fbpx
Human Economy ในฐานะทางออกจากวิกฤตทุนนิยมดิจิทัล

Human Economy ในฐานะทางออกจากวิกฤตทุนนิยมดิจิทัล

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

 

หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเขย่าสังคมอย่างไร ส่งผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน และเราต้องปรับตัวอย่างไร?

นี่คือคำถามที่นักคิด นักวิชาการ และนักวิจัยทั่วโลกพยายามตอบในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้นักคิดหลายคนจะมองหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในด้านบวก โดยเชื่อว่าพลังของเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายและความมั่งคั่งให้กับมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่คงไม่เกินจริงนักที่จะบอกว่า บทวิเคราะห์และความคิดเห็นที่แสดงถึงความกังวลถึงพลังด้านลบของเทคโนโลยีก็ไม่ใช่เสียงส่วนน้อย โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung หรือ FES) ภูมิภาคเอเชีย เจ้าของผลงานวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทยอันเฉียบคมเรื่อง สังคมไทยในวังวนแห่งวิกฤตเปลี่ยนผ่าน (In Vertigo of Change: How to Resolve Thailand’s Transformation Crisis) เป็นหนึ่งในนักคิดที่ให้ความสนใจเรื่อง เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ (The Economy of Tomorrow) หรือการสร้างสังคมเศรษฐกิจแห่งอนาคตที่เป็นธรรมทางสังคม ยั่งยืน และเป็นพลวัตเขียว มาอย่างต่อเนื่อง

ในบทความใหม่ของ Saxer เรื่อง The Human Economy: The social democratic path to decent livelihoods and development in digital capitalism (2017) เขายืนยันว่าความท้าทายของการปฏิวัติดิจิทัลไม่ได้อยู่ที่เรื่องเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ แต่อยู่ที่การกระจายความมั่งคั่ง รายได้ ความเป็นเจ้าของ โอกาส และการกำกับควบคุมต่างหาก

กล่าวให้ชัดขึ้น สังคมดิจิทัลแห่งอนาคตมิได้มีแต่โจทย์เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ความสำคัญอยู่ที่การสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่รับมือกับความท้าทายแห่งยุคสมัยได้

Saxer เชื่อว่า เทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและนำไปสู่วิกฤตทางสังคม แต่คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในยุคทุนนิยมดิจิทัล หากสังคมเลือกโมเดลการพัฒนาที่เหมาะสม

Human Economy หรือ “เศรษฐกิจฐานมนุษย์” คือคำตอบของเขา ในฐานะโมเดลการพัฒนาใหม่ในยุคทุนนิยมดิจิทัล

 

Digital Transformation กับวิกฤตทุนนิยม

 

Saxer ชี้ให้เห็นว่า Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังดำเนินอยู่ เกิดขึ้นซ้อนกับวิกฤตอุปสงค์ (demand crisis) ของตลาดสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ วิกฤตอุปสงค์นับเป็นวิกฤตเชิงโครงสร้างของระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มอิ่มตัว สินค้าอุตสาหกรรมหนัก รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ที่เคยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงานเป็นจำนวนมากกำลังอยู่ในช่วงขาลงจากวิกฤตอุปสงค์ ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถทำกำไรได้ดังเดิม

ในขณะที่วิกฤตอยู่ที่ฝั่งอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อของผู้บริโภค แนวคิดในการจัดการเศรษฐกิจกลับให้ความสำคัญกับการจัดการด้านอุปทาน (supply-side solutions) ผ่านแนวนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรมาผลิตสินค้า เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศแรงงานราคาถูก เพื่อหากำไรจากส่วนต่างของค่าแรง การเดินตามอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ที่เน้นการลดภาษี ตัดลดสวัสดิการแรงงาน และกดค่าแรงให้ต่ำ รวมถึงการแสวงหากำไรด้วยการกระตุ้นภาคการเงินให้ขยายตัว

แม้การจัดการด้านอุปทานจะทำให้บรรษัทยักษ์ใหญ่กลับมามีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่แนวนโยบายนี้กลับสร้างแรงกดดันให้กับตลาดแรงงานอย่างมหาศาล แรงงานในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากต้องตกงาน หรือต้องเชิญกับภาวะชะงักงันของค่าจ้าง ไม่ต้องพูดถึงว่า การกระตุ้นภาคการเงินได้นำไปสู่วิกฤตทางเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2008

หลายคนมองว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมระลอกที่สาม (Third Wave Industrial Revolution) ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพระเอกจะนำพาเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคใหม่ได้ ผู้สนับสนุนทุนนิยมดิจิทัลคาดหวังว่า โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมเป็นตัวนำ (innovation-driven growth) จะก่อให้เกิดกระบวนการ ‘ทำลายอย่างสร้างสรรค์’ (creative destruction) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่สำหรับ Saxer การปฏิวัติดิจิทัลกลับยิ่งทำให้วิกฤตอุปสงค์แย่ลง เพราะในด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมดิจิทัลไม่สามารถสร้างผลิตภาพ (productivity) และสร้างงานให้เศรษฐกิจได้มากเท่าที่ภาคอุตสาหกรรมยุคก่อนทำได้ และในอีกด้านหนึ่ง การจัดการด้านอุปทานกลับยิ่งทำให้คนในประเทศพัฒนาแล้วตกงานมากขึ้น เมื่อคนตกงานมากขึ้น ก็ไม่มีรายได้ และขาดอำนาจซื้อ ส่งผลให้พลังด้านอุปสงค์ยิ่งลดลงไปอีก

หากเปรียบเทียบกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม การสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมีแนวโน้มที่ต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) ในการผลิตต่อๆ ไป ลดลงเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ศูนย์ กล่าวคือ ผู้ผลิตจะลงทุนมหาศาลใน ‘ต้นแบบ’ เท่านั้น แต่เมื่อพัฒนาเสร็จแล้ว ต้นทุนในการผลิต (ก๊อบปี้) ชิ้นต่อๆ ไปแทบจะไม่มีต้นทุนเลย

ลักษณะดังกล่าวนี้ส่งผลสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานน้อย เพราะการผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น แทบไม่ต้องการแรงงานในการผลิต ประการที่สอง การสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจะทำมากเท่าไหร่ก็ได้ เพราะต้นทุนในการผลิตและการขนส่งต่ำมาก ในแง่นี้ จำนวนผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจึงมากกว่าอุปสงค์อยู่เสมอ ส่งผลให้ราคาและกำไรที่ได้จากผลิตภัณฑ์ดิจิทัลไม่สูงมากนัก ดังจะเห็นว่า บริษัทที่มีกำไรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคือ ยักษ์ใหญ่จอมผูกขาด ในขณะที่ สตาร์ทอัพหน้าใหม่จำนวนมากต้องดิ้นรนกับตลาดที่ดูเหมือนจะเสรี

Saxer ตีความว่า ถ้ามองจากระดับโครงสร้างของธุรกิจ ทุนนิยมดิจิทัลยังคงเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวทางการจัดการด้านอุปทาน ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถแก้วิกฤตอุปสงค์ที่เป็นวิกฤตหลักของระบบทุนนิยมได้

 

หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ VS คน

สำหรับประเทศอุตสาหกรรม ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างไร

ในด้านหนึ่ง บทวิเคราะห์จำนวนมากชี้ว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนแรงงานในทุกระดับ ซึ่งจะนำพาสังคมไปสู่สังคมไร้งาน (jobless economy) และไร้รายได้ในที่สุด

แต่อีกด้านหนึ่งเชื่อว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้แตกต่างจากเทคโนโลยีที่เคยพัฒนามาในอดีต หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาทดแทนแรงงานได้เพียงแค่ภาคการผลิตบางภาคเท่านั้น และแรงงานก็จะถูกผลักให้ย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่นที่ดีกว่า

ความเห็นจากสองด้านต่างก็มีงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนด้วยกันทั้งคู่

นอกจากข้อถกเถียงเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแย่งงานคนแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วของกำลังแรงงานอย่างรุนแรง (polarization of workforce)

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อธิบายว่า โลกในอนาคตจะเหลือเพียงแค่แรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำเท่านั้น ในขณะที่แรงงานทักษะปานกลางจะหายไป เนื่องจาก หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทดแทนแรงงานทักษะสูงได้ ส่วนแรงงานทักษะต่ำนั้น ภาคธุรกิจคิดว่าไม่คุ้มค่าที่จะใช้หุ่นยนต์มาทำงานแทน

ในแง่นี้ แรงงานทักษะสูงคือผู้ชนะที่ได้รับดอกผลจากเทคโนโลยี ในขณะที่แรงงานทักษะปานกลางและต่ำจะเป็นผู้แพ้ แรงงานระดับกลางจะลงไปแย่งงานกับแรงงานทักษะต่ำ ส่งผลให้ค่าจ้างยิ่งถูกกดให้ต่ำลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ หรือทำงานร่วมกับมนุษย์ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ กระบวนการทำงานและวิธีการทำงานของมนุษย์ มนุษย์จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นและทักษะใหม่เพื่อที่จะอยู่รอดในเศรษฐกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา Saxer ชี้ให้เห็นว่า แรงงานในภาคเศรษฐกิจในระบบที่เชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานโลก จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เฉพาะในส่วนนี้ ส่วนแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีต่ำ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่แท้จริงของประเทศกำลังพัฒนา คือ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศพัฒนาแล้ว เพราะหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีความได้เปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยที่นักลงทุนเคยมองข้าม อาทิ แรงงานคุณภาพต่ำ ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขัน ท่ามกลางกระแสย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่

 

Human Economy ในฐานะทางออก

 

การปฏิเสธเทคโนโลยีและนวัตกรรมคือความคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย เพราะมนุษย์มีปัญหาอื่นที่ไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องดูแลจัดการด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้วนมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

คำถามจึงมีอยู่ว่า โมเดลการพัฒนาแบบใหม่ที่ทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มีส่วนในการสร้างสังคมเศรษฐกิจที่พึงปรารถนามีหน้าตาอย่างไร?

Saxer เสนอ โมเดล Human Economy หรือ “เศรษฐกิจฐานมนุษย์” เป็นคำตอบ

Human Economy ประกอบด้วยเศรษฐกิจ 2 ส่วนผสมผสานกัน ได้แก่ เศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล (Digital Capitalism) และเศรษฐกิจพลังคนเพื่อสาธารณะ (Human Commons)

“เศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล” มีหน้าที่สร้างรายได้และส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่สามารถชดเชยและผลักดันให้ “เศรษฐกิจพลังคนเพื่อสาธารณะ” เดินต่อไปได้ ผ่าน “งานดีมีคุณค่า” (Decent jobs) ส่วน “เศรษฐกิจพลังคนเพื่อสาธารณะ” มีหน้าที่สร้างอุปสงค์จากการบริโภคเพื่อให้ “เศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล” เดินต่อไปได้เช่นกัน ผ่าน “ชีวิตดีมีคุณค่า” (Decent livelihoods)

 

 

ฐานสำคัญของ “เศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล” ในโมเดล Human Economy คือ “งานดีมีคุณค่า” ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยกระดับศักยภาพและการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงานขนานใหญ่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ทักษะสำคัญที่จะทำให้มนุษย์มีคุณค่าในเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล คือ ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูง (social and super creative skills) ตัวอย่างทักษะทางสังคมที่จำเป็นในเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การเห็นอกเห็นใจ การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ การเปิดกว้างและพร้อมจะแบ่งปัน การมีวิจารณญาณที่ดี การสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ส่วนทักษะทางความคิดสร้างสรรค์ขั้นสูงมีความสำคัญเหนือความสามารถของหุ่นยนต์ เพราะหุ่นยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบของโลกแบบที่เรารู้และเข้าใจมาก่อนแล้ว แต่คนมีศักยภาพที่จะจินตนาการถึงโลกใหม่และปรับเปลี่ยนเป้าหมายตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างคาดการณ์ไม่ได้

คนที่มีทักษะเหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการของเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล โดยเฉพาะในภาคบริการและวัฒนธรรม เช่น แฟชั่น ดีไซน์ การวิจัยและพัฒนา ศิลปะ และธุรกิจบันเทิง

ในแง่นี้ นโยบายอุตสาหกรรมที่สำคัญในยุคเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัลจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการลงทุนยกระดับทักษะของมนุษย์

ส่วนฐานสำคัญของ “เศรษฐกิจพลังคนเพื่อสาธารณะ” ในโมเดล Human Economy คือ “ชีวิตดีมีคุณค่า” เศรษฐกิจฐานมนุษย์ต้องถูกสร้างขึ้นภายใต้ความตระหนักถึงพลังของมนุษย์ในการสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ หัวใจสำคัญคือบทบาทของมนุษย์ในการดูแลและเติมเต็มความหวังและความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Saxer กล่าวถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายอย่างที่ยังเป็นที่ต้องการและคาดหวังในชีวิตของผู้คน เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ การเลี้ยงดูบุตร การดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัย การสร้างความรู้ และการสร้างความมั่นคงในชีวิต ผ่านตัวละครสำคัญ เช่น ครูบาอาจารย์ หมอและพยาบาล คนทำงานเพื่อสังคม นักวิจัย

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ไม่ให้คุณค่าสิ่งเหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็น เช่น ไม่ได้รายได้ที่มากสอดคล้องกับคุณค่าที่สร้างให้กับสังคม จนเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตอุปสงค์ขึ้นในระบบทุนนิยม ถ้าเราออกแบบระบบให้ผู้คนในสังคมมี “ชีวิตดีมีคุณค่า” ผ่านการทำงานที่มีคุณค่าต่อสาธารณะโดยได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม คุ้มค่า และเป็นธรรมด้วย ก็จะย้อนกลับไปสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัลให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ผ่านพลังของอุปสงค์จากการบริโภค

หากมองในกรอบของการออกแบบสถาบัน ‘เศรษฐกิจของมนุษย์’ คือ การใช้ประโยชน์จาก ‘รัฐ’  ซึ่งมีจุดแข็งในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ‘ตลาด’ ซึ่งมีจุดเด่นในด้านประสิทธิภาพและการสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจให้กับระบบ และ ‘ชุมชน’ หรือภาคสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ในการสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างน้ำ พลังงาน รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการทดลองสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ และที่สำคัญคือเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ใช่วัตถุ จับต้องไม่ได้ แต่มีคุณค่าต่อสังคม

หัวใจสำคัญในการรับมือกับความท้าทายของระบบทุนนิยมใหม่และการแก้วิกฤตอุปสงค์ของระบบทุนนิยมที่เกิดขึ้นมายาวนาน คือการสร้างรายได้และผลตอบแทนที่เหมาะสมจากกิจกรรมที่คนลงแรงเพื่อประโยชน์สาธารณะนั่นเอง

 

หนทางสร้าง Human Economy 

 

Saxer ไม่ได้เสนอแต่เพียงหลักคิดเกี่ยวกับ Human Economy เท่านั้น หากแต่ยังเสนอนโยบายรูปธรรมในการผลักดันให้โมเดลการพัฒนาแบบใหม่นี้เป็นไปได้จริงด้วย โดยแบ่งแนวนโยบายเป็นระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับนโยบายระยะสั้น Saxer เสนอว่า จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้คนกับหุ่นยนต์สามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมได้มากขึ้น (Level the playing field for human work) โดยรัฐควรดำเนินนโยบายที่เป็นกันชนสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากการเข้ามาของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อดูแล ‘คน’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการดูแล ‘รัฐ’ ด้วย เพราะอย่าลืมว่า ภาษีที่รัฐจัดเก็บมาจากแรงงานเป็นสำคัญ

ในหลายประเทศ ภาษีเงินได้จากแรงงานเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ ดังนั้น หากหุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานมนุษย์เป็นจำนวนมาก รัฐอาจต้องประสบปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งย่อมหมายถึงการสูญเสียความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสาธารณะด้วย

ในเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล รัฐต้องคิดถึงมาตรการทางภาษีแบบใหม่ที่พ้นไปจากการพึ่งพิงแรงงานเป็นฐานภาษี เช่น การเก็บภาษีจากฐานทุน หุ่นยนต์ ข้อมูล ฯลฯ เช่น ในยุโรปเริ่มมีการถกเถียงถึงการเก็บภาษีหุ่นยนต์เพื่อ ‘ซื้อเวลา’ ไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามาเร็วเกินไป และรัฐจะต้องนำเงินภาษีหุ่นยนต์ไปใช้ลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะของแรงงาน

‘การลงทุนเพื่อสร้างสังคมดีเพื่อชีวิตดีถ้วนหน้า’ (Invest in full capabilities for all) เป็นอีกหนึ่งแนวนโยบายระยะสั้นที่จะนำไปสู่ ‘เศรษฐกิจฐานมนุษย์’ Saxer เชื่อว่า การลงทุนด้านการศึกษาคือกุญแจสำคัญ แต่วิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษาจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความสามารถในการปรับตัวรับมือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการแปลงข้อมูลให้เป็นความรู้ ความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล และการสร้างวัฒนธรรมความร่วมมือ ไม่ใช่เน้นแต่วัฒนธรรมการแข่งขัน

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องเลิกนโยบายการคลังแบบ ‘รัดเข็มขัด’ (austerity) และให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริการสาธารณะที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของพลเมือง เช่น บริการสาธารณสุข ระบบสวัสดิการสังคม เพื่อให้ผู้คนกล้าเสี่ยงไปเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เช่น ในเยอรมนีมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนนโยบายจากการประกันการว่างงาน (unemployment insurance) ซึ่งจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ตกงาน มาเป็น การประกันการทำงาน (employment insurance) ที่รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนให้แรงงานนำไปใช้พัฒนาทักษะของตน

นโยบายระยะสั้นอย่างสุดท้ายที่ Saxer นำเสนอได้แก่ ‘การกระตุ้นอุปสงค์จากการบริโภคผ่านการช่วยเหลือด้านรายได้’ (Boost consumption demand through income support) โดยเฉพาะนโยบายการประกันรายได้ขั้นต่ำ (universal basic income) ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศ แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า รัฐบาลควรที่จะดำเนินโยบายในลักษณะนี้หรือไม่ แต่ Saxer ชี้ว่า การถกเถียงเชิงนโยบายในเรื่องนี้ถือว่าเป็น ‘สมรภูมิทางการเมืองใหญ่’ สนามแรกของเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัล

สำหรับนโยบายระยะยาว Saxer เสนอนโยบายรูปธรรมสองเรื่อง ได้แก่ การกระจายความมั่งคั่งที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และการจ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับงานทุกงานที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

ในโลกที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงาน คำถามสำคัญคือ “แล้วใครละที่เป็นเจ้าของหุ่นยนต์?” ในเศรษฐกิจที่ทุนเข้ามาทดแทนแรงงาน หัวใจสำคัญคือการทำให้ความเป็นเจ้าของทุนถูกกระจายอย่างเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

การกระจายดอกผลของเทคโนโลยีหุ่นยุนต์จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับทุนอื่นๆ กล่าวคือ สัดส่วนของผลตอบแทนส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่เจ้าของทุน ในแง่นี้ โลกอนาคตจึงเป็นโลกที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าของหุ่นยนต์และเจ้าของสิทธิบัตรโปรแกรมต่างๆ ในการแก้ปัญหานี้ Saxer ยืนยันหลักการ ‘ประชาธิปไตยในการเป็นเจ้าของทุน’ (democratization of capital ownership) ซึ่งเชื่อว่า ทุกคนที่มีส่วนในการสร้างมูลค่าสิ่งใด ควรมีสิทธิในการปันผลกำไรจากสิ่งนั้น ตัวอย่างรูปธรรม อาทิ การกระจายหุ้นบริษัทสู่พนักงาน หรือการปันผลกำไรจากบริษัทไปลงทุนในกองทุนที่จ่ายผลตอบแทนกลับคืนสู่พนักงาน เป็นต้น

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับงานที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ถ้าเศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัลล้มเหลวในการสร้างงานอย่างเพียงพอ รัฐมีหน้าที่เป็นปราการด่านสุดท้ายในการจ้างงาน (employer of last resort)

นอกจากนั้น รัฐยังมีบทบาทส่งเสริมและผลักดันให้มีการจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ในระดับเศรษฐกิจฐานราก ควรมีการการันตีรายได้พื้นฐานสำหรับทุกคน ระดับรายได้พื้นฐานต้องสูงพอที่จะสร้างอุปสงค์จากการบริโภคได้ แต่ก็ต้องต่ำพอที่จะยังคงดึงดูดให้คนต้องลงแรงทำงานและเดินเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ใช่รอรับรายได้พื้นฐานโดยไม่สร้างสรรค์อะไรให้กับเศรษฐกิจ ส่วนในระดับเศรษฐกิจข้างบน ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการส่งเสริมการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผ่านการปฏิรูประบบภาษี เป็นต้น

 

การเมืองเรื่อง Digital Transformation

 

ความท้าทายสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลคือ การลดความเหลื่อมล้ำและการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ จริงอยู่ว่าความท้าทายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นมาโดยตลอด แต่ความเร็ว ความกว้างขวาง และความลึกของปัญหาเรื่องนี้ คือสิ่งใหม่ที่โลกจะต้องเผชิญ

กระนั้น ต่อให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อสังคมรุนแรงมากเพียงใดก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ลงมือสร้างขึ้น ดังนั้น ผลกระทบของมันจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง (neutral) หากแต่ถูกกำหนดจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ บางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น หากผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้สินค้าและบริการราคาถูกลงด้วย คุณภาพชีวิตของแรงงานจึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี แต่ถ้าการเมืองและนโยบายเป็นไปในทางที่ไม่เป็นมิตรกับแรงงาน เช่น ตรึงค่าจ้างแท้จริงไม่ให้สูงขึ้นเพื่อเอาใจกลุ่มทุน ความเหลื่อมล้ำและสภาพความเป็นอยู่ของสามัญชนคนส่วนใหญ่ก็ย่ำแย่ลง

คำถามจึงมีอยู่ว่า โครงสร้างทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะนำไปสู่การสร้าง “ชีวิตดีมีคุณค่า” และ “งานดีมีคุณค่า” ภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมดิจิทัลหรือไม่?

หากคำตอบคือ “ไม่” การต่อสู้ทางการเมืองทั้งในระดับความคิดและปฏิบัติการก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save