fbpx

เราจะทำอย่างไรให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ต้องขายวิญญาณ

ข้อวิจารณ์ระบบการขอตำแหน่งวิชาการของอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล สั่นสะเทือนวงการนักวิชาการไม่มากก็น้อย ข้อวิจารณ์นี้อาจจะไม่จริงทั้งหมดสำหรับทุกคน อย่างที่อาจารย์ออกตัวไว้เองว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้บันทึกไว้ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยย่อมรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเป็นไปในสังคม

มหาวิทยาลัยไทยนั้นมีวิกฤตสาหัสรุมล้อมมากอยู่แล้ว ถ้าจะพูดคุยกัน ถามว่าตรงไหนไม่สาหัสมากจะง่ายกว่า เพราะจิ้มไปตรงไหนก็เน่าตรงนั้น เน่ามากหรือน้อยอีกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะมาก ที่น้อยนั้นไม่ค่อยมี การขอตำแหน่งวิชาการเป็นอุปสรรคใหญ่ที่บั่นทอนกำลังใจคนที่ยังสู้อยู่ในระบบ 

บทความนี้ถือว่าเป็นการชวนสนทนาต่อจากบทความ ‘คู่มือขายวิญญาณ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำถามว่า แล้วมหาวิทยาลัยไทยสามารถแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้หรือไม่ ถ้าแก้ไขได้จะแก้อย่างไร 

ถ้าวิเคราะห์ข้อวิจารณ์ทั้งสี่ข้อของอาจารย์สมชาย ปัญหาคือผู้ทรงคุณวุฒิที่จะรับอ่านผลงาน ผู้ทรงคุณวุฒินี่สำคัญมากเพราะคือผู้ชี้เป็นชี้ตายว่าผลงานของเราถึงขั้นหรือไม่ แต่ปัจจุบันมีทั้งปัญหาด้านวิชาการจริงๆ ว่าอาจารย์รุ่นใหม่ทำงานในพื้นที่ที่กว้างขวาง อาจจะข้ามศาสตร์หรือมีวิธีวิทยาใหม่ๆ ที่อาจารย์รุ่นเก่าตามไม่ทันหรือไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าความก้าวหน้ากลายเป็นความล้ำหน้า ไม่มีใครประเมินงานนั้นได้หรือประเมินไปก็ประเมินผิด ถ้าผู้ทรงคุณวุฒิใจกว้าง ปัญหานี้จากหนักก็อาจจะเบาได้ แต่ปัญหาอีกข้อซึ่งใหญ่หลวงคือ ความขัดแย้งส่วนตัว เช่น อาจารย์รุ่นใหม่อาจจะเคยวิพากษ์วิจารณ์ผู้อาวุโส หรือความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ เมื่อจุดยืนการเมืองอยู่คนละขั้วกันแล้วผู้อาวุโสถือโอกาสใช้เวทีประเมินผลงานวิชาการเป็นสังเวียนระงับข้อพิพาท 

แล้วจะแก้ปัญหาเรื่องผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไร


ปัญหาผู้ทรงคุณวุฒิคือปัญหาความโปร่งใส


กระบวนการขอตำแหน่งวิชาการนั้น การประเมินผลงานวิชาการเป็นลักษณะที่เรียกว่า single blind peer review กล่าวคือ เจ้าของผลงานไม่รู้ว่าใครประเมิน แต่ผู้ประเมินรู้ว่าเจ้าของผลงานคือใคร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้ประเมินใช้อคติส่วนตัวเข้ามาแทรกแซงการประเมินได้ง่ายอย่างยิ่ง เพราะผู้ถูกประเมินไม่มีวันสามารถตอบโต้กลับ 

กระบวนการนี้ต่างจากการประเมินเพื่อตีพิมพ์งานวิชาการในวารสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะยืนยันให้ใช้ระบบ double blind peer review ซึ่งจะปิดทั้งชื่อคนเขียนและคนประเมิน มีเพียงบรรณาธิการที่รู้ว่าใครเป็นใคร โดยหวังว่าความนิรนามนี้จะช่วยให้ได้ผลประเมินที่เป็นกลางที่สุด ไม่เอาอคติส่วนตัวมาเจือปน

ถามว่าระบบนี้มีช่องโหว่ไหม มีแน่ๆ เนื่องจากนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในเรื่องเดียวกันนั้นมีไม่กี่คน คนเขียนก็อาจจะพอเดาแนวทางคนประเมินถูกว่าน่าจะถูกส่งให้ใครประเมินบ้าง คนประเมินก็เดาถูกเหมือนกันว่างานชิ้นนี้ใครน่าจะเขียน แต่ก็ยังดีกว่าระบบ single blind peer review ซึ่งคนประเมินรู้ตัวคนเขียนรู้แน่ๆ เนื่องจากงานตีพิมพ์ออกมาแล้ว ไม่สามารถปกปิดตัวตนผู้เขียนงานได้อีกต่อไป 

single blind peer review ตอกย้ำปัญหาวัฒนธรรมของไทยคือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด คนทำงานไม่ต้องรับผิดชอบ (accountability) เนื่องจากไม่ต้องเปิดเผยตัวตน จะวิจารณ์งานอย่างไรก็ได้ จุดนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกับบรรณาธิการวารสาร ผู้ประเมินในขั้นตอนการตีพิมพ์นั้นเป็นผู้เสนอแนะ ส่วนบรรณาธิการเป็นผู้ตัดสินใจ บ่อยครั้งหากผู้ประเมินวิจารณ์งานมาแล้วบรรณาธิการไม่เห็นด้วย บรรณาธิการเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้ตีพิมพ์หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ยึดเอาชื่อเสียงวารสารและมาตรฐานในวงวิชาการเป็นหลักประกันไม่ให้บรรณาธิการนอกลู่นอกทาง หากเถลไถลไปคนอื่นก็ติฉินเอาได้จนวารสารนั้นเองตกต่ำสิ้นความน่านับถือ แต่ในการขอตำแหน่งนั้น ผู้บริหารหน่วยงานมีอำนาจน้อยเหลือเกินที่จะควบคุมผู้อาวุโสให้ประเมินตรงไปตรงมาได้ หรือร้ายกว่านั้นคือผู้บริหารกับผู้ประเมินเป็นขั้วการเมืองเดียวกันที่อยู่ตรงข้ามอาจารย์ผู้ขอตำแหน่งเสียด้วย เรียกว่าโอกาสรอดของอาจารย์รุ่นใหม่แทบไม่มี 

ทางออกที่ง่ายและรวดเร็ว แต่ได้ผลมากที่สุดคือบังคับให้ทั้งฝ่ายผู้ขอตำแหน่งและผู้ประเมินต้องเปิดเผยตัวตน เมื่อรู้ชื่อกันเสียแล้วก็เท่ากับบังคับให้ประเมินกันอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาที่เนื้องาน หากมีข้อคัดค้านที่ตัวบุคคลก็จะได้คัดค้านกันเสียให้สิ้นสงสัยตั้งแต่แรก 

แน่นอนข้อเสนอนี้มักถูกคัดค้านด้วยข้ออ้างว่าเกรงผู้ประเมินจะไม่สะดวกใจ หรือกริ่งเกรงอิทธิพลต่างๆ แต่อาจารย์รุ่นใหม่จะมีเขี้ยวเล็บอะไรไปข่มขู่หรือกดดันผู้อาวุโสเรื่องประเมินผลงาน ในทางกลับกันการประเมินเนื้องานอย่างตรงไปตรงมาด้วยน้ำใจสุจริตน่าจะเป็นเกราะบัง ศาสตร์พ้อง ให้แก่ผู้ประเมินได้แสดงเชิงชั้นด้านวิชาการและความกล้าหาญทางจริยธรรม ถึงที่สุด น่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์กันอย่างสร้างสรรค์ได้เสียที ดีกว่าวัฒนธรรมวิจารณ์ฝ่ายเดียวแบบที่เป็นอยู่

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save