fbpx

‘โจทย์นิติธรรมโลก – โจทย์นิติธรรมไทย อะไรอยู่ข้างหลังตัวเลข’ ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ แห่ง World Justice Project 

“ประชากรกว่า 6,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่หลักนิติธรรมกำลังถดถอย”

“หลักนิติธรรมโลกถดถอยเป็นปีที่หกติดต่อกัน”

“3 ใน 4 ของประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการถดถอยของคุณค่าสิทธิมนุษยชน”

นี่คือไฮไลต์สำคัญบางส่วนที่รายงาน World Justice Project: Rule of Law Index 2023 ใช้นำเสนอรายงานเรือธงฉบับล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน สำหรับคนที่สนใจศึกษา ‘หลักนิติธรรม’ การนำเสนอข้างต้นอาจไม่ใช่รูปแบบที่คุ้นตามากนัก เพราะที่ผ่านมาแนวคิดมักถูกพูดถึงและถกเถียงในเชิงนามธรรมเสียเป็นส่วนใหญ่

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา World Justice Project (WJP) ได้นำเสนอดัชนีตัวชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ในฐานะเครื่องมือที่ใช้ทำความเข้าใจและวัดหลักนิติธรรมในเชิงปริมาณได้ นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ ‘หลักนิติธรรม’ ที่มีความเป็นนามธรรมสูง ถูกนำมาวัดเป็นตัวเลขได้ ตลอดระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่เผยแพร่ครั้งแรก ดัชนี้ชี้วัดหลักนิติธรรมของ WJP ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับและถูกใช้อ้างอิงมากขึ้นเรื่อยๆ จากผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และคนทำงานด้านนิติธรรมในระดับสากล

ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของ WJP ในการขับเคลื่อนให้มีการใช้ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือในการยกระดับสถานการณ์ด้านนิติธรรมทั่วโลก กล่าวได้ว่า ‘ศรีรักษ์’ เป็นหนึ่งในคนไทยจำนวนน้อยที่เข้าใจที่มาที่ไปและมองเห็น ‘insight’ ของคะแนนดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมที่แต่ละประเทศได้ รวมถึงไทยอย่างดีที่สุด

101 ชวน ‘ศรีรักษ์’ เปิดสนทนาสั้นๆ ว่าด้วยโจทย์นิติธรรมโลก – โจทย์นิติธรรมไทย อะไรที่ซ่อนอยู่หลังหลังตัวเลข

หมายเหตุ – อ่านไฮไลต์สำคัญของรายงาน World Justice Project: Rule of Law Index 2023 และคะแนนของประเทศไทยได้ที่นี่

หากทำความเข้าใจโลกผ่าน ‘ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม’ (Rule of Law Index) ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดในปี 2023 คุณเห็นประเด็นหรือแนวโน้มอะไรที่น่าสนใจบ้าง

โดยรวมสถานการณ์นิติธรรม (rule of law) ทั่วโลกตกลงเป็นปีที่ 6 ต่อเนื่องกัน ครั้งหลังสุดที่จํานวนประเทศที่สถานการณ์ด้านนิติธรรมปรับปรุงดีขึ้นมากกว่าประเทศที่หลักนิติธรรมถดถอยลงคือปี 2017 ซึ่งในด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนกระแสการเมืองในประเทศต่างๆ ที่มีลักษณะ อำนาจนิยม มากขึ้นและสถานการณ์แย่ลงค่อนข้างมากในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดที่รัฐบาลทั่วโลกใช้อำนาจรัฐค่อนข้างเข้มข้น

หากดูข้อมูลจะพบว่า ในปี 2023 ประเทศที่สถานการณ์นิติธรรมแย่ลงมีจำนวน 82 ประเทศ ในขณะที่ประเทศที่ดีขึ้นมีจำนวน 58 ประเทศเท่านั้น และมีประเทศที่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแย่ลงมีมากถึง 77% ของประเทศทั่วโลก ซึ่งโดยมากมักเป็นเรื่องการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การรวมตัวทางการเมือง และการนับถือศาสนา

แนวโน้มที่เกิดขึ้นในระดับโลกค่อนข้างน่ากังวล เพราะจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ในอนาคตจะยังแย่ลงไปกว่านี้หรือไม่

พอเห็นบ้างไหมว่า ประเทศกลุ่มไหนที่ระดับนิติธรรมแย่ลง

ค่อนข้างกระจายตัวพอสมควร ทุกพื้นที่มีทั้งประเทศที่ดีขึ้นและแย่ลง แต่โดยรวมแย่ลงกันหมด ยุโรป อเมริกา แอฟริกา เอเชียแย่ลงหมดเลย อย่างไรก็ตาม ในเอเชียอัตราการแย่ลงจะเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่พอสมควร ในเอเชียอาจจะเห็นอัตราการเปลี่ยนที่แย่ลงเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกพอสมควร

หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศรายได้ใกล้เคียงกันก็จะพบว่า ในทุกกลุ่มรายได้ไม่ว่าจะเป็นประเทศรายได้น้อย รายได้ปานกลางระดับล่าง ประเทศปานกลางระดับบน และรายได้สูง มีทั้งที่สถานการณ์ดีขึ้นและสถานการณ์แย่ลง กระจายๆ กัน แต่ประเทศกลุ่มรายได้สูงคะแนนลดลงจะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่เหลือ


จากเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง พอเห็นไหมว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์นิติธรรมในประเทศหนึ่งๆ ดีขึ้น

ประเทศ 5 อันดับแรกที่สถานการณ์นิติธรรมดีขึ้นคือ กลุ่มที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะทำให้สถานการณ์ของตัวเองดีขึ้นและลงทุนด้านนี้ ประเทศหนึ่งโดดเด่นมากคือคาซัคสถาน ซึ่งสถานการณ์ดีขึ้นมาต่อเนื่องตลอด 5-6 ปี คาซัคสถานเป็นประเทศที่แตกออกมาจากสหภาพโซเวียต แต่นโยบายในช่วงหลังให้ความสำคัญกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (open data) มากขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐมีผลทำให้ต่อ ภาครัฐระบบเปิด(open government) ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของดัชนีนิติธรรมดีขึ้นอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐก็ส่งไปยังเสาหลักอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน การตรวจสอบและจำกัดอำนาจรัฐบาล รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

โคโซโวเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สถานการณ์นิติธรรมดีขึ้น ประเทศนี้ทำให้หลายคนเซอร์ไพรส์ เพราะโคโซโวก็เพิ่งประกาศเอกราชแยกตัวออกมาจากเซอร์เบียเมื่อปี 2008 และเดิมก็เป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง แต่เมื่อประกาศเอกราชแล้ว โคโซโวเดินหน้าวางรากฐานระบบนิติธรรมโดยมีสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนทางการเมือง ทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ การทํากฎหมายลูก และกฎระเบียบต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบกฎหมายของโคโซโวมีมาตรฐานค่อนข้างดี


คุณพูดถึงกระแส อำนาจนิยมในฐานะตัวแปรที่บั่นทอนหลักนิติธรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่บางประเทศที่มีลักษณะอำนาจนิยมค่อนข้างมาก เช่น สิงคโปร์ กลับมีคะแนนค่อนข้างดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เราควรตีความสิ่งนี้อย่างไร

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ตัวชี้วัดหลักยุติธรรมเป็นตัวเลขที่วัดตัวแปร 44 ตัวและนำมาถ่วงน้ำหนักด้วยวิธีการทางวิชาการ ดังนั้น แม้ประเทศจะมีปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง แต่ถ้าด้านอื่นๆ ยังทำได้ดี คะแนนโดยรวมก็จะออกมาดี อันนี้เป็นข้อจำกัดของการทำตัวชี้วัด

กรณีสิงคโปร์ คะแนนด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ค่อยดี คนที่เห็นต่างจากรัฐมีข้อจำกัดพอสมควรในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การแสดงความคิดเห็นและการรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง แต่คะแนนด้านอื่นดีมาก โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง (order and security) การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย (regulatory enforcement) อยู่ลำดับต้นๆ ของโลกเลย


เอาเข้าจริงแล้วระบบการเมืองมีผลมากน้อยแค่ไหนกับสถานการณ์นิติธรรมในประเทศหนึ่งๆ ข้อมูลที่เก็บมาหลายปีบ่งชี้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

เราไม่ได้เปรียบเทียบในลักษณะนั้น และก็อาจไม่แนะนำให้ทำอย่างนั้นเท่าไหร่ เพราะจะทำให้ติดกรอบการเถียงกันคุณค่าประชาธิปไตย – เผด็จการ ซึ่งไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ การถกเถียงจะทำให้หลุดโฟกัสจากเรื่องหลักนิติธรรมได้ง่าย

ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมถูกออกแบบบนฐานของนำมาใช้ได้กับทุกระบบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมืองแบบไหน ก็ต้องดูว่าอำนาจรัฐถูกจำกัดแค่ไหน การคอร์รัปชันเป็นอย่างไร ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพไหม ฯลฯ พูดอีกแบบคือตัวชี้วัดหลักนิติธรรมให้ความสำคัญกับการทำงานและผลงาน (performance) มากกว่าตัวรูปแบบของระบบการเมือง

ตัวอย่างรูปธรรมเช่น รัฐบาลจีนมีการออกแบบระบบและกลไกการตรวจสอบในรูปแบบที่แตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย เช่น การใช้กลไกภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการเลือกตั้งหลายระดับภายใน มีการจัดวางตำแหน่งให้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ฯลฯ สิ่งที่ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมสนใจคือระบบที่ออกแบบมาตรวจสอบได้จริงหรือไม่จริงแค่ไหน หรือในรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินเป็นคนแต่งตั้งผู้พิพากษา ก็ต้องไปดูว่าเวลาฟังก์ชันกันจริงแล้ว ผู้พิพากษามีอิสระมากน้อยแค่ไหน สามารถเข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหารได้หรือไม่ เป็นต้น

ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการไม่นำระบบการเมืองเข้ามาเป็นตัวแปรคือทำให้เราสามารถเปรียบเทียบสถานการณ์นิติธรรมในประเทศที่ระบบการเมืองแตกต่างกันได้


แต่ถ้าพิจารณาตัวชี้วัดในรายละเอียด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวแปรต่างๆ ดูจะสอดคล้องกับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยมากกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยมหรือเปล่า

เห็นด้วยว่า แนวคิดประชาธิปไตยสอดคล้องกับหลักนิติรัฐมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการตีความคือ การที่ประเทศหนึ่งๆ มีรูปแบบของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้รับประกันว่าประเทศนั้นจะมีหลักนิติธรรมที่ดีแล้ว ดังนั้น การพิจารณาเรื่องนี้จึงต้องกลับไปที่รายละเอียดอยู่ดี


เคยมีงานศึกษาที่นำดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมไปศึกษากับตัวแปรด้านการพัฒนาอื่นๆ บ้างไหม และผลลัพธ์เป็นอย่างไร

งานตรงส่วนนี้ WJP ทำไว้อยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งการนำไปวิเคราะห์กับข้อมูลรายได้ประชาชาติ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) อายุขัยเฉลี่ยคาดการณ์ของประชากร (life expectancy) ฯลฯ หากให้สรุปสั้นๆ คือ ระดับของหลักนิติธรรมมีความสัมพันธ์กับตัวแปรด้านการพัฒนาอื่นๆ หลายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ระดับรายได้ การศึกษา สาธารณสุข อายุขัยเฉลี่ยของประชากร ฯลฯ

ตอนแรกที่ผมเห็นงานวิจัยยังประหลาดใจอยู่เลยว่า หลักนิติธรรมมีความสัมพันธ์กับตัวแปรที่คาดไม่ถึงหลายตัว เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งงานวิจัยอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่บริษัทขนาดใหญ่เลือกลงทุนในประเทศหนึ่งคือ การมีกระบวนการทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ หรือความสัมพันธ์กับอายุขัยเฉลี่ยคาดการณ์ก็เป็นอีกตัวที่คาดไม่ถึง


ดัชนีหลักนิติธรรมจัดทำขึ้นครั้งแรกในปี 2008 และครั้งล่าสุดคือปี 2023 ซึ่งตลอดช่วงระยะกว่า 15 ปี โลกเปลี่ยนแปลงมาก แล้วปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานการณ์นิติธรรมเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ อย่างไร

แน่นอน! (เน้นเสียง)

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งส่งผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อระบบนิติธรรม ในด้านหนึ่ง เทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐสะดวกและง่ายขึ้น การตรวจสอบภาครัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ ผลกระทบด้านบวกมากมายเต็มไปหมด ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงและความท้าทายต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น การใช้ข่าวปลอมหรือปฏิบัติการควบคุมข่าวสารในโลกออนไลน์ การคุกคามรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น

อีกประเด็นที่เปลี่ยนไปพอสมควรและส่งผลกระทบต่อนิติธรรมโดยตรงคือ แนวโน้มการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ หรือเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่าง rule by law กับ rule of law พร่าเลือนมากขึ้น และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวชี้วัดหลักนิติธรรมเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากขึ้น เพราะการพิจารณาว่าหลักนิติธรรมคืออะไร ต้องมีความละเอียดมากขึ้น


เห็นความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ ของการยกระดับหลักนิติธรรมในระดับโลกบ้างไหม

การจำกัดอำนาจรัฐและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนยังคงเป็นความท้าทายอยู่เสมอ มีปัญหาจำนวนมากที่เรายังไม่สามารถแก้ไขได้ และมีแนวโน้มที่จะแย่ลงมากเรื่อย ซึ่งจากการทำงานและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกทำให้เราสามารถระบุ ความเสี่ยงใหญ่ (major threats) 3 ประการที่น่ากังวลอย่างยิ่งในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่

ประการแรกคือ ปัญหาการบิดเบือนข้อมูลในโลกออนไลน์ (disinformation) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยตรง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกว่า 20 ประเทศที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการบิดเบือนข้อมูล แต่กฎหมายใช้คำค่อนข้างกว้างและไม่เฉพาะเจาะจง สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลมีแนวโน้มจะฉวยใช้กฎหมายนี้ในการกดปราบคนที่เห็นต่างจากรัฐมากกว่าที่จะจัดการปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจริงๆ มีการคาดการณ์ว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอาจมีประเทศที่ออกกฎหมายลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 60 ประเทศ ซึ่งนับเป็นความท้าทาย  

เมื่อไม่นานมานี้ทาง WJP ได้ร่วมกันกับพาร์ตเนอร์วิเคราะห์กฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วดูว่า รัฐบาลมีแนวโน้มใช้กฎหมายในการปราบคนเห็นต่างในนามของการแก้ปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารมากแค่ไหน อย่างไร ข้อค้นพบก็คือรัฐมีแนวโน้มจะใช้กฎหมายเหล่านี้มากขึ้นและกฎหมายเองก็มักจะกำหนดโทษรุนแรงเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

ประการที่สอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบ แต่เดิมคนกลุ่มนี้เป็นคนที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากกว่าปกติอยู่แล้ว แต่ท่ามกลางกระแสอำนาจนิยมและชาตินิยม คนกลุ่มนี้จะยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น

ประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนกลุ่มนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างกว้าง ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนจน กลุ่มคนเพศหลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มคนจนมักจะเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรและความรู้ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ถ้าหากถูกรีดไถโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อให้พวกเขาพอมีทรัพยากร แต่ก็ไม่มีช่องทางที่จะไปเรียกร้องความยุติธรรมเลย เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายคือ ความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการ (judicial independence) อันที่จริงไม่ใช่แค่ที่เอเชียเท่านั้นที่กังวลเรื่องนี้ แต่เป็นข้อกังวลระดับต้นของทั่วโลกเลย ผมไปประชุมที่ Commonwealth Lawyer Conferences มา กลุ่มทนายความต่างมองเห็นว่าความอิสระของศาลกำลังถูกประนีประนอมในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือกลุ่มผู้พิพากษาสูงสุดของประเทศแปซิฟิก 15 ประเทศก็เพิ่งประชุมกันและเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุดเป็นอันดับหนึ่งเลย

สาเหตุสำคัญที่เรื่องนี้ถูกพูดถึงกันมาก เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมมีแนวโน้มที่จะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการศาลเพื่อไม่ให้มาตรวจสอบตัวเอง ทั้งการตั้งคนของตัวเองเข้าไปอยู่ในศาล และการใช้อำนาจโยกย้าย ความกังวลในประเด็นนี้ทำให้เริ่มมีการพัฒนากรอบคิดและเครื่องมือใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อวัดความเป็นอิสระของตุลาการด้วยเหมือนกัน ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ WJP ให้ความสนใจและเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

อยากชวนเจาะลึกประเทศไทยผ่านตัวชี้วัดหลักนิติธรรม คุณเห็นคะแนนประเทศไทยแล้วเห็นอะไรบ้าง

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มมีปัญหาและคะแนนเราลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2023 คะแนนประเทศไทยอยู่ที่ 0.49 ลดลงจากปี 2022 ที่ได้อยู่ที่ 0.50 หรือลดลงประมาณ 1% ถ้าดูคะแนนบางคนอาจจะบอกว่า คะแนนของประเทศไทยลดลงเพียงแค่ 0.01 เท่านั้น แต่ด้วยระเบียบวิธีวิจัยและการคำนวนแล้วคะแนนตรงส่วนนี้จะไม่หวือหวาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้พูดถึงคาซัคสถานว่าทำได้ดี หากไปดูตัวเลขจะเห็นว่าทำได้ดีขึ้นมา 0.02 ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีในหลายประเด็น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา อาทิ ความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ในระดับที่พอรับได้ และความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านหลักนิติธรรมที่ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก เช่น ปัจจัยการควบคุมอำนาจรัฐ มีคะแนนต่ำอยู่ที่การวัดจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ การทำรัฐประหาร ซึ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเกิดขึ้นด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความสามารถของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมอำนาจรัฐ การที่มีคนทำผิดจำนวนมากและไม่ได้รับการลงโทษ และความสามารถขององค์กรพัฒนาเอกชนในการตรวจสอบรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ได้คะแนนต่ำ เช่น ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การเผยแพร่กฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม และยังพบการซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย มีกระบวนการยุติธรรมที่กฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก มีกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการที่มีผู้พ้นโทษจากเรือนจำจำนวนมากกลับไปกระทำความผิดซ้ำเพราะขาดโอกาสในการเริ่มต้นใหม่


คะแนนของประเทศเทียบกับประเทศลำดับต้นๆ ของโลกก็ถือว่ามีช่องว่างอยู่พอสมควร แต่หากมองแบบทั้งโลก เรากลับอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้เลวร้ายมากสักเท่าไหร่ เอาเข้าจริงเราก็อยู่กลางๆ และห่างไกลจากกลุ่มประเทศที่ แย่ที่สุดอยู่มากเช่นกัน

การเปรียบเทียบกับโลก หรือกับเพื่อนบ้าน เป็นเพียงเครื่องมือในการมองเท่านั้น ใครอยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าไม่ใช่ประเด็นเท่ากับว่า การเปรียบเทียบทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพราะหากไม่เข้าใจสถานการณ์จริงแล้ว ต่อให้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ก็ไม่ได้มีความหมาย

การเปรียบเทียบที่สำคัญที่สุดคือการเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต ซึ่งคะแนนของประเทศไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราต้องถามตัวเองกลับคือ สถานการณ์นิติธรรมในประเทศไทยย่ำแย่ลงเหมือนที่ตัวเลขบอกไว้ไหม หากใช่เราจะสามารถยกระดับสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร


สังคมไทยมีความรู้มากพอที่จะทำให้หลักนิติธรรมในประเทศดีขึ้นไหม

สังคมไทยมีความรู้มากพอ และน่าจะมีพอมานานแล้วด้วย แต่สิ่งที่เราขาดจริงๆ คือความเป็นผู้นํา (leadership) และความมุ่งมั่นแน่วแน่ (commitment) ประสบการณ์จากประเทศที่ประสบความสำเร็จคือ การพัฒนาหลักนิติธรรมไม่มีทางลัด มีแต่ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

เวลาจะทำอะไรสักอย่าง เรามักจะหา สูตรสำเร็จอยู่เสมอ แต่ข่าวร้ายคือมันไม่มี (หัวเราะ) แต่ละประเทศต้องดิ้นรนหาทางทำต่อไป ดัชนีตัวชี้วัดหลักยุติธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้แต่ละประเทศทำความเข้าใจสถานการณ์นิติธรรมของตัวเอง และช่วยวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น

ประเทศไทยอยู่บนจุดทางแยกที่สำคัญ การรัฐประหารทำให้ขอบเขตอำนาจรัฐขยายขึ้นมาก ในขณะที่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง การมีรัฐบาลใหม่จะเป็นตัวกำหนดว่า ทิศทางด้านนิติธรรมของไทยจะเป็นไปในรูปแบบและทิศทางไหน   


ท่ามกลางการถดถอยของสถานการณ์นิติธรรมในระดับโลก คุณยังมีความหวังกับประเทศไทยไหม

ต้องบอกว่าขึ้นๆ ลงๆ (หัวเราะ)

ในช่วงหนึ่งยอมรับว่าหมดหวังไปพอสมควร แต่ปีที่ผ่านมามีโอกาสได้เห็นคนรุ่นใหม่ทำงาน มีทั้งความตั้งใจที่ดีและทักษะที่สูง เอาเทคโนโลยีและวัฒนธรรมใหม่เข้ามาทำงานก็มีความหวังมากขึ้นมาก ในประเทศไทยเราเห็นปรากฏการณ์ที่นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อรุ่นใหม่ เข้ามาทำงานตรงนี้มากขึ้นนี่เป็นแนวโน้มที่ดีและน่าสนใจมากๆ


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save