fbpx

เมื่อการรู้เฉพาะกฎหมายไม่เพียงพอ: จินตนาการใหม่ถึงนักกฎหมายที่สังคมต้องการ กับ ปารีณา ศรีวนิชย์

ในยุคสมัยที่เสียงเรียกร้อง ‘ความยุติธรรม’ เกิดขึ้นในทุกแง่มุมของสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ‘นักกฎหมาย’ จะถูกตั้งคำถามไปพร้อมกัน เมื่อผู้ใช้กฎหมายมีบทบาทสำคัญในการสร้างความยุติธรรมในสังคม

ความเปลี่ยนแปลงหลากแง่มุมที่เกิดในสังคมกลายเป็นโจทย์สำคัญของสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักกฎหมาย เมื่อเกิดความคาดหวังใหม่ๆ ต่อนักกฎหมายรุ่นใหม่ก็จำเป็นที่ระบบการสร้างนักกฎหมายต้องปรับตัว

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้นักกฎหมายมีความเข้าใจในสังคม มีความรู้ข้ามศาสตร์ มีความสามารถคิดวิเคราะห์ และปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้

โจทย์เหล่านี้เป็นเรื่องที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึง ที่ผ่านมาจึงมีการทำโครงการพิเศษต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ให้นิสิตได้สัมผัสรูปแบบอันหลากหลายของการใช้กฎหมายในสังคมจริง จนนำมาสู่การเปิดหลักสูตร LLBel หรือ Bachelor of Laws, experiential learning in Business and Tech Law (International Program) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี โดยเรียนรู้แบบ experiential learning (ทฤษฎีการฝึกทักษะปฎิบัติจริง)

หลักสูตรนี้เป็นภาพสะท้อนความพยายามเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนนิติศาสตร์ โดยเริ่มต้นจากการสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปทำงานในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยี โดยวางพื้นฐานให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่สุดต่อการรับมือโจทย์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

101 จึงคุยกับ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการปรับตัวของการเรียนการสอนนิติศาสตร์ ความคาดหวังต่อนักกฎหมายที่เปลี่ยนไป และบทบาทของนักกฎหมายที่จะมีส่วนร่วมสร้างความยุติธรรมในสังคม

การเรียนการสอนนิติศาสตร์มีโจทย์ใหม่อย่างไร จึงมีแนวคิดออกแบบหลักสูตรใหม่ที่เน้นกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี

คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาไทย ตั้งแต่ปี 2501 และเราเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษในระดับปริญญาโทขึ้นมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้เราเห็นว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง มีความต้องการนักกฎหมายไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้าย นอกจากความต้องการเรื่องภาษาแล้ว ยังมีความต้องการอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาจากในอดีตด้วย

คณะเรามีนิสิตเก่าเป็นนักกฎหมายเข้าไปทำงานในภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงวงการธุรกิจและวงการเทคโนโลยี คนจะบ่นว่านักกฎหมายไม่เข้าใจศาสตร์อื่น เวลาคนจากศาสตร์อื่นทำงานกับนักกฎหมายก็จะอึดอัดว่าเขาไม่เข้าใจเราเลย

ณ วันนี้โลกไม่เหมือนเดิม โลกหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เราจึงคิดว่าจำเป็นต้องผลิตนักกฎหมายรุ่นใหม่ พันธุ์ใหม่ แบบใหม่ ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ วิธีคิด ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและศาสตร์ต่างๆ นี่เป็นแนวคิดหลักที่ทำให้เกิดหลักสูตร LLBel โดยจะเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการนักกฎหมายในปัจจุบันและในอนาคตที่เรามองไม่เห็นด้วย


ทำอย่างไรที่จะออกแบบหลักสูตรการเรียนกฎหมายให้ตอบโจทย์ทั้งปัจจุบันและอนาคตได้

การสร้างหลักสูตรใหม่นี้เกิดขึ้นจากคำว่า reimagine คือเรามาจินตนาการกันใหม่ว่าทำอย่างไรที่จะออกแบบหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์สำหรับโลกปัจจุบันและโลกในอนาคตได้ ลองมาคิดกันใหม่ หาข้อมูลกันใหม่เลย เรามีการสำรวจหลักสูตร สำรวจผู้ใช้บัณฑิต และสำรวจความต้องการของผู้เรียนเองด้วย

เราไปดูว่าหลักสูตรผลิตนักกฎหมายที่มีอยู่ในโลกมีอะไรบ้าง ตั้งแต่หลักสูตรของไทย อเมริกา อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในเอเชีย อย่างเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ว่าเขามีการจัดการเรียนการสอนและมีการผลิตนักกฎหมายอย่างไร และดูว่าเทรนด์เป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันเราก็คุยกับผู้ใช้บัณฑิตที่เขาจะต้องรับเอาผลผลิตของเราไปใช้งาน อย่างลอว์เฟิร์มต้องการคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ มี legal mind (การมีวิธีคิดทางกฎหมาย) สามารถทำงานกับลูกความได้ ภาคราชการเองก็เห็นความจำเป็นที่จะมีนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีทักษะและมีการใช้ภาษาที่ดี ส่วนในวงการอื่นๆ วงการธุรกิจ-วงการเทคโนโลยี เขาก็ต้องการนักกฎหมายที่มีความเข้าใจศาสตร์อื่น

ส่วนความต้องการของผู้เรียนเอง เขาไม่ต้องการจำกัดการทำงานอยู่เฉพาะแค่ในประเทศไทย เขาเป็นพลเมืองโลก สามารถที่จะไปไหนได้ทั่วโลก เรามีนิสิตจากโรงเรียนนานาชาติ มีคนที่ไปเรียนต่างประเทศและอยากกลับมาทำงานกฎหมายที่ไทยก็ต้องอาศัยความรู้กฎหมายไทยเป็นพื้นฐาน

เราจึงสร้างจินตนาการใหม่แล้วออกแบบหลักสูตร LLBel โดยมีจุดเด่นอยู่ 4 ด้าน

1. เน้นการเรียนรู้แบบฝึกทักษะปฎิบัติจริง (experiential learning) เมื่อก่อนเราต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้ ก็เลยคิดว่าต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ต้องจำตัวบทให้ได้ แต่ในต่างประเทศเขาต้องการ legal mind มากกว่า คือความสามารถคิดวิเคราะห์และใช้กฎหมายแบบนักกฎหมาย เพราะกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้ามัวแต่ท่องจำ พอกฎหมายเปลี่ยนก็จำไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเรามีพื้นฐานการคิดแบบนักกฎหมายก็จะสามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้ตลอดเวลา

แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีทั้ง legal mind ความรู้ และทักษะการว่าความ การให้คำปรึกษา การคิดการเขียนเราจึงเน้นให้มีการเรียนรู้ผ่าน experiential learning ตั้งแต่ปี 1 ถึงปีสุดท้าย ในหลักสูตรปกติเรามีการเสริมทักษะผ่านโครงการต่างๆ แต่ในหลักสูตรนี้จะไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านโครงการเสริม ตั้งแต่ปี 1 นิสิตจะต้องเรียนเรื่อง legal research writing คือ การคิด การเขียน การวิเคราะห์ในทางกฎหมาย และเรียนรู้ทักษะทางด้านกฎหมายทุกชั้นปีผ่าน legal skill lab โดยมีทนายสอนให้รู้จักใช้กฎหมายกับสถานการณ์จริง เช่น การทำสัญญาจริง การให้คำปรึกษา มีการจดประเด็น เหมือนฝึกงานย่อยๆ แล้วพอปี 3 เทอม 2 ก็จะออกไปฝึกงานในลอว์เฟิร์ม องค์กรธุรกิจ หรือองค์กรด้านเทคโนโลยี อย่างน้อย 300 ชั่วโมง เป็นภาคบังคับสำหรับนิสิตทุกคนในหลักสูตร  

2. small class size เพราะการเรียนแบบ experiential learning ต้องใช้ทรัพยากรเยอะ ทั้งเวลา ความใส่ใจ เราจึงจำกัดจำนวนแค่ 60 คน เพื่อให้สามารถดูแลอย่างทั่วถึง นิสิตจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จาก experiential learning

3. เน้นกฎหมายธุรกิจ กฎหมายเทคโนโลยี และความรู้ข้ามศาสตร์ด้านธุรกิจและเทคโนโลยี เราจินตนาการกันไว้ว่า นิสิตกลุ่มนี้จะต้องไม่เป็นนักกฎหมายที่รู้แค่กฎหมายเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจและอยู่ในวงการเทคโนโลยี จึงมีวิชาบังคับ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ บัญชี การเงิน รวมถึง data statistics และ data science เป็นความรู้พื้นฐานเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยี และเรายังมีกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น ก่อนเปิดเรียนเราจะมี boot camp ให้เขาฝึกทักษะการ coding ฝึก business pitching เพื่อให้เรียนรู้ว่าถ้าเขามองกลับมาจากวงการเทคโนโลยีและธุรกิจแล้วเขาจะต้องการอะไรจากนักกฎหมาย เขาจะเป็นคนที่พร้อมทั้งกฎหมาย ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยี

4. เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นข้ามรุ่น ข้ามศาสตร์ หลักสูตรนี้มีนิสิตสองกลุ่มมาเรียนร่วมกัน กลุ่มแรกคือคนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย 50 คน อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่จบปริญญาตรีมาแล้วจำนวนสิบคน เรียนเป็นปริญญาตรีใบที่สอง ทำให้ผู้เรียนในหลักสูตรนี้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น เรียนรู้ข้ามศาสตร์ เรียนรู้การทำงานร่วมกัน แต่ระยะเวลาไม่เท่ากัน คนที่จบมัธยมปลายจะใช้เวลาสี่ปี คนที่จบปริญญาตรีมาแล้วจะใช้เวลาสามปี


ที่ผ่านมา เมื่อคนเรียนจบนิติศาสตร์เข้าไปทำงานในสายกฎหมายเทคโนโลยีเขาเจอปัญหาอะไร

เมื่อเขาทำงานให้ลูกความสายเทคโนโลยี แต่เขาไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีก็ไม่สามารถใช้กฎหมายได้ กว่าจะทำความเข้าใจกันใช้เวลานานมากและเกิดความอึดอัด ฝั่งลูกความก็เกิดคำถามว่าทำไมทนายไม่เข้าใจฐานของคดีซึ่งคือข้อเท็จจริงสำคัญที่จะเอากฎหมายมาใช้ นิสิตของเราที่จบไปแล้วก็ทำงานด้านเทคโนโลยีเยอะ ขณะเดียวกันเราก็มีเพื่อนในวงการธุรกิจ วงการเทคโนโลยี ก็จะบอกเหมือนกันว่าคุยกับนักกฎหมายไม่รู้เรื่อง นักกฎหมายไม่เข้าใจว่าเกิดปัญหาตรงไหน

อีกด้านหนึ่งก็คือ หากว่าคนร่างกฎหมายไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เราก็จะร่างกฎหมายจากความเข้าใจของเรา แทนที่จะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีก็อาจจะกลายเป็นทำให้จำกัดการเติบโตของเทคโนโลยีหรือธุรกิจแทน

การเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ หากผู้เรียนเข้าไปสู่ระบบกฎหมายไทยจะเกิดปัญหาไหม เพราะนักกฎหมายต้องตีความกฎหมายในภาษาไทยอย่างละเอียด

ต้องบอกว่าเป้าหมายของแต่ละหลักสูตรไม่เหมือนกัน หลักสูตรนี้ต้องการให้ผู้เรียนคิดอย่างนักกฎหมายเป็น ถ้าเราไปดูการทำงานในลอว์เฟิร์มข้ามชาติที่อยู่ในไทยเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำงานกับลูกความต่างชาติ จำเป็นต้องมีการใช้กฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเขาได้เรียนตั้งแต่ต้นจะช่วยให้เขาสามารถทำงานได้ไวขึ้น

หลักสูตรนี้จะเน้นสร้างนักกฎหมายที่ทำงานกับลอว์เฟิร์ม หรือวงการธุรกิจและเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งนิสิตเลือกได้ว่าจะเน้นกฎหมายธุรกิจหรือเน้นกฎหมายเทคโนโลยีหรือเน้นทั้งสองอย่างเลย แต่อาจจะไม่ตรงนักกับคนที่ต้องการจะสอบพิพากษา-อัยการ ถ้ามุ่งด้านนั้นต้องใช้กฎหมายไทยแบบภาษาไทยเป็นหลัก ก็ควรเรียนหลักสูตรภาษาไทย

เป้าหมายของหลักสูตรนี้ที่เราต้องการคือสร้างนักกฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจรอบด้าน ทั้งด้านธุรกิจ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และการบริหารจัดการ เขาสามารถทำงานได้ทั้งในลอว์เฟิร์ม เป็นที่ปรึกษากฎหมายในบริษัทต่างๆ หรือเป็นผู้ประกอบการเองก็ได้ ถ้าคนไหนสนใจจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ก็อาจจะไปสอบเนติบัณฑิตเพิ่มเติมทีหลังก็ได้


ในหลักสูตรนี้ต้องการสร้างทักษะใหม่ๆ เฉพาะทาง ในการออกแบบหลักสูตรจนถึงการเรียนการสอนต้องใช้ความร่วมมือจากคนนอกแค่ไหน

เราต้องคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าเขาต้องการให้พัฒนาทักษะแบบไหน ตั้งแต่เก็บข้อมูล ออกแบบหลักสูตร อย่างเช่นการมี legal skill lab ก็เพราะจากเดิมเราเรียนเป็นวิชาแยกกัน เช่น นิสิตกำลังเรียนวิชาเช่าทรัพย์ ประเด็นที่ถามคงเป็นเรื่องเช่า ตอนนี้เรียนวิชาซื้อขายแสดงว่าประเด็นที่ถามต้องเป็นเรื่องซื้อขาย แต่ในชีวิตจริงเราไม่มีทางรู้เลยว่าตกลงมันเป็นสัญญาเช่า สัญญาซื้อ หรือสัญญาอะไร ในองค์กรธุรกิจหนึ่งมีเรื่องกฎหมายเกี่ยวข้องเยอะมาก ตั้งแต่จะเป็นองค์กรธุรกิจรูปแบบไหน มีการวางแผนภาษีแบบใด ถ้าเรียนแยกรายวิชา นิสิตจบไปก็ต้องไปเรียนรู้ในที่ทำงานอีก เราจึงยกแบบฝึกหัดที่ต้องบูรณาการกฎหมายหลากหลายเหล่านั้นมาอยู่ใน legal skill lab ซึ่งเป็นวิชาบังคับในทุกภาคเรียน

พอเรามีการจัดทำหลักสูตรออกมาแล้วและเน้นเป็นการเรียนแบบ experiential learning คณะนิติศาสตร์อย่างเดียวทำไม่ได้ทั้งหมด เราต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เยอะมาก เราทำ boot camp ก็ได้ความร่วมมือจากสตาร์ตอัปต่างๆ ในสายเทคโนโลยีมาช่วย ส่วน legal skill lab และการฝึกงานก็มีความร่วมมือกับลอว์เฟิร์มต่างๆ


ใน boot camp ก่อนเปิดเทอมมีการสอนเรื่อง coding ด้วย เรื่องนี้จำเป็นแค่ไหน แค่รู้กฎหมายเทคโนโลยีไม่พอเหรอ

เราไม่ได้สอนการเขียนโค้ดในระดับสูง แต่ให้เข้าใจพื้นฐานว่าการเขียนโค้ดเป็นยังไง ทำให้เขาสามารถสื่อสารกับภาคเทคโนโลยีรู้เรื่อง รู้ว่าการเขียนโปรแกรมสามารถแก้โจทย์ลักษณะไหนหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบไหนได้บ้าง และเอาไปต่อยอดได้ บางคนต่อไปอาจจะไม่เลือกเข้าสายลอว์เฟิร์ม แต่อาจจะไปเป็นผู้ประกอบการในด้านเทคโนโลยีที่มีความรู้กฎหมาย เขาอาจเป็น legal tech innovator ที่ร่วมกับเพื่อนในภาคเทคโนโลยีออกแบบโปรแกรมที่ช่วยให้บริการทางกฎหมาย เอาเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานของลอว์เฟิร์มหรือศาล หรือมาช่วยในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหรือในสังคม  

การเรียนพื้นฐานการเขียนโค้ดใน boot camp ของนิสิตใหม่ (ภาพจากเพจคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ)


ส่วนตัวอาจารย์เห็นว่าในหลักสูตรใหม่นี้มีวิชาไหนที่ท้าทายหรือแปลกใหม่ที่สุด

ชอบหมดทุกวิชาเลยค่ะ (ยิ้ม) เราออกแบบแนวคิดและองค์ประกอบเนื้อหาใหม่เกือบทุกวิชา กระทั่งวิชาพื้นฐานก็ออกแบบใหม่ เพราะไม่ได้แบ่งย่อยเป็นวิชาเล็กๆ เหมือนหลักสูตรปกติดั้งเดิม แต่เราต้องการให้เขามีความเข้าใจในมุมมองของทนายความที่จะดูแลในส่วนธุรกิจเป็นหลัก เช่น จากเดิมมีวิชานิติกรรมสัญญาเป็นวิชาพื้นฐาน แล้วก็มีวิชาเอกเทศสัญญาแยกย่อยอีกสามวิชาย่อยที่ต้องเรียนสัญญาเฉพาะ 20 กว่าสัญญา ในหลักสูตรใหม่วิชาเอกเทศสัญญาเหล่านี้จะมารวมกัน ทำให้นิสิตต้องเรียนรู้ภาพรวมของเอกเทศสัญญาต่างๆ แบบบูรณาการและเห็นภาพความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เหมือนเวลาที่ต้องแก้โจทย์ปัญหาการร่างสัญญาและปัญหาธุรกิจของลูกความจริงๆ  

บางวิชาที่คนบอกว่าไม่มีความจำเป็นสำหรับธุรกิจ เช่น วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะมีโอกาสที่ข้อพิพาททางธุรกิจต้องสู่กระบวนการทางศาลในคดีแพ่งหรือคดีอาญา เพราะกฎหมายบ้านเราใช้โทษทางอาญาในกฎหมายเศรษฐกิจและกฎหมายธุรกิจเยอะมาก ในสองวิชานี้เราจึงออกแบบจากมุมของทนายที่เข้าไปช่วยดำเนินคดีให้ภาคธุรกิจที่อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรืออาจเป็นผู้เสียหายในคดี แทนที่จะมองว่าศาลต้องทำอะไร แต่เรามองจากมุมประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการเป็นหลัก มุมมองของวิชาจะถูกออกแบบมาคนละแบบจากหลักสูตรภาคปกติ  


ในแวดวงเทคโนโลยีไทยมีความต้องการนักกฎหมายแค่ไหน เพราะคนทั่วไปอาจมองว่าวงการเทคโนโลยีไทยไม่ได้โตเท่าต่างประเทศ

มีค่ะ และในอนาคตมันจะต้องโต ทุกวงการจำเป็นต้องมีประเด็นกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ฉะนั้นวงการเทคโนโลยีจะเติบโตได้นั้นกฎหมายมีส่วนสำคัญ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจะทำอย่างไร กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะทำอย่างไร ขณะเดียวกัน ทางภาครัฐที่เป็นคนออกแบบกฎหมายก็อยากได้นักกฎหมายที่มีความเข้าใจเหล่านี้ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นกฎหมายจะตามไม่ทันเทคโนโลยี ก็จะกลายเป็นการดึงรั้งเทคโนโลยีอีก เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราอยากสร้างคนไปทำงานในมุมของผู้ออกกฎหมายด้วย

ที่สำคัญคือเรามีความเชื่อว่าต่อไปเทคโนโลยีจะเป็นองค์ประกอบของทุกวงการ กฎหมายเทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับวงการเทคโนโลยีหรือสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีเท่านั้นแล้ว แต่เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจทุกธุรกิจด้วย ธุรกิจในวันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีและต้องปฏิบัติตามเกณฑ์และข้อกำหนดของกฎหมายใหม่ๆ ยิ่งไปกว่านั้น วันนี้ในภาครัฐ ในกระบวนการยุติธรรม ในการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งการเป็นข้อจำกัด เป็นความท้าทาย และเป็นทางออกใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดย่อมจะมีประเด็นของกฎหมายในการเข้ามากำกับดูแลเทคโนโลยีทั้งสิ้น   


ขณะที่โลกเทคโนโลยีมีดีเบตใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมาย อย่างเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือเรื่องความเป็นธรรมในการใช้ AI (artificial intelligence -ปัญญาประดิษฐ์) เราจะสอนนิสิตอย่างไรในพื้นที่ซึ่งสังคมยังไม่ได้มีคำตอบสุดท้าย

สิ่งสำคัญคือต้องพร้อมและทัน ความพร้อมเราออกแบบหลักสูตรมาแล้ว ส่วนความทันคือนิสิตจะต้องไม่ถูกจำกัดแค่ตัวบทอย่างเดียว เขาต้องตามให้ทัน พอเขาเข้าใจหลักพื้นฐานของแต่ละเรื่องแล้วก็จะเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา เราต้องการคนที่มีพลวัตในการเรียนรู้และไม่หยุดนิ่ง ต้องทันว่ากฎหมายเปลี่ยนไปอย่างไร และใช้กฎหมายให้ทันอย่างไร

พื้นฐานที่เราสร้างให้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง legal mind การเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ความเข้าใจพื้นฐาน การทำงานกับคนที่หลากหลาย ก็จะทำให้เขาสามารถปรับตัวได้ไม่ว่าต่อไปอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเราหวังว่าเขาจะสามารถปรับและพัฒนากฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

experiential learning จะทำให้ผู้เรียนเห็นความไม่นิ่งนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นว่ามันนิ่ง เราจะไม่ปรับตัว และกฎหมายจะไม่ทัน แต่ถ้าเรายอมรับว่ามันไม่นิ่งเราจะเกิดการเรียนรู้และพยายามปรับตัวให้ทัน


แล้วในหลักสูตรการศึกษากฎหมายที่เน้นเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยี ทำอย่างไรจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องความยุติธรรมทางสังคมด้วย

เพื่อที่จะปลูกฝังให้นิสิตคำนึงถึงบทบาทของเขาในการสร้างความยุติธรรม หนึ่งในวิชาที่อยู่ในหลักสูตร LLBel ก็คือวิชา justice innovation lab โดยให้เขาทำโปรเจ็กต์ ไปค้นหาประเด็นทางสังคมที่เขาสนใจ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางกฎหมายที่เขาคิดว่าจะช่วยเกื้อหนุนความยุติธรรมให้สังคม นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เราปลูกฝังว่านิสิตที่อยู่ในหลักสูตรอินเตอร์จะไม่ได้มองเฉพาะเรื่องธุรกิจหรือผลประโยชน์อย่างเดียว แต่มองเรื่องความเป็นธรรมในสังคมด้วย

ในวิชานี้เขาต้องศึกษารากเหง้าของปัญหาที่เขาสนใจ คุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ใช่มองแค่ว่านายทุนเป็นจำเลยหรือประชาชนเป็นผู้ขัดขวาง สังคมจะเดินไปไม่ได้ถ้าเราไม่มองอย่างรอบด้าน นั่นคือปัญหาของเรา เพราะเรามักมองจากมุมมองเดียว ทั้งที่สังคมไม่ได้มีแค่มุมเดียว เราจึงให้เขาศึกษารอบด้านก่อนจะมาออกแบบว่าอะไรจะช่วยสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรมในเรื่องนั้นๆ ได้ ทำให้เขาได้เจาะลึกเรื่องที่สนใจและได้เรียนรู้จากโปรเจ็กต์ของเพื่อนที่ทำให้เขาเห็นภาพกว้างขึ้น

นี่คือหนึ่งในวิชาบังคับที่เขาต้องเรียนควบคู่ไปกับวิชา legal ethics คือเรื่องจริยธรรมวิชาชีพทางกฎหมาย


ขณะที่เทคโนโลยีส่งผลต่อสังคมมาก แล้วการมีนักกฎหมายที่เข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดีจะส่งผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง

นักกฎหมายอยู่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การร่างกฎหมาย การปรับใช้กฎหมาย และการปรับปรุงพัฒนากฎหมาย ฉะนั้นถ้านักกฎหมายมีความเข้าใจธุรกิจและเทคโนโลยีเขาจะสามารถใช้กฎหมายได้อย่างดีในตลอดสายของความยุติธรรมที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือ

ตัวอย่างกิจกรรมใน boot camp ที่จัดไปเขาสามารถชี้ให้เห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลกระทบต่อคนอย่างไรและอะไรจะเข้ามาเป็นเครื่องมืออุดช่องว่าง เขาสามารถบอกได้ว่ากฎหมาย PDPA ที่ออกมามีบางส่วนเราออกแบบตามยุโรปแล้วพอเป็นกฎหมายไทยนั้นฝ่ายธุรกิจยังปรับตัวไม่ทันอย่างไร นอกจากนี้โปรเจ็กต์ที่น้องๆ นำเสนอได้น่าสนใจมาก คือการแบ่งมรดกโดยใช้แอปฯ เข้ามาช่วย เพราะการจัดการมรดกตามกฎหมายแพ่งมีความซับซ้อนมาก คนทั่วไปจะงงมากเลย เขาก็เสนอว่าออกแบบโปรแกรมขึ้นมาเพื่อที่จะรู้ว่าแนวทางในการจัดการมรดกควรจะเป็นอย่างไร นี่คือการทำให้กฎหมายเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับประชาชนทั่วไป

ความคาดหวังของเราในอีกส่วนหนึ่งคือ เราหวังว่านิสิตที่จบไปกลุ่มหนึ่งจะเข้าไปทำงานในฝั่งผู้ร่างกฎหมายของภาครัฐ เมื่อเขามีความเข้าใจก็สามารถออกแบบกฎหมายให้สอดคล้องและไม่เป็นตัวฉุดรั้ง แต่เป็นตัวหนุนนำความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ ในขณะเดียวกันถ้าเขาเข้าไปอยู่ฝั่งผู้ประกอบการ เขาก็สามารถปรับใช้กฎหมายได้ ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบจากคนอื่นและได้ประโยชน์จากการที่เขาทำตามกฎหมายได้ด้วย


ข้อวิจารณ์เรื่องการเรียนการสอนกฎหมายคือเป็นการเรียนแบบเน้นการท่องจำ ซึ่งในหลักสูตร LLBel อาจแก้ด้วยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แต่สำหรับหลักสูตรนิติศาสตร์ปกติจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

แนวคิดเดียวกันนี้ก็ถูกใช้ในภาคปกติของนิติศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย เพียงแต่เป็นโครงการเสริมให้นิสิตก่อนไปฝึกงาน มีการฝึกงานแบบไม่บังคับ เราจัดเป็นโครงการ experiential for legal practice โดยเชิญลอว์เฟิร์มจำนวนสิบแห่ง มาทำเวิร์กช็อปให้นิสิตเป็นเวลาสิบสัปดาห์ นี่คือโครงการที่เราคิดขึ้นมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว พอทำแล้วเราพบว่ามีประโยชน์จริงๆ จึงเอามาขยายและนำไปสู่การทำหลักสูตร LLBel เพราะในภาคปกติ นิสิตที่เข้ามาจะมีความหลากหลาย จำนวนมากต้องการเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนาย กิจกรรมเหล่านี้ก็จะเสริมทักษะให้เขา

นอกจากนี้เรามีห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย (law lab) ที่นิสิตจะมีโอกาสได้ทำ experiential learning เสริมจากหลักสูตรของภาคปกติ นี่คือมิติใหม่ของการจัดการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทยที่พึงจะเป็น คือทำให้ผู้เรียนมีความพร้อม ความรู้ ทักษะ แนวคิดแห่งการเรียนรู้ และมีความทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม คน และประเด็นต่างๆ ในทุกมิติ

ปัจจุบันเรามีห้องปฏิบัติการทางกฎหมายที่หลากหลายและเปิดรับสมัครนิสิตเข้าร่วมโครงการ ตัวอย่างเช่น Law Lab for Startups ที่ให้คำแนะนำทางกฎหมายธุรกิจแก่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี, Law Lab ช่วยเรื่องหนี้ที่ร่วมกับมูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์ให้คำแนะนำทางกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินแก่ประชาชนทั่วไป, Law Lab for Clean Air ที่ช่วยพัฒนา พ.ร.บ.อากาศสะอาด, Law Lab for Personal Data Protection ที่ช่วยให้คำแนะนำเพื่อช่วยเหลือให้แก่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคล, Law Lab for Human Rights ที่นิสิตได้เข้าสังเกตการณ์การชุมนุมสาธารณะและการพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชน, Law Lab Young Lawyers-Police Engagement ที่นิสิตได้ฝึกปฏิบัติการจริง ตั้งแต่การลงพื้นที่สืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปราม และการจราจร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น


ในการปรับหลักสูตรการเรียนของหลายๆ ศาสตร์มีความพยายามให้ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมและตอบโจทย์ตลาดแรงงาน แต่ก็มีข้อวิจารณ์ว่าทำให้การศึกษาเป็นไปเพื่อการสร้างแรงงานในตลาด เพราะอาจต้องแบ่งเวลาการเรียนความรู้เชิงวิชาการ ไปเป็นการเรียนเชิงปฏิบัติหรือเชิงวิชาชีพมากขึ้น มองเรื่องนี้อย่างไร มีวิธีคิดที่จะสร้างสมดุลในเรื่องนี้ได้ไหม

โจทย์ของนิติศาสตร์ก็มีการดีเบตเยอะมากว่า สถาบันการศึกษาควรจะให้ความรู้ แล้วหลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานวิชาชีพที่ต้องฝึกทักษะในการทำงานหรือเปล่า แต่แนวคิดของเรามองสมดุลที่ว่าเด็กต้องมีความพร้อมทั้งหมด เราคิดว่าทำได้ แต่ต้องใช้ความพยายาม เราไม่ละทิ้งห้องเรียน แต่คณะต้องจัดกิจกรรมเสริมเยอะมาก เช่น โครงการ experiential for legal practice ที่เล่าให้ฟังไป เราเชิญลอว์เฟิร์มสิบแห่งเข้ามาสอนทักษะเพื่อให้นิสิตพร้อมในการทำงาน มี law lab เพื่อให้เขาทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีประเด็นหลากหลายมาก เราทำงานร่วมงานกับองค์กรภาคสังคมด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับตำรวจ

ความสนใจของเด็กมีหลากหลายมาก เราต้องให้เขารู้ตั้งแต่แรกว่าทุกอย่างเป็นพลวัต เมื่อนั้นเขาจะไม่หยุด และกฎหมายเองก็เช่นกัน ฉะนั้นเราจะไม่ทิ้งเส้นทางอื่นแล้วเลือกว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ความรู้ดั้งเดิมยังมีอยู่ แล้วเรามีกิจกรรมเสริมให้ความรู้ของเขาแน่นขึ้นไปอีกจากภาคปฏิบัติ ทักษะไม่มีทางเรียนรู้จากในกระดาษได้ ทักษะมาจากการปฏิบัติเท่านั้น และการที่เขาจะทันกับการเปลี่ยนแปลง ต้องให้เขามีโอกาสไปทำงานกับคนข้างนอกให้ได้รู้จริงๆ ว่าจะเป็นยังไง 

อย่าง law lab ที่เราทำกับตำรวจ นิสิตได้เห็นวิธีการทำงานว่าตำรวจเข้าไปจับอย่างไร มีความอันตรายอย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีนิสิตอีก law lab หนึ่งที่เข้าไปทำงานกับทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เขาจะได้รับรู้ด้วยตัวเองว่ากฎหมายที่เรียนมาทั้งหมดถูกนำไปใช้อย่างไรบ้างในภาคปฏิบัติ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวหนุนให้เขาเป็นนักกฎหมายที่ดี และมีความรอบด้านด้วยความเข้าใจต่อสังคมจริงๆ


ความคาดหวังที่มีต่อบัณฑิตนิติศาสตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อะไรเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่ถูกคาดหวังมากขึ้น ทั้งจากตัวบัณฑิตเอง สังคม หรือผู้ใช้บัณฑิต

เปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่แรกเริ่มความต้องการนักกฎหมายคือไปทำหน้าที่ตุลาการ การเรียนการสอน เนื้อหาหลักสูตรออกแบบสำหรับคนที่ไปทำหน้าที่เป็นคนใช้กฎหมายกับคนอื่น ดูว่าคำพิพากษาแต่เดิมเป็นอย่างไร เลยกลายเป็นว่าต้องท่องจำ ต่อมาเมื่อความต้องการคนในวงการศาลมีพอแล้ว ก็เริ่มมาอยู่ฝั่งทนาย-อัยการ

แต่ในปัจจุบันนักกฎหมายอยู่ในทุกวงการ ทำให้ความคาดหวังที่มีแตกต่างกัน จากที่เราสำรวจก็เห็นเลยว่าแต่ละฝ่ายมีความคาดหวังมากขึ้น เราก็อยากจะส่งบัณฑิตที่ตอบโจทย์สังคมให้มากที่สุด

อย่างลอว์เฟิร์มก็ต้องการคนที่ทำงานเป็นตั้งแต่จบออกไป องค์กรธุรกิจที่รับนิติกรไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายก็บอกว่าคนที่จบไปทำงานไม่เป็น ค้นไม่เป็น เขียนไม่เป็น แสดงว่าเขาต้องการคนที่มีความพร้อม ขณะเดียวกันเขาก็บอกว่าพวกนักกฎหมายไม่เข้าใจอะไรอย่างอื่นเลย อยู่แต่กับตัวบทอย่างเดียว ก็แสดงว่าความรู้ข้ามศาสตร์มีความจำเป็น ความเข้าใจปัญหาสังคมมีความจำเป็น ความเข้าใจบริบทสังคม ทั้งประเด็นโลกร้อน สิทธิ ความเท่าเทียมต่างๆ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่นิติศาสตรบัณฑิตที่ดีพึงจะต้องรู้ทั้งหมด

ความคาดหวังเปลี่ยนไปเยอะมาก ไม่มีทางที่เราจะสามารถทำให้บัณฑิตรู้ทุกเรื่อง รู้ทุกกฎหมายได้ แต่ที่ทำได้คือเราทำให้เขาพร้อมและทัน มีทักษะการคิด ทักษะการค้น ทักษะการเขียน ทักษะการถกเถียง ทักษะการนำเสนอ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ติดตัว เขาต้องทันและพร้อมที่จะปรับตัว นี่คือหัวใจของนิติศาสตรบัณฑิตในยุคนี้

อีกมุมมองสำคัญคือมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อสังคมมีความขัดแย้ง แล้วมีนักกฎหมายในกลไกรัฐที่ทำให้ความขัดแย้งหนักขึ้น คนก็ยิ่งเสื่อมศรัทธาในนักกฎหมายและอาจจะลามถึงสถาบันที่ผลิตนักกฎหมาย อาจารย์แก้โจทย์นี้อย่างไรเมื่อเราไปเปลี่ยนนักกฎหมายที่มีอำนาจไม่ได้

ก็จะกลับมาเรื่องที่ว่าเราต้องทำให้นักกฎหมายที่จบออกไปมีความเข้าใจสังคมมากที่สุด เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่เราทำในพื้นที่ของเราได้ เราต้องทำให้นิสิตได้มีโอกาสเรียนรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถ้าเราไม่มองเป็นความขัดแย้ง แต่มองว่าเป็นความแตกต่างทางความคิด และหากทุกคนเคารพในความแตกต่างทางความคิดของกันและกันก็จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้

เราอยากให้พื้นที่คณะเราเป็นทั้งเซฟโซน เป็นห้องปฏิบัติการ เป็นห้องทดลองที่เขาจะได้เรียนรู้ว่าต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไร เมื่อเขาจบออกไปแล้วก็สามารถใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้นี้ว่าหากมีโอกาสเขาจะไม่ทำอย่างที่เคยเห็น

กฎหมายเป็นเครื่องมือของสังคม ขึ้นอยู่กับว่าคนใช้กฎหมายอย่างไร ก็ต้องแก้ที่คน โดยเราก็ทำเท่าที่สามารถทำได้ในขอบเขตอำนาจของเรา และเรามีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ที่จะทำให้เขาใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้สังคม ไม่ใช่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง


ความรู้สึกของสังคมอาจจะค่อนข้างหมดหวังกับนักกฎหมายไทยที่จะมีบทบาททำให้สังคมดีขึ้น อาจารย์ยังมองเห็นว่านักกฎหมายเป็นความหวังไหม

ยังต้องเป็นอยู่ค่ะ อย่างไรแล้วสังคมกับกฎหมายก็แยกกันไม่ออก เราปฏิเสธความมีอยู่ของสังคมไม่ได้ ขณะเดียวกันสังคมปฏิเสธความมีอยู่และความจำเป็นของกฎหมายไม่ได้ และกฎหมายไม่มีชีวิต กฎหมายอยู่ได้ด้วยนักกฎหมาย ฉะนั้นเราต้องมีความหวังในนักกฎหมาย แต่ทำอย่างไรเราจึงจะมีนักกฎหมายที่ดี ทำให้กฎหมายดี ใช้กฎหมายได้อย่างดี และพัฒนากฎหมายให้สังคมดีขึ้น นี่คือหน้าที่ท้าทายที่สุดสำหรับสถาบันการศึกษาที่เราจะทำให้นิสิตของเราออกไปเป็นนักกฎหมายในปัจจุบันและอนาคต โดยทำให้เกิดความหวังได้ต่อเนื่องและต่อไปได้อีกนานๆ

เราจะหมดหวังไม่ได้ ถ้าหมดหวังคงต้องปิดคณะแล้วล่ะ (หัวเราะ) เราทำโครงการต่างๆ ขึ้นมาเพราะคิดว่าสถาบันการศึกษายังมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างความหวังได้ ขณะเดียวกันพวกเราเองก็ต้องปรับตัว สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ได้มีแค่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว ยังมีเรื่องการพัฒนา การเติบโตของธุรกิจและเทคโนโลยี สุดท้ายแล้วทุกอย่างพันกันหมด ตอนนี้ที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะทุกคนมีกรอบคิดตายตัวว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น เราอยากทำให้นักกฎหมายต้องไม่มีกรอบคิดที่ตายตัว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save