fbpx

People-Centered Justice in Action: ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่ออนาคตแห่งความยุติธรรมที่ยั่งยืน

ความพยายามในการพัฒนาหลักนิติธรรมไม่จำกัดเพียงการปฏิรูปเรื่องระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังขยายกรอบการทำงานไปถึงแง่มุมในการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างกว้างขวาง ภายใต้แนวคิดที่ว่าหลักนิติธรรมเป็นสิ่งค้ำประกันสิทธิที่เป็นธรรม สร้างให้เกิดความโปร่งใสและเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน สังคมที่มีหลักนิติธรรมจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และในทางกลับกัน สังคมที่ปราศจากหลักนิติธรรมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดประชุมเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หัวข้อ ‘People Centered Justice in Action’ โดยมุ่งเน้นนำเสนอทิศทางการพัฒนาระบบยุติธรรมและหลักนิติธรรมในสังคมโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ เพื่อให้เกิดบริการด้านความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยได้รวบรวมกรณีศึกษาในไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงผลงานของบรรดาผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (The TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development หรือ RoLD Program)

การนำเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการทำความเข้าใจปัญหาแบบลงลึกและการขบคิดถึงแนวทางการออกแบบทางเลือกในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ตรงกับเสียงความต้องการของประชาชน โดยนำเครื่องมือใหม่ๆ ทั้งการคิดแบบนักออกแบบ (design thinking) และกระบวนการคิดเชิงระบบ (system thinking) มาใช้ดำเนินการ ซึ่งต่างจากแนวทางนโยบายสาธารณะในอดีตที่การกำหนดนโยบายมักเริ่มต้นหาทางแก้ปัญหาจากมุมมองอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก จนหลายครั้งสร้างให้เกิดช่องว่างในการตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างที่เคยพบเห็นมาในอดีต

ภาพถ่ายโดย TIJ

People Centered Justice: กระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

การออกแบบกระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered Justice) เป็นทิศทางสากลที่หลายประเทศให้ความสนใจและมีความพยายามที่จะปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น (User-friendly Justice) อีกทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้นำเสนอองค์ประกอบสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่

1. การออกแบบและการก่อให้เกิดบริการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (designing and delivering people-centered services)

2. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อให้เกิดธรรมาภิบาล (governance enablers and infrastructure) และการเสริมสร้างพลังให้กับประชาชน (people empowerment)

3. การวางแผน ติดตาม รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติงาน (planning, monitoring, and accountability)

4. ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อทำความเข้าใจประชาชน เริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการยุติธรรม (justice needs survey) ไปจนถึงการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรม (technology for justice) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่าหนึ่งในการศึกษาและวิจัยที่ TIJ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการศึกษาความต้องการและชีวิตของผู้ต้องขังหญิง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มองว่าผู้ต้องขังหรือผู้กระทำความผิดแต่ละคนต่างมีปูมหลังและความต้องการที่แตกต่างกัน และไม่มองพวกเขาเป็นเพียงกลุ่มก้อนเดียว แต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงรายละเอียดของผู้ต้องขังในแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ต้องขังหญิงที่อาจจะมีปูมหลังแตกต่างจากกลุ่มอื่น เพื่อนำมาออกแบบนโยบายเพื่อผู้ต้องขังเหล่านี้ต่อไป

“ผู้หญิงบางคนเคยเป็นเหยื่อมาก่อน ผู้หญิงหลายคนเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมหรือมาเป็นผู้ต้องขังเพราะอยากจะแสดงความรับผิดชอบหรือดูแลสามีของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าภาพจำที่คนส่วนใหญ่มองผู้ต้องขังอาจจะเป็นการมองด้วยเลนส์แบบเดียว และเป็นเลนส์ที่มีฝ้าด้วย คือมองด้วยอคติไว้ก่อนว่าคนเหล่านี้น่ากลัว เป็นภัยต่อสังคม ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด” พิเศษกล่าว

ดร. พิเศษ สอาดเย็น
ภาพถ่ายโดย TIJ

นอกจากนี้ พิเศษระบุว่าที่ผ่านมามีการเล็งเห็นถึงปัญหาว่างงานของผู้พ้นโทษจากเรือนจำ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทาง TIJ จึงจัดโครงการ ‘Hygiene Street Food’ ส่งมอบความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษหรือพ้นโทษแล้วเพื่อให้พวกเขาสามารถประกอบธุรกิจเป็นของตัวเองหรือสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้หลังพ้นโทษจากเรือนจำ อีกทั้งจะทำให้พวกเขาสามารถกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างแท้จริง และเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะทำให้สังคมเข้าใกล้กระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered Justice) มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง

“คนที่อยู่ในเรือนจำสุดท้ายก็ต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคม และเราพบว่าส่วนใหญ่พวกเขามีอุปสรรคมาก ส่วนหนึ่งคือสังคมไม่ยอมรับ บางคนไม่มีเงินทุนหรือองค์ความรู้ที่จะมาประกอบกิจการ รวมถึงการมีตราบาป (stigma) ว่าเคยผ่านการอยู่ในเรือนจำ ทำให้พวกเขามีข้อจำกัดในการทำงาน” พิเศษอธิบาย

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าความท้าทายของระบบยุติธรรมไทย คือการรักษาสมดุลระหว่างการนำเทคโนโลยีพื้นฐานต่างๆ มาปรับใช้กับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ซึ่งความท้าทายนี้นำมาสู่การพัฒนาและออกแบบกระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Centered Justice)

“ถ้าจะเป็น People Centered Justice จริงๆ คนๆ หนึ่งจะต้องได้ give (ให้) และ take (รับ) ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่คนหนึ่ง give แล้วอีกคนหนึ่ง take และการใช้เทคโนโลยีก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จในกระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้ คือคนต้องมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”

“ภายใต้ระบบ People Centered Justice นอกเหนือจากคนนอกแล้ว เราต้องกลับมาดูว่าคนในระบบจะ give and take อะไรให้กับระบบได้บ้าง ซึ่งถ้าเราทำให้คนในระบบเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับได้อย่างเต็มที่จะเป็นการสร้างระบบที่ยั่งยืนและจะเป็นแกนหลักให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง” ธานีให้ความเห็น

มากไปกว่านั้น ธานีมองว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่ล้วนมีความขี้เกียจ (ไม่ชอบเรื่องราวที่ซับซ้อนหรือเข้าใจยาก) ขี้เบื่อ (มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา) และขี้อิจฉา (มักจะเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ) ด้วยเหตุนี้ หากต้องการให้การพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางสำเร็จลุล่วงได้ จึงจำเป็นต้องออกแบบระบบให้มีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง และมีความเป็นธรรม เพื่อให้ตอบสนองต่อธรรมชาติของมนุษย์ดังที่กล่าวมา

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์
ภาพถ่ายโดย TIJ

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion ระบุว่า แก่นสำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือการเข้าใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากระบบนี้ เพื่อหาทางตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยจำเป็นต้องมีการทดสอบและทดลองโครงการต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อนำมาซึ่งบทเรียนในการออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทดลอง ซึ่งจะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

“กลับไปที่เรื่องการรักษาสมดุล เทคโนโลยีทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกก็จริง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีข้อจำกัดเยอะมาก สุดท้ายเรามองว่ามันผสมผสานกันได้ คือเอาผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จะทำให้สามารถทำเป็นระบบควบคู่กันระหว่างระบบคัดกรองของผู้เชี่ยวชาญกับระบบการพยากรณ์โดยเทคโนโลยี” สุนิตย์กล่าว

สุนิตย์ เชรษฐา
ภาพถ่ายโดย TIJ

ในปีนี้ ผู้เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ ‘RoLD2022 : Beyond Leadership’ ยังได้ดำเนินโครงการปฏิรูปหลักนิติธรรมอย่างเป็นรูปธรรม (RoLD in Action) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในหลายมิติ โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังและนำเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประกอบการวิเคราะห์และออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคมทั้งในด้านการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ต้นแบบ การออกแบบโปรแกรมเพื่อเสริมสร้างความพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืนให้กับผู้เตรียมพ้นโทษ และการพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างเป็นระบบ

Smart Police: แนวป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ต้นแบบ

‘Smart Police’ คือโครงการนำร่องพัฒนาระบบ CCTV ด้วยเทคโนโลยี machine learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกล้องวงจรปิดจากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และนำเทคโนโลยี machine learning มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบนเครือข่ายกล้องวงจรปิด ตรวจจับผู้ต้องสงสัย ยานพาหนะต้องสงสัย อาวุธ และเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะแจ้งเตือนผ่านระบบเฝ้าระวัง (SOS) ไปยังห้องควบคุม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไปถึงสถานที่เกิดเหตุได้รวดเร็วขึ้นและติดตามจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้อย่างทันท่วงที

รศ.ดร. สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มต้นอธิบายถึงหลักคิดเบื้องต้นของ Smart City ว่าหมายถึงเมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานที่นำมาต่อยอดออกมาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น Smart Pole (เสาไฟฟ้าอัจฉริยะ), Smart Energy, Smart Transportation, Smart Health จนสามารถพัฒนามาสู่โครงการ Smart Police ที่ประยุกต์เทคโนโลยีในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร. ดวงพร ภู่ผะกา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่าแนวทางการดำเนินโครงการ Smart Police คือมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ การออกแบบและพัฒนาโครงการตั้งอยู่บนหลักการเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมี 5 แนวทางหลัก ได้แก่

1. รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วยการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

2. สร้างห้องปฏิบัติการที่รวบรวมรูปจากกล้องวงจรปิดต่างๆ

3. ทำสัญญา MOU เชื่อมต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้กล้องวงจรปิดที่มีอยู่หลายที่มาเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

4. เพิ่มกล้องวงจรปิดในพื้นที่สำคัญ

5. เชื่อมโยงกับการศึกษาด้วยการจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ดวงพรเสริมว่า ‘Smart Police’ ยังดำเนินการภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคชุมชน ให้มีการเชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิดและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ โดยดำเนินการผ่านกระบวนการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยการเสวนากลุ่มย่อยและการรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ในช่วงท้าย ปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Looloo Technology และกรรมการบริหารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เสริมว่าผลลัพธ์จาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทดลองในพื้นที่จริง ตลอดจนเสริมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำให้โครงการ ‘Smart Police’ มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน ทั้งยังเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

“เป้าหมายที่สำเร็จของโครงการคือเราทำได้จริง ใช้ได้จริง และสร้างอิมแพกต์ได้ในระยะเวลาอันสั้นและยั่งยืน” ปริชญ์กล่าวสรุป

ภาพถ่ายโดย TIJ

New Me – New Opportunity: เปิดพื้นที่แห่งโอกาส

New Me – New Opportunity คือโครงการที่มุ่งเน้นต่อยอดการทำงานของโอกาสสถานภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์เตรียมการปลดปล่อยเรือนจำชั่วคราวกลางเวียง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนากิจกรรมและกระบวนการนำร่องของศูนย์เตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขังหญิง (re-entry center) ให้มีความครบวงจรมากขึ้น โดยนำเครื่องมือ design thinking เข้ามาทำการศึกษาและรับฟังความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เตรียมพ้นโทษ

ศ.พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าโครงการ New Me – New Opportunity เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เตรียมพ้นโทษ เพื่อนำมาออกแบบแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้เตรียมพ้นโทษ ครอบครัวของผู้เตรียมพ้นโทษ ผู้จ้างงาน คนในสังคม รวมถึงกรมราชทัณฑ์และภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ต้องขังได้ลองฝึกการรู้จักและประเมินตนเอง เสริมสร้างทักษะพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การทำงานหลังจากพ้นโทษ

หนึ่งในกิจกรรมที่ออกแบบและทดลองนำมาปรับใช้ ณ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหญ่ คือกิจกรรม ‘มาออกแบบชีวิตกันเถอะ’ ธนินีอธิบายว่าแนวคิดของกิจกรรมดังกล่าวคือการชวนให้ผู้ต้องขังได้คิดถึงจุดแข็งและจุดพัฒนาของตัวเอง ผ่านกิจกรรมที่ปรับจากแนวคิดของ Designing Your Life เพื่อหาโอกาสในการสนับสนุนและพัฒนารายบุคคล โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษใน 6 เดือน-1 ปี

“กิจกรรมนี้ทำให้เราพบว่าข้อท้าทายและข้อกังวลหลักของผู้ต้องขังหญิงจะแบ่งออกเป็น 16 ธีม เช่น กังวลว่าจะถูกสังคมตัดสิน กลัวไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่รักหรือคนในครอบครัว กังวลว่าตัวเองจะไม่สามารถที่จะหักห้ามใจไม่ให้กระทำผิดซ้ำ รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง หรือกังวลเพราะขาดต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นต้น”

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ‘รากแก้วแห่งความกรุณา’ (Mindful Self-Compassion) ที่มุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังได้ปรับทัศนคติในเชิงบวกต่อตนเองมากขึ้น ลดความรู้สึกเกลียดหรือโทษตัวเอง และฝึกให้ผู้ต้องขังใจดีต่อตัวเองและให้อภัยตนเองในสิ่งที่เคยกระทำผิดลงไป

“จริงๆ แล้วการตีตราที่น่ากลัวที่สุดคือ self-stigma ซึ่งก็คือการตีตราตัวเอง เป็นการตีตราที่เกิดจากเสียงในหัวของตัวเอง การลด self-stigma จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก” ธนินีกล่าว

ภาพถ่ายโดย TIJ

ภัทธิดา จุลศักดิ์ศรีสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ระบุว่าโครงการ New Me – New Opportunity ได้นำข้อมูลและผลลัพธ์จากการลงพื้นที่พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับผู้ต้องขังหญิงมาขยายผลด้วยการต่อยอดทั้งการจัดการอบรม ต่อยอดการสัมภาษณ์เข้ารับทำงาน ไปจนถึงประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับสังคมถึงปัญหาและข้อกังวลที่ผู้ต้องขังหญิงต้องพบเจอ

มากไปกว่านั้น ในแง่ของการสร้างอาชีพ ภัทธิดาชี้ให้เห็นว่าทางผู้จัดโครงการมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะออกแบบและวางแผนการสร้างแบรนด์และการตลาดให้กับสินค้าที่ประกอบการโดยผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาผู้ช่วยสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างศูนย์บ่มเพราะผู้พ้นโทษสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนหาพันธมิตรเพื่อให้พื้นที่ในการตั้งร้านและช่องทางในการโฆษณาสินค้าเพื่อให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

“หลังจากที่เราเข้าไปสัมภาษณ์และให้โอกาสพวกเขาให้ได้เข้ามาร่วมในการทำงาน สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ โอกาสที่สำคัญที่สุดสำคัญพวกเขาคือการต่อยอด และเราก็เชื่อว่าวันนี้โอกาสของพวกเขาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับโอกาสจากภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนจะเป็นภาคแรกที่รับพวกเขาเข้าสู่สายอาชีพต่างๆ ได้ รวมถึงต้องการสนับสนุนจากภาครัฐบาลด้วย” ภัทธิดากล่าว

ดร. ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ ทรู ดิจิทัล อะคาเดมี บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงแนวทางการต่อยอดเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยังรวมไปถึงการสร้างแนวทางเสริมสร้างทักษะเฉพาะ (elective skills) ด้วยการขยายผลการพัฒนาสายอาชีพจากการรวบรวมฐานข้อมูลงานและผู้จ้างงาน ทั้งยังมีการสนับสนุนและติดตามผลหลังพ้นโทษเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วสามารถกลับเข้าสู่สังคมและเริ่มต้นชีวิตกับสายงานใหม่อีกครั้งได้อย่างแท้จริง

จากปัญหาที่ผู้ต้องขังหญิงต้องพบกับข้อท้าทายในการกลับสู่สังคมหลายประการ จึงได้มีการลงพื้นที่และออกแบบกิจกรรมที่นำเสนอเครื่องมือและกระบวนการที่เน้นการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังหญิงแบบเฉพาะ รายบุคคล ทั้งด้านการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ การรู้จักและเข้าใจเส้นทางของตนเองเพื่อออกแบบชีวิตและอาชีพ การจัดให้คำปรึกษาการวางแผนการเงินและความเข้าใจด้านดิจิทัล ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศในการให้การสนับสนุนด้านการจ้างงานด้วยการนำเสนอสายวิชาชีพเพิ่มเติมและจัดโครงการนำร่องด้านการจ้างงานจากผู้ประกอบการชั้นนำ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจร่วมกับภาคสังคม เอกชน และธุรกิจ อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พ้นโทษและเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำอย่างยั่งยืน

ปานรวี มีทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด กล่าวปิดจบว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้ต้องขังทุกคนจะไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่หรือไม่สามารถหลุดออกจากวงจนการกระทำผิดซ้ำได้เลย หากว่าสังคมยังคงตีตราและตัดสินพวกเขา เธอจึงฝากให้คนในสังคมช่วยกันให้ความสนใจประเด็นดังกล่าว และมอบโอกาสให้ผู้ต้องขังหญิงเตรียมพ้นโทษทุกคนได้รับการยอมรับจากสังคมและได้รับการโอบอุ้มให้มีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงดูตนเองได้ต่อไป

Policy Innovation Lab for Sustainable Waste Management: จัดการขยะ ด้วยประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายกับกรณีศึกษาการจัดการขยะกรุงเทพอย่างยั่งยืน คือโครงการที่จัดตั้งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างภาวะผู้นำในกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบเพื่อระบุจุดคานดีดคานงัดในโครงสร้างของระบบงาน และประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยมีหลักคิดสำคัญคือคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ได้แก่

1. มุ่งจัดการปัญหาในกระบวนการระยะต้นน้ำ

2. สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนได้เสียเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว

3. ใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติตามนโยบายในทุกบริบททำให้ขยายผลได้

4. ไม่สร้างภาระให้ผู้มีส่วนได้เสียและไม่ก่อปัญหาอื่นขึ้นมาแทน จากข้อสรุปดังกล่าวจึงได้ออกแบบต้นแบบ (prototypes) ของนวัตกรรมเชิงนโยบาย ซึ่งสามารถนำไปทดสอบและขยายผลร่วมกับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะต่อไป

ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและประธานคณะกรรมการบริหาร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการจัดการขยะเกิดจากพฤติกรรมทิ้งขยะที่ไม่ถูกต้องของคนไทย ทั้งพฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่และทิ้งขยะโดยไม่แยกขยะ ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมืองและเกิดเป็นมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจนทำให้การแก้ไขปัญหาขยะในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

นิทัสมัย รัญเสวะ หัวหน้า Thailand Policy Lab โครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) อธิบายว่าเหตุผลที่นำระบบห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาการจัดการขยะเพราะมีหลักการสำคัญคือเป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อการทดลองหรือการสร้างนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายมีหัวใจสำคัญคือการนำเอาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการออกแบบนโยบาย ได้แก่ design thinking และ systems thinking ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นประเด็นปัญหาในเชิงระบบและความเชื่อมโยงต่อจุดต่างๆ ได้ ทั้งยังนำมาสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“การจัดการขยะและการหาแนวทางแก้ไขไม่สามารถมองเป็นเส้นตรงได้ เพราะปัญหานี้มีความซับซ้อนในเชิงระบบ เพราะฉะนั้น Policy Lab คือการนำเอากระบวนการคิดใหม่ๆ เข้ามาเสริมในวิธีการออกแบบนโยบายดั้งเดิม” นิทัสมัยกล่าว

ภาพถ่ายโดย TIJ

อาทิตย์ กริชพิพรรธ กรรมการผู้จัดการ A Advisory ระบุว่าเป้าหมายหลักจากการระดมสมองและตั้งเป้าหมายในการทำงานคือการเพิ่มสัดส่วนขยะรีไซเคิลในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งในกรุงเทพฯ ยังทำได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเมืองหลวงขนาดใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ อาทิตย์กล่าวว่าตัวขยะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงสามารถนำมาใช้เป็นคานดีดคานงัด (leverage) ให้เปลี่ยนพฤติกรรมได้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือจากพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการสั่งสินค้าและอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มอย่างมาก ยิ่งส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสัดส่วนขยะในกรุงเทพฯ และอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจัดการขยะในกรุงเทพฯ ในระยะยาวอีกด้วย

วีรธรรม เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เสริมว่าห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายมีการปรับปรุงและออกแบบโครงการ Waste to Worth เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ในการจัดการขยะที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินจากการขายขยะมาปรับปรุงหมู่บ้านหรือชุมชน ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้ภาคครัวเรือนตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้จากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

รศ.ดร.นพ. บวรศม ลีระพันธ์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาระบบสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำห้องทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบายคือการแก้ไขปัญหายากๆ ด้วยการแนวทางการแก้ไขเชิงนโยบาย โดยจำเป็นต้องคิดให้ครบรอบด้านในทุกระบบ ต้องคิดให้ลึกมากพอจะเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหา และคิดให้ยาวพอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“คิดให้ครบคือหลีกเลี่ยงการคิดแยกส่วน (compartmentalized) คิดให้ลึกจะทำให้เราออกจากการแก้ปัญหาแค่จากยอดภูเขาน้ำแข็ง และคิดให้ยาวคือคิดถึงผลข้างเคียงในระยะยาวของการแก้ไขปัญหา (delay and the domino effect)” บวรศมกล่าวสรุป

จากกรณีศึกษาต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนประเด็นหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในวงนักกฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ทว่าต้องมาจากทุกภาคส่วนในสังคม ในฐานะผู้ที่มีศักยภาพในการสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม หรือ promoter of changes ในการนำหลักนิติธรรมมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบนโยบาย บริการ และสร้างผลงานสำหรับประชาชนที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save