ITA อุตสาหกรรมผลิตคุณธรรมกลบเกลื่อนความจริง?

ทุกๆ ปี หน่วยงานราชการไทยกว่าแปดพันแห่งร่วมกันแข่งขันว่าใครจะเป็นสุดยอดหน่วยงานที่มี ‘คุณธรรมและความโปร่งใส’ เป็นเลิศที่สุดในการประเมิน Integrity and transparency Assessment หรือ ITA ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปี 2023 คะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทะยานขึ้นไปถึง 90.2 คะแนน (เต็ม 100) ท่ามกลางความงุนงงของประชาชนที่ยังคงเห็นข่าวการคอร์รัปชันอยู่ทุกวี่วัน ปริมาณคุณธรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้มาจากไหน? มีประโยชน์กับใครกันแน่? หลังจากดำเนินงานมาหนึ่งทศวรรษ อาจถึงเวลาแล้วที่ ‘การประเมิน’ นี้จะต้องถูก ‘ประเมิน’ ด้วยเช่นกัน

หน่วยงานสอบผ่านเพิ่มขึ้น 7 เท่าใน 5 ปี

ITA ถูกออกแบบมาเพื่อสร้าง ‘แรงกระตุ้นเชิงบวก’ เน้นประเมินด้านที่ดี ให้กำลังใจหน่วยงานที่ได้คะแนนสูง ไม่มีบทลงโทษแก่หน่วยงานสอบตก จึงมีการตั้งเกณฑ์ ‘สอบผ่าน’ ไว้สูงถึง 85 คะแนน และแม้จะไม่บังคับให้เข้าร่วมแต่ก็ยังมีหน่วยงานเข้าร่วมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2023 มีผู้ร่วมรับการประเมินถึง 8,323 หน่วยงาน ในจำนวนนี้เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว 7,849 แห่ง คิดเป็น 94.3% ของหน่วยงานทั้งหมด ที่เหลือเป็นหน่วยงานระดับกรม องค์กรศาล กองทัพ จังหวัด รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระต่างๆ อีก 474 หน่วยงาน

จากเกณฑ์ผ่านที่ตั้งไว้สูงลิ่ว จึงมีหน่วยงานสอบผ่านเพียง 11.7% เท่านั้นในปี 2019 ทว่าหลังจากนั้นคะแนน ITA ก็พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียงห้าปี หน่วยงานราชการไทยสอบผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 80.9% หรือเพิ่มขึ้นถึงเจ็ดเท่า อย่างไรก็ดีคะแนนที่สูงจนน่าทึ่งก็ยังไม่สูงพอ! เพราะตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ระบุเป้าหมายการสอบผ่าน ITA ไว้สูงถึง 100%[1]

ปัจจุบันไทยทุ่มเงินกับการ ‘ต้านโกง’ ถึงปีละสามพันล้านบาท เมื่อพิจารณาร่วมกับแนวโน้มคะแนน ITA ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เชื่อได้ว่าราชการไทยคงจะบรรลุเป้าหมายอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างบริบูรณ์ได้ในไม่ช้า ทว่าตัวเลขคุณธรรมและความโปร่งใสที่เจิดจ้านี้อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของการทำงานภาครัฐนัก

ผลประเมินค้านสายตาประชาชน

การประเมินแบบ ‘เน้นมองด้านบวก’ เปรียบเหมือนการพิจารณาคุณธรรมด้วยการลืมตาข้างเดียว ทำเป็นมองไม่เห็น ‘ด้านลบ’ ไม่นำเรื่องทุจริตหรือความไม่โปร่งใสมาคิดคำนวณด้วย เห็นได้ชัดจากผลการประเมินปีล่าสุดซึ่งกระทรวงที่ได้คะแนนสูงสุดคือกระทรวงมหาดไทย ได้คะแนนเฉลี่ยสูงถึง 94.7 คะแนน ทว่าในขณะเดียวกัน ศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็เปิดเผยว่ามหาดไทยขึ้นแท่นเป็นกระทรวงที่มีการร้องเรียนปัญหาการทุจริตมากที่สุดด้วยเช่นกัน[2]

ความไม่ชอบมาพากลในหลายหน่วยงานถูกตีแผ่เป็นข่าวที่ประชาชนรับรู้โดยทั่วไป แต่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสก็มิได้ด้อยลงแต่อย่างใด เช่นกรณี ‘เสาไฟกินรี’ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ จัดซื้อเสาไฟฟ้าต้นละกว่าเก้าหมื่นบาท ติดตั้งในป่ารกร้างจนกลายเป็นข่าวใหญ่ในปี 2021[3] ทว่าคะแนน ITA ของ อบต.ราชาเทวะก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มจาก 77.3 คะแนนในปี 2021 เป็น 90.8 คะแนนในปี 2022[4]

ที่มา: ดุษฎี บุญฤกษ์

กองทัพบกเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ถูกจับตาการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุดจากกรณี ‘หักหัวคิวเงินกู้สร้างบ้าน’ อันเป็นชนวนของเหตุ ‘กราดยิงโคราช’ เมื่อปี 2020 และยังกลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งในปี 2022 เมื่อนักธุรกิจรับสร้างบ้านที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวถูกนายทหารข่มขู่เอาชีวิตจนต้องขอเข้าโครงการคุ้มครองพยาน[5] อย่างไรก็ตาม กองทัพบกก็ยังคงรักษาคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสเอาไว้ที่เกรด A ตลอดทุกปี โดยในปี 2023 ได้คะแนนสูงถึง 93.5 ซึ่งหลังประกาศผลการประเมิน หน้าเว็บที่ใช้เปิดเผยข้อมูลของกองทัพบกก็ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป อย่างไรก็ดีเรายังสามารถย้อนดูหน้าดังกล่าวได้ใน webarchive ซึ่งจะพบว่าในปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนการทุจริตผ่านเว็บไซต์ของกองทัพจำนวน 0 เรื่อง[6]

นอกจากกรณีทุจริตที่เห็นอยู่ตำตา การไม่มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลยก็เป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นเพราะหน่วยงานปลอดการคดโกงจริง หรือเพราะตรวจสอบไม่ได้ แต่การประเมินโดยหลับตาข้างหนึ่งก็ไม่ช่วยไขข้อข้องใจนี้ เพราะมุ่งให้คะแนนกับด้านที่โปร่งใสโดยไม่สนใจด้านที่ ‘ปกปิด’

หน่วยงานซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าสมควรถูก ‘ยุบ’ หรือไม่ อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้คะแนน ITA สูงถึง 90.2 ในปี 2023 แต่ว่างบประมาณส่วนใหญ่ของ กอ.รมน. ได้รับจัดสรรอยู่ในงบ ‘รายจ่ายอื่น’ ซึ่งไม่ได้ระบุกิจกรรมชัดเจนถึง 95%[7]

ถอดรหัสเครื่องมือประเมิน

ITA มีที่มาจากการรวมเอางานวิจัยของ ป.ป.ช. กับต้นแบบการประเมินขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเกาหลีใต้ (ACRC) นำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับ ‘วัฒนธรรมการทำงานของไทย’ ให้มากขึ้น เริ่มนำร่องในปี 2011 กับสี่หน่วยงาน ก่อนจะดำเนินงานเต็มรูปแบบกับ 259 หน่วยงานส่วนกลางในปี 2014[8] หลังจากเริ่มดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ป.ป.ช. ได้ว่าจ้างคณะวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีประเมินใหม่[9] และเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่การประเมินในปี 2019 มาจนถึงปัจจุบัน

ตัวชี้วัดคุณธรรมและความโปร่งใสของไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม โดยสองกลุ่มแรกเป็นการประเมิน ‘คุณธรรม’ จาก ‘การรับรู้’ ของบุคลากรภายในหน่วยงาน (30%) และของประชาชนและเอกชนที่มาติดต่อใช้บริการ (30%) และกลุ่มสุดท้ายประเมิน ‘ความโปร่งใส’ จาก ‘หลักฐานเชิงประจักษ์’ หรือการเปิดเผยข้อมูลที่นับวัดได้ (40%) โดยรวมแล้วสัดส่วนคุณธรรมจึงมากกว่าความโปร่งใสอยู่ที่ 60:40 

ประเมินภายในประชาชนประเมิน การเปิดข้อมูล
สัดส่วนคะแนน30%30%40%
ผู้ประเมินบุคลากรที่ทำงานมาอย่างน้อย 1 ปี ประชาชนที่เคยรับบริการจากหน่วยงาน ผู้ประเมินที่ว่าจ้างโดย ป.ป.ช.
เกณฑ์การให้คะแนนความโปร่งใสในการทำงาน การใช้อำนาจ การใช้งบประมาณและทรัพย์สินของราชการคุณภาพการให้บริการ และการเผยแพร่ข่าวสารของหน่วยงานระดับการเปิดข้อมูลบนเว็บไซต์ เช่น ข้อมูลผู้บริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบ E-Service
จำนวนคำถาม30 ข้อ15 ข้อ43 ข้อ

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (2023)

โครงสร้างการประเมินนี้ส่วนหนึ่งถอดแบบมาจากการประเมินของเกาหลีใต้ซึ่งใช้แนวคิด ‘ความโปร่งใส’ ที่มองจากทั้งภายในและภายนอก[10] และส่วนที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลน่าจะได้รับอิทธิพลจากแนวนโยบาย ‘รัฐบาลเปิด’ (open government) ของสหรัฐอเมริกายุคโอบามา[11] ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำข้อดีจากหลายแหล่งมาผสมเข้าด้วยกัน ทว่าการแปลง ‘integrity’ ให้กลายเป็น ‘คุณธรรม’ แบบไทยๆ นี้เองที่ทำให้ ITA เบี่ยงเบนออกไปจากเส้นทางที่ควรจะเป็น

หน่วยงานกลัว ‘เสียหน้า’ จึงประเมินตนเองดีเกินจริง

ตัวชี้วัดกลุ่มแรกซึ่งให้บุคลากรประเมินหน่วยงานของตนเองเป็นกลุ่มที่สะท้อน ‘คุณธรรม’ หรือความตรงไปตรงมาในการปฏิบัติงานอย่างชัดเจนที่สุด ประกอบด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับการใช้อำนาจสั่งการ การใช้งบประมาณ พฤติกรรมทุจริตที่เกิดขึ้นภายใน เช่น การนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ส่วนตัว การเรียกรับสินบน ฯลฯ การประเมินส่วนนี้ หน่วยงานมักได้คะแนนดีกว่าส่วนอื่นๆ โดยในปี 2023 มีหน่วยงานให้คะแนนตัวเอง ‘100 คะแนนเต็ม’ ถึง 384 หน่วยงาน อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

งานวิจัยที่สำรวจการประเมิน ITA ของ อปท. เจ็ดแห่งในจังหวัดเชียงราย พบว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความเห็นตรงกันว่าข้อมูลที่เก็บได้มักไม่ตรงกับความเป็นจริง “เพราะเกรงว่าถ้าหากตอบตามความเป็นจริง สำนักงาน ป.ป.ช. จะลงพื้นที่และหน่วยงานจะเสียชื่อเสียงได้” แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มองว่าหาก ป.ป.ช. ต้องการประเมินการทำงานของพวกเขาจริง ก็ควรลงพื้นที่มาดูเองให้เห็นกับตา เพราะการประเมินในปัจจุบันไม่สะท้อนความเป็นจริง “ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังได้ เป็นเพียงเครื่องมือที่สำนักงาน ป.ป.ช. สร้างขึ้นเพื่อให้มีผลงานในการต่อต้านการทุจริตเท่านั้น”[12]

‘หน้าตา’ ของหน่วยงานเป็นหนึ่งใน ‘วัฒนธรรมการทำงานแบบไทย’ ที่ ป.ป.ช. สอดแทรกลงไปในการทำ ITA และประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในแง่ของการจูงใจให้หน่วยงานแข่งขันกันทำคะแนนและเข้าร่วมการประเมินอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องบังคับ ภายหลังการประกาศผลประจำปี เราจะเห็นการนำเสนอผลการประเมินของหน่วยงานต่างๆ เคียงคู่กับภาพหัวหน้าหน่วยงานที่ปลื้มปริ่มกับความสำเร็จในปีนั้นๆ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และป้ายไวนิล เว้นแต่เพียงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นที่ดูเหมือนจะไม่สนใจเข้าร่วมการประชันคุณธรรมนี้เท่าใดนัก ในปี 2023 กระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงที่ได้คะแนนต่ำสุด และเป็นกระทรวงเดียวที่ให้คะแนนตนเองต่ำกว่าที่ประชาชนประเมิน[13] ซึ่งเป็นการยากที่จะสรุปว่ากระทรวงการต่างประเทศมีคุณธรรมน้อยกว่ากระทรวงอื่นๆ หรือเพียงแค่มีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างออกไปกันแน่

ภาพประชาสัมพันธ์ผลการประเมิน ITA 2023 ของ กสทช.

ประชาชนไม่มีโอกาสประเมินการทุจริตภายในหน่วยงาน

การประเมินโดยประชาชนและเอกชนที่ใช้บริการ ควรเป็นส่วนที่นำมาสอบทานความน่าเชื่อถือของข้อมูลส่วนแรก ทว่าในคำถาม 15 ข้อที่ให้ประชาชนประเมิน มีเพียงสี่คำถามแรกเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ในการประเมินภายในและสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ และมีเพียงข้อเดียวที่เป็นการประเมินการทุจริต ที่เหลือเป็นการประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพการสื่อสาร และการปรับปรุงการทำงานของหน่วยงาน

คำถามสำหรับให้ประชาชนประเมิน ‘คุณธรรม’ ของหน่วยงาน

1หน่วยงานปฏิบัติหรือให้บริการแก่ท่าน เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลา มากน้อยเพียงใด
2หน่วยงานปฏิบัติหรือให้บริการแก่ท่าน อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ มากน้อยเพียงใด
3หน่วยงานปฏิบัติหรือให้บริการแก่ท่าน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ มากน้อยเพียงใด
4ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ท่านเคยถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับเงิน ทรัพย์สิน ของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์ (นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ) เพื่อแลกกับปฏิบัติงานหรือให้บริการแก่ท่าน หรือไม่
5หน่วยงานมีการทำงาน หรือโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและส่วนรวม มากน้อยเพียงใด
6หน่วยงานมีช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มากน้อยเพียงใด
7หน่วยงานมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนหรือผู้รับบริการควรได้รับทราบอย่างชัดเจน มากน้อยเพียงใด
8หน่วยงานมีช่องทางที่ท่านสามารถติชมหรือแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติงานหรือการให้บริการหรือไม่
9หน่วยงานสามารถสื่อสาร ตอบข้อซักถาม หรือให้คำอธิบาย แก่ท่านได้อย่างชัดเจน มากน้อยเพียงใด
10หน่วยงานมีช่องทางที่ท่านสามารถแจ้ง ให้ข้อมูล หรือร้องเรียน ในกรณีที่พบว่ามีเจ้าหน้าที่มีการเรียกรับสินบนหรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือไม่
11การปฏิบัติหรือการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา มากน้อยเพียงใด
12วิธีการขั้นตอนการปฏิบัติหรือการให้บริการ สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา มากน้อยเพียงใด
13หน่วยงานมีระบบการให้บริการออนไลน์หรือไม่
14หน่วยงานเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้เข้าไปมีส่วนร่วมปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้ดีขึ้น มากน้อยเพียงใด
15หน่วยงานมีการปรับปรุงองค์กรให้มีความโปร่งใสมากขึ้น มากน้อยเพียงใด

หากย้อนกลับไปดูต้นแบบการประเมินของเกาหลีใต้ จะพบว่าคำถามการประเมินภายในและการประเมินโดยประชาชนจะทาบทับกันมากโดยเฉพาะในส่วนประสบการณ์การเผชิญการทุจริต ซึ่งออกแบบมาเพื่อเก็บข้อมูลโดยละเอียด ตั้งแต่จำนวนครั้ง มูลค่า รูปแบบการเรียกรับสินบนก่อน/หลัง จำแนกวิธีทุจริตออกเป็นแบบทางตรง เช่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะ และทางอ้อม เช่น การให้ของขวัญ การพาไปสถานบันเทิง ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละหน่วยงานย่อมมีธรรมชาติของการให้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแตกต่างกัน การเก็บข้อมูลโดยละเอียดจะช่วยให้ตรวจจับแบบแผนของการคอร์รัปชัน และนำไปสู่การออกมาตรการป้องกันและแก้ไขจุดอ่อนของหน่วยงานตนเองได้อย่างเหมาะสม

นอกจากตัวชี้วัดจะไม่สะท้อนความโปร่งใสเท่าที่ควร การเลือกผู้ให้ข้อมูลของ ITA ก็ยังมีปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะ ป.ป.ช. กำหนดให้หน่วยงานเป็นฝ่ายส่งรายชื่อผู้ใช้บริการมาให้ผู้ประเมินสุ่มเลือก และยังต้องเป็นฝ่ายติดตามให้ผู้ประเมินมาตอบครบตามจำนวนที่กำหนด[14] และไทยยังมีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กมาก โดยมีประชาชนร่วมประเมินเฉลี่ย 70.1 คน/หน่วยงาน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของเกาหลีใต้อยู่ที่ 283.1 คน/หน่วยงาน[15] มากกว่าถึงสี่เท่า

แค่ทำเว็บตรงเกณฑ์ก็ได้คะแนนเต็ม

ป.ป.ช. เปรียบเปรยว่า ITA เป็นการตรวจสุขภาพประจำปี “เพื่อช่วยให้ตรวจพบโรคก่อนที่จะแสดงอาการหรือเกิดลุกลาม ช่วยให้วางแผนการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ…”[16] ข้อความที่ยกมานี้อาจใช้ได้ดีกับต้นแบบการประเมินในเกาหลีใต้ แต่การตัดทอนเอาส่วนที่ประเมินการทุจริตออกไป ได้ทำให้การประเมินนี้กลายเป็นเพียงการ ‘สำรวจพฤติกรรมเสริมสร้างสุขภาพ’ ว่ากินดี นอนหลับ ออกกำลังกายหรือไม่ โดยไม่ได้ตรวจหาเนื้อร้ายที่อาจกำลังลุกลามภายในร่างกาย ความหวังสุดท้ายของการต่อสู้กับโรคภัยนี้คือการรับประกันว่าร่างกายของเราจะ ‘โปร่งใส’ พอให้มองเห็นอาการป่วยได้ หรือก็คือการประเมินในส่วนสุดท้ายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีน้ำหนักถึง 40%

ตัวชี้วัดในส่วนนี้ประเมินจากหลักฐานเชิงประจักษ์ หน่วยงานจะต้องแนบลิงก์ของหน้าเว็บไซต์ อาทิ ข้อมูลหน่วยงาน ข่าวประชาสัมพันธ์ รายงานผลการจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ รวม 43 รายการให้ผู้ประเมินของ ป.ป.ช. ตรวจสอบ หากลิงก์ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ มีข้อมูลของปีงบประมาณปัจจุบันครบถ้วน เพียงเท่านี้ก็จะได้คะแนนเต็มในข้อนั้นทันที ที่สำคัญ หน่วยงานยังสามารถของดเว้นการเปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหวต่อ ‘ความมั่นคง’ หรือ ‘การแข่งขันทางการค้า’ โดยไม่กระทบต่อการคิดคะแนน ซึ่งกลายมาเป็นเทคนิคในการเพิ่มคะแนนของหลายหน่วยงาน[17] ผลที่เกิดขึ้นคือในปี 2023 มีหน่วยงานได้คะแนน ‘การเปิดเผยข้อมูล’ เต็ม 100 คะแนนถึง 2,796 หน่วยงานหรือ 1 ใน 3 ของหน่วยงานทั้งหมด เรียกได้ว่าโปร่งใสอย่างเหลือเชื่อ!

หลักเกณฑ์ข้างต้นทำให้ข้อมูลที่ต้องการใช้อาจไม่มี ส่วนข้อมูลที่มีก็อาจไม่ได้ถูกใช้เลย ตัวอย่างเช่น หน้าเว็บ E-Service ซึ่งกำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องมีช่องทางให้บริการแบบออนไลน์โดยประชาชนไม่ต้องเดินทางมาเอง บริการนี้อาจมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับบางหน่วยงาน ทว่าสำหรับ อปท. พวกเขาสะท้อนว่าเว็บไซต์ไม่ใช่แพล็ตฟอร์มที่ประชาชนคุ้นเคย หน้าเว็บ E-Service ส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการสร้างแบบฟอร์มออนไลน์เอาไว้เพื่อให้ได้คะแนนตามเกณฑ์ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ใช้งาน เพราะโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและไลน์ (Line) เป็นช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงง่ายกว่า[18]

อบต. แห่งหนึ่งตัดสินใจใช้ Line แทนระบบ E-Service ตามเกณฑ์ ITA

แม้ ITA จะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ อปท. นำข้อมูลออกมาเปิดเผยมากขึ้น แต่ข้อมูลที่ ‘เปิด’ ไม่ได้ถูกประเมินว่ามีคุณภาพดีและมีมาตรฐานหรือไม่ เช่น หน่วยงานมักเลือกใช้ไฟล์ pdf ซึ่งสแกนมาจากเอกสารฉบับจริงอีกต่อหนึ่ง ตัวหนังสือบิดเบี้ยว ไม่คมชัด นำไปใช้งานต่อได้ยากและอาจเกิดความผิดพลาดในการอ่านข้อมูล ทั้งยังขาดคำอธิบายชุดข้อมูล (metadata) ปัญหาคุณภาพข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ ITA กำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องจัดทำเว็บไซต์ขึ้นเอง ซึ่งเป็นภาระต่อหน่วยงานขนาดเล็ก โดยเฉพาะ อปท. ระดับตำบลที่ต้องทำผลงานไล่ตามเกณฑ์ของ ป.ป.ช. แทนที่จะพัฒนาระบบที่ไล่ตามความต้องการของผู้ใช้ในท้องถิ่น

ท้องถิ่น ‘โปร่งใส’ น้อยกว่าส่วนกลาง?

ที่แล้วมาคะแนน ITA ของหน่วยงานท้องถิ่นต่ำกว่าหน่วยงานส่วนกลาง[19] มาโดยตลอด มีความพยายามอธิบายว่าอาจเป็นเพราะหน่วยงานส่วนกลางมี ‘ระบอบอุปถัมภ์’ และระดับของ ‘อำนาจนิยม’ ที่เข้มแข็งและสามารถ ‘ล็อก’ ผลการประเมินได้มากกว่าท้องถิ่น[20] ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่าข้อคำถามใช้ภาษาทางการ ยากแก่การทำความเข้าใจสำหรับประชาชนในต่างจังหวัด[21] และเมื่อ 101 PUB ดึงข้อมูลย้อนหลังห้าปีจากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. มาวิเคราะห์รายดัชนีย่อย ก็พบว่าแท้จริงแล้วคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานราชการไทย จะมากหรือน้อย ตัดสินกันที่ใครทำเว็บไซต์ได้เก่งแค่ไหน

เปรียบเทียบคะแนน ITA ของหน่วยงานส่วนกลางและ อปท. (2019-2023)

จากแผนภูมิข้างต้นจะเห็นว่าคะแนนสองส่วนแรกที่มาจากการประเมินภายในและภายนอกของทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก และ อปท. ยังทำคะแนนนำขึ้นมาอย่างชัดเจนในปี 2023 ส่วนที่แตกต่างกันอย่างมากคือคะแนน ‘การเปิดเผยข้อมูล’ ซึ่งมีน้ำหนักถึง 40% แต่ อปท. ทำคะแนนได้น้อยมาก ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ที่เพียง 65.1 ในปีแรกที่มีการปรับเกณฑ์ใหม่ ขณะที่หน่วยงานส่วนกลางสอบผ่านมาตั้งแต่ต้นเนื่องจากมีความพร้อมในการจัดทำเว็บไซต์มากกว่า (กองทัพบกได้คะแนนส่วนนี้เต็มตั้งแต่ปี 2019)

อย่างไรก็ตาม คะแนนการเปิดเผยข้อมูลของ อปท. ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2021 และด้วยจำนวนที่มีมากถึง 94% ของหน่วยงานทั้งหมด ค่าเฉลี่ยคะแนน ITA ของทั้งประเทศจึงพุ่งทะยานตามไปด้วย แท้จริงแล้วคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสของประเทศไทยที่สูงชะลูดจึงไม่ได้หมายถึงการมีเรื่องทุจริตลดน้อยลง แต่หมายถึงการที่หน่วยงานท้องถิ่นทำเว็บไซต์ได้ถูกต้องตรงเกณฑ์ของ ป.ป.ช. มากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมทำเว็บไซต์ ITA

รางวัลหน่วยงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2023 ตกเป็นของ เทศบาลตำบลตะกุด อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ได้คะแนนรวม 99.8 และได้คะแนนเต็ม 100 ในส่วนของ ‘การเปิดเผยข้อมูล’ ทั้งๆ ที่เมื่อสามปีก่อนได้คะแนนส่วนนี้เพียง 54.2 จุดเปลี่ยนสำคัญคือการตัดสินใจว่าจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญการทำเว็บไซต์ ITA ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงเว็บไซต์ของเทศบาลในงบประมาณเพียงแค่ 15,000 บาทเท่านั้น

ตัวอย่างโฆษณาของบริษัทรับทำเว็บไซต์ท้องถิ่นเพื่อตอบตัวชี้วัด ITA

หากคุณเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ อบต. แห่งหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกคุ้นเคยอย่างบอกไม่ถูก นั่นอาจเป็นเพราะเทมเพลต (template) ของเว็บไซต์ดังกล่าวถูกใช้กับเว็บไซต์ท้องถิ่นอีกกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ การที่มีความต้องการพัฒนาเว็บไซต์จำนวนมากเพื่อตอบโจทย์เดียวกัน เปิดช่องให้บริษัทรับทำเว็บไซต์สามารถรับจ้างพัฒนาเว็บได้ในราคาถูกแต่ทำในปริมาณมาก 

ข้อความโฆษณาบริการจัดทำเว็บไซต์และช่วยกรอกข้อมูล ITA ของบริษัทไทยโรคัลเว็บ

จากการสำรวจของ 101 PUB พบบริษัทรายใหญ่ที่เชี่ยวชาญงานนี้โดยเฉพาะหกแห่ง และเมื่อรวบรวมตัวเลขจำนวนการรับงานจากภาครัฐผ่านสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง[22] จะเห็นแนวโน้มปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2021 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของคะแนน ‘การเปิดเผยข้อมูล’ ของ อปท. ทั่วประเทศในปีเดียวกัน และในปี 2022 ทั้งหกบริษัทนี้รับงานรัฐรวมกันถึง 1,462 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 37.9 ล้านบาท

แม้การรับทำเว็บไซต์จะเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานแบบออนไลน์ได้ทั้งหมด แต่หากพิจารณาการกระจายตัวของโครงการที่บริษัทเหล่านี้รับจากภาครัฐ จะพบรูปแบบที่น่าสนใจคือแต่ละรายมักมีพื้นที่หากินของตนเอง เช่น ซีเจ เวิร์ล คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เติบโตขึ้นเป็นบริษัทที่รับงานภาครัฐมูลค่ารวมกว่าสิบล้านบาทภายในปีเดียว โดยได้งานในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุด หรือในกรณีของดังภูมิ รายใหญ่สุดที่รับงานแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทว่าไม่สามารถเข้าถึงบางจังหวัดในพื้นที่ตะวันตกได้เลย เนื่องจากเป็นบริเวณที่แน็กซ์ โซลูชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์มีอิทธิพลอยู่โดยรอบ

ที่มา: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

คอร์สอบรมกวดวิชา ITA

นอกจากรับจ้างพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ บางบริษัทยังขายคอร์สอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ อปท. อีกด้วย คอร์สอบรมลักษณะนี้มีราคาอยู่ที่ราว 3,500-5,000 บาท/คน โดยมักร่วมมือกับหน่วยงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ครีเอชั่น โปร (localgov.in.th) ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจัดอบรมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีไปจนถึงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การประเมิน ITA ของปีถัดไปจะเริ่มขึ้น และยังมี VIP Class ซึ่งเป็นการเดินสายไปจัดอบรมให้กับ อปท. ถึงที่ โดยบริษัทได้ชี้ช่องทางเบิกจ่ายเงินตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยไว้อย่างครบถ้วนในหน้าโฆษณาคอร์สอบรม

คอร์สกวดวิชาเพื่อเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ไม่ได้มีเพียงแค่การอบรมในส่วนของการทำเว็บไซต์เพื่อตอบตัวชี้วัดในกลุ่มสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สที่ครอบคลุมไปจนถึงการทำให้คะแนนสองส่วนแรกดีขึ้นด้วย วิทยาลัยการจัดการอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดหลักสูตร ‘การสร้างความเป็นเลิศองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมท้องถิ่นและการบริหารบ้านเมืองที่ดีสู่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ’ ใช้เวลาหนึ่งวันเต็มในการติวเข้มทุกตัวชี้วัด ITA เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ด้วยเกรด AA เปิดรับผู้เข้าร่วมอบรมมากถึง 29 รุ่นในปี 2022 และได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านจดหมายเวียนของกระทรวงมหาดไทยให้ อปท. ส่งบุคลากรเข้าร่วมการอบรมอีกด้วย

วงจรปั้นตัวเลขกลบเกลื่อนปัญหา

ในแต่ละปี อปท. ทั่วประเทศใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท[23] ในการปรับปรุงเว็บไซต์เพียงเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ITA แล้วต้องใช้อีกไม่น้อยกับการส่งบุคลากรไปอบรมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในขณะเดียวกัน ป.ป.ช. เองก็ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อปีในการจ้างผู้ประเมิน (ซึ่งมักเป็นมหาวิทยาลัย) มาประเมิน อปท. นอกจากนี้ข้อมูลจากเอกสารจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐยังแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นมีค่าใช้จ่ายปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสอีกจำนวนมาก อาทิ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างเขียนรายงาน ค่าพิมพ์ป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์ผลการประเมิน ฯลฯ 

แม้จะทุ่มเงินลงไปไม่น้อยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดัชนีความโปร่งใสในระดับนานาชาติอย่าง Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของไทยกลับไม่เพิ่มขึ้นเลย โดยคงที่อยู่ราว 36 จากคะแนนเต็ม 100 มาสิบปีแล้ว ตอกย้ำว่าคะแนน ITA ที่สูงขึ้นทุกปีนั้นไม่ได้หมายถึง ‘คุณธรรม’ และ ‘ความโปร่งใส’ ที่เพิ่มขึ้น ทว่าเป็นการขยายตัวของอุตสาหกรรมปั้นตัวเลขที่ทำงานได้อย่างช่ำชองมากขึ้นทุกที ถึงที่สุดแล้วปัญหาการทุจริตและการทำงานที่ไม่ตรงไปตรงมาของราชการไทยไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังถูกบดบังด้วยป้ายไวนิลแสดงคะแนนคุณธรรมดีเลิศเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย ทำให้ ITA ใช้ได้จริง

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสถูกริเริ่มขึ้นด้วยความตั้งใจดี เพียงแต่ความพยายามที่จะปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยกลับกลายเป็นจุดอ่อนของ ITA เสียเอง กระนั้นก็ยังไม่สายเกินไปที่ ป.ป.ช. จะกลับมาทบทวนเครื่องมือชิ้นนี้ใหม่ การประเมินที่ผ่านมาย่อมไม่ได้สูญเปล่าไปเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยที่สุดการประเมินความโปร่งใสก็ทำให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลออกมาเปิดเผยมากยิ่งขึ้น และทำให้หน่วยงานภาครัฐรวมถึง อปท. ทั่วประเทศปรับตัวสู่การทำงานแบบดิจิทัลมากขึ้น ทว่ายังมีข้อที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกมากดังนี้

ปรับตัวชี้วัดให้ตอบโจทย์การระบุจุดอ่อนที่ต้องแก้

‘การกระตุ้นเชิงบวก’ ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่สัมฤทธิ์ผล ตัวชี้วัดควรได้รับการทบทวนใหม่ให้ครอบคลุมถึงด้านที่เป็นปัญหา เปิดให้ประชาชนประเมินการทุจริตของหน่วยงานโดยละเอียด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ระบุจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขให้ได้จริง ตัดตัวชี้วัดเชิงบวกที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ‘การรับรู้ประมวลจริยธรรมของหน่วยงาน’ ‘ประสิทธิภาพการเผยแพร่ข่าวสาร’ แล้วพิจารณาเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่จะสะท้อนปัญหาการทุจริตในวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น เช่น การแทรกแซงการทำงานโดยผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น[24] เมื่อวิเคราะห์หาจุดอ่อนได้แล้ว ป.ป.ช.อาจนำแนวคิด ‘การกระตุ้นเชิงบวก’ กลับมาใช้โดยการให้การสนับสนุนเป็นพิเศษแก่หน่วยงานที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขตนเองขึ้นได้ในปีต่อไป แทนการยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงเพียงอย่างเดียว

เพิ่มความร่วมมือกับกลไกและองค์กรอื่น

นอกจาก ป.ป.ช. ยังมีองค์กรและกลไกอื่นอีกจำนวนไม่น้อยที่มีพันธกิจในการตรวจสอบการทำงานและมุ่งส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ แต่กลไกต่างๆ มักทำงานแยกกัน ป.ป.ช. ควรพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำผลการประเมินอื่นๆ ที่มีส่วนทับซ้อนกันอยู่ เช่น การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (LPA) การประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนของ ก.พ. รวมถึงการจับตากิจกรรมทุจริตขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มาใช้ประเมินร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนในการประเมินเรื่องเดิมซ้ำๆ และลดภาระให้กับบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

‘เปิด’ ข้อมูลอย่างมีคุณภาพ

การประเมิน ‘การเปิดเผยข้อมูล’ ของ ITA ในปัจจุบันยังเป็นเพียงการตรวจสอบว่า ‘มี’ การเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ ทว่าไม่มีการประเมิน ‘คุณภาพ’ ของข้อมูลที่เปิดเผย ทั้งในแง่ที่ว่าข้อมูลที่ควรเปิดถูกนำมาเปิดหรือไม่ และในแง่มาตรฐานของการจัดเก็บข้อมูล การประเมินคุณภาพการเปิดเผย ควรพิจารณาว่าข้อมูลที่ถูก ‘ปกปิด’ ด้วยว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใด และขัดต่อหลักการ ‘เปิดเป็นหลัก-ปิดเป็นข้อยกเว้น’ (open by default) หรือไม่ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรง

ในด้านมาตรฐานข้อมูล ปัจจุบันไทยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีอำนาจในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่มากนัก ป.ป.ช. ควรใช้ความสำเร็จของ ITA เป็นเครื่องจูงใจให้หน่วยงานต่างๆ ใช้งานระบบข้อมูลเปิดของ DGA แทนที่จะต้องจัดทำขึ้นเองทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลมีมาตรฐานเดียวกันรวมถึงสามารถติดตามผลได้ว่าข้อมูลถูกนำไปใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด

วัฒนธรรมเปิดเผย โปร่งใส เริ่มต้นที่ ITA

ท้ายสุดนี้ สิ่งหนึ่งที่ ป.ป.ช. สามารถทำเพื่อยกระดับ ITA ได้ทันที คือการนำข้อมูลการประเมินที่แล้วมาทั้งหมด เปิดเผยแก่สาธารณะในรูปแบบสเปรดชีท (spreadsheet) เพิ่มสายตาที่จะเข้าไปสอดส่องมองหาสิ่งผิดปกติในผลการประเมินของหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบัน ป.ป.ช.นำเสนอผลการประเมินในรูปแบบแดชบอร์ด (dashboard) ซึ่งใช้งานง่าย ทว่าถูกออกแบบมาเพื่อแสดงผลความสำเร็จของรายหน่วยงาน รายกระทรวง มากกว่าที่จะเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากประชาชน

ป.ป.ช. ควรทำให้ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ‘เปิด’ ด้วยมาตรฐานสูงสุด เป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานต่างๆ และเพื่อทำให้การประเมินนี้ไม่ได้จบลงแค่เพียงการประกาศรางวัลเชิดชูคุณธรรมกันไปในแต่ละปี แต่ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมของการเปิดเผยให้มีการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่ทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

References
1 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2561-2580
2 PPTV Online. “ศอตช.เปิดสถิติร้องเรียนทุจริตภายในภาครัฐ ‘มหาดไทย’ครองแชมป์อันดับหนึ่ง”. pptvhd36.com, 2565. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/187400.
3 PPTV Online. “ข่าวแห่งปี 2564 : มหากาพย์ ‘เสาไฟกินรี’ ต้นละเกือบแสน เขย่า อบต.ราชาเทวะ ”, 2564. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/163506.
4 https://itas.nacc.go.th/report/rpt0201new?year=2023&isPublic=True&departmentId=6628
5 ไทยรัฐ. “แฉนายพล ทบ. ขู่เอาชีวิตปมทุจริต 2 สาวนักธุรกิจบุก ยธ. หักหัวคิวกู้สร้างบ้าน”. 2565. https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2529430.
6 https://armysecretary.rta.mi.th/secretary/images/ITA62/ita%2031.html
7 สำนักงบประมาณของรัฐสภา. “รายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 : กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล”. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2565. https://library.parliament.go.th/th/node/3865.
8 สุรพี โพธิสาราช. “การประเมิน ‘เครื่องมือประเมิน’ พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย”. CMU Journal of Law and Social Sciences 11, ฉบับที่ 2 (2561): 121–41.
9 สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส. “คู่มือประเมิน ITA 2562”. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 2562.
10 Hood, Christopher, and David Heald, e.d. Transparency: The Key to Better Governance. Illustrated edition. Oxford ; New York: British Academy, 2006.
11 อัมพร ธำรงลักษณ์. ตัวชี้วัดหลักความโปร่งใส. สถาบันพระปกเกล้า, 2565.
12 วนิดา สมสวัสดิ์. “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย”. คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, 2564.
13 https://itas.nacc.go.th/report/rpt0301new?year=2023&ministryId=4&assessmentId=182&isPublic=True
14 สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส. “คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566”. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 2566.
15 Anti-Corruption and Civil Rights Commission. ‘A Practical Guide to Integrity Assessment’. Republic of Korea, 2017.
16 สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส. “ITA 2022 decade of ITA journey”. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 2565.
17 ไทยรัฐ. “เหลี่ยมโกงคะแนน ITA ล็อก-ลอก-บังมูลทุจริต”. www.thairath.co.th, 2566. https://www.thairath.co.th/news/local/2722703.
18 วนิดา สมสวัสดิ์. “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย”. คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, 2564.
19 นับรวมราชการส่วนภูมิภาค มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระ
20 สฤณี อาชวานันทกุล. “คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใส อาจสะท้อน ‘ระบอบอุปถัมภ์’ มากกว่า ‘ความโปร่งใส’”, 2565. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101967.
21 สุรพี โพธิสาราช. “การประเมิน ‘เครื่องมือประเมิน’ พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย”. CMU Journal of Law and Social Sciences 11, ฉบับที่ 2 (2561): 121–41.
22 101 PUB รวบรวมจากเว็บไซต์ actai.co ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
23 101 PUB คาดการณ์โดยคำนวนจากจำนวน อปท. ที่ผ่านการประเมิน คูณกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าสัญญาจัดซื้อจัดจ้างทำและปรับปรุงเว็บไซต์ ITA
24 วนิดา สมสวัสดิ์. “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย”. คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, 2564.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save