fbpx

ทำไมนักเรียนกฎหมายจึงต้องอ่านงานประวัติศาสตร์

ความเบื้องต้น โดยพื้นเพทางการศึกษา ผู้เขียนถูกฝึกฝนมาจากความรู้ด้านกฎหมายเป็นหลัก แต่ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ถกเถียง แลกเปลี่ยนกับครูบาอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์หลายท่าน และได้ทดลองใช้แง่มุมจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ในการพินิจความรู้ทางกฎหมายในงานหลายชิ้น จึงอยากลองเสนอให้เห็นว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อความรู้ทางกฎหมายอย่างไร รวมทั้งพยายามเชื้อชวนให้นักเรียนกฎหมายได้ลองเดิน ‘ข้ามพรมแดน’ มาสู่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้สามารถมีมุมมองที่แปลก/ต่างไปจากที่คุ้นเคย และหวังว่าจะทำให้เกิดคำอธิบายต่อกฎหมายที่น่าพึงปรารถนาสำหรับสังคมไทยในห้วงยามปัจจุบัน

แนวทางการเรียนการสอนกฎหมายในสังคมไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนประการหนึ่งก็คือ การสอนให้ทำความเข้าใจต่อกฎหมายที่เป็นอยู่ (positive law) เพื่อให้ผู้เรียนมีข้อมูลสำหรับใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น

เป้าหมายหลักของการเรียนกฎหมายจึงอยู่ที่ความพยายามทำความเข้าใจต่อบรรทัดฐานที่ปรากฏอยู่ในกฎหมาย องค์ประกอบของบรรทัดฐานในแต่ละเรื่องมีอยู่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องอ่านและจดจำไว้ให้ได้อย่างแม่นยำ นักกฎหมายที่มีความเก่งกล้าสามารถคือผู้ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าต้องใช้บทบัญญัติในมาตราใด กฎหมายฉบับใด รวมทั้งแนวคำพิพากษาที่เกิดขึ้นมีแนวทางคำตัดสินในลักษณะอย่างใด เมื่อมีการทดสอบเกิดขึ้นไม่ว่าจะในการทำข้อสอบในวิชาเรียน การสอบระดับเนติบัณฑิต การตัดสินในหน้าที่การงาน ก็จะมีนำเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาปรับใช้

ตามแนวทางดังกล่าวก็จะมีระบบเหตุผลที่ได้รับการอธิบายสืบทอดต่อกันมา และมักกลายเป็นระบบความจริงที่เพียงแต่รับเข้ามาสู่ความคิดของผู้เรียน เมื่อใดที่คำตอบของนักกฎหมายต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่งมีความแตกต่างกัน ก็เป็นผลมาจากการที่บางคนไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ หากมีความรู้ความเข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้วก็จะต้องมีคำตอบที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การเรียนการสอนเช่นนี้วางอยู่บนความเชื่อว่าในระบบกฎหมายมีความจริง ‘จริงๆ’ ดำรงอยู่ นักเรียนกฎหมายเพียงแค่ต้องทุ่มเทและฟันผ่าอุปสรรคเพื่อเข้าถึงสัจธรรมดังกล่าว หรือกล่าวให้ชัดมากขึ้นก็คือ นั่นเป็นความจริงสูงสุดที่ไม่ต้องสนใจต่อกาละ/เทศะ

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไม่มีความจำเป็นสำหรับนักเรียนกฎหมาย รวมทั้งเป็นผลให้นักเรียนกฎหมายไม่ค่อยสนใจงานทางด้านประวัติศาสตร์

หรือหากจะมีอยู่บ้างก็มักจะเป็นความรู้แบบเชยๆ ที่พ้นจากสมัยและระบบความรู้ไปอย่างมาก อันส่งผลให้คำอธิบายในทางกฎหมายก็ตกอยู่ในสถานะแห่งความเชยเช่นเดียวกัน คำกล่าวเช่นนี้มีตัวอย่างที่สามารถยกมาอธิบายประกอบได้อย่างมากมาย เช่น ตำรากฎหมายแรงงานที่เขียนโดยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแรงงานท่านหนึ่งได้กล่าวว่ากฎหมายแรงงานมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยดังที่ปรากฏข้อความในศิลาจารึก

ในกรณีนี้ต่อให้ศิลาจารึกเป็นหลักฐานจริงแท้จากยุคสมัยดังกล่าวจริง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการใช้แรงงานในยุคนั้นยังไม่ใช่ ‘แรงงาน’ ที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในระบบทุนนิยม

หรือนักกฎหมายที่ถูกเคารพยกย่องอย่างสูงท่านหนึ่งให้ความหมายของ ‘จารีตประเพณี’ ว่ามีความหมายถึงวิถีปฏิบัติของผู้คนที่ต้องเหมือนกันทั้งสังคม อันทำให้ขอบเขตของจารีตประเพณีไม่สามารถรวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นได้ จารีตประเพณีของสังคมไทยตามแนวทางคำอธิบายนี้จึงมีได้เฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง แต่ไม่ใช่การจัดการทรัพยากรโดยชุมชนท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชน ตำราเล่มหลังนี้ถูกพิมพ์ซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง โดยไม่มีการชี้ให้เห็นความบกพร่องที่ปรากฏอยู่ นักเรียนกฎหมายจึงได้แต่อ่านและท่องจำความเชยเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อมีการรับรอง ‘สิทธิชุมชน’ ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้วจะนำมาซึ่งความโกลาหลอย่างมากต่อระบบความรู้ทางด้านกฎหมาย เนื่องจากความจริง ‘จริงๆ’ ของกฎหมายนั้น ผู้ทรงสิทธิจะมีเพียงบุคคล นิติบุคคล หรือรัฐเท่านั้น ชุมชนไม่เคยอยู่ในชุดความรู้ของระบบกฎหมายและไกลเกินไปกว่าที่นักเรียนกฎหมายไทยจำนวนมากจะจินตนาการได้

ทั้งที่หากมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์อยู่บ้างก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าเอาเข้าจริง ‘นิติบุคคล’ ก็ไม่ได้อยู่คู่ระบบกฎหมายมาตั้งแต่สมัยฮัมมูราบี (Hammurabi) แต่เป็นการสร้างขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการค้าที่แผ่ขยายมากขึ้น

มุมมองด้านหนึ่งอธิบายว่านิติบุคคลคือกลไกเพื่อทำให้ระบบทุนสามารถสะสมและขยายตัวได้อย่างไม่มีขีดจำกัด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่นิติบุคคลเป็นผลมาจากการยอมรับถึงหน่วยทางสังคมบางอย่างและกำหนดให้มีตัวตนขึ้นในทางกฎหมาย มีการยอมรับการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของนิติบุคคล ด้วยระบบกฎหมาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติแต่อย่างใด

ไม่ต้องพูดถึงการเสนอแนวความคิดใหม่ที่มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายให้กับภูเขาหรือแม่น้ำในฐานะผู้ทรงสิทธิ เชื่อได้แน่ว่านักกฎหมายไทยจำนวนไม่น้อยต่างต้องอ้าปากตาค้างว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อตามความรู้ (เท่าที่มีอยู่) เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ทรงสิทธิในระบบกฎหมายสมัยใหม่

การอับจนความรู้ด้านประวัติศาสตร์จึงทำให้นักเรียนกฎหมายไทยยึดติดอยู่กับระบบความรู้แบบที่เป็นอยู่ (และเป็นความรู้แบบตัดตอนจากเงื่อนไขแวดล้อมเป็นอย่างมาก) การตีความของนักกฎหมายไทยได้อย่างมหัศจรรย์พันลึกในหลายเหตุการณ์ก็เกี่ยวข้องกับปมประเด็นนี้ไม่น้อย

แล้วความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนกฎหมายได้ในแง่มุมใดบ้าง อย่างน้อยมีประเด็นที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์จะชวนพิจารณาได้ในเบื้องต้น ในประเด็นดังต่อไปนี้

หนึ่ง ระบบความรู้ทางกฎหมายไม่ใช่สัจธรรม

เมื่อเข้าใจว่ากฎหมายเป็นผลจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ กฎหมายและความรู้ของระบบกฎหมายก็ย่อมไม่ใช่สัจธรรมที่ดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าระบบกฎหมายดังกล่าวจะผันเปลี่ยนไปได้ตามใจชอบของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ตรงกันข้าม ความรู้ของระบบกฎหมายย่อมสามารถถูกแก้ไขต่อเติม ดัดแปลง เมื่อชุดความรู้แบบเดิมไม่อาจตอบสนองต่อปรากฏการณ์และความเป็นจริง การมองโลก สังคม และมนุษย์อย่างมีความเคลื่อนไหวย่อมทำให้เข้าใจถึงความหมายของบรรทัดฐานที่ดำรงอยู่ในแต่ละห้วงเวลาได้ดียิ่งขึ้น

สอง ท่าทีในการเข้าถึงความรู้ด้านกฎหมายที่จะไม่ตัดขาดความรู้ทางกฎหมายกับระบบความรู้อื่น

ลักษณะอันเด่นชัด (ที่ไม่ได้หมายความว่า ‘ดี’) ประการหนึ่งในการศึกษากฎหมายของไทยก็คือ การแยกตัวออกจากระบบความรู้หรือศาสตร์ทางด้านอื่นๆ อย่างค่อนข้างเด็ดขาด นักกฎหมายอาจตอบได้ว่ากฎหมายครอบครัวจัดประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2478 แต่แทบทั้งหมดจะไม่สามารถอธิบายได้ว่าการเกิดขึ้นของกฎหมายครอบครัวนั้นสัมพันธ์อย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 อย่างไร

การจะทำความเข้าใจกฎหมายได้ จึงยากจะแยกตนเองออกมาจากความรู้ชุดอื่นๆ และเอาเข้าจริงก็อาจไม่ใช่เฉพาะความรู้ด้านประวัติศาสตร์ หากแต่ยังหมายรวมไปถึงศาสตร์ในด้านอื่นก็มีความจำเป็นด้วยเช่นกัน นักเรียนกฎหมายและความรู้ทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยควรต้องอ่อนน้อมถ่อมตนและเรียนรู้ความรู้ในด้านอื่นๆ ให้กว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

สาม ตรวจสอบถึงเป้าหมายของกฎหมาย

ด้วยการตระหนักถึงสถานะและความสัมพันธ์กับเงื่อนปัจจัยอื่น จะทำให้ความรู้ด้านกฎหมายต้องตระหนักถึงเป้าหมายในการมีอยู่ของระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ กฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนต้องจงรักภักดีอย่างไร้เงื่อนไข หากแต่มีเป้าหมายบางประการที่ต้องการจะบรรลุ

โลกที่อารยะและมีความเป็นเหตุเป็นผล กฎหมายต้องตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้คน หรือสามารถสร้างสภาวะแวดล้อมที่เปิดให้คนมีความสามารถในการพัฒนาศักยภาพให้ได้อย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้ การให้ความสำคัญกับการเล่นแร่แปรธาตุกับตัวบทกฎหมายอย่างมากได้ทำให้ไม่มีการตรวจสอบถึงเป้าหมายของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ว่าแท้จริงมีเหตุผลและความต้องการอย่างไร

แน่นอนว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้ทำให้นักเรียนกฎหมายสามารถทำคะแนนได้ดีในการสอบ ไม่ว่าจะเป็นในการเรียนหรือการสอบเพื่อทำงานทางด้านวิชาชีพในตำแหน่งต่างๆ คงไม่มีข้อสอบสำหรับตำแหน่งนิติกรหรือผู้พิพากษาที่จะมาตั้งคำถามความรู้ด้านประวัติศาสตร์กับผู้สอบ

แต่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์จะช่วยเปิดสายตาและมุมมองของนักเรียนกฎหมายให้กว้างขวางเพื่อที่จะก้าวไปสู่อนาคต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือทำให้นักเรียนสามารถมีความรู้อย่างเพียงพอต่อการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ที่มีคุณค่า และเอาเข้าจริงแล้วเป้าหมายดังกล่าวนี้ควรนับถือเป็นภารกิจพื้นฐานของการศึกษากฎหมายมากกว่าเพียงผลิตคนให้เป็นเพียงช่างเทคนิคทางกฎหมายที่พร้อมรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐได้ทุกเมื่อโดยไม่มีความกระดากใจ ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างดาษดื่นในสังคมแห่งนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save