fbpx

จากครูเปาะสูถึงชาวบ้านนักอนุรักษ์

หากเรารู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชน ผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ถูกจับติดคุกเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะตัดสินใจหนีเข้าป่าทางภาคอีสาน จับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายอำนาจรัฐ จนเสียชีวิตในราวป่าเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน และกลายเป็นวีบุรุษของประชาชนผู้โหยหาสิทธิเสรีภาพมาตลอด

ครูเปาะสู ก็เป็นวีรบุรุษของชาวไทยมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้เช่นกัน

หลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนเดินทางไปจังหวัดยะลา มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเกิดของครูเปาะสู หรือเปาะฐ วาแมดิซา ผู้นำชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองตีตราว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ในยุคที่สังคมไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของอุดมการณ์การเมือง 

เปาะสู วาแมดิซา อดีตเป็นครูประชาบาลโรงเรียนบ้านจะรังตาดง ตำบลท่าธง จังหวัดยะลา เป็นปัญญาชนมลายูปาตานีในยุคสมัยนั้น ด้วยความมีอาชีพครูอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลปืนเที่ยง จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่พึ่งที่เรียกว่าเป็นพ่อพระของชุมชนชาวมลายูปาตานีที่ขาดความรู้ภาษาไทย มักถูกกลั่นแกล้ง โดนเอารัดเอาเปรียบจากข้าราชการที่แสวงหาผลประโยชน์จากประชาชนผู้ด้อยโอกาส  

จากการที่เป็นคนปกป้องชาวบ้านให้พ้นจากการถูกคุกคามข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่บ่อยครั้งนี้เอง พิษภัยจากกฎหมายที่เป็นผลผลิตของเผด็จการจึงเล่นงานท่านอย่างไร้มนุษยธรรม กล่าวคือ เมื่อประมาณปลายปี 2508 ท่านถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาภัยสังคมร่วมกับชาวมลายูปาตานีที่ประสบชะตากรรมรวมทั้งหมด 28 คน

ในที่สุดอัยการโจทก์ได้ถอนฟ้องคดี ปล่อยให้จำเลยถูกจำคุกฟรีเกือบสองปี

เมื่อออกจากคุก ท่านได้เข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐอยู่พักหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่หวาดผวาของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในที่สุดออกมามอบตัว และใช้ชีวิตอย่างสงบเงียบในบ้านพัก ก่อนจะจากไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

ในสายตารัฐบาล เปาะสูคือโจรแบ่งแยกดินแดน แต่ในสายตาชาวมลายูปาตานี ครูเปาะสูคือวีรบุรุษของชาวมุสลิมในฐานะเป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมภาคใต้

ทุกวันนี้ชาวบ้านจะรังตาดง บ้านเกิดของครูเปาะสู ได้สืบทอดเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ด้วยการตั้งกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสายสำคัญที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำไหลผ่านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร

หมู่บ้านแห่งนี้ถือว่าเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งหนึ่งของประเทศ กว่าผู้เขียนจะเดินทางเข้าไปถึง ต้องผ่านด่านตรวจหลายด่าน มีทหารถืออาวุธสงคราม สะท้อนร่องรอยความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านท้องถิ่นในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

เราไปเยี่ยมกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี แห่งหมู่บ้านจะรังตาดง ตั้งอยู่ในชุมชนเก่าแก่พื้นที่ตอนกลางแม่น้ำสายบุรี ถิ่น ‘พรุลานควาย’ พรุน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 หมู่บ้าน 3 อำเภอ 2 จังหวัด คือจังหวัดปัตตานีและยะลา ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในภาคใต้ตอนล่าง เลื่องลือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

พรุแห่งนี้เป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นที่ทำนา เมื่อถึงหน้าน้ำก็เป็นที่จับปลา ช่วงน้ำหลาก น้ำท่วมพรุจะทำหน้าที่เหมือนแก้มลิงช่วยบรรเทาน้ำท่วม กักเก็บปุ๋ย ตะกอน และช่วยกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ลักษณะของพรุจะมีระบบป่าพรุ สายคลอง ที่ลุ่ม และแอ่งน้ำช่วยชะลอน้ำไว้ แล้วปลดปล่อยให้น้ำระบายลงสู่แม่น้ำลำคลองอย่างช้าๆ ทำให้มีน้ำในแม่น้ำลำคลองได้ตลอดทั้งปี พอฤดูแล้งน้ำลด กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มาแต่โบราณ โดยเฉพาะควาย จนมีชื่อว่า ‘พรุลานควาย’ ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่าพรุที่นี่คือที่ที่มีน้ำขัง รกร้างไม่ใช้ประโยชน์ ไม่สามารถทำอะไรได้

ทุกวันนี้พรุลานควายจึงมีโครงการต่างๆ มาผลาญเงินใช้งบประมาณจำนวนมาก ในนามของ ‘การพัฒนา’ แต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์กับชาวบ้าน ทั้งยังทำลายระบบนิเวศของพรุลานควายไปเรื่อยๆ จากการทำเขื่อน ถมดิน ระบายน้ำออก ฯลฯ จนทำให้กลุ่มอนุรักษ์แห่งนี้ต้องออกมาคัดค้านเรื่อยมา

ปราชญ์ชาวบ้านคนหนี่งเคยพูดถึงโครงการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ในพรุว่าเป็นการฟอกเงินงบประมาณ และพูดเป็นเชิงเปรียบเทียบว่า 

“ไก่เดินมาเกิดรอยเท้าไก่ แพะเดินมาเกิดรอยเท้าแพะ ควายเดินมา รอยเท้าควายจะช่วยกลบทั้งรอยเท้าแพะและรอยเท้าไก่” หมายถึงการทำโครงการซ้ำที่ซ้ำทาง ตรวจสอบการโกงไม่ได้ มีการคบคิดกันซับซ้อน พรุจึงกลายเป็นแหล่งโกงเงินงบประมาณของแผ่นดินที่สะดวกและง่ายที่สุดโดยเฉพาะการขุดลอกแหล่งน้ำซึ่งสร้างหายนะให้กับชาวบ้านอยู่เนืองๆ 

กอเซ็ง อาบูซิ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรี เล่าแนวคิดของพวกเขาให้ฟังว่า

“ชาวบ้านเขารู้จักว่าพรุเป็นแบบนั้นแบบนี้เพราะคลุกคลีมานาน เขาก็ลงไปจับปลา เขารู้ว่ามีปลากี่ชนิด มีพืชน้ำอะไรบ้าง ป่าในพรุมีต้นไม้กี่ชนิด ชนิดไหนทนน้ำ ชนิดไหนไม่ทนน้ำ พรุเองก็มีชีวิต เปรียบเหมือนมีปาก กระเพาะ ลำไส้ ทวารหนัก ถ้าหน่วยงานไม่เข้าใจก็จะมาปิดปาก ปิดทวาร ทำให้พรุไม่มีทางเข้า-ออก อาจจะตายได้ นี่แหละที่ผมคิดว่าชาวบ้านเข้าใจพรุมากกว่าหน่วยงานที่เข้ามาจากข้างนอก”

กอเซ็งชวนผู้เขียนไปร่วมวงกวนขนมอาซูรอ ขนมชาวไทยมุสลิมทำขึ้นในวันที่ 10 เดือนมุฮัรร็อม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับ ขนมชนิดนี้นำส่วนผสมหลายอย่างมากวนให้เป็นเนื้อเดียวกันคล้ายขนมเปียกปูน อาทิ เครื่องแกง ข้าวสาร น้ำตาล กะทิ  มัน กล้วย ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ ฯลฯ เมื่อเสร็จแล้วจะกล่าวขอพรพระเจ้า แล้วจึงแบ่งขนมไปกินกัน 

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน กลุ่มอนุรักษ์นี้เป็นแกนนำในการคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรี ร่วมกับกลุ่มสมัชชาคนจน ต่อสู้คัดค้านจนทางการต้องยอมชะลอโครงการออกไปไม่มีกำหนด มาบัดนี้พวกเขาก็พร้อมจะต่อสู้เพื่อพรุลานควาย พื้นที่ส่วนรวมที่กำลังถูกรุกรานจากหน่วยงานพัฒนาของทางราชการ

ทุกวันนี้พวกเขายังทำงานอนุรักษ์แม่น้ำสายบุรีมาตลอด ทำวังปลา แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา ปลูกต้นไม้กลางพรุลานควาย 

พวกเรามาเยี่ยมให้กำลังใจ พี่น้องชาวมุสลิมทั้งหญิงชายผู้ใหญ่ เยาวชนที่ยังยืนหยัดอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น แบบกัดไม่ปล่อย แม้จะถูกทางการเพ่งเล็งว่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง

ขากลับผู้เขียนเดินสวนทางกับทหารพรานกลุ่มหนึ่ง ที่แอบมาสังเกตการเคลื่อนไหวในหมู่บ้านนี้อย่างเงียบๆ จากประวัติการต่อสู้ของครูเปาะสูในอดีต ที่ทำให้ทางการไม่ค่อยวางใจมากนัก

จังหวัดยะลายังมีเรื่องน่าสนใจของคนตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนรับรู้มากนัก จากข่าวความรุนแรงที่กลบเรื่องราวอื่นๆ จนแทบหมดสิ้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save