fbpx

Justice Next Challenges: ตั้งหลักใหม่กฎหมายไทย-ปฏิรูปหลักนิติธรรมให้ตอบโจทย์ประชาชน

จากความผันผวนปรวนแปรของระบบยุติธรรมในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำมาสู่การพยายามหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุง ไปจนถึงปฏิรูปให้กระบวนการยุติธรรมในทุกภาคส่วนของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งในการร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ‘หลักนิติธรรม’ ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยความเชื่อมั่นว่า กฎหมายต้องไม่ใช่เพียงแค่กฎเกณฑ์ที่ถูกบังคับใช้โดยผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ต้องเป็นกฎระเบียบเพื่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยึดโยงกับหลักประชาธิปไตย ซึ่งในเวทีโลกต่างมีบทเรียนจากการแลกเปลี่ยนกันและพบว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นมาได้ คือสังคมต้องมีความเชื่อถือต่อระบบยุติธรรม ดังนั้น ความหวังในการปฏิรูปหลักนิติธรรมจึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ด้วยบุคคลใดเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ จากผลคะแนน ‘ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม’ (Rule of Law Index) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยองค์กร World Justice Project (WJP) พบว่าประเทศไทยได้เพียง 0.50 คะแนน โดยมีเงื่อนไขในการจัดคะแนนแบ่งเป็น 8 ปัจจัยใหญ่ คือการควบคุมอำนาจของรัฐบาล การปราศจากการคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ สิทธิขั้นพื้นฐาน ระเบียบและความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

เพื่อให้ประเทศไทยได้เริ่มต้นกระบวนการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เราจึงเลือกเจาะลึกใน 4 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง และเป็น 4 ปัจจัยของดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนไม่ดีนัก มาเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งหลักใหม่เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open government) การปฏิรูปกฎหมายโดยลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือการทำกิโยตินกฎหมาย (regulatory guillotine) และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจากงาน ‘ASEAN Justice Innovation 2023 – งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน’: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์กร World Justice Project (WJP) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566

หัวใจหลักของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือการรับฟังเสียงประชาชน

เมื่อพูดถึงระบบยุติธรรมทางอาญาไทย แน่นอนว่า ‘การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ คือประเด็นที่เราได้ยินคนพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงชวนขบคิดว่าในแง่หนึ่ง คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี 2565 ที่ประเทศไทยได้มาเพียง 0.50 คะแนน ถือเป็นกระจกสะท้อนผลของการปฏิรูปประบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาของประเทศไทยได้อย่างดีว่าเรายังต้องแก้ไขหรือปรับปรุงจุดไหนในระบบต่อไป

และหากดูลึกลงในรายละเอียด ปัจจัยแรกสุด คือกระบวนการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ด้านนี้ประเทศไทยได้คะแนน 0.38 ปารีณาชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจคือ ผลคะแนนนี้ได้สะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงเรื่องทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และเทคนิคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ดี ปารีณาเสริมว่า คะแนน 0.38 ที่ได้มานี้ไม่ได้เป็นคะแนนที่แย่ที่สุดหากเทียบกับด้านอื่นๆ หมายความว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญาของไทยมีการรับรู้ของประชาชนพอสมควรเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ สะท้อนผลว่าการปฏิรูปกฎหมายทำได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่แน่นอนว่ายังไม่ถึงขั้นทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ 

ทว่าปัจจัยที่ได้คะแนนต่ำที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์อันย่ำแย่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือระบบราชทัณฑ์ ปารีณาอธิบายให้เห็นภาพว่า หากเรามองกระบวนการยุติธรรมเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ระบบราชทัณฑ์คือส่วนปลายน้ำที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัจจัยสุดท้ายที่จะต้องป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังกลับไปวนลูปในวงจนการทำความผิดซ้ำจนกลับไปอยู่ที่ต้นทางในฐานะของผู้กระทำความผิดอีก ทว่านี่กลับเป็นส่วนที่ได้คะแนนน้อยที่สุด สะท้อนถึงความไม่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการทำให้กระบวนการยุติธรรมนำมาสู่ความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของคนในสังคม ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ปารีณาชวนให้ทุกคนร่วมขบคิดและให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะคงเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีนักเมื่อจุดประสงค์ของระบบการดูแลผู้ต้องขัง คือการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดไม่ให้กลับไปทำความผิดซ้ำ ทว่าในวันนี้ระบบราชทัณฑ์กลับกลายเป็นระบบที่ล้มเหลวมากที่สุด  

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของไทยสะท้อนถึงภาวะที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูป ปารีณาจึงเสนอแนวทางว่า การจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมได้ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ตั้งแต่การออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย รวมถึงการประเมินกฎหมาย เพื่อจะนำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายเดิม ไปจนถึงการออกกฎหมายใหม่

ทว่าความท้าทายมากที่สุดในการปฏิรูปนี้ คือการทำให้กฎหมายเป็นเรื่องของทุกคนอย่างแท้จริง เพราะจากจุดเริ่มต้น เราจะพบว่ากระบวนการตั้งต้นในการออกกฎหมายเป็นเรื่องของภาครัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กฎหมายที่บัญญัติออกมาจึงเป็นมุมมองจากภาครัฐ แต่ประชาชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าแทบไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแก้ไขหรือออกกฎหมายใดๆ เลย 

“การรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิรูปแก้ไข ทั้งที่กฎหมายจะตอบสนองทุกคนได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีโอกาสเข้ามาสะท้อนสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่หากภาครัฐยังมองว่าตัวเองรู้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรับรู้หรือไม่เคยเข้าใจว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบอะไรจากกฎหมายที่ออกโดยภาครัฐบ้าง กฎหมายจะไม่มีทางเป็นเรื่องของประชาชน”

“แน่นอนว่าไม่มีทางที่เราจะออกแบบกฎหมายได้ตรงกับความต้องการของทุกคน แต่บางทีคนออกกฎหมายไม่ได้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย เช่นนั้นเขาก็จะไม่มีทางรู้ว่าสภาพความจริงที่คนที่ได้รับผลจากกฎหมายต้องเจอ กลับเอาแต่ทฤษฎีมาใช้ในการออกกฎหมาย แต่ไม่เคยเข้าใจปัญหาของภาคประชาชนเลย ไม่เคยรู้ว่าสถานการณ์ของการทำงานในหน้างานจริงคืออะไร เพราะกฎหมายจะ ‘for all’ ได้ ‘all’ (ทุกคน) ต้องมีส่วนในการออกแบบเช่นกัน” ปารีณากล่าว

ต่อประเด็นนี้ ปารีณายังเสริมว่า ในการออกกฎหมายใดๆ สิ่งสำคัญคือต้องประเมินก่อนว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับเอากฎหมายไปบังคับใช้จะมีทรัพยากรหรือความเข้าใจเพียงพอและมีระบบที่เอื้อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไปจนถึงการวางระบบก่อนออกฎหมาย เพราะแม้ออกกฎหมายมาสำเร็จ แต่ถ้าไม่มีระบบที่เอื้อให้ใช้งานได้จริง ที่ทำมาทั้งหมดก็ไม่มีประโยชน์ พร้อมระบุว่า ไม่มีทางที่กฎหมายจะตอบโจทย์สังคมได้ หากว่าคนออกกฎหมาย คนบังคับใช้ และคนที่ถูกบังคับใช้ไม่มีการเชื่อมโยงความต้องการและความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่องโหว่นี้จึงนำมาสู่ปัญหาการชะลอการบังคับใช้กฎหมายในที่สุด

“อย่างกรณีที่เกิดขึ้นตอนออก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ที่สุดท้ายก็มีการชะลอการบังคับใช้เพราะมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์และทรัพยากรต่างๆ ทั้งที่ควรจะมีการเตรียมงาน อุปกรณ์ และทรัพยากรให้พร้อมเสียก่อนระหว่างการเตรียมกฎหมายด้วยซ้ำ ไม่ควรจะต้องมาเป็นภาระของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องมาบังคับใช้งาน และไม่ควรเป็นภาระของประชาชนที่รอคอยว่าเมื่อไรกฎหมายจะบังคับใช้จริงเสียที”

“หน่วยงานเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีข้อมูลที่เปิดเผยออกมาน้อยมาก และเข้าถึงได้ยากมาก เป็นข้อมูลส่วนนี้สำคัญมากที่สุด ทั้งยังเป็นพื้นฐานในสิทธิของประชาชนอีกด้วย และถ้าเราสามารถบูรณะการระหว่างคนทำงานในพื้นที่ได้ คนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ในทันที” ปารีณาเสริม

‘open government – open data’ กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise เริ่มต้นชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาคอร์รัปชัน กระบวนการยุติธรรมทางอาญา การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ หรือการทำกิโยตินกฎหมาย เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาควิชาการและภาคประชาสังคมขับเคลื่อนได้ค่อนข้างยาก เพราะแม้ความหวังของการเปลี่ยนแปลงหลักๆ จะอยู่ที่ประชาชน ทว่าอุปสรรคสำคัญที่ยังคงเป็นตัวขัดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้คือการที่ประเทศไทยยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ เมื่อไม่มีทั้ง open government และ open data ก็ยิ่งทำให้ประชาชนไม่รู้จะไปร้องเรียนหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันในประเทศไทย

“ปัญหาตอนนี้คือยิ่งแต่ละชุดข้อมูลอยู่กับหน่วยงานที่แตกต่างกันก็ยิ่งทำให้ทำงานยากขึ้นไปอีก จึงต้องมีการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลในแต่ละหน่วยงานอย่างโปร่งใสที่สุด เพราะตอนนี้ข้อมูลต่างๆ กระจัดกระจายไปหมด เราต้องรวบรวมมาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางการเมืองที่ประชาชนทั่วไปต้องตรวจสอบได้ เพื่อนำไปสู่การหาช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างมากในประเทศ” 

“ถ้าเรามีพื้นที่ที่ดี จัดระเบียบอย่างสวยงาม แต่หากไม่มีข้อมูลมากางให้ศึกษา เราก็ทำอะไรได้ไม่มากอยู่ดี เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ open data และ open government” ต่อภัสสร์ให้ความเห็น

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise

อย่างไรก็ดี ต่อภัสสร์เสนอว่าขั้นตอนแรกที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในไทยอย่างยั่งยืน ย่อมวนกลับมาที่ความโปร่งใสตรวจสอบได้ของข้อมูลทางการเมืองในแต่ละหน่วยงานภายใต้รัฐบาล เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์หรือปรับใช้ในการดำเนินงานต่างๆ ทั้งยังจะทำให้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างถูกจุดและยั่งยืนกว่าการออกกฎหมายปราบปรามที่เห็นผลในระยะเวลาอันสั้น ทว่าไม่ได้ลงลึกทำความเข้าใจไปถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

“ลองจินตนาการว่าเราบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทันที แต่ปราบปรามการคอร์รับชันได้แค่ในระยะสั้น นี่เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลในระยะสั้นแต่เป็นผลเสียในระยะยาว เพราะอาจนำมาสู่การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดผู้เห็นต่างได้ ดังนั้น จะแก้ไขปัญหาคอร์รับชันอย่างยั่งยืนได้ต้องให้ประชาชนเห็นข้อมูลทั้งหมด และมีช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” 

“ทุกวันนี้ประชาชาชนแทบไม่รู้ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินทางการเมืองของนักการเมืองหรือหน่วยงานต่างๆ เลย เหล่านี้เป็นภาระอย่างมากของประชาชน สถานการณ์ ณ ตอนนี้ของประเทศไทยคือเรามีคนที่ศึกษาและพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเยอะมาก ประชาชนก็ให้ความสำคัญ เพียงแต่แนวทางการแก้ไขยังไม่เข้มแข็ง คือเรามีพลังมาก แต่จะไปถึงปลายทางได้ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส” 

เพราะสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐเป็นของประชาชนทุกคน

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGAเสริมเพิ่มเติมถึงการสร้างให้มีระบบยุติธรรมไทยให้มี open data ด้วยหลักสำคัญ คือพยายามให้มีการใช้ข้อมูลแบบดิจิทัล ลดการทำงานด้วยกระดาษที่สิ้นเปลือง ยุ่งยากและล่าช้า เพื่อให้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ง่ายขึ้นระหว่างแต่ละหน่วยงาน และสะดวกต่อการเปิดเผยข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายต่างๆ รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาชนและเอกชนนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้

อีกหนึ่งปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่เปิดจริง หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วน ไปจนถึงมีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ การขับเคลื่อนเรื่องนี้จึงจำเป็นอย่างมากเพื่อจะนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งจะนำไปสู่การแก้ไขในจุดอื่นเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย และอย่างน้อยที่สุด การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ถูกต้องโปร่งใสจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมรู้ว่าควรจะเริ่มต้นแนวทางการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปเช่นไร

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA)

นอกจากนี้ สุพจน์เสนอว่าการเปิดเผยข้อมูลที่ดีต้องเปิดแบบ top-down approach ด้วยการอ้างอิงจากความต้องการของประชาชนเป็นหลัก กล่าวคือ หากภาคประชาสังคมต้องการข้อมูลจากหน่วยงานใดเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาหรือออกแบบนโยบาย หน่วยงานนั้นก็ต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่ประชาชนต้องการอย่างโปร่งใสที่สุด เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อความเชื่อถือได้ด้านความโปร่งใสของหน่วยงานนั้นเอง ไปจนถึงเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมที่ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานอีกด้วย

“ปัญหาคือบางหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลเฉพาะในส่วนที่ตัวเองอยากเปิด แต่ในความเป็นจริงทุกหน่วยงานต้องมีการเปิดข้อมูลตามความต้องการของผู้ที่ใช้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เปิดแบบตามใจชอบ อีกทั้งถ้าไม่มีเหตุผลในการปิดข้อมูลก็ต้องเปิดออกมาทั้งหมด และต้องมีหลักฐานว่าคุณได้เปิดข้อมูลตามที่ประชาชนต้องการทั้งหมดอย่างถูกต้องและโปร่งใส เพราะเปิดแค่รายงานประจำปีไม่เพียงพออีกต่อไป” สุพจน์กล่าว

“เราต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลต่อทุกภาค่าสน และสร้างแนวทางในการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎหมาย และความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในระบบ ต้องสร้างระบบที่มีความโปร่งใสเพื่อให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน”

‘กิโยตินกฎหมาย’ ให้เป็นธรรม ทันสมัย และไม่สร้างภาระให้ประชาชน

เพราะการกิโยตินกฎหมายมีความเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรมโดยตรง กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อธิบายถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการกิโยตินกฎหมาย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภาวะ ‘กฎหมายเฟ้อ’ อันเกิดจากการที่รัฐบาลมักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยการออกกฎหมายใหม่เรื่อยๆ ทำให้กฎหมายถูกผลิตออกมาใหม่ตลอดเวลา จนถึงตอนนี้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ และมีกฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ ในจำนวนมหาศาลนี้ยังไม่นับรวมกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆ

นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบันยังมีความซ้ำซ้อน และมีกระบวนการและขั้นตอนที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่งส่งผลให้เกิดการกีดกันความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กีรติพงศ์เสริมว่า การที่มีภาวะกฎหมายเฟ้อในประเทศไทยเป็นเพราะกฎหมายเกิดง่ายเกินไป โดยที่ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายไม่ได้ประเมินให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าจำเป็นต้องสร้างกฎหมายขึ้นใหม่ถึงขนาดนั้นหรือไม่ และกฎหมายที่ออกมาจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า มากไปกว่านั้น นอกจากกฎหมายใหม่จะถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ ทว่ากฎหมายเดิมที่มีอยู่กลับไม่เคยถูกทำลายล้าง นำมาสู่กับซับซ้อนและวุ่นวายในการบังคับใช้กฎหมาย

เช่นนั้นแล้ว เพื่อให้ระบบยุติธรรมมีกฎหมายที่ดีและเป็นธรรมกับทุกคน มีการบังคับใช้ที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สร้างภาระให้ประชาชน และเป็นกฎหมายที่ทันสมัยสอดคล้องกับบริบทของโลกยุคปัจจุบัน กระบวนการกิโยตินจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับกฎหมายในประเทศ ซึ่งนับเป็นหัวใจในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม

โดยกีรติพงศ์เน้นย้ำว่าแนวทางของกิโยตินกฎหมายจะทำเพื่อทบทวนหรือปรับแก้โครงสร้างกฎหมายที่ย้อนแย้งกันเพื่อให้กฎหมายทันต่อยุคสมัย ทั้งการปรับกฎหมายในเรื่องที่ล้าสมัย สร้างความไม่สะดวกและสร้างภาระต่อการปฏิบัติ ให้ยกเลิกการใช้งานกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกันรวมให้อยู่ในฉบับเดียวกัน ส่วนกฎหมายที่ดีอยู่แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ ไปจนถึงกฎหมายที่ยังไม่มี แต่จำเป็นต้องใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันก็ให้เขียนขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยควรมีคู่มือเพื่อเป็นแนวทาง เป้าหมาย และลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะปฏิรูป และการมีส่วนร่วมทั้งจากภาคธุรกิจและภาคประชาชน 

“เราจะเห็นว่ามีกฎหมายบางฉบับที่ถูกบัญญัติมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลก เป็นกฎหมายที่เก่ามากแต่ไม่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตามบริบทโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังบังคับใช้อยู่จนถึงตอนนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ ทั้งยังก่อให้เกิดภาระต้นทุนต่อประชาชนที่ปฏิบัติตามกฎหมายจำนวนมากที่ส่วนหนึ่งล้าสมัยไปแล้ว”

“หลายครั้งหน่วยงานภาครัฐเองก็ต้องเจอปัญหาในการบริหารจัดการกฎหมายจำนวนมหาศาล ทั้งยังมีขั้นตอนมากมาย ซับซ้อน และนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะเมื่อกฎหมายมีเยอะ ขั้นตอนมีมาก จึงเกิดความยุ่งยากซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย การกิโยตินกฎหมายจึงจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้” กีรติพงศ์กล่าว


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save