื่นลมมรสุมมาหลากหลายรูปแบบ จนผ่านมาถึงแป้งซึ่งเป็นคนรุ่นที่ห้าของตระกูล ก็ไม่พ้นต้องเจอกับวิกฤตตามยุคสมัยของตัวเอง เช่น ในปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นเป็นปีที่แป้งได้ตั้งธุรกิจส่วนตัวขึ้นมาในลักษณะ joint venture partner (กิจการร่วมค้า) กับ Hermès International (แอร์เมส อินเตอร์เนชั่นแนล) ที่ปารีส ตอนนั้นก็เจรจาสัญญากันเป็นเวลานาน จนมาเปิดร้านได้จริงๆ ในช่วงประมาณปลายมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม 2540 ก่อนเกิดต้มยำกุ้งพอดีเลย ในการเป็น joint venture partner กันนั้น แม้เราจะถือหุ้นกันคนละครึ่ง แต่เขามีนโยบายให้ทำการันตีค่าเงินฟรังก์ ตอนนั้นยังไม่มีเงินยูโร เราก็ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกันไว้ตอนต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งค่าเงินตอนนั้นอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 26 บาท ต่อมาช่วงเดือนสิงหาคม รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ค่าเงินบาทอ่อนลงมาอยู่ที่มากกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เลยถือว่าเป็นโชคดีที่ทำให้เราเปิดธุรกิจปีแรกแล้วได้กำไรทันที เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนมาก เราก็ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาซื้อ ถือได้ว่าเป็นโอกาสในวิกฤต ส่วนทางบริษัทประกันภัยของครอบครัวแป้งเอง ในตอนนั้นก็ยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เพราะหลายคน โดยเฉพาะพวกโรงงานห้างร้านต่างๆ ไม่กล้านำความเสี่ยงมาเก็บไว้กับตัวเอง เลยมักจะซื้อประกัน ทำให้บริษัทประกันภัยของครอบครัวผ่านตอนนั้นมาได้

ต่อมาแป้งก็มาเป็นซีอีโอของเมืองไทยประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุครบ 91 ปีในปีนี้ จริงๆ ตอนแรกแป้งก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานกับธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากในช่วงประมาณปี 2526-2530 ที่แป้งกำลังเรียนจุฬาฯ ธุรกิจประกันชีวิต-ประกันภัยยังไม่ได้เป็นธุรกิจดาวรุ่ง เป็นธุรกิจที่เราไม่เห็นดอกเห็นผลอะไรเท่าไหร่นัก หลายคนคิดว่ามันเป็นแค่การขายแผ่นกระดาษ ในตอนนั้นแป้งเลยยังไม่ได้มีแพสชั่นในธุรกิจนี้เท่าไหร่ ซึ่งแป้งเป็นคนที่ต้องทำอะไรที่ตัวเองมีแพสชั่น ถ้าไม่มีแพสชั่นจะทำไม่ได้ แต่ในวันนี้หลังผ่านช่วง new normal (ความปกติใหม่) เราก็จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัย-ประกันชีวิตขึ้นติดเทรนด์หนึ่งในสิบธุรกิจดาวรุ่งแล้ว 

คุณบอกว่าแต่เดิมคุณไม่สนใจธุรกิจของครอบครัวเลย แล้วอะไรเป็นเหตุให้คุณตัดสินใจมาทำในที่สุด

ตอนแรกแป้งเป็นคนที่ทำธุรกิจของตัวเองมาโดยตลอด ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ไปทำธุรกิจโฆษณา เป็นลูกจ้างเขา จากนั้นก็มาเปิดโรงงานเสื้อยืดซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ชื่อว่า NPS Enterprise แล้วก็เริ่มมาทำธุรกิจสินค้านำเข้าสินค้าแบรนด์เนม โดยแบรนด์แรกที่ทำก็คือช็อกโกแลตพรีเมียม Godiva (โกไดวา) ต่อด้วย Celine (เซลีน) ก่อนจะมาเป็น joint venture partner กับทาง Hermès แล้วระหว่างทางก็ทำมาอีกหลายยี่ห้อ ก็มีการขายบริษัทออกไปบ้าง จนมาเริ่มสนใจธุรกิจของตระกูล เนื่องจากใน ปี 2535 มี พ.ร.บ. ประกันชีวิตออกมา ซึ่งกำหนดว่า บริษัทใดที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะต้องแยกออกจากกัน ทำให้เราต้องแยกส่วนประกันภัยออกจากเมืองไทยประกันชีวิต คุณอาของแป้ง คุณภูมิชาย ล่ำซำ เลยชวนให้แป้งออกมาทำในส่วนประกันภัย ซึ่งปัจจุบันก็คือบริษัทเมืองไทยประกันภัย สุดท้ายที่ตัดสินใจมาทำกับครอบครัวก็เพราะคิดว่าการทำธุรกิจประกัน ไม่ว่าจะประกันอะไรก็แล้วแต่ ล้วนเป็นธุรกิจที่ตรงตามความต้องการของผู้คน มีคุณค่า โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับใครซื้อ และแป้งได้เห็นแล้วว่าธุรกิจประกันภัยสามารถช่วยเหลือคนได้เมื่อเกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดฝันขึ้นกับผู้ที่ถือกรมธรรม์ของเรา ทำให้แป้งมีแพสชั่นไปกับธุรกิจนี้และก้าวเข้ามาทำอย่างภาคภูมิใจ

พอคุณเข้ามาทำธุรกิจประกันภัยแล้ว มีช่วงเวลาไหนบ้างไหมที่คุณเองต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต

ตอนที่แป้งเข้ามาทำธุรกิจนี้ในตอนแรกๆ ก็เจอกับเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยเลย ทำให้เราได้เห็นภาพของลูกค้าหลายรายที่มีธุรกิจอยู่บริเวณนั้นทั้งเขาหลัก (พังงา) เกาะลันตา (กระบี่) หรือภูเก็ต ได้รับความเสียหาย ตอนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นผู้ทำธุรกิจที่ช่วยลูกค้าเยียวยาเวลาเกิดภัยอย่างแท้จริง แล้วหลังจากนั้นก็ได้เห็นอีกเหตุการณ์ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดสำหรับผู้ที่ทำประกันภัยก็คือมหาอุทกภัยปี 2554 ตอนนั้นเราเคลมไปถึงหมื่นล้านบาท แต่คิดเป็นสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสมากสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จำได้ว่าตอนนั้นแป้งต้องไปกู้เงินค้ำประกันส่วนตัวประมาณ 1 พันล้านบาท แล้วจะไปกู้ธนาคารกสิกรไทยก็ไม่ได้เพราะถือว่ามีความข้องเกี่ยวกัน เลยต้องไปกู้ธนาคารธนชาติ แต่ภายในปีเดียวเราก็ใช้หนี้คืนได้ทั้งหมด ทำให้เรารอดมาได้ในเวลาประมาณปีครึ่ง

แล้วในช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจคุณต้องประสบปัญหาหนักเหมือนกันไหม

โควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดในยุคใหม่ โลกเราไม่ได้เกิดโรคระบาดมานานแล้ว คุณพ่อของแป้งบอกว่าโรคระบาดเป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นชิน อย่างสมัยที่ไข้หวัดสเปนระบาดทั่วยุโรปก็คร่าชีวิตผู้คนไป 70 ล้านคน หรือก่อนหน้านั้นก็มีฝีดาษคร่าชีวิตคนไป 200 ล้านคน เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดโรคระบาด คนโบราณอาจจะบอกว่าเป็นเพราะคนเยอะมาก โลกก็เลยต้องส่งบางสิ่งบางอย่างมาเพื่อท้าพิสูจน์ว่าคนที่แข็งแกร่งเท่านั้นถึงจะได้ไปต่อ

ในส่วนธุรกิจประภันภัยตอนนั้นหลายบริษัทในประเทศไทยออกกรมธรรม์ที่เรียกว่า ‘เจอ จ่าย จบ’ จนกระทั่งเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น ทำให้มี 4 บริษัทที่ต้องปิดตัวลงไป และมีอีกบริษัทที่ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนเมืองไทยประกันภัยเองตอนนั้นก็ออกกรมธรรม์ตัวนี้เช่นกัน แต่เรารอดมาได้ เพราะมีหลักการในการบริหารความเสี่ยง คือเราได้ทำ reinsurance (การประกันภัยต่อ) ออกไปถึง 85% นับเป็นความภาคภูมิใจที่เรารอดวิกฤตนั้นมาได้ แต่แน่นอนว่าเราก็ขาดทุนอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิกฤตนี้เลยพิสูจน์ว่าเราเป็นผู้เล่นตัวจริงเสียงจริงในธุรกิจนี้

คุณผ่านช่วงเวลาวิกฤตมาอยู่หลายครั้ง แต่ก็ผ่านมันมาได้ทุกครั้ง คุณมีหลักยึดอะไรในเวลาที่คุณต้องเผชิญหน้ารับมือกับมัน

หลักหนึ่งที่แป้งยึดไว้คือแป้งเป็นคนมีความตั้งใจและมีความพยายาม แป้งมองเสมอว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จมักอยู่ที่นั่น คือเราอาจไม่จำเป็นต้องทำถึง 100 เสมอ บางครั้งถึงแค่ 70 แต่เราแฮปปีกับตรงนั้นก็พอ แล้วแป้งเป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างที่ต้องอาศัยทั้งโชคชะตา, willpower (พลังใจ) และแพสชั่นที่สูงมากๆ อย่างธุรกิจประกันก็ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการทำทีมฟุตบอลด้วย ซึ่งแป้งพูดได้ว่าเราเป็นคนแรกของตระกูลที่แหวกแนวมาทำตรงนี้

แน่นอนว่าทุกอย่างที่ทำบางทีก็ต้องเจอวิกฤตที่หนักหน่วง แต่แป้งเคยมีวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นกับตัวเองที่เป็นบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญที่พาแป้งฟันฝ่าทุกวิกฤตหลังจากนั้นมาได้ ย้อนไปตอนที่แป้งอายุ 25 ปี แป้งเคยเป็นโรคม่านตาอักเสบด้านซ้ายจนเกือบจะตาบอด ตอนนั้นเลยท้อถอยใจ ร้องไห้ทุกวัน จนคุณพ่อบอกว่าเราเป็นแค่ตาซ้าย ก็ยังมีตาขวา ในโลกนี้ไม่มี The end of the world เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ไม่มีวิกฤตอะไรสำหรับแป้งเลยที่เป็น The end of the world แป้งเชื่อมั่นเสมอว่าเราจะสามารถกอบกู้มันได้ ถ้าเรามีความตั้งใจจริง นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่แป้งยึดเสมอก็คือคุณธรรมและจริยธรรมในการทำงาน ซึ่งแป้งเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นแกนกลางของการทำธุรกิจโดยเฉพาะยุคหลังจากนี้ที่เรียกว่ายุค new normal หลังจากที่เราทุกคนผ่านวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว และจะต้องเจอกับปัญหาทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นอีกมากมาย

คุณว่าอะไรบ้างที่น่าจะเป็นปัญหาหรือวิกฤตใหญ่ในอนาคตที่ธุรกิจคุณก็อาจจะต้องเผชิญ

แป้งอาจจะไม่ได้มองในแง่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่แป้งมองวิกฤตในมิติสังคมค่อนข้างเยอะด้วย แป้งมองว่าตอนนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาใหญ่ในสามเรื่องหลัก

ปัญหาแรกคือเรื่องการลดลงของประชากร เห็นได้ชัดเลยว่าประเทศในแถบเอเชียล้วนประสบปัญหาประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว อัตราเกิดน้อยกว่าอัตราตาย แล้วประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นปัญหาใหญ่เพราะต้องอย่าลืมว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของโลกนี้ก็คือมนุษย์

ปัญหาที่สองคือเรื่อง climate change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งแป้งมองว่าเราแก้ปัญหากันไม่ค่อยทัน หลายๆ ประเทศเพิ่งเริ่มต้นแก้ปัญหาและยังไม่มีความพร้อมในการรับมืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหานี้จะนำพาไปสู่ความเสียหายในอีกหลายเรื่อง

ปัญหาที่สามคือเรื่องหนี้สิน ที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ เราต้องไม่มองเพียงแค่ประชากรที่ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องหนี้สิน แต่ต้องมองภาพรวมว่าประชากรส่วนมากยังมีหนี้สินมากมาย ซึ่งแป้งมองว่ามันคือวิกฤตเศรษฐกิจในระดับส่วนตัวและครอบครัวที่นำมาสู่วิกฤตในระดับประเทศ และวิกฤตทางจิตใจได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่วิกฤตในมิติเศรษฐกิจอย่างเดียวที่ต้องมอง แต่ต้องมองในมิติสังคมและครอบครัวด้วย

คุณให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมเยอะมาก คุณว่ามันสำคัญกับการดำเนินธุรกิจของคุณอย่างไร

มันอาจจะไม่ได้สำคัญสำหรับธุรกิจประกันภัยเท่านั้น แต่แป้งคิดว่าสำคัญสำหรับทุกบริษัทในทุกอุตสาหกรรม สมัยก่อนเราจะเห็นว่าธุรกิจไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม) มากเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันถ้ามองกันลึกๆ จะเห็นว่าหลายๆ คนมักจะเลือกใช้สินค้าและบริการจากบริษัทที่โดดเด่นด้านการช่วยเหลือสังคมด้วย แป้งพูดเรื่องนี้เสมอกับลูกน้องทุกคนว่า สำหรับบริษัทที่ยังมีกำไรหรือสามารถประคับประคองตัวเองได้ แป้งอยากจะให้เหลือกำไรทางใจไว้ให้กับสังคมหรือชุมชนที่เราอยู่ด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแป้งเชื่อเสมอว่าในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม ลำพังเฉพาะโมเลกุลใหญ่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนได้ แต่ต้องอาศัยทุกโมเลกุลมาร่วมด้วยช่วยกัน แป้งคิดว่าเราอย่าไปมองแค่บริษัทชั้นนำหรือ GDP ของประเทศเพียงอย่างเดียว ที่สุดแล้วแป้งมองเรื่องความยั่งยืน ที่คนทุกคนสามารถมีอาชีพเป็นของตัวเอง พอยังชีพได้ และไม่เป็นหนี้สินอีกต่อไป

ในช่วงโควิด-19 หลายคนต้องโดนปลดออกจากงาน เพราะธุรกิจไปต่อไม่ไหว คนเหล่านี้เลยต้องกลับไปอยู่ต่างจังหวัดกับพ่อแม่ แล้วตั้งธุรกิจส่วนตัว ซึ่งตรงนี้เราเห็นใจพวกเขามาก แต่ในที่สุดหลายคนก็ค้นพบว่า KPI (ดัชนีชี้วัด) ของชีวิตไม่ใช่เงิน และการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่คือดัชนีความสุข หรือ Happiness Index ซึ่งแป้งว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้ามนุษย์เราไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถพาครอบครัวให้เจริญก้าวหน้าต่อได้อีกเลย

คุณทำมาทั้งธุรกิจประกันภัย ธุรกิจนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม และธุรกิจฟุตบอล คุณว่าการทำธุรกิจสามประเภทนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีหลักคิดอะไรที่เราสามารถนำมาใช้ร่วมกันกับทั้งสามธุรกิจนี้ได้หรือไม่ หรือมีหลักคิดอะไรที่ต่างกันบ้าง

ที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือมันเป็นสิ่งที่แป้งมีแพสชั่นและมีศรัทธา ถ้าแป้งไม่มีแพสชั่น แป้งจะไม่มาทำ แต่ถ้ามองในแง่อื่น มันมีสองธุรกิจที่เหมือนกัน และอีกหนึ่งอันที่ไม่เหมือน สองอันที่เหมือนกันคือธุรกิจประกันภัยกับฟุตบอล เพราะทั้งสองธุรกิจเป็นอะไรที่เรากำหนดไม่ได้ อย่างฟุตบอล เราก็ไม่ได้ลงไปเตะเอง เราควบคุมผลลัพธ์มันไม่ได้ เราทำได้แค่สร้างหลัก สร้างโค้ช และใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยดู แล้วมันก็ขึ้นกับโชคชะตาฟ้าดินในวันนั้นด้วย สรุปคือฟุตบอลขึ้นอยู่กับโชคและการฝึกซ้อม ส่วนธุรกิจประกันภัย เราก็ควบคุมผลลัพธ์ไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีใครอยากขายประกันแล้วขาดทุน การขาดทุนถือเป็นสิ่งไม่คาดฝัน แต่เมื่อมันเกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นผู้ออกและขายกรมธรรม์ เราก็มีหน้าที่ต้องบริการลูกค้าหรือผู้ประสบภัยในตอนนั้นให้ได้

แต่ถ้าถามว่ามีจุดต่างกันไหม แป้งคิดว่าก็มีอยู่ ถ้าเป็นฟุตบอลคือมันจบตรงนั้นในเวลา 90 นาที รวมถึงตอนต่อเวลาแล้วยิงจุดโทษ ถ้าชนะ คนทั้งบ้านเราก็แฮปปี้เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าแพ้หนักๆ นี่แป้งแทบไม่อยากเข้าลิฟต์ไปเจอลูกน้องเลย มันเป็นอะไรที่ต้องใช้อารมณ์และแรงมาก อย่างถ้าแข่งทีมชาติวันหนึ่ง เหมือนต้องใช้แรงไปห้าวันเลยทีเดียว เพราะเหมือนเราเป็นตัวแทนชาติ มันมีเรื่องความรักในเกียรติยศศักดิ์ศรีมาเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าเป็นธุรกิจประกัน มันเป็นธุรกิจที่นอนไม่ได้ทั้งคืน ต้องทำงานกันตลอด เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งเราก็มีศูนย์รับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมงเพื่อรองรับตรงนี้

ทำธุรกิจไหนเหนื่อยกว่ากัน

เหนื่อยทั้งคู่ เหนื่อยคนละแบบ  (หัวเราะ) แต่ฟุตบอลอย่างน้อยยังมีโอกาสให้แก้ตัว

ถ้าที่สุดต้องเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างฟุตบอลกับธุรกิจประกันภัย คุณจะเลือกอะไร

เลือกยากมาก เพราะเป็นคนละมุมกัน ถ้าเป็นฟุตบอล อาจจะไม่ใช่อะไรที่ได้กำไร แต่เราทำด้วยใจรัก แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องในเกม 90 นาที แต่เรามองว่ามันเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนด้วย อย่างแป้งทำสโมสรการท่าเรือ แป้งก็ให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่ตรงนั้นมาก เรารู้จักทั้ง 43 ชุมชน รู้จักผู้นำชุมชน สนามของเราเป็นสนามที่มีทั้งคนต่างชาติ คนรวย คนจน เข้ามาเยอะที่สุด ซึ่งฟุตบอลทำให้เกิดมิตรภาพหลังเกม ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพระหว่างคู่แข่ง หรือมิตรภาพระหว่างแฟนบอล มันเป็นอีกที่หนึ่งที่ทุกคนได้มาทิ้งตัว ได้มาเชียร์ร่วมกัน ไม่มีความแบ่งแยกในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรือว่าในเรื่องความคิดต่างทางการเมือง มันก็เป็นความภาคภูมิใจที่เราได้รันวงการฟุตบอลแบบนี้ แล้วเรามองเสมอว่าแฟนบอลคือผู้เล่นคนที่ 12 ซึ่งจะเป็นมือที่ประคับประคองวงการฟุตบอลต่อไป

ล่าสุด คุณประกาศตัวลงชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อะไรที่เป็นแรงผลักดันให้คุณอยากทำหน้าที่นี้

แป้งทำฟุตบอลมา 16-17 ปีแล้ว เคยพาบอลหญิงไปบอลโลกมาแล้วสองสมัย คือในปี 2015 ที่แคนาดา และในปี 2019 ที่ฝรั่งเศส แล้วก็ลาออกเพราะรู้สึกว่ามันสุดทางแล้ว ตอนนี้ก็มามีความฝันที่อยากจะพาบอลชายไปบอลโลกบ้าง มันเป็นความใฝ่ฝันของคนในชาติเอเชียทุกชาติ แล้วฟุตบอลโลกคราวหน้าจะมีโควตาให้เอเชียมากถึง 8 ทีมครึ่งด้วย แต่ถามว่ายากไหม แป้งตอบเลยว่ายากมาก

เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องธุรกิจนำเข้าสินค้าแฟชันกันเท่าไหร่ ระหว่างที่คุณทำธุรกิจนี้มา คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ธุรกิจแฟชันนั้นถือว่าโชคดีที่ได้ทำ ก่อนหน้านั้นแป้งเรียนจบในไทยมาตลอด ไม่ได้จบโรงเรียนนานาชาติมาหรือว่าอยู่เมืองนอกมา พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ดีนัก และพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย ตอนนั้นที่แป้งไป pitching (นำเสนอแผนธุรกิจ) กับ Hermès ก็มีคนมาลงสนามแข่งอยู่ 13 เจ้า ซึ่งแป้งต้องเขียนจดหมายเป็นภาษาไทยแล้วให้คนแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ ก็รอมาปีครึ่งกว่าจะได้เข้าไปสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ Hermès ที่ Faubourg Saint-Honoré (โฟบูร์-แซ็งตอนอเร) ได้เจอกับ CEO ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ชื่อฌอง หลุยส์ ดูมาร์ (Jean-Louis Dumas) เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของแอร์เมส ต้องบอกว่า Hermès International ใหญ่มาก market cap (มูลค่าตลาด) ประมาณ 7 ล้านล้านบาท คือใหญ่กว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยเยอะมาก วันนั้นแป้งเข้าไป แป้งก็กลัวไปหมดเลย เพราะพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เลย พอเข้าไปถึงก็เจอคุณดูมาร์นั่งอยู่กับพื้น กำลังวาดลายผ้าพันคออยู่ แล้วเขาก็ถามว่ารู้ไหมว่ากำลังวาดรูปอะไร เราก็ตอบว่าวาดรูปดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เขาก็ถามต่อว่าแล้วคุณอยากให้วาดอะไรต่อไป เราก็ตอบว่าอยากให้วาดสัตว์ประจำชาติไทย เขาก็วาดรูปช้าง นี่เป็นแค่สองประโยคที่ทำให้แป้ง pitching ได้แอร์เมสมา แป้งเชื่อว่าที่แป้งได้มันมาเป็นเพราะภาษากายกับความจริงใจในการสื่อสารของเราในตอนนั้น แป้งถือว่าความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำงาน จนถึงวันนี้ธุรกิจนี้ก็ผ่านมา 27 ปีแล้ว ธุรกิจก็ค่อยๆ แตกกิ่งก้านสาขาออกไป

และต้องเล่าว่าแอร์เมสทำกิจการกันมา 200 กว่าปี เริ่มจากธุรกิจอานม้าในครอบครัว จนมาผลิตทุกอย่าง เราเห็นว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่อง R&D (วิจัยและพัฒนา) ถือว่าเป็นบริษัทที่เป็นต้นแบบในการคิดหลายๆ อย่าง แล้วสมัยนั้นตอนที่แป้งทำแอร์เมสแล้วอยากจะเพิ่มทุน เขาก็บอกว่าต้องไม่มีการกู้เงินนะ เพราะแอร์เมสเป็นบริษัทที่ไม่มีการใช้เงินกู้

แต่เวลาที่เราขายสินค้าแบรนด์เนมพวกนี้ มันก็มีจุดอ่อนที่กระทบใจแป้งอยู่จุดหนึ่ง ซึ่งอดที่จะเอ่ยถึงไม่ได้ ก็คือว่าเวลาแป้งเห็นเด็กผู้หญิงที่เป็นนักศึกษาเข้ามาในร้าน แป้งจะเสียใจ เพราะจริงๆ สินค้าพวกนี้เหมาะกับคนที่มีกำลังซื้ออย่างแท้จริง แต่อย่างไรมันก็เป็นธุรกิจที่แป้งทำเพราะแป้งมีความชอบ

สุดท้าย อยากฝากข้อคิดอะไรถึงคนอ่านบ้าง

แป้งเชื่อมั่นว่าทุกคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป บางคนมีครอบครัวเป็นความสุขสูงสุด บางคนอาจเป็นเรื่องการเงินหรือการงาน แต่แป้งคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องมีก็คือความอดทน พากเพียร พยายาม ไม่อยากใช้ถึงคำว่าทรหด มันมีความสำคัญมากในการจะประสบความสำเร็จ และอาจสำคัญยิ่งกว่า IQ เสียอีกนะ

แล้วสำหรับคนที่เป็นนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการเหมือนคุณ คุณอยากจะฝากอะไร

แป้งมองว่าเรื่องจริยธรรม คุณธรรม และความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่เราต้องปลูกฝัง รวมถึงเรื่องการฟังในลักษณะ active listening (การฟังเชิงรุก) และการมี empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) ก็ล้วนเป็นสิ่งสำคัญมาก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save