fbpx

เด็กไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาวทุกคน จึงควรลงโทษเขาเยี่ยงอาชญากร

ภายหลังจากการใช้ความรุนแรงของเด็ก (และเยาวชน) เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสการให้คำอธิบายต่อการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ว่าเด็กควรได้รับการลงโทษเฉกเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป บางส่วนอาจเน้นว่าเฉพาะในอาชญากรรมที่มีความร้ายแรง เช่น การกราดยิงฝูงชน การฆ่าผู้อื่นตายด้วยอาวุธอย่างโหดร้าย  

บางคนที่อวดอ้างว่าตนเองทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กมาอย่างยาวนานให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า “เด็กไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาวทุกคน”

ถ้อยคำดังกล่าวมีความหมายเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากความเข้าใจว่าเด็กจำนวนหนึ่งที่กระทำความผิดนั้นมีความชั่วอยู่ในสันดาน การกระทำผิดที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากความชั่วช้าที่แฝงฝังอยู่ข้างใน ดังนั้น มาตรการในการลงโทษที่ออกแบบมาใช้สำหรับเด็กจึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับอาชญากรเด็กในปัจจุบันได้ จะต้องมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ ความเข้าใจอันเป็นที่ยอมรับกันและนำมาสู่การออกแบบการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กให้แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าเด็กยังไม่มีความสามารถในการเข้าใจและตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลเพียงพอ การกระทำที่เกิดขึ้นจึงอาจเป็นผลจากความอ่อนต่อโลกหรือไม่เท่าทันต่อความเป็นจริง การลงโทษจึงมุ่งเน้นที่การเยียวยาฟื้นฟูเป็นหลักเพื่อให้เด็กสามารถกลับมาเติบโตต่อไปในอนาคต มิใช่เป็นการลงโทษเพื่อให้เกิดความกลัวหรือความหลาบจำเช่นเดียวกับที่กระทำต่ออาชญากรผู้ใหญ่

ตามกฎหมายอาญาของไทย บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) จึงได้รับโอกาสในการกำหนดโทษให้ต่ำกว่าผู้ใหญ่ กรณีที่อายุน้อยลงไป (ต่ำกว่า 18 ปี) ก็อาจได้รับการลดโทษเพิ่มมากขึ้น หรือไม่ต้องรับโทษในกรณีที่อายุน้อยมาก (ต่ำกว่า 15 ปี) การกำหนดโทษให้มีความแตกต่างเช่นนี้วางอยู่บนแนวคิดว่าบุคคลนั้นยังเยาว์วัยจึงควรต้องให้โอกาสกลับตัวกลับใจมากกว่า

แต่ถ้าหากความเข้าใจของเราที่มีต่อเด็กเปลี่ยนแปลงไปด้วยความเชื่อว่าเขาเหล่านั้นมีสันดานฝังอยู่ในตัว การใช้มาตรการที่แตกต่างออกไปจากผู้ใหญ่ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป หากเด็กอายุ 15 ปี ได้ลงมือฆ่าคนตายเขาก็ควรต้องได้รับโทษเหมือนกับอาชญากรผู้ใหญ่ 

การมองว่าเด็กและอาชญากรผู้ใหญ่ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อว่าเด็กในห้วงเวลาปัจจุบันสามารถเข้าถึงและรู้เรื่องต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงข่าว เกม อาวุธ ภาพยนตร์ ฯลฯ ได้ในแบบเดียวกันกับที่คนทั่วไป และอาจสามารถเข้าถึงได้มากยิ่งกว่าคนที่อยู่ในวัยสูงอายุด้วยซ้ำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่มีความช่ำชองในการเข้าถึงโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น พวกเขาสามารถหาข้อมูล เข้าถึงสินค้าบริการต่างๆ ที่มีในโลกได้อย่างง่ายดายผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ความสามารถเช่นนี้หมายความรวมไปถึงความสามารถในการใช้ปัญญาเพื่อตัดสินใจต่อการเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยหรือไม่ การเข้าถึงข้อมูลกับความสามารถในการตัดสินใจว่าจะมีท่าทีหรือจะใช้ข้อมูลนั้นอย่างไร เป็นเรื่องเดียวกันหรือว่าอาจจะมิได้เป็นเรื่องเดียวกัน

เช่น เด็กสามารถซื้อหาปืนได้จากร้านค้าในอินเทอร์เน็ต แต่การจะใช้ปืนนั้นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาในการตัดสินว่าจะไว้ใช้ป้องกันตัวหรือทำร้ายผู้อื่นเพื่ออวดอ้างอำนาจของตน

นอกจากนี้แล้ว หากเชื่อว่าเมื่อเด็กไม่ใช่ผ้าขาวมาแต่กำเนิดก็ทำให้การมองปัญหาดังกล่าวหดแคบลงมาเหลือเพียงคนคนนั้นที่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง มันเป็นการง่ายที่จะโยนความรับผิดชอบต่อการกระทำต่างๆ ไปไว้บนบ่าของปัจเจกบุคคล อันทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกสบายใจเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นว่าบัดนี้เราได้ค้นหาบุคคลที่เป็นต้นเหตุซึ่งควรจะต้องมีความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายนั้นๆ

การมองหาและป้ายไปที่คนใดคนหนึ่งนั้นง่ายกว่าการที่เราจะมองและทำความเข้าใจต่อเงื่อนปัจจัยอื่นที่ล้วนส่งผลให้เด็กสามารถกระทำความผิดได้

ทำไมเด็กต้องมีแรงกดดันจากการเรียนหนักเพื่อเข้าสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ทำไมรัฐจึงปล่อยให้ผู้คนสามารถซื้ออาวุธร้ายแรงผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวก ทำไมเด็กอายุต่ำกว่ากำหนดสามารถเข้าไปซ้อมในสนามยิงปืนได้ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนปัจจัยที่มีผลมากบ้างน้อยบ้างไม่อาจปฏิเสธ ซึ่งจะกลายเป็นส่วนประกอบให้เด็กตัดสินใจอย่างพิกลพิการในการรับมือกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

คำถามเหล่านี้ไม่สามารถตอบได้ง่ายดายนัก หากต้องการความรู้ความเข้าใจในการมองเห็นปัญหาไปให้กว้างมากกว่าเพียงเพราะบุคคลนั้นชั่วช้าสารเลวเพียงอย่างเดียว เราคงต้องทำความเข้าใจต่อระบบกฎหมายว่ามีจุดอ่อนจุดบกพร่องตรงส่วนไหน ต้องทำความเข้าใจต่อระบบการควบคุมธุรกรรมสีเทาสีดำในโลกออนไลน์ว่าจะสามารถทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องนำมาขบคิดไปพร้อมกัน

ความยุ่งยากที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ช่วยทำให้ความรุนแรงสามารถบังเกิดขึ้นได้ แต่การกล่าวอ้างถึงเงื่อนไขเหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดความมึนงงต่อผู้คนเกิดขึ้น เพราะหากเข้าไปทำความเข้าใจต่อเงื่อนปัจจัยเหล่านี้แล้ว การจะคลี่คลายปัญหาให้กระจ่างออกมากและรวมไปถึงแนวทางการแก้ไข มันก็เป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะกระทำได้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน หากต้องอาศัยทั้งข้อมูล ความรู้ และความมุ่งมั่นจากส่วนต่างๆ ที่มีเกี่ยวข้อง

ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ พวกเราทั้งหลายอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่เปิดให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้ การทำความเข้าใจต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นการคลี่ให้เห็นว่าสังคมไทยอ่อนแอเป็นอย่างมากในแทบทุกระดับ ซึ่งอาจเป็นความจริงที่ยากจะยอมรับได้ว่าสังคมแห่งนี้มีเงื่อนไขแห่งความรุนแรงดำรงอยู่ในทั่วทุกหัวระแหง

ดังนั้น ที่ง่ายและแสนสะดวกที่สุดก็คือ การโยนปมปัญหาทั้งมวลไปไว้ที่เด็กให้กลายเป็นอาชญากรที่มีดีเอ็นเอแห่งความชั่วช้าฝังอยู่ภายในตัวตนนั่นแหละ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save