fbpx

กบฏเงี้ยว 2445 : การโต้กลับของความทรงจำ กับอุดมการณ์แบบท้องถิ่น-ราชาชาตินิยม

ณ แพร่ ในช่วงก่อน พ.ศ.2445 นั้นยังอยู่ฐานะรัฐจารีตที่กำลังเข้าสู่ยุครัฐสมัยใหม่ของสยาม และ ‘เงี้ยว’ หรือไทยใหญ่ในปัจจุบัน เป็นเพียงกลุ่มคนที่เดินทางไปมาระหว่างเมืองต่างๆ กับล้านนาและเป็นกลุ่มที่คนเมืองรู้จักกันดีในฐานะพ่อค้าวัวต่าง จนกระทั่งช่วงปี 2445 เกิดเหตุการณ์กบฏในล้านนาหลายพื้นที่ แต่เนื่องจากเมืองแพร่เป็นเมืองที่ค่อนข้างอยู่โดดเดี่ยว นอกจากนี้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่ในขณะนั้น ยังได้ร่วมมือกับเงี้ยวเพื่อต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของสยาม ความผิดนั้นได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน รวมทั้งชื่อเสียง ดังจะเห็นได้ว่าในอดีต หากเรียกเหตุการณ์กบฏเงี้ยว 2445 ก็มักมีคำว่า ‘กบฎเงี้ยวเมืองแพร่’ พ่วงท้าย กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่คนเมืองแพร่ไม่ค่อยจะภาคภูมิใจนัก

อย่างไรก็ตาม การเขียนประวัติศาสตร์ให้เงี้ยวเป็นตัวร้าย เป็นผู้ก่อการกบฏ เป็นการหยิบอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมมาใช้ อันเป็นอุดมการณ์ที่ยึดมั่นต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ก่อรูปร่างครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 เพื่อใช้ในการรวมล้านนาและอีสาน เข้ากับสยาม โดยอ้างถึงความอันตรายจากภัยชาติตะวันตก และถูกนำมาใช้อย่างจริงสมัยรัชกาลที่ 6

โครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเริ่มเสื่อมลงหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แต่ได้รับการรื้อฟื้นในทศวรรษ 2490 และมีพลังสูงขึ้นในทศวรรษ 2500 เมื่อมีการนำอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยมมาใช้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อุดมการณ์ราชาชาตินิยมยิ่งมีพลังมากขึ้น เพราะสังคมรับรู้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงนำประชาธิปไตยกลับคืนมา อีกทั้งจอมพลสฤษฎิ์ ยังได้เปลี่ยนวันชาติจากวันที่ 24 มิถุนายน ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือนัยยะหนึ่งคือเป็นตัวแทนคณะราษฎรได้กำหนดไว้ใน พ.ศ.2481 มาเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม เมื่อ พ.ศ.2503

ยิ่งไปกว่านั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังทรงระงับวิกฤต ในสังคมไทยหลายครั้ง นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ยังมีเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ใน พ.ศ. 2535 ทำให้อุดมการณ์ราชาชาตินิยมยิ่งฝังลึกในสังคมไทย

ทั้งนี้ ชัยพงษ์ สำเนียง ผู้เขียนหนังสือ ‘”กบฏเงี้ยว” การเมืองของความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”’ (2564) ได้ย้ำว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.2445 เป็นโครงเรื่องหนึ่งที่มีการสร้างใหม่ เพื่อช่วยให้มีการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนในเมืองแพร่ การเขียนประวัติศาสตร์ช่วงที่เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่นั้นถือว่าเป็นการอวตารใหม่ของกบฏ และเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ แบบท้องถิ่น-ราชาชาตินิยม ที่ถึงจะมีความเป็นท้องถิ่น แต่ก็เขียนโดยเน้นความภักดีต่อสยามเพื่อความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติเป็นสำคัญ  

หนังสือเรื่อง ‘กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ’ ผลงานของ ชัยพงษ์ สำเนียง จัดพิมพ์โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จึงได้บอกเล่าเรื่อง ‘การเมืองของความทรงจำ’ ของกบฏเงี้ยวที่เกิดในปี 2445 ที่เมืองแพร่และหลายเมืองในล้านนา ซึ่งในขณะนั้นสยามมีนโยบายรวมศูนย์อำนาจ และอยู่ในช่วงปลายสมัยประเทศราชของล้านนา


แพร่และล้านนา ก่อนเกิดกบฎเงี้ยว


หากมองย้อนกลับไปก่อนเกิดกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 รวมถึงบริบทของล้านนาในช่วงก่อนหน้านั้น จะเห็นว่าคนสยามเรียกล้านนาว่า ‘ลาว’

แต่คนล้านนานั้นเรียกตนเองว่า ‘คนเมือง’ ซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ในเมือง นอกจากนี้ยังมีคำเรียกตนเองว่า ‘ยวน’ หรือ ‘โยน’ รวมถึงใช้ภาษา ‘คำเมือง’ ในการติดต่อสื่อสาร มีตัวอักษรเป็นของตนเองที่เรียกว่า ‘อักษรธรรม’ หรือ ‘ตัวเมือง’ ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างไทยกับลาว เป็นคนละภาษา สยามในยุคต้นรัตนโกสินทร์จึงรับรู้ว่าเมืองประเทศราชทางเหนือเป็นเมืองลาว

ต่อมา เริ่มเกิดการปฏิรูปการปกครองในปี 2437 รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกการจัดการปกครองหัวเมืองเป็นเมืองประเทศราช เปลี่ยนมาเป็นระบบเทศาภิบาล ซึ่งในช่วงเวลานั้นสยาม ตกอยู่ในภาวะอันตราย ประเทศเพื่อนบ้านต่างตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก เช่น พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ล้านช้างและกัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงเกิดความพยายามปรับปรุงการปกครอง หรือเข้ามาครอบงำเมืองที่เป็นประเทศราชเดิม ซึ่งต่อมาถูกให้ความหมายว่าเป็นสร้าง ‘อาณานิคมภายใน’ กล่าวคือเป็นการเข้ามาแย่งยึดเมืองที่เดิมเคยเป็นอิสระในระดับหนึ่งให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติ ท่ามกลางกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ เช่น การสถาปนาระบบราชการสมัยใหม่ ระบบการเก็บภาษี สร้างกองทัพสมัยใหม่เพื่อปราบปรามการต่อต้านจากภายใน ฯลฯ 

กระบวนการต่างๆ เป็นความพยายามของรัชกาลที่ 5 ที่จะดึงอำนาจจากท้องถิ่นทั้งจากหัวเมืองฝ่ายทางเหนือ อีสาน และใต้เขาสู่ศูนย์กลางเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพเหนืออาณาเขต แต่ช่วงที่อยู่ในภาวะรวมศูนย์อำนาจจากหัวเมืองประเทศราช เปลี่ยนให้ล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสยามนั้น ได้ทำให้กลุ่มเจ้าเมืองประเทศราชแต่เดิมนั้นเสียผลประโยชน์

ด้านเมืองแพร่ การเปลี่ยนแปลงการปกครองนำความเปลี่ยนแปลงมาหลายด้าน ความเป็นเมืองประเทศราชของสยามสิ้นสุดลง เมืองแพร่มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย มีการปรับปรุงระบบภาษีมาเก็บเป็นตัวเงินแทนสิ่งของ มีการส่งข้าราชการมาจากส่วนกลางมาปกครองทำให้อำนาจของเจ้าเมืองเดิมลดน้อยลง  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นความไม่คุ้นชินของฝ่ายอำนาจเก่า เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่ในขณะนั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

นอกจากนี้ ช่วงก่อนเกิดกบฏเงี้ยวในปี 2445 แพร่ได้เกิดความแห้งแล้งและความอดอยากสั่งสมยาวนานมีการอพยพออกจากเมืองแพร่ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร ทั้งยังมีการเกณฑ์แรงงาน ช้าง ม้า วัวต่างของคนเมืองแพร่และเงี้ยวที่เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่เพื่อทำสงครามปราบฮ่อในหัวเมืองลาว (ก่อนรวมศูนย์อำนาจของสยามได้เกิดกบฏในหลายภูมิภาคของล้านนา) โดยเฉพาะช้างจำนวนมากเป็นของเงี้ยว ก่อให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มคนเงี้ยวเป็นอย่างมาก และขณะเดียวกัน ก็สร้างความหวาดระแวงต่อคนสยามด้วย เพราะเคยมีภาพจำว่า เจ้าเมืองแพร่ในอดีตพาไพร่พลหนีทัพเมื่อครั้งทำสงครามที่เชียงตุง ดังนั้นคนสยามทในสมัยนั้นจึงจดจำว่า ‘ลาว’ พวกนี้มีนิสัยไม่สู้ ท้อถอยง่าย ดังที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แม่ทัพวิจารณ์ว่า ‘ลาว’ มีนิสัยสันดาน 3 ประการ คือ “…เป็นแต่อยากได้ของเขา ไม่ยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้นเหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้าน ทุกเมือง ไม่เหมือนชาติภาษาอื่นๆ…ไม่รักชาติ รักสกุล…”(เชิงอรรถ หน้า 74)

จากเมืองที่มีสถานะเป็นเมืองประเทศราชกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ภายใต้ข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น ขาดแคลนทรัพยากร มีเครือข่ายที่จำกัดและมีภัยธรรมชาติ ภาวะทุพภิกขภัยในเมืองแพร่ถูกละเลย ซ้ำยังมีการเก็บส่วย และเรียกเกณฑ์แรงงานเพื่อทำสงคราม นำมาสู่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐในที่สุด


เหตุการณ์กบฏเงี้ยว


ชนวนที่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ได้ร่วมมือกับเงี้ยวเพื่อก่อกบฏนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะความโกรธแค้นต่อพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงคนแรกที่มาทำงานเมืองแพร่ โดยทงานเขียนของชัยพงษ์ระบุไว้ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองแบบเจ้าผู้ครองนครมาเป็นแบบเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.2440 (ร.ศ.116) ซึ่งในขณะนั้นเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์อุดร (น้อยเทพวงศ์) เป็นเจ้าผู้ครองนคร โดยโปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) มาเป็นข้าหลวงกำกับเมืองแพร่คนแรกใน พ.ศ. 2440

เมื่อพระยาไชยบูรณ์ได้ตรวจสอบพบว่า มีเงินของทางการหายไปจำนวน 55,000 บาท เหตุการณ์นั้นได้นำพาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ถูกกักตัวไว้ 24 ชั่วโมง และให้ลูกหลานนำเงินมาไถ่ตัวจนครบ เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธเคืองให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์และลูกหลาน

ส่วนเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2445  ช่วงเช้า พวกเงี้ยว ที่อยู่ในบังคับอังกฤษละกลุ่มที่เข้ามาทำงานเมืองแพร่ และที่มาจากเชียงตุงได้ก่อการจลาจล พวกเงี้ยวนำโดย พก่าม่อง  สล่าโป่ซาย จองแข่ นำกองกำลังประมาณ 500 กว่าคน เข้าปล้นสถานที่ราชการ จวนข้าหลวงเทศาภิบาลฯ ที่ทำการไปรษณีย์ ปล้นที่ว่าการจังหวัดแพร่ เอาเงินหลวงไปกว่า 39,000 บาท ปล้นคุกปล่อยนักโทษเข้ามาสมทบ  

ส่วนพระยาไชยบูรณ์ได้มาขอความช่วยเหลือจาก เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ที่คุ้มหลวง แต่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บอกว่า ไม่มีปืนแต่จะหนีไปเช่นกัน แต่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไม่ได้หลบหนี แต่หลบอยู่ในคุ้มหลวงแห่งนั้น จนเวลาประมาณบ่ายสามโมง พวกเงี้ยวได้คุมตัวเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ และเจ้านายอื่นๆ ไปสนามที่ว่าการจังหวัดแพร่ แล้วพวกเงี้ยวที่มีนายร้อยสลาโป่ซายเห็ดแมน นายร้อยพก่าม่อง นายร้อยปู่ออ และพรรคพวก ได้บังคับให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ และเจ้านายที่จับตัวไปนั้น ทำหนังสือปฏิญาณและดื่มน้ำสบถทำสัตย์สาบานแล้วยกเมืองให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์

ต่อมากลุ่มของพระยาไชยบูรณ์ได้ไปรวบรวมไพร่พลมาได้ประมาณ 80 คน แต่หนึ่งในนั้นได้บอกว่า กลุ่มกบฏจะไม่ทำร้ายคนเมืองแต่จะทำร้ายเฉพาะคนสยามเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มคนที่รวบรวมมาได้จึงแยกย้ายหนีไป นอกจากนี้กลุ่มผู้ใหญ่บ้าน กำนันยังบอกที่หลบซ่อนของพระยาไชยบูรณ์ให้แก่เงี้ยวกระทั่งถูกสังหาร ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว มีชาวสยามเสียชีวิต 20 กว่าคน

อันที่จริง ‘เงี้ยว’ หรือ ‘ไทใหญ่’ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยในรัฐฉานของพม่า และมีภาษาและวัฒนธรรมอยู่ในกลุ่มไต-ไท ตัวไทใหญ่เองจะไม่เรียกตัวเองว่าเงี้ยว แต่เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเองว่า ‘ไต’ หรือ ‘ไท’ ส่วนคำว่า ‘ไทใหญ่’ เป็นชื่อไทยภาคกลางใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ ขณะที่คำว่า ‘เงี้ยว’ เป็นคำที่ชาวภาคเหนือตอนบนใช้เรียกกัน

ในที่นี้ จะใช้คำว่า ‘เงี้ยว’ เนื่องจากมีการรับรู้เรื่องนี้อย่างกว้างขวางว่าการกบฏดังกล่าวเรียกว่ากบฏเงี้ยว เดิมชาวเงี้ยวนั้นมีบทบาททางการค้าอย่างกว้างขวางในเขตภาคเหนือมาเป็นเวลานาน ในฐานะพ่อค้าข้ามแดนระหว่างไทย พม่า จีน และลาว หรือทางภาคเหนือเรียกว่าพ่อค้าวัวต่าง ทั้งยังมีบทบาทในฐานะลูกช่วงป่าไม้ของบริษัทฝรั่ง ขณะที่เกิดการกบฏใน พ.ศ. 2445 รัฐบาลสยามประมาณการว่ามีเงี้ยวในภาคเหนือมากกว่า 20,000 คน

การก่อจลาจลของเงี้ยวใน พ.ศ. 2445 จึงเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่โตและกินอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าขอบเขตของเมืองแพร่ ทั้งเมืองแพร่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงแสน  พะเยา  เชียงคำ  เชียงของ แต่การรับรู้ต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ กลับรับรู้ว่าเกิดเฉพาะเมืองแพร่แห่งเดียวเนื่องจากเจ้าเมืองแพร่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรง รวมถึงเมืองแพร่เป็นเมืองที่เงี้ยวสามารถยึดได้เพียงเมืองเดียว  และเจ้าเมืองไม่มีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับเมืองอื่นในภาคเหนือ

ด้านหนึ่ง เงี้ยวเป็นคนในบังคับอังกฤษที่ได้รับผลกระทบจากการที่ทางการไทยเปลี่ยนเป็นระบบเทศาภิบาล เงี้ยวถูกทำให้กลายเป็นอื่น (the other) จากคนเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่ของล้านนา ดังนี้

โลกทัศน์แบบรัฐสมัยใหม่ มองเงี้ยวเป็นคนอื่นส่งผลต่อสิทธิในฐานะพลเมือง เช่น ห้ามสร้างบ้าน ซื้อจำนองบ้านเรือน บุกเบิกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนา รวมถึงตัดไม้มาสร้างวัดก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่เงี้ยวเป็นอย่างมาก  ในช่วงเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยว รัชกาลที่ 5 ตรัสว่า “…เจ้าลาวพวกนี้คลุกคลีตีมงคบค้าสำมเลกันกับพวกเงี้ยว จะพูดอะไรก็พูดกันได้ไปมาหาสู่กันถึงไหนถึงไรได้กินนอนกันได้ไม่มีจังหวะจะโคนอย่างไรเลย การอะไรๆคงรู้กันทั้งสิ้น” (หน้า 110-111)

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เมืองแพร่ ทางการสยามได้ดำเนินปราบปรามกลุ่มกบฏเงี้ยว โดยประกาศว่าจะไม่ทำอันตรายใดๆ กับคนเมืองถ้าเพียงแต่ให้มอบอาวุธให้ทางการ กองทัพสยามเคลื่อนกองกำลังเข้าสู่เมืองแพร่และอยู่จนถึงฤดูหนาว ฟากเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ยังคงหลบอยู่ในคุ้มหลวงนานกว่าสามเดือน จนกระทั่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงกลาโหมได้ออกอุบายให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์หนีไป บ้างก็ว่า เมื่อเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไม่ได้หลบหนีออกจากจวนจึงใช้อุบายกองเกียรติยศ คือเชิญให้ออกจากเมือง ส่วนลูกเมียของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ให้ควบคุมตัวลงมาที่กรุงเทพฯ


การโต้กลับของความทรงจำ

เหตุการณ์กบฏเงี้ยวนั้นเป็นเหมือนตราบาปที่คนเมืองแพร่ต้องการจะลืม ดังเป็นที่มาของคำว่า ‘เงี้ยวเมืองแพร่’ ‘เมืองแพร่เมืองกบฏ’ หรือคำล้อเลียนต่างๆ เช่น ‘เมืองแพร่แห่ระเบิด’ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์โครงเรื่องแบบราชาชาตินิยมในเวลาต่อมานั้นต้องการเขียนเหตุการณ์กบฎเมื่อพ.ศ. 2445 ใหม่ โดยเล่าว่า เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ได้ซ้อนแผนเพื่อให้ทางการสยามปราบปรามกลุ่มเงี้ยวได้ และยอมดื่มน้ำสาบานเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้นการร่วมมือกับเงี้ยวของเจ้าหลวงฯ จึงเป็นไปอย่างไม่เต็มใจ

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกคำให้การของคนใกล้ชิดเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ที่ได้กล่าวว่า การที่เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ให้ความร่วมมือกับเงี้ยว เพราะได้มีการตกลงกันกับทางการสยามว่าจะไม่ให้ความลับแพร่งพราย เพื่อที่จะได้ปราบปรามกบฎเงี้ยว การเขียนประวัติศาสตร์ให้เจ้าหลวงฯ เป็นสายลับของรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้เปลี่ยนให้ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ [1] มีภาพลักษณ์เป็นผู้มีความสนใจด้านการพัฒนา เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเทพวงศ์  ทำให้เจ้าหลวงฯ ที่เคยหลบหนีไปอยู่หลวงพระบาง  อวตารใหม่กลายเป็นเทพอารักษ์ของเมืองแพร่ในที่สุด

ส่วนเมืองแพร่ที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองกบฏภายหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว เมื่อ พ.ศ. 2445 ต่อมาก็ได้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างทางรถไฟที่สร้างมาถึงอำเภอเด่นชัย แพร่ จาก ‘เมืองกบฏ’ ที่ตั้งอยู่โดดๆ ก็ได้ถูกให้ความหมายใหม่เช่นเดียวกัน

กระทั่งเมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป คำว่า ‘กบฏ’ ก็ได้เปลี่ยนแปลง เกิดความหมายใหม่ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของสยาม แต่กบฏได้ถูกแปรความหมายเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เป็นผู้ที่มาก่อนกาลอันจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  เช่นเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ที่เป็นเทพอารักษ์เมืองแพร่ เป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้าและเป็นผู้ที่มีความสนใจในภาษาไทย เป็นต้น

ดังตัวอย่าง คำให้การของนายรัตน์ วังซ้าย ผู้เป็นทายาทของเจ้าวังซ้าย ชายที่ทำงานใกล้ชิดเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ว่าเจ้าหลวงมิได้ต่อต้านการปฏิรูปการปกครอง อีกทั้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้านายที่เป็นผู้นำในการจัดระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล คือสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้งนี้เพื่อตอบโต้คำอธิบายเดิมที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องที่ว่า เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ร่วมมือในการก่อกบฏเพราะสูญเสียผลประโยชน์จากการที่กรุงเทพฯ ดำเนินการปฏิรูปการปกครอง  

การตีความหมายว่า ‘กบฏ’ คือความก้าวหน้า เป็นผู้ที่มาก่อนกาล ยังถูกอธิบายในเหตุการณ์อื่นๆ นอกจากเหตุการณ์กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองของ คณะราษฎร เมื่อพ.ศ. 2475 เช่นนี้แล้ว ความหมายของกบฏจึงแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ ดังตัวอย่างบทสนทนาจากงานเปิดตัวหนังสือ กบฎเงี้ยว  การเมืองของความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา” ที่มีนิธิ เอียวศรีวงศ์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ไชยันต์ รัชชกูล, ชัยพงษ์ สำเนียง,    ศราวุฒิ วิสาพรม เป็นวิทยากร

นิธิ : ประวัติศาสตร์คือการสนทนากันระหว่างปัจจุบันกับอดีต ปัจจุบันต่างหากที่สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมา และวาดไว้ในอนาคต

ธเนศ : กบฏจากทั่วโลกเริ่มกลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง แต่เราจะไม่โชคดีเหมือนสมัยรัชกาลที่ 5 อีกแล้ว

นิธิ : ผมจะยกตัวอย่างอีกนิดนะ เคยมีคนบอกว่า 2475 มันเป็นอุบัติเหตุ ที่มีกลุ่มคนเล็กๆ ที่แย่งอำนาจจากผู้ปกครอง แต่ทุกอย่างมันกลับกัน 2475 เป็นความพยายามที่จะเดินทางไปข้างหน้าแต่ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ขัดขวาง 2475 นั่นต่างหากที่เป็นอุบัติเหตุ

ไชยันต์ : มีคนเคยกล่าวไว้ว่า วรรณกรรมคือสิ่งที่กุขึ้นมาทั้งนั้น             

ธเนศ : ถ้าอย่างนั้นมันเป็นเฟคนิวส์ และเฟคทรูธ ด้วย

ท้ายที่สุดนี้  เมื่อวาทกรรมคำว่า ‘กบฏ’ สื่อความหมายใหม่จากผู้ที่ไม่เห็นด้วย กับสยามที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5  มาเป็นผู้ที่นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เป็นการลุกขึ้นสู้ การต่อต้านความไม่เป็นธรรม ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกดขี่  นัยหนึ่งก็ช่วยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนในเมืองแพร่ และสร้างคำอธิบายต่ออดีตใหม่ ภายใต้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องการลบทิ้ง แล้วสร้างใหม่เพื่อเชื่อมการกระทำกับชาติ ใต้เงื้อมเงาอำนาจแห่งสยาม


อ้างอิง

  1. ชัยพงษ์ สำเนียง.กบฎเงี้ยว  การเมืองของความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรกฎาคม 2564
  2. เปิดตัวหนังสือ กบฎเงี้ยว  การเมืองของความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา” นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ไชยันต์ รัชชกูล, ชัยพงษ์ สำเนียง,    ศราวุฒิ วิสาพรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

References
1 เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์นั้น มีศักดิ์เป็นปู่ของโชติ แพร่พันธุ์ หรือยาขอบ ซึ่งเป็นผู้เขียนนิยายเรื่องผู้ชนะสิบทิศ สามก๊กฉบับวณิพก และหนึ่งในคณะสุภาพบุรุษ กลุ่มนักเขียนหนุ่มที่นำโดยศรีบูรพา อีกด้วย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save