fbpx

มนุษย์กาญ่าแห่งนูนีนอย

แดดยามบ่ายลอดผ่านหมู่ไม้ กระทบยอดหญ้าและผิวน้ำในบึงน้อย ทำเอาทุกอย่างส่องสว่างอย่างกับทองคำ เบื้องหลังคือดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่านราววิหารศักดิ์สิทธิ์ ยามค่ำแสงดาวกระพริบกลางฟ้ามืด ความเย็นเยือกต้นฤดูหนาวแทรกผ่านมวลอากาศจนทุกอย่างหยุดนิ่ง ความงามรายล้อมอยู่รอบตัวทั้งที่มองเห็นได้ด้วยตาและสัมผัสได้ด้วยใจ

ผมเพิ่งเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการที่มนุษย์ขอคืนดีกับธรรมชาติก็คราวนี้ที่ทุ่งน้ำนูนีนอย กับความพยายามในการฟื้นคืนชีวิตป่าและทุ่งน้ำเล็กๆ ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ของพี่อ้อย-สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และพี่จอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์​ สองสามีภรรยานักนิเวศวิทยาและนักอนุรักษ์ มีชีวิตมากมายเหลือเกินที่นี่ มีมากพอๆ กับความรัก รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของมิตรภาพ ผมประทับใจสวนกุหลาบอินทรีย์ที่เป็นบ้านของแมงมุมกว่า 40 ชนิด เพลิดเพลินกับท่วงท่าและลีลาการบินของนกนางแอ่นหางลวดและนางแอ่นบ้านที่พักเกาะอยู่บนราวไม้ไผ่ bamboo sculpture กลางบึงน้ำและสายหมอกยามเช้า เป็นสถาปัตยกรรมที่มีเรื่องราวและมีชีวิต

ภาพชีวิตของนูนีนอยทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่พี่อ้อยต้องการถ่ายทอดในหนังสือ มนุษย์กาญ่า หนังสือเล่มล่าสุดของพี่อ้อยที่บอกว่า ‘นักวิทยาศาสตร์ที่ดีย่อมรู้ถึงขีดจำกัดของความรู้ที่เขาเข้าถึง และมนุษย์ที่ฉลาดย่อมไม่ปฏิเสธศักยภาพทุกด้านของตัวเอง‘ (น.139)

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบครั้งแรกตอนนั่งเครื่องบินไปประชุมเรื่องการประเมินระบบนิเวศระดับชาติที่อังกฤษตั้งแต่เดือนตุลามคมปีที่แล้ว จำได้ว่าประทับใจมากกับความกล้าหาญในการเขียนเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของมนุษย์กับธรรมชาติในมิติที่มากไปกว่าสิ่งที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อธิบายได้ การลงรายละเอียดไปถึงผัสสะพื้นฐานที่มนุษย์ยุคใหม่หลงลืม การมองเห็น การฟังเสียง การดมกลิ่น การสัมผัส ไปจนถึงกระแสพลังงานที่มองไม่เห็น จนเราค่อยๆ ตัดขาดตัวเองออกมาจากโลกดั้งเดิม รวมทั้งปรากฏการณ์การสื่อสารข้ามสายพันธุ์ ระหว่างคนกับสัตว์ คนกับพืช ที่เริ่มมีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จริงๆ แล้วยังมี ‘ความรู้’ อีกหลายแง่มุมในธรรมชาติที่มนุษย์เองยังเข้าไม่ถึง หรือละเลยหลงลืมไปในขณะที่มุ่งหน้าใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวนำอารยธรรมแห่งยุค

เราสูญเสียทักษะในการเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติรอบตัวไปตั้งแต่เมื่อไหร่ เรามองข้ามภูมิปัญญาที่อาจเป็นตัวช่วยให้เราฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่รอบด้านไปรึเปล่า

พอจะเขียนถึงหนังสือมนุษย์กาญ่า เลยตัดสินใจหยิบขึ้นมาอ่านเก็บรายละเอียดอีกรอบช่วงปีใหม่ อ่านรอบนี้ก็ยิ่งรู้สึกขอบคุณที่พี่อ้อยรวบรวมประสบการณ์และความคิดที่ตกผลึกมาถ่ายทอดสู่สังคมวงกว้าง ชวนคุยถึงประเด็นสำคัญในการย้อนกลับไปหาทางออกที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ (Nature-based Solutions) และความจำเป็นในการวิวัฒน์เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ จาก ‘โฮโม เซเปียนส์’ ผู้อหังการ์  ไปสู่ ‘โฮโม กาญ่า’ ที่พี่อ้อยนิยามว่าเป็น ‘สายพันธุ์มนุษย์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสังคมชีวิตโลกเคียงคู่ไปกับสรรพชีวิตอื่นๆ เป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤตการทำลายล้างธรรมชาติของโฮโม เซเปียนส์

ในยุคที่เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกสามด้านหลักทั้งสภาวะโลกร้อน วิกฤติการณ์สูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และปัญหามลภาวะ หรือที่เรียกกันว่า Triple Planetary Crises เราอาจจำเป็นต้องวิวัฒน์ตัวเองไปสู่จิตสำนึกใหม่ เผ่าพันธุ์ใหม่เพื่อต่อสู้กับสารพันปัญหาที่มนุษย์ยุคเก่าสร้างเอาไว้ จนดูเหมือนยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งจนแทบมองไม่เห็นทางออก  

พี่อ้อยเริ่มต้นหนังสือด้วยการบอกเล่าประสบการณ์มหัศจรรย์ในการได้สบตากับแมวน้ำฮาร์เบอร์ นากแม่น้ำ และวาฬเพชฌฆาตสองแม่ลูกขณะพายเรือคายัคในทะเลเซลิซ เป็นฝันที่เป็นจริงตามที่ได้ขอเจ้าป่าเจ้าเขาไว้ก่อนออกพายเรือ เป็นห้วงเวลาที่นักนิยมธรรมชาติน่าพอจะเข้าใจได้ มันคือสุดยอดประสบการณ์เวลาได้เจอกับสิ่งมีชีวิตที่อยากเจอมากๆ อาจเป็นนกหายาก หรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือดอกไม้ที่เราวาดหวังว่าจะได้เห็นในธรรมชาติ เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับเราได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของแม่ธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์ ‘ความตระหนักรู้ขยายแผ่ซ่านออกไปกว้างไกลเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งทั้งจักรวาล ตัวโปร่งโล่งเบาเป็นชั่วขณะที่เติมเต็ม‘ (น.36)

ทะเลเซลิซทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาข้ามไปถึงแคนาดา เป็นสถานที่พิเศษของชนพื้นเมือง มีเรื่องเล่า มีวิถีอันเก่าแก่ที่ร้อยเรียงผ่านชีวิตของวาฬเพชฌฆาต ปลาแซลมอน นากทะเล แมวน้ำ อินทรีหัวขาว สาหร่ายเคล์ป และต้นดักกลาสเฟอร์สูงเสียดฟ้า ประสบการณ์ที่พี่อ้อยได้พบเป็นเหมือนการได้ไปเป็นประจักษ์พยานของวิถีอันเก่าแก่ที่ยังดำรงอยู่ ยังมีชีวิต สายพันธุ์ต่างๆ ยังสื่อสารถึงกัน ทำอย่างไรเราจะสามารถค้นพบมิติคู่ขนานที่จริงๆ แล้วอาจยังมีอยู่ตรงนี้ ไม่เคยหายไปไหนและแท้จริงแล้วเกิดขึ้นตลอดเวลา

ในบทต้นๆ พี่อ้อยได้รวบรวมเทคนิคที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการฝึกฝนผัสสะพื้นฐานเพื่อการเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติได้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เช่นการมองแบบมุมกว้างเพื่อกวาดสายตาหาข้อมูล การฝึกฟังเสียงธรรมชาติรอบตัวอย่างตั้งใจ และทดลองวาดแผนที่เสียง การฝึกดมกลิ่นเพื่อเชื่อมโยงถึงความทรงจำในถิ่นฐานที่ฝังลึก หรือแม้แต่ฝึกดมและแยกแยะกลิ่นต่างๆ แบบหมา เช่นดมใกล้ๆ สูดดมแรงๆ บันทึกความทรงจำของสถานที่ด้วยกลิ่น การฝึกใช้กายสัมผัสเพื่อรับรู้ความเป็นไปของสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้นที่แตกต่าง การฝึกเคลื่อนไหวสร้างสมดุลในการทรงตัว ฝึกเดินเบาๆแบบสุนัขจิ้งจอก แล้วฝึกนำเอาทุกผัสสะมาเชื่อมโยงใช้ในชีวิตประจำวัน

การข้ามให้พ้นโซนผัสสะ หรือการรับรู้ถึงกระแสพลังงานละเอียดในร่างกาย เป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้จากการนั่งสมาธิ ภาวนา เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบที่อาจท้าทายความเชื่อคนจำนวนมากเพราะเรายังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัด แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการอ้างว่ามีความสามารถพิเศษที่เชื่อมต่อกับอำนาจที่มองไม่เห็น มีญาณรับรู้เหนือคนทั่วไป ทำให้ยิ่งเป็นอุปสรรคและปิดกั้นการเรียนรู้ด้านนี้ของมนุษย์ แม้ในทางวิทยาศาสตร์จะเริ่มอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ในระดับควอนตัมที่การดำรงอยู่ของเราเป็นทั้งคลื่นพลังงานและอนุภาคสลับไปมา

พี่อ้อยแนะนำให้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์มาช่วย ด้วยการฝึกสังเกตและบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยยังไม่ต้องวิเคราะห์หรือตัดสิน เมื่อทำบ่อยๆ เราจะเริ่มเห็นรูปแบบ แนวทาง เก็บเป็นสถิติ ฝึกจนเริ่มเข้าใจความหมาย และอาจเป็นหนทางไปสู่การเข้าถึงพลังชีวิต หรือพลังเกรซของพระเจ้าที่ช่วยชุบชีวิตในภาวะที่จิตตกต่ำถึงที่สุด มันอาจเกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น การรำมวยจีน เล่นโยคะ หรือการนั่งวิปัสสนา ที่ช่วยให้เรารับรู้ถึงความว่างเปล่าอันไพศาล เชื่อมต่อกับพลังของสรรพสิ่ง การเคลื่อนไหวที่สอดรับกับท่วงทำนองของธรรมชาติอาจเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงเกรซ แหล่งกำเนิดพลังชีวิต ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่อาจมีความสามารถในการเข้าถึงได้อยู่แล้ว

บทที่น่าประทับใจต่อมาว่าด้วยปัญญาเดรัจฉาน หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญญาและการรับรู้ของสัตว์ ซึ่งความจริงมีตัวอย่างการศึกษามากมายโดยนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสื่อสารของและวัฒนธรรมของสัตว์ในธรรมชาติ พี่อ้อยได้หยิบยกตัวอย่างหมาป่าหลายเลข 21 จากหนังสือ Beyond Words: what animals think and feel ของคาร์ล ซาฟินา ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกเล่มหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องปัญญาของสัตว์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาในการสื่อสาร การเฝ้าสังเกตสัตว์หรือพืชอย่างใกล้ชิดจริงๆ จะเริ่มทำให้เราเห็นถึงลักษณะนิสัยที่มีความเป็นปัจเจก ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในความพยายามสื่อสารข้ามสายพันธุ์ ที่เชื่อกันว่าอาจเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ในทุกวัฒนธรรม

ในหนังสือได้พูดถึง Anna Breytenbach นักสื่อสารข้ามสายพันธุ์อาชีพที่อธิบายว่า จริงๆ แล้วการสื่อสารกับสัตว์หรือพืช เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีทักษะติดตัวมา วิทยาศาสตร์ควอนตัวช่วยอธิบายการถ่ายทอดพลังงานและความคิด ในลักษณะของโทรจิต (telepathy) นั้นเป็นไปได้อย่างไร แต่การฝึกฝนก็ไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคอย่างเดียว เพราะมันเป็นการสื่อสารที่ต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจ ต้องใช้หัวใจในการรับรู้และรับฟังสิ่งที่สัตว์หรือพืชต้องการที่จะสื่อออกมา

ความสามารถในการพูดคุยกับสัตว์มักถูกมองว่าเป็นความเชื่อ เพราะสัตว์จะเข้าใจภาษาคนได้อย่างไร แต่มีหลายกรณีศึกษาที่เมื่อคนพยายามสื่อสารและรับฟังด้วยหัวใจ เราสามารถทำให้สัตว์เข้าใจได้ เช่นกรณีชาวบ้านที่ถูกช้างเข้ามาบุกกินพืชผลทางการเกษตร เรามักได้ยินเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องตรงกันว่าชาวบ้านที่พยายามอธิบายดีๆ ว่าขอให้ช้างไม่สร้างความเสียหายมากเกินไป แบ่งเอาพืชผลไปกินได้บ้างแต่อย่าเหยียบย่ำทำลายทั้งหมด มักอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างสันติมากกว่า ตรงข้ามกับบางคนที่ชอบพูดท้าทายและใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แน่นอนว่ายังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดและอธิบายไม่ได้ แต่ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อว่าสัตว์ป่าที่เฉลียวฉลาดอย่างช้างรับรู้อารมณ์และการแสดงออกของเราได้เช่นกัน

อีกตัวอย่างที่น่าทึ่งมากๆ คือการค้นพบโครงข่าย Wood Wide Web ซึ่งเป็นโครงข่ายเส้นใยราใต้ดินที่เชื่อมต่อกับรากของต้นไม้ทั้งป่า ภายในโครงข่ายอันสลับซับซ้อนมีการส่งข้อมูลและสสาร เช่นสารอาหารอย่าง คาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส น้ำ ไปจนถึงสัญญาณป้องกันตัวเอง ล่าสุดเมื่อต้นปี 2022 มีการถอดรหัสจังหวะกระแสไฟฟ้าที่โครงข่ายเส้นใยราส่งถึงกัน พบว่ามีลักษณะเหมือนกับภาษา มีการจัดเรียงประโยค ไม่ต่างจากภาษามนุษย์มากนัก

ต้นไม้ดูจะมีหน้าที่พิเศษในสังคมนอกเหนือไปจากบทบาททางกายภาพที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสภาวะต่างๆ อาทิ แปรพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานเคมี รักษาบรรยากาศโดยเก็บกักคาร์บอนและปล่อยออกซิเจน ในขณะที่มันเชื่อมต่อฟ้าดิน มันยังเป็นผู้เก็บรักษาความรู้บางอย่าง เพราะมันไม่เคยตัดขาดไปจากแหล่งพลังชีวิตดั้งเดิมเลย‘ (น.111) 

การพยายามศึกษาวิจัยด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ช่วยทำให้เรามีความเข้าใจกลไกการทำงานของธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นอกจากการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราเองก็ควรอนุญาตให้ใจได้รู้สึกมากขึ้น พัฒนาความละเอียดอ่อนทางจิตวิญญาณให้มากขึ้น และเก็บรักษาหัวใจของผู้เริ่มต้น (beginner’s mind) เอาไว้ให้ได้ มันคือความรู้สึกสดใหม่ อัศจรรย์ใจกับสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นครั้งแรก เอาเข้าจริงหากมองสิ่งต่างๆด้วยหัวใจ ธรรมชาติรอบตัวเรามีความสดใหม่เสมอ ‘ฉันเพิ่งจะเรียนรู้ว่าเราต้องพยายามหัดฟังต้นไม้และชีวิตอื่นๆ รอบตัวให้มากขึ้น ไว้ใจในปัญญาของมัน เช่นเดียวกับการรับฟังเสียงของผู้คนต่างๆ ในสังคม‘ (น.129)

ฟังดูอาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อในเชิงวิวัฒนาการสำหรับมนุษย์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่ในแง่มุมของจิตสำนึก นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้ว อย่างที่ James Gustave Speth นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมผู้ก่อตั้งองค์กรปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource Defense Council – NRDC) เคยกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า

ผมเคยคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดคือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การล่มสลายของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมเคยคิดว่าด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่เรามีตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ผมเข้าใจผิด ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดคือ ความเห็นแก่ตัว ความโลภ และความไม่สนใจแยแสต่างหาก ซึ่งการจะแก้ปัญหาเหล่านั้น เราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อย่างเราไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร” 

การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาตินอกจากจะต้องอาศัยเครื่องมือทางสังคมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว เรายังจำเป็นต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ผ่านผัสสะและการสื่อสารที่ลึกซึ้งกว่าเดิม

จะว่าไปนี่คือวาระระดับโลกที่กำลังได้รับความสนใจ ท่ามกลางวิกฤตการสูญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกได้มีฉันทมติร่วมกันแล้วว่า เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเข็มทิศการพัฒนากลับมาสู่ความยั่งยืน และต้องหยุดยั้งการทำลายธรรมชาติทุกรูปแบบ

หนึ่งในความหวังและทางออกที่ยั่งยืนที่สุดคือความรู้ที่มาพร้อมกับความรัก เราต้องสร้างคนแบบมนุษย์กาญ่า ที่นอกจากจะมีความรู้สมัยใหม่ว่าด้วยการอนุรักษ์แล้ว ยังจำเป็นต้องรื้อฟื้นทักษะดั้งเดิมของบรรพบุรษที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ รู้จักให้เกียรติกับชีวิตอื่นๆ พร้อมกับสนับสนุนให้สังคมมนุษย์อยู่ร่วมกับชีวิตอื่นๆได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

พี่อ้อยไม่เพียงถ่ายทอดความรู้และความเชื่อจากประสบการณ์ออกมาอย่างงดงามผ่านตัวอักษรในหนังสือมนุษย์กาญ่า แต่ยังได้ลงมือฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติด้วยการพลิกฟื้นผืนดินและสายน้ำในทุ่งน้ำนูนีนอย สภาพดินและน้ำที่ผ่านการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีอย่างหนักหน่วงมายาวนานต้องใช้เวลาหลายปีในการเยียวยา เริ่มต้นด้วยการปลูกพืชบำรุงดินและงดการใช้สารเคมีทุกชนิด ออกแบบบ่อพักน้ำแต่ละจุดเพื่อบำบัดน้ำเสียโดยการเลียนแบบธรรมชาติ ปล่อยให้พงแขมและพืชน้ำพื้นถิ่นได้กลับมางอกงามอีกครั้ง พี่อ้อยและนักนิเวศอาสาใช้การสำรวจแมลงน้ำและแมงมุมเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เมื่อระบบนิเวศเริ่มฟื้นฟูกลับมา นกสารพัดชนิดก็พากันจับจองที่ทางราวกับชาวบ้านร้านถิ่น ตั้งแต่เหยี่ยวด่างดำขาววัยรุ่นโฉบหากินในทุ่งนา นกอีล้ำที่เชื่องเหมือนไก่บ้าน กระติ๊ดขี้หมูตัวกลม จาบคาเล็กผู้ปราดเปรียว กินปลีคอแดง นกสีชมพูสวน นกกระจิบหญ้าสีเรียบ และสมาชิกเป็ดแดงที่เริ่มคุ้นเคยและเข้ามาอาศัยอยู่ในบึง

ชีวิตที่นี่มีพลังและท่วงทำนองจนน่าอิจฉา อาจเป็นเพราะดอยหลวงคอยส่งต่อพลังที่อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ขอบคุณการมีอยู่ของทุ่งน้ำนูนีนอยและหนังสือมนุษย์กาญ่า ความพยายามที่ทำให้เชื่อว่า มนุษย์ขอคืนดีกับธรรมชาติได้และธรรมชาติยังพร้อมให้โอกาสใหม่กับเราเสมอ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save