fbpx
วิกฤตการณ์โคโรนา : ไวรัสทลายระบบโลก

วิกฤตการณ์โคโรนา : ไวรัสทลายระบบโลก

มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) เขียน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล

เมธิชัย เตียวนะ ภาพถ่าย | ยุทธภูมิ ปันฟอง ภาพประกอบ

วิกฤตการณ์โคโรนาก่อให้เกิดคลื่นกระแทกทะลุทะลวงทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สภาวะดั้งเดิมไม่มีทางดำเนินต่อไปได้อย่างแน่นอน

ไม่มีใครรู้ว่าโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้จะยาวนานยืดเยื้อถึงเมื่อไร ผู้คนจะล้มป่วยมากน้อยแค่ไหน อีกกี่ชีวิตที่โคโรนาไวรัสจะคร่าไป  แต่ผลพวงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากโรคระบาดเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว  มาตรการต่างๆ ที่ใช้หยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคกำลังสร้างความปั่นป่วนจนชีวิตสาธารณะทั่วโลกสะดุดหยุดเสียกระบวนกันหมด

หลังจากเริ่มต้นที่จีนแล้ว การผลิตก็หยุดนิ่งลงทีละประเทศ  ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแตกเป็นเสี่ยงๆ  ไม่ต้องอาศัยจินตนาการมากนักก็พอนึกเห็นภาพลูกคลื่นการล้มละลายกำลังโถมเข้าหาหลายอุตสาหกรรมที่ส่วนต่างทุกสตางค์มีความหมาย

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การโหมซื้อตุนสิ่งของด้วยความเสียขวัญกลายเป็นข่าวพาดหัวเกือบทุกสื่อ  กระนั้นก็ตาม ผู้บริโภคที่กำลังวิตกจริตมักประวิงการซื้อสินค้าที่เป็นเงินก้อนใหญ่ออกไป  เมื่อไรเกิดการขาดแคลน การบริโภคก็ลดฮวบลงตามไปด้วย  ความวุ่นวายนี้มีแนวโน้มจะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปที่ซบเซาอยู่แล้วชะลอตัวลงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ยังไม่ทันที่ประชาชนจะรู้สึกถึงผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่อย่างเต็มที่ แต่แรงกระแทกด้านเศรษฐกิจก็สร้างความวินาศสันตะโรให้แล้ว  นโยบายล็อกดาวน์ในแต่ละประเทศผลักไสให้แรงงานหลายล้านคนในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และไทย ไม่มีทางเลือกนอกจากกลับหมู่บ้านและประเทศบ้านเกิดเพื่อเอาชีวิตรอด  การทำเช่นนั้นยิ่งซ้ำเติมโอกาสเสี่ยงที่ไวรัสจะแพร่ระบาดเข้าสู่ซอกหลืบพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญและยากจนที่สุด  ในขณะเดียวกัน อุปสงค์ของผู้บริโภคที่หดหายไปในพริบตาส่งผลให้สินค้าแบรนด์เนมระดับโลกต้องยกเลิกคำสั่งผลิต ผลเสียตกหนักแก่ผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่อย่างบังกลาเทศหรืออินเดีย  การจำกัดการเคลื่อนไหวในประเทศ การสั่งปิดท่าเรือสำคัญและเครือข่ายขนส่งในจีนชั่วคราว ส่งผลกระทบเป็นระลอกๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก  เมื่อขาดวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ ผู้ผลิตในมาเลเซียหรือเกาหลีใต้ก็จำต้องหยุดการผลิตและลอยแพแรงงาน  การค้าตามชายแดน เช่น ระหว่างเมียนมากับจีน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน  อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พังทลายลงส่งผลร้ายต่อประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

อุปสงค์จากจีนที่ทรุดตัวลงอย่างกะทันหันสั่นสะเทือนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์  สร้างความเสียหายต่อผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย  ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์บางประเทศ เช่น มองโกเลีย ซึ่งพึ่งพิงตลาดจีนสูงมาก กำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด  หลังจากองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียในการลดปริมาณการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ  ซาอุดิอาระเบียก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์และทุ่มตลาดด้วยน้ำมันราคาถูก  ผลลัพธ์ที่ตามมาคือราคาน้ำมันดิ่งลงเป็นประวัติการณ์  ในระยะสั้น เรื่องนี้อาจเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความยากลำบากให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค  อย่างไรก็ตาม สงครามราคาน้ำมัน ความหวาดกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความหายนะในตลาดพันธบัตร ส่งผลให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรง กระทั่งธนาคารกลางของทุกประเทศที่เป็นหัวเรือใหญ่ทางเศรษฐกิจต้องออกมาแทรกแซงอย่างหนัก จึงพอปัดเป่าไม่ให้เกิดภาวะการเงินตึงตัวจนกระทั่งบัดนี้

ผลกระทบของ COVID-19 ร้านอาหารปิด

การตอบโจทย์เศรษฐกิจ

บางประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี รีบออกมาตรการชุดใหญ่หลากหลายชุดเพื่อรองรับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังตั้งเค้า  หลังจากโลเลบ้างในช่วงเริ่มแรก สหรัฐอเมริกาก็เริ่มวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬาร รวมทั้งวิธีการที่ไม่เคยทำมาก่อน อาทิ การแจกเงิน  ประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น ไทย อินเดีย หรืออินโดนีเซีย เริ่มมีมาตรการกระตุ้นออกมาเป็นชุดแล้ว กระนั้นก็ตาม ประเทศเหล่านี้ไม่มีฐานะการคลังดีพอแก่การติดตั้งโครงข่ายรองรับทางสังคมที่คุ้มครองทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงธุรกิจรายเล็ก รายกลาง ตลอดจนฟรีแลนซ์และแรงงานทั่วไป แบบที่ประเทศมั่งคั่งร่ำรวยกว่าสามารถทำได้  ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มประเทศยากจนด้อยพัฒนา แม้แต่คิดก็ยังคิดไม่ได้ด้วยซ้ำ

มาตรการเฉพาะหน้าเหล่านี้และอื่นๆ ที่จะตามมาเพียงพอต่อการหยุดยั้งภาวะเศรษฐกิจขาลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้กัดกร่อนระบบลึกซึ้งแค่ไหน  ในอดีตที่ผ่านมา ภายหลังการเกิดโรคระบาดทั่วไป เศรษฐกิจมักตกต่ำอย่างแรงชั่วระยะสั้นๆ จากนั้นก็ดีดตัวกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  ส่วนวิกฤตการณ์โคโรนาจะเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ตัวแปรที่สำคัญไม่น้อยก็คือโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้จะยืดเยื้อนานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าวิตกกว่าคือคลื่นกระแทกที่กำลังซัดใส่ระบบการเงินที่ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่แล้ว  มันยิ่งเร่งความเร็วให้แนวโน้มระยะยาวอันน่ากังวล  ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนอเมริกันจำนวนมากเต็มไปด้วยหนี้สินรุงรัง  ในจีน ภาคธนาคารเงาหรือกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารปกติแต่มีบทบาทในภาคการเงิน กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแต่มีความตึงตัวภายใต้ภาระหนี้  กลุ่มธนาคารยุโรปยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินครั้งก่อนด้วยซ้ำ  ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายในอิตาลีอาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์เงินยูโรบานปลายเป็นวงกว้างอีกครั้ง  อาการที่นักลงทุนหนีไปหาความปลอดภัยจากพันธบัตรรัฐบาลคือดัชนีบ่งบอกความกลัวลึกๆ ว่า ระบบอันง่อนแง่นเหล่านี้จะพังทลายลงในไม่ช้า  วิกฤตการณ์โคโรนาอาจจุดชนวนปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ลงเอยด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลก

กระนั้นก็ตาม ครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ปี 2008  ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันไม่อยู่ในสถานะที่จะกอบกู้อะไรได้  ทุกวันนี้ ดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ในอัตราต่ำเป็นประวัติการณ์  ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดโดยตรงผ่านทางธุรกรรมซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์  คริสตีน ลาการ์ด ประธานคนใหม่ของธนาคารกลางยุโรป เริ่มต้นได้ไม่ดีเลยกับการตอบโจทย์วิกฤตการณ์ในยุโรป จนกระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรจะไม่มีความเหนียวแน่นอีกต่อไป  แต่สุดท้ายแล้ว ตอนนี้ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ ทั้งหมดก็แสดงให้เห็นความเด็ดเดี่ยวที่จะขวางต้านอาการตื่นตูมในตลาดด้วยการประสานพลังแทรกแซงทางการเงิน แต่คำถามสำคัญที่สุดก็คือ โลกจะสามารถก้าวพ้นวิกฤตการณ์โคโรนาด้วยชุดเครื่องมือนโยบายการเงินแค่นั้นหรือ  คำตอบที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับลักษณะของวิกฤตการณ์ครั้งนี้

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โล่ง

ระบอบประชาธิปไตยต้องตอบโจทย์ให้ได้

เนื่องจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ได้จำกัดแค่ด้านเศรษฐกิจ  ความสามารถของรัฐในการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของพลเมืองตนเองจึงถูกทดสอบด้วย  อีกทั้งเดิมพันก็มิใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นการพิสูจน์ความชอบธรรมในระดับรากฐานของเลวีอาธานหรืออสูรรัฐชาติ

ในระบอบอำนาจนิยมของยูเรเซีย ประเด็นหลักคือความชอบธรรมของผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาด  ข้ออ้างในการครองอำนาจของผู้นำประเภทนี้ตั้งอยู่บนคำมั่นสัญญาที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “เราจะคุ้มครองท่าน”  ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเข้าใจประเด็นนี้ดี  ดังนั้นจึงใช้มาตรการเข้มงวดหนักข้อเพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตาม ผู้นำแบบเดียวกันในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และบราซิล กลับจัดการควบคุมโรคอย่างเหยาะแหยะ จนแม้แต่ฐานเสียงที่สนับสนุนตนเองก็หันมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง  อนึ่ง อำนาจหลายประการที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศภาวะฉุกเฉินอาจถูกนำมาใช้กดทับปราบปรามประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และใครจะบอกได้ว่าหลังจากวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลอำนาจนิยมเหล่านี้จะยกเลิกเพิกถอนมาตรการเข้มงวดหนักข้อที่นำมาใช้ในวันนี้?

“โรคระบาดใหญ่ในระดับนานาชาติจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับโลก ทว่าจนถึงบัดนี้ แต่ละประเทศต่างต่อสู้ดิ้นรนตามลำพัง”

คำถามก็คือในสายตาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ทำหน้าที่ได้สมกับคำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องอเมริกาจากภัยคุกคามภายนอกหรือไม่ เรื่องนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่กำลังมาถึง  ถึงแม้บริหารจัดการรับมือโรคระบาดใหญ่อย่างผิดพลาดให้เห็นทนโท่ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กลับได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น  คะแนนนิยมอาจแกว่งไปมาบ้าง แต่ไม่ฮวบฮาบ  ในช่วงวิกฤตการณ์ ประชาชนมักแสดงพลังสนับสนุนผู้นำไว้ก่อน

ในขณะที่วิกฤตการณ์โคโรนาอาจทำให้ประชาชนผิดหวังต่อนักการเมืองประชานิยมในรัฐบาล แต่มันอาจเป็นจังหวะที่นักการเมืองจำพวกเดียวกันในฝ่ายค้านตั้งตารอก็เป็นได้  ในสายตาของพลเมืองจำนวนมาก รัฐประชาธิปไตยหมดน้ำยาแล้วตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 และ 2015  การใช้นโยบายรัดเข็มขัดมานานหลายทศวรรษและการที่ระบบดูแลสุขภาพถูกตัดงบประมาณจนเหลือแค่ขั้นต่ำสุด ทำให้โครงสร้างรัฐกลวงเปล่าไร้ความสามารถ  ประชาชนจำนวนไม่น้อยวิตกว่าประเทศชาติของตนยังมีศักยภาพพอที่จะรับมือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ได้อีกหรือไม่  ในหลายประเทศ ความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชนเริ่มหันไปต่อต้านการเคลื่อนย้ายเงิน สินค้า และผู้คนอย่างเสรี

ชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่พรั่นใจมานานแล้วว่าตนอาจตกอยู่ข้างฝ่ายผู้แพ้ในระบบโลกาภิวัตน์และเงินยูโร  ตอนนี้พวกเขาต้องเผชิญทั้งมาตรการฉุกเฉิน ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ แล้วยังมีวิกฤตการณ์ผู้อพยพซ้ำเติมด้วย  มัตเตโอ ซัลวินี นักการเมืองประชานิยมปีกขวาจากแคว้นลอมบาร์ดี ไม่ใช่คนเดียวที่รู้จักฉวยใช้ส่วนผสมของ “พรมแดนเปิด ชาวต่างชาติอันตราย ชนชั้นนำฉ้อฉล และรัฐปวกเปียก” มาปรุงเป็นยาพิษ  อย่าพลาดเชียว ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมในยุโรปตะวันตกกำลังถูกจับผิด  ท่ามกลางการแข็งข้อของนักการเมืองประชานิยมปีกขวา ฝ่ายประชาธิปไตยต้องพิสูจน์ให้ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ว่าพวกเขาก็มีความสามารถและคุ้มครองชีวิตของพลเมืองทุกคนได้

แต่รัฐจำกัดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้ถึงขีดขั้นไหน?  ภาวะฉุกเฉินควรยาวนานแค่ไหน?  สังคมตะวันตกจะทนมาตรการเข้มงวดหนักข้อแบบที่ใช้ในจีนไหวหรือเปล่า?  พวกเขาควรให้ความสำคัญอันดับแรกแก่ส่วนรวมเหนือกว่าปัจเจกบุคคลแบบชาวเอเชียตะวันออกไหม?  อัตราการแพร่ระบาดของโรคจะชะลอช้าลงได้อย่างไรถ้าพลเมืองไม่ยึดตามคำแนะนำของ “การเว้นระยะห่างทางสังคม”?  และการสร้างสมานฉันท์ร่วมแรงร่วมใจในหมู่ประชาชนจะมีความหมายอะไรถ้าสิ่งเดียวที่เราทำได้คือการแยกตัวออกจากกัน?

ตำรวจ เซ็นทรัลเวิล์ด

ประเทศใครประเทศมัน

โรคระบาดใหญ่ในระดับนานาชาติจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับโลก  ทว่าจนถึงบัดนี้ แต่ละประเทศต่างต่อสู้ดิ้นรนตามลำพัง  แม้กระทั่งในยุโรปก็ไม่มีความสมานฉันท์ร่วมมือกัน  ดังเช่นในวิกฤตการณ์ค่าเงินยูโรและวิกฤตการณ์ผู้อพยพ อิตาลีรู้สึกมากเป็นพิเศษว่าเพื่อนสมาชิกชาติอื่นทอดทิ้งตนไปตามยถากรรม  จีนฉลาดพอที่จะฉวยโอกาสในจังหวะที่ยุโรปขาดความสมานฉันท์และส่งเครื่องบินบรรทุกเวชภัณฑ์เต็มลำไปให้อิตาลี ซึ่งเป็นประเทศหุ้นส่วนของตนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือที่บางทีเรียกว่าโครงการเส้นทางสายไหมใหม่  ในขณะเดียวกัน เบอร์ลินเริ่มตระหนักถึงมิติเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของทวิวิกฤตการณ์ครั้งนี้ กล่าวคือ ปัญหาโคโรนาไวรัสและผู้อพยพ  เบอร์ลินชักกังวลว่ามหาอำนาจจากภายนอกจะพยายามเข้ามาแทรกแซงแบ่งแยกยุโรป  จึงมีการผ่อนคลายคำสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์อีกครั้งและอิตาลีได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินในรูปของหน้ากากอนามัยหนึ่งล้านชิ้น  ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ มีการงดเว้นสนธิสัญญาว่าด้วยความมีเสถียรภาพของยุโรป (European Stability Pact) เป็นการชั่วคราว เพื่อให้อิตาลีมีช่องหายใจด้านการคลังมากพอต่อการกอบกู้เศรษฐกิจในประเทศ  กระนั้นก็ตาม ดังที่วิวาทะอย่างเผ็ดร้อนเต็มไปด้วยอารมณ์คุกรุ่นเกี่ยวกับยูโรบอนด์ที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โคโรนาบอนด์” แสดงให้เห็น วิกฤตการณ์ด้านความสมานสามัคคีกำลังสั่นคลอนรากฐานของยุโรปอย่างรุนแรง

วิกฤตการณ์ครั้งนี้เป็นบททดสอบความอดทนอีกครั้งสำหรับความเป็นหุ้นส่วนภาคพื้นแอตแลนติกที่ง่อนแง่นอยู่แล้ว  การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่นำพาสหรัฐอเมริกาแยกตัวจากพันธมิตรในยุโรป โดยไม่ปรึกษาหารือใดๆ ทั้งสิ้น คือการส่งสัญญาณอย่างชัดเจน  การที่สหรัฐอเมริกาพยายามทุ่มเงินซื้อบริษัทยา CureVac ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองทือบิงเงิน เพื่อให้สหรัฐอเมริกาครอบครองสิทธิ์การเข้าถึงวัคซีนเพียงผู้เดียว ถึงขนาดบานปลายกลายเป็นข้อพิพาทร้อนแรงกับเบอร์ลิน  การประสานความร่วมมือใดๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยกันคงเกิดขึ้นได้ยากภายใต้สภาพการณ์แบบนี้  ในตะวันตก คำพังเพยที่บรรยายสถานการณ์จนถึงตอนนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็น “ต่างคนต่างเอาตัวรอด”

ในระดับโลก ความขัดแย้งใหม่ๆ ระหว่างประเทศมหาอำนาจยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์ให้เลวร้ายกว่าเดิม โดยเฉพาะสงครามราคาน้ำมันที่เกิดจากแรงจูงใจด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ  ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียทำให้ต้องตั้งคำถามว่าองค์การผูกขาดน้ำมันอย่างโอเปกจะไปรอดหรือไม่  ผู้พ่ายแพ้รายใหญ่ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ สุดท้ายแล้วน่าจะเป็นอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดานหรือ shale oil ของสหรัฐอเมริกาที่มีภาระหนี้สินล้นพ้น  ดังนั้น ถ้าราคาหน้าปั๊มน้ำมันถูกลงเป็นลาภอันน่ายินดีจริงอย่างที่ประธานาธิบดีอเมริกันให้สัญญาไว้ คราวนี้ก็ขึ้นกับใครจะอึดได้นานที่สุดจนเอาตัวรอดผ่านสงครามแห่งการเสียดทานครั้งนี้ไปได้  อย่างไรก็ตาม ทั้งรัสเซียและซาอุดิอาระเบียต่างก็มีผลประโยชน์ที่อยากเบียดขับคู่แข่งอเมริกันที่ลงทุนด้วยเงินกู้ให้หลุดจากวงโคจรเต็มแก่

ผลลัพธ์ของสงครามราคาน้ำมันจะลงเอยแบบไหนก็ตาม ดุลอำนาจในตลาดค้าน้ำมันจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่แน่นอน  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “จุดผลิตน้ำมันสูงสุด” (peak oil) ซึ่งวิวาทะกันมาอย่างดุเดือดหลายทศวรรษ คงมาถึงจุดหักเหที่น่าสนใจเช่นกัน  ในท้ายที่สุด สิ่งที่ตีตราความเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมน้ำมันอาจไม่ใช่ปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดน้อยถอยลง  หากราคาน้ำมันถูกลงตลอดไป การขุดเจาะแหล่งน้ำมันที่เหลืออยู่อาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกแล้ว  เป็นไปได้ไหมที่ความขัดแย้งในเชิงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจกลับกลายเป็นตัวการปิดฉากยุคฟอสซิลลงง่ายๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ?

วิกฤตการณ์นี้ยังเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนคุโชนยิ่งขึ้น  ในวอชิงตันมีฉันทมติจากทั้งสองพรรคออกมาสักพักแล้วว่า ควรงัดเศรษฐกิจของอเมริกาให้แยกออกจากจีน เพื่อมิให้การป้อนเงินและเทคโนโลยีแก่ปักกิ่งกลายเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่คู่แข่งในการครองความเป็นใหญ่ระดับโลก  สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็คือ บริษัทต่างๆ ที่เกาะกระแสโลกาภิวัตน์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแหล่งผลิตชิ้นส่วนของห่วงโซ่อุปทานในชั่วข้ามคืน  บรรษัทเหล่านี้จะหวนคืนประเทศจีนอีกครั้งเมื่อวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าสิ้นสุดลงหรือไม่?  ผู้บริหารภาคธุรกิจต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่า จะดีหรือหากเพิกเฉยต่อคำสั่งจากวอชิงตันที่ให้เคลื่อนย้ายฐานการผลิตด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์การเมือง  เรื่องนี้อาจเป็นโอกาสดีครั้งใหญ่สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ เช่น เวียดนามหรืออินเดีย

แล้วบริษัทของยุโรปจะปรับเปลี่ยนสถานะของตนอย่างไรเมื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์ หลังจากเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่าการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากจีนมากเกินไปมีต้นทุนสูงขนาดไหน?  ในระหว่างเกิดข้อพิพาทว่าควรกีดกันบริษัท Huawei ของจีนจากการขยายโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในยุโรปหรือไม่ ชาวยุโรปได้ลิ้มรสแล้วว่าแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาหนักหน่วงเข้มข้นขนาดไหน  วิกฤตการณ์โคโรนาอาจยิ่งเร่งกระบวนการที่ดำเนินมาแล้วระยะหนึ่ง นั่นคือ การลดทอนโลกาภิวัตน์  ผลที่จะตามมาก็คือ การแบ่งงานกันทำในระดับโลกอาจแตกสลายลงเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจ (economic blocs) แทน  กลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจอาจรวมตัวกันโดยมีรัฐผู้นำในภูมิภาคนั้นๆ เป็นแกนกลาง กำจัดคู่แข่งที่ตนไม่ต้องการผ่านข้ออ้างเรื่องความไม่สอดคล้องกันของบรรทัดฐานและมาตรฐาน แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยี และระบบการติดต่อสื่อสาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบปิดและอุปสรรคกีดกันการเข้าถึงตลาด

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังพยายามปีนไต่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกจะถูกทิ้งไว้ตรงไหน?  ช่วงจังหวะแห่งการไล่กวดทางอุตสาหกรรมผ่านเลยไปแล้วหรือไม่?  ประเทศอย่างบังกลาเทศ เมียนมา หรือปากีสถาน จะจัดหาการดำรงเลี้ยงชีพให้แรงงานหลายร้อยหลายพันคนได้อย่างไรถ้าสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในตลาดใกล้บ้านมากขึ้น?  ประเทศรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทยหรือมาเลเซียจะไต่ระดับขึ้นไปบนห่วงโซ่มูลค่าระดับโลกได้อย่างไรหากห่วงโซ่นี้ถูกตัดขาดด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์การเมือง?  หากขาดทางเลือกในเชิงยุทธศาสตร์ ลงท้ายแล้วประเทศเหล่านี้อาจเปราะบางต่อแรงกดดันจากพี่เบิ้มมหาอำนาจในภูมิภาคยิ่งกว่าเดิมก็ได้

ฟุตบาทถนนราชดำเนิน

เพียงชั่วข้ามคืน ยุคเสรีนิยมใหม่ก็ถึงกาลสิ้นสุด

จู่ๆ ทุกสิ่งก็เกิดขึ้นรวดเร็วมาก  ภายในไม่กี่ชั่วโมง เงินก้อนมหาศาลถูกอัดฉีดเข้าไปในตลาด ชนิดที่เปรียบเทียบกันแล้ว คำสัญญาแบบ “ก้าวหน้าถึงรากถึงโคน” ของเบอร์นี แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพรรคเดโมแครต ดูเหมือนแค่เงินติดกระเป๋าไปเลย  ไม่กี่วันนี้เอง บรรดานักการเมืองเยอรมันเพิ่งเดือดดาลเพียงเพราะถ้อยคำรำพึงแบบปัญญาชนของเควิน คูแนร์ต นักการเมืองหนุ่มสายสังคมนิยม มาตอนนี้พวกเขาหันมาพิจารณาการโอนกิจการธุรกิจให้เป็นของรัฐกันอย่างจริงจัง  ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่เคยถูกไยไพว่าเป็นแค่ความฝันไร้เดียงสาของเด็กๆ ตอนนี้กลายเป็นความจริงอันน่าเศร้า  การจราจรทางอากาศทั่วโลกชะลอตัวลงจนหยุดนิ่ง  พรมแดนที่เคยคิดว่าปิดไม่ได้ในวิกฤตการณ์ผู้อพยพ ตอนนี้ปิดตายกันจริงจัง  แม้กระทั่งนักการเมืองสายอนุรักษนิยมอย่างผู้ว่าการรัฐบาวาเรีย มาร์คุส เซอเดอร์ ยังยอมโยนลัทธิบูชางบประมาณสมดุลแบบชาวเยอรมันทิ้งไป พร้อมกับประกาศว่า “เราจะไม่ยอมให้ตัวเลขทางบัญชีมาชี้นำเรา แต่เราจะดำเนินการตามความจำเป็นของเยอรมนี”

ยุคเสรีนิยมใหม่ที่ผลประโยชน์ของตลาดสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมกำลังถึงจุดสิ้นสุด  แน่นอน มาตรการทั้งหมดเกิดขึ้นสืบเนื่องจากภาวะฉุกเฉิน  กระนั้นก็ตาม พลเมืองจะยังจดจำเรื่องนี้หากถูกประกาศใส่หน้าอีกว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” ในอนาคตอันใกล้  พร้อมกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โลกการเมืองที่จำศีลมานานเริ่มขยับเคลื่อนไหว  หลังจากลัทธิเสรีนิยมใหม่สร้างข้อกังขาแคลงใจเกี่ยวกับรัฐมานานถึงสี่ทศวรรษ ข้อเท็จจริงที่ลืมเลือนกันไปนานแล้วผุดกลับขึ้นมาฉายชัดอีกครั้ง นั่นคือ รัฐชาติยังมีอำนาจในด้านบวกอีกเหลือล้น ถ้าเพียงเต็มใจจะงัดออกมาใช้

“วิกฤตการณ์โคโรนาเปรียบเสมือนการทดสอบภาคสนามครั้งใหญ่ ผู้คนหลายล้านคนกำลังทดลองหนทางใหม่ในการจัดการชีวิตประจำวัน”

วิกฤตการณ์โคโรนาเปรียบเสมือนแสงสปอตไลท์ส่องให้เราเห็นรอยแยกทางภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ อุดมการณ์ และวัฒนธรรมในยุคสมัยของเรา  รอยแตกในโครงสร้างมหึมานี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการแตกสลายของยุคสมัยหรือเปล่า? ยุคโลกาภิวัตน์ติดเทอร์โบจะถึงกาลสิ้นสุดลงด้วยการแตกตัวออกเป็นกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจใหญ่ๆ หรือไม่?  สงครามราคาน้ำมันคือการประกาศจุดจบของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลหรือเปล่า?  ระบบการเงินโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ระบอบแบบใหม่หรือไม่?  คทาของผู้ค้ำยันระบบกำลังเปลี่ยนมือจากสหรัฐอเมริกาไปที่จีนหรือเปล่า หรือเรากำลังเผชิญกับการแตกตัวกลายเป็นโลกหลายขั้ว?

เรื่องที่แน่นอนก็คือ โคโรนาไวรัสอาจทำให้แนวโน้มหลายอย่างที่ซุกซ่อนมานานทะลวงกรอบทลายกรงออกมาเสียที  พัฒนาการทั้งหลายทั้งปวงนี้กำลังส่งอิทธิพลแก่กันและกันด้วยความเร็วอย่างน่าใจหาย  ความซับซ้อนนี้ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะหยั่งลึกยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2008  โรคระบาดครั้งใหญ่อาจเป็นสายชนวนที่กำลังลุกไหม้บนถังดินระเบิดของวิกฤตการณ์ระบบโลก

การเรียกร้องของประชาชนต่อรัฐบาลเผด็จการ

หน้าต่างสู่อนาคตเปิดกว้าง

วิกฤตการณ์โคโรนาเปรียบเสมือนการทดสอบภาคสนามครั้งใหญ่  ผู้คนหลายล้านคนกำลังทดลองหนทางใหม่ในการจัดการชีวิตประจำวัน  นักธุรกิจที่เคยเดินทางเปลี่ยนจากเครื่องบินหันมาใช้การประชุมทางไกลผ่านวีดิทัศน์  อาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังจัดสัมมนาออนไลน์  พนักงานทำงานจากบ้าน  บางคนคงกลับไปหาแบบแผนเดิมๆ หลังวิกฤตการณ์ผ่านพ้น  แต่อีกหลายคนเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวว่า วิธีการทำงานแบบใหม่ไม่เพียงใช้การได้ดี แต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตครอบครัวมากกว่าด้วย  เราต้องอาศัยช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนเสียกระบวนนี้ นั่นคือ การมีประสบการณ์แบบฉับพลันต่อสภาวะที่ลดอัตราเร่งของชีวิตลง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระยะยาวที่เป็นคุณแก่การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

เจเรมี วอร์เนอร์ นักสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษ สรุปทัศนะแบบเสรีนิยมใหม่ที่มีต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างเจ็บแสบว่า “จากมุมมองทางเศรษฐกิจที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว โควิด-19 อาจมีคุณประโยชน์อยู่บ้างในระยะยาวตรงที่ช่วยลดประชากรสูงอายุที่เป็นภาระลงเยอะแยะ [ประชด!]”  ตรงกันข้ามกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ประชาชนกลับพบเห็นกระแสความสามัคคีเกิดขึ้นในย่านที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และภายในแวดวงเพื่อนฝูง  ครั้งล่าสุดที่เครื่องจักรทุนนิยมต้องหยุดชะงักลงเพื่อปกป้องคนแก่และคนป่วยคือเมื่อไร?  เราสามารถสร้างสังคมที่เหนียวแน่นกว่าเดิมอีกครั้งจากประสบการณ์ความสมานฉันท์ครั้งนี้  ถ้าเราสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ร่วมกัน เราจะสร้างสัญลักษณ์ที่บ่งบอกรุ่งอรุณของยุคใหม่ นั่นคือ ชุมชนที่ประสานสามัคคีกันย่อมพร้อมเผชิญทุกอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาที่มีต่อวิกฤตการณ์ก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน  ทั่วโลกต่างปิดพรมแดน ยกเลิกวีซ่า และมีคำสั่งห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ  จำนวนคำสั่งซื้อหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์บ่งชี้ว่า ห่วงโซ่การผลิตจะได้รับการเสริมสร้างให้ยืดหยุ่นทนทานต่อการพังทลายมากขึ้นด้วยการก้าวกระโดดสู่ระบบอัตโนมัติมากขึ้น  ระบบอัตโนมัติดิจิทัลอาจทำลายความหวังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่พร้อมจะแสวงหาความได้เปรียบจากจุดต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก  กระทั่งทุกวันนี้ ตามโรงงานของผู้ผลิตข้ามชาติในอินเดียหรือเวียดนามก็ใช้หุ่นยนต์กันอย่างคึกคักแล้ว  การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่พยายามกระจายห่วงโซ่อุปทานออกไปอาจช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มันอาจเป็นการเติบโตที่ไร้ตำแหน่งงานสำหรับมนุษย์

ในประเทศตะวันตก แนวโน้มเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามที่เร่งวังวนของการสูญเสียตำแหน่งงาน ความหวาดกลัวต่อการกีดกันทางสังคม ความโกรธแค้นต่อผู้อพยพ และการลุกฮือทางการเมืองเพื่อต่อต้านสถาบันของสังคมเสรีนิยม

ฟิลิปป์ เลอเกรน นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม กล่าวเตือน อย่างถูกต้องว่า “วิกฤตการณ์โคโรนาไวรัสคือลาภลอยทางการเมืองสำหรับนักชาตินิยมและนักกีดกันทางการค้า  มันตอกย้ำทัศนคติว่าชาวต่างชาติคือภัยคุกคาม มันเน้นย้ำว่าประเทศที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์ไม่สามารถพึ่งพิงเพื่อนบ้านและขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรใกล้ชิดได้เสมอไป”  เราต้องไม่ปล่อยให้ฝ่ายขวาตีความวิกฤตการณ์นี้จนเข้าทางนักการเมืองประชานิยมปีกขวา  คำตอบต่อปัญหาท้าทายระดับโลกต้องไม่ใช่การแยกตัวโดดเดี่ยวและความเห็นแก่ประโยชน์ของชาติตนเท่านั้น แต่ควรเป็นความสมานฉันท์และความร่วมมือระหว่างประเทศต่างหาก  อย่าปล่อยให้เหมือนวิกฤตการณ์ปี 2008  ฝ่ายก้าวหน้าพ่ายแพ้อีกไม่ได้แล้วในสมรภูมิการตีความว่าเกิดอะไรขึ้นและต้องแก้ไขอย่างไร  ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ฐานรากของระเบียบโลกใหม่จะปักหลักลงแล้ว  เราต้องทำทุกอย่างให้แน่ใจว่าเราจะเป็นผู้กำกับทิศทางการถกเถียงว่าฐานรากนั้นควรมีหน้าตาอย่างไร

เรียกร้องรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน

รัฐประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่าเดิมพึงผุดบังเกิด

ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว เพิ่งเคยประสบพบเจอภาวะฉุกเฉินระดับชาติเป็นครั้งแรก  ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน เสรีภาพของพวกเขาถูกจำกัดในระดับที่คิดฝันไม่ถึงมาก่อน  ไม่เฉพาะในจีนเท่านั้น แต่ในใจกลางยุโรป มีการใช้เทคโนโลยีสอดส่องตรวจตราและกำกับพฤติกรรมของพลเมืองอย่างขนานใหญ่  ดังที่ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ให้บทเรียนเรามาแล้ว กฎข้อบังคับในภาวะฉุกเฉินจำนวนมากที่บังคับใช้ตอนนี้จะยังบังคับใช้ต่อไปหลังจากวิกฤตการณ์สิ้นสุดลง  เราไม่ต้องใช้อะไรมากนักก็พอสำเหนียกได้ถึงวาระซ่อนเร้นเบื้องหลังในการทำให้ภาวะฉุกเฉินกลายเป็นภาวะปกติ เพื่อบีบให้ปัจเจกบุคคลเชื่องเชื่อต่อระบบทุนนิยมที่ฉวยโอกาสในภาวะภัยพิบัติ ดังที่จอร์โจ อากัมเบน และนาโอมี ไคลน์ ชี้ให้เห็นมาแล้ว  อย่างไรก็ตาม เราต้องปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของเรามิให้ถูกบ่อนเบียนไปอย่างถาวร  ในเอเชียซึ่งประสบภาวะถดถอยย้อนกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยมตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มเช่นนี้ยิ่งน่าวิตกกว่าเดิม

สลาวอย ชิเชค พูดตรงเป้าที่สุดเมื่อเขาเตือนว่า ประชาชนคิดถูกแล้วที่มองว่าอำนาจรัฐต้องรับผิดชอบ  “คุณมีอำนาจรัฐ ทีนี้แสดงให้ดูซิว่าทำอะไรได้บ้าง!  ความท้าทายของยุโรปคือการแสดงให้เห็นว่า ยุโรปสามารถทำอย่างที่จีนทำได้ด้วยวิธีการที่โปร่งใสและประชาธิปไตยมากกว่า”  ระบอบประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออก อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น สาธิตให้เห็นอย่างน่าประทับใจว่าพวกเขามีวิธีการปฏิบัติโดยไม่จำกัดเสรีภาพของพลเมืองจนเลยเถิด  วิธีการของพวกเขาน่าจะสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยตะวันตกมากกว่าวิธีการเข้มงวดดุดันแบบจีน  การบริหารจัดการวิกฤตการณ์อย่างได้ผลจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในรัฐประชาธิปไตยด้วย  ในทุกวิกฤตการณ์ ประชาชนมักเรียกร้องหารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำงานหนัก และปกปักคุ้มครองพลเมือง

“วิกฤตการณ์ระดับโลกได้ยกระดับความตระหนักรับรู้ว่า โลกาภิวัตน์ล้นเกินสร้างความเปราะบางแก่เราอย่างไรบ้าง ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันหมด โรคระบาดใหญ่สามารถแพร่กระจายข้ามพรมแดนด้วยความเร็วสูง”

หลังจากใช้นโยบายรัดเข็มขัดมาหลายปีและตัดลดระบบดูแลสุขภาพจนเหลือแค่ขั้นพื้นฐานที่สุด  ตอนนี้เราต้องทุ่มเททุกความพยายามเพื่อหนุนให้ระบบนี้รับมือผู้ป่วยจำนวนมากให้ได้  การปิดคลินิกเทศบาล ปัญหาเรื้อรังของการมีเจ้าหน้าที่พยาบาลไม่เพียงพอ และอุปกรณ์ด้านเทคนิคอยู่ในสภาพย่ำแย่ ปัญหาเหล่านี้กำลังย้อนมาสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง  ในประเทศไทย โรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่   มีสักกี่ครั้งที่เสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการแปรรูประบบดูแลสุขภาพเป็นเอกชนจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนท่วมท้นขนาดนี้  เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ สเปนรีบโอนโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสุขภาพของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐทันที  ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดีตั้งคำถามตรงๆ ถึงคุณประโยชน์ของการแปรรูปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่และให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่น  ในเยอรมนีเช่นกัน เริ่มมีวิวาทะว่าการปล่อยให้ชีวิตสังคมของเราอยู่ภายใต้การชี้นำของตลาดเป็นเรื่องรอบคอบจริงๆ หรือเปล่า  ในอนาคต จุดเน้นหลักของบริการสาธารณะต้องไม่ใช่เพื่อกำไรที่เป็นผลประโยชน์ของบุคคลคนใดอีกต่อไป แต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

การสร้างบริการสาธารณะขึ้นมาใหม่ต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้าน  นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลยืนยันว่า กฎหมายหยุดหนี้ (Debt Brake) ตามรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับในสถานการณ์ยกเว้นเช่นนี้ “ดุลงบประมาณจะออกมาหน้าตาเช่นไรตอนปลายปีไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับเราในตอนนี้”  ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลเยอรมันกำลังให้การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแบบหว่านแหชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ครอบคลุมประชาชนทุกคน ตั้งแต่ผู้จ้างงานตัวเองรายย่อย ฟรีแลนซ์ จนถึงบรรษัทใหญ่  “เราจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้คำรับรองเป็นมั่นเหมาะ อัลท์ไมเออร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจประกาศว่า กรอบการสร้างหลักประกันที่มีมูลค่ารวมถึงครึ่งแสนล้านยูโรเป็นแค่มาตรการเริ่มต้นเท่านั้น

เมื่อตกอยู่ในวิกฤตการณ์ เราทุกคนก็กลับมาเป็นสาวกสำนักเคนเซียนกันอีกครั้ง ทว่าอย่าให้ซ้ำรอยช่วงหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 เราต้องไม่ยอมหันกลับไปใช้นโยบายรัดเข็มขัดภายหลังวิกฤตการณ์อีก  หลังจากใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินการคลังมาหลายทศวรรษ บริการสาธารณะจำนวนมากถูกตัดลดงบประมาณจนแทบไม่เหลืออะไร ทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา การปกครองท้องถิ่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง กองทัพเยอรมันและตำรวจ  เพื่อต่อกรกับความกลัวของคนหมู่มากว่าสังคมจะสูญสิ้นระเบียบ เพื่อเตรียมเศรษฐกิจและสังคมให้พร้อมต่อการปฏิวัติดิจิทัล และเรื่องสุดท้ายที่มิใช่สำคัญน้อยที่สุด นั่นคือ เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในสัดส่วนมโหฬาร

กระนั้นก็ตาม อย่าได้ชะล่าใจ  หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ต้นทุนมหาศาลที่เกิดจากชุดมาตรการกอบกู้ต่างๆ ถูกผลักให้ตกเป็นภาระของสังคมส่วนรวมด้วยนโยบายรัดเข็มขัดอย่างโหดร้าย  ธนาคารกอบโกยเงินของผู้เสียภาษีไปสร้างความแข็งแกร่งให้หุ้นของตนในตลาด  ผลที่ตามมาก็คือ การรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรไว้ที่ยอดปิรามิดของสังคมกลับยิ่งเพิ่มอัตราเร่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ระบอบประชาธิปไตยและสังคมตะวันตกเท่านั้น แม้แต่ระบบเศรษฐกิจจริงก็ไม่มีทางเอาตัวรอดหากยังใช้นโยบายรัดเข็มขัดในทศวรรษต่อไป  เราต้องไม่ทอดทิ้งประเทศกำลังพัฒนาให้รับมือกับผลกระทบอันเลวร้ายของวิกฤตการณ์กับผลพวงด้านเศรษฐกิจตามยถากรรม  การช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศยุโรปเอง อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้อพยพอีกระลอก  ประการสุดท้ายแต่มิใช่สำคัญน้อยสุด โลกของเราไม่อาจทนต่อนโยบายรัดเข็มขัดอีกต่อไปแล้ว  การลงทุนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านสังคม-สิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการบรรเทาปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำทันที และอย่าปล่อยให้ต้นทุนของวิกฤตการณ์โคโรนามาเบียดขับประเด็นสำคัญนี้ตกไป  เราทุกคนต้องยืนหยัดร่วมกันในเรื่องนี้

ขบวนการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยช่วยเรารอดจากวิกฤตการณ์ได้

วิกฤตการณ์ระดับโลกได้ยกระดับความตระหนักรับรู้ว่า โลกาภิวัตน์ล้นเกินสร้างความเปราะบางแก่เราอย่างไรบ้าง  ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกันหมด โรคระบาดใหญ่สามารถแพร่กระจายข้ามพรมแดนด้วยความเร็วสูง  ห่วงโซ่อุปทานของโลกถูกบั่นทำลายง่ายเกินไป  ตลาดการเงินก็เปราะบาง  นักประชานิยมปีกขวาต้องการปิดพรมแดนและโดดเดี่ยวตัวเองจากโลก  แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องต่อปัญหาระดับโลก ทั้งในประเด็นโรคระบาด สงคราม การอพยพลี้ภัย การค้าและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  เป้าหมายของเราควรเป็นการแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของวิกฤตการณ์เหล่านี้ต่างหาก  เพื่อตอบโจทย์ให้ถูกต้อง ระบบเศรษฐกิจโลกต้องตั้งมั่นบนรากฐานที่ยืดหยุ่นและมีภูมิต้านทานมากกว่านี้

หลังจากวิกฤตการณ์โคโรนา ห่วงโซอุปทานของโลกถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว  ห่วงโซ่อุปทานที่มีระยะใกล้กว่าช่วยสร้างเสถียรภาพได้มากกว่า เช่น โรงงานผลิตของอเมริกันในเม็กซิโก และโรงงานผลิตของยุโรปในยุโรปตะวันออก  ในเชิงเทคโนโลยีนั้น ยุโรปต้องกลับมายืนด้วยตัวเองอีกครั้ง  เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจำเป็นต้องร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนาให้ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม  ระบบการเงินโลกซึ่งขาดผึงง่ายราวกับยึดโยงด้วยเทปกาว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบอย่างเร่งด่วน  ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกลางไม่มีปัญญาต้านทานกระแสเงินฝืดด้วยนโยบายทางการเงินเลย  ในช่วงวิกฤตการณ์ รัฐบาลที่ใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวกำลังหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ  ในทางการเมือง นี่หมายถึงการย้อนกลับไปหาตรรกะตั้งต้นของระบอบรัฐสภา นั่นคือหลักการของ “อย่ามาเก็บภาษีถ้าไม่มีผู้แทน”  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ระบบการเงินต้องกลับไปอยู่ภายใต้การควบคุมตามระบอบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากการพึ่งพิงกันและกันมากเกินไป  เราต้องบรรเทาความขัดแย้งเหล่านี้ด้วยบรรทัดฐานระหว่างประเทศและความร่วมมือแบบพหุภาคี  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ก็คือ ครั้งนี้ไม่มีการประสานความร่วมมือจากยี่สิบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด  การชิงดีชิงเด่นในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของมหาอำนาจคือสาเหตุหนึ่ง และอีกสาเหตุคือนักประชานิยมปีกขวาที่เรียกร้องหาการโดดเดี่ยวตัวเอง  ทั้งสองประการนี้คอยขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศที่ควรยกระดับมากขึ้น  องค์กรโลกาภิบาลพหุภาคีที่มีอยู่แล้วต้องได้รับการอุดหนุนเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้มากกว่าเดิม  เรื่องนี้สามารถเริ่มต้นด้วยการให้เงินทุนสนับสนุนแก่องค์การอนามัยโลกมากขึ้น และสานต่อด้วยการประชุม G20 เพื่อประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  ในเรื่องนี้ กลุ่มพันธมิตรเพื่อพหุภาคีนิยม (Alliance of Multilateralism) สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าความร่วมมือช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้ประชาชนตาสว่างในทันทีว่า สภาวะดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำเนินต่อไป  เสียงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิตส่วนรวมของเราจนถึงระดับรากฐานไม่เคยมีมากขนาดนี้มาก่อน  ในขณะเดียวกัน เราต้องไม่ปัดเป่าภัยตรงหน้าด้วยการจำกัดประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วน  อำนาจทางการเมืองแบบไหนเล่าที่สามารถไกล่เกลี่ยเพื่อบรรลุการประนีประนอมทางสังคมให้สัมฤทธิ์ผล?

เชอรี เบอร์แมน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ตั้งคำถามค้างคาใจไว้ว่า “นักสังคมนิยมประชาธิปไตยจะกอบกู้โลก (อีกครั้ง) ได้ไหม?”

เราจงลงมือทำให้มันเป็นจริง.

………………………

ผู้เขียน: มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) เป็นผู้อำนวยการแผนกเอเชียของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung : FES) เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำประเทศอินเดียและประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานโครงการ เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ ภูมิภาคเอเชีย  (Economy of Tomorrow in Asia) และผู้เขียนหนังสือ สังคมไทยในวังวนแห่งวิกฤตเปลี่ยนผ่าน (In the Vertigo of Change: How to Resolve Thailand’s Transformation Crisis)

ตีพิมพ์ครั้งแรก: วารสารออนไลน์ International Politics and Society, FES, 23 มีนาคม 2020. (แก้ไขเพิ่มเติม 10 เมษายน 2020)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save