fbpx

การเมืองเรื่องคําว่า ‘ยวน’ ในตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่

คนล้านนาเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ และใช้คําว่า ‘เมือง’ เป็นคุณศัพท์ขยายสัญชาติของวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เสื้อเมือง ซิ่นเมือง ลาบเมือง ไก่เมือง ฯลฯ แต่ในแวดวงวิชาการ (นักประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยาและอีกหลายๆ นัก) นิยมใช้คําว่า ‘ยวน’ แทนคําว่า ‘เมือง’ โดยส่วนมาก จนเราเข้าใจว่า ‘ยวน’ เป็นชื่อที่คนเมืองใช้เรียกตัวเองโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยเรียกตัวเองหรือได้ยินใครในล้านนาเรียกตัวเองว่าคนยวนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผู้เขียนมีโอกาสอ่านตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับ 700 ปี ซึ่งเป็นเอกสารสําคัญทางประวัติศาสตร์ของคนเมือง ไม่พบคําว่ายวนใช้เรียกคนเมืองเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่ พื้นเมืองเชียงแสน และ พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน นั้นพบคำว่ายวน ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของเมืองสำคัญนอกจากเชียงใหม่

บทความนี้เขียนเพื่ออภิปรายสาเหตุที่ไม่พบคําว่ายวนใน ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ โดยอาศัยบริบททางประวัติศาสตร์และลักษณะการใช้คําในวรรณกรรมและจารึกชิ้นอื่นๆ ประกอบการตีความโดยสังเขป

ประมวลความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ยวน’


ยวนเป็นคําที่ใช้เรียกคนล้านนาหรือ ‘คนเมือง’ กันอย่างแพร่หลาย คนไทยโดยทั่วไปอาจเคยได้ยินคําดังกล่าวจากวรรณคดีสมัยอยุธยาชื่อ ลิลิตยวนพ่าย (ล้านนาแพ้) ยวนยังอาจดัดแปลงรูปคําให้แปลกออกไปได้หลากหลาย เช่น ยน โยน โยนางค์ โยนก บางครั้งก็เอามาซ้อนกับคําว่าไทซึ่งเป็นชื่อแขนงชาติพันธุ์ กลายเป็น ‘ไทยวน’ ตามแต่จะเลือกใช้ ยวนเป็นคําที่นักมานุษยวิทยานิยมใช้เพื่อจําแนกคนเมืองออกจากไทกลุ่มอื่นๆ กระทั่งปัญญาชนล้านนาเองก็พบว่าใช้คําดังกล่าวในงานเขียนของตัวเองอยู่บ้าง

เนื่องจาก ‘ยวน’ เป็นคําสําคัญและเป็นชื่อของชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ในล้านนา ปัญญาชนล้านนาหลายคนจึงสรรหาคําอธิบายความหมายและที่มาที่ไปของคําดังกล่าว ลักษณะเดียวกับที่ครั้งหนึ่งปัญญาชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาขมักเขม้นหาความหมายและที่มาของคําว่า ‘สยาม’ อย่างจริงจัง ต้นตอของคําว่ายวนมีผู้เสนอหลายแนวคิด สรุปได้เป็นสี่กลุ่มหลักๆ ได้แก่

1. กลุ่มแนวคิดอิทธิพลภาษาบาลีสันสกฤต เสนอว่าคําว่ายวนเป็นคําที่ได้รับมาจากภาษาในอนุทวีปอินเดีย เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร เสนอว่า ‘ยวน’ แผลงมาจากคําว่า ‘โยน’ (โย-นะ) ในภาษาบาลี สอดคล้องกับกรมพระสมมติอมรพันธุ์ทรงสันนิษฐานว่าคําว่า ‘โยนก’ มาจากภาษาอินเดีย ที่หมายถึงทิศเหนือ ทิศต้นน้ำ รวมถึงความเหนือกว่าในเชิงการเปรียบเทียบ

2. กลุ่มแนวความคิดอิทธิพลภาษาพม่าเสนอว่าคําว่ายวนได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่า เช่น ธำรงศักดิ์ ทําบุญ เสนอว่าคําว่ายวนนั้นมีที่มาจากคําที่ชาวพม่าใช้เรียกคนล้านนา จิตร ภูมิศักดิ์ยังสันนิษฐานต่อไปอีกว่า ‘ยวน’ อาจมีที่มาจากคําว่า ‘ยูน’ หรือ ‘ยวนะ’ ในภาษาพม่าที่แปลว่า ‘ข้าทาส’

3. กลุ่มแนวคิดอิทธิพลภาษาอื่นเสนอว่าคําว่ายวนเป็นคําที่เพี้ยนเสียงมาจากคําในภาษาอื่น เช่น นายแพทย์วิลเลียม คลิฟตัน ดอดจ์สันนิษฐานว่า ‘ยวน’ เพี้ยนมาจากคําว่า ‘ยาง’ ที่เป็นชื่ออาณาจักรของคนกะเหรี่ยงที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนคนไท ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ก็อธิบายที่มาของคําว่าเพี้ยนมาจากคําว่า ‘ยาง’ เช่นกัน โดยเสนอว่าเป็นชื่ออาณาจักรโบราณของพวกละว้า ในขณะที่พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เสนอว่า ‘ยวน’ เพี้ยนมาจากคําว่า ‘ยุนชาง’ หรือ ‘ฮวนชาง’ ในภาษาจีนที่แปลว่า ‘คนสยามต่างประเทศ’ เป็นต้น

4. กลุ่มแนวคิดคําดั้งเดิม เชื่อว่า ‘ยวน’ หรือ ‘โยน’ นั้นเป็นคําดั้งเดิม เช่น มานิต วัลลิโภดม เห็นว่าคําว่ายวนนั้นเป็นคําดั้งเดิม มาจากชื่อเมืองหลวงเก่าคือ ‘โยนกนคร’ ในขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่าเป็นชื่อของดินแดนและประชากรคนไทในถิ่นลุ่มน้ำกกและอิง เมื่ออิทธิพลของคนไทแผ่เข้ามายังลุ่มน้ำปิงและวัง ชื่อยวนหรือโยนกนั้นจึงได้แผ่ขยายตามมา

เมื่อมองออกไปนอกแผ่นดินล้านนา พบว่าชาติพันธุ์เพื่อนบ้านของคนล้านนา ไม่ว่าจะเป็นคนพม่า คนมอญ คนไทใหญ่ คนไทขึน คนไทยใต้ คนลาว ล้วนแล้วแต่เรียกคนล้านนาว่ายวนหรือโยนทั้งสิ้น แต่ในกรณีของคนไทยใต้นั้น แม้จะเรียกคนล้านนาว่า ‘ยวน’ ในบางโอกาส แต่เหมือนคําว่า ‘ลาว’ จะติดปากกว่า เพราะแม้กระทั่ง ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้คำว่ายวนในภาษาไทยสยามก็ยังเรียกล้านนาว่าลาวเป็นหลัก แทบไม่ได้ใช้คําว่ายวนเลยด้วยซ้ำไป

ยวนหายไปไหน


คนล้านนาเองก็ (ดูเหมือนจะ) เรียกตัวเองว่ายวนบ้างในบางกรณี ดังเช่นที่ไกรศรี นิมมานเหมินท์เคยบันทึกไว้ว่า คนล้านนาที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองเชียงแสนลงมาอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นคนเมือง แต่ถือว่าตนเป็น ‘ยวน’ หรือ ‘ไทยยวน’ ผลการศึกษาจารึกใบลานล้านนาหลายฉบับโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียวยังพบว่าคนล้านนาใช้ทั้งคําว่า ‘ไทย’ และ ‘ยวน’ ในการนิยามตัวเอง แต่แม้ตํานานหลายๆ เรื่องจะใช้คําว่า ‘ยวน’ หมายถึงคนล้านนา แต่บันทึกประวัติศาสตร์สําคัญของเมืองศูนย์กลางล้านนาอย่าง ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ กลับแทบไม่ได้ใช้คําว่ายวนเลย พบเพียงสองแห่งเท่านั้นในบันทึกเหตุการณ์ต่างยุคต่างสมัย ได้แก่ ความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในล้านช้างว่า “ในปลีรวงใค้นั้นยวนเสิกมารบเมืองล้านช้าง” และความอีกตอนหนึ่งที่พระเจ้ากาวิละสาปลูกหลานไม่ให้นำล้านนาไปขึ้นกับเมืองของชนชาติอื่นๆ ว่า “ปุคละผู้ใดยังมีใจใคร่ขบถฟื้นด้วยพระมหากระสัตรเจ้ากรุงสรีอยุทธิยา แลจักเอาตัวแลบ้านเมืองไปเพิ่งเปนข้าม่าน ข้าหร้อ ข้าคูลวากาสี แกวยวน ดังอั้นก็ดี ปุคละผู้นั้นคึดบ้านอย่าหื้อเปลือง คึดเมืองอย่าหื้อหม้า”

 
หากพิจารณาดีๆ จะเห็นได้ว่า ‘ยวน’ ทั้งสองคําแห่งนี้ ไม่ได้หมายถึงไทยยวนหรือคนเมือง แต่หมายถึง ‘ญวน’ คือคนเวียดนาม ยวนในข้อความแรกหมายถึงกองทัพเวียดนามที่เข้ามาช่วยเมืองพวนเชียงขวางแข็งเมืองต่อเจ้านันทเสนเวียงจันทน์เมื่อปี 1786 (จ.ศ.1153) แต่ไม่สําเร็จ ส่วนยวนในข้อความหลัง เป็นการสาปแช่งลูกหลานที่คิดจะเอาบ้านเอาเมืองไปเป็นข้าของชาวต่างชาติ เช่น ม่าน (พม่า) หรือ (จีนยูนนาน) คูลวากาสี (แขก) และแกวยวน (ญวน) ถ้าตีความคําว่ายวนหมายถึงคนล้านนาคงจะแปลกพิลึก


เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่า ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไม่มีคำว่า ‘ยวน’ ที่หมายถึงคนล้านนาหรือคนเมืองเลยแม้แต่คําเดียว มีแต่ ‘ญวน’ ที่สลับมาเขียนด้วย ย.ยักษ์ เท่านั้น เมื่อจะกล่าวถึงคนล้านนาจริงๆ กลับเรียกเป็น ‘ไทย’ (อ่านว่าไต) แทน ในเอกสารประวัติศาสตร์ของเมืองน่านอย่าง พื้นเมืองน่าน ก็ไม่พบคำว่ายวนเช่นกัน อาจเป็นเพราะชนชาติดั้งเดิมของเมืองน่านนั้นคือ ‘กาว’ หรือ ‘กาวไทย’ ไม่ใช่ยวน จึงไม่มีความผูกพันกับคำว่ายวนมากเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม พื้นเมืองเชียงแสน และ พื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน ยังเรียกล้านนาว่าเมืองยวนบ้าง เมืองไทยยวนบ้าง โยนกประเทศบ้าง เมืองยวนเชียงแสนเป็นคำปกติสามัญ

ทําไมไม่มียวน

ในขณะที่ปราชญ์เชียงแสนเรียกบ้านเมืองตัวเองว่าเป็น ‘เมืองยวนเชียงแสน’ เพราะเหตุใด ปราชญ์เชียงใหม่ ผู้เรียบเรียงตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ จึงไม่เรียกเชียงใหม่ว่า ‘เมืองยวนเชียงใหม่’ บ้าง

แม้วรรณกรรมและจารึกภาษาล้านนายุคต้นๆ (รวมถึงที่แต่งในเชียงใหม่) จะปรากฏคำว่ายวนให้เห็นบ้าง แต่คำดังกล่าวไม่น่าจะเปนคําติดปากคนล้านนามาตั้งแต่เดิม สังเกตได้จากวิธีคิดของคนล้านนาสมัยก่อนศตวรรษที่ 18 เมื่อจะเรียกสิ่งของและวัฒนธรรมต่างๆ ที่ถือว่า ‘เป็นแบบล้านนา’ แล้ว มักจะเติมสร้อยให้เป็นแบบ ‘ไท/ไทย’ ทั้งสิ้น เช่น ธรรมเนียมการเขียนวันเดือนปีในบันทึกหรือ จารึกต่างๆ ของคนล้านนามักใช้ระบบการนับเวลาของคนต่างชาติ เช่น ระบบการนับวัน เดือน ปี คนล้านนาจะเรียกระบบนับสัปดาห์รอบละเจ็ดวัน (อาทิตย์ถึงเสาร์) ว่าวันเม็ง (มอญ) เรียกระบบปีนักษัตรรอบละสิบสองปี (ชวดถึงกุน) ว่าปีขอม (เขมร) ส่วนระบบนับวันและปีแบบพื้นถิ่นที่มีรอบหกสิบวันนั้นว่าเป็นวัน/ปีไท ไม่ได้เรียกว่าวัน/ปียวนแต่อย่างใด

กระทั่งภาษาที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ‘คำเมือง’ ก่อนที่คําว่า ‘เมือง’ จะถือกําเนิดขึ้นเป็นคำคุณศัพท์บอกชนชาติ คนล้านนาเรียกภาษาของตนว่า คําไท ไทยภาษา ไทยโวหาร ไม่เคยพบว่าเอกสารล้านนาชิ้นไหนเรียกคําเมืองว่า คําโยน โยนภาษา หรือโยนโวหาร ใน โคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งเป็นวรรณกรรมภาษาล้านนาชิ้นเก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ สันนิษฐานกันว่าแต่งขึ้นมาราวปลายศตวรรษที่ 15 ต้นศตวรรษที่ 16 ก็ไม่พบคําว่ายวนเลยแม้แต่ครั้งเดียว กลับเรียกคนล้านนาเป็นคนไทย ไม่ได้เรียกว่าคนยวน มีแต่ในวรรณกรรมภาษาบาลีอย่าง ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ใช้คำว่า ‘โยนรัฏเฐ’ เรียกเมืองเชียงแสน โดยมีความหมายไม่ครอบคลุมถึงเมืองอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ที่มีชื่อภาษาบาลีว่า ‘พิงครัฏเฐ’ หรือเวียงพิงค์ตามชื่อแม่น้ำปิง

ในแง่นี้คิดได้ว่าคำว่ายวนหรือโยน (โย-นะ) คงจะเป็นคำที่ใช้ในแวดวงการเขียนภาษาบาลีเป็นหลัก เพราะในวรรณกรรมภาษาล้านนาที่แต่งถัดจากนั้นมาคือ โคลงมังทรารบเชียงใหม่ แม้จะพบคำว่ายวนบ้างแต่ก็ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับคำว่าไท/ไทยซึ่งดูจะเป็นคำสามัญ คำว่าไท/ไทยในที่นี้ นอกจากจะใช้เป็นชื่อกลุ่มชนชาติได้แล้ว ยังใช้ในความหมายทั่วไปว่า ‘คน’ ได้ด้วย เช่น ไทยนคร หมายถึงชาวนครลำปาง แต่ก็อยู่บนเงื่อนไขว่าจะกลุ่มคนที่จะถูกกล่าวถึงด้วยคำว่าไท/ไทยได้นั้นต้องเป็นกลุ่มคนไทในเชิงชาติพันธุ์ด้วย ดังนั้นจะไม่พบการใช้คำว่าไทอังวะ เพื่อกล่าวถึงชาวเมืองอังวะซึ่งน่าจะมีประชากรหลักเป็นคนพม่า เป็นต้น

ว่าด้วย โคลงมังทรารบเชียงใหม่ เป็นวรรณกรรมประเภทนิราศที่ดูจะเป็นบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของขุนนางผู้หนึ่งซึ่งน่าจะอยู่ในเหตุการณ์การโจมตีเมืองเชียงใหม่ของพระเจ้าสุทโธธรรมราชาใน พ.ศ.2157-2158 ตัวบทเองน่าจะประพันธ์ขึ้นในช่วงนั้น ในขณะนั้น ราชวงศ์ตองอูได้เข้ามาปกครองเมืองเชียงใหม่ได้หลายสิบปีแล้ว ผู้ปกครองชาวพม่าน่าจะนําวัฒนธรรมหลายอย่างมาเผยแพร่ในเชียงใหม่ อย่างน้อยก็น่าจะพกพาภาษาพม่าซึ่งเป็นภาษาแม่ของตนเข้ามาด้วย ดังจะเห็นได้จากการจัดทำจารึกภาษาพม่าที่ฐานพระพุทธรูปชื่อ ‘พระเจ้าเมืองราย’ คำศัพท์ภาษาพม่าจึงน่าจะปะปนกับภาษาล้านนาในขณะนั้น อย่างน้อยก็ในระดับภาษาเขียนซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในหมู่ผู้ปกครองอันมีคนพม่าเป็นส่วนหนึ่งด้วย คำว่ายวนซึ่งเป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกคนล้านนาก็อาจเข้ามามีอิทธิพลในหมู่ผู้อ่านออกเขียนได้ของล้านนาในช่วงนั้นเช่นกัน

หากคิดว่าการใช้คำว่ายวนในภาษาล้านนาเกิดจากอิทธิพลของภาษาพม่านั้น ก็จะไม่แปลกเลยที่ พื้นเมืองเชียงแสน และ พื้นเมืองเชียงรายเชียงแสน จะใช้คำดังกล่าวเป็นคำปกติสามัญ เพราะเมืองเชียงแสนและเมืองเชียงรายนั้นเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางชาวพม่าเข้มข้นยิ่งกว่าเมืองเชียงใหม่และเมืองน่าน ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สันนิษฐานว่าเอกสารทั้งสองฉบับถูกประพันธ์ขึ้นนั้น เชียงแสนเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชสำนักพม่าเพื่อควบคุมเชียงใหม่ซึ่งมักแข็งขืนและเริ่มได้รับอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา ผู้แต่ง พื้นเมืองเชียงแสน และ พื้นเมืองเชียงราย ซึ่งน่าจะเป็นผู้มีความรู้และคลุกคลีในแวดวงชนชั้นสูงลุ่มน้ำกก-โขง และน่าจะคุ้นเคยกับขุนนางคนพม่าและไทใหญ่ที่เข้ามาประจำการในแถบนั้น ก็น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ยวน’ หรือ ‘โยน’ ที่ใช้โดยขุนนางดังกล่าว จึงรับมาใช้ในงานของตนด้วย ในขณะที่ปราชญ์ทางเชียงใหม่อาจไม่คุ้นเคยหรือคลุกคลีกับขุนนางคนพม่าและไทใหญ่เท่า จึงไม่ได้ใช้คำดังกล่าวมากนัก


แม้ความแพร่หลายของคำว่า ‘ยวน’ ในภาษาล้านนาน่าจะเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของภาษาพม่า แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าคำดังกล่าวจะมาจากคำในภาษาพม่าที่แปลว่า ‘ข้าทาส’ ดังที่จิตร ภูมิศักดิ์เสนอไว้ เพราะคำว่าข้าทาสในภาษาพม่าสะกดว่า ကျွန် อ่านว่า กฺยวน (ออกเสียงคล้ายๆ จวน) ส่วนคำว่ายวนที่ใช้เรียกคนล้านนานั้น สะกดว่า ယွမ် ออกเสียงว่า ยวน จะเห็นได้ว่าสะกดและออกเสียงต่างกันอยู่ กระนั้นการที่ไม่พบคำว่ายวนใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เลยก็ยังอาจเกี่ยวข้องกับวาระทางการเมือง ซึ่งเป็นกรอบการมองที่จิตร ภูมิศักดิ์มักใช้พินิจมองความเป็นไปของชื่อชนชาติต่างๆ ด้วยเช่นกัน เพราะ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ นี้เป็นวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงขึ้นโดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เพื่อเสริมสร้างสิทธิธรรมของราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนเหนือผู้ปกครองกลุ่มที่มีอำนาจในเชียงใหม่มาก่อนหน้า ก็คือกลุ่มของพม่าในราชวงศ์คองบอง ดังนั้น ผู้แต่ง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ จึงอาจพยายามเลี่ยงคำว่ายวนซึ่งเป็นคำติดปากของผู้ปกครองคนพม่า เพื่อลบร่องรอยของพม่าออกไปจากประวัติศาสตร์ เหมือนๆ กับที่เรื่องราวของเชียงใหม่ภายใต้อำนาจราชสำนักพม่านั้นก็เลือนรางเต็มทนในวรรณกรรมเรื่องเดียวกัน คงจะด้วยเหตุเดียวกันนี้เอง จึงพบการใช้คำยืมภาษาพม่าใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เพียง 5 คำ ในขณะที่พบใน พื้นเมืองเชียงแสน 16 คำ ทั้งที่ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ นั้นมีขนาดยาวกว่า อาจถือเป็นการหนุนเสริมวาระทางการเมืองของการชำระประวัติศาสตร์โดยอาศัยการเลี่ยงสรรคำอย่างแนบเนียน

บทส่งท้าย


คําว่า ‘ยวน’ ในจักรวาลความนึกคิดของคนล้านนา อาจคล้ายกับคําว่า ‘สยาม’ ในจักรวาลความนึกคิดของคนไทยใต้ คือรับรู้ว่ามีอยู่และเป็นคําที่ใช้เรียกตัวเองได้ แต่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจําวันบ่อยนัก นิยมใช้ในภาษาเขียนหรือวรรณกรรมมากกว่า ดังจะเห็นได้ว่าถ้าไปถามใครในกรุงเทพฯ ว่าเป็นคนชาติไหน ไม่ว่าปัจจุบันหรือเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว ก็คงจะตอบว่าเป็นคนไทย แต่ก็รู้จักคําว่าสยามเช่นนั้นเอง

แม้ว่าถึงปัจจุบัน ‘ยวน’ จะเดินทางมาไกลจากรากศัพท์มากแล้ว และตัวตนของคนล้านนาก็เลื่อนไหลไปจากจุดเดิมมาก จนตอนนี้จะเรียกคนล้านนาด้วยคําว่ายวนหรือไม่ก็อาจไม่สําคัญนัก แต่การทําความเข้าใจที่มาที่ไปของถ้อยคําที่คนล้านนาใช้เรียกตัวเอง ย่อมเปิดทางให้สามารถเข้าใจตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดของคนล้านนา และจะช่วยแต่งเติมให้ประวัติศาสตร์ล้านนามีเรื่องของจิตวิญญาณ ตัวตน และความรู้สึกนึกคิดผู้คน ไม่ได้เป็นเรื่องของบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองแต่เพียงอย่างเดียว




รายการอ้างอิง

กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม สปป.ลาว, ประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดําบรรพ์–ปัจจุบัน). แปลโดยทรงคุณ จันทจร (กาฬสินธุ์: สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยสารคาม, 2551)

กรมศิลปากร, จารึกล้านนา ภาค 2. เล่ม 1. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2551)

คณะอนุกรรมการสอบและชําระตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี. (เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538)

เตือนใจ ไชยศิลป์, ล้านนาในความรับรู้ของชนชั้นปกครองสยาม พ.ศ.2437-2476. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536)

ธเนศวร์ เจริญเมือง, คนเมือง ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ พ.ศ.2317-2552. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

ธํารงศักดิ์ ทําบุญ, กําเนิดอาณาจักรลานนาไทย. (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529)

ประชากิจกรจักร, พระยา, พงศาวดารโยนก (พระนคร: ศิลปะบรรณาคาร, 2507)

มานิต วัลลิโภดม, สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2521)

ลิลิตยวนพ่าย. พิมพ์ครั้งที่หก.(กรุงเทพฯ: คลังวิยา, 2517)

วิจิตรมาตรา, ขุน, หลักไทย. (กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ, 2519)

วิลเลียม คลิฟตันดอดด์, ชนชาติไทย. แปลโดยหลวงนิเพทน์นิติสรรค์(ฮวดหลี หุตโกวิท) พิมพ์ในงานศพ นาง ราชา ภิรมย์ 9 ตุลาคม 2511

วสันต์ ปัญญาแก้ว, บรรณาธิการ, ตัวตนคนเมือง 100 ปี ชาตกาล ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ .(เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555)

ศรีศักร วัลลิโภดม, ล้านนาประเทศ (กรุงเทพ: ศิลปวัฒนธรรม2545)

ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยา, ปกีรณําพจนาตถ์. (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, 2473)

รัตนปัญญาเถระ, ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลจากภาษาบาลีโดย แสง มนวิทูร.(พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, 2510)

สิงฆะ วรรณสัย, โคลงมังทรารบเชียงใหม่. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานฉลองอายุครอบ7 นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ (.ป.ท. 2522).

สรัสวดี อ๋องสกุล, ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ห้า.(กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2551)

สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองเชียงแสน ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 4. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2549)

สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่2. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2549)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save