fbpx

NO WAR Not MY KING ข้อคิดจากอังกฤษและรัสเซีย

จะชอบ ชัง หรือเฉยๆ ต่อสถาบันกษัตริย์ ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความตายหรือการสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ประมุขชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษและราชอาณาจักรเครือจักรภพ เป็นข่าวใหญ่ในรอบปีหรืออาจจะในรอบศตวรรษเลยทีเดียว

พระราชพิธีศพมีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่แต่ก็เรียบง่าย ไม่เว่อวังอลังการมากมายให้เป็นภาระภาษีประชาชน ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อมวลชนตลอดจนผู้คนทั่วโลกจำนวนหนึ่งให้ความสนใจติดตาม กลบข่าวสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนชั่วขณะ ทั้งๆ ที่สถานการณ์สู้รบกำลังพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าจับตา เมื่อผู้บุกรุกตกเป็นฝ่ายถอยร่น ยูเครนสามารถตีโต้ ยึดคืนพื้นที่กลับมาได้อย่างมีนัยสำคัญ

หากไม่เลอะเลือนหรือสมองเสื่อม คงจำกันได้ว่าขณะที่รัสเซียกรีฑาทัพบุกเข้ายึดครองดินแดนยูเครนใหม่ๆ บางคนแสดงความคิดเห็น แชร์ข้อความผ่านสื่อกระบอกเสียงกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง เชียร์รัสเซียสุดลิ่มทิ่มประตู ปลุกปั่นกันเป็นตุเป็นตะว่ายูเครนล่มสลาย พังพินาศยับเยินเพราะเลือกตั้งได้ผู้นำประเทศมาจากดารานักแสดงตลก

อ้างว่าโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนเป็นยิวบ้าง มีคฤหาสน์และทรัพย์สินมหาศาลในสหรัฐบ้าง ทำตัวเป็นสมุนจักรวรรดินิยมอเมริกา และคณะผู้ปกครองก็มาจากทีมงานแสดงตลก ไม่มีความรู้ความเข้าใจการบริหารประเทศ

แทนที่จะประณามรัสเซียซึ่งทำสงครามรุกรานประเทศอื่นโดยไม่เคารพหลักการว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนกลับไพล่ไปดูถูกดูแคลนผู้นำยูเครน ตลอดจนประชาชนที่ไปเลือกดาราดาวตลกมาเป็นประมุข

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ต้องการสื่อสารไปไกลว่าระบอบสาธารณรัฐแย่ การเลือกตั้งไม่ดี

ย้อนกลับไปดูเถอะ ดอกเตอร์บางคนถึงกับปรามาสว่า เซเลนสกีจะต้องหอบเงินหนีไปเสวยสุขในต่างประเทศเป็นแน่แท้ก็ยังมี

ถึงตอนนี้เป็นอย่างไรละ

แม้ยากจะคาดเดาได้ว่าสงครามจะจบลงอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งไม่ใช่ตะเกียงขาดน้ำมัน ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งในทางเศรษฐกิจ เงินทอง และอาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่อีกฝ่ายนอกเหนือไปจากกำลังทหารที่เหนือกว่ามากมายแล้ว ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอีกด้วย

มิหนำซ้ำผู้นำประเทศเองก็ดูท่าจะบ้าพอที่จะใช้มันโดยไม่คำนึงถึงผลใดๆ ตามมา

ที่แน่ๆ สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าอย่างกว้างขวาง สร้างความบอบช้ำไปทั่วโลก ไม่เว้นประเทศไทย จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ถูกทำลายลง มาตรการแซงชั่นตอบโต้กันไปมา ราคาพลังงานและเงินเฟ้อ ฯลฯ

เพราะวลาดีมีร์ ปูตินเพียงคนเดียว กับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยใหม่ขึ้นมาปกครองประชาชน รื้อฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ให้กับรัสเซียเหมือนดังเช่นยุคสมัยสหภาพโซเวียต ขยายอาณาจักรด้วยการทำสงครามรุกรานรัฐอธิปไตยอื่น เพลี่ยงพล้ำขึ้นมาก็สั่งเรียกระดมกำลังพลสำรองอีก 3 แสนคนเสริมทัพ พรากลูกพรากหลานชาวบ้านไปตายในสนามรบเพียงเพื่อรักษาอำนาจ หน้าตา ศักดิ์ศรีบ้าๆ บอๆ ของตัวเอง

ประชาชนอดรนทนไม่ไหวลุกฮือรวมตัวประท้วงต่อต้านการทำสงครามก็ปราบปราม จับกุมคุมขัง ขู่ส่งตัวไปเป็นทหารเกณฑ์ยังแนวหน้าเพื่อแก้ลำ ทำเอาผู้คนเผ่นหนี ออกนอกประเทศกันจ้าละหวั่น

สังคมปิดอย่างรัสเซีย ผู้นำเผด็จการทำได้ทุกอย่าง กระทั่งส่งลูกหลานคนอื่นไปตายในสงคราม นำพาประเทศชาติบ้านเมืองจมปลักกับการสู้รบ

ย้อนกลับไปที่อังกฤษ จริงอยู่ว่าการจากไปของควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นข่าวใหญ่ พิธีศพมีประมุขต่างชาติ ผู้นำหลายประเทศเดินทางไปร่วมแสดงความอาลัย ผู้คนสนใจติดตามข่าวสารกันจำนวนไม่น้อย แต่ก็หาได้ทำให้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งหนึ่งแต่ประการใดไม่

ทั่วทั้งโลกมิได้มีประชาชาติใดปรารถนาต้องการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ภายใต้ระบอบปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือการปกครองโดยกษัตริย์เพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มที่หลายชาติอาจจะทำประชามติเปลี่ยนไปปกครองในระบอบสาธารณรัฐเพิ่มเติม โดยเฉพาะราชอาณาจักรเครือจักรภพที่มีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข

การก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก่อให้เกิดข้อสงสัย คำถามตามมา ถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ สืบเนื่องมาจากเรื่องราวข่าวอื้อฉาวของราชวงศ์ และข้อเปรียบเทียบถึงจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งแทบไม่ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือค่อนขอดนินทาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นพระราชกรณียกิจทั้งหลายที่ทรงถือเป็นหน้าที่ของพระองค์ในการรับใช้ประชาชน

อีกทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อเหลวแหลก ไม่ทำอะไรให้ถูกมองว่าเป็นการผลาญภาษีอากรประชาชน

ขนาดลูกชายบ้ากาม ต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศในต่างประเทศยังถอดยศทางทหาร ปลดพ้นจากฐานันดรไม่ไว้หน้าให้เป็นที่เสื่อมเสีย กระทบกระเทือนต่อราชวงศ์

กษัตริย์อังกฤษเป็นมนุษย์เหมือนกับทุกคน พบปะใครก็จับมือเชกแฮนด์ทักทายได้โดยเสมอภาค มิได้มีสถานะเป็นสมมติเทพเทวดาให้ประชาชนต้องกราบไหว้

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังอยู่ยั้งยืนยงมาได้จนทุกวันนี้ เพราะเห็นหัวประชาชนชาวบ้านนั่นเอง

และไม่ใช่เรื่องประหลาดอีกเช่นกันที่ระหว่างพิธีศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะมีชาวบ้านประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันกษัตริย์ให้เห็น บางคนชูป้าย Not MY KING แสดงการไม่ยอมรับกษัตริย์ใหม่ บางคนตั้งคำถามว่าใครเลือกมาเป็นกษัตริย์ ฯลฯ

สังคมเปิดอย่างอังกฤษ ประชาชนทำได้ แม้จะมีการจับกุมคุมขังบ้างก็เป็นเพียงข้อหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หาใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐแต่ประการใดไม่

กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายได้แสดงความวิตกกังวลถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมายืนยันว่ายังเคารพ ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยไม่เปลี่ยนแปลง

ถึงตอนนี้ ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตราบเท่าที่กษัตริย์คนใหม่ยังดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ยึดมั่นหลักการในรัฐธรรมนูญและระบอบปกครองโดยรัฐสภาดังที่ได้กล่าวเอาไว้กับประชาชนเมื่อขึ้นครองราชย์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราบใดที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ยังสนับสนุน เห็นดีเห็นงามไปกับการมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศในเชิงสัญลักษณ์อันสามารถรับรู้ได้ผ่านการทำประชามติสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนในชาติ

สังคมประชาธิปไตยซึ่งยึดถือว่าประชากรพลเมืองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริงนั้น ความเป็นไปใดๆ ของรัฐขึ้นอยู่กับเจตจำนง ความต้องการของชาวบ้านราษฎรเป็นสำคัญ มิใช่การใช้กฏหมาย คุก ตำรวจและกองทัพเป็นเครื่องมือข่มขู่ ปราบปราม บังคับให้ทุกคนปฏิบัติตามความต้องการของบุคคลหรือกลุ่มคนคณะใดคณะหนึ่ง

อนึ่ง ถึงแม้ว่าการศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นเรื่องของประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ห่างไกลคนละทวีป แต่ก็ไม่วายมีประเด็นเกี่ยวพันมาถึงบ้านเราเมื่อไม่ปรากฏราชวงศ์ไทยเข้าร่วมรัฐพิธี ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เฉกเช่นผู้นำนานาประเทศและกษัตริย์หลายแผ่นดินจากทั่วโลกตามวิสัยของชาติซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีงามต่อกัน นำไปสู่การซุบซิบ แสดงความคิดเห็นต่างๆ นานาตามมาทางโซเชียลมีเดียหรือโลกออนไลน์ โดยปราศจากคำชี้แจงใดๆ จากทางการ

ที่กล้าหาญมาก ลากโยงเอาความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองชาติ คืออังกฤษกับรัสเซียเข้ามาอรรถาธิบาย เห็นจะเป็นเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ที่โพสต์ข้อความ ซึ่งขอถ่ายทอดโดยละเอียดไม่ตัดทอนข้อความใดๆ ให้เป็นข้อครหา ดังต่อไปนี้

“ต้องทำความเข้าใจประเด็นที่สำคัญที่สุดต่อว่าพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างเสรี หากแต่มีการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้มีการแบนรัสเซียจากพระราชพิธี

ดังนั้น ท่าทีในการแสดงความไว้อาลัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องถนอมน้ำใจของทั้งสองขั้ว เป็นที่มาของการแสดงออกหลากหลายรูปแบบภายในประเทศ แต่เลือกที่จะส่งเอกอัครราชทูตเป็นตัวแทนในต่างประเทศ

เมื่อประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น จึงไม่ถูกบังคับโดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ประมุขสมควรต้องเดินทางมาเอง เมื่อสามารถเลือกได้ตามที่ FCDO ระบุ จึงต้องเลือกจุดสมดุลที่ดีที่สุด เพราะทั้งสหราชอาณาจักรกับรัสเซียต่างก็เป็นมหามิตรและมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนานทั้งคู่

นำไปสู่คำตอบที่แท้จริงของข้อสงสัยทั้งหมด ทำไมจึงทรงแสดงความไว้อาลัยผ่านหลากหลายรูปแบบของพิธีการภายในประเทศ และส่งเอกอัครราชทูตไปร่วมงานแทน พระองค์ในต่างประเทศ ทั้งหมดก็เพื่อรักษาสมดุลสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร กับสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-รัสเซีย นั่นเอง

เนื่องด้วยวันนี้เป็น “วันสันติภาพโลก” ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ข้าพระพุทธเจ้าจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความเลื่อมใสในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นสุดยอดผู้นำนักประสานประโยชน์ ทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะสม สามารถรักษาดุลยภาพของสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร กับสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-รัสเซีย ในครั้งนี้ได้อย่างแหลมคม

ดร.ศุภณัฐ

21 กันยายน พ.ศ. 2565″

อ่านแล้ว ภาษาหนังสือจีนกำลังภายในต้องบอกว่า นับถือๆ

แต่จะจริงหรือเท็จอย่างไรคงไม่มีใครทราบได้ เพราะดร.ศุภณัฐเป็นผู้แถลงข่าวประจำพระองค์หรือก็เปล่าเลย เป็นโฆษกสำนักพระราชวังหรือก็ไม่ใช่ แม้จะชี้แจงแสดง เหตุผล อธิบายราวกับใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ล่วงรู้ความในพระราชหฤทัยก็ตามที

อีกประการที่สำคัญ เนื้อความทั้งหมดอาจจะถูกใจรัสเซียก็จริง แต่สำหรับอังกฤษแล้วคงไม่อย่างแน่นอน เราควรจะปลาบปลื้ม ภาคภูมิใจหรือสมเพชเวทนา สงสารประเทศไทยดีกับถ้อยความดังกล่าวอันสุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่จะสร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมา

ได้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันก็คราวนี้

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save