fbpx

ตรรกะการเมืองโลกและการกลับมาของภูมิรัฐศาสตร์ – คุยกับ มาร์ค ศักซาร์

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดไปจนถึงสงครามเย็น ยุโรปเป็นภูมิภาคที่คุ้นเคยกับ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (geo-politics) ระหว่างประเทศมากที่สุด การเมืองภายในยุโรป – การแบ่งกรุงเบอร์ลิน การแบ่งเยอรมนี การแบ่งค่ายภายในยุโรป – แม้จะถูกจัดหมวดหมู่ว่าเป็นการต่อสู่ทางอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์และเสรีนิยม แต่ในทางปฏิบัติ ภูมิศาสตร์และสถานที่ตั้งของแต่ละประเทศนับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง

แต่เมื่อออกไปนอกภูมิภาค ยุโรปกลับไม่มีแนวคิดและนโยบายการเมืองที่อยู่บนฐานของภูมิรัฐศาสตร์อย่างเด่นชัด หลายทศวรรษที่ผ่านมายุโรปให้ความสำคัญดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในฐานะ ‘มหาอำนาจทางปทัสถาน’ (normative power European) ด้วยการส่งออกคุณค่าและบรรทัดฐานด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

“We don’t do geopolitics” นักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายชาวยุโรปหลายคนเชื่อเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์และเงื่อนไขของโลกกำลังทำให้ยุโรปต้องปรับครั้งใหญ่ ภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นแว่นมาตรฐานที่ยุโรปจำเป็นต้องใช้อ่านและทำความเข้าใจ ‘ตรรกะของการเมืองโลก’ แต่ถึงกระนั้น ยุโรปก็มีจุดยืน ผลประโยชน์ ศักยภาพ และอำนาจที่ต่างจากสหรัฐอเมริกาและจีน ภูมิศาสตร์การเมืองในสายตาของยุโรปจึงมีความน่าสนใจเฉพาะตัว

มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich Ebert Stiftung: FES) คือ หนึ่งในนักวิชาการและนักยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกชาวยุโรปที่น่าสนยิ่ง ในด้านหนึ่ง มาร์ค เป็นชาวเยอรมนีที่เติบโตมาในช่วงหลังสงครามเย็น มีประสบการณ์โดยตรงกับภูมิรัฐศาสตร์ภายในยุโรป เข้าใจจุดยืนและผลประโยชน์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นชาติหลักของยุโรปเป็นอย่างดี แต่ในอีกด้านหนึ่งประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้ประสานงานด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ และระเบียบโลกใหม่ ของ FES ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็ทำให้เขาเป็นคนที่เข้าใจพลวัตเศรษฐกิจการเมืองในเอเชียด้วย

มาร์คเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘Transformative Realism’ ซึ่งว่าด้วยการสร้างแพลต์ฟอร์มใหม่สำหรับผู้คนที่มีผลประโยชน์ อัตลักษณ์ ความเชื่อ และคุณค่าที่หลากหลายในการแก้วิกฤตระดับโลกร่วมกัน โดยมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 21 ภาษา นอกจากนี้ ผลงานอื่นของมาร์กยังถูกแปลเป็นภาษาไทยด้วย เช่น วิกฤตการณ์โคโรนา : ไวรัสทลายระบบโลก และหนังสือ ‘สังคมไทยในวังวนแห่งวิกฤตเปลี่ยนผ่าน’ (In the Vertigo of Change)

101 ชวน มาร์ค ศักซาร์ สนทนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลกและเศรษฐกิจการเมืองไทย มุมมองของเขายังแหลมและชวนคิดอยู่เช่นเคย  

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ กลายเป็นศัพท์ยอดฮิตทั้งในแวดวงการต่างประเทศและในหน้าสื่อ ทำไมภูมิรัฐศาสตร์ถึงกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนพูดถึง มันเกิดอะไรขึ้น  

ภูมิรัฐศาสตร์เป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายความขัดแย้งในระบบระหว่างประเทศ ส่วนมากมักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งจริงๆ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดำเนินอยู่มาเป็นศตวรรษแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้พูดกันอยู่พักหนึ่ง เพราะความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ หลังสงครามเย็นทรงพลังมากเสียจนดูเหมือนว่าการแข่งขันขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจพักยกไปชั่วคราว

หลังสงครามเย็นสิ้นสุดคือช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ครองอำนาจนำ โลกเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการครองอำนาจนำแบบเสรีนิยม (liberal hegemony) หรือที่จอร์จ เอช. ดับบลิว. บุช บุชผู้พ่อเรียกว่า ‘ระเบียบโลกใหม่’ (New World Order) พูดง่ายๆ ก็คือระเบียบโลกที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นหลังทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีโครงสร้างลำดับชั้นอำนาจที่ชัดเจนมากว่า สหรัฐฯ คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในระเบียบโลก ส่วนประเทศอื่นๆ ที่มีอำนาจไม่ทรงพลังเท่าสหรัฐฯ ก็ต้องยอมปรับไปตามระเบียบโลกที่สหรัฐฯ กำหนด เพราะฉะนั้น เราเลยไม่เห็นการแข่งขันในแบบที่เราเห็นกันตอนนี้

แต่สถานะความเป็นมหาอำนาจขั้วเดียว (unipolar world) ของสหรัฐฯ ใกล้จะจบลงแล้ว ซึ่งเกี่ยวพันอย่างมากกับการผงาดขึ้นมาของจีน รวมไปถึงมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย อย่างอินเดีย ซาอุดิอาระเบีย บราซิล ฯลฯ เรากำลังเข้าสู่โลกหลายขั้วอำนาจ (multipolar world) ในขณะที่โครงสร้างอำนาจในระเบียบโลกใหม่ยังจัดวางไม่ลงตัว การแข่งขันช่วงชิงเลยเกิดขึ้น

ชัดเจนว่าการขับเคี่ยวเพื่อครองสถานะมหาอำนาจในเวลานี้คือการแข่งขันกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ในแง่หนึ่งก็มองได้อีกเหมือนกันว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือการช่วงชิงอำนาจระหว่างโลกตะวันตกและรัสเซีย ส่วนสหรัฐฯ เองเช่นกันก็กำลังแข่งในระเบียบโลกเช่นนี้อยู่เหมือนกัน

อาจดูเหมือนกับว่าการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่งปะทุขึ้นก็จริง แต่จริงๆ มันเริ่มมาสักพักแล้ว จีนคงไม่ได้ผงาดขึ้นมาในชั่วข้ามคืนใช่ไหมล่ะ เราค่อยๆ เห็นจีนผงาดขึ้นมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่จีนเริ่มสูสีสหรัฐฯ แล้วในแง่อำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนอำนาจทางการทหาร จีนก็ไล่ตามสหรัฐฯ ไวมาก โดยเฉพาะในกรณีทะเลจีนใต้ ส่วนในทางเทคโนโลยี จีนก็กำลังไล่กวดอยู่เหมือนกัน ทั้งสองเลยเป็นคู่ชกรุ่นเฮฟวีเวตที่กำลังซัดกันอยู่  

นั่นหมายความว่าเรากำลังเห็นการหวนคืนกลับมาอีกครั้งของภูมิรัฐศาสตร์ในยุคสมัยของเรา นี่คือสาเหตุว่าทำไมภูมิรัฐศาสตร์จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะมันตามมาด้วยผลกระทบมหาศาลต่อประเทศทั้งหมดทั่วโลก แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย คุณจะถูกดึงเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ คุณจะถูกบีบให้เลือกข้าง ถูกบีบให้เลือกคบค้าสมาคมกับแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ถูกบีบให้เลือกฝ่ายพันธมิตร หรืออาจจะโดนคว่ำบาตรก็ได้ถ้าไปดำเนินความสัมพันธ์กับฝ่ายที่อีกฝ่ายไม่อยากมีความสัมพันธ์ด้วย  

จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ใครเหนือกว่าใครกันแน่ เหมือนว่าสหรัฐฯ อยู่ในช่วงขาลงก็จริง แต่บางคนก็เสนอว่าศักยภาพจีนยังสู้สหรัฐฯ ไม่ได้ในทางการทหาร

เอาจริงๆ จากที่ผมอ่านบทวิเคราะห์มาหลายชิ้น แต่ละชิ้นก็เสนอเหตุผลว่าฝ่ายไหนเหนือกว่ากันได้มีน้ำหนักหมดเลย

ผมไม่รู้วิธีวัดเป๊ะๆ ว่าใครมีศักยภาพหรืออำนาจมากกว่ากัน ไม่มีวิธีการประเมินที่แม่นจริงๆ หรอก เพราะถ้ามี รัสเซียคงคิดทบทวนดีๆ ก่อนจะตัดสินใจบุกยูเครนไปแล้ว ก่อนหน้านั้นแทบทุกฝ่ายต่างก็คาดคะเนศักยภาพทางการทหารของรัสเซียทรงพลังมากกว่าความเป็นจริงหมด การช่วงชิงอำนาจในระเบียบโลกจึงถูกจับตามองเป็นพิเศษในวอชิงตันและปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครมีอำนาจมากกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่าเพราะทั้งสองฝ่ายมีอำนาจใกล้เคียงกันต่างหาก การแข่งขันเลยเปิดฉากขึ้น และนี่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะกำหนดทิศทางการจัดระเบียบระบบระหว่างประเทศไปอย่างน้อยอีกหนึ่งทศวรรษ หรืออาจจะนานไปกว่านั้น

บางคนมองว่าสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในช่วงสงครามเย็น ที่มหาอำนาจแข่งขันกันในทุกๆ มิติ คิดว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่อยู่หรือเปล่า

เราเห็นการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในหลายมิติช่วงหลายปีที่ผ่านมา น่าจะไม่เกิน 5-7 ปีให้หลังที่เริ่มมีคนตีความว่าเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ ผมว่าวอชิงตันกับปักกิ่งยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเริ่มเปิดฉากสงครามเย็น แต่เรากำลังอยู่บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสู่จุดนั้น

จุดเริ่มต้นเริ่มจากสงครามการค้าและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทรัมป์และรัฐบาลจีนตอบโต้กันไปมา เราเห็นสหรัฐฯ และจีนต่างฝ่ายต่างขับไล่นักเรียน นักวิจัย นักข่าวออกจากประเทศของตน ล่าสุดสหรัฐฯ ก็เรียกคนอเมริกันที่ทำงานในภาคส่วนเทคโนโลยีกลับประเทศ ถือว่าเป็นมูฟที่สั่นสะเทือนอยู่ สงครามเทคโนโลยีก็กำลังดำเนินอยู่เช่นกัน

เพราะฉะนั้น หลายๆ มูฟของแต่ละฝ่ายก็ขยับให้การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ในแง่หนึ่ง การแข่งขันเชิงอุดมการณ์ก็ไม่ได้มีมากเหมือนสงครามเย็นเก่า แม้บางคนจะเสนอว่าการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจตอนนี้มีมิติในเชิงอุดมการณ์ด้วยก็ตาม อีกอย่าง ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจก็ไม่ได้เหมือนกับสงครามเย็นเก่าที่มีสงครามตัวแทน (proxy wars) อย่างที่เราเห็นช่วงปี 1948-1989 เรายังไม่เห็นสงครามตัวแทนตอนนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

ผมว่ายังมีจุดต่างอื่นๆ อีก อย่างสหภาพโซเวียตไม่เคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใช่ไหม สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตเลยเผชิญหน้ากันในมิติทางการทหารและเทคโนโลยีมากกว่า ส่วนจีนชัดเจนมากว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผมว่าพื้นที่หลักที่สองฝ่ายเผชิญหน้าขับเคี่ยวกันคือเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

ยังไม่ได้บอกนะว่าสงครามเย็นครั้งใหม่จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง สงครามเย็นครั้งใหม่จะต่างออกไปจากสงครามเย็นที่เรารู้จักในหน้าประวัติศาสตร์

คุณเสนอการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าเป็น ‘คลื่นกระแทก’ (shock waves) ช่วยขยายความหน่อยว่าหมายความว่าอย่างไร

ถ้าลองดูสิ่งที่ตามมาหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน คุณจะเห็นว่ามันมี ‘คลื่นกระแทก’ ต่างๆ หลายคลื่นที่ซัดยุโรปเป็นที่แรก แล้วตามด้วยทั่วโลก อย่างแรกเลยคือราคาอาหาร ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงมากในยุโรป แล้วก็กระทบต่อไปทั่วโลก ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่ (emerging countries) ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกต้องเจอปัญหาแบบเดียวกัน จากนั้นก็เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามมา อย่างที่เห็นในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คุณมีท่าทีต่อสงครามในยูเครนอย่างไร มีความสัมพันธ์กับรัสเซียแค่ไหน ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียไหม ลงมติประณามการรุกรานยูเครนว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ทุกประเทศต่างถูกกดดันและบีบให้เลือกข้างในทางการทูตทั้งสิ้น และแน่นอนว่านั่นตามมาด้วยผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมหาศาล

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช่แค่เทรนด์เดียว ที่จริงยังมีอีกสามเทรนด์ที่ซ้อนทับและหนุนเสริมกัน 

เทรนด์แรกเกิดขึ้นมาสักพักแล้วคือ digital automation หรือก็คือกระบวนการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถูกเร่งกระบวนการจากเทรนด์ที่สอง คือโควิด ช่วงที่โควิดระบาดประจักษ์ให้เราเห็นแล้วว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกแบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน (interdependent) อยู่ที่มนุษย์ ระบบการผลิตของเศรษฐกิจโลกเลยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จาก ‘ประสิทธิภาพ’ (efficiency) หรือ ‘just-in-time’ ไปเป็น ‘ความสามารถในการรับแรงกระแทก’ (resilience) หรือ ‘just-in-case’

นั่นหมายความว่า หนึ่ง มีแรงผลักขนานใหญ่ที่เร่งกระบวนการ digital automation สอง ห่วงโซ่อุปทานซับซ้อนเกินไป เส้นทางขนส่งสินค้าไกลเกินไป มีความเสี่ยงที่จะถูกดิสรัปต์มากเกินไป เปราะบางเกินไป อย่างถ้ามองจากมุมเยอรมนี ในการประกอบรถขึ้นมาสักคัน น่าจะมีชิ้นส่วนราวๆ 14,000 ชิ้นที่ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ถ้าขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไป โดยเฉพาะชิป โรงงานจะทำอะไรไม่ได้เลย เยอรมนีเคยประสบสถานการณ์แบบนั้นมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น การก่อร่างระบบเศรษฐกิจโลกระบบเศรษฐกิจโลกหลังทศวรรษที่ 1990 ในลักษณะที่ต้องพึ่งพากันอย่างมากก็นำมาซึ่งความเปราะบางและความเสี่ยงด้วยในเวลาเดียวกัน

และเทรนด์ที่สาม แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ก็ยิ่งไปเร่งอีกสองเทรนด์ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ หมายความว่าการเมืองจะเป็นเหตุผลในการถอนตัวออกจากตลาดใดตลาดหนึ่ง อย่างในวอชิงตัน แนวคิดที่จะให้สหรัฐฯ แยกตัว (decouple) ออกจากตลาดจีนก็เป็นที่นิยมชมชอบ เพราะฉะนั้นเลยนำไปสู่การกระจายฐานการผลิต (diversification) ไปยังประเทศอื่นๆ จากนั้นก็เริ่มจัดระบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ ไม่ว่าจะด้วยยุทธศาสตร์ ‘ขยับใกล้ฝั่ง’ (nearshoring) ‘กลับขึ้นฝั่ง’ (reshoring) หรือ ‘ขึ้นฝั่งเพื่อน’ (friend-shoring) คือโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนกลับมาที่ประเทศ ขยับมาลงทุนใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือโยกไปที่บรรดามิตรประเทศ ทั้งหมดที่ว่ามาซ้อนทับและเร่งกระบวนการ digital automation อย่างมาก เพราะมันเปิดโอกาสให้สามารถดึงฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานกลับไปยังใจกลางอุตสาหกรรมเดิม (old industrial cores) ได้ และลดความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจโลกจากทั้งโรคระบาดและสภาวะการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรเสียเท่าไหร่

ปรากฏการณ์ที่ว่ามาจะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจโลกที่เรารู้จักกันดีในช่วง 10 ปีต่อไปข้างหน้า ดังนั้นถ้าพูดถึงว่าระบบเศรษฐกิจโลกจะทำงานอย่างไรในปี 2030-2535 ตรรกะที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจะต่างออกไปจากระบบที่เรารู้จักเมื่อ 5 ปีก่อนเลย นี่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะความเปลี่ยนแปลงดีงกล่าวจะกำหนดว่าไทยจะวางท่าทีทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างไร จะสร้างมูลค่าในห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างไร ฯลฯ เพราะมีความเป็นไปได้อยู่ที่ไทยจะถูกตัดออกจากห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากๆ

บางคนมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นกระบวนการลดทอนโลกาภิวัตน์ (de-globalization) แต่ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นอย่างนั้นไปเสียทีเดียว เพราะฟังดูเหมือนว่าเทรนด์ที่คุณเล่าไม่ได้ย้อนกระแสโลกาภิวัตน์กลับไปสู่จุดเริ่มต้น แต่เปลี่ยนทิศของกระแสโลกาภิวัตน์และแยกขั้วกระแสโลกาภิวัตน์ออกเป็นสองขั้วมากกว่า

ผมเห็นด้วยนะ เราน่าจะอธิบายเทรนด์ที่เห็นกันอยู่ว่าเป็นกระบวนการ regionalization มากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ได้แย่เสมอไปก็ได้ ลองนึกถึงดิสรัปชันต่างๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์ที่นำไปสู่กระแสฝ่ายขวาประชานิยมและภาวะที่ชนชั้นแรงงานผิวขาวตกทุกข์ได้ยาก มันก็ไม่จริงเสมอไปใช่ไหมว่ากระแสโลกาภิวัตน์และระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่จะนำพามาแค่โอกาสใหม่ๆ แต่ยังนำมาซึ่งความเสียเปรียบด้วย เพราะฉะนั้น regionalization ก็อาจจะไม่ได้แย่ไปเสียอย่างเดียวก็ได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ยังต้องอภิปรายกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าจะไม่เกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีนนะ คือเทรนด์จะเดินหน้าไปตามที่เราคุยกันถ้าไม่มีสงคราม แต่ถ้าเกิดสงคราม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะปะทุขึ้นที่ไต้หวันมากที่สุด โลกจะตกอยู่ในอีกเกมหนึ่งไปเลย

จริงๆ สงครามก็ไม่ได้อยู่ในสมการการเมืองโลกมาพักใหญ่แล้ว พอพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงคราม คาดคิดมาก่อนไหมว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะปะทุขึ้นเมื่อปีที่แล้ว  

พูดตรงๆ ว่าไม่ได้คาดคิดมาก่อน อาจจะเพราะว่าผมเป็นคนเจเนอเรชันที่ไม่ได้มีประสบการณ์ผ่านสงครามร้อนในยุโรปมา เลยนึกไม่ค่อยถึงว่าจะสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเกิดขึ้นจริง

อีกอย่างคือ สารพัดทฤษฎีเสรีนิยมก็ปิดหูปิดตาเราด้วย ที่ว่าการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจจะทำให้ต้นทุนในการก่อสงครามสูงมากเสียจนไม่มีประเทศไหนคิดจะก่อสงคราม แต่เชื่อไหม ราคาที่รัสเซียต้องจ่ายในการทำสงครามยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่รัสเซียก็ยังเดินหน้าทำสงครามต่ออยู่ดี ผมว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการเปลี่ยนโลกทัศน์จากฐานคิดที่เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดล้วนๆ ไปสู่ตรรกะที่แข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวกำกับ และจากที่เข้าใจ ผมไม่ได้เชี่ยวชาญรัสเซียนะ แต่เข้าใจว่าสงครามครั้งนี้เกี่ยวพันกับความเชื่อว่าด้วยที่มาทางประวัติศาสตร์ของชาติรัสเซียและการดำรงอยู่ของชาติรัสเซียด้วย  

การเมืองโลกขับเคลื่อนด้วยตรรกะที่เปลี่ยนไปแล้ว และที่เราคาดไม่ถึงว่าสงครามจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราตกอยู่ในโลกทัศน์แบบ liberal hegemony มานานมากจนเราลืมวิธีมองโลกด้วยมุมอื่นไปหมด อย่างที่เขาว่ากันว่าเราไม่สามารถมองเห็นอำนาจนำ (hegemony) จากข้างในได้ พอสงครามเกิด สงครามก็เลยเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ

กลายเป็นว่าสงครามเปลี่ยนโลกทัศน์ที่เรามองการเมืองโลกไปเลยโดยสิ้นเชิง

ถ้าคุณมองเหมือนผมว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียคือจุดจบของ Pax Americana นั่นหมายความว่าสงครามกลับมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในสนามการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งแล้ว

แน่นอนถ้านับจริงๆ ว่ามีสงครามที่ไหนในโลกที่กำลังต่อสู้กันอยู่บ้าง แม้จะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ก็ตาม ลองไล่ไปตั้งแต่สงครามในเยเมน สงครามระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย สงครามระหว่างคีร์กีซสถานกับทาจิกีสถาน จะเห็นว่าไม่มีใครคอยรักษาความสงบเรียบร้อยในโลกเลย รัสเซียก็ไม่ทำและทำหน้าที่นั้นไม่ได้ในพื้นที่ที่รัสเซียมองว่าเป็นเขตอิทธิพล แม้ว่าหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จะเรียกร้องก็ตาม และแล้วจู่ๆ สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ปะทุขึ้น

ถามคุณในฐานะคนยุโรป และคนที่ติดตามการเมืองโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช่แค่จุดพลิกผันของระเบียบโลกเท่านั้น หากมองในยุโรป สงครามรัสเซีย-ยูเครนบีบให้เยอรมนีที่เคยมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์กับสงครามต้องตอบสนองต่อความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป คือมีการประกาศ ‘Zeitenwende’ ขณะเดียวกัน ทีโมธี การ์ตัน แอช (Timothy Garton Ash) ก็อธิบายเยอรมนีนับตั้งแต่สงครามเริ่มว่า “สับสนงุนงงจากวิธีคิดเก่าที่ตายไปแล้ว และวิธีคิดใหม่ก็ยังไม่บังเกิด”

ก่อนอื่นเลย ตลกมากอยู่เหมือนกันนะที่ธิโมธี แอช (Timothy Garton Ash) นักประวัติศาสตร์เสรีนิยมยกคำพูดของกรัมชี (Antonio Gramsci) ขึ้นมาอ้าง

อย่างแรกเลย ในเยอรมนีมีทั้งฉันทามติและดีเบต ที่สังคมมีฉันทมติร่วมกันคือ สงครามรุกรานรัฐอธิปไตยของรัสเซียกำลังท้าทายและบ่อนทำลายระเบียบความมั่นคงยุโรปที่วางไว้ตามกฎบัตรปารีสปี 1990 (Paris Charter) อย่างรุนแรง เพราะเราเคยเชื่อว่าการทำสงครามรุกรานรัฐอธิปไตยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำสอง แต่แล้วมันก็เกิดขึ้น ดังนั้นพอมองระเบียบความมั่นคงในยุโรปและความท้าทายต่างๆ ในโลกอย่างที่เราคุยกันไป นั่นหมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว

Zeitenwende จึงเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ทางนโยบายที่เยอรมนีต้องคิดทบทวนการวางท่าทีและเตรียมความพร้อมทางการทหารใหม่ คิดทบทวนการวางนโยบายการต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการวางตำแหน่งแห่งที่ในโลกใหม่เพื่อให้มีอิสระทางเศรษฐกิจ เยอรมนีต้องคิดใหม่แทบจะทุกมิติที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลก ผมว่านี่ก็เป็นฉันทมติในเยอรมนีนะ ไม่มากก็น้อย ถ้าคิดดูดีๆ ก็น่าทึ่งเหมือนกันที่ข้อห้ามจากประวัติศาสตร์บาดแผลกับกระบวนทัศน์ต่างๆ ที่อยู่มานานหลายทศวรรษแหลกสลายไปในเวลาเพียงไม่กี่อาทิตย์ แล้วกำลังพาเยอรมนีก้าวข้ามไปสู่พรมแดนใหม่

อย่างที่สอง ประเด็นมีอยู่ว่าพอต้องคิดวางท่าทีใหม่แล้ว เยอรมนีต้องเผชิญกับอะไรบ้างในความเป็นจริง ลองสมมติว่าเราอยู่ในวงในแวดวงนโยบายที่ต้องคิดหาทางปรับท่าทีต่อทั้งรัสเซียและประเทศยุโรปตะวันออก เข้าใจว่าท่าทีจริงๆ ที่รัฐบาลวางไว้คือ เยอรมนีมีฉันทมติว่าจะไม่ปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียให้กลับมาอยู่ในระดับปกติตราบเท่าที่ระบอบปูตินยังดำรงอยู่ กับต้องให้ความสนใจต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของยุโรปตะวันออก รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป และบริเวณรัฐอดีตสหภาพโซเวียต (near abroad) แต่ประเด็นคือ หลังจากนั้น พอต้องดำเนินนโยบายจริง หลายๆ อย่างจะเริ่มซับซ้อนขึ้น ในโลกความเป็นจริง เยอรมนีจะเมินรัสเซียตลอดไปก็ไม่ได้ เพราะประเทศตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน ไม่ได้ไกลกันมาก ส่วนความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเปลี่ยนระบอบการปกครอง ผมเชื่อค่อนไปทางว่าจะเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้น แต่แล้วจะเมินสังคมรัสเซียไปเลยเหรอ เพราะฉะนั้น ต้องหาวิธีคิดที่สมดุลในการดำเนินนโยบายต่อไปให้ได้

นั่นแค่ในยุโรปนะ เยอรมนียังต้องคิดใหม่หมดอีกว่าจะจัดวางระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอย่างไร เพราะระดับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเยอรมนีกับโลกแนบแน่นกว่าเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ จากฐานแนวคิดที่ว่า ความเชื่อมโยงและการพึ่งพิงกันทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่สันติภาพในที่สุด เพราะฉะนั้น สันติภาพและการเมืองยังขับเคลื่อนให้เยอรมนีเปิดรับการลงทุนด้านพลังงานกับรัสเซีย เปิดตลาดกับจีนและกับประเทศอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่เพราะเหตุผลทางต้นทุนกับประสิทธิภาพเท่านั้น

ประเด็นคือจะดีจริงๆ หรือเปล่าถ้าเราจะกลับลำแนวนโยบายทั้งหมดที่ลงมือไปแล้ว โลกที่เริ่มตัดความสัมพันธ์ระหว่างกันจะเป็นโลกที่ดีกว่าหรือเปล่า ผมเองก็ไม่รู้คำตอบนะ แค่ทั้งหมดที่เล่ามาประเด็นมันอยู่ที่ว่าเยอรมนีมองช่วงจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์อย่างไร พอกระบวนทัศน์นโยบายเปลี่ยนแล้วมันนำมาสู่อะไรต่อ ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเยอรมนี แล้วเถียงกันเดือดมาก

ส่วนตัวคุณคิดว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงอย่างไร เพราะตอนจบของสงครามเองก็จะกำหนดทิศทางของโลกต่อไปเหมือนกัน ขณะที่ตอนจบของสงครามที่ยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกอยากเห็นก็ไม่ใช่ตอนจบแบบเดียวกัน

แน่นอนว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีอิทธิพลในการรับรู้ต่อภัยคุกคาม (threat perception) ทางภูมิรัฐศาสตร์หรือทางทหารและการประเมินความเสี่ยง เลยไม่แปลก แล้วก็ชอบธรรมด้วยที่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอย่างกลุ่มประเทศบอลติกหรือบรรดาประเทศที่เคยอยู่ในค่ายตะวันออก (Eastern bloc) ช่วงสงครามเย็นอย่างเช่นโปแลนด์จะตระหนักและรับรู้ภัยคุกคามจากรัสเซียรุนแรงกว่ายุโรปตะวันตก และมองว่ารัสเซียมีแต่จะต้องพ่ายแพ้ในสงครามเท่านั้น ไม่ใช่จบที่โต๊ะเจรจา นั่นคือข้อเท็จจริงที่เราต้องเข้าใจ และนาโตกับสหภาพยุโรปต้องยอมรับและคอยบาลานซ์จุดยืนของแต่ละประเทศ

ส่วนสงครามจะจบแบบไหน มีสารพัดการประเมินเลยว่าสงครามจะจบอย่างไร หรือตอนจบแบบไหนที่เป็นไปได้บ้าง ผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการทหาร เลยสะท้อนได้แค่การวิเคราะห์ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินไว้ บางคนเชื่อว่าสงครามจะจบลงได้จากการที่รัสเซียพ่ายแพ้ในสนามรบจริงๆ โดยที่ไม่ยกระดับไปถึงจุดที่ลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ ไม่อย่างนั้นความเห็นก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลย คือมองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่รัสเซียจะแพ้ รัสเซียจะยอมประวิงเวลาให้สงครามยืดเยื้อต่อไป หรือถ้ารัสเซียแพ้ในสมรภูมิรบจริงๆ รัสเซียก็จะไม่ยอมและยกระดับไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพราะการแพ้ชนะสงครามครั้งนี้เกี่ยวพันกับปัญหาว่าด้วยการดำรงอยู่ (existential question) ของรัสเซียในฐานะชาติและปูตินเองในฐานะประธานาธิบดี

แล้วการประเมินว่ารัสเซียจะยอมหรือไม่ยอมแพ้ก็จะกำหนดท่าทีของโลกตะวันตกอีกว่าจะสนับสนุนยูเครนในทางการทหารแค่ไหน ในโลกตะวันตก รวมถึงเยอรมนีเองมองว่าจะไม่ลงไปพัวพันในสงครามเอง เพราะฉะนั้นโลกตะวันตกเลยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากๆ ว่าจะตัดสินใจส่งความช่วยเหลือทางการทหารในระดับไหนที่จะไม่ทำให้สงครามลุกลามบานปลาย ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยให้ยูเครนสามารถต่อกรกับการโจมตีของรัสเซียได้ นี่เป็นการปรับจูนผลประโยชน์อันหลากหลายเข้าหากันที่ยากมากๆ

ในเมื่อสงครามกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในการเมืองโลกแล้ว มีโอกาสแค่ไหนที่จะเกิดสงครามระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในไต้หวัน

ผมว่าเราน่าจะมีโอกาสได้เห็นสงครามระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าปักกิ่งและวอชิงตันรับรู้และประเมินภัยคุกคามอย่างไร

ต้องเกริ่นก่อนว่า ช่วงที่สหรัฐฯ ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิก สหรัฐฯ เอาชนะสงครามได้ในเกาะจำนวนหนึ่งและวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงบริเวณแปซิฟิกไว้ ครอบคลุมพื้นที่ที่เรียกว่าแนวหมู่เกาะชั้นแรก (First Island Chain) และแนวหมู่เกาะชั้นที่สอง (Second Island Chain) แถวหมู่เกาะชั้นแรกลากยาวตั้งแต่บริเวณเกาะโอกินาวา ลากผ่านไต้หวัน ฟิลิปปินส์ แล้วไปสิ้นสุดแถวๆ เกาะบอร์เนียว เพราะฉะนั้น แถวๆ นั้นเลยมีจุดประจำการของกองทัพสหรัฐฯ อยู่ ส่วนในบริเวณอินโด-แปซิฟิก กองทัพสหรัฐฯ ก็ประจำการแทบทุกที่ โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบมะละกาที่เป็นช่องแคบทางยุทธศาสตร์ (choke point)

ในมุมมองจีน จีนเลยมองว่าตัวเองถูกปิดล้อม รู้สึกเหมือนว่าสหรัฐฯ พยายามกันไม่ให้จีนเข้าถึงซัพพลายวัตถุดิบในการผลิตและพลังงาน รวมทั้งกีดกันการส่งออก นี่นำไปสู่การวางท่าทีต่อโลกของจีนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา – ขอออกตัวก่อนนะว่าผมกำลังจะอธิบายจากมุมมองของแต่ละฝ่าย ไม่ได้จะตัดสินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง – เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นจีนขยายอิทธิพลและแสนยานุภาพทางการทหารบริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งก็เกี่ยวพันกับการวางยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้าถึง-ปฏิเสธพื้นที่ (anti-access, area denial: A2/AD) เพื่อให้น่านน้ำที่จีนมองว่าเป็นเขตอิทธิพลอยู่ภายใต้การควบคุม อีกอย่างคือจีนยังพยายามเพิ่มมิติในการดำเนินยุทธศาสตร์ หันไปมุ่งดำเนินนโยบายทางตะวันออกของยูเรเชียผ่าน Belt and Road Initiative (BRI) พูดง่ายๆ คือ จีนมองว่าสหรัฐฯ ตัดจีนออกจากวงจร เลยหันไปเปิดตลาด สร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือทางการเมือง การทูต เศรษฐกิจขึ้นมาใหม่เองทางตะวันตก ไล่ตั้งแต่ประเทศเอเชียกลาง ปากีสถาน อินเดีย อิหร่าน ยูเครน และแน่นอนว่ารัสเซียก็ด้วย เพราะฉะนั้น ในมุมจีน จีนแค่ต้องการจะทลายออกมาจากยุทธศาสตร์ที่จีนมองว่ากำลังปิดล้อมจีนไว้

แต่ถ้ามองจากมุมสหรัฐฯ จะเป็นหนังคนละม้วนเลย ซึ่งเราสามารถอธิบายการวางท่าทีสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกผ่านบาดแผล (trauma) จากเหตุการณ์โจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ นี่เลยเป็นเหตุที่ว่าทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องตั้งสองแนวหมู่เกาะในแปซิฟิกขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ตั้งขึ้นมาบนเหตุผลว่าจะแทรกแซงแปซิฟิกในทางภูมิรัฐศาสตร์หรือทางยุทธศาสตร์ ที่จะเล่นเกมช่วงชิงอำนาจเหมือนในอิหร่านหรืออัฟกานิสถานด้วยนะ แต่เพราะต้องป้องกันมาตุภูมิ เพราะที่อยู่ถัดไปจากแนวหมู่เกาะชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 คือฮาวายและมลรัฐทางชายฝั่งตะวันตก (West Coast) อิทธิพลที่แผ่มายังบริเวณฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกจึงถือเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และสิ่งที่สหรัฐฯ ขนานนามว่า ‘unsinkable Aircraft Carrier’ แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้มีทหารประจำการในไต้หวันมากขนาดนั้นก็ตาม เพราะฉะนั้น การปล่อยให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลมาทางตะวันตกของแปซิฟิกจึงเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ปัญหาใหญ่มีอยู่ว่าสภาวะที่กำลังดำเนินอยู่คือ จีนพยายามจะผงาดขึ้นมา ยังไม่นับอีกว่าจีนมีอุดมการณ์ที่มีรากจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมว่าไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์จะต้องก้าวข้ามศตวรรษแห่งความอัปยศ (Century of humiliation) ให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้ นั่นหมายความว่าการรวมชาติจีนคือหมุดหมายที่ต้องเกิดขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้การรวมชาติจีนเป็นไปอย่างนองเลือด จุดร่วมที่สหรัฐฯ และจีนมีเลยทำให้ทางเลือกที่มีอยู่จำกัดมาก และจริงๆ เราก็กำลังเดินอยู่บนทางนี้มาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว นั่นคือเกมที่ต้องเดินบนเงื่อนไขของนโยบายจีนเดียว พูดง่ายๆ คือต้องไม่แตะต้อง status quo ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามอย่างที่เป็นมา แต่ตอนนี้ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างฝ่ายต่างก็ดันเพดาน จีนก็ดัน กรณีที่แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือนไต้หวันก็ชัดเจนว่ายกระดับความตึงเครียดขึ้น เป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก เราเลยปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามจะไม่เกิดขึ้นที่ไต้หวัน  

แล้วยุโรปที่กำลังเผชิญสงครามอยู่มองจีนอย่างไร

ยุโรปเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรข้ามแอตแลนติก (transatlantic) อย่างเหนียวแน่น ซึ่งกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งเพราะสงครามในยูเครน ตลอดเวลาที่ผ่านมายุโรปไม่ได้อยู่ในจุดที่ประกันความมั่นคงได้เอง แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ด้วย เพราะฉะนั้น หลังสงครามปะทุ พันธมิตรนาโตและพันธมิตรข้ามแอตแลนติกเลยแข็งแกร่งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาและมีโอกาสจะเข้มแข็งต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าการเมืองภายในสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรต่อ

ถึงจะพูดอย่างนั้นก็จริง แต่ความกระหายที่จะเข้าก้าวสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ในยุโรปเรียกได้ว่าเป็นศูนย์เลย พูดในฐานะคนเยอรมันที่ใช้ชีวิตในเบอร์ลินมาครึ่งชีวิตนะ ผมว่าเราในยุโรปต่างรู้กันดีว่าเราไม่ต้องการเห็นสงครามเย็นครั้งใหม่อีก ถ้ามองจากมุมมองของเยอรมนีและเศรษฐกิจยุโรป เยอรมนีและยุโรปพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก แล้วก็ค้าขายกับตลาดจีนค่อนข้างแข็งขัน ยุโรปไม่ต้องการให้เกิดภาวะแบ่งขั้วแน่ๆ แต่ถ้ามองจากมุมสหรัฐฯ ก็แฟร์ที่สหรัฐฯ จะรู้สึกคับข้องใจกับยุโรปที่ยังไม่ยอมออกห่างจากจีน

จริงๆ ท่าทีของสหภาพยุโรปต่อจีนมีอยู่สามมิติ ในมุมหนึ่ง สหภาพยุโรปมองจีนว่าเป็น ‘คู่แข่งเชิงระบบ’ (systemic rival) คือทั้งสองฝ่ายมีอุดมการณ์ที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือมุมมองว่าระเบียบระหว่างประเทศควรเป็นแบบไหน

ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ต้องการสร้างความร่วมมือกับจีนอย่างมากเพื่อเผชิญความท้าทายที่โลกมีร่วมกัน ลองนึกถึงปัญหาอย่างโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกระทั่งว่าจะรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานของกฎกติกา (rule-based international order) ไว้ได้อย่างไร ระเบียบดังกล่าวจะดำเนินไปไม่ได้เลยหากปราศจากจีน นี่เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมสหภาพยุโรปถึงมองจีนเป็น ‘หุ้นส่วน’ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วในบางมิติ สหรัฐฯ เองก็ยอมรับการร่วมมือกับจีน

แต่ส่วนมาก จีนคือ ‘คู่แข่ง’ ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเทคโนโลยี ผมว่ายุโรปตื่นแล้วในสนามการแข่งขันการค้าหลังจากที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา สหภาพยุโรปและจีนต่างก็ต้องการปรับสถานการณ์การแข่งขันระหว่างสองตลาดให้เป็นธรรม อย่างในการวางกฎเกณฑ์มาตรฐานการค้าต่างๆ บนหลักต่างตอบแทน (reciprocity)

ยุโรปให้น้ำหนักจีนในหมวกไหนมากกว่ากัน

จริงๆ ยุโรปก็พยายามจะบาลานซ์ความสัมพันธ์กับจีนในทุกมิติที่ว่ามา แน่นอนว่าในทางปฏิบัติมันซ้อนทับกันอยู่แล้ว จะแยกแต่ละมิติออกเป็นไซโลแล้ววางว่า จะร่วมมือกับจีนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนๆ หรือวางจีนเป็นคู่แข่งเชิงระบบในประเด็นสิทธิมนุษยชนไปทั้งหมดเลยไม่ได้หรอก เพราะว่าแต่ละมิติในซ้อนทับกัน การบาลานซ์จึงยากในทางปฏิบัติ

แต่ประเด็นสำคัญคือว่า เราต้องเห็นความซ้อนทับระหว่างความเป็นคู่แข่งเชิงระบบ หุ้นส่วนความร่วมมือ และคู่แข่งในความสัมพันธ์กับจีน และต้องไม่ปล่อยให้ลูกตุ้มเหวี่ยงไปสุดทางจากที่จะร่วมมือกับจีนแบบชื่นมื่นสุดๆ ไปเป็นหวาดกลัวจีนสุดขีด

อินโด-แปซิฟิกคือสมรภูมิที่จีนและสหรัฐฯ ลงไปแข่งขันกันอยู่ แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรปก็กระโดดลงมาร่วมวงในอินโด-แปซิฟิกเหมือนกัน เยอรมนีที่แทบไม่เคยแตะภูมิรัฐศาสตร์มาก่อนก็เริ่มหันมาทางเอเชีย เพราะอะไร

จริงๆ ยุโรปแต่ละประเทศต่างกันอยู่ อย่างฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ฯลฯ ก็ไม่ได้มีท่าทีเหมือนกันเสียทีเดียว แต่ในระดับสหภาพยุโรป ทุกประเทศก็ต้องหาท่าทีร่วม

อีกอย่างคือ ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอินโด-แปซิฟิกจะต้องเป็นเพราะเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างในมุมเยอรมนีคือ เรามองการแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจว่าน่ากังวลมากทีเดียว กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือสงครามร้อนอย่างที่เราคุยกันไปแล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น สงครามเย็น หรือสงครามเกือบจะเย็น แต่ไม่ว่าจะกรณีไหนก็กระทบตลาดส่งออกเยอรมันมากกว่าที่อื่นๆ ไหนจะต้องพึ่งพาการส่งออก ต้องการค้าขายกับประเทศที่เปิดตลาดเสรี หรือต้องการส่งออก ฯลฯ เยอรมนีไม่อยากให้ทั้งหมดนี้ชะงักลง ยิ่งตอนนี้สถานการณ์โลกเปราะบางอย่างสุดขีดจากสงครามในยูเครนและวิกฤตพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้

เพราะฉะนั้น ในสายตาของเยอรมนีและยุโรป การรักษาระเบียบระหว่างประเทศพหุภาคีที่อยู่บนฐานของกฎกติกา (rule-based multilateral order) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเป็นผลประโยชน์และวาระที่ต้องผลักดัน เพราะระบบภายใต้สหประชาชาติ รวมถึงกลไกอื่นๆ อย่างเช่น องค์กรการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมดทั้งมวลมีส่วนสำคัญที่เปิดให้เกิดการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่ความมั่งคั่ง และมีส่วนให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสันติภาพเกิดขึ้นได้

ยิ่งระเบียบระหว่างประเทศแบบนี้เข้มแข็งได้ยิ่งดี แต่แค่เยอรมนีกับยุโรปก็ยังไม่มีพลังมากพอจะทำได้ และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าสองมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ จะเริ่มชนกันเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ยุโรปทำคือเข้าหาอำนาจอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่ในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปเชื่อว่าเรามองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน หลายประเทศในเอเชียก็บอกเหมือนกันว่า เอเชียมองผลประโยชน์ร่วมกับยุโรปในการรักษาระเบียบระหว่างประเทศพหุภาคี และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจและพยายามรักษากฎกติกาและปทัสถานระหว่างประเทศให้ยังดำรงต่อไปได้ นี่คือเบื้องหลังแนวคิดของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในยุโรป จะเห็นว่าเหตุผลในเชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองคือตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีมิติทางปทัสถานด้วยเหมือนกัน

ช่วงนี้คือช่วงที่เริ่มกางยุทธศาสตร์ออกมาใช้จริงแล้ว อย่างเยอรมนีก็เขียนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกขึ้นมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศยุโรปอื่นๆ เริ่มใช้ไปก่อนหน้านั้นแล้ว จากนั้นก็เกิดสงครามในยูเครน ซึ่งจริงๆ ถือว่าปลุกคนยุโรปที่ไม่ได้ใส่ใจให้ตื่นสักทีว่า ภูมิรัฐศาสตร์มีผลจริงๆ เราเซอร์ไพรส์หรือบางทีก็ช็อกด้วยซ้ำที่หลายประเทศในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ รวมถึงในเอเชียแปซิฟิกไม่ได้มีจุดยืนต่อสงครามเหมือนในยุโรป แต่ก็สร่างแล้ว ตอนนี้ผมว่าเป็นที่เข้าใจแล้วว่า จุดยืนของประเทศในอินโด-แปซิฟิกกำหนดจากการรับรู้ภัยคุกคาม การประเมินความเสี่ยง ความเปราะบางทางภูมิเศรษฐศาสตร์ ผลประโยชน์แห่งชาติ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ผมว่าสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือ ประเมินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างยุโรปและเอเชียที่มีมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2000 ใหม่อีกครั้ง ส่วนตัวมองว่าหุ้นส่วนยุทธศาสตร์คือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำได้แล้ว แม้ว่าจริงๆ ที่ผ่านมาก็เป็นเหมือนแค่เสือกระดาษเท่านั้น ไม่มากก็น้อย คือก่อนหน้านี้มันมีไอเดียที่ว่า การทำงานร่วมกันระหว่างยุโรปและเอเชียเป็นอะไรที่เมกเซนส์ เลยเริ่มมีความร่วมมือทางหุ้นส่วน แต่จากนั้น 20 ปีก็ผ่านไปกับการคิดว่าจะร่วมมือกันอย่างไรดีโดยที่ไม่รู้อะไรเลย จนกระทั่งสหรัฐฯ กับจีนตั้งท่าจะตีกัน เลยเผยให้เห็นว่าที่จริงแล้ว ยุโรปและเอเชียไม่ได้มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันจริงๆ

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์คือสิ่งที่จำเป็นในภาวะที่การแข่งขันกันทางยุทธศาสตร์ดุเดือด เพราะฉะนั้น ยุโรปและเอเชียต้องหันหน้ามาคุยกันจริงๆ ว่า ยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายมีช่องว่างระหว่างกันตรงไหน พยายามเชื่อมและสร้างยุทธศาสตร์ให้บรรจบกัน

อีกวิกฤตที่ดำเนินมานานแล้วคือวิกฤตประชาธิปไตย ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลต่อทิศทางของวิกฤตประชาธิปไตยบ้างไหม

เวลาเราพูดถึงวิกฤตประชาธิปไตย มันมีอยู่สองอย่างคือ วิกฤตประชาธิปไตยในโลกตะวันตกกับวิกฤตประชาธิปไตยโลก ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน

ในการเมืองโลก ผมว่าเราต้องระวังหน่อยไม่ให้ตกหลุมการมองโลกแบบที่แบ่งออกเป็นสองขั้ว (binary) อย่างที่เรารู้กันว่ามันมีคู่ปรับเชิงระบบอยู่ ระหว่างฝ่ายอำนาจนิยม โดยเฉพาะจีน และฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ผมว่าเราไม่ควรมองการเมืองโลกด้วยเลนส์แบบนี้ เพราะโลกซับซ้อนกว่านั้นมาก

ผมว่าวิกฤตประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจะช่วยอธิบายได้ดีเลยว่า ทำไมวิกฤตประชาธิปไตยในโลกถึงเป็นเรื่องยาก ในโลกตะวันตก วิกฤตประชาธิปไตยเกี่ยวพันอย่างมากกับปัญหาที่ว่าการเมืองไม่ได้กระจายประโยชน์ไปถึงมือคนอย่างทั่วถึง มีประชากรจำนวนมากที่เชื่อและรู้สึกได้ว่าตนเองไม่ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ได้รับประโยชน์จากการตัดสินใจทางการเมืองที่ไปขับเคลื่อนกระแสโลกาภิวัตน์ และรู้สึกว่าโดนมองข้ามไปหรือบางทีก็รู้สึกว่าถูกดูหมิ่นดูแคลน อย่างที่เราเห็นในสุนทรพจน์ Basket of deplorables ของฮิลลารี คลินตัน เพราะฉะนั้น เลยมีประชากรในโลกตะวันตกไม่น้อยที่รู้สึกแปลกแยกจากสังคม ถูกทอดทิ้งในทางเศรษฐกิจ รู้สึกว่าความเป็นชาติและอัตลักษณ์ความเป็นชาติถูกลดทอน ทั้งหมดนี้นำไปสู่วิกฤตศรัทธาภายในสังคมโลกตะวันตกระหว่างผู้นำประชาธิปไตย-ชนชั้นกลางในเมืองกับประชากรจำนวนหนึ่ง ตามมาด้วยสงครามวัฒนธรรม (Cultural War) กระแสประชานิยมฝ่ายขวา หรือสงครามในทวิตเตอร์ ฯลฯ

มองจากระดับโลก คุณจะเห็นสารพัดความยุ่งเหยิง รัฐสภาสหรัฐฯ โดนกลุ่มคนที่ปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีบุกถล่ม เศรษฐกิจในโลกกตะวันตกมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมาตั้งแต่ปี 2008 จะเห็นเลยว่าประชาธิปไตยหมดแววไปเลย ถ้าเราคุยกันเรื่องนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครสงสัยแน่ๆ ว่าประชาธิปไตยจะตั้งมั่นต่อไปในยุโรปหรือเปล่า แต่ตอนนี้คงไม่มีใครพูดแน่ๆ ว่าประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจะดำรงอยู่ตลอดไป

แต่ปัญหาที่น่าสนใจคือว่า ขณะที่ซอฟต์พาวเวอร์ประชาธิปไตยของโลกตะวันตกและกำลังเสื่อมพลังลง ระบอบอำนาจนิยมก็ผงาดขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกันในระบบระหว่างประเทศ ประเด็นคือผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์แบบที่แทนขั้วหนึ่งด้วยอีกขั้วหนึ่ง อย่างตอนแรกบอกว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในโลก แล้วพอไม่ใช่ก็ไปวิเคราะห์ว่าจริงๆ แล้วระบอบอำนาจนิยมดีที่สุดในโลก ซึ่งก็ไม่จริงอีก มันง่ายเกินไปหน่อย

คำถามของผมคือ แล้วประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตกยังมีพลังในการกดดันเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเวลาประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตกทำลายสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยแค่ไหนกันแน่ แล้วได้ผลแค่ไหน อย่างกรณีอัฟกานิสถานที่โลกตะวันตกเข้าไปเปลี่ยนระบอบการปกครองจากภายในและพยายามใช้ทุกเครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นคง ประชาธิปไตย การพัฒนา สุดท้ายก็ล้มเหลว

ส่วนตัวผมมองว่านโยบายแบบ Bush doctrine ที่พยายามจะสร้างโลกให้เป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ทางเลือกในตอนนี้อีกต่อไปแล้ว แต่แล้วเครื่องมืออื่นๆ ล่ะ อย่างถ้าเกิดว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสักประเทศขึ้นมา คุณจะตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรไหม จะยังสนับสนุนการใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศไหม หรือว่าจะทิ้งไปเลย แล้วยอมรับให้มหาอำนาจทำอะไรก็ได้ตามใจชอบในเขตอิทธิพลของตนเอง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะตามมาด้วยการเผชิญหน้าและสงคราม เป็นดีเบตที่กำลังถกเถียงกันร้อนแรงมากทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

นี่คือภาวะที่ผมบอกว่า liberal hegemony กำลังสิ้นสุดลง คือการส่งออกคุณค่าประชาธิปไตยไปเป็นพลังในการครอบงำและชี้นำโลกของสหรัฐฯ การคว่ำบาตรพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับปทัสถานระหว่างประเทศกำลังเสื่อมพลังลง

แต่คุณต้องเข้าใจนะว่า ‘ขาลง’ ของ liberal hegemony ในที่นี้คือขาลงในเชิงเปรียบเทียบ แต่ในขณะเดียวกัน unipolar moment ก็สิ้นสุดลงและเปลี่ยนไปสู่ระเบียบโลกหลายขั้วจากการที่ความสามารถของสหรัฐฯ ในการผลักดันทิศทางกระแสโลกาภิวัตน์ ผลักดันองค์กรพหุภาคี กลไกโลกาภิบาล (global governance) และส่งออกคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปยังที่ต่างๆ ในโลกนั้นถูกจำกัดจากทั้งระดับการเมืองโลกที่มหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย และอำนาจอื่นๆ ทยานขึ้นมา และจากระดับการเมืองภายในที่มีฝ่ายการเมืองที่ต้องการให้สหรัฐฯ เลิกเล่นบทผู้ปกปักรักษาระเบียบโลกเสรี เพราะสหรัฐฯ เองก็ทุ่มทรัพยากรมหาศาลไปเพื่อธำรงรักษาระเบียบโลกเสรี แต่ liberal hegemony จะรอดจากห้วงเวลาแบบนี้หรือเปล่า ผมบอกไม่ได้

โลกกำลังออกจาก unipolar moment และเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ ระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจที่ว่าควรมีหน้าตาประมาณไหน

จริงๆ มีความเป็นไปได้หลายทางมาก จะเป็นระเบียบโลกอเสรี (illiberal) ที่ยังวางอยู่บนฐานของกฎกติกาอยู่บ้างก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นอะไรที่จีนคิดไว้ หรืออาจจะเป็นระเบียบโลกแบบ great power concert เหมือนอย่างในศตวรรษที่ 19 ที่มีมหาอำนาจอาจจะ 5 ขั้วหรือ 15 ขั้วก็เป็นไปได้ มีมหาอำนาจหลายขั้วรวมตัวกันและหาทางประสานผลประโยชน์เพื่อที่อย่างน้อยก็กันไม่ให้ขัดแย้งกันจนเกิดสงคราม

ส่วนตัวผมมองว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ระบบพหุภาคีแบบช่วงสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1970-1980 ซึ่งก็คือระบบพหุภาคีภายใต้องค์การสหประชาชาติที่ก่อตั้งเมื่อปี 1945 ระบบที่ว่าไม่ได้ฟังก์ชันดีมากในช่วงที่สงครามเย็นตึงเครียดก็จริง แต่ก็ฟังก์ชันระดับหนึ่งในแง่ที่ว่าสามารถป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์ต่างๆ อย่างการปฏิวัติฮังการี ปรากสปริง หรือวิกฤตการณ์คิวบาลุกลามไปสู่สงครามโลก

จากนั้นหลังมีการบรรลุข้อตกลงเฮลซินกิ และเริ่มวางระบอบลดอาวุธ ควบคุมอาวุธ และลดการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ระบบพหุภาคีก็กลับมามีพลังมากขึ้น ซึ่งคือช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ต่อทศวรรษที่ 1980 ที่สงครามเย็นค่อยๆ ซาลง ช่วงนั้นสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตยังเป็นคู่แข่งเชิงระบบก็จริง ยังมีสงครามตัวแทนในเวียดนาม ในอัฟกานิสถาน แข่งขันกันสูง บล็อกเศรษฐกิจก็ยังแบ่งอยู่ แต่ถ้าเทียบกับช่วงทศวรรษที่ 1950 ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่รุ่งเรืองกว่า มีกฎกติกา ทั่วโลกกำลังเชื่อมต่อกัน ความขัดแย้งจำกัดวงได้ เพราะฉะนั้น ระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ การทูตพหุภาคี กฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนขึ้นในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาควรเป็นระบบที่ควรดำรงอยู่ต่อไป คิดว่านี่น่าจะเป็นระบบที่มหาอำนาจอย่างจีนก็มองว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อตนเองเหมือนกัน

ระเบียบโลกแบบพหุภาคีที่อยู่บนฐานของกติกาน่าจะมีโอกาสไปต่อได้นะ เพราะว่าระบบให้ผลประโยชน์ครอบคลุมมาก ครอบคลุมผลประโยชน์อันหลากหลาย รวมถึงของมหาอำนาจที่กำลังแข่งขันกันด้วย แต่มีอย่างหนึ่งที่ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น บางทีผมอาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็ได้ หวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยว่า การเมืองระหว่างประเทศจะเป็นเหมือนช่วงหลังทศวรรษที่ 1990 อีกที่เริ่มเกิดหลักการการแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม หลักความรับผิดชอบในการปกป้อง การแทรกแซงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองภายใน เครื่องมือคว่ำบาตร ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ผมไม่อยากจะเชื่อว่าอำนาจต่างๆ ในโลกจะยอมให้เกิดขึ้นอีก

อย่างที่สอง องค์การระหว่างประเทศต่างๆ ที่ตั้งขึ้นหลัง 1945 โดยเฉพาะองค์กรภายใต้ระบบ Bretton Woods ไม่ได้สะท้อนสภาพจริงของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนไปแล้ว นั่นหมายความว่าต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจองค์กร ซึ่งเกี่ยวพันกับการที่อิทธิพลของยุโรปกำลังค่อยๆ เสื่อมลงจากแต่ก่อน เพราะฉะนั้น จะต้องเพิ่มอำนาจประเทศอื่น อย่างจีน อินเดีย บราซิล และประเทศอื่นๆ ในโครงสร้างองค์กร เพิ่มสัดส่วนผู้แทน เพิ่มอำนาจสิทธิการลงคะแนนเสียง แต่นั่นก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นถกเถียงมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 แล้ว เพราะฉะนั้นองค์กรระหว่างประเทศต้องมีการปรับกลไกโครงสร้างเพื่อให้สะท้อนลำดับชั้นอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปี 2023 และในอนาคต

ส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นที่โต้เถียงมากที่สุดคือ ปัญหาว่าด้วยเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ เพราะที่ผ่านมา ระเบียบโลกเสรีนิยมมีความมือถือสากปากถือศีลอยู่หน่อยๆ ใช่ไหม เรามักจะบอกว่าการมีเขตอิทธิพลของมหาอำนาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกรัฐเท่าเทียมกัน มีอำนาจอธิปไตยเหมือนกันและเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ กฎบัตรสหประชาชาติก็ระบุไว้แบบนี้เหมือนกัน แต่สหรัฐฯ ก็มีเขตอิทธิพลมาตลอด นี่เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมวิกฤตการณ์คิวบาถึงจบอย่างที่เรารู้ว่ามันจบอย่างไร สหภาพโซเวียตก็มีเขตอิทธิพลเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นก็คงมีการแทรกแซงการประท้วงลุกฮือในยุโรปตะวันออกช่วงสงครามเย็นไปแล้ว เพราะอย่างนี้โลกเลยปลอดภัยจากสงครามนิวเคลียร์มากว่า 40 ปีในช่วงสงครามเย็น

ตัดมาที่ตอนนี้ สิ่งที่จีนกับรัสเซียต้องการคือเขตอิทธิพล แต่โลกตะวันตกบอกว่าไม่ได้ ตรงนี้นี่แหละคือจุดที่ทั้งสองฝ่ายจะต่อสู้กันไปอีกในช่วง 10 ปีข้างหน้า ความมือถือสากปากถือศีลแบบนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นวิธีรักษาสันติภาพที่ได้ผลในทางปฏิบัติ ถ้ามุ่งจะรักษาแต่หลักการล้วนๆ สันติภาพก็คงเกิดขึ้นไม่ได้

ส่วนวิกฤตประชาธิปไตยกับกระแสฝ่ายขวาประชานิยมในโลกตะวันตก จริงๆ ก็ดำเนินมากว่าทศวรรษแล้ว เราพอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างไหม หรือว่าเราเดินมาถึงทางตันแล้ว

ประเด็นอยู่ที่ว่า เรากำลังพูดถึงอาการหรือว่าสาเหตุ ผมเชื่อมากๆ ว่ากระแสประชานิยมฝ่ายขวาเป็นอาการของวิกฤตประชาธิปไตยมากกว่า เหมือนกับเวลาเราป่วย มีอาการ แล้วก็ต้องรักษาจริงๆ จังๆ

แต่ก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่า อาการเหล่านี้มาจากไหน อะไรที่ทำให้เมล็ดพันธุ์แนวคิดขวาประชานิยมงอกเงยขึ้นได้ ผมมองว่าเป็นเพราะเรากำลังอยู่ในสภาวะอย่างที่คุณอ้างคำกล่าวของกรัมชีขึ้นมา ก็คือว่าเรากำลังเผชิญกับ ‘การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่’ (the Great Transformation) ซึ่งคือสาเหตุที่หนุนให้กระแสประชานิยมฝ่ายขวาเติบโตขึ้น

การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่คือภาวะที่เกิดกระบวนการเปลี่ยนในหลายๆ ระบบพร้อมกัน อย่างในทางเทคโนโลยี จะเห็นว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุค AI แล้ว ส่วนในทางเศรษฐกิจ ยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสิ้นสุดลงไปแล้ว โดยที่ทุนนิยมข้อมูล (information capitalism) เข้ามาแทนที่ และตอนนี้เศรษฐกิจก็เป็นแบบที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในทางภูมิรัฐศาสตร์ unipolar moment กำลังสิ้นสุดลง ขณะที่ระเบียบโลกใหม่กำลังก่อตัวขึ้น ทั้งหมดนี้หมายความว่าเศรษฐกิจการเมืองและเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่หนุนให้ระบบเก่าดำเนินต่อไปได้กำลังสิ้นสุดลง ทุกสังคมในโลกจึงต้องหาทางปรับตัวไปกับเงื่อนไขต่างๆ ในระบบใหม่ ปกติการเปลี่ยนผ่านจะใช้เวลา 1 เจเนอเรชัน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของศตวรรษกว่าโลกจะเข้าสู่ช่วงเวลาสงบสุขอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะแค่นั่งเฉยๆ แล้วปล่อยการเปลี่ยนผ่านเสร็จไปเองนะ เพราะการเปลี่ยนผ่านก็สร้างความเสียหายได้มหาศาลเหมือนกัน เราจึงต้องพยายามหาการเมืองที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

อย่างที่บอกไป การเปลี่ยนผ่านย่อมต้องมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ที่รู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง เพราะความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผู้แพ้เสื่อมความมั่นใจและความเชื่อมั่นว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงที่ทางและความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมในระดับประเทศจะยังคงเหมือนกัน ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และเป็นปฏิกิริยาปกติที่มนุษย์จะมีเวลาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เหมือนกับเวลาเราเจออันตราย รู้สึกกลัว แล้วก็อาจจะส่งเสียงตะโกนโวยวายออกมา เพราะฉะนั้น นี่เป็นเรื่องที่สังคมต้องคุยกัน และต้องการทางแก้ที่โอบรับผู้แพ้อย่างเป็นประชาธิปไตย คุณต้องเอื้อมมือไปหาผู้แพ้เหล่านี้ แล้วทำให้พวกเขาวางใจว่าจะมีการสร้างระบอบการเมืองเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่ทิ้งพวกเขาเหล่านี้ไป ซึ่งผมเรียกทางออกแบบนี้ว่า การตอบสนองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Response)

ที่ผ่านมา การตอบสนองต่างๆ จากหลายเฉดทางการเมืองนั้นไม่ได้ผล อย่างแรกคือ การตอบสนองจากฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เกิดขึ้นจริง ปฏิเสธกระบวนการที่หุ่นยนต์กำลังจะมาแทนที่มนุษย์ ปฏิเสธการเปลี่ยนดุลอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็เลยไม่ได้ตอบสนองอะไร หรือที่หนักยิ่งไปกว่านั้นคือ อยากจะหวนย้อนคืนไปสู่ยุคทองในอดีต ย้อนสังคมกลับไปในทศวรรษที่ 1950 หรือ 1980 ผมว่านั่นไม่ได้ตอบโจทย์ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้เลย เพราะคุณปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวไม่ได้ ถ้าไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงก็จะต้องเจ็บ

แต่ก็มีการตอบสนองไปอีกขั้วหนึ่งเลย คือตอบสนองแบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าที่โอบรับความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดและก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนผ่านไปสู่โลก AI เลย เปลี่ยนผ่านพลังงานเลย แต่จริงๆ ก็ยังมีคนที่ไม่พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่โลก AI เร็วขนาดนั้น หรืออย่างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ผมเห็นด้วยเต็มที่นะว่าเราต้องต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่อย่าลืมว่ามันมีทั้งคนที่มองว่าต้องตัดอุปทานพลังงานทั้งหมด และคนกว่าหลายหมื่นที่ต้องเสียงานไปเพราะมีการเลิกใช้พลังงานถ่านหิน

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนผ่านที่เร็วเกินไปและไม่ประนีประนอมแบบนี้ไม่เพียงพอ การตอบสนองต้องเป็นแบบกลางๆ  ซึ่งผมเรียกว่า transformative realism คือต้องพยายามปรับและกำหนดวิถีการเปลี่ยนแปลง รื้อสร้างสถาบัน นโยบายต่างๆ ใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างแพลตฟอร์มให้พันธมิตรทางสังคมที่รวมคนหลากหลายผลประโยชน์ หลากหลายอัตลักษณ์ หลากหลายวิธีตีความและมองโลก ได้รับผลกระทบต่างกันไปนำไปสู่การสร้างโครงสร้างทางสังคมใหม่ นี่คือหนทางเดียวที่จะรับมือต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ได้ และตราบเท่าที่เรายังไม่เริ่มลงมือ วิกฤตก็จะดำเนินต่อไป

คงไม่ถามไม่ได้ แล้วไทยจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เราคุยกันมาทั้งหมดนี้ได้อย่างไร

มีคอนเซปต์หนึ่งที่ผมคิดขึ้นมาสักพักแล้ว เรียกว่า ‘เศรษฐกิจฐานมนุษย์’ (Human economy) ซึ่งเป็นไปเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี งานดีมีคุณค่า ในขณะที่ความเป็นอยู่แบบเดิม งานแบบเดิมกำลังถูกเครื่องจักรแย่งไป นั่นหมายความว่าเราต้องการเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งกว่าเดิม ต้องการเศรษฐกิจที่สร้างอุปสงค์และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งจะสร้างอุปสงค์เป็นวงจรกลับมา เพราะคาดว่าการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะลดลง

คำถามคือ จะสร้างเศรษฐกิจฐานมนุษย์ขึ้นมาในสังคมไทยได้อย่างไร แต่จากที่อยู่ไทยมานานกว่าทศวรรษแล้ว ผมว่าที่น่าประทับใจที่สุดคือ ไทยมีศักยภาพระดับต้นๆ ของโลกในการยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างบริการทางสาธารณสุข บริการบ้านพักคนชรา ทักษะการตกแต่งภายใน แฟชันดีไซน์ อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์อาหาร ศาสตร์การครัวระดับไฮเอนด์ ความสามารถทุกอย่างที่ไทยมีคือสิ่งที่มนุษย์ทำเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นเรื่องที่คนไทยเก่งมากๆ เพราะฉะนั้น อนาคตของไทยในโลกที่ยากกว่าเดิมน่าจะขึ้นอยู่กับตรงนี้นี่แหละ เพราะฉะนั้นไทยจึงควรพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้

อย่างที่เราคุยกันไปตอนแรกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามักวิเคราะห์การเมืองโลกด้วยเลนส์ภูมิรัฐศาสตร์ แทบทุกอย่างถูกมองด้วยฐานคิดแบบภูมิรัฐศาสตร์ไปหมด จริงๆ ในช่วงเวลาแบบนี้เราน่าจะใช้ทางเลือกอื่น เลนส์แบบอื่นในการมองโลกบ้างไหม

จริงๆ มันเป็นอย่างที่เราคุยกันว่าเพราะจุดโฟกัสไปอยู่ที่สงคราม แต่สองปีก่อน ทุกคนพูดถึงแต่โรคระบาด หรือก่อนหน้านั้นก็พูดถึงกันแต่หุ่นยนต์ แต่ละช่วงเวลาก็มีแนวคิดบางอย่างอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำเวลาวิเคราะห์คือ พยายามเข้าใจว่าเทรนด์ในระดับโครงสร้างและแรงขับเคลื่อนซ้อนทับ หนุนเสริม หรืออาจจะขัดกันอย่างไร

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ต่างๆ ในอนาคตก็มีจุดอ่อนอยู่ แม้ว่าจะวิเคราะห์ออกมาเป็นฉากทัศน์แล้วก็ตาม ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องดี แต่มนุษย์มักจะมองอนาคตเป็นเส้นตรงที่ลากต่อจากปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงมันแทบจะไม่เคยเป็นเส้นตรงเลย โลกมักจะต้องเจอดิสรัปชันหรือเหตุการณ์คาดไม่ถึงเสมอ ผมว่ามีงานวิเคราะห์ที่อ่อนเยอะมาก อย่างถ้าย้อนกลับไปพูดถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ตอนนั้นทุกคนตื่นเต้นมากว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะพุ่งทะยานอีก แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น เราต้องประมาณตัวกันมากกว่านี้หน่อยเวลาวิเคราะห์อนาคตว่า ต้องมองให้เห็นเทรนด์ต่างๆ ที่สลับซับซ้อน ย้อนแย้ง และซ้อนทับกันอยู่ และต้องตระหนักอยู่ตลอดว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอด น่าจะฮาโรลด์ แมคมิลแลน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรนี่แหละที่เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การเมืองจะง่ายกว่านี้มาก

อีกอย่างคือ มีเทรนด์ต่างๆ ที่ต้องจับตามองอยู่ตลอด อย่างแรก การพัฒนาเทคโนโลยีต้องคอยจับตาดูอยู่ตลอดแน่ๆ 100% อยู่แล้ว นี่น่าจะเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษแล้ว ถ้าไม่ใช่ในศตวรรษน่ะนะ อย่างที่สองคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับปัญหาการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ส่วนอย่างที่สามคือ การรื้อสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่ต้องถอดบทเรียนจากวิกฤตโรคระบาดกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจริงๆ จะมีมากกว่านี้อีกก็ได้ แต่พวกนี้คือเทรนด์ระดับโลกที่ซ้อนทับ หนุนเสริม และเร่งกระบวนการกันและกัน โรคระบาดเร่งเครื่องให้เกิดการจัดห่วงโซ่อุปทานใหม่และเร่งกระบวนการ digital automation แล้ว digital automation ก็ไปเร่งความเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ช่วงชิงความเหนือกว่าในการผลิตชิปและพัฒนา AI ฯลฯ เทรนด์เหล่านี้เร่งกระบวนการไปไวมาก

นี่คือสิ่งที่ผู้ออกนโยบายต้องคิดว่าจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ขณะที่สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก โครงสร้างทางโอกาสในการเจริญเติบโตเปลี่ยน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องเผชิญเหมือนกัน แต่การปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่จริงๆ เป็นไปได้ช้ามาก อย่างที่บอกไปแล้วว่าน่าจะใช้เวลาราวๆ 25 ปี คือกว่ากรอบกฎระเบียบจะไล่ตามทันเทคโนโลยีก็ใช้เวลาไป 25 ปี ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไว ใช้เวลาแค่ภายในทศวรรษหนึ่งเท่านั้น นั่นหมายความว่าตลาดอาจจะปิดตัว อาจจะถูกตัดออกจากห่วงโซ่อุปทาน หรือเงินลงทุนอาจจะไม่เข้ามามากอย่างที่เคย แต่ต้องพูดจริงๆ ว่าทุกประเทศที่ผมเคยทำงานมา ซึ่งส่วนมากคือในเอเชีย ไม่จริงจังกับการตอบสนองมากพอ ไม่ได้ถกเถียงอภิปรายเรื่องเหล่านี้กันมากพอ

ในฐานะคนที่จับดูการเมืองโลกมาตลอด การเปลี่ยนผ่านที่กำลังดำเนินไปอยู่ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจไหม หรือว่าน่ากลัวมากกว่า

ปกติผมตื่นเต้นกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดนะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่คิดว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เริ่มจะน่ากลัวมากกว่าน่าตื่นเต้นแล้ว อาจจะเป็นเพราะภาพของสงครามด้วย แล้วก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สักที วิกฤตมีแต่จะแย่ลงๆ ในทุกๆ ด้านมาหลายปีจนรู้สึกว่ายากมากที่จะมองเห็นทางออก

แต่เชื่อมั้ย ถ้าคุณย้อนกลับไปถามปัญญาชนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสิ้นสุดคลื่นปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกแรก หรือจุดพลิกผันอื่นๆ ในประวัติศาสตร์โลกก็ตาม เขาก็น่าจะพูดเหมือนกัน เพราะเรามองเห็นอนาคตไม่ได้ เรามองเห็นแต่อดีตที่ผ่านมาแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save