fbpx

เมื่อไรระบบยุติธรรมไทยจะเป็นธรรม?: เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐที่ปกครองด้วย ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ด้วย ‘อำนาจ’

‘หลักนิติธรรม’ (Rule of Law) ถูกจัดเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ที่จะใช้ไปถึงปี 2573 ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสังคมใดขาดการยึดหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานในการพัฒนา จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ ได้ เพราะหลักนิติธรรมคือเครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยจำกัดการใช้อำนาจของรัฐให้ไม่มีอำนาจเหนือประชาชน และช่วยให้คนในสังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม 

จากผลคะแนน ‘ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม’ (Rule of Law Index) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยองค์กร World Justice Project (WJP) ซึ่งทำการวัดและจัดลำดับหลักนิติธรรมทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2551 ได้เปิดเผยผลคะแนนการวัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยได้ 0.50 คะแนน เป็นอันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับที่ 10 จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 25 จาก 42 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แม้คะแนนของประเทศไทยจะไม่ลดลง แต่ก็มีอันดับต่ำลงเรื่อยๆ

ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เรามีกรอบที่ชัดเจนในการใช้พูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงนำมาสู่การพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อความยุติธรรมในอาเซียน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านหลักนิติธรรมและการยกระดับคุณภาพของระบบยุติธรรมในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย และนำไปสู่การขยายเครือข่ายของนวัตกรเพื่อแก้ปัญหาความยุติธรรมในอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาหลักนิติธรรมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP นำมาใช้ในการจัดคะแนนแบ่งเป็น 8 ปัจจัยใหญ่ คือ การควบคุมอำนาจของรัฐบาล (Constraints on Government Powers) การปราศจากการคอร์รัปชัน (Absence of Corruption) การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government) สิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ระเบียบและความมั่นคง (Order and Security) การบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Enforcement) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง (Civil Justice) และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) 

สำหรับประเทศไทย ใน 8 ปัจจัยนี้ พบว่ามี 4 ปัจจัยที่ไทยได้คะแนนไม่ดีนัก ได้แก่ ปัญหาคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การปฏิรูปกฎหมายโดยลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือการกิโยตินกฎหมาย และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  

อย่างไรก็ดี การพัฒนาปรับปรุงตัวชี้วัดหลักนิติธรรมถือเป็นเรื่องที่ใหญ่และค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังไม่สามารถทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในกระบวนการยุติธรรม เพื่อการขับเคลื่อนการสร้างหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรมและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นผลสำเร็จได้จริงในอนาคต

หมายเหตุ เรียบเรียงเนื้อหาจากงาน ‘ASEAN Justice Innovation 2023 – งานนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมแห่งอาเซียน’: หลักนิติธรรม ข้อมูล และอนาคตของระบบยุติธรรมในอาเซียน จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับองค์กร World Justice Project (WJP) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566

‘คอร์รัปชัน-อุ้มหาย-รัฐประหาร’ วิกฤตการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย

ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) เริ่มต้นลงลึกอธิบายภาพสถิติการให้คะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทยในปี 2565 ซึ่งแม้ผลการให้คะแนนจะชี้ให้เห็นว่า คะแนนด้านหลักนิติธรรมของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่คงที่ แต่กลับมีอันดับที่แย่ลงเรื่อยๆ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี ศรีรักษ์ชี้ให้เห็นว่ายังมีบางปัจจัยที่ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ ความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในระดับที่พอรับได้ และความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

“หากลงลึกไปในรายละเอียดของปัจจัยด้านหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก เช่น ปัจจัยการควบคุมอำนาจรัฐ มีคะแนนต่ำอยู่ที่การวัดจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ การถ่ายโอนอำนาจรัฐเกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการทำรัฐประหาร ความสามารถของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมอำนาจรัฐ การที่มีคนทำผิดจำนวนมากและไม่ได้รับการลงโทษ และความสามารถขององค์กรพัฒนาเอกชนในการตรวจสอบรัฐบาล”

“ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ได้คะแนนต่ำ เช่น ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การเผยแพร่กฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม และยังพบการซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย มีกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่มีผู้พ้นโทษจากเรือนจำจำนวนมากกลับไปกระทำความผิดซ้ำเพราะขาดโอกาสในการเริ่มต้นใหม่” ศรีรักษ์กล่าว

ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) 

“A government of laws, not of men”
รัฐบาลต้องปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยคณะบุคคล

จากสภาพการณ์อันย่ำแย่ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทยดังที่ชี้ให้เห็นในรายงาน ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิและคร่ำหวอดในแวดวงกฎหมาย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเสริมถึงประสบการณ์ตรงขณะทำงานในฐานะคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอันนำมาสู่ความสูญเสียในปี 2553 ซึ่งในขณะนั้นทางคณะกรรมการฯ ได้พูดคุยและรับฟังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว โดยทุกภาคส่วนระบุตรงกันว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรม และพบว่าหลายครั้งผู้มีอำนาจในการใช้กฎหมายกับผู้ถูกกระทำด้วยกฎหมายมีมุมมองต่อการบังคับใช้กฎหมายไม่ตรงกัน

กิตติพงษ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีคำว่า ‘หลักนิติธรรม’ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สามารถทำให้จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่ WJP ทำไว้มาเป็นเวลาถึง 15 ปีแล้ว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาให้เกิดหลักนิติธรรมขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะหลักนิติธรรมถือเป็นรากฐานสำคัญของการมีระบบธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การทำให้ประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมทั้งนำไปสู่การมีกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ที่มีจิตวิญญาณของหลักนิติธรรมอยู่ด้วย รัฐธรรมนูญที่มุ่งปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงจึงเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม

“ผมขอยกคำพูดของ จอห์น อดัมส์ ที่กล่าวว่าเราต้องสร้าง a government of laws, not of men คือเราต้องมีรัฐบาลที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งจะนำมาสู่แนวคิดว่าหลักกฎหมายต้องเป็นใหญ่ ต้องบังคับกับทุกคนอย่างเสมอภาค ผู้ตัดสินชี้ขาดต้องเป็นธรรมและเที่ยงธรรม กฎหมายต้องมีที่มาโดยชอบ ทันสมัยและแก้ไขปัญหาในแต่ละยุคสมัยได้ ในที่สุดแล้วทุกคนต้องเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะทำให้เกิดหลักนิติธรรมในไทย” กิตติพงษ์กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

มากไปกว่านั้น กิตติพงษ์มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหลักนิติธรรมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากผู้มีอำนาจในการใช้กฎหมายไม่ประสงค์จะให้เกิดการปฏิรูป และเมื่อการบริหารประเทศยังคงมีระบบธรรมาภิบาลที่อ่อนแอย่อมนำมาสู่ระบบการเมืองที่อ่อนแอ ทั้งยังคงมีการหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากระบบการเมืองและกฎหมายที่อ่อนแอจนนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามบานปลาย ไปจนถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้ไขปฏิรูประบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

“ที่ผ่านมา ผมและอาจารย์หลายท่านอยากจะปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญา รวมถึงสิทธิของคนในระบบยุติธรรมมาตลอด เราเคยเสนอกฎหมายต่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะกลายเป็นว่าผู้ใหญ่หลายคนในรัฐบาลสมัยนั้นไม่อยากปฏิรูป พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ผมพยายามจะให้รัฐธรรมนูญมีหลักนิติธรรมมากที่สุด แต่ก็ปรากฎว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีก”

กิตติพงษ์เสริมถึงความคาดหวังว่าเขาต้องการให้การแลกเปลี่ยนแนวทางในการปรับปรุงหลักนิติธรรมในไทยไม่ขึ้นอยู่แค่กับแวดวงนักกฎหมาย แต่ปรารถนาให้ประเด็นสาธารณะที่ทุกคนในสังคมให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพราะเสียงและความคิดของประชาชนทุกคนล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เช่นนั้นแล้ว การนำข้อมูลจากดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมมาจัดเวทีเสวนาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาหลักนิติธรรมในประเทศไทยจึงไม่ได้มีแค่เป้าหมายเพื่อจะหวังเพิ่มคะแนนในดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย แต่ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญต่อกระบวนการหารือเชิงนโยบายที่ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมกับการให้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีนโยบายที่ส่งเสริมหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

“เราต้องการจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่การปฏิรูปตำรวจ หรือปฏิรูปองค์กรใดองค์กรหนึ่ง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะไม่มีวันสำเร็จ ถ้าเราไม่เข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่างหลักนิติธรรม การมีธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นรากฐานของการเป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สำเร็จ เพราะเราไม่มีตัวชี้วัดหลักนิติธรรมที่จับต้องได้ ทำให้เราพูดถึงหลักนิติธรรมในเชิงนามธรรม ไม่มีกรอบเนื้อหาพูดคุยเพื่อวิเคราะห์หรือพัฒนา” กิตติพงษ์กล่าว 

“ดังนั้นจากนี้ไปรัฐบาลควรจะต้องนำตัวชี้วัดนี้มาเป็นกรอบของการพูดคุยต่อไป และขอย้ำว่า เราจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่สำเร็จ ถ้ากฎหมายรัฐธรรมนูญของเรายังไม่มีจิตวิญญาณที่เชื่อเรื่องหลักนิติธรรม ผมขอทิ้งท้ายไว้ว่า หลักนิติธรรมที่ดีไม่มีขาย หากอยากได้ ต้องร่วมกันสร้าง” กิตติพงษ์เน้นย้ำ

ประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องปรับปรุงตั้งแต่ระบบ

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปกฎหมายด้วยการลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็น หรือการทำกิโยตินกฎหมาย โดยชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้เกิดผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยยังคงใช้กระบวนการและวิธีการเดิมๆ ในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งล้วนใช้ระยะเวลานานและไม่ทันต่อบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนในการปฏิรูปอย่างจริงจัง

“เราเสนอให้ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น มีบางอันไม่ผ่านเพราะบางหน่วยงานไม่เห็นด้วย บางอันถูกปฏิเสธไปเลย ที่ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม 2565 มีข้อเสนอที่ดำเนินการเสร็จทั้งหมดแค่ 250 เรื่อง ปฏิเสธไม่ดำเนินการ 311 เรื่อง และกำลังดำเนินการอยู่กว่า 531เรื่อง นับเป็นร้อย 49 จากข้อเสนอทั้งหมด แน่นอนว่าเราไม่มีทางแก้กฎหมายได้หมดถ้าเรายังใช้ระบบแบบเดิม” กิติพงศ์อธิบาย

กิติพงศ์ให้ความเห็นเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียที่สามารถปฏิรูปกฎหมายหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นได้สำเร็จ เป็นเพราะมีกระบวนการที่รัฐสร้างหน่วยงานขึ้นมาทำงานนี้เป็นการเฉพาะ มีบุคลากรที่ทำงานเต็มเวลา มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินใจ ซึ่งต่างจากกระบวนการในประเทศไทยที่ใช้รูปแบบเดิมๆ คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ไม่มีบุคลากรที่ทำงานต่อเนื่อง และยังทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีงานล้นมือมากอยู่แล้วให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ จึงเป็นเหตุที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยปฏิรูปกฎหมายไปได้น้อยมาก 

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“ตอนเกิดวิกฤติโควิด-19 ประเทศอินโดนีเซียออกร่างกฎหมายสารพัน (omnibus law) เพื่อแก้กฎหมายทีเดียวกว่าร้อยฉบับ ในขณะที่ประเทศไทยผมเคยเสนอว่าเราสามารถออกพระราชกำหนดได้ทันทีหากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะเมื่อเกิดโควิด-19 แต่เมื่อนำไปหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะเรายังคงยึดติดกับกระบวนการแบบเดิมที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกหน่วยงานเท่านั้น ผมเคยเจอการแก้กฎหมายกฤษฎีกามาตราเดียวใช้เวลาแก้หนึ่งเดือน นี่คือระบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

กิติพงศ์เสนอว่าประเทศไทยควรมีหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานพิเศษในการจัดการการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลารวดเร็ว ทั้งยังเน้นย้ำว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมือในการปฏิรูปแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงาน ไปจนถึงผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม รวดเร็ว และใช้มาตรฐานเดียวกันกับประชาชนทุกคน

“ทุกหน่วยงานต้องให้ความสนใจการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในการเข้าถึงกฎหมายมากกว่านี้ สำหรับผม ผมยังมีความหวังเสมอว่าจะได้เห็นการแก้ไขปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยในยุคสมัยนี้” กิติพงศ์กล่าว

ปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้อง

วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อ้างอิงถึงรายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจุดที่ประเทศไทยได้คะแนนด้านการจัดการปัญหาคอร์รัปชันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคอย่างมาก ทั้งการทำงานของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการตำรวจและทหาร มีเพียงฝ่ายตุลาการที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงนำมาสู่การเปรียบเทียบกับผลการวัดคะแนนความโปร่งใสนานาชาติที่มีรายงานออกมาทุกปีเช่นกัน โดยในปีล่าสุด ประเทศไทยได้ไปเพียง 36 จาก 100 คะแนน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนต่ำ

“หลักนิติธรรมและปัญหาคอร์รัปชันมีความเกี่ยวข้องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน บางกรณีการคอร์รัปชันทำให้หลักนิติธรรมของเราอ่อนแอ บางกรณีหลักนิติธรรมอาจจะอ่อนแอจนทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย” วิเชียรกล่าว

แม้จะมีทั้งคะแนนชี้วัดหลักนิติธรรมและคะแนนความโปร่งใสอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก แต่ส่วนตัววิเชียรยังเห็นความหวังบางอย่างจากผลคะแนนความโปร่งใสที่ไทยได้รับครั้งล่าสุด คือการที่ประเทศไทยมีคะแนนที่สูงขึ้นมากจากผลสำรวจการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยพบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ยอมรับต่อการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอีกต่อไป และมีถึงกว่าร้อยละ 70 ที่ระบุว่าต้องการมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหา รวมทั้งยังมีผลสำรวจอีกว่า ปัญหาหลักๆ ในประเทศไทยที่ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ความน่าสนใจคือปัญหาคอร์รัปชันในไทยเป็นเรื่องประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรกมากกว่าความต้องการเห็นการแก้ปัญหาปากท้องเสียด้วยซ้ำ

วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

วิเชียรกล่าวเสริมถึงประเด็นความตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพเหมือนกับผู้ป่วย เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ แต่เราต้องไม่สิ้นหวัง เพราะที่ผ่านมาความตื่นรู้ของประชาชนในเรื่องปัญหาคอร์รัปชันสูงขึ้นมาเรื่อยๆ มีรายงานว่าร้อยละ 97-98 ของประชาชนคนไทยไม่ยอมรับต่อการกระทำทุจริตคอร์รัปชันอีกต่อไป” 

เมื่อประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมากต่อการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน นายวิเชียรจึงขอเสนอแนวทางที่จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ด้วยการเปิดช่องทางในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกรูปแบบได้ง่ายขึ้น และเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น และปลูกฝังในเรื่องหลักนิติธรรมให้กับประชาชน

“แนวปฏิบัติสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไปจนถึงหลักนิติธรรมคือการเสริมพลังให้ประชาชนมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูล ต้องมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนได้ร่วมเฝ้าระวังและสังเกตการณ์เหตุการณ์ที่อาจจะมีความไม่ชอบมาพากล เพื่อนำมาสู่การดำเนินคดีและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนต่อไปได้” 

“ปัญหาใหญ่ๆ จะแก้ไขได้ด้วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยอาศัยการสร้างกลไกที่จะเอื้อให้ประชาชนตื่นตัวและผลักดันไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้” วิเชียรกล่าวเสริม

ให้การกระทำผิดซ้ำหมดไป มอบความยุติธรรมคืนให้สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนตัวชี้วัดหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก คือปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในระบบยุติธรรมไทย โดยเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการกระทำผิดซ้ำของผู้ที่เคยต้องโทษมาก่อนนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัญหาความแออัดของนักโทษในเรือนจำ ส่งผลให้กรมราชทัณฑ์ไม่สามารถฟื้นฟูผู้ต้องขังเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างที่หวังไว้

ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาดังกล่าวก็คือกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ที่ส่งคนจำนวนมากเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งที่ไม่มีความจำเป็น มีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีที่แม้จะยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่กลับต้องติดคุกเพราะไม่มีทุนทรัพย์ในการประกันตัวมาสู้คดี

“จากสถิติของเรือนจำ วันนี้เรามีผู้ต้องขังอยู่สองแสนกว่าคน แต่จำนวนของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณามีตัวเลขถึงกว่าร้อยละ 10-20 ของผู้ต้องขังทั้งหมด หมายถึงคดีที่ยังไม่มีการตัดสินใดๆ เลย แต่เขากลับถูกขังเสียแล้ว ซึ่งผมมองว่าเราต้องมาวิเคราะห์และให้ความสนใจกันมากขึ้นว่าทำไมผู้ต้องขังในประเทศไทยถึงมากขึ้นขนาดนี้” สุรศักดิ์อธิบาย

ต่อมาคือกลุ่มที่ถูกกักขังแทนการเสียค่าปรับเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทั้งที่กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยและไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง รวมไปถึงนักโทษกลุ่มใหญ่ที่สุด คือกลุ่มนักโทษคดียาเสพติด อันมีสถิติคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ ทว่าเมื่อไปสำรวจอย่างเจาะลึกกลับพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ต้องขังคดียาเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้เสพที่มีพฤติกรรมค้ารายย่อย ทว่าแทบจะไม่มีผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ตัวจริงถูกคุมขังในเรือนจำเลย

ดังนั้น หากกระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่มีการใช้มาตรการทางเลือกอื่นในการลงโทษที่มิใช่การคุมขัง และกลับยังคงส่งคนเข้าสู่เรือนจำเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมจะทำให้มีคนหน้าเดิมๆ เข้า-ออกเรือนจำตลอดเวลา และเมื่อเรือนจำยังคงมีจำนวนผู้ต้องขังเข้ามามากเกินศักยภาพการรองรับ รัฐก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลไปกับการดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังแทนที่จะได้นำไปใช้เพื่อการฟื้นฟูให้ผู้ต้องขังให้ได้กลับคืนสู่สังคม มากไปกว่านั้น มีรายงานระบุว่าทุก 3 ปี ผู้พ้นโทษร้อยละ 30 จะกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีกครั้ง

และเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเทียบกับผลดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP จะเห็นได้ชัดถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยได้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการที่อัยการไม่มีบทบาทในกระบวนการสอบสวน จนนำไปสู่การสั่งฟ้องโดยไม่จำเป็นหลายต่อหลายครั้ง หรือการที่ประเทศไทยมักไม่หาวิธีการเบี่ยงเบนคดีอาญาออกไปจากกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการที่ประเทศไทยยังมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปกับผู้ต้องโทษที่ชดใช้ความผิดไปแล้ว ทำให้ผู้ต้องขังกลุ่มที่พร้อมปรับปรุงตัวเองไม่สามารถไปหางานทำเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ จนต้องกลับมากระทำผิดซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save