fbpx

เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง: ผู้หญิงล้านนากับการสงคราม

แม้ว่าบทบาทการรบทัพจับศึกส่วนมากในสังคมต่างๆ ทั่วโลกมักเป็นของเพศชาย แต่ผู้นำทางการทหารที่เป็นเพศหญิงนั้น มิใช่จะไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ เช่นในฝรั่งเศส มีเรื่องเล่าขานของเด็กสาวชาวบ้านนามว่า โจนออฟอาร์ค (Joan of Arc) หรือ ฌานดาร์ค (Jean d’Arc) ลุกขึ้นนำกองทหารฝรั่งเศสขับไล่ผู้รุกรานชาวอังกฤษระหว่างสงครามร้อยปี ในหมู่เกาะบริเตนโบราณมีราชินีบูดิกา (Boudica) นำชาวเคลติกต่อต้านการขยายตัวของจักรวรรดิโรมัน หรือในประวัติศาสตร์เวียดนามก็ปรากฏชื่อของสามพี่น้องตระกูลตรัง (The Trang Sisters) นำชาวเวียดนามลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนราชวงศ์ฮั่นเช่นกัน

ในกรณีของล้านนาซึ่งสตรีมีบทบาทมากจนทัดเทียมกับบุรุษในบางมิตินั้น มีเรื่องราวของนักรบหญิงหรือผู้นำทางการเมืองในยามสงครามที่เป็นสตรีหลายคนจดจารในเอกสารต่างๆ ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ ตำนาน และวรรณกรรม จนนำมาเล่าขานต่อให้ ‘ไม่รู้ลืม’ ได้บางเรื่องในบทความนี้

กู่นางหาญ เมื่อเชลยหญิงจับดาบ

ในช่วงต้นราชวงศ์มังราย ความเป็นปึกแผ่นของอาณาจักรล้านนายังไม่มั่นคงนัก หัวเมืองต่างๆ ถูกปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ซึ่งต่างรู้สึกว่าตนมีสิทธิเป็นกษัตริย์และต้องการราชสมบัติด้วยกันทั้งนั้น ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองในอาณาจักรสั่นคลอนไปด้วย เป็นเหตุให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติเชียงใหม่บ่อยครั้ง ซึ่งคู่ขัดแย้งมักเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายแคว้นพิงค์ (พิงครัฐ) หรือบ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำปิง-วัง ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองเชียงใหม่ และเชื้อพระวงศ์ฝ่ายแคว้นโยน (โยนรัฐ) หรือบ้านเมืองในแถบลุ่มน้ำกก ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองเชียงราย/เชียงแสน การแย่งชิงบัลลังก์ดังกล่าวนำมาสู่สงครามกลางเมืองล้านนาหลายต่อหลายครั้ง ครั้งที่เป็นที่รู้จักที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นหลังการสิ้นชีวิตของพญากือนาธรรมิกราชใน พ.ศ.1931 เสนาอำมาตย์ในเมืองเชียงใหม่ต่างยกราชบุตรชื่อแสนเมืองมาขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อจากพญากือนาผู้พ่อ อย่างไรก็ตาม ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายผู้เป็นน้องชายของพญากือนาก็ต้องการราชสมบัติเหมือนกัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“ในเมื่อบ่ทันเสียคราบเจ้าพญากือนาเทื่อ ยังเอาไว้บ้านเหนือเวียงทัดโท่งวัดพราหมณ์หั้น เมื่อนั้น พ่อท้าวมหาพรหมตนกินเชียงรายรู้ข่าวว่าพี่ตนเจ้ากือนาตายยังไป่เสียเทื่อ จักมาชิงเจ้าแสนเมืองมาหลานตนกินเชียงใหม่ จึงอุบายว่าจักมาส่งสะกานพี่ตน เอาริพลยกจากเมืองเชียงรายมารอดแช่สัก ถอดนาผู้กินแช่สักแหล่เวียงชุคน แต่งบ่าวแห่งตนกินเสียชุแห่ง แล้วเข้ามาเมืองเชียงใหม่ตั้งทัพอยู่ที่หนองชี พายลูนแปรชื่อว่าหนองพะชีต่อเท้าบัดนี้”

(เมื่อยังไม่ทันปลงศพเจ้าพญากือนา ยังเอาไว้บ้านเหนือเวียงตรงทุ่งวัดพราหมณ์นั้น เมื่อนั้น พ่อท้าวมหาพรหมผู้ครองเชียงรายรู้ข่าวว่าเจ้ากือนาพี่ตนตายยังไม่ทันใด จะมาแย่งเจ้าแสนเมืองมาหลานตนครองเมืองเชียงใหม่ จึงออกอุบายว่าจะมาปลงศพพี่ตน แล้วเอาไพร่พลจากเมืองเชียงมาถึงแช่สัก ถอดนาผู้ปกครองแช่สักทุกคน และนำพรรคพวกของตนครองแช่สักแทน จากนั้นเข้าเขตเชียงใหม่มาตั้งทัพอยู่บริเวณหนองชี ซึ่งภายหลังเรียกว่าหนองพะชีมาถึงบัดนี้)

อย่างไรก็ตาม ขุนนางอำมาตย์ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ นำโดยแสนผานอง ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีไม่หลงเชื่อตามกลอุบายของท้าวมหาพรหมจึงจัดสรรกำลังพลรักษาเมืองไว้อย่างหนาแน่น ท้าวมหาพรหมเห็นเช่นนั้นจึงถอยทัพไปกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินที่เวียงกุมกามทางตอนใต้ของเวียงเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ได้เพียงผู้หญิง ครอบครัว และข้าวของเงินทองของชาวเวียงกุมกามเท่านั้น (น่าจะเป็นเพราะว่าผู้ชายและช้างม้าวัวควายถูกระดมไปเข้ากองทัพหมดแล้ว) จากนั้นท้าวมหาพรหมก็พักทัพอยู่ที่กาดอ้ายช้างบริเวณริมแม่น้ำปิงในเวียงกุมกาม แสนผานองจึงจัดกำลังพลชาวเวียงกุมกาม 7,000 คนลอบเข้าตีทัพของท้าวมหาพรหมยามดึก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกไว้ว่าเหตุแห่งชัยชนะของแสนผานองเกิดจาก

“ยามเที่ยงคืน ชาวกุมกามย่องไปหาหมู่ลูกเมียเขา ลูกเมียเขาได้ยินปากผัวเขา ผู้ญิงทังหลายฝูงนั้นย่องเอาดาบบ่าวท้าวมหาพรหมได้ เขาพร้อมกันเอาดาบฟันบ่าวท้าวมหาพรหมตายมากนักเอาข้าวของออกมาให้ผัวเขา ในที่อันบ่าวท้าวมหาพรหมตายนั้น พายลูนคนทังหลายก่อกู่เจติยสร้างหือเป็นวัดจึงเรียกว่าวัดกู่นางหาญมาต่อเท่าบัดนี้แล”

(ยามเที่ยงคืน ชาวเวียงกุมกามย่องไปหาลูกเมียของตน เมื่อลูกเมียได้ยินคำพูดของสามีตนนั้น ผู้หญิงทั้งหลายก็ย่องเอาดาบจากคนของท้าวมหาพรหมได้ เขาเหล่านั้นพร้อมใจกันเอาดาบฟันคนของท้าวมหาพรหมตายมากนัก ที่ซึ่งคนของท้าวมหาพรหมตายนั้น ภายหลังคนทั้งหลายก่อพระเจดีย์ให้เป็นวัดเรียกว่าวัดกู่นางหาญจนถึงบัดนี้)

วัดกู่นางหาญดังกล่าว ปัจจุบันไม่ปรากฏชัดเจนว่าอยู่ที่ไหนแต่น่าจะเป็นวัดหนึ่งในเวียงกุมกาม (ซึ่งถึงปัจจุบันก็ยังคงขุดค้นไม่ทั่วถึง) ตำนานท่อนดังกล่าวคล้ายคลึงกับเรื่องราวของท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์สยาม และเป็นครั้งแรกที่บทบาทของผู้หญิงถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์การรบของล้านนา

นางเมือง มารดาหมื่นหาญแต่ท้อง และปฐมบทมหาสงครามล้านนา-อยุธยา

หลังจากพ่ายศึกครั้งแรกไปแล้ว ท้าวมหาพรหมได้เดินทางลงใต้ไปพึ่งกษัตริย์อยุธยาชื่อพญาใต้บรมไตรจักร ซึ่งน่าจะเป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว โดยหลักฐานทั้งฝ่ายอยุธยาและฝ่ายล้านนาบันทึกไว้ตรงกันว่าทางอยุธยาส่งกำลังขึ้นมาช่วยท้าวมหาพรหมชิงบัลลังก์จากพญากือนาอีกครั้ง พงศาวดารฝ่ายอยุธยากล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่ากองทัพของสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่และลำปางแต่ไม่แตก จึงได้แต่ส่งสาสน์หย่าศึกไปให้เจ้าเมืองลำปางชื่อหมื่นนคร (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าชื่อหมื่นลกนคร) ออกมาถวายบังคม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์รบดังกล่าวไว้เพิ่มเติมว่า

“แต่ท้าวมหาพรหมไปเพิ่งพญาใต้ได้ 2 เดือนปลาย 12 วัน พ่อท้าวมหาพรหมชวนพญาใต้เอาพลเสิกขึ้นมาทางนคร หมื่นลกขี่ช้างอ้ายออกต้อนรบทัดวัดเชียงภูม ช้างใต้หันกลัวหนตกน้ำบ่อหั้นแล แล้วชาวใต้เอาพลเสิกออกมาหาเมืองพิง แสนผานองเอาริพลเสิกออกต้อนรบชาวใต้ ชาวใต้ลวดหักหนีเมือทางเมืองใต้หั้นแล”

(ตั้งแต่ท้าวมหาพรหมไปพึ่งกษัตริย์ใต้ได้ 2 เดือน 12 วัน ท้าวมหาพรหมชวนกษัตริย์ใต้ยกพลศึกขึ้นมาทางเมืองนคอร (ลำปาง) หมื่นลกขี่ช้างพลายออกรบที่วัดเชียงภูมิ ช้างใต้เห็นแล้วกลัวถอยตกบ่อน้ำเช่นนั้นแล แล้วชาวใต้ยกทัพมาเมืองพิง (เชียงใหม่) แสนผานองยกทัพออกรบกับชาวใต้ ชาวใต้จึงถอยร่นกลับเมืองใต้นั้นแล)

วัดเชียงภูมิซึ่งเป็นยุทธภูมิดังกล่าวนั้น ปัจจุบันคือวัดปงสนุกในอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง หมื่นลกหรือหมื่นลกนครที่กล่าวถึงนี้ ต่อมามีบทบาทช่วยค้ำบัลลังก์ของพระเจ้าติโลกราชและได้เลื่อนขั้นเป็นหมื่นลกสามล้าน (หมื่น หมายถึงเป็นขุนนางชั้นหมื่น ลก หมายถึงเป็นลูกชายคนที่หก นคร หมายถึงได้ครองเมืองนครหรือจังหวัดลำปางในปัจจุบัน สามล้านเป็นศักดินาแสดงยศศักดิ์) อย่างไรก็ตาม ตำนานชื่อ ตำนานจุมภิตนคร ซึ่งเรียบเรียงความเป็นมาของพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางได้กล่าวถึงเหตุการณ์ชนช้างดังกล่าวไว้อีกสำนวนหนึ่งว่า

“เรียงนั้นไปหน้าบ่นานเท่าใด ราชาพระญาใต้เอาหมู่ริพลสกลเสนาขึ้นมาว่า จักรบจักปองเอาเมืองว่าอั้น จักรบชนพ่อเจ้าเมืองหานแต่ท้องแล แม่เจ้าเมืองหานแต่ท้องอันยังทรงคัพภะ มานเจ้าเมืองหานแต่ท้อง นางก็กล้าหานนัก นางก็ห่มเครื่องเขราะขร่าย แล้วขับหมู่ริพลออกรบ หื้อตียังดุริยดนตรี 5 จำพวกแลหื้อเขาตีฝุ่นและลากเฟือยไม้ตีดินโห่เข้าไปว่าพระญาเจ้ามาทันแล้วแลว่าอั้น ทีนั้นพระญาใต้ได้ยินนัก เขาก็จิ่งหักค้านพ่ายหนีล่องลำน้ำไป แม่เจ้าเมืองหานแต่ท้องไล่ชนช้างพระญาใต้หักค้านตกน้ำที่นั้นมากนัก ยินม่วนนัก ที่นั้นจิ่งได้ใส่ชื่อว่า มหาสนุก เพื่ออั้นแล ทีนั้นพระเปนเจ้าพระญาลกฅำได้ยินประวัติข่าวสารดังอั้น ก็จิ่งรีบเอาริพลเสนามากับพ่อเจ้าเมืองหาญแต่ท้องพากันมาไล่ข้าเสิก เขากลัวก็ล่องหนีพายไปสิ้นแล”

(ถัดจากนั้นต่อไปไม่นานเท่าใด ราชากษัตริย์ใต้ยกกองทัพขึ้นมาว่าจะตีเอาเมืองว่าเช่นนั้น จะรบชนช้างพ่อเจ้าเมืองหาญแต่ท้อง แม่เจ้าเมืองหาญยังตั้งครรภ์ อุ้มท้องเจ้าเมืองหาญแต่ท้องไว้ นางก็กล้าหาญนัก นางใส่เสื้อเกราะตาข่ายแล้วนำทัพออกรบ ให้ตีเครื่องสัญญาณดนตรีรบทั้ง 5 และให้ตีฝุ่นรวมถึงลากพุ่มไม้ไปกับดินพลางโห่ร้องว่าทัพหลวงมาทันแล้ว กษัตริย์ใต้ได้ยินจึงยอมแพ้ถอยร่นหนีไปตามลำน้ำ แม่เจ้าเมืองหาญแต่ท้องไล่ชนช้างกษัตริย์ใต้แพ้หนีตกน้ำในที่นั้นมากนัก เป็นที่สนุกครื้นเครง ที่นั้นจึงได้ตั้งชื่อว่ามหาสนุกเพราะเช่นนั้นแล ทีนั้นพระเป็นเจ้าลกฅำ (พระเจ้าติโลกราช) ได้ยินข่าวจึงยกกองทัพมากับพ่อเจ้าเมืองหาญแต่ท้องพากันไล่ข้าศึก เขากลัวก็ฃ่องน้ำหนีกลับไป)

ด้วยเหตุที่ว่าภรรยาของเจ้าเมืองนครลำปางขี่ช้างออกรบทั้งที่ยังท้องแก่ เมื่อนางคลอดบุตรแล้วเป็นลูกชายจึงได้ชื่อว่า ‘หาญแต่ท้อง’ หรือ ‘กล้าหาญตั้งแต่ยังอยู่ในท้อง’ ตามวีรกรรมของผู้เป็นมารดานั่นเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในวีรกรรมดังกล่าวยังมีข้อน่าปวดหัวอยู่ประการหนึ่งคือ ในขณะที่ทั้ง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกไว้ตรงกันว่าการปะทะกันที่วัดเชียงภูมิหรือวัดปงสนุกนั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยพระญาแสนเมืองมา ไม่เกิน พ.ศ.1931 (พระราชพงศาวดาร ฯ ฉบับพันจันทนุมาศระบุปีที่เกิดเหตุการณ์ว่า พ.ศ.1923 ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าเป็น พ.ศ.1929 และ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ไม่ได้ระบุชัดเจนแต่จากรูปการณ์เห็นว่าเป็น พ.ศ.1931) ใน ตำนานจุมภิตนคร กลับระบุว่าเกิดขึ้นล่วงเลยไปในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชซึ่งขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.1952 โดยเหตุการณ์ที่กองทัพอยุธยายกขึ้นมาตีเมืองนครลำปางในช่วงที่พระเจ้าติโลกราชไม่อยู่นั้นคือศึกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอโยธยากับพระโอรสชื่อพระอินทราชายกทัพมาตั้งค่ายริมแม่น้ำวัง โดยศึกดังกล่าวมีบันทึกว่ามีการชนช้างเกิดขึ้น แต่เป็นการชนช้างตะลุมบอนระหว่างช้างเพกมหาพินาย (เพชรมหาพินัย) ของพญาสองแคว (พระยุทธิษเฐียร) ฝ่ายล้านนา กับช้างของพระอินทราชา ขุนเพกโชด (เพชรโชติ) เจ้าเมืองกำแพงเพชร และขุนราชอาสา เจ้าเมืองสุโขทัย ฝ่ายอยุธยา ผลปรากฏว่าช้างฝ่ายอยุธยาถูกผลักตกหนองน้ำ โดยไม่ได้กล่าวถึงวีรกรรมของแม่เจ้าเมืองหาญแต่ท้องแต่อย่างไร

ผู้เขียนเห็นว่า ผู้แต่ง ตำนานจุมภิตนคร น่าจะเรียบเรียงเรื่องราวผิดพลาด เนื่องจากใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่าหมื่นหาญแต่ท้องซึ่งเป็นเจ้าเมืองลำปางนั้น เดิมชื่อหมื่นแก้ว เป็นบุตรของหมื่นลก ต่อมาเมื่อหมื่นลกขึ้นไปช่วยราชการช่วงต้นพระเจ้าติโลกราชที่เมืองเชียงใหม่ หมื่นแก้วจึงได้รับการสถาปนาเป็น หมื่นคืย (เคย) หาญแต่ท้อง แสดงว่าหมื่นหาญแต่ท้องถือกำเนิดมาก่อนพระเจ้าติโลกราชขึ้นครองราชย์ ที่สำคัญ ในรายชื่อขุนนางที่ร่วมเป็นแม่ทัพในศึกพระอินทราชานั้น ปรากฏชื่อ หมื่นด้ำพร้าหาญแต่ท้อง ด้วย แสดงว่าวีรกรรมของสตรีที่เป็นภรรยาหมื่นลกนคร มารดาของหมื่นหาญแต่ท้องนั้น ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชได้ จึงตรงกับศึกชนช้างในรัชสมัยพญาแสนเมืองมานั่นเอง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรื่องราวของมารดา ‘เจ้าเมืองหาญแต่ท้อง’ ยืนยันว่าความกล้าหาญและปฏิภาณไหวพริบเชิงยุทธวิธีของชาวล้านนานั้น ไม่ได้จำกัดยู่เฉพาะกับนักรบเพศชายแต่อย่างใด

แม่พระพิลกยิงปืนใหญ่สองนัดพิชิตเมืองแพร่

การรบอีกครั้งหนึ่งที่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่ากองทัพล้านนาประสบชัยชนะภายใต้การนำของแม่ทัพหญิงเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช โดยระหว่างช่วงต้นของราชวงศ์มังราย แพร่และน่านยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาแต่ดำรงตนเป็นนครรัฐอิสระ และมีสายสัมพันธ์กับสุโขทัยแนบแน่นกว่ากับเชียงใหม่เสียด้วยซ้ำ ต่อมาเมื่อพระเจ้าติโลกราชต้องการขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกจึงจำเป็นต้องได้เมืองแพร่และน่านไว้ใต้อำนาจ เพื่อจะแผ่อำนาจข้ามแม่น้ำโขงไปยังเมืองหลวงพระบางได้ต่อไป

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุชนวนศึกระหว่างเชียงใหม่และน่านไว้ว่า พญาแก่นท้าว เจ้าเมืองน่านส่งสาสน์มาขอยืมกำลังไปช่วยต่อต้านกองทัพไดเวียตซึ่งรุกรานมาจากทางตะวันออก พระเจ้าติโลกราชจึงส่งกำลังไปช่วย ปรากฏว่าพญาแก่นท้าวกลับลอบสังหารหมื่นแพงพะเยา หนึ่งในแม่ทัพของพระเจ้าติโลกราชพร้อมทั้งไพร่พลช้างม้าฝ่ายเชียงใหม่เสีย พระเจ้าติโลกราชจึงอ้างเหตุดังกล่าวยกทัพไปตีเมืองน่าน โดยต้องการตีเมืองแพร่ให้ได้ในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เจ้าเมืองแพร่ในขณะนั้นชื่อท้าวแม่นคุณนำกำลังไพร่พลป้องกันเมืองอย่างหนาแน่น ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกำลังฝ่ายเชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชซึ่งยกทัพไปถึงเมืองน่านแล้วจึงให้แบ่งทัพส่วนหนึ่งวกกลับมาตีเมืองแพร่ด้วย โดยผู้ที่พระเจ้าติโลกราชมอบหมายให้นำทัพมาตีเมืองแพร่ดังกล่าวคือสตรีผู้ซึ่งเป็น ‘มหาเทวี’ หรือพระราชมารดาผู้มีบทบาททางการเมืองอย่างสูงของพระเจ้าติโลกราชนั่นเอง

เมื่อมหาเทวีของพระเจ้าติโลกราชนำทัพไปถึงเมืองแพร่แล้ว ท้าวแม่นคุณเจ้าเมืองแพร่ก็ยังไม่ออกมานอบน้อมต่อมหาเทวี พระนางจึงปรึกษากับเสนาอำมาตย์ว่าจะทำอย่างไรดีให้เมืองแพร่ยอมนอบน้อมโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ผลการปรึกษาหารือนั้นเห็นควรว่าให้ยิงปืนปู่เจ้า (ปืนใหญ่ชนิดหนึ่ง) ขู่เข้าไปในเมืองแพร่ให้ยอมจำนนเสีย โดยมีพันล่ามนา (ขุนนางผู้ประกาศข่าวสารราชการต่างๆ) เชื้อสายเวียดนามคนหนึ่งชื่อปานสงครามอาสายิงปืนดังกล่าว กล่าวกันว่ามหาเทวีได้มอบเครื่องบูชาเป็นต้นว่าควายตัวหนึ่ง ไก่เผือก 13 ตัว เป็ดหมื่นสามพันตัว พร้อมทั้งเครื่องใช้หลายอย่างให้แก่ปานสงครามทำพิธีบวงสรวงบูชาปืนใหญ่ ผลที่เกิดขึ้นหลังการบวงสรวงบูชาปืนใหญ่ของปานสงครามนั้น ตำนานได้บันทึกไว้ว่า

“ในวันลูนนั้น ปานสงครามว่าข้าจักยิงต้นตาลต้นมีจิ่มประตูเวียงนี้หื้อยอดหักตก เขาหันเขาจักกลัวจักอ่อนน้อมเราด้วยกำลังปู่เจ้าชะแลว่าอั้น ปานสงครามก็ยิงถูกคอตาลหักตกแท้ ท้าวแม่นคุณก็บ่อ่อน ปานสงครามว่าข้าจักยิงปืนปู่เจ้านี้หื้อถูกกลางต้นตาลหื้อฉีกลงเถิงเคล้าเถิงปลายชะแล ปานสงครามก็วางปืนปู่เจ้าไปถูกกลางต้นตาลฉีกไปดังว่านั้นแท้ ท้าวแม่นคุณมีใจกลัวนัก มันอ่อนแล้วจึงเอาของแกมข้าวสารกับควายออกมาถวายกับมหาเทวีเจ้า มหาเทวีก็หื้อท้าวแม่นคุณอยู่กินเมืองแพล่ดังเก่าหั้นแล”

(ในวันหลังนั้น ปานสงครามก็ว่าข้าจะยิงต้นตาลต้นอยู่ติดประตูเมืองนี้ให้ยอดหักตก เขาเห็นจะกลัวจะอ่อนน้อมแก่เราด้วยกำลังปืนใหญ่เช่นนั้นแล ปานสงครามก็ยิงถูกคอตาลหักตกจริง ท้าวแม่นคุณก็ยังไม่ยอมอ่อนน้อม ปานสงครามก็ว่าข้าจะยิงปืนใหญ่นี้ให้ถูกกลางต้นตาลฉีกลงถึงโคนและปลายเช่นนั้นแล ปานสงครามก็ยิงปืนใหญ่ไปถูกกลางต้นตาลฉีกไปดังว่านั้นจริง ท้าวแม่นคุณกลัวนักจึงยอมอ่อนน้อมและเอาบรรณาการข้าวสารและควายออกมาถวายพระมหาเทวี พระมหาเทวีก็ให้ท้าวแม่นคุณครองเมืองแพร่ดังเก่า)

ปืนปู่เจ้าที่ปานสงครามอาสามหาเทวียิงใส่ต้นตาลเมืองแพร่นั้น ทำนองว่าเป็นอาวุธชนิดใหม่ที่ได้มาจากจีน ชาวเมืองแพร่คงไม่เคยเห็น การใช้อาวุธดังกล่าวจึงเป็นการแสดงแสนยานุภาพข่มขู่ให้ข้าศึกกลัวและยอมแพ้โดยไม่ต้องรบพุ่งให้เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด

เรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความตั้งใจหลีกเลี่ยงความสูญเสียของมหาเทวีองค์นี้ได้อย่างชัดเจน น่าเสียดายที่ยังไม่พบหลักฐานว่ามหาเทวีของพระเจ้าติโลกราชมีชื่อว่าอะไร พบเพียงแต่เรียกว่าแม่พระพิลก (แม่พระเจ้าติโลก) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มหาเทวีองค์นี้อาจมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้านายเมือแพร่ จึงสามารถเจรจาให้ท้าวแม่นคุณเจ้าเมืองแพร่ยอมจำนนได้แต่โดยดี

สิ่งที่เกิดขึ้นในทั้งสามสมรภูมิที่ได้ยกมาเล่าในบทความนี้น่าจะแสดงให้ทุกท่านเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าสังคมล้านนามิได้จำกัดบทบาทของผู้หญิงไว้เพียงการเป็นแม่บ้าน อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเหมือนที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ผู้หญิงล้านนายังมีบทบาทอีกมากมายทั้งในและนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งหากมีโอกาสจะได้มาเล่าไว้มิให้ลืมเลือนในโอกาสถัดไป

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวของนักรบหญิงชาวล้านนาเหล่านี้ สำหรับผู้หญิงทั้งหลาย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ธรรมชาติมิได้กำหนดให้เพศเป็นเครื่องกีดกันความสามารถของมนุษย์ สังคมต่างหากเป็นผู้กำหนด และหากสังคมมิได้เลือกปฏิบัติต่อเพศใดเพศหนึ่งแล้ว มนุษย์ไม่ว่าจะเพศใดก็สามารถทำการใหญ่ได้

และสำหรับชาวล้านนา นี่คงเป็นเรื่องเล่าที่ใช้กล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า เราก็มีโจนออฟอาร์คของเราเหมือนกัน


บรรณานุกรม

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2547)

สรัสวดี อ๋องสกุล, ตำนานจุมภิตนคร ใน ปัญหาในประวัติศาสตร์ล้านนา. (ม.ป.พ., ม.ป.ป.)

เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์,ปริศนาโบราณคดี : “ยวนพ่ายโคลงดั้น” ตอนที่ 6 : ข้อมูลใหม่ พบร่องรอยใครคือ “หมื่นด้งนคร”?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/culture/article_454466 สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2565

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save