fbpx

น้ำตาเถ้าแก่ – กรณี ‘ถุงเท้าปักพระนามอัลลอฮ์’ กับยุทธศาสตร์ความอยู่รอดของนักธุรกิจเชื้อสายจีนในมาเลเซีย

ไม่มีฝันร้ายใดที่น่ากลัวสำหรับนักธุรกิจใหญ่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน มากไปกว่าการเผลอไปกระทบกระทั่งประเด็นศาสนาอิสลามโดยไม่รู้ตัว ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดกับ KK Super Mart หรือ เคเคมาร์ท ซึ่งเป็นเครือร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงที่ใหญ่อันดับสองของมาเลเซีย ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านริงกิตต่อปี

กิจการของเคเคมาร์ทกำลังไปได้สวย แต่จู่ๆ ฟ้าก็ผ่าลงตรงหน้า เป็นเหตุให้ ชัย คี คาน (Chai Kee Kan) หรือ เคเค ชัย (KK Chai) ประธานและผู้ก่อตั้ง KK Super Mart ต้องออกแถลงข่าวขอโทษชาวมุสลิมทั้งน้ำตา เหตุเพราะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ครูสอนศาสนาเจ้าของบัญชีอินสตาแกรมอินฟลูคนหนึ่งที่มีผู้ติดตามราว 350,000 ราย ได้เผยแพร่ภาพถุงเท้าที่มีลายเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ อ่านว่า ‘อัลลอฮ์’ (Allah) ชี้ว่าถุงเท้านี้วางขายในเคเคมาร์ท สาขาบันดาร์ ซันเวย์ ในกัวลาลัมเปอร์ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทันที

ถุงเท้าที่ปรากฏพระนาม ‘Allah’ (อัลลอฮ์) ซึ่งวางขายในเคเคมาร์ท
ภาพจาก: IG – Firdaus Wong Wai Hung

เคเค ชัย เป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่มีรูปแบบการทำธุรกิจที่เห็นได้ทั่วๆ ไป เขาร่วมมือกับพี่น้องสร้างตัวจากธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก และเป็นหนึ่งในหลายครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ นายชัยเริ่มจากรวบรวมเงินทุน 60,000 ริงกิตมาเลเซีย (ราว 462,000 บาทในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เปิดร้านขายของสะดวกซื้อหนึ่งร้าน เวลาผ่านไป 23 ปี เขาขยายเครือข่ายเป็นกว่า 800 ร้าน เท่านั้นยังไม่พอ เคเคมาร์ทยังขยายสาขาไปถึงประเทศอินเดียและเนปาล และมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นมาเลเซียเร็วๆ นี้ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าการเติบโตของเคเคมาร์ทร่วมกับร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นอีกสองสามเครือข่าย สามารถกันเซเว่นอีเลฟเว่น ที่เคยครองตลาดให้กลายเป็นผู้เล่นระดับรองได้

ชัยน่าจะเป็นนักธุรกิจที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่ง ที่สามารถได้รับยศ ‘ดาโต๊ะ ศรี’ (Datuk Seri) มาประดับหน้าชื่อ โดย ดาโต๊ะ ศรี เป็นยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับผู้ทำประโยชน์ต่อรัฐหรือโลกขั้นสูงสุด ที่สุลต่านแห่งรัฐหรือผู้นำของรัฐที่ไม่มีสุลต่านเป็นผู้มอบให้ เส้นทางธุรกิจของเขาไม่ต่างจากนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ประสบความสำเร็จทั่วไปที่ไม่รอช้าที่จะขวนขวายช่วงชิงโอกาสในเวทีต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็เข้าใจซาบซึ้งและสามารถปรับตัวเข้ากับจังหวะจะโคนของสังคมการเมืองมาเลเซียที่ครอบงำไปด้วยความขัดแย้งทางทางเชื้อชาติและความอ่อนไหวทางศาสนาถูกปลุกปั่นได้โดยง่ายจากฝีมือของนักการเมืองที่คุ้นเคยกับการฉวยโอกาสสร้างฐานเสียงจากชาวมุสลิมบางกลุ่ม ดังที่เป็นมานับแต่อดีต

ในบริบทเช่นนี้ กรณีถุงเท้าย่อมไม่จบง่ายๆ เป็นธรรมดา นักการเมืองคนแรกที่กระโดดขึ้นบนเวทีคือ อัคมาล ซาเละห์ (Akmal Saleh) หัวหน้ากลุ่มยุวชนพรรคอัมโน (UMNO: United Malays National Organisation) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเอง สวนทางกับนโยบายรัฐบาลเรื่องสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชาติ อัคมาล นักการเมืองระดับกลางที่กำลังสร้างชื่อ เลือกใช้วิธีเล่นการเมืองแบบเก่าตามสไตล์อัมโน หาเสียงจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามบางกลุ่มที่พร้อมจะลงโทษเคเคมาร์ทด้วยความโกรธเกรี้ยว

อัคมาลเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะต้องให้บทเรียนแก่เคเคมาร์ท และเรียกร้องให้ชาวมลายูคว่ำบาตรเครือข่ายร้านสะดวกซื้อนี้ พร้อมยื่นคำขาดให้เคเคมาร์ทติดป้ายขอโทษหน้าสาขาที่มีทั้งหมด 881 สาขาทั่วประเทศภายในเวลาสองวัน นอกจากนั้น เขายังแนะให้สมาชิกกลุ่มยุวชนอัมโนทั่วประเทศไปแจ้งความเอาผิด การปลุกระดมของเขาได้ผลอย่างรวดเร็ว ในเดือนมีนาคมพบว่ามีการแจ้งความเอาผิดผู้บริหารเคเคมาร์ทไม่ต่ำกว่า 178 ครั้ง

เคเคมาร์ทออกแถลงการณ์ขอโทษผ่านโซเชียลมีเดียภายในเวลาเพียงสองชั่วโมงหลังจากภาพถุงเท้าปรากฏในอินสตาแกรม ชี้แจงว่าถุงเท้ารุ่นนี้เป็นสินค้าฝากขายจากผู้ขายคือบริษัท Xin Jian Chang Sdn Vhd จากรัฐยะโฮร์ ไม่นาน ชัยแห่งเคเคมาร์ท และโซห์ ชิน ฮวด (Soh Chin Huat) เจ้าของบริษัทนำเข้าถุงเท้า ก็ออกแถลงข่าวขอโทษด้วยตนเอง โดยโซห์อธิบายว่าถุงเท้าดังกล่าวเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ปะปนมากับถุงเท้าหลากหลายลายจำนวน 1,200 คู่ที่มาถึงจากจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว และบริษัทของตนได้นำไปวางขายในเคเคมาร์ทในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของพนักงานบริษัทของเองที่ไม่ตรวจสอบถุงเท้าล็อตนี้ให้ดีเสียก่อน ชี้ว่าเคเคมาร์ทเป็นเหยื่อของสถานการณ์ และหวังว่าประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิมจะให้อภัยแก่ตน  

ชัยแถลงพร้อมด้วยน้ำตาคลอ เมื่อพูดว่าทีมของเขาไม่เคยผิดพลาดอย่างนี้มาก่อนเลยในเวลา 23 ปีที่ผ่านมา “แม้กระทั่งผมเองก็ยอมรับการขายถุงเท้าที่มีชื่ออัลลอฮ์แบบนี้ไม่ได้” เขากล่าว พร้อมขอรับผิดชอบต่อความผิดพลาดครั้งนี้โดยไม่พยายามหาข้อแก้ตัวใดๆ และขอร้องให้ชาวมุสลิมยุติการบอยคอตเคเคมาร์ทของเขาด้วยเถิด 

ชัย คี คาน (Chai Kee Kan) หรือ เคเค ชัย (KK Chai)
ภาพจาก: Facebook – Datuk Seri Dr. Chai Kee Kan 

ใครที่ได้อ่านบทความของ Chin Yee Wah แห่ง Universiti Sains Malaysia ใน พ.ศ. 2560 อาจพอเข้าใจได้ว่า น้ำตาของชัยอาจมีที่มาที่ไปที่ลึกซึ้งกว่าความเสียใจต่อความโชคร้ายของตนที่สะเทือนความรู้สึกของชาวมลายูเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นน้ำตาเถ้าแก่ที่มาจากความเจ็บใจที่การลงทุนลงแรงของตนต้องมาเสี่ยงพินาศด้วยเรื่องที่ตนเองระมัดระวังมาตลอดชีวิต

Chin Yee Wah ชี้ว่านักธุรกิจหรือเถ้าแก่เชื้อสายจีนในมาเลเซียได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมภายใน รวมถึงปัจจัยที่มาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคมลายาภายใต้ความปกครองของอังกฤษ พวกเขาเก่งเรื่องการระดมทรัพยากร ทั้งในแง่ทุน แรงงาน เครือข่าย และเทคโนโลยี มาแต่ไหนแต่ไร เมื่อเวลาผ่านไป หลายรายจึงสะสมความมั่งคั่งได้เป็นเนื้อเป็นหนังเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

ในยุคอาณานิคม นักธุรกิจเชื้อสายจีนในมาเลเซียใช้วิธีดำเนินธุรกิจด้วยการหาโอกาสร่วมมือกับสุลต่านประมุขของรัฐต่างๆ  พร้อมกับระดมทุนจาก ‘ชาวจีนช่องแคบ‘ (Straits Chinese) ที่ร่ำรวย ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพมาตั้งหลักลงทุนในสิงคโปร์และมาเลเซียมาก่อนหน้า การระดมทุนช่วงแรกใช้ไปในกิจการเหมืองดีบุกโดยใช้แรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ชาวจีนด้วยกันเป็นนายหน้าจัดหางาน ตามมาด้วยการปลูกยางพาราในต้นทศวรรษ 1910s ก่อนที่โอกาสค้าขายใหม่ๆ จะมาถึงอีกครั้งช่วงปลายทศวรรษ 1950s หลังจากที่อังกฤษมอบเอกราชคืนให้มลายา เถ้าแก่ชาวจีนได้ใช้โอกาสของตลาดเปิดใหม่และสายสัมพันธ์กับนักการเมืองขยายธุรกิจของตนเองในทศวรรษ 1960s

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อการเมืองมาเลเซียเข้าสู่ภาวะเชื้อชาตินิยมเต็มรูปแบบ วันที่ 13 พฤษภาคม 2512 หลังจากที่พรรคคนจีน DAP (Democratic Action Party) ชนะเลือกตั้งทั่วไปในเขตกัวลาลัมเปอร์ เกิดเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์เชื้อสายมลายูออกไล่สังหารชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในเมืองหลวง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความหวาดกลัวต่อความอ่อนไหวทางเชื้อชาติที่มาจนถึงทุกวันนี้ 

หลังการจลาจล รัฐบาลพรรคอัมโนประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตั้งสภาฯ ชั่วคราวปกครองประเทศเป็นเวลาสองปี และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง ด้วยการออก ‘นโยบายเศรษฐกิจใหม่’ หรือ NEP (New Economic Policy) ใน พ.ศ. 2514 NEP ให้สิทธิพิเศษด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชากรภูมิบุตร (Bumiputera) หรือผู้มีเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติด้วยการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของประชากรในประเทศ ปัจจุบันสิทธิพิเศษนี้ยังดำรงอยู่ภายใต้ชื่อของนโยบายต่างๆ

NEP สามารถสร้างชนชั้นกลางในหมู่ภูมิบุตรได้จริง แต่นักธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่ฐานะมหาเศรษฐีกลุ่มใหม่ๆ กลับเป็นกลุ่มที่ไม่จำกัดเชื้อชาติ ขึ้นอยู่กับว่าคนเหล่านี้จะอยู่ในสังกัดของนักการเมืองใด มาเลเซียจึงมีกลุ่มมหาเศรษฐีหลากหลายเชื้อชาติกลุ่มใหม่ขึ้นมากลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ร่ำรวยด้วยสัมปทานของรัฐในช่วงแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่กลางทศวรรษ 1980s ภายใต้นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad)

ความเปลี่ยนแปลงจากนโยบาย NEP เป็นเครื่องทดสอบขนาดใหญ่ของความสามารถในการอยู่รอดของนักธุรกิจเชื้อสายจีนธรรมดาที่ไม่มีเส้นสาย จึงเกิดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้น คือการจับมือกับนักธุรกิจกลุ่มภูมิบุตร กลายเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เรียกว่า ‘อาลี-บาบา’ (Ali-Baba) ที่หมายถึงรูปแบบที่ ‘อาลี’ หรือนักธุรกิจเชื้อสายมลายู ผู้มีหน้าที่แสวงหาสัมปทานหรือเส้นสายในการทำธุรกิจ แชร์ผลประโยชน์กับ ‘บาบา’ หรือบ้าบ๋า นักธุรกิจชาวจีนที่รับหน้าที่ดำเนินการทางธุรกิจ โดยรูปแบบการทำธุรกิจนี้ยังเป็นไปในปัจจุบัน

พร้อมกันนั้น นักธุรกิจเชื้อสายจีนที่พอมีช่องทางก็เริ่มขยายการลงทุนของตนออกนอกประเทศเพื่อเลี่ยงปัญหาความไม่แน่นอนจากการเมืองภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเถ้าแก่รายใหญ่ ที่แม้ว่าจะมีเส้นสายทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้วางใจในอนาคต เถ้าแก่รุ่นแรก เช่น โรเบิร์ต ก๊วก (Robert Kuak) เจ้าพ่อน้ำตาลและผู้ติดอันดับมั่งคั่งที่สุดของมาเลเซียหลายปี ก็ผันตัวไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ ในฮ่องกง รุ่นถัดมาเช่น กลุ่มเกนติ้ง ผู้นำธุรกิจคาสิโน ที่ปัจจุบัน ลิม โก๊ะ เธย (Lim Koh Thay) รับช่วงจาก ลิม โก๊ะ ทง (Lim Koh Tong) บิดาผู้ล่วงลับ ก็กลายเป็นเป็นบรรษัทข้ามชาติที่ลงทุนในไม่ต่ำกว่าเก้าประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอียิปต์ ส่วนธุรกิจของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนรุ่นใหม่การศึกษาดี เช่น บริษัท Grab Taxi ของแอนโทนี ตัน (Anthony Tan) และ ตัน ฮุย หลิง (Tan Hooi Ling) ที่เริ่มต้นด้วยแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ในมาเลเซีย ใน พ.ศ. 2555 แล้วขยายตัวไปทั่วภูมิภาคหลังจากจับมือกับบริษัทสิงคโปร์จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ซึ่งอาจส่อถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ว่าอิทธิพลทางการเมืองเหนือการสะสมความมั่งคั่งทางธุรกิจเอกชนในมาเลเซียอาจอ่อนแรงลงเมื่อบางธุรกิจสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก และพึ่งพาเวทีภายนอกมากกว่าในประเทศ

ทิศทางของ เคเค มาร์ท ไม่น่าจะต่างกับกลุ่มธุรกิจข้างต้น เป็นเคราะห์ร้ายของเขาที่เหตุการณ์ถุงเท้าเจ้าปัญหามาถึงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เขาคงรู้ดีอยู่ว่าการขอโทษไม่น่าจะหยุดความโกรธเกรี้ยวและการฉวยโอกาสทางการเมืองได้ ในช่วงสัปดาห์หลังการแถลงข่าว มือลึกลับได้ก่อเหตุปาระเบิดใส่สาขาเคเคมาร์ทในรัฐเปรัก ปาหัง และซาราวัก และวันที่ 18 มีนาคม กรณีนี้ก็ได้กลายเป็นประเด็นซักถามกระทรวงมหาดไทยในสภาฯ ตามด้วยวันที่ 26 มีนาคม ชัย และ โละห์ สิ่ว หมุย (Loh siew Mui) ภรรยาผู้มีตำแหน่งบริหารในบริษัท ก็ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 298A ของประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการกระทำผิดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยก ไม่ลงรอย และความเกลียดชังในสังคม มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนผู้บริหารอีกสามคนของบริษัทผู้นำเข้าถุงเท้าก็ถูกตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน

ร้านสะดวกซื้อเคเคมาร์ทในมาเลเซีย
ภาพประกอบ: FB – KK SUPER MART

กรณีถุงเท้าเปิดเวทีให้นักการเมืองหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอีกครั้ง โดยฝั่งรัฐบาลดูจะเสียศูนย์มากกว่าฝ่ายค้าน นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) แชมเปียนแนวคิดปฏิรูปการเมืองและความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ พูดได้แต่เพียงว่าให้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ และรัฐบาลจะไม่แทรกแซงการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาขอร้องให้ประชาชน “มูฟออน” หันไปแก้ปัญหาที่สำคัญกว่า ส่วนอัคมาล นักการเมืองอัมโนผู้เป็นคนเริ่มเปิดการโจมตีเคเคมาร์ท ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกักตัวเพื่อสอบสวนเมื่อต้นเดือนเมษายน แต่ยังเดินหน้าโจมตีเคเคมาร์ทไม่หยุด การกวนน้ำให้ขุ่นของอัคมาลสร้างความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ สส.พรรค DAP ที่มีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งพยายามเจรจากับอัคมาลแต่ไม่เป็นผล และตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถปกป้องชุมชนจีนได้

ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่าแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน Perikatan Nasional (PN) – PAS (Parti Islam Se-Malaysia; พาส)   จะได้อานิสงส์จากเรื่องนี้โดยไม่ต้องทำอะไร พรรคพาสที่วางตัวเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาอิสลามและเป็นที่รู้กันว่ามักใช้ประเด็นทางศาสนากล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยๆ กลับนิ่งเฉยอย่างน่าแปลกใจ พาสไม่เข้าร่วมการโจมตีเคเคมาร์ท ไม่เรียกร้องให้บอยคอตใดๆ ทั้งสิ้น แสดงจุดยืนเพียงว่าให้ลงโทษผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และแนะให้สังคมระมัดระวังไม่ให้ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติบานปลาย เป็นจุดยืนเดียวกับของนายกฯ อันวาร์ และสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อิบราฮิม สุลต่าน อิสกานดาร์ (Sultan Ibrahim Sultan Iskandar) อย่างน่าแปลกใจ โดย อูลามา อาห์หมัด ยาฮายา (Ahmad Yahaya) ประธานสภาอูลามา (Religious Scholar Council) ของพาสกล่าวว่า พาสไม่เคยและจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการคว่ำบาตรเคเคมาร์ท และไม่มีผู้นำของพาสแม้แต่คนเดียวที่เรียกร้องให้มีมาตรการนี้

ท่าทีของพาสสร้างความแปลกใจให้หลายฝ่าย นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าพรรคพาสที่อยู่ในการเมืองมายาวนาน อาจประเมินว่าความตึงเครียดอาจขยายตัวเป็นความรุนแรงได้หากว่าพรรคเข้าร่วมขบวนการโจมตีเคเคมาร์ต จึงตัดสินใจสงบนิ่ง ณ ที่ตั้งมากกว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายในภายหลัง 

จะว่าไปแล้วนักการเมืองทั้งในฟากรัฐบาลและฝ่ายค้านจะประเมินสถานการณ์ไปในทางเดียวกัน ยกเว้นอัคมาล แห่งกลุ่มยุวชนพรรคอัมโน ความน่าหวาดหวั่นคือ แม้จะมีเพียงนักการเมืองคนเดียวออกปลุกระดม แต่ก็มีผู้พร้อมจะตามอยู่ไม่น้อย 

หลังเหตุการณ์เคเคมาร์ทไม่นาน เมื่อต้นเดือนเมษายน บริษัทรองเท้า Vern’s Holding Sdn Bhn ออกแถลงการณ์ขอโทษเรื่องดีไซน์รองเท้าส้นสูงแบบหนึ่งของบริษัทที่ถูกเจ้าหน้าที่ศาสนาตรวจสอบว่าอาจมีโลโก้ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าคล้ายกับตัวอักษรอารบิกคำว่า ‘อัลลอฮ์’ หนึ่งวันก่อนหน้าวันฮารีรายา เจ้าหน้าที่ศาสนาในรัฐยะโฮร์เข้ายึดพรมเช็ดเท้า 11 ชิ้นจากห้างอิออนของรัฐหลังได้รับการร้องเรียนว่าพรมเช็ดเท้านี้พิมพ์ลายหินดำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกะอ์บะฮ์ในศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้บริหารห้างอิออนออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า พรมนี้ไม่ใช่พรมเช็ดเท้า แต่เป็นพรมสำหรับสวดมนต์ที่ถูกบริษัทซัปพลายเออร์นำไปวางไว้ผิดแผนก อย่างไรก็ตามเรื่องซาลงเมื่อพบว่าบริษัทซัปพลายเออร์นั้นเป็นของนักธุรกิจมุสลิม

สถานการณ์ของชัยและเคเคมาร์ทอาจย่ำแย่กว่านี้ ถ้าหากสมเด็จพระราชาธิบดีอิบราฮิมไม่ทรงยื่นพระหัตถ์มาแก้ปัญหา ในวันที่ 3 เมษายน อากุงโปรดฯ ให้ชัยเข้าเฝ้าเป็นเวลา 15 นาที โดยตอนหนึ่งของการเข้าเฝ้าฯ เขาได้กราบบังคมทูลขออภัยโทษต่อพระองค์และขอโทษชาวมุสลิมทั่วประเทศ

ในบันทึกเรื่องการเข้าเฝ้าของสำนักพระราชวังที่แจกให้นักข่าวระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีตรัสว่าทุกฝ่ายต้องมีความรับผิดชอบไม่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และทรงเตือนทุกฝ่าย “เป็นครั้งสุดท้าย” ไม่ให้มีการปลุกระดมประชาชนในเรื่องนี้

ชัยและผู้เกี่ยวข้องอาจต้องกล้ำกลืนรับผลการลงโทษของศาลเพื่อลดกระแสความโกรธแค้นการปลุกระดมทางเชื้อชาติและแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาล แล้วใช้วิชาเอาตัวรอดเดินหน้าในธุรกิจของตนต่อไป ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศมาเลเซีย


อ้างอิง

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2024/03/25/home-grown-kk-marts-rise-from-solitary-store-to-convenience-empire

https://www.nst.com.my/news/nation/2024/03/1026508/kk-mart-founder-even-i-cant-accept-allah-socks-nsttv

https://www.channelnewsasia.com/commentary/malaysia-kk-mart-socks-boycott-petrol-bombs-pas-stance-4255006#:~:text=As%20the%20issue%20escalated%20over,Sarawak%3B%20and%20lawsuits%20were%20filed.

https://www.nst.com.my/news/nation/2024/03/1027262/home-ministry-probing-kk-mart-socks-issue-nsttv?_ga=2.16814843.377858151.1713241638-1716033464.1683538985

https://www.researchgate.net/publication/329116797_The_State_and_Malaysian_Chinese_Business_Past_Present_and_Future

https://www.thestar.com.my/news/nation/2024/03/20/take-action-and-move-on-says-pm-on-socks-issue

https://www.malaysiakini.com/news/701568

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2024/04/16/jainj-to-continue-probing-floor-mats-depicting-images-of-kaaba

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save