fbpx

เช้าวันใหม่ใต้ร่มประชาธิปัตย์ คุยกับ ‘มาดามเดียร์’ ถึงภารกิจกู้วิกฤตศรัทธาสู้ศึกเลือกตั้งปี ’66

“ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ มาชวนพี่น้องชาวไทย เริ่มเดินไปพร้อมกัน…”

ท่อนเปิดของเพลง ‘เช้าวันใหม่’ ไม่เพียงแต่จะสื่อถึงความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์ในการปรับตัวให้ตอบโจทย์ประชาชนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงยุคสมัย หากแต่ยังอาจสะท้อนถึงความหวังของพรรคที่จะผงาดขึ้นอีกครั้ง หลังสูญเสียคะแนนนิยมอย่างหนักในการเลือกตั้ง 2562 จนแปรเปลี่ยนจากพรรคที่ครองสถานะพรรคใหญ่ในสภามายาวนาน สู่พรรคต่ำร้อย ทั้งยังเผชิญภาวะสมองไหลออกจากพรรคครั้งใหญ่

การกอบกู้วิกฤตศรัทธาและเรียกคืนหลายเขตพื้นที่ที่เคยสูญเสียไปจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของประชาธิปัตย์ในศึกเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง โดยความพยายามหนึ่งคือการดึงตัวคนรุ่นใหม่ทางการเมืองเข้ามาเติมพลัง หนึ่งในนั้นคือ วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้อาจเรียกได้ว่าเข้ามารับภารกิจสำคัญในการนำประชาธิปัตย์ปักธงในฐานที่มั่นเดิมอย่างกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง หลังสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้ว

101 ชวน วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ คุยถึงภารกิจ เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ของพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 พร้อมสนทนาถึงอนาคตทางการเมืองของตนภายใต้เช้าวันใหม่ของประชาธิปัตย์ ในรายการ 101 One-on-One Ep.293: ประชาธิปัตย์ใน ‘เช้าวันใหม่’ กับ วทันยา บุนนาค

ดาวเด่น ส.ส. ค่ายป่ารอยต่อย้ายสู่บ้านใหม่สีฟ้า

หัวขบวนดาวฤกษ์อดีตลูกพรรคพลังประชารัฐ วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ โคจรเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่สู่พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565 หลังลุยงานภายใต้สังกัดใหม่ราว 6 เดือน เธอเล่าว่าจากที่เคยกังวลกับข้อจำกัดเรื่องระบบอาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนี้กลับกลายเป็นความสบายใจและสนุกกับการทำงานอย่างมาก เพราะผู้ใหญ่ในพรรคที่มีประสบการณ์ให้คำชี้แนะและถ่ายทอดประสบการณ์ ทำให้ตนสามารถทำงานได้ด้วยความมั่นใจและรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น

วทันยามองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีระบบในการทำงานชัดเจน เนื่องจากเป็นพรรคที่ก่อตั้งมาเป็นยาวนาน รูปแบบการทำงานแตกต่างจากเมื่อครั้งที่เธออยู่พลังประชารัฐโดยสิ้นเชิง เนื่องจากขณะนั้นพลังประชารัฐเป็นพรรคใหม่ เกิดขึ้นในโมงยามการเตรียมตัวเลือกตั้ง ราวกับองค์กรสตาร์ตอัป หรือ SME ระบบการทำงานเป็นลักษณะไฮบริด ใครทำตรงไหนได้ก็ทำตรงนั้น ทั้งเรื่องนโยบาย การปราศรัย การลงพื้นที่หาเสียง ทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลาอันรวดเร็วและมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง 

“ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปอยู่ร่วมใต้ชายของพรรคประชาธิปัตย์ก็ศึกษาระบบของพรรค เดียร์เห็นถึงพัฒนาการและความชัดเจนว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ พรรคที่ไม่มีเจ้าของหมายถึงว่าสิทธิ์และเสรีภาพของสมาชิกพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าเทียมกัน”

หากติดตามการเมืองจะเห็นว่า วทันยามีความเห็นแตกต่างกับแนวทางของพรรคพลังประชารัฐเป็นระยะๆ เรื่องที่ชัดเจนและปรากฏต่อสายตาสาธารณชนคือการที่เธอโหวตสวนมติพรรคในการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี วทันยาระบุว่าในฐานะสมาชิกพรรคต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาให้แก่พรรค หรือว่าตนควรต้องเลือกที่จะเดินออกมา 

“เดียร์มีความคิดเห็นแตกต่างจากพรรค นั่นไม่ได้บอกว่ามีใครผิดใครถูก เพียงแต่ความเห็นไม่เหมือนกัน

“ตอนลาออกจากพลังประชารัฐ เดียร์ก็ไปกราบลาพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรค ทุกวันนี้ก็ยังมีโอกาสกลับไปเยี่ยม” วทันยากล่าว

เมื่อชวนมองต่อไปในอนาคตสำหรับทางการเมืองภายใต้ชายคาของประชาธิปัตย์ วทันยาต้องการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดก่อน เธอเชื่อมั่นว่าถ้าทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้ว วันหนึ่งจะได้รับโอกาสทำงานในบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้น

นโยบายบนความรับผิดชอบ ภารกิจกู้วิกฤตศรัทธา

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์เผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพื่อใช้หาเสียงชื่อ ‘เช้าวันใหม่’ เรียกเสียงฮือฮาจากแวดวงการเมือง โหมโรงศึกเลือกตั้งคึกคัก และอาจเป็นภาพสะท้อนการจัดวางภาพลักษณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้จากมุมมองของประชาธิปัตย์เอง

“ใน MV เช้าวันใหม่มีตั้งแต่ผู้บริหารพรรค กลุ่มคนหน้าใหม่ที่เพิ่งร่วมทำงานกับพรรค กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรค ทั้งยังมีประชาชนอยู่ด้วย ภาพอนาคตในสายตาของประชาธิปัตย์เห็นว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราเห็นมิติความหลากหลายตั้งแต่ภายในพรรค รวมถึงภาคประชาชน” วทันยาเผย 

กล่าวได้ว่านับจากเลือกตั้งปี 2562 จนถึงปัจจุบัน การตื่นตัว การรับรู้ และมีการส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงมหาศาล ประชาธิปัตย์ก็ไปปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยขนานใหญ่เช่นกัน 

“ประชาธิปัตย์เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ข้างใน พรรคให้โอกาสในการทำงานแก่คนหน้าใหม่มากขึ้น ผู้ลงสมัคร ส.ส. ของประชาธิปัตย์ในอดีตจะต้องผ่านการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อน และมีลำดับอาวุโสในการคัดเลือกผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่การเปิดตัว ส.ส. 33 เขตในพื้นที่ กทม. มีถึง 14 เขตที่เป็นทั้งหน้าใหม่และเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสจากพรรค ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแรกที่สำคัญ เพราะเมื่อได้คนรุ่นใหม่หรือคนใหม่ๆ ร่วมคณะทำงาน บรรยากาศในการหารือ ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการคิดนโยบายจะแตกต่างจากเดิม ซึ่งรูปแบบวิธีการทำงานก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน” วทันยาระบุ

ความท้าทายครั้งใหม่ของอดีต ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์อายุงาน 3 ปีอย่างวทันยา คือการนำทีมกอบกู้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ในตำแหน่งประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองโดยประสานกำลังกับองอาจ คล้ามไพบูลย์และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 

“นวัตกรรมการเมืองคืออะไรก็ได้ที่ทลายกรอบ รูปแบบ และความคิดเดิมๆ พร้อมมุ่งขับเคลื่อนเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองระหว่างพรรคกับประชาชน” วทันยาอธิบายถึงบทบาทที่เธอต้องรับผิดชอบในพรรค

ผลการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ครั้งที่แล้วอาจนำมาสู่ความยากลำบากต่อการทำงานในการเลือกตั้งปี 2566 ประเด็นนี้วทันยาระบุว่า ในมุมจิตวิทยากลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นอดีต ส.ส. ยิ่งเกิดความฮึกเหิมทำงานเต็มที่เพื่อจะสามารถชนะใจประชาชนได้ในที่สุด ทว่าอีกมุมหนึ่งอาจจะทำลายบรรยากาศความเชื่อมั่นบางส่วนของผู้สมัครเช่นกัน ฉะนั้นเพื่อปิดประตูโอกาสที่จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์เกลี้ยงพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้สมัคร ส.ส. และทีมงานทุกคนจึงทุ่มเททำงานหนัก ทำให้งานดีกว่าเดิม และเคาะประตูบ้านพูดคุยกับคนในพื้นที่สม่ำเสมออย่างที่เป็นมา ซึ่งผลลัพธ์ของปฏิบัติการดังกล่าวสามารถเอาชนะใจประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด ด้วยจำนวน ส.ก. 9 ที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นเช่นไร วทันยากล่าวว่าขอน้อมรับการตัดสินใจของประชาชน

ถอยออกมามองภาพใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมก้าวออกจากม่านหมอกทึบสู่วันท้องฟ้าปลอดโปร่งสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 วทันยากล่าวว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ประชาธิปัตย์ทำนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างตรงจุดและทั่วถึง ซึ่งต่อยอดจากโครงการ ‘ฟัง คิด ทำ’ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าประชาชนที่สัมผัสกับปัญหาโดยตรงรับรู้ปัญหาดียิ่งกว่านักการเมือง หลายครั้งได้แนวทางที่ดีในการแก้ปัญหาจากประชาชน

“เราทำให้ดีที่สุดและหวังว่าประชาชนจะเห็นถึงความพยายามทำงานหนักของประชาธิปัตย์ เดียร์มั่นใจว่าพรรคไม่ซี้ซั้วในการทำนโยบาย

“นโยบายการสร้างเงิน สร้างคน จะนำไปสู่การสร้างประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ประชาธิปัตย์เสนอนโยบายด้วยความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่หวังแค่จะได้คะแนนเสียงโดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อประเทศ” วทันยาเสริม

หลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ วทันยาให้ความเห็นว่าสมาชิกหลายคนในพรรคมีแนวความคิดก้าวหน้าอย่างมาก ฉะนั้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงตลอดจนการปฏิรูปทางการเมืองที่นำไปสู่การพัฒนา ประชาธิปัตย์ยินดีและสนับสนุนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าอยู่นอกขอบข่ายอำนาจของพรรคการเมือง ไม่สามารถมีบทบาทหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง ทั้งนี้ทั้งนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งโดยเฉพาะโครงสร้างเสาหลักของประเทศ ซึ่งประกอบสร้างเป็นทัศนคติและความเชื่อของสังคมอย่างเหนียวแน่นยาวนานนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันทีทันใด

‘ซ้าย-ขวา’ ไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องไม่คอร์รัปชัน

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจับขั้วกับพรรคอื่นๆ หลังเลือกตั้ง วทันยาให้ความเห็นว่า “จริงๆ อยากแซวตัวเองว่าคนชอบให้ฉายาประชาธิปัตย์ว่าเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ หมายถึงว่าจะเป็นรัฐบาลแน่ๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน” 

เธออธิบายว่าประชาธิปัตย์มีกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคที่แข็งแรง เงื่อนไขสำหรับเข้าร่วมพรรครัฐบาลต้องถูกนำเสนอญัตติขึ้นมา หากที่ประชุมให้ความเห็นชอบโดยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุมเท่าที่มีอยู่และอยู่ในที่ประชุมหมายความว่าญัตตินั้นได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ฉะนั้นการชิงตอบออกไปก่อนการประกาศของพรรคว่าจะจับขั้วกับพรรคการเมืองใดนั้นไม่สามารถทำได้ เธอเป็นสมาชิกมีแค่เสียงหนึ่งเสียงคงจะไม่สามารถตอบแทนผู้อื่นได้ 

สำหรับคำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งหากพรรคประชาธิปัตย์ต้องจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคภูมิใจไทย สะดวกใจหรือไม่หากต้องลงคะแนนเสียงให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือประวิตร วงษ์สุวรรณ หรืออนุทิน ชาญวีรกูลเป็นนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้วทันยาชี้แจงจุดยืนหนักแน่น 

“ส่วนตัวเดียร์มองว่าซ้ายกับขวาไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นอุดมการณ์ความเชื่อของแต่ละคน เดียร์พร้อมทำงานด้วย เราเคารพในความเห็นต่าง ไม่มีผิดถูกว่าใครจะเลือกแบบไหนหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองเฉดใด แต่ที่รับไม่ได้แน่ๆ คือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ความซื่อสัตย์สุจริตมันไม่มีสเปกตรัม มีแค่ขาวกับดำ เงื่อนไขลักษณะของพรรคการเมืองที่สะดวกร่วมงานคือไม่มีอำนาจนอกกฎหมายและไม่มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน” 

“สำหรับการยกมือลงคะแนนให้ใครเป็นนายก ตัดสินจาก 2 ข้อ ข้อแรกเป็นมติมหาชน หากพรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เดียร์ก็ยอมรับได้ ส่วนข้อสองถ้าเดียร์จะต้องทำงานร่วมกับใคร ความสะดวกใจอยู่ที่เรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต หากคะแนนนั้นได้มาด้วยอำนาจพิเศษ อำนาจแฝงที่ไม่ได้มาจากมติของประชาชน เดียร์ก็คงยอมรับไม่ได้ คีย์หลักคือการยอมรับในมติของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล”

มากไปกว่านั้นในความเห็นของวทันยาเธอมองว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารต้องผ่านประสบการณ์รัฐมนตรีหรือผู้บริหารส่วนงานราชการเพื่อที่จะสามารถเป็นผู้นำบริหารงาน ปรับปรุง และพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างราบรื่น ซึ่งจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เหมาะสมอย่างยิ่งกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเนื่องจากมีประสบการณ์ดังกล่าวเพียบพร้อม อย่างไรก็ตามการที่มีตัวเลือกให้กับประชาชนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อประชาชน ซึ่งเธอเองไม่สามารถตัดสินแทนประชาชนทุกคนได้

วทันยาให้ความเห็นตามตรงว่า 4 ปีที่แล้ว ประยุทธ์ จันทร์โอชารวบรวมจำนวนเสียง ส.ส. ได้ 254 เสียงซึ่งเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง เป็นไปตามกลไกที่ต้องเคารพเสียงข้างมากและอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้ ส่วนผลลัพธ์ในแง่การบริหารงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นคนละประเด็นกันกับกลไกที่ต้องเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่วนด้านการบริหารงานของประยุทธ์สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงในบางจุดบางตอน

“อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำหรับการเลือกตั้งของทุกพรรคการเมืองคือต้องการได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดอยู่แล้ว แน่นอนว่าอยากจะเชิญชวนให้เลือกประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคไหนเดียร์ไม่เกี่ยง เราพร้อมเคารพความคิดเห็นประชาชน ทว่าจะเลือกพรรคการเมืองอุดมการณ์อะไรก็แล้วแต่ อยากให้คำนึงถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาประเทศเป็นองค์ประกอบด้วย” วทันยาทิ้งท้าย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save