fbpx

“ไม่ว่าพลเมืองโลกที่หนึ่งหรือโลกที่สาม ทุกชีวิตล้วนมีเลือดเนื้อ” สิทธิมนุษยชนโลกกลางวิกฤตมนุษยธรรม กับ Matthew Smith องค์กร Fortify Rights

คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าในสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ ไม่เคยมียุคใดเลยที่โลกว่างเว้นจากสงคราม ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความสูญเสียอันประเมินค่าไม่ได้จากการที่มนุษย์เข่นฆ่ากันเอง จนเกิดบทเรียนว่าประชาคมโลกต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายเกิดซ้ำรอยเดิม

‘ธรรมนูญกรุงโรม’ เป็นอีกหนึ่งคำมั่นสัญญาของประชาคมโลกว่าประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีและนำคนผิดมารับผิดชอบในการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการรุกราน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการลอยนวลพ้นผิดในอนาคต แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า เรามักเห็นความรุนแรงที่เป็นภัยคุกคามต่อผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลกดำเนินไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอย่างจริงจัง

ในห้วงเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้ มีเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายเกิดขึ้นและความสนใจของประชาคมโลกก็หันเหไปตามปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น วิกฤตใหม่เกิดขึ้น วิกฤตเก่าถูกลืม จากพม่า สู่ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไม่นับว่ามีอีกหลายวิกฤตในหลายพื้นที่ที่หล่นหายไปจากความสนใจกระแสหลัก ขณะที่ความเชื่อมั่นในศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศค่อยๆ ถดถอย และมหาอำนาจดูจะไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร จนกล่าวได้ว่าโลกอยู่ในจุดเปราะบางทางมนุษยธรรมมากที่สุดยุคหนึ่ง

ในยุคที่โลกกำลังสะบักสะบอมจากวิกฤตการณ์มากมาย 101 สนทนากับ แมทธิว สมิธ (Matthew Smith) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ‘ฟอร์ติฟายไรต์’ (Fortify Rights) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่รู้จักจากการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาในพม่า และมีบทบาทในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในหลายมิติภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลก ภูมิภาค และไทย โดยเฉพาะวิกฤตใหญ่ที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในวันที่โลกต่างจดจ่อกับวิกฤตด้านสิทธิใหม่ๆ ในหลากหลายพื้นที่ของโลก เราจะทำอย่างไรให้ไม่มีวิกฤตไหนถูกลืม และอะไรคือความท้าทายใหญ่ที่มนุษยชาติต้องหาทางออกร่วมกัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อะไรคือก้าวที่สำคัญของ Fortify Rights ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายในพม่าจุดประกายให้เราก่อตั้งองค์กรขึ้นในปี 2013 แรกเริ่ม Fortify Rights มีภารกิจเพื่อสืบสวนและบันทึกหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กองทัพพม่ากระทำต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราพบว่ามีการเผาหมู่บ้าน การข่มขืน การตัดศีรษะ และพบหลุมศพจำนวนมาก ภาพเหล่านี้สะท้อนการกระทำที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรมเหนือจะจินตนาการ

ต่อมาหลังเกิดการรัฐประหารในพม่า การประหัตประหารประชาชนที่ถูกมองว่าต่อต้านรัฐบาลก็ขยายเป็นวงกว้าง มีการจับกุมและโจมตีพลเรือนทั้งทางบกและทางอากาศ ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนหลายล้าน วิกฤตมนุษยชนในพม่าทำให้งานของเรายิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในการเก็บหลักฐานเพื่อใช้เอาผิดผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการชดเชยต่อเหยื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่ Fortify Rights เริ่มเผยแพร่รายงานที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เอกสารหลายชิ้นของเราถูกนำไปอ้างอิงในการดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกลไกอื่นๆ

แม้ Fortify Rights จะเป็นที่รู้จักจากการสืบสวนอาชญากรรมที่กองทัพพม่ากระทำต่อพลเรือน แต่เราก็หนุนเสริมงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับอื่นด้วย เช่น ในประเทศไทย ภารกิจของเราขยายไปถึงการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ได้ส่งเสริมและคุ้มครองอย่างเพียงพอ หนึ่งในประเด็นที่เรามีส่วนร่วมอย่างขันแข็งคือการผลักดันให้ยุติการดำเนินคดี SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) หรือการฟ้องปิดปาก ซึ่งมักกระทำต่อนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหว นอกจากนี้เรายังสนับสนุนการรักษาสิทธิของชุมชน LGBTQ+ ในประเทศไทย โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในพม่ายังมิได้คลี่คลายไป ผู้ลี้ภัยจากการสู้รบยังมิได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไทยยังต้องใช้ความพยายามอีกมากในระยะยาว และมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอีกมากมายจากทั่วโลกที่เรียกร้องความสนใจจากเรา ซึ่งเรามุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้อย่างแข็งขัน ทศวรรษที่ผ่านมาถือจึงถือเป็นการเดินทางที่ท้าทายแต่คุ้มค่าสำหรับเรา

คุณมองสถานการณ์ในพม่าปัจจุบันนี้อย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์ที่ผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพม่ามาตั้งแต่ปี 2005 สถานการณ์ในพม่าในรอบไม่กี่ปีมานี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็น กองทัพโจมตีประชาชนเป็นวงกว้างและทำอย่างเป็นระบบ มีผู้ถูกจำคุกนับหมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตนับไม่ถ้วน ตอนนี้การสู้รบยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าความสูญเสียก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ระยะหลังมานี้เราเริ่มเห็นการเพลี่ยงพล้ำของทหารและชัยชนะของกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งชัยชนะเหล่านี้ตอกย้ำความจริงที่ว่ากองทัพพม่าไม่ได้จำเป็นสำหรับอนาคตของประเทศอีกต่อไปแล้ว และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ทำให้ประชาคมโลกเห็นแล้วว่าต้นตอของความไร้เสถียรภาพทั้งหมดทั้งมวลในพม่านั้นมาจากกองทัพ

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่ประชาคมโลกต้องตระหนักร่วมกันคือสถานการณ์ในพม่ายังมีความท้าทายและไม่ควรถูกลดความสนใจ เพราะหนทางสู่สันติภาพจำเป็นต้องอาศัยทั้งความสนใจจากนานาชาติและความร่วมมือในการหาทางออกร่วมกัน

ความรุนแรงต่อประชาชนที่กระทำโดยกองทัพหลังเกิดการรัฐประหารในพม่า ทำให้การรับรู้ต่อปัญหาโรฮิงญาในพม่าเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 การละเมิดและลิดรอนสิทธิต่อพลเรือนได้ทวีความรุนแรงขึ้นและแผ่ขยายไปทั่วพม่า ประชาชนชาวพม่าที่เคยเคลือบแคลงสงสัยข้อกล่าวอ้างของชาวโรฮิงญาจึงได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ชาวโรฮิงญาออกมาบอกเล่านั้นเกิดขึ้นจริง และตอนนี้ประชาชนพม่าก็กำลังเผชิญความโหดร้ายทารุณที่กระทำโดยกองทัพในลักษณะเดียวกัน ประสบการณ์ที่มีร่วมกันทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและปรับเปลี่ยนมุมมองผู้ที่เคยเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องชาวโรฮิงญาก่อนหน้านี้ ให้หันมาทำความเข้าใจปัญหานี้ใหม่ แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือการโจมตีพลเรือนทำให้ผู้คนเห็นตรงกันว่าศัตรูตัวฉกาจของประชาชนในแผ่นดินนี้ก็คือกองทัพ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอยู่เหมือนกันที่ความสูญเสียต้องเกิดขึ้นก่อน ผู้คนถึงจะปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด

หลายปีมานี้ โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านบวก และด้านลบ การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ภูมิทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนบ้าง

บทบาทของของโซเชียลมีเดียต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถือว่ามีความซับซ้อน ผมมองว่าการมีอยู่ของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้เป็นดาบสองคม ดังจะเห็นได้ชัดเจนในบริบทของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่า เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการยกระดับความรุนแรงและส่งต่อความเกลียดชัง เราเห็นผู้กระทำผิด รวมถึงกองทัพ ใช้เครื่องมือนี้ส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเป็นระบบ สะท้อนเหตุการณ์ในอดีตอย่างการใช้วิทยุในรวันดาเพื่อปลุกปั่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ขณะเดียวกัน การมีอยู่ของโซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์มากในสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องอพยพหนีความรุนแรง ชาวโรฮิงญาจำนวนมากใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อสื่อสารและตามหาสมาชิกในครอบครัว ซึ่งกลายเป็นผู้พลัดถิ่นและอาจจะลงเอยที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ในด้านนี้ หลายปีก่อนองค์กรของเราจึงจัดฝึกอบรมช่างภาพรุ่นเยาว์ชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ เราสอนวิธีเล่าเรื่องราวและการถ่ายภาพให้พวกเขา สอนให้เขาสร้างบัญชีในอินสตาแกรม เพื่อใช้แพลตฟอร์มนี้แบ่งปันเรื่องราวของตนกับคนทั้งโลก โซเชียลมีเดียจึงทำให้ผู้คนจากหลายมุมโลกได้เห็นชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยผ่านเลนส์ของชาวโรฮิงญาเอง มิใช่ผ่านฟิลเตอร์ขององค์กรสิทธิหรือตัวแสดงที่อยู่ภายนอกแบบเรา

ดังนั้น หากกล่าวถึงในแง่ลบ โซเชียลมีเดียมีพลังที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและอาจถูกใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่ผลกระทบอันเลวร้ายในวงกว้างได้ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่ช่วยขยายเสียงของกลุ่มผู้ลี้ภัยโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ โซเชียลมีเดียจึงมีความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ในยุคที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นเป็นการสู้รบแทบจะรายวัน ความสนใจของประชาคมโลกต่อวิกฤตสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งดูจะคงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่ดำเนินมาก่อนก็ถูกลืม คุณตอบสนองต่อสภาพความเป็นจริงเช่นนี้อย่างไร และมันส่งผลต่อการทำงานขององค์กรสิทธิฯ บ้างไหม

ความสนใจของนานาชาติต่อสงคราม วิกฤตมนุษยธรรม หรือความขัดแย้งในโลกใบนี้มีแนวโน้มที่ไม่สม่ำเสมออยู่แล้ว สายตาชาวโลกมักจะพุ่งตรงไปที่ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดหรือเร่งด่วนที่สุดในเวลานั้น ตอนนี้สถานการณ์ที่คนจับตามองมากที่สุดคือความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และก่อนหน้านี้ก็คือสงครามรัสเซีย-ยูเครน แน่นอน ทั้งสองสถานการณ์นี้สมควรได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าวิกฤตอื่นที่ดำเนินอยู่ต้องถูกลดความสำคัญลงไปด้วย ต่อให้ความสนใจของประชาคมโลกจะหันเหออกไป แต่ความรุนแรงไม่ได้ลดระดับลง เช่นสถานการณ์ในพม่า ส่วนวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังเกิดขึ้นทุกปี เรามักจะเห็นข่าวเรือผู้ลี้ภัยเกยตื้นหรือลอยลำอยู่ในน่านน้ำไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียผ่านตามาเรื่อยๆ

เราอยู่ในยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทุกมุมโลกได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว แต่ทิศทางของความสนใจของประชาคมโลกยังได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจ จากสื่อ และมีตัวแสดงที่หลากหลายมากขึ้นบนพื้นที่ดิจิทัล นักเคลื่อนไหวหรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจึงทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อให้แสงส่องมาถึงวิกฤตที่กำลังถูกลืม และย้ำเตือนประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ชาติมหาอำนาจ หรือตัวแสดงภายในภูมิภาคถึงความรับผิดชอบของพวกเขาในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองในโลกที่หนึ่งหรือโลกที่สาม ทุกชีวิตมีเลือดเนื้อ มีคนเจ็บปวดจากความสูญเสียไม่ต่างกัน

ไทยเป็นหนึ่งในปลายทางที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเลือกจะหันหัวเรือมา คุณมองว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยจัดการปัญหานี้ได้มากน้อยแค่ไหน

หากจะกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรือผู้อพยพชาวโรฮิงญาอย่างยั่งยืนที่สุดคงต้องแก้ที่ต้นทางของวิกฤตซึ่งอยู่ในพม่าและค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ การล่องเรือเพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศที่สามจึงยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และเป็นปัญหาที่น่ากังวลในระดับนานาชาติ เพราะอีกปัญหาที่เกิดขนานกันมาคือการเติบโตของกระบวนการค้ามนุษย์

สำหรับท่าทีของไทยซึ่งเป็นทางผ่านสำคัญของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เราเห็นสัญญาณในทางบวกอยู่บ้าง เมื่อปี 2017 ศาลอาญาในประเทศไทยพิพากษาเพื่อลงโทษจำเลยกว่า 60 คน ให้ได้รับโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการสังหารผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากพม่าและบังกลาเทศตั้งแต่ปี 2015 การพิจารณาคดีในครั้งนั้นถือเป็นเป็นคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์ครั้งใหญ่สุดของประเทศไทย และในครั้งนั้นผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและเจ้าหน้าที่ทหารรวมอยู่ด้วย

แม้ไทยจะมีหมุดหมายที่ดีในการนำคนผิดฐานค้ามนุษย์มารับโทษ แต่โดยรวมแล้ว นโยบายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังต้องมีการดำเนินงานเพิ่มเพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และตัวแสดงที่สำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ไทยเพียงเท่านั้น แต่เราหวังจะเห็นชาติอื่นในภูมิภาคทำงานร่วมกัน อย่างน้อยที่สุดก็ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เรือที่ลอยลำอยู่กลางทะเล ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าการที่ต่างคนต่างผลักไสให้ชาวโรฮิงญากลับไปเผชิญชะตากรรมในทะเลหรือการที่ต่างคนต่างคิดว่าเดี๋ยวคงมีคนช่วย ได้เปิดช่องโหว่ให้เกิดขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งท้ายสุดผลกระทบจากอาชญากรรมข้ามชาติก็ส่งผลกระทบต่อกิจการภายในอยู่ดี

หลายคนมองว่าปัจจุบันนี้ระบบกฎหมายหรือกลไกด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศนั้นไร้น้ำยา เพราะไม่สามารถนำอาชญากรสงครามมาลงโทษได้จริงๆ ยกตัวอย่างกรณีที่ปูตินถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ออกหมายจับ แต่ก็ยังไม่ถูกนำตัวมาขึ้นศาลเสียที เพราะท้ายสุดการจับกุมนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาคมโลก คุณคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้

ผมมองว่า ICC ยังเป็นสถาบันสำคัญในการสอบสวนและดำเนินคดีต่ออาชญากรสงคราม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว กระบวนการเอาผิดนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและมี ‘ความสองมาตรฐาน’ เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง หลังรัสเซียบุกยูเครน สำนักงานอัยการของ ICC เปิดการสืบสวนกรณีความเป็นไปได้ในการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนอย่างรวดเร็ว การสอบสวนมีขึ้นทันทีหลังจาก 39 ชาติที่ร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องให้ ICC เริ่มต้นการสอบสวนคดีอาชญากรรมสงคราม ภายในหนึ่งปี ICC ก็ออกหมายจับปูตินและหนึ่งในกรรมาธิการฝ่ายสิทธิเด็กของรัสเซีย ในข้อหาบีบบังคับเนรเทศประชาชนและเด็กจำนวนมากจากยูเครนไปรัสเซียอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อหันมาพิจารณาเหตุการณ์ในพม่า มันเหมือนโลกอีกใบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่ส่งเรื่องพม่าให้อัยการสอบสวน

เราจึงเน้นย้ำอยู่ตลอดว่าประเทศสมาชิก ICC จำเป็นต้องร่วมกันยุติความสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลโลกหรือกลไกความยุติธรรมที่ทุกชาติควรเข้าถึงได้ไม่ควรเป็นพื้นที่แห่งการเลือกปฏิบัติ แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่เห็นความพยายามที่มากพอจากสมาชิก ICC และประชาคมโลกในการรักษาสมดุลตาชั่ง

เมื่อไม่สามารถปฏิเสธความจริงเช่นนี้ได้ เราจึงไม่ได้มองว่า ICC หรือ ICJ จะเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถเอาผิดอาชญากรสงครามได้ มีอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่เราเลือกใช้คือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมบนฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า ‘หลักการเขตอำนาจสากล’ (universal jurisdiction) ซึ่งอนุญาตให้รัฐสามารถใช้เขตอำนาจภายในเหนืออาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศได้ ไม่ว่าอาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้นในพรมแดนรัฐใดก็ตาม

เมื่อต้นปี 2023 Fortify Rights และชาวพม่าจำนวน 16 คน ดำเนินการฟ้องคดีอาญากับอัยการสูงสุดเยอรมนี ตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล เพื่อเอาผิดกับนายทหารระดับสูงของกองทัพพม่า ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งกระทำต่อชาวโรฮิงญาและอาชญากรรมที่สืบเนื่องจากการทำรัฐประหาร แต่น่าเสียดายที่ศาลเยอรมนีปฏิเสธ[1]ที่จะเปิดพิจารณาคดี

แม้เราจะผิดหวังในการยื่นฟ้องคดีอาญากับศาลเยอรมนี แต่เรายังคงเชื่อว่าหลักการเขตอำนาจศาลสากลเป็นแนวคิดที่ทรงพลังในการมอบความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออาชญากรรมที่สงครามที่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ในแผ่นดินตัวเองได้

ทำไมคุณถึงเลือกฟ้องศาลเยอรมนี

เราทำการศึกษาและเปรียบเทียบประเทศที่มีหลักการ universal jurisdiction ทั้งหมด 16 ประเทศทั่วโลก เพื่อหาประเทศที่เหมาะสมที่สุดที่ชาวพม่าผู้รอดพ้นจากการประหัตประหารอันโหดร้ายจะฟ้องเอาผิดกองทัพประเทศตัวเอง เยอรมนีเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ปรากฏขึ้นมา เพราะมีกฎหมาย universal jurisdiction ที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ศาลเยอรมนีเคยมีบทบาทในคดีที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อปี 2022 ศาลเยอรมนีก็เพิ่งดำเนินคดีกับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดแห่งซีเรีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยอาศัยหลักกฎหมายเขตอำนาจศาลตามหลักสากล คำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นทำให้เรามีหวังว่าจะประสบความสำเร็จในกรณีของพม่า

แม้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นดังหวัง แต่ความมุ่งมั่นของเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลง การปฏิเสธคำร้องครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นไปได้ในอนาคตที่เราจะยื่นคำร้องต่อศาลเยอรมนีอีกครั้ง ตอนนี้เรากำลังศึกษาขั้นตอนถัดไปและหารือถึงแนวปฏิบัติอื่นที่เป็นไปได้ ผมมองว่านี่คือการต่อสู้ที่อาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่เรายังมีพลังในการฝ่าฟันอุปสรรค ความยุติธรรมที่เราวาดไว้จะปรากฏขึ้นตรงหน้าอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้เราเห็นแกมเบียนำคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาขึ้นฟ้องต่อศาลโลกหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) น่าสนใจว่าสุดท้ายก็เป็นรัฐเล็กๆ ไม่ใช่มหาอำนาจ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้เพื่อนมนุษย์

ความเป็นมาของคดีที่แกมเบียยื่นต่อ ICJ นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เบื้องหลังการตัดสินใจส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ Hassan Bubacar Jallow อัยการสูงสุดของแกมเบียได้เข้าร่วมการประชุมขององค์การเพื่อความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) ที่บังกลาเทศ ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ เขาได้มีโอกาสไปค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เนื่องจากเขาเคยอยู่ในกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เขาตระหนักแทบจะในทันทีที่ได้พบและฟังว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประสบการณ์ส่วนตัวนี้ผลักดันให้เขาดำเนินการยื่นคดีนี้ต่อ ICJ และยังกระตุ้นให้ชาติ OIC อื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนด้วย องค์กรของเราติดต่อกับทีมกฎหมายของแกมเบียเป็นประจำ เราช่วยจัดเตรียมหลักฐานและเผยแพร่รายงานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือมีหลายประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในคดีนี้มากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการป้องกันไม่ให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอีก

การแสวงหาความยุติธรรมในเวทีระหว่างประเทศให้พี่น้องมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งนำโดยรัฐเล็กๆ แบบแกมเบียสร้างแรงกระเพื่อมไปยังรัฐอื่นๆ ทั่วโลกว่าพวกเขาก็สามารถสนับสนุนความให้มีการแสวงหาความยุติธรรมขึ้นได้ และการแสวงหาความยุติธรรมนอกเขตแดนก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐเป็นผู้กระทำต่อประชาชนเสียเองหรือระบบยุติธรรมภายในประเทศไม่อยู่ในสภาวะที่จะนำคนผิดมารับโทษได้  

ในทางปฏิบัติแล้วดูจะเป็นเรื่องยากในการนำตัวอาชญากรสงครามมาลงโทษ

อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากสายธารประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ผู้กระทำผิดที่เคยรอดพ้นจากทุกอาชญากรรมที่ตัวเองก่ออาจกลายเป็นนักโทษที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ แต่เราคงบอกอย่างชัดเจนไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ลมจะเปลี่ยนทิศ อาจจะเป็นพรุ่งนี้ ปีหน้า หรือสิบปีข้างหน้า แต่มันจะเกิดขึ้นแน่นอน และเมื่อวันนั้นมาถึง ไม่ว่าอาชญากรเหล่านี้จะหลบลี้อยู่ดินแดนใดก็จะถูกส่งตัวมาชดใช้ในสิ่งที่ตัวเองทำแน่นอน

ในกรณีของพม่า สปิริตของการต่อสู้ยังคงเข้มแข็ง ประชาชนยังคงยืนหยัดว่าจะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยและความยุติธรรม ในขณะที่พื้นที่ทางการเมืองของกองทัพค่อยๆ ถดถอยลง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจได้เห็นการล่มสลายของกองทัพและการดำเนินคดีขนานใหญ่ต่ออาชญากรในเครื่องแบบเหล่านี้ เราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนตระหนักดีว่าผู้ที่อยู่แนวหน้าในการแสวงหาความยุติธรรมก็คือประชาชนชาวพม่าเอง พวกเขาคือเหยื่อจากความรุนแรงโดยรัฐและจะเป็นผู้นำคนผิดมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เขาทำ บทบาทของเราคือการสนับสนุนและส่งต่อความพยายามเหล่านี้ไปสู่ประชาคมโลก เพื่อสร้างแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายใน

เราหวังว่าในเร็ววันนี้เราจะได้เห็นผู้กระทำผิดต้องชดใช้สิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะจากความขัดแย้งใดในโลก ผ่านกระบวนการศาลโลก หรือด้วยกระบวนการทางอาญาใดก็ตาม เพราะการตัดสินโทษแก่อาชญากรสงครามเหล่านี้จะเป็นการส่งสารอันทรงพลังไปยังผู้กระทำผิดอื่นๆ ด้วยว่าเขาไม่สามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้ตลอด ดังนั้นการทำให้กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพจึงมีความหมายต่อการยุติความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่

ก่อนหน้านี้คุณพูดถึง ‘ความสองมาตรฐาน’ ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศไปแล้ว ถ้าขยับมาพิจารณาท่าทีของประเทศมหาอำนาจเราจะเห็นว่ามีความสองมาตรฐานในการตอบสนองต่อวิกฤตมนุษยธรรมเช่นกัน ล่าสุดเราเห็นได้จากกรณีของความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ชาติตะวันตกดูจะเพิกเฉยต่อความรุนแรงในกาซาที่กระทำโดยอิสราเอล ซึ่งมีหลายข้อบ่งชี้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เนื่องจากเราไม่ได้ปฏิบัติการในพื้นที่กาซ่า จึงอาจไม่อยู่ในจุดที่ออกความเห็นได้ แต่เราก็ติดตามสถานการณ์ในอิสราเอลและฉนวนกาซาอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด สมาชิกชุมชนชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่เราทำงานด้วยต่างรู้สึกเห็นใจประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย พวกเขาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยถูกประหัตประหารจากพม่า สำหรับผมเองซึ่งมาจากอเมริกา ผมมองสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความกังวล โดยเฉพาะแนวนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่คอยหนุนหลังอิสราเอลอยู่ตลอด คิดดูสิว่ามันเป็นภาพที่น่าสะพรึงกลัวแค่ไหนที่กองทัพอาวุธครบมือเปิดฉากถล่มชุมชนและผู้บริสุทธิ์โดยมีมหาอำนาจทั่วโลกสนับสนุนการกระทำนี้อยู่ ผมไม่ปฏิเสธว่าสหรัฐฯ ทำได้ดีในการสนับสนุนและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนไปทั่วโลก แต่ในบางนโยบาย บางความขัดแย้ง ก็เป็นสหรัฐฯ เองที่ทำให้ความหายนะดำรงอยู่

‘การคว่ำบาตร’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ คุณมองว่ามาตรการนี้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชน

การคว่ำบาตรเป็นเครื่องมือที่มีหลายระดับและมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ตามหลักการแล้วการคว่ำบาตรที่มีประสิทธิภาพควรกำหนดขอบเขตและเป้าหมายการลงโทษให้ชัดเจน มากกว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบหว่านแห และตัวแปรสำคัญที่กำหนดว่าการคว่ำบาตรจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของรัฐและบรรษัทข้ามชาติด้วย

กรณีของพม่า เราได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศคู่ค้าคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันและก๊าซของกองทัพ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักที่รัฐบาลทหารนำไปซื้ออาวุธมาปราบปรามประชาชน พูดให้ถึงที่สุด กิจการนี้ไม่ได้เป็นและไม่ควรเป็นของกองทัพตั้งแต่แรก เพราะทรัพยากรที่สร้างเงินเป็นกอบเป็นกำนี้เป็นของประชาชนชาวพม่าทุกคน การคว่ำบาตรบริษัทของกองทัพจึงเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงที่น่าจะสร้างแรงกระทบกระเทือนได้จริง

นอกจากการคว่ำบาตรธุรกิจกองทัพ มาตรการตัดกองทัพพม่าออกจากระบบเครือข่ายธนาคารก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยตัดการเข้าถึงแหล่งรายได้ เหมือนที่ชาติตะวันตกตัดการเชื่อมต่อของธนาคารรัสเซียจากระบบ SWIFT ถ้าหันมามองกรณีของพม่า รัฐบาลชาติต่างๆ ในอาเซียนยังไม่มีการดำเนินการเชิงรุกมากนัก สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่นายทหารหลายคนเลือกจะเก็บรักษาทรัพย์สินไว้ เรียกได้ว่าเป็น ‘financial playground’ ของเหล่านายพลเลยก็ว่าได้

ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ยังทำธุรกิจกับกองทัพพม่าอยู่ก็ควรจะพิจารณาบทบาทของตนอย่างจริงจังว่ากำลังสนับสนุนให้การสู้รบยืดเยื้อโดยทางอ้อมหรือเปล่า และถ้ามองผลกระทบในระดับภูมิภาค การที่ชาติต่างๆ ไม่กระตือรือร้นในการแกปัญหาในพม่าก็ทำให้ภูมิภาคไม่มีเสถียรภาพ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายอื่นเป็นทอดๆ  

ประชาชนในบางประเทศอาเซียนก็คงไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลตนต่อปัญหาในพม่าไปเสียหมด ในไทยก็เช่นกัน คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยที่รัฐวิสาหกิจไทยยังขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัฐบาลทหารพม่า หลายคนวิพากษ์วิจารณ์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยที่จัดประชุมแบบไม่เป็นทางการกับรัฐบาลทหาร ในฐานะคนธรรมดาที่ไม่ได้ถือครองอำนาจรัฐ เราจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพม่าได้อย่างไรบ้าง

ทุกคนเริ่มต้นได้จากการตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และส่งต่อความตระหนักนั้นแก่สังคม ไม่มากก็น้อย สิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันให้ผู้มีอำนาจตระหนักถึงข้อกังวลของสาธารณชนและให้คนที่มีอำนาจตัดสินใจรู้ว่าประชาชนกำลังจับตาดูอยู่ การเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจที่ยิ่งใหญ่เสมอไป แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ จากคนตัวเล็กตัวน้อยก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าผมเป็นคนไทยและได้เห็นท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหาในพม่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็คงไม่พอใจรัฐบาลตัวเองเหมือนกัน แต่ผมก็ยังเห็นความหวังว่าไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากกว่านี้เพราะประชาชนให้ความสนใจต่อสถานการณ์ มีการพูดคุยถกเถียงบนพื้นที่ออนไลน์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ดีว่าประชาชนก็กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในวิถีทางที่ตัวเองทำได้อยู่

คุณยังมีความหวังในแนวทางการแก้ปัญหาของอาเซียนอยู่หรือเปล่า

ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าฉันทมติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ล้มเหลวไปอย่างรวดเร็ว อันที่จริงก็บอกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วว่ามิน อ่อง หล่ายไม่มีแนวโน้มที่จะเคารพฉันทมติของอาเซียน ตอนนี้สถานการณ์การสู้รบยังคงรุนแรง และเราไม่รู้ว่ามันจะเลวร้ายไปมากแค่ไหน ต้องสูญเสียผู้บริสุทธิ์ไปอีกกี่ชีวิต เวลานี้ผู้นำอาเซียนต้องยอมรับได้แล้วว่าฉันทมติ 5 ข้อมันล้มเหลว เพื่อเปิดทางให้มีการพูดคุยถึงทางออกใหม่ๆ

เราพอจะเห็นความหวังด้านสิทธิมนุษยชนในปีต่อๆ ไปบ้างไหม

ในภาพรวม เราเห็นความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้กระบวนการการดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติดูจะคืบหน้าไปอย่างล่าช้า แต่ก็ถือว่าโลกมีกลไกทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นใหม่ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมา ในระดับประชาชน เราเห็นความกระตือรือร้นในการสอดส่องการละเมิดสิทธิและเรียกร้องให้รัฐบาลของตนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ถือว่าเป็นขุมพลังอันดีที่จะทำให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในความสนใจกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย ผมมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะแสดงบทบาทนำในเวทีโลกในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิชุมชน LGBTQ+ รวมถึงมีบทบาทนำในอาเซียนในการสนับสนุนสันติภาพในพม่าและยุติความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นปลายทางของผู้ลี้ภัยจากพม่า ควรจะเสริมสร้างความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย มอบสถานะทางกฎหมายแก่พวกเขา และประสานงานกับหน่วยงานและรัฐบาลอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตั้งถิ่นฐานใหม่ ประเด็นเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาระดับโลก และผมค่อนข้างเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะทำได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา


[1] อัยการสูงสุดแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีให้เหตุผลปฏิเสธการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมในพม่าไว้ว่าจะเป็นการ ‘ทำงานซ้ำ’ กับกลไกที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีอยู่ก่อนแล้ว คือ Independent Investigative Mechanism for Myanmar (IIMM) อย่างไรก็ตามบทบาทที่ระบุไว้ของ IIMM คือการจัดเตรียมหลักฐานให้กับกลไกการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในพม่าเพื่อใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และไม่มีอำนาจในการดำเนินคดีกับบุคคลโดยตรง ดังนั้น บทบาทของศาลเยอรมนีและ IIMM จึงไม่ได้ซ้อนทับกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save