fbpx

[ความน่าจะอ่าน] บันทึกความทรงจำต่อ ‘เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง: การก่อร่างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม’

ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะกลายเป็นขาประจำในการวิจักษณ์หนังสือของ ‘ความน่าจะอ่าน’ เพราะเรื่องที่เลือกโดยเฉพาะในหมวดของนอนฟิกชันนั้น จะติดโผเป็นหนังสือท็อปไฮไลต์ของโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน’ ตลอดมา และเมื่ออ่านย้อนครั้งเมื่อเขียนวิจักษ์เรื่อง เล่นแร่แปรภาพ ของนักรบ มูลมานัสไปเมื่อปีที่แล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เอ่ยถึงหนังสือเรื่อง เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ฉบับภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วย (ลองย้อนตามอ่านกันได้) แต่ต้องขออนุญาตว่าบทวิจักษ์ของเล่มนี้จะไม่ได้อยู่ภายใต้รูปลักษณ์ของบทวิจักษณ์ แต่จะขอเป็นการเล่าถึงบันทึกความทรงจำของหนังสือเล่มนี้ เพราะตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นฉบับภาษาไทยนั้น ข้าพเจ้าน้ำตาแทบไหลแล้วตะโกนไปว่า “มาช้าไปยี่สิบห้าปีนะ”

ย้อนไปราวๆ ยี่สิบห้าปีที่ว่า ข้าพเจ้าได้พบประสบเจอกับหนังสือเล่มนี้ในรูปเล่มของวิทยานิพนธ์ชื่อ The making of the Siamese monarchy’s modern public image (การก่อร่างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม) ที่ผู้เขียน Maurizio Peleggi เขียนเพื่อยื่นขอดุษฎีบันฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University หรือ ANU)

เหตุที่ข้าพเจ้าได้พานพบวิทยานิพนธ์เล่มนี้นั้นเนื่องจากได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศญี่ปุ่น และด้วยความเจ้าเล่ห์เพทุบาย จึงไปลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยของมหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศเป็นวิชาเลือก ด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องว่าจะได้เกรดเอมาได้โดยง่าย แต่เมื่อเป็นวิชาสัมมนาในระดับปริญญาโทและเอกแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าเปิดประตูห้องพักอาจารย์เข้าไปเพื่อพบกับอาจารย์ผู้หญิงผมม้าใส่แว่นชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่าอาจารย์จุงโกะ โคอิซุมิ และเมื่อไปเรียนวันแรกก็พบว่ามีเพื่อนร่วมชั้นเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นนามว่า ฮิงาชิโนะเดะ-ซัง เพียงคนเดียว มิหนำซ้ำเธอยังทำวิจัยเรื่องเผ่าอาข่าในประเทศไทยที่ต้องลงสนามในการวิจัยโดยหายไปเป็นระยะเวลานานๆ เท่ากับว่าจะกลายเป็นวิชาที่ข้าพเจ้าต้องเรียนตัวต่อตัวกับอาจารย์เสียส่วนใหญ่ ผลกรรมที่จะเอาง่ายเข้าว่าก็ตามสนองในทันที เมื่อต้องเรียนเรื่องไทยจากเอกสารภาษาอังกฤษ แต่ต้องอภิปรายเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำเอางงงวยสลับภาษาไม่ทัน รวมถึงเป็นการเรียนประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่ต่างจากการเรียนในประเทศไทยด้วย    

    อาจารย์โคอิซุมิ ผู้มีนามสกุลเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคนั้น เพิ่งกลับมาจากการไปวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมาหมาดๆ และกลับมาด้วยเอกสารงานวิชาการจากที่นั่นเป็นลังๆ จากครูสุดเฮี้ยบเจ้าระเบียบผู้เป็นที่โจษขานในหมู่นักศึกษาเอกภาษาไทยของมหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้าไปเรียนในยุคก่อนหน้านั้น อาจารย์ผู้ออกข้อสอบสุดยากที่ให้เติมชื่อจังหวัดทั่วประเทศลงในแผนที่ประเทศไทย แต่เมื่อไปวิจัยกลับมา อาจารย์มาพร้อมกับอิทธิพลจากสคูลการศึกษาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ทำให้ข้าพเจ้าน่าจะเป็นหนูทดลองรุ่นแรกๆ ของอาจารย์ในการใช้การศึกษาของสคูลนั้นมาสอน และยิ่งเป็นคนในตระกูลอำมาตย์ผู้แบกเอาความอนุรักษนิยมแบบสุดโต่งจากประวัติศาสตร์สายราชาชาตินิยมอย่างสกุลของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มี สี่แผ่นดิน และนิยายของทมยันตีเป็นหนังสืออ่านเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้วด้วย อาจารย์น่าจะสนุกเพลิดเพลินกับหนูทดลองตัวนี้ในการรื้อโครงสร้างของลูกหลานอำมาตย์หัวอนุรักษนิยม

    The making of the Siamese monarchy’s modern public image เป็นวิทยานิพนธ์เล่มที่สองที่ข้าพเจ้าอ่านต่อจากเล่ม Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ภายในวิชาที่เรียนนั้นมีวิธีการสอนคือให้นำหนังสือกลับไปอ่านทีละบทแล้วนำเรื่องมาดีเบตกับอาจารย์ 

    วิธีการสอนคืออาจารย์ให้เรานั่งพล่ามความเห็นกับสิ่งที่ไปอ่านมา แล้วไม่บอกว่าถูกหรือผิด แต่ใช้วิธียิงคำถามว่าทำไมคิดเช่นนั้น ทำไม? ทำไม? ทำไม? ให้เราตอบๆๆๆ ในช่วงที่เราเค้นคำตอบออกมา เราก็เกิดอาการอึ้งแล้วหยุดชะงักคิดกับองค์ความรู้ที่เรามี จากนั้นอาจารย์ก็จะบอกไปว่ามีนักคิด นักเขียน นักวิจัย ที่เขาคิดแบบนี้ๆ ในหนังสือเล่มนี้นะ หรือดูจากอ้างอิงของเขาสิ เขาพูดถึงหนังสือเล่มนี้ ทฤษฎีเป็นแบบนี้ๆ นะ ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงทุกวันนี้ที่ไปขวนขวายหาหนังสือ Splendid Monarchy: Power and Pageantry in Modern Japan ของ T. Fujitani กับ The Invention of Tradition ของ Eric Hobsbawm มาอ่าน

    เมื่อตอนที่วิทยานิพนธ์เรื่อง The making of the Siamese monarchy’s modern public image ได้รับการพิมพ์รวมเล่มเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในชื่อ Lord of Things นั้น ข้าพเจ้าก็ตื่นเต้นมาก ชอบกับการตั้งชื่อที่ล้อไปกับ Lord of the Rings ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในช่วงนั้น ยิ่งได้อ่านเบื้องลึกเบื้องหลังของชื่อนี้ภายในคำนำเสนอฉบับภาษาไทยแล้วแซ่บยิ่งนัก (ไม่ขอสปอยล์ขอให้ไปอ่านกัน) และเป็นหนังสือที่ข้าพเจ้ามักจะแนะนำให้มิตรสหายได้อ่าน รวมถึงใช้อ้างอิงในการเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารต่างๆ โดยเฉพาะนิตยสารแฟชั่น

    ข้าพเจ้ามีโอกาสเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารแฟชั่นชื่อดังก็นำเรื่องแฟชั่นของเจ้าฟ้าภายในเล่มนี้ไปเขียนถึง ความรู้ที่นำไปสอนนิสิตนักศึกษาในฐานะอาจารย์พิเศษ หรือได้ขึ้นทอล์กตามเวทีต่างๆ หรือรายการต่างๆ ที่ได้ไปพูด ก็ใช้หนังสือเล่มนี้ในการอ้างอิงมากมาย และก็คิดว่าน่าจะเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลในแวดวงไทยศึกษาหรือเอเชียศึกษาอีกมาก เพราะหลังจากนั้นก็ได้อ่านบทความ วิทยานิพนธ์ และงานวิชาการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้อีกจำนวนมาก

    เท่าที่จำได้ก็มีการตามไปศึกษาพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน แล้วสังเกตเรื่องที่เขียนถึงการบริโภคในการซื้อของภายในพระราชนิพนธ์นั้น การศึกษาเรื่องซุ้มประตูรับเสด็จในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งสามารถโยงถึงในสมัยรัชกาลที่เก้าได้ ล้วนแต่เป็นหนึ่งในการเป็นนาฏกรรมแห่งอำนาจ หรือการถือเอาการแสดงมหกรรมโลกแบบเอ็กซ์โปที่ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของนาฏกรรมแห่งอำนาจเช่นกัน

    ความน่าจะอ่านของหนังสือเล่มนี้นั้น ถ้าอ่านอย่างผิวๆ ก็จะได้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจในรูปแบบเดียวกับการอ่านงานเขียนเรื่องประวัติศาสตร์สังคมของสกุลราชาชาตินิยมอย่างงานของธงทอง จันทรางศุ, ลาวัณย์ โชตามระ, ชาลี  เอี่ยมกระสินธุ์, ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เป็นต้น แต่ถ้าอ่านแบบลึกๆ แล้วก็จะได้ความรู้ในแนวทางประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ 

    แต่ที่อยากจะทอดถอนหายใจนั้นก็คือกว่าสังคมไทยจะสามารถติดอาวุธทางปัญญาในลักษณะนี้ได้ ต้องใช้เวลาถึงยี่สิบห้าปี น่าอิจฉาสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะได้การลับคมทางสติปัญญาเพื่อต่อยอดทางความคิดได้… แต่อยากจะให้ผู้ใหญ่รุ่นข้าพเจ้าหรือมากกว่าข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เผื่อจะเคาะสนิมและลับคมทางปัญญา เพื่อจะมีบทสนทนาที่เท่าทันเด็กยุคนี้ได้       

    MOST READ

    Spotlights

    14 Aug 2018

    เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

    14 Aug 2018

    Life & Culture

    14 Jul 2022

    “ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

    คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

    14 Jul 2022

    Life & Culture

    27 Jul 2023

    วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

    เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

    เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

    พิมพ์ชนก พุกสุข

    27 Jul 2023

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • Always Active

    Save