fbpx

สู่สองทศวรรษที่สูญหาย? สิ่งที่ประเทศไทยขาดมากที่สุดคือ ‘ความหวัง’ – กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ทศวรรษของการสูญหาย’ แม้จะเป็นถ้อยคำที่กระชับชวนให้คิดต่อ แต่นักเรียนเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่างรู้ดีว่า หากคำนี้ถูกใช้เพื่ออธิบายเศรษฐกิจเมื่อไหร่ ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสที่ประเมินค่ามิได้

และเป็นคำนี้เองที่ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่ง School of Global Policy and Strategy ที่ University of California San Diego และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใช้อธิบายเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร 2549 ในบทความเรื่อง ‘The Thai Economy: A Lost Decade?’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2561

10 ปีแห่งการสูญหายและเสียโอกาสของเศรษฐกิจสังคมไทยสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงระหว่างปี 2550-2559 ที่เติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ปีละ 3.2% เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในหมู่ประเทศอาเซียนในช่วงเวลาเดียวกัน และยิ่งเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชียในช่วงปี 2530-2539 ที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.3% ยิ่งห่างชั้นกันแบบไม่เห็นฝุ่น

หากลองใช้ ‘ทศวรรษ’ เป็นหลักหมายในการมองเหมือนที่กฤษฎ์เลิศใช้ เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สองของการสูญหาย’ เพราะนับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าใดนัก โดยเติบโตเฉลี่ยเพียง 3.5% ในช่วงระหว่างปี 2560-2563 ก่อนที่จะหดตัวถึง 6% ในปี 2563 เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2540 ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ในปี 2564 ก็ยังไม่สู้ดีเท่าใดนัก

ในฐานะนักวิจัยและนักวิชาการ กฤษฎ์เลิศติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเขาและทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย : ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยหลายชิ้นของกฤษฎ์เลิศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งนอกจากการเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยอันแหลมคมแล้ว สารที่เขาต้องการสื่อถึงสังคมไทยคือ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องกลับมา ‘คิดใหม่’ และ ‘ปรับใหญ่’ เรื่องเศรษฐกิจการเมือง

แม้จะนำเสนอบทวิเคราะห์และแนะเชิงนโยบายมากมาย แต่สำหรับกฤษฎ์เลิศ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นออกจากทศวรรษที่สองของการสูญหายคือ ‘ความหวัง’

กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดเมือง โดยในบางประเทศมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จากการสำรวจสถานะเศรษฐกิจของโลก คุณมองความแตกต่างในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศอย่างไรบ้าง

ต้องเข้าใจก่อนว่าสถานการณ์โควิดยังไม่จบ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงมาก และเปลี่ยนแปลงด้วยความถี่ที่ค่อนข้างสูง อย่างในปีที่แล้ว ถ้าเราถามว่าประเทศไหนมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือสามารถจัดการกับวิกฤตสาธารณสุขได้ค่อนข้างดี หลายคนตอบว่าภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโมเดลของการจัดการโควิดเพราะสามารถควบคุมโรคได้ค่อนข้างเร็วและมีอัตราการติดเชื้อต่ำ ขณะที่ประเทศตะวันตก เช่น ยุโรปหรืออเมริกา กลายเป็นฮอตสปอตสำคัญของการระบาด เนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงมาก

แต่ผ่านไปเพียงปีเดียว สถานการณ์เริ่มพลิกกลับ จากเดิมที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยได้รับการชื่นชมว่า เราควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี ปีนี้กลายมาอยู่หางแถว เพราะเราฉีดวัคซีนได้ไม่ทั่วถึง

ฉะนั้นถ้าถามว่าทำไมบางประเทศฟื้นตัวเร็ว บางประเทศฟื้นตัวช้า ปัจจัยสำคัญคือวัคซีน ถ้าเรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนจำนวนมากให้กับคนในประเทศจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังไม่สามารถกลับมาสู่ภาวะปกติ เพราะยังต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือต่อให้ไม่ได้มีมาตรการดังกล่าว แต่ผู้คนก็ยังคงกลัวการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และถ้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่เกิด ระบบเศรษฐกิจก็ไม่อาจฟื้นตัวได้

ส่วนอีกปัจจัยคือขนาดของประเทศ ในประเทศขนาดใหญ่ที่มีการบริโภคในประเทศค่อนข้างเยอะ เราทราบดีว่าวิกฤตโควิดส่งผลให้มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าผู้คนไม่สามารถที่จะข้ามพรมแดนไปมาหากันได้ ฉะนั้นประเทศที่พึ่งพาภาคต่างประเทศค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะภาคต่างประเทศที่พึ่งพาคน อย่างภาคท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบหนัก หรือภาคการส่งออกเองก็เช่นกัน แต่อาจจะไม่กระทบเท่ากับภาคการท่องเที่ยว เพราะแม้จะปิดพรมแดน แต่การขนส่งสินค้ายังสามารถทำได้และเชื้อโรคก็ไปกับสินค้าน้อยกว่าที่ไปกับคน ฉะนั้นจะเห็นเลยว่าหากประเทศไหนมีขนาดเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างใหญ่ และมีกำลังซื้อมากพอที่จะสามารถดูดซับการผลิตในประเทศได้ ก็สามารถดำรงอยู่ได้ในรูปแบบเศรษฐกิจปิด ขณะที่ประเทศที่มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกก็จะโดนค่อนข้างหนัก

แล้วในบริบทการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดรอบนี้ ประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหน

ประเทศไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้า เพราะภาคเศรษฐกิจของบ้านเราพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว แต่เดิมเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 10% ของจีดีพี มาวันนี้หายไปหมดเลย ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยมีกว่า 40 ล้านคนในช่วงก่อนเกิดโควิด ลดลงมาแทบจะเหลือเป็นศูนย์ และช่องว่างตรงนั้นไม่สามารถทดแทนด้วยนักท่องเที่ยวไทย เนื่องจากไม่ได้มีรายจ่ายในการท่องเที่ยวมากเทียบเท่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ล่าสุดเรามีนโยบายเปิดประเทศ อยากชวนมองว่าข้อจำกัด ณ วันนี้ไม่ใช่แค่การเปิดหรือปิดประเทศ แต่ต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยด้วยกัน หนึ่งคือนักท่องเที่ยวอยากมาไหมในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ สองคือประเทศต้นทางจะยอมให้มาไหม และถ้ามาแล้วจะมีเงื่อนไขอย่างไรต่อไป เช่น ยอมให้ออกมาแต่ขากลับต้องมีการกักตัว ซึ่งก็จะเป็นอีกต้นทุนของการออกนอกประเทศ

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทยมีการกระจุกตัวมาจากบางประเทศค่อนข้างสูง เช่น นักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น ซึ่งจีนก็มีการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศ เพราะฉะนั้นต่อให้ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวมากแค่ไหนก็ตาม เขาก็มาเที่ยวไม่ได้

เพราะฉะนั้นการดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ก็ไม่แน่ว่าเปิดประเทศแล้วนักท่องเที่ยวจะกลับมา ด้านความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่สูง เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายที่ควบคุมแต่เพียงฝ่ายเดียว

ณ วันที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จบลง คิดว่าสภาพของประเทศไทยในวันนั้นจะเป็นอย่างไร และโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวดังเดิมมีมากน้อยแค่ไหน

ผมไม่แน่ใจว่าสถานการณ์โควิดจะจบลง หรือก็ต้องมาดูกันว่าเรานิยามคำว่าจบไว้ว่าอย่างไร เพราะขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาบอกแล้วว่าคงไม่จบในแง่ที่เชื้อโรคหายไป แต่โควิดอาจจะเปลี่ยนจาก pandemic (การระบาดใหญ่) เป็น endemic (โรคประจำถิ่น) กลายเป็นโรคที่อยู่กับเราเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นในอนาคตเราก็คงต้องปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด

คำถามถัดไปคือสมมติว่าเราสามารถหาวิธีอยู่กับโควิดได้ สิ่งสำคัญคือแล้วเราจะไปต่อจากนี้อย่างไร ผมเปรียบเทียบช่วงเวลานี้ว่าเหมือนเรากำลังอยู่ในอุโมงค์มืด เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ประเด็นคือโลกอีกฝั่งหนึ่งที่ปลายอุโมงค์ต่างกับโลกที่ปากอุโมงค์ที่เราเข้ามาโดยสิ้นเชิง ปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศต่างกันค่อนข้างเยอะกับยุคก่อนจะมีโควิด ถัดมาคือ เรากำลังจะเดินออกจากอุโมงค์แบบเพลียๆ หรือที่หลายคนเรียกว่ามีแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่โควิดสร้างผลกระทบที่จะติดกับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้นต่อให้โควิดจะจบลงแต่ปัญหาเศรษฐกิจคงยังไม่จบลงง่ายๆ

การปิดตัวของธุรกิจ การตกงานของผู้คน ก่อให้เกิดแผลเป็นต่างๆ ขึ้นมาหลายแผล ยกตัวอย่างเช่น แม้คนจะตกงานหรือมีรายได้น้อยลง แต่แน่นอนว่าคนก็ยังจำเป็นต้องมีการบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยในปัจจัยสี่ต่างๆ ภาคธุรกิจก็ต้องเจอกับภาวะรายได้ไม่แน่นอน แต่รายจ่ายยังคงอยู่เช่นกัน ดังนั้นก็จำเป็นต้องกู้เงิน ฉะนั้นในวันที่โควิดจบลง สองกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มที่มีหนี้พอกพูน (debt overhang) นี่คือแผลเป็นแรก

แผลเป็นที่สองคือทักษะแรงงานที่หายไป ตอนนี้ไม่มีความแน่นอนเลยว่าธุรกิจที่กลับมาเปิดจะเป็นธุรกิจเดิม หรือรับประกันได้ว่าแรงงานที่ตกงานช่วงโควิดจะสามารถหางานรูปแบบเดิมทำได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่ทักษะที่แรงงานมีจะใช้ไม่ได้และต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้รายได้อาจจะไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน เพราะผลตอบแทนของทักษะยังไม่มี

แผลเป็นที่สามคือการหายไปของลูกค้าและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เช่น แต่ก่อนเจ้าของธุรกิจเคยซื้อวัตถุดิบจากเอสเอ็มอี หรือ บริษัทต่างๆ แต่หลังโควิดลูกค้าหรือคู่ค้าเดิมอาจจะหายไปแล้ว เจ้าของธุรกิจก็ต้องมาเริ่มหาลูกค้า หรือ supply chain ใหม่ ซึ่งความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจระหว่างลูกค้ากับ supply chain ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ กลายเป็นว่าสิ่งนี้โดนดิสรัปต์หายไปและต้องเริ่มสร้างกันใหม่

แผลเป็นที่สี่ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุดคือการศึกษา และประเด็นนี้จะเป็นแผลเป็นที่คงอยู่ในระยะยาว เรารู้ดีว่าคุณภาพการศึกษาในช่วงโควิดไม่ได้ดีเท่าที่ควร ประเทศไทยไม่ได้พร้อมในการเรียนแบบออนไลน์ เราโดนบังคับให้ทำแบบนั้น ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นว่านักเรียนหรือนักศึกษาไม่ว่าจะในระดับชั้นใดไม่มีความรู้เท่าที่ควร หรือถ้าในชั้นปฐมวัยก็จะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมควบคู่ไปด้วย เพราะเขาไม่เคยถูกฝึกให้อยู่ร่วมกับคนอื่น

อีกหนึ่งสิ่งที่หายไปและการสอนแบบออนไลน์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้คือการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ ถามว่าเด็กที่จบใหม่ในปีนี้หรือปีหน้าซึ่งไม่เคยได้ฝึกปฏิบัติจริงจะมีความรู้ความสามารถในตลาดแรงงานเทียบเท่ากับคนอื่นๆ หรือไม่ และทักษะตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปในระยะยาว ถ้าเรายังไม่หาอะไรมาทดแทนช่องว่างตรงนี้ ต่อไปจะกลายเป็นแผลเป็นสำคัญที่จะติดตัวเขาไปในโลกหลังโควิด

สี่แผลเป็นที่ว่านี้ เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับแผลเป็นนี้อยู่เช่นกัน?

ทุกประเทศกำลังเผชิญกับแผลเป็นนี้ แต่ผลกระทบที่แต่ละประเทศได้รับมากน้อยแตกต่างกัน ถ้าประเทศไหนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเยอะก็จะเจ็บหนักหน่อย หรือขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย เช่น นโยบายวัคซีนถ้ากระจายวัคซีนได้เร็ว ธุรกิจกลับไปเปิดได้เร็ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะไม่หนักมาก เพราะอย่าลืมว่ายิ่งนานเท่าไหร่ แผลเป็นก็ยิ่งลึกขึ้น และอาจจะนำไปสู่แผลเป็นที่ห้าอย่างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นแผลเป็นที่มัดรวมทุกแผลเข้าด้วยกัน

ถ้าดูจากแผลเป็นแต่ละแผล คนกลุ่มเปราะบางคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มที่มีรายได้น้อยก็จะต้องก่อหนี้มากกว่ากลุ่มที่รายได้เยอะ กลุ่มธุรกิจสายป่านสั้นก็จะกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจสายป่านยาว ผลกระทบพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

หลายคนบอกว่าหลังจากโควิดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะรูปตัว K (K-shaped recovery) คนที่มีความสามารถอยู่แล้วไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรมาก เผลอๆ อาจจะดีขึ้นด้วยซ้ำเพราะโควิดสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนในกลุ่มนี้ ในขณะที่กลุ่มคนเปราะบางจากเดิมที่แย่อยู่แล้วก็แย่ลงไปอีก ฉะนั้นแผลเป็นที่ห้าอย่างความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างออกกว้างขึ้น และไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่จะส่งต่อไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย

ตอนนี้นานาประเทศต่างมองไปยังโลกยุคหลังโควิด สำหรับคุณมองว่าโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและอะไรเป็นความท้าทายระยะยาวที่กำลังรอเราอยู่   

จริงอยู่ที่โควิดเข้ามาเปลี่ยนโลก แต่ก็ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ถึงแม้จะไม่มีโควิด มันก็จะเกิดขึ้น เราเรียกสิ่งนั้นรวมๆ กันว่า megatrends ซึ่งมีทั้งหมดอยู่หลายอย่างด้วยกัน

อย่างแรกคือสังคมสูงวัย (aging society) สำหรับประเทศไทย เราเห็นปัญหานี้ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วในขณะที่รายได้ประเทศยังไม่ได้สูงมากและยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง กลายเป็นว่าเราจะ ‘แก่ก่อนรวย’ ขณะเดียวกันคนก็อายุยืน ฉะนั้นช่วงเวลาหลังวัยเกษียณที่คนไม่มีรายได้แต่ยังคงต้องใช้ชีวิตจะมีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต ถามว่าเขาจะจัดการกับชีวิตตัวเองในตอนนั้นอย่างไร คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ออมมีพอไหม ซึ่งไม่ได้มีพอสำหรับแค่เลี้ยงตัวเองอย่างเดียวแต่ต้องสามารถที่จะดูแลรักษาพยาบาลตัวเองได้ มิฉะนั้นนอกจากจะ ‘แก่ก่อนรวย’ แล้ว ยังจะ ‘ป่วยก่อนตาย’ อีกด้วย

นี่เป็นภาระที่เราจะเห็นในอนาคต ในแง่ของครัวเรือน เราเห็นแล้วว่าผู้สูงอายุมีมากขึ้นแต่ลูกหลานที่จะดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนน้อยลง ในแง่ของธุรกิจ ทั้งภาคธุรกิจ (non-farm) และภาคเกษตร (farm) จะมีแรงงานเป็นแรงงานสูงวัยมากขึ้น ซึ่งแปลได้ว่าในอนาคตเราอาจจะขาดแคลนแรงงาน คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ จะใช้นโนบายพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น หรือจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แทนแรงงานคน ทั้งหมดเป็นโจทย์ที่จะต้องคิดต่อไป

ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจมหภาคจะมีปัญหาเรื่องคนออมน้อยลง เมื่อมีการออมน้อยลงก็หมายความว่าการลงทุนก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจากเดิมที่มีปัญหาการลงทุนต่ำอยู่แล้วก็มีแนวโน้มที่จะต่ำต่อไป ในแง่การคลังจะเกิดปัญหาแล้วว่าถ้าคนออมไม่พอ ใครจะมาปิดช่องว่างตรงนี้ สุดท้ายแล้วก็คือรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังของประเทศ

ไม่ว่าอย่างไรสังคมสูงวัยเกิดขึ้นแล้วแน่ๆ เป็นปัญหาที่มีมาก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด แต่ผลกระทบจากโควิดเข้ามาเสริมย้ำแผลตรงนี้ เพราะเราออกจากโควิดแบบร่างกายเต็มไปด้วยแผลเป็น กลายเป็นว่าตอนนี้นอกจากเราจะแก่ก่อนรวยแล้ว เรายังมีหนี้เยอะมากขึ้นกว่าเดิม แถมกลุ่มคนที่มีหนี้เยอะที่สุดก็ดันเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีเงินออมน้อยที่สุดสำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรต่อไป เรื่องโควิดจึงเป็นปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมเรื่องสังคมสูงวัย

อย่างที่สองคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเกิดเร็วขึ้นและแรงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มากๆ เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นปัญหาระยะไกลเพราะเป็นการพูดถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือถ้าเราเลยจุดหนึ่ง (tipping point) ไปแล้ว มันจะกลายเป็น point of no return ฉะนั้นเราจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ก่อนที่ผลกระทบจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ประเด็นเรื่องความตระหนักรู้จึงสำคัญ

ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตมรสุมและมีชายฝั่งทะเลค่อนข้างยาว ภาคเกษตรก็เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ฉะนั้นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบกับเราเต็มๆ และจากการศึกษา ประเทศไทยก็เป็นฮอตสปอตของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาที่ประเด็นเศรษฐกิจว่า การจัดการกับภาวะโลกร้อนเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลก ไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องทำเพราะทั้งโลกกำลังทำอยู่ ฉะนั้นถ้าเราไม่ทำก็จะไม่สามารถอยู่ในประชาคมโลกได้ เราพึ่งพาต่างประเทศในการส่งออกค่อนข้างเยอะ ถ้าไม่จัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมก็อาจจะโดนกีดกันทางการค้าได้

อีกหนึ่ง megatrend คือการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก (geopolitics) ประเด็นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีโควิด เช่น เรื่องสงครามการค้าจีน-อเมริกา เดิมทีคาดการณ์กันว่าจะมีการย้ายห่วงโซ่การผลิตจากจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรูปแบบ China plus one หลายคนก็บอกว่าไทยอาจจะได้ประโยชน์ตรงนี้บ้างแต่ก็ไม่เทียบเท่ากับเวียดนาม แต่กลายเป็นว่าพอโควิดมา เกิดการปิดพรมแดนก็ทำให้การย้ายฐานการผลิตหลายอันหยุดชะงัก

คำถามสำคัญคือเราจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไรในฐานะประเทศเล็ก ที่ผ่านมานโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ร่วมกันคือกลไกการรวมกลุ่มของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในอดีตการรวมกลุ่มกันของชาติในอาเซียนก็ช่วยให้การต่อรองกับชาติมหาอำนาจต่างๆ มีน้ำหนักขึ้น เนื่องจากเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘unity’ ภายในอาเซียน โดยแต่เดิมมาในรูปแบบของ ASEAN centrality หรือแนวคิดที่อาเซียนเป็นศูนย์กลางในการต่อรองในรูปแบบ อาเซียน+1 อาเซียน+3 อาเซียน+6 หรือแม้กระทั่ง RCEP

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังเราเห็นการเริ่มแตกกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในแนวนโยบายระหว่างประเทศ บางประเทศหันไปเข้าข้างจีน บางประเทศไม่ถูกกับจีน ขณะเดียวกันด้านเศรษฐกิจ เดิมเรามีเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งยกโขยงทั้งอาเซียนไปเซ็นกับชาวบ้านเขา แต่พอกลับมามอง CPTPP เราเห็นอาการต่างคนต่างไป ไม่ได้รวมกันเป็นอาเซียนทั้งกลุ่ม เกิดการแยกตัวกันในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะฉะนั้น ฐานะในอนาคตของแต่ละประเทศในเวทีโลกจะอยู่ที่ตรงไหน เราจะใช้อะไรไปเจรจาต่อรองกับ super power ทั้งหลาย ถ้าบทบาทของอาเซียนไม่สามารถทำงานได้เหมือนแต่ก่อน

แล้วประเทศไทยพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้มากน้อยแค่ไหน

ผมว่าไม่พร้อมสักเท่าไร (หัวเราะ)

การที่เศรษฐกิจของเราสูญหายมาเป็นเวลานานแปลว่ามันมีปัญหาอยู่ทุนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้นถึงแม้ megatrends พวกนี้จะไม่รุนแรงหรือแม้โควิดจะไม่เกิด เศรษฐกิจของเราก็มีปัญหา

เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพต่ำ (productivity) นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่ำ มีเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างเยอะและความเหลื่อมล้ำสูง การมาของ megatrends ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้น เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นกลุ่มเปราะบางเช่นกัน เป็นการซ้ำเติมแผลเป็นจากโควิดอีกที ตอนนี้เลยเหมือนเรากำลังโดน 3 เด้ง ถ้าถามว่าพร้อมแค่ไหน ผมว่าไม่พร้อมตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว และหลังโควิดก็จะมีความท้าทายมากขึ้น

เราควรออกแบบนโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีและเตรียมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

เราต้องถามตัวเองก่อนว่า เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจของเราคืออะไร ถ้าเป้าหมายสูงสุดคือการให้ผู้คนมีความกินดีอยู่ดี มีความมั่งคั่งมากขึ้น มิติแรกที่ควรมองคือความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) ทำอย่างไรถึงจะมีความมั่งคั่งมากขึ้น ถ้าดูจากบริบทโลก การเติบโตอยู่ที่ 4% ถือว่าก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราอาจต้องเผชิญทศวรรษที่สองของการสูญหาย หลังโควิดมีแนวโน้มที่ทำให้เห็นว่าการจะกลับไปเติบโตในระดับ 4% อาจไม่ใช่เรื่องง่าย มิติเรื่องความเจริญรุ่งเรืองเลยกลายมาเป็นความท้าทายใหม่ในอนาคต

มิติถัดไปที่ควรมองคือความสามารถในการรับมือและปรับตัวกับผลกระทบที่เข้ามา หรือ ความยืดหยุ่น (resiliency) เราอาจจะล้มได้แต่ต้องลุกขึ้นมาให้เร็ว ในอดีตจะเห็นว่าเราเน้นการเติบโตภาคต่างประเทศค่อนข้างเยอะ อย่างการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการบริการก็อิงอยู่กับภาคการท่องเที่ยว พอเจอโควิดเข้าไปก็รู้เลยว่ากลยุทธ์นี้ใช้ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้นในอนาคตต้องมาพิจารณากันแล้วว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้

มิติสามคือความยั่งยืน (sustainability) เราคงไม่ใช้นโยบายที่ช่วยให้เติบโตแค่ภายในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองในระยะยาวด้วยว่าเราจะไปทางไหนและจะเติบโตอย่างไรให้มั่นคงยั่งยืน

มิติสุดท้ายคือการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusivity) โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรอย่างไรให้เศรษฐกิจโตโดยที่ทุกคนได้ประโยชน์และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

prosperity, resiliency, sustainability และ inclusivity ชุดคำเหล่านี้เป็นคำที่ขายได้ในการทำนโยบาย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เป้าหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปในทางเดียวกันเสมอไป

โจทย์สำคัญคือ การรักษาสมดุลระหว่าง prosperity กับเป้าหมายด้านอื่นๆ นโยบายเศรษฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการบริหารความเสี่ยง ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นกับความยั่งยืนในระยะยาว และระหว่างประสิทธิภาพการผลิตกับความเป็นธรรมในสังคม

เท่าที่เห็น เศรษฐกิจไทยยังคาดหวังให้ภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกไหม และเราควรหวังให้เป็นอย่างนั้นไหม

เรื่องนี้สัมพันธ์กับคำถามที่สำคัญและใหญ่กว่าแค่ภาคท่องเที่ยวนั้นคือ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ไหน และภาคเศรษฐกิจใดที่ควรส่งเสริมต่อไปในอนาคต เพราะถ้าเราฝืนทำอะไรที่ไม่ถนัด สุดท้ายแล้วเราก็สู้กับชาวบ้านไม่ได้ ถ้าจะให้แข่งกันได้ในระยะยาว เราต้องเลือกทำอะไรที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น

หากดูจากอดีตที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เราเอาชนะคนอื่นได้ แต่ต่อไปคงจะไม่ใช่การท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ต้องเรียนรู้จากอดีตเพื่อปรับกลยุทธ์สำหรับอนาคต เช่น ต้องมีการผลักดันภาคการผลิตอื่นๆ เพื่อมาช่วยสร้างสมดุลด้านรายได้และการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว หรือต้องเปลี่ยนจากการเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว มาเน้นเรื่องการใช้จ่ายต่อหัว เป็นต้น

นอกเหนือจากการท่องเที่ยว ยังมีภาคเศรษฐกิจไหนที่ไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อีก หลายประเทศประกาศเลยว่าจะหันมามองตลาดภายในมากขึ้น งดการพึ่งพิงจากภายนอก

ไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ซึ่งมีตลาดในประเทศจำกัด การปิดประเทศในช่วงโควิดเป็นการทดลอง หรือ experiment ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ทำให้เห็นชัดเลยว่า ไม่ว่าอย่างไรประเทศไทยก็หนีการพึ่งพาต่างภาคประเทศไม่ได้ แต่อาจจะลดความเสี่ยงว่าไม่ต้องพึ่งพาภาคใดภาคหนึ่งมากเกินไป หรือไม่พึ่งพาสินค้าส่งออกตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป เราเห็นได้ว่าแม้ภาคท่องเที่ยวจะซบเซา เศรษฐกิจจะเจ็บนัก แต่ถ้าเทียบกันแล้ว การส่งออกยังพอไปได้

ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยค่อนข้างกระจุกอยู่แค่ประเทศคู่ค้าไม่กี่แห่ง เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเหล่านั้นทรุดลงก็ส่งผลกระทบต่อไทยแล้ว ถ้าไปดูสถิติที่ผ่านมาจะพบเลยว่า การที่ตัวเลขส่งออกเหวี่ยงล้วนแต่เกิดจากปัจจัยภายนอกเสียส่วนใหญ่

ถ้าวันนี้จะมาตั้งหลักเศรษฐกิจไทยกันใหม่ คุณมีข้อเสนอทางนโยบายในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยมีหลายสิ่งที่ต้องเปลี่ยนหากเราจะปฏิรูประบบเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่เราขาดมากที่สุดคือ ความหวัง

เราไร้ซึ่งความหวัง คนไทยจำนวนมากมองไม่เห็นอนาคตของประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คุณอาจสงสัยว่าทำไมผมจึงตอบแบบนี้ แต่ผมมองว่าความหวังทำให้เราคิดถึงอนาคต หากเราเชื่อว่าต่อไปประเทศจะดีขึ้น คนจะมีกำลังใจและมีแรงจูงใจในการลงทุน เพราะเราคิดว่าในเมื่ออนาคตจะดีขึ้น เราลงทุนไปเดี๋ยวก็ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา แต่ถ้าคิดว่าอนาคตมืดมน คนก็เลือกไม่ทำอะไร เพราะทำไปเดี๋ยวก็คงเจ๊งอยู่ดี อันนี้ไม่ใช่แค่การลงทุนของธุรกิจ แต่ยังรวมถึงการลงทุนในการศึกษาของเยาวชนและการพัฒนาทักษะของแรงงานด้วย และถ้ามองในภาพรวม หากคนจำนวนมากในประเทศไร้ความหวังก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะเป็นเศรษฐกิจที่ไร้ความหวัง-ไร้อนาคตด้วยเช่นกัน

ความหวังสามารถเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนได้อย่างมีพลัง คำถามคือ สังคมไทยจะสร้างความหวังให้กับผู้คนได้อย่างไร สำหรับผม ความหวังต้องมาพร้อมกับโอกาส การที่ผู้คนหมดหวัง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีโอกาส ดังนั้น ความหวังจึงสัมพันธ์กับเรื่องความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมด้วย คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยกำลังรู้สึกว่า ต่อให้พวกเขาพยายามแทบตายอย่างไรก็ไม่สามารถไปแข่งกับคนอื่นได้ เพราะคนอื่นมีแต้มต่อมากกว่าเขาตั้งแต่ต้น แล้วเขาจะพยายามไปเพื่ออะไร

การสร้างเศรษฐกิจแห่งความหวังจึงแยกไม่ออกกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มี ‘ความเสมอภาคทางโอกาส’ ที่มากขึ้น  โดยภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาด การเข้าไม่ถึงเงินทุน การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การสร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อย และที่สำคัญรัฐจะต้องไม่เป็นตัวสร้างความไม่เสมอภาคในสังคมขึ้นเสียเองด้วย

ใครหรือองค์กรใดที่สามารถสร้างความหวังให้กับประเทศไทยบ้างไหม

เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับอัศวินขี่ม้าขาวคนใดคนหนึ่ง เพราะมันไม่ยั่งยืน ความหวังต้องเกิดขึ้นผ่านการออกแบบระบบ กฎ กติกา ที่เป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายก็หลีกไม่ได้ที่เรื่องนี้จะโยงกลับไปสู่ปัจจัยทางการเมือง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตามเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้

ครั้งหนึ่งต่างชาติเคยเรียกเศรษฐกิจไทยว่าเป็น ‘Teflon Thailand’ เป็นคำเปรียบเปรยในอดีตที่ว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะมีความไม่แน่นอนอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ดี ไม่ต่างจากกระทะเทฟลอนที่ไม่ว่าจะใส่อะไรลงไปทอดก็ไม่ติดกระทะ แต่ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย เช่น งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ เมื่อปีที่แล้วก็แสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อการลงทุนอย่างมาก

ดังนั้น การเมืองจึงส่งผลต่อการฟื้นฟู การปรับตัว และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โครงสร้างทางการเมืองหลังจากนี้ต้องเป็นโครงสร้างที่สร้างความหวังให้คนไทย เปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้คนต้องสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกำหนดนโยบาย ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ การออกแบบระบบการเมืองต้องทำให้ผู้มีอำนาจตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่สามารถตอบโจทย์เขาได้พร้อมๆ กับช่วยตรวจสอบการทำงานของคนที่ตัวเองเลือกเข้าไป

การปฏิรูปภาครัฐก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการไม่ใช่สิ่งเลวร้ายโดยตัวมันเอง แต่ประเทศไทยมีระบบราชการที่ใหญ่และรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป รัฐรวมศูนย์ที่บริหารโดยข้าราชการส่วนกลางไม่มีทางทราบว่าท้องถิ่นต้องการอะไร หรือนโยบายตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นหรือไม่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้คนท้องถิ่นสามารถเลือกได้ว่าจะเอาใครมาเป็นคนดำเนินนโยบายในท้องที่ของเขา และหากคนที่เขาเลือกทำงานได้ไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษตามกติกาด้วยการไม่ได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปในอนาคต ประเด็นเรื่องความรับผิดรับชอบ (accountability) ก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

นอกจากจะกระจายอำนาจแล้วต้องมีการกระจายทรัพยากรด้วย ไม่ใช่แค่ให้ท้องถิ่นเลือกผู้นำของตัวเองแต่สุดท้ายไม่มีทรัพยากรให้เขาใช้เลย อย่างนี้ก็คงไม่ได้ อันนี้เป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเขาสามารถมีปากมีเสียงในสิ่งที่เขาต้องการและเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตเขาได้

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถหลุดออกจากทศวรรษที่สูญหาย (lost decades) และไม่กลายเป็นเศรษฐกิจที่ไร้ความหวัง (hopeless economy) ในที่สุด


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save