fbpx

บันทึกของพยานคดี 112 ต่อระบบความรู้ของนิติศาสตร์ไทย

ผมรู้สึกหดหู่ใจแทบทุกครั้งที่ได้ทราบข่าวคำตัดสินในคดี 112 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมมีโอกาสต้องไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในฝ่ายของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อมาตราดังกล่าว ในทุกโอกาสที่ไปเป็นพยานก็ใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการยืนยันหลักการทางกฎหมายที่สำคัญซึ่งควรต้องถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย โดยอย่างน้อยมีหลักการสองเรื่องที่จะเน้นย้ำอย่างมาก 

เรื่องแรกคือเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความตามรัฐธรรมนูญ อันถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญที่ต้องมีการนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด เรื่องที่สองคือความหมายของสถาบันกษัตริย์ที่มีการกล่าวอ้างว่าอยู่ในสถานะ ‘อันล่วงละเมิดมิได้’ ว่ามีต้องมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใดในการพิจารณาประเด็นนี้

ในการให้ปากคำเป็นพยาน นอกจากการให้ถ้อยคำในชั้นพิจารณาของศาลแล้ว ผมก็ยังพยายามจัดทำความเห็นเป็นเอกสารยื่นให้กับศาล ด้วยการเรียบเรียงให้ประเด็นต่างๆ ที่หยิบยกขึ้นมามีความชัดเจน รวมทั้งมีระบบอ้างอิงถึงที่มาของความเห็นว่ามิใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจุดยืนทางการเมืองส่วนตัว (จนกระทั่งเกือบจะกลายเป็นบทความวิชาการที่สามารถส่งไปตีพิมพ์ตามวารสารวิชาการกฎหมายได้) หากเป็นความเห็นร่วมกันของนักวิชาการจำนวนไม่น้อย ทั้งนักวิชาการระดับปรมาจารย์ในทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา โดยบางคนอาจล่วงลับไปแล้วและบางคนยังมีชีวิตอยู่

แม้จะพยายามนำเสนอความเห็นทางวิชาการอย่างเต็มที่แล้ว แต่คำพิพากษาจำนวนมาก (หรือหากกล่าวให้ตรงไปตรงมาแล้วก็คือเกือบทั้งหมด) ก็ไม่ได้เห็นพ้องไปกับความเห็นทางวิชาการที่ได้นำเสนอไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าจำเลยส่วนมากก็จะได้รับโทษจำคุก ส่วนจะจำคุกมากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

แน่นอนว่าความเห็นที่ผมได้นำเสนอไปย่อมไม่ใช่สัจธรรมสูงสุดที่ผู้พิพากษาต้องเห็นด้วยหรือต้องรับฟังทั้งหมด ในฐานะขององค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดต่อข้อพิพาทที่เกิดขึ้นย่อมต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างกว้างขวางและตัดสินไปตามความเห็นของตนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และที่สำคัญคือต้องเป็นการตัดสินที่วางอยู่บนหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับกันของระบบความรู้ในแวดวงทางนิติศาสตร์

คำตัดสินที่วางอยู่บนหลักวิชานั่นแหละคือประเด็นที่ชวนให้ตั้งคำถามว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

มีหลายคดีที่คำตัดสินชวนให้ตั้งคำถามทั้งในทางรัฐธรรมนูญหรือในทางกฎหมายอาญาว่าคำตัดสินนั้นมีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นเพียงพอมากน้อยเพียงใด เช่น บุคคลที่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคจิตแต่ก็ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์, การขยายความคุ้มครองบุคคลตามมาตรานี้ให้มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่จำกัดเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันหากย้อนหลังกลับไปยังพระมหากษัตริย์ในอดีต, การกระทำที่แอบอ้างถึงพระราชวงศ์เพื่อหลอกลวงเอาประโยชน์จากบุคคลอื่นก็เข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรานี้, การไม่ให้ประกันตัวแก่ผู้ต้องหาด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง เป็นต้น

ดูราวกับจะมีช่องว่างระหว่างระบบความรู้ในทางนิติศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการยุติธรรมของไทย หรือหากกล่าวในอีกแบบหนึ่งก็คือ ระหว่างกฎหมายในตำรา (law in book) กับกฎหมายในเชิงปฏิบัติการ (law in action) ไม่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และในหลายครั้งก็ปรากฏอย่างชัดเจนว่ากฎหมายในเชิงปฏิบัติการขัดแย้งกับกฎหมายในตำราอย่างชัดเจน

จำได้ว่าก่อนหน้าปีนี้ เมื่อมีคำพิพากษาในคดี 112 เกิดขึ้น และหากเป็นคำตัดสินที่ไม่มีความสอดคล้องกับหลักวิชาหรือระบบความรู้ที่ดำรงอยู่ จะปรากฏเสียงหรือความเห็นของบรรดานักกฎหมายเกิดขึ้นไม่น้อย ทั้งในด้านของการโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำตัดสิน ท่าทีเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็คือการทำหน้าที่ตรวจสอบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลว่าได้กระทำไปอย่างมีเหตุผลมากน้อยเพียงใด แม้ว่าอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด 

แต่ในรอบระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการพิจารณาและคำตัดสินคดี 112 เกิดขึ้นอย่างมาก รวมทั้งคดีที่กำลังจะตัดสินในระยะเวลาอันใกล้ข้างหน้า จำนวนเรื่องราวและจำนวนคดีที่เกิดขึ้นคงค่อยๆ ทับถมมากยิ่งขึ้นทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ลำพังแค่จดจำจำนวนคดีก็เป็นเรื่องยาก ไม่ต้องตั้งคำถามถึงรายละเอียดในคดีที่ต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในหลากหลายรูปแบบของแต่ละคดี

คนจำนวนไม่น้อยคงมึนชากับเรื่องราว แม้มีหลายกรณีที่บุคคลต้องถูกลงโทษอย่างไม่ชอบธรรมแต่ก็ยังไม่สามารถถูกจดจำได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง ผมเองก็ไม่สามารถจดจำถึงผู้คนที่ถูกนำตัวเข้ากระบวนการยุติธรรมได้ทั้งหมด หรือเอาเข้าจริงก็จำได้เพียงส่วนน้อยของเรื่องราวที่เกิดขึ้น 

คำถามที่อยากชวนขบคิดก็คือ ความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมนั้นสามารถเป็นตัวชี้วัดถึงความเข้มแข็งของแวดวงความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ในสังคมไทยได้ใช่หรือไม่ และยังอาจใช้วัดได้ดีไม่น้อยกว่าการจัดอันดับด้วยระบบประกันคุณภาพแบบที่นิยมกันอยู่

ในห้วงเวลาปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากต่างมีการเปิดหลักสูตรการสอนนิติศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก, สังคมไทยมีผู้ที่สำเร็จการศึกษากฎหมายระดับสูงมาจากแทบทุกมุมโลก กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ, ทั้งนิติศาสตร์เป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีบุคคลดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เป็นจำนวนมาก ฯลฯ ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใดก็ล้วนสะท้อนถึงความเฟื่องฟูของการศึกษากฎหมายในสังคมไทย น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเพราะเหตุใดตัวระบบความรู้ที่มีอยู่อย่างมากกลับไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงให้เห็นได้

หลายคนอาจเห็นว่ากรณีที่อภิปรายถึงนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและควรนับเป็นข้อยกเว้น แต่ความเห็นของผมก็คือยิ่งสถานการณ์ละเอียดอ่อนมากเท่าใดก็ยิ่งจะสามารถพิสูจน์ได้ถึงความเข้มแข็งและความสำคัญของความรู้นั้นๆ ได้มิใช่หรือ

ผมคงไม่อาจหาญเสนอทางออกให้กับความยุ่งยากที่กำลังดำเนินอยู่ในห้วงเวลานี้ สิ่งที่พอจะมีความเห็นได้ก็คือ หากระบบความรู้ทางนิติศาสตร์ภายในสังคมไทยมีความเข้มแข็งมากเพียงพอ ก็ยากจะเห็นหน้าตาของกระบวนการยุติธรรมในแบบที่เรากำลังได้ประจักษ์อยู่

ใช่หรือไม่ว่าเอาเข้าจริงแล้ว ความรู้ด้านนิติศาสตร์ในสังคมไทยนั้นอ่อนแอและไร้พลังเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงอำนาจนำดั้งเดิมมากกว่าจะเป็นกลไกในการสร้างสังคมที่มีระบบกฎหมายเป็นหลักประกันพื้นฐานในชีวิตและเสรีภาพของผู้คน

นี่ย่อมไม่ใช่คำตอบที่น่าพึงพอใจ ผมเองก็หวังว่าจะได้ยินคำอธิบายที่ดีมากกว่านี้รวมถึงทำให้สามารถมองเห็นระบบความรู้นิติศาสตร์ที่มีความหวังมากยิ่งขึ้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save