fbpx

‘เจ้าชีวิต’ ประวัติศาสตร์ไทยที่ใช้ตอบโต้ The King and I ของฝรั่ง

การที่ เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี (Lord of Life) [1] ได้รับเลือกเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เป็นที่ไม่สบอารมณ์ของ ส.ศิวรักษ์ เพราะเขาเห็นว่า แม้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จะสร้างผลงานที่น่าสนใจแต่ก็สู้เล่ม เกิดวังปารุสก์ ไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่า “เกิดวังปารุสก์ มีค่ายิ่งกว่า เจ้าชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์เกือบไม่ได้เอาเลย หากมีคุณค่าในการเขียนยกย่องประมุขแห่งชาติตระกูลนิพนธ์อย่างเรียงรัชกาลลงมาต่างหาก ทั้งข้อมูลเล่มก็ผิดพลาดมิใช่น้อย” และตอกย้ำว่า “หนังสือเล่มนี้แสดงจุดยืนของสมาชิกคนสำคัญแห่งราชวงศ์จักรี จะหวังให้ผู้นิพนธ์มีทัศนะที่เคียงข้างความยุติธรรมทางสังคม หรือเข้าใจชีวิตและจิตใจของคนยากไร้ต่างๆ ย่อมไม่อาจเป็นไปได้”[2]

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว เจ้าชีวิต ได้มีชีวิตในบรรณพิภพที่น่าสนใจและมีคุณค่า ไม่ใช่เชิงวรรณกรรมของมัน แต่ในฐานะที่อยู่ในดีเบตระดับนานาชาติที่ว่าด้วยประเทศไทยและกษัตริย์ไทยในยุคสงครามเย็นต่างหาก

เพราะในช่วงเวลานี้ โลกเริ่มรู้จักประเทศไทยหรือสยามผ่านภาพยนตร์ชื่อว่า The King and I (พ.ศ. 2499) อันเป็นเรื่องที่มีศูนย์กลางอยู่ที่แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) และรัชกาลที่ 4 โดยมีฉากหลังคือราชสำนักสยาม ดินแดนอันไกลโพ้นที่แสนจะแปลกประหลาดในสายตาชาวตะวันตก ระบบฝ่ายในที่ถูกเปรียบเปรยกับ ‘ฮาเร็ม’ ในแบบประเทศตะวันออกกลาง มีการลงทัณฑ์อย่างไร้เหตุผลและโหดเหี้ยม ขณะที่กษัตริย์เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ แม้จะเจ้าอารมณ์ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ก็มีอารมณ์ขัน สถิติระบุว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงถึง 8.5 ล้านดอลลาร์ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2499[3] และยังกวาดรางวัลออสการ์ไปถึง 5 สาขาด้วยกันในปี 2500

ชื่อเสียงดังกล่าว นำมาซึ่งความเข้าใจผิดอันน่าหงุดหงิดของเหล่าคนไทย โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม เจ้าชีวิต ตีพิมพ์ครั้งแรกในฉบับภาษาอังกฤษ เมื่อปี 2504 เป็นเวลา 5 ปี หลังจากที่ภาพยนตร์ดังออกฉาย เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้เขียนเองก็มีชีวิตอยู่หลังจากออกหนังสือได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะที่ เกิดวังปารุสก์ ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้นสิบกว่าปี ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เห็นได้การตีพิมพ์มาจนถึงปัจจุบันถึง 10 กว่าครั้ง

I and the Kings: ผู้เขียนกับราชวงศ์จักรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ผู้นิพนธ์เจ้าชีวิต เป็นลูกชาย[4] ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ถือเป็นหลานปู่ในรัชกาลที่ 5 อันถือว่าเป็นชนชั้นสูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ความที่มีแม่เป็นชาวยูเครน คือ เอกาเทรินา (คัทริน) อิวานอฟนา เดนิตสกายา (Ekaterina Ivanova Desnitsky) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘หม่อมคัทริน’ และยังแต่งงานโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตครอบครัว ทำให้สถานภาพของพวกเขาเองอยู่ในสภาพน่ากระอักกระอ่วน รวมไปถึงสิทธิ์ต่างๆ ในราชสำนักอีกด้วย[5]

ผู้เขียนเกิดเมื่อปี 2450 ก่อนจะสิ้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เพียง 3 ปี หากเมื่อนับความสัมพันธ์กับกษัตริย์ พ่อของเขายังเป็นน้องชายร่วมมารดากับรัชกาลที่ 6 และเป็นพี่ชายของรัชกาลที่ 7 เขาจึงมีความใกล้ชิดกับวงในวังหลวงใน 3 รัชกาลที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่งจนทำให้ข้อเขียนของเขาเป็นที่น่าเชื่อถือไม่น้อย

เจ้าชีวิต เล่าประวัติศาสตร์อย่างเป็นลำดับตั้งแต่ก่อนยุครัตนโกสินทร์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความชอบธรรมของราชวงศ์จักรีที่เคยมีตำแหน่งแห่งที่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้กลายเป็น ‘เจ้าชีวิต’ อย่างแท้จริง หลังจบรัชสมัยของพระเจ้าตากสิน เนื้อหาให้ความสำคัญกับการประนีประนอมกับภาพรวมของสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา แม้กระทั่งพระเจ้าตากสินเองก็ไม่ถูกกีดกันออกจากกษัตริย์ผู้มีความสามารถ

แกนของเรื่องถูกร้อยเรียงผ่านกษัตริย์แต่ละคนมาจนถึงผู้เขียนที่มีชีวิตช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มุมมองของผู้เขียนจึงเริ่มเปลี่ยนจากผู้อยู่นอกเหตุการณ์ มาเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องพ่อของเขาที่ต้องย้ำนักหนาว่า แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของกษัตริย์โดยตรง แต่จำเป็นต้องกล่าวถึงเพราะจะทำให้เรื่องเล่านั้นสมบูรณ์มากขึ้นในสายตาของเขาในฐานะที่ “หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ ผู้แต่งจำต้องเขียนอย่างตรงไปตรงมา” [6]

การที่ผู้เขียนเน้นย้ำประวัติและยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 หรือ ‘King Mongkut’ ก็เพื่อโต้แย้งกับการเล่าถึงอย่างผิดๆ จากสายตาฝรั่งผ่านป๊อบคัลเจอร์อย่างนิยายและภาพยนตร์เกี่ยวกับแอนนา เลียวโนเวนส์และกษัตริย์สยาม ดังที่กล่าวไว้ว่า “ความจริงนักประวัติศาสตร์ที่แท้จริงไม่ควรจะสนใจนวนิยายหรือภาพยนตร์เหล่านี้ แต่ภาพต่างๆ ในภาพยนตร์ได้เป็นที่ประจักษ์แพร่หลายแก่ผู้ดูและผู้ฟังนับร้อยๆ ล้านทั่วโลก จนผู้ดูเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ครั้นจะไม่กล่าวถึงเสียบ้างเลยในที่นี้ ก็จะไม่ได้” [7]

ขณะนั้นมีทั้งเรื่องเล่าที่แต่งโดยแอนนา เลียวโนเวนส์ อย่าง The English Governess at the Siamese Court (พ.ศ. 2413) และ Romance of the Harem (พ.ศ. 2415) ความน่าเชื่อถือของเธอคือผู้อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นเอง แอนนาได้รับเชิญจาก King Mongkut ให้เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกๆ หนังสือดังกล่าวจึงถือว่าเล่าจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีการเล่าชีวิตคนอย่างถึงเลือดถึงเนื้อรวมไปถึงหยดน้ำตา ต่างไปจากพระราชพงศาวดารที่มีกรอบโครงที่เป็นทางการ มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน และตัดอคติทั้งหมดเกี่ยวกับผู้มีอำนาจคือราชวงศ์ออกไป

งานของแอนนาจึงชวนผู้อ่านมองสยามในแว่นที่ต่างไปจากคนในอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากประวัติศาสตร์ และเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ไม่พึงประสงค์ของชนชั้นนำ หรือกระทั่งการเอาโลกทัศน์ของชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์ในปลายศตวรรษที่ 19 ไปตัดสินประเทศสยาม ยิ่งการที่แอนนาเป็นครูของรัชกาลที่ 5 กษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถ และเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำความเจริญมาสู่สยาม ยิ่งทำให้สถานภาพของแอนนามีสถานะที่น่ารำคาญสำหรับชนชั้นสูง เพราะครูในสังคมสยามแล้วคือผู้มีพระคุณผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ อย่างไรก็ตาม ตัวแอนนาและหนังสือของเธอที่เล่าเรื่องสยามคือ สัญลักษณ์ของการปะทะกันของโลกตะวันตกและโลกตะวันออกที่มีสยามเป็นดินแดนปฏิบัติการ

จะดีจะชั่ว แอนนาก็ถือว่าอยู่ในกาลเทศะที่ร่วมสมัยกับ King Mongkut แต่หนังสือ Anna and the King of Siam (พ.ศ. 2487) ของ มาร์กาเร็ต แลนดอน (Margaret Landon) ถือว่าเป็นนิยายที่เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์กว่า 70 ปี งานของแลนดอนจึงถูกโจมตีอย่างมากในฐานะเรื่องแต่งที่ทำให้ราชวงศ์และประเทศสยามเสื่อมเสีย งานของเธอยังถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในชื่อเดียวกันคือ Anna and the King of Siam (1946) ความนิยมของพล็อตเรื่องประเทศที่ห่างไกลของสตรีผิวขาวที่เข้าไปสู่ราชสำนักจนมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์ ยังทำให้เรื่องนี้ถูกสร้างเป็นละครเวทีในชื่อใหม่คือ The King and I (พ.ศ. 2494) ในครั้งนี้ผู้แสดงเป็นรัชกาลที่ 4 โกนหัวราวกับพระภิกษุแสดงโดยยูล บรีนเนอร์ (Yul Brynner) ที่ในที่สุดได้กลายเป็นภาพจำของ King Mongkut ไป ต่างจากเวอร์ชั่น ค.ศ. 1946 ที่ใช้ดาราที่แต่งหน้าแต่งตัวที่ดูยังไงก็เป็นชาวตะวันตกอย่างเรกซ์ แฮร์ริสัน (Rex Harrison) เมื่อรวมกับเวอร์ชั่นยอดนิยม ปี 1956 ภาพจำของ King Mongkut ที่ออกมาจึงถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อเหล่านี้อยู่ฝ่ายเดียว

การเขียน Lord of Life จึงเป็นการพยายามถ่วงดุลข้อมูลจากฝั่งคนในราชสำนักสยามเพื่อคุยกับชาวตะวันตกเสียมากกว่า และชี้ให้เห็นว่าก่อนยุคประชาธิปไตยนั้น กษัตริย์คือ Lord of Life ผู้ทรงสิทธิ์ในการกระทำหรือไม่กระทำอะไร ซึ่งอาจจะขัดกับสามัญสำนึกของชาวยุโรปที่ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตยและมีหลักการสิทธิมนุษยชนที่ตั้งมั่นแล้วในระดับหนึ่ง

จากปมฮาเร็มสู่การสมรสเพื่อผดุงสายโลหิตของเจ้า

จะเห็นว่าผู้เขียนพยายามแก้ต่างให้กับราชวงศ์ ในประเด็นที่กษัตริย์มีภรรยาและลูกหลานหลายคนอยู่เป็นระยะ นับตั้งแต่ต้นราชวงศ์เป็นต้นมา เนื่องจากระบบ ‘ฝ่ายใน’ ที่เป็นอยู่ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ‘ฮาเร็ม’ ในสังคมตะวันออกกลาง ดังชื่อหนังสือของแอนนาคือ Romance of the Harem ในมุมมองชาวตะวันตกที่เริ่มตระหนักในสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมฝ่ายในที่เป็นระบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ถือเป็นเรื่อง ‘ป่าเถื่อน’

จะว่าไป ในยุคก่อนสมัยใหม่รัฐจำนวนมากถือว่าการมีภรรยาหลายคนเป็นการสร้างความมั่นคงให้ราชบัลลังก์ เพราะการมีหลายภรรยาจะเป็นการรับประกันว่าจะมีทายาทไว้สืบสกุลแบบไม่ขาดสาย แต่การมีทายาทหลายคน บางครั้งก็ไม่เป็นผลดี เพราะเมื่อผู้มีสิทธิ์มากกว่าหนึ่ง อาจกลายเป็นเสียสมดุล เพราะถูกใช้ข้ออ้างในการก่อความรุนแรงและยึดอำนาจได้แบบในสมัยอยุธยาเช่นกัน นี่คือระบบคิดของการมี ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ที่เชื่อมโยงกับระบบการปกครองแบบกษัตริย์ที่ต้องพึ่งพิงการสืบสายเลือด ยังไม่มีระบบรัฐสภาที่อย่างน้อยช่วยลดทอนความรุนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนบัลลังก์

ผู้เขียนเห็นข้อมูลของโรเบิร์ต ริปลีย์ (Robert Ripley) ที่เขียนเรื่อง Believe It of Not ได้นำเสนอข้อมูลอย่างผิดๆ ในสายตาของเขา ว่ารัชกาลที่ 5 มีมเหสีและเจ้าจอมมากถึง 3,000 คน และมีโอรสธิดาถึง 370 คน[8] ซึ่งเป็นเรื่องเกินจริง การนำเสนอข้อมูลโอรสและธิดาในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นการชี้แจงให้เห็นถึงความคลาดเคลื่อนด้วย หากนำข้อมูลที่ผู้เขียนระบุไว้ตามที่ต่างๆ ของหนังสือมาทำตารางจะเป็นดังนี้

ตารางแสดงจำนวนโอรสและธิดา ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-7

รัชสมัยโอรสธิดารวมหมายเหตุ
รัชกาลที่ 1[9]172542 
รัชกาลที่ 2[10]383573 
รัชกาลที่ 3[11]222951ไม่มีอัครชายาที่เป็นเจ้า จึงเป็นรัชสมัยที่ไม่มี ‘เจ้าฟ้า’
รัชกาลที่ 4[12]394382 
รัชกาลที่ 5[13]324476 
รัชกาลที่ 611 
รัชกาลที่ 7 

เหตุผลของการมีภรรยามาก ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็น “ธรรมเนียมโบราณก็ต้องทรงรับ” เมื่อมีผู้นำสตรีมาถวายเป็นเจ้าจอม[14] ดังที่เราเห็นได้จากกรณีของรัชกาลที่ 1 ที่ผู้เขียนได้ทำให้เห็นในตารางข้อมูลเลยว่า แม่ของโอรสและธิดาทั้ง 42 คนเป็นผู้ใดบ้าง เป็นลูกสาวใคร มาจากไหน เช่น ธิดาพระยาจักรี เมืองนครศรีธรรมราช, ธิดาท้าวเทพกษัตรีแห่งถลาง, ธิดาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทน์, ธิดาพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์, ธิดาพระยาพัทลุง ฯลฯ[15] แต่ที่ออกจะแปลกไปก็คือการสมรสกับน้องสาวต่างมารดา มีกรณีหนึ่งที่ทั้งสามถือกำเนิดจากแม่เดียวกันนั่นคือเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ผู้ให้กำเนิดพระองค์เจ้าหญิงสุนันทกุมารีรัตน์, พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี ซึ่งต่อมาจะเกิดโศกนาฏกรรมกับองค์แรกที่รู้จักกันในนาม ‘พระนางเรือล่ม’ ส่วนองค์ที่ 2 จะเป็นยายของรัชกาลที่ 8-9 และองค์ 3 จะเป็นแม่ของรัชกาลที่ 6 และ7 ด้วยเหตุดังกล่าวผู้เขียนต้องอธิบายให้เห็นเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้สายเลือดปนกับสามัญชน ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่อินเดียก็ปฏิบัติกัน

การได้น้องนางสาวแม้แต่คนละแม่เป็นเมียเช่นนี้ เมื่อแต่แรกฝรั่งได้ทราบเรื่อง ฝรั่งชาวตะวันตกย่อมถือว่าเป็นเรื่องผิดไม่เรียบร้อย แต่ที่จริง ในอินเดียก็เคยทำมาแล้ว เห็นว่าเป็นของดีที่จะให้พระโลหิตเจ้านายปนกับโลหิตของสามัญชนให้น้อยที่สุดเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการสืบสันตติวงศ์[16]

นอกจากนั้นผู้เขียนชี้ให้เห็นความจำเป็นดังกล่าวเพราะว่าราชวงศ์สยามลำบากที่จะแต่งงานกับเครือญาติประเทศเพื่อนบ้านที่ยุโรปทำได้ เพราะห้อมล้อมด้วยราชวงศ์ที่เคยเป็น ‘ศัตรู’ หรือ ‘เมืองขึ้นประเทศราช’ [17] ซึ่งส่วนหลังก็อาจไม่เป็นจริงนัก หากเทียบกับกรณีของรัชกาลที่ 1 หรือกระทั่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี แห่งเชียงใหม่ในรัชกาลที่ 5 ก็อยู่ในนิยมเมืองขึ้นประเทศราช

การสืบราชสมบัติของ ‘เจ้าชีวิต’ รัชกาลต่อรัชกาล

สิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่เสมอในการบรรยายแต่ละรัชสมัยก็คือ ‘ระบบการสืบทอดราชบัลลังก์’ ที่อยู่ในเชิงหลักการและการปฏิบัติจริง นั่นคือระบบที่สืบทอดและปรับเปลี่ยนมาจากอยุธยาคือ ‘ระบบวังหลวง-วังหน้า’ ที่โดยหลักการจากชื่อแล้ว เราอาจจะนึก ‘สถานที่’ (place) แต่ในเชิงอำนาจแล้วมันหมายถึง ‘ตัวบุคคล’ แสดงให้เห็นอำนาจบุคคลที่กุมอำนาจในแผ่นดินนั้น วังหลวง คือ เบอร์ 1 และวังหน้า คือ เบอร์ 2 ผู้เขียนชี้ว่า วังหน้าไม่ใช่ตำแหน่งตายตัวของการสืบราชบัลลังก์[18] และยังไม่มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์[19] และโดยสถานที่แล้ววังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีตำแหน่งแทบจะอยู่ประจันกับวังหลวง อาณาเขตของวังหน้าคือส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และสนามหลวงฝั่งเหนือในปัจจุบัน

แต่ละรัชสมัย ผู้เขียนพยายามระบุถึงการสืบสายโลหิตของผู้คนในราชวงศ์ และพยายามชี้ให้เห็นว่าการสืบบัลลังก์มานั้น ค่อนข้างราบรื่น ไม่ได้เกิดการนองเลือด ผิดกับสมัยอยุธยา หากจะมีผู้ที่ได้รับโทษประหารก็คือผู้ที่เป็นกบฏที่นับเป็นโทษอันสาสมแล้ว

ในยุครัตนโกสินทร์มีเพียงรัชกาลที่ 2 เท่านั้นที่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์จากตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ด้วยการที่รัชกาลที่ 1 มอบราชสมบัติให้เมื่อป่วยหนักแต่ยังรู้สึกตัว รวมถึงที่ประชุมราชวงศ์ พระสงฆ์ราชาคณะและขุนนางผู้ใหญ่สนับสนุน[20] (แต่ควรเข้าใจด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีวังหน้า คือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) น้องชายรัชกาลที่ 1 แต่ก็เสียชีวิตไปก่อน) ตำแหน่งวังหน้าหลังจากนั้น ถือว่าไม่ได้มีสิทธิ์นั้นเลย สมัยรัชกาลที่ 2 วังหน้า คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนารักษ์ (จุ้ย) น้องชายร่วมมารดากับกษัตริย์[21] และก็เช่นกันอายุสั้น เมื่อเสียชีวิตใน พ.ศ. 2360 รัชกาลที่ 2 ก็ไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นวังหน้า[22] ต่างกับรัชกาลที่ 1 ที่ได้แต่งตั้งวังหน้าคนที่ 2 ดังนั้น ความคลุมเครือในการสืบทอดจึงเกิดขึ้น และยิ่งเมื่อช่วงสุดท้ายของชีวิตรัชกาลที่ 2 ป่วยหนักและไม่รู้สึกตัว ทำให้ไม่อาจสั่งเสียได้แบบรัชกาลที่ 1

ขณะที่เงื่อนไขการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 3 ต่างไปจากรัชกาลที่ 2 ตรงที่ไม่ได้เป็นวังหน้า และไม่ใช่ ‘เจ้าฟ้าหัวปี’ จนมีชาวตะวันตกถือว่าเป็น ‘โอรสนอกกฎหมาย’ ต่างไปจากเจ้าฟ้าหัวปีอย่างเจ้าฟ้ามงกุฎ (ซึ่งต่อมาคือ รัชกาลที่ 4) [23] ผู้เป็นลูกคนโตของภรรยาเอก พระองค์เจ้า จุลจักรพงษ์แก้ว่า รัชกาลที่ 2 ไม่เคยแสดงเลยว่าจะมอบราชสมบัติให้กับ ‘เจ้าฟ้าหัวปี’ การที่ยังตั้งวังหน้าอยู่ (ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา) ก็ถือว่าเป็นการขัดกับแนวคิดนี้แล้ว ตำแหน่งรัชทายาทจึงมีความยืดหยุ่นสูง สาเหตุที่รัชกาลที่ 3 ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ก็เพราะว่ามีผู้นิยมมากโดยไม่มีการคัดค้าน และถือว่าเป็นทายาทผู้มีประสบการณ์ทำงานรับใช้รัชกาลที่ 2 ในหลายกิจการ เช่น ชำระคดีลูกชายพระเจ้าตากสินในข้อหากบฏ มีประสบการณ์ค้าขายเรือสำเภอจนได้รับสมญา ‘เจ้าสัว’ เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่ขาด และใจกว้างรับรองเลี้ยงดูราชวงศ์และขุนนางที่วัง ช่วยเหลือวังหน้าไต่สวนคดีความ ทั้งยังคุมกรมพระตำรวจหลังการเสียชีวิตของวังหน้า นี่คือคุณสมบัติและเครือข่ายทางการเมืองที่เพียบพร้อมของผู้อยู่ในรายการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์คนหนึ่ง[24]

ผู้เขียนชี้ให้เห็นเป็นนัยว่ารัชกาลที่ 3 ดูเหมือนจะตั้งใจส่งบัลลังก์ต่อให้กับเจ้าฟ้ามงกุฎ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการที่ไม่สมรสกับเจ้าเลย หรือเรื่องเล่าที่ว่า รัชกาลที่ 3 “มิได้ทรงมงกุฎเลยตลอดรัชกาล” รัชกาลที่ 5 เล่าสู่ลูกหลานฟังว่า “ขณะที่พราหมณ์ราชครูถวายพระมหามงกุฎแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เมื่อทรงรับมาแล้ว ก็มิได้ทรง แต่พระราชทานไปยังจางวางมหาดเล็กผู้ใหญ่พลางตรัสว่า “จงเก็บไว้ให้เขา” ซึ่งน่าจะทรงหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ” ที่แปลกออกไปในกรณีวังหน้าก็คือ รัชกาลที่ 3 ไม่มีน้องชายร่วมมารดา จึงตั้งเสด็จอาซึ่งแก่กว่า 2 ปี นั่นคือ ‘กรมหมื่นศักดิพลเสพ’ (ลูกรัชกาลที่ 1) เป็นวังหน้า เมื่อปี 2367[25]

สาเหตุที่ผู้เขียนให้ความชอบธรรมกับรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างมาก นอกจากจะสร้างความปรองดองแล้ว ก็คงจะสานสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นปู่ของหม่อมเจ้าหญิงรำเพยผู้ที่ต่อมาจะได้สมรสกับรัชกาลที่ 4 และให้กำเนิดรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นปู่ของผู้เขียนในเวลาต่อมา[26] สิ่งเหล่านี้จึงช่วยลบล้างคำเล่าลือว่าที่ว่ารัชกาลที่ 3 แย่งบัลลังก์เจ้าฟ้ามงกุฏไปด้วย[27] อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เขียนชี้คำว่า “อุภโตสุชาติ สังสุทธเคราะหณี” ที่แปลว่า ‘พระราชบิดามารดาเป็นเจ้า’ อันปรากฏในปรมาภิไธย รัชกาลที่ 4, 5 และ 6 นั้น[28] กลายเป็นการย้ำโดยนัยถึงความแตกต่างระหว่างรัชกาลที่ 3 ที่ไม่ได้มีแม่เป็นเจ้า

สามรัชกาลแรกเป็นสิ่งที่ปูทางมาสู่หัวข้อสำคัญในรัชสมัยต่อไปในฐานะผู้ที่ถูกฝรั่งกล่าวหาอย่างผิดๆ ก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะขึ้นครองราชย์ ได้ถูกเชิญไปรอที่วัดพระแก้ว ว่ากันว่าผู้มีอำนาจขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นขุนนาง ไม่ใช่เจ้านายเก่าแก่คนสำคัญ ที่ประชุมเห็นพ้องกันเลือกเจ้าฟ้ามงกุฎ ขนาดมีวลีที่ว่า ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมติ’ ที่แปลว่า ‘มหาชนได้รวมกันเลือกตั้งขึ้น’ [29] และขุนนางผู้ทรงอำนาจในตระกูลบุนนาค ก็ได้ตำแหน่งเอกอัครมหาเสนาบดี พร้อมกับสมุหพระกลาโหม ถือเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในพระราชอาณาจักรในนาม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์[30] และตั้งเจ้าฟ้าจุฑามณีเป็นวังหน้า

เรื่องที่น่าสนใจก็คือเรื่องเล่าที่ว่ารัชกาลที่ 4 ได้ตั้งให้พระปิ่นเกล้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กัน เพราะ “พระชะตาของพระปิ่นเกล้าฯ แรงนัก วันหนึ่งน่าจะได้เป็นเจ้าแผ่นดิน” นั่นหมายความว่า อาจจะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์หลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต แต่ผู้เขียนกลับตีความว่า น่าจะเป็นเพราะรักใครน้องชายอย่างลึกซึ้งประดุจ “พระนเรศวรทรงรักใคร่พระเอกาทศรถ” และเห็นว่าพระปิ่นเกล้าฯ มีนิสัยใคร่จะแข่งขันกับตัวจึงตั้งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กัน[31] อย่างไรก็ตาม พระเจ้าแผ่นดินคู่กันดังกล่าว เอาเข้าจริงก็คือการเป็นโดยเกียรติยศ ขณะที่ตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจก็คือวังหน้านั่นเอง และหลังจากวังหน้าเสียชีวิต[32] ก็ไม่ตั้งใครขึ้นมาแทนอีกเช่นกัน

หลังจากรัชกาลที่ 4 จากไป ก็มีการเรียกประชุมโดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้เรียกประชุมตั้งพระราชาคณะที่เป็นราชวงศ์ น้องชายต่างมารดาของรัชกาลที่ 4 และลูกชายของรัชกาลที่ 2 และลูกชายของวังหน้ารัชกาลก่อนๆ รวมถึงขุนนาง ลูกชายรัชกาลที่ 4 มี 7 คน ที่ยังบวชเป็นสามเณรให้เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ปรากฏคำว่า ‘เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ’ ในปรมาภิไธยซึ่งแปลว่า ‘ประชาชนร่วมกันเลือกขึ้นมา’ [33] ในที่ประชุมยังเห็นควรเชิญลูกชายสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คือพระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้าซึ่งนับว่าอายุมากกว่ารัชกาลที่ 5 ถึง 15 ปี แต่ก็เสียชีวิตในปี 2428 ซึ่งถือว่าเร็วมากและจะเป็นวังหน้าคนสุดท้ายในราชวงศ์นี้[34] ก่อนจะเปลี่ยนเป็นระบบมกุฎราชกุมาร (crown prince) แบบยุโรป ต่อมานำมาซึ่งการรื้อบางส่วนของสิ่งก่อสร้างในวังหน้า สร้างสนามหลวงในผังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

เมื่อครั้นถึงรัชกาลที่ 6 การขึ้นครองราชย์ไม่มีปัญหาใด เนื่องจากความชัดเจนของตำแหน่งมกุฏราชกุมาร ในปรมาภิไธยปรากฏคำว่า ‘บรมชนกาดิสรสมมติ’ ที่แปลว่า ‘พ่อท่านตั้ง’[35] แต่ปัญหาในรัชสมัยนี้คือการที่กษัตริย์ไม่มีทายาทสายตรง เมื่อเทียบกับลูกชาย 32 คน ของรัชกาลที่ 5 ในรัชสมัยนี้กลับมีเพียงลูกสาวคนเดียว อย่างไรก็ตามราชวงศ์ยังมีเจ้าฟ้า เจ้าชายอีกไม่น้อยที่ยังสืบสายต่อได้ นอกจากนั้นยุครัชกาลที่ 6 ยังมีการออกกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 2467[36] อันที่จริง การตระหนักถึงมาตรฐานการสมรสแบบตะวันตกในระบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ นั้น เป็นที่ตระหนักในหมู่ชนชั้นสูงที่เคยมีประสบการณ์เรียนต่อในยุโรปมาแล้ว ซึ่งระบบนี้จะกลายเป็นกฎหมายหลังปฏิวัติ 2475[37] เห็นได้จากกรณีของรัชกาลที่ 6 ที่เดิมตั้งปณิธานว่าจะมีคู่ครองเพียงคนเดียว หรือที่ผู้เขียนโคว้ทว่า ‘จะมีเมียคนเดียว’ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมาช่วงปลายรัชกาล[38]

กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้น ทำให้ธิดาของรัชกาลที่ 6 ไม่ได้สืบราชสมบัติ และมีเอกสาระบุข้อความที่ว่าให้เจ้าฟ้าประชาธิปกขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 7[39] จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้น อำนาจทั้งหลายจึงมิได้สถิตอยู่ที่กษัตริย์และราชวงศ์อีกต่อไป นี่จึงเป็นการสิ้นสุดอำนาจของ ‘เจ้าชีวิต’ ลงอย่างเป็นทางการ

การสืบทอดราชบัลลังก์ของกษัตริย์จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามระเบียบ เพราะกษัตริย์ได้รับการยกสถานะให้เป็นประมุขที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ปัญหาการสืบราชสมบัติจึงเป็นประเด็นที่ต้องหารือกันโดยความเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยที่ยึดโยงอยู่กับราษฎรที่เคยเป็นเพียงพลเมืองชั้นรองเท่านั้น การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เจ้าอานันมหิดลเป็นรัชกาลที่ 8 เมื่ออายุเพียง 10 ปี เมื่อปี 2477[40] จึงเป็นการขึ้นเป็นกษัตริย์แบบที่ไร้อำนาจทางการเมืองในราชสำนักรับรองแต่ปริวรรตไปตามอำนาจใหม่ในขณะนั้น ก่อนที่อีก 12 ปีต่อมาจะเกิดกรณีสวรรคต และนำมาสู่การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 เจ้าชีวิตได้เล่ามาจนถึงหน้าสุดท้ายว่าด้วยการที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการผ่าตัดใหญ่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2502[41] หลังจากรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2 แน่นอนว่า จบลงก่อนที่สฤษด์จะเสียชีวิตซึ่งนำมาสู่การเปิดโปงความผิดที่จะกลายเป็นข้อหาร้ายแรงและการยึดทรัพย์อย่างมโหฬารในเวลาต่อมา

ทั้งที่การจบเจ้าชีวิตลงที่การปฏิวัติ 2475 น่าจะเป็นการแลนดิ้งที่สง่างามพอแล้ว

ส่งท้าย

อันที่จริงปมการตอบโต้ชาวตะวันตกที่วิจารณ์ราชวงศ์ผ่านป๊อบคัลเจอร์ เรายังอาจเห็นได้จากผลงานก่อนหน้าของ แสน ธรรมยศ อย่าง พระเจ้ากรุงสยาม (2495) และในยุคหลัง เช่นการสร้างภาพยนตร์ ทวิภพ (2004/2547) เพื่อตอบโต้กับภาพยนตร์ Anna and the King (2542) [42] น่าสนใจว่ากรณีนี้ถือเป็นสิ่งที่คนไทยกระอักกระอ่วนอยู่ในที คือตื่นเต้นและพอใจที่มีพื้นที่ในเวทีโลก ขณะเดียวกันก็ไม่สบายใจที่ความเป็นไทยที่ถูกมองผ่านราชสำนักถูกอธิบายและตีความอย่างผิดๆ

เจ้าชีวิต ถือว่าเป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของเครือข่ายของเจ้าชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและมีชีวิตด้านหนึ่งอิงอยู่กับราชสำนัก ขณะเดียวกันผู้เขียนเองก็มีสายเลือดอีกครึ่งหนึ่งเป็นของชาวยุโรป เช่นเดียวกับการที่เขามีประสบการณ์ในโลกตะวันตก การที่ผู้เขียนเล่นบทบาทผู้ปกป้องราชวงศ์จากความเข้าใจผิดของต่างชาติ จึงถือว่าเป็นบทบาทที่เหมาะเจาะพอดีเป็นอย่างยิ่ง กระนั้นก็ดูเหมือนว่าเป็นภารกิจที่ไม่สิ้นสุด

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง แม้จะเอาชนะฝ่ายสังคมนิยมในช่วงสงครามเย็นไปได้ แต่ก็ประสบกับความกระอักกระอ่วนเสมอบนเวทีโลก เมื่อรู้สึกว่าตนด้อยกว่าและเป็นผู้ถูกกระทำทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นปม ร.ศ.112, เขาพระวิหาร หรือการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์อย่างไม่เป็นธรรมในสายตาพวกเขา เพราะการตั้งคำถามและการสงสัยใคร่รู้กับอะไรบางสิ่ง เป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญเหลือเกินสำหรับโลกตะวันตก


[1] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี (พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2555)

[2] ส.ศิวรักษ์, “เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี”, อ่าน, 4 : 1 (เมษายน-มิถุนายน 2555) :  226-230

[3] Joel Waldo Finler, The Hollywood Story (London : Wallflower Press, 2003), pp. 358–359

[4] ในบทความนี้ผู้เขียนของดใช้ราชาศัพท์ด้วยเหตุ 2 ประการ ประการแรกคือ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้ง่าย ประการที่สอง คือ เพื่อความกระชับในการสื่อสาร

[5] นริศรา จักรพงษ์ และไอลีน ฮันเตอร์, แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, 2556

[6] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 288

[7] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 173

[8] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 231-232

[9] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 81

[10] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 136

[11] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 142

[12] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 183

[13] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 231-232

[14] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 224

[15] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 78-80

[16] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 225

[17] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 225

[18] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 108,

[19] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 137

[20] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 139

[21] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 115

[22] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 137

[23] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 139

[24] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 140-141

[25] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 141

[26] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 142

[27] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 140

[28] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 307

[29] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 177-178

[30] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 179-180

[31] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 179

[32] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 198

[33] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 307

[34] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 219-221

[35] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 307

[36] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 353

[37] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2561)

[38] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 351-353

[39] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 359

[40] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 394-395

[41] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิตฯ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 420-421

[42] นัทธนัย ประสานนาม, “ทวิภพ (The Siam Renaissance)ในฐานะภาพยนตร์ไทยแนวโต้กลับอาณานิคม”, ละคร ระคน ตัวตน มนุษย์ วรรณกรรมกับนาฏกรรมศึกษา การประชุมวิชาการละคร ระคน ตัวตน มนุษย์ : วรรณกรรมกับนาฏกรรมศึกษา, 2552, กรุงเทพฯ, หน้า 146-179

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save