fbpx

วิวัฒนาการของความรัก สู่ยุคสมัยแห่งคนเหงา คุยกับ ‘กิตติพล สรัคคานนท์’

ท่ามกลางความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและศิลปวิทยาการต่างๆ มากมาย ดูเหมือนไม่ว่ามนุษย์จะชาญฉลาดแค่ไหน เรื่องสุดท้ายที่คนเรามักจัดการได้คือเรื่อง ‘ความรัก’

กระนั้นความรักเองก็ล้วนมีความเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงเวลา คำถามมีอยู่ว่าความรักยุคนี้เป็นแบบไหน? – หน้าตาและหน้าที่ของความรักเปลี่ยนไปแค่ไหนในแต่ละยุค เรารักกันไปทำไมและความรักเกี่ยวพันอย่างไรกับทุนนิยม?

ขณะเดียวกัน ในยุคสมัยที่หลายคนบอกว่าความโดดเดี่ยวเป็นเพื่อนคนสำคัญ เราเหงากันตั้งแต่เมื่อไหร่? ความเหงาเป็นของที่มาพร้อมสมัยใหม่หรือไม่? ว่ากันว่าคนสมัยนี้เอาความเหงาเข้าไปเป็นตัวตนของตัวเองมากขึ้นจริงไหม? และความเหงาเป็นเรื่องเชิงปัจเจกหรือเรื่องเชิงสังคม?

101 ชวน กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ ผู้เขียนหนังสือ In Theories ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี มาร่วมตอบคำถามความรักและค้นหานิยามความเหงา ใน 101 One-on-One Ep.290



วิวัฒนาการของความรัก


ความรักไม่เคยโรแมนติก : เมื่อความรัก ความรุนแรง และความตายเป็นเรื่องเดียวกัน

กิตติพลเริ่มต้นด้วยการกะเทาะเปลือกความรักว่ามีจุดกำเนิดมาจาก ‘กามารมณ์’ ซึ่งนักปรัชญาในอดีตล้วนมองว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างสัตว์ไม่ใช่เหตุผลหรือความคิด แต่เป็น ‘กามารมณ์’ นี้เอง ยกตัวอย่างเช่น ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) พยายามอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

“สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ คือการที่เราได้ปรับแปลงกิจกรรมทางเพศการสืบพันธ์ุให้กลายเป็นเรื่องของ ‘กามารมณ์’ การสืบพันธุ์จึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ และจากกามารมณ์ก็นำมาสู่ความรัก มันมาพร้อมการพัฒนาจิตใจของมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้นตามเวลา ตามระบบวิวัฒนาการ”

เพราะฉะนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า ‘ทำไมมันต้องรัก?’ คือเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อมันแฝงบนเส้นทางการวิวัฒนาการของมนุษย์ทุกคน

แล้วกามารมณ์มาจากไหน?

กิตติพลเล่าว่า “ต้องสืบความย้อนกลับไปยังสังคมบุพกาลหรือว่าสังคมล่าสัตว์หาของป่า ซึ่งมันเริ่มที่บรรพบุรุษมนุษย์เริ่มเห็นความตายเป็นสิ่งที่รุนแรง พูดง่ายๆ ว่าเราไม่สามารถที่จะทนเห็นเพื่อนร่วมโลกของเราตายได้ ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่ามันต้องมีบางอย่างที่ต้องเข้าไปจัดการกับมัน ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างข้อห้ามในการฆ่าพวกเดียวกันขึ้นมา หรือการห้ามสั่งฆ่าสัตว์บางชนิด ก่อนพัฒนามาสู่การห้ามทำกิจกรรมทางเพศ

“เนื่องจากกิจกรรมทางเพศจะเป็นอุปสรรคสำหรับการล่าสัตว์ การล่าสัตว์ใหญ่ต้องใช้คนเยอะต้องทำงานกันเป็นกลุ่ม การประกอบกิจกรรมทางเพศจะทำให้สูญเสียกำลังคน มันส่งผลกับงาน”

ในแง่นี้ ความตายและการร่วมเพศจึงกลายเป็นข้อห้าม แต่อย่างที่เรารู้กันว่าทุกๆ ข้อห้ามมักมาพร้อมกับการละเมิด และการได้ละเมิดก็สร้างความความสุขให้แก่มนุษย์ กามารมณ์จึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นและสอดคล้องกับการพัฒนาอารมณ์ความรู้สึกข้างในของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

การอธิบายกามารมณ์ตามกรอบคิดของบาตาย ยังเชื่อมโยงถึงความรุนแรง (violence) และการล่วงละเมิด (violation) กล่าวคือความรุนแรงที่สุดสำหรับชีวิตหนึ่งคือ ‘ความตาย’ แม้แต่ในกามารมณ์เชิงศาสนาถึงที่สุดแล้วยังถูกมองว่าเป็นเรื่องของการสละชีวิต (sacrifice) ความรักที่เป็นส่วนประกอบของกามารมณ์เชิงอารมณ์จึงเป็นหนทางไปสู่ความรุนแรงและความตายได้ในท้ายที่สุด หรือกล่าวโดยสรุปคือ ความตายและกามารมณ์ในยุคหนึ่งมีโฉมหน้าแบบเดียวกัน


เราชนะความรักด้วยการไม่รักได้ไหม?

กิตติพลอธิบายว่าความรักสัมพันธ์กับเวลา สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นถ้าเราพูดถึงรูปแบบความรักในสังคมก่อนสมัยใหม่ (Premodernism) อาจเป็นความรักในพระเจ้า ความรักแบบที่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ แต่พอยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) ความรักสัมพันธ์กับปัจเจกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความรักในสังคมแบบเก่าอาจให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือน ‘ความรักของฉัน แต่มันคือหน้าที่ของพลเมือง คือหน้าที่ของคนที่อยู่ในครอบครัว ฉันทำเพื่อครอบครัว’ แต่ปัจจุบันเราสัมผัสได้ว่า ‘ความรักของฉัน ก็คือความรักของฉัน’ ความรักจึงมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นหลังโลกสมัยใหม่

แต่สำหรับคำถามที่ว่า – เรามีชีวิตโดยไม่รักเลยได้ไหม? กิตติพลตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดเราต้องรักตัวเราเองและต้องมีทางรอดสำหรับตัวเราเอง หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือต้องรักตัวกลัวตาย เพราะเรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่มากับชีวิต”


ทุนนิยมกับวิกฤตการณ์ของความรัก

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องที่กิตติพลยกขึ้นมาคือ คำอธิบายความรักในโลกสมัยใหม่ที่ อาแล็ง บาดียู (Alain Badiou) เจ้าของงานอันโด่งดังอย่าง In Praise of Love อธิบายว่า ความรักอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ เพราะความรักแท้กำลังจะตายไปจากโลกนี้ และถูกแทนที่ด้วย ‘ความรักแบบพาฝัน’ หรือที่เราเรียกว่า ‘romance’

“ความรักแบบพาฝันแตกต่างจากความรักแท้ๆ มันไม่ต้องการความเสี่ยง แต่ต้องการรักโดยไม่ต้องเจ็บปวด ตกหลุมรักโดยไม่ต้องตกหลุมรัก ไม่ต้องการความต่าง ไม่ต้องการความขัดแย้งเหมือนเราจะรักคนคนหนึ่งโดยที่ไม่ต้องการด้านลบเลย

“พูดง่ายๆ ว่าความรักแบบพาฝัน คือการขยายตัวเราแล้วเอาเซฟโซนไปยัดใส่ทุกอย่าง”

กิตติพลตั้งข้อสังเกตว่าถ้ามองแบบนักปรัชญา อันที่จริงแล้วความรู้สึกนี้คือ ‘ความหลงในตัวเราเอง’ ว่าเราสำคัญที่สุด เราจึงเอาตัวเองไปทาบซ้อนกับอีกคนหนึ่ง และถ้าคนอีกคนผิดไปจากมาตรฐานที่เราตั้งไว้ เช่น ไม่กินแกงเหลือง ไม่กินส้มตำปลาร้า ก็กลายเป็นว่าคนคนนี้ไม่เข้ากับเราแล้ว ซึ่งนี่ไม่ใช่รักแท้ในคอนเซ็ปต์ของบาดียู เพราะเขามองว่ารักแท้ คือลองกินส้มตำดูสิ ลองไปในที่ๆ ไม่อยากไป ลองดูสิว่ามันเป็นไปได้ไหม

“ความรักแบบพาฝันทำให้เราปฏิเสธลักษณะโดยทั่วไปของความรัก” กิตติพลกล่าว

ทั้งนี้ หนึ่งในลักษณะโดยทั่วไปของความรักคือความเสี่ยง ซึ่งกิตติพลหยิบยกคำอธิบายของฌอร์จส์ บาตายมาเล่าว่า

“ในเชิงศาสนาแล้ว ความรักในพระเจ้ามันแน่นอนเพราะพระเจ้าเป็นสิ่งเที่ยงแท้ แต่ความรักที่เยี่ยมยอดที่สุดก็คือความรักในสิ่งที่ไม่แน่นอน ความรักในสิ่งที่เสี่ยง เช่น ความรักในมนุษย์ด้วยกันซึ่งเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตาย พรุ่งนี้จะเปลี่ยนใจ แต่เราก็ยังรักในสิ่งที่ไม่แน่นอน มันจึงทำให้รู้สึกว่านี่คือธรรมชาติของความรัก”

ในทางตรงกันข้าม ในโลกปัจจุบันมีนักทฤษฎีจำนวนมากพยายามตั้งคำถามว่า ‘แล้วทำไมเราต้องเสี่ยง?’ ภาวะความ ‘ไม่อยากจะเสี่ยง’ จึงถูกอธิบายว่าเป็นความเจ็บป่วยของความรัก เพราะความรักโดยทั่วไปต้องไม่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม กิตติพลกล่าวว่าวันหนึ่ง การมีความรักแบบไร้ความไม่เสี่ยงอาจกลายเป็นความจริงก็ได้ ในเมื่อปัจจุบันเรามีอัลกอริทึมเป็นตัวช่วย เราอาจใช้ Tinder หาคนที่เหมือนเราแทนก็ได้ แล้วนักปรัชญาทั้งหลายก็อาจถูกมองโดยวัยรุ่นชาว woke ว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

อนึ่ง “ต้องบอกว่าทุนนิยมฉลาดมากในแง่ที่สามารถเปลี่ยนความรักเป็นสินค้าและการบริการ ถ้าเราต้องการความสัมพันธ์ก็มีแอปพลิเคชันต่างๆ ให้เรา โฆษณาว่าเราต้องเจอคนที่เข้ากับเราได้ หรือเป็นเนื้อคู่ของเราได้ ซึ่งเอาเข้าจริงมันขายสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมชาติความรัก คือคุณไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องเสียเวลาแต่คุณจะได้คนรักแน่นอนเพราะว่ามันแมตช์กัน”

สิ่งที่กิตติพลเน้นย้ำคืออย่าลืมว่าไม่มีอะไรการันตีด้วยซ้ำว่าการชอบอะไรคล้ายๆ กัน มันจะไปด้วยกันได้ ตรงนี้เป็นภาพของการโฆษณาในระบบทุนนิยมในเรื่องของความรัก ถ้าฟรีก็ไม่ว่ากัน แต่มันกลับสร้างผลกำไรมหาศาลจากตรงนี้ ซึ่งบางคนบอกว่าเวิร์ก แต่สำหรับนักปรัชญาบอกเลยว่าไม่เวิร์ก

หรือที่เหงา – เพราะเราสำคัญที่สุดในโลก?


เมื่อความเหงา – ความโดดเดี่ยว เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์

ต่อประเด็นเรื่องความเหงา กิตติพลกล่าวว่าการเป็นปัจเจกหรือการรู้ว่า ‘เราเป็นเรา เราไม่ใช่คนอื่น’ ทำให้เราแปลกแยกออกมาอยู่แล้ว แต่ในอดีตคนอาจไม่ได้มองว่ามันคือความเหงา อย่างน้อยมันทำให้รู้ว่าเราคือใคร สิ่งที่น่าสนใจคือในภาวะปัจจุบันที่เราเอาตัวเองเป็นภาพฉายไปยังสิ่งต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราสำคัญ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีใครเห็นว่าตัวเราสำคัญ เราจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว

“ผมมองว่ามันเป็นภาวะที่คุณควรจะเข้าใจแต่คุณไม่เข้าใจ ว่าจริงๆ แล้ว มนุษย์ก็เป็นแบบนี้แหละ”

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือความเหงากลายเป็นเนื้อเป็นหนังของเรา เพราะเราหลงตัวเองหรือเปล่า? คนทุกคนจำต้องมาประคบประหงมเราหรือเปล่า? ทำไมต้องให้คนอื่นมาแก้ไขปัญหาเรื่องความเหงาของเราเอง? หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เราเหงาเพราะเราสำคัญที่สุดในโลกหรือเปล่า?

ทั้งนี้ กิตติพลเข้าใจว่าสังคมเมืองปัจจุบันเอื้อให้เป็นเช่นนั้นด้วย สังคมที่ทำให้เราตัดขาดจากครอบครัวเดิม และจะไม่มีครอบครัวใหม่ ทุกอย่างมีต้นทุนทั้งการมีครอบครัว การเลี้ยงลูก ทุนนิยมจึงทำให้เราเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวง่าย และสุดท้ายมนุษย์ก็จะยังคงวนเวียนปวดหัวอยู่ความเหงา ความรัก เพิ่มเติมคือเรื่องเงินในที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save