fbpx
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ : วันที่โลกนับถอยหลัง รัฐธรรมนูญต้องไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ : วันที่โลกนับถอยหลัง รัฐธรรมนูญต้องไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ในสังคมที่ผู้คนใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า แน่นอน เรามองหากฎหมายที่เป็นธรรม เรียกร้องให้มีหลักการพื้นฐานที่โอบอุ้มสิทธิเสรีภาพ ช่วยให้ผู้คนหายใจต่อไปได้อย่างมั่นคง แต่หากเขยิบออกมามองให้ไกลกว่าเดิม สังคมที่เราอาศัย ดีหรือชั่ว ล้วนพักพิงอยู่กับสิ่งแวดล้อมโลกที่กำลังนับถอยหลัง

รัฐธรรมนูญไทยปี 2540 และ 2550 เคยบัญญัติสิทธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเอาไว้ โดยคุ้มครองให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษาและได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง

แต่แล้ววันนี้ ‘สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ถ้อยคำที่ยืนยันคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้อ้อมกอดสิ่งแวดล้อม ได้ถูกตัดทิ้งไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560

101 มีโอกาสสนทนากับ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว บุคคลที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายขวบปี ผลักดันโครงการที่มุ่งรักษาธรรมชาติ ทั้งโครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม, พลเมืองเปลี่ยนกรุง, โครงการจักรยานกลางเมือง และอีกมากมาย

ในฐานะที่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ไปพร้อมกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เธอได้ชี้ให้เห็นใจความสำคัญที่น่าใจหายว่า วันนี้โลกกำลังเข้าสู่การสูญพันธ์ุครั้งยิ่งใหญ่ หากสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย โดยที่ประชาชนเองไร้สิทธิในการปกป้องดูแล รัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ ก็อาจสูญสลายไปพร้อมกับโลกใบนี้เช่นกัน

“มนุษย์เป็นเพียงสัตว์” เธอย้ำตลอดการสนทนา และสังคมที่ดีอาจเป็นเพียงแค่ฝัน หากมนุษย์ไม่เคยเล็งเห็นความสำคัญของธรรมชาติ และชีวิตประเภทอื่นๆ นอกจากตัวเอง–และผลประโยชน์ของตัวเอง

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นอย่างไร มองไปข้างหน้ามีวิกฤตอะไรบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้น

ข้อมูลหนึ่งที่ใช้อธิบายวิกฤตสิ่งแวดล้อมได้ดีคือ Planetary Boundaries หรือข้อมูลเชิงภาพเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามรวบรวมเป็นภาพเดียว เพื่อความสะดวกแก่ผู้บริหาร นักการเมือง ผู้นำประเทศ ในการเข้าใจว่าสถานการณ์โลกตอนนี้เป็นอย่างไร โดยแบ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นโซน และแบ่งสีเพื่อสะท้อนความรุนแรงของปัญหา

 

Planetary Boundaries: A safe operating space for humanity 2015
Planetary boundaries 2015. ที่มาภาพ

 

โซนสีเขียวคือระบบนิเวศปกติที่สรรพชีวิตทำงานร่วมกันโดยมีความสมดุลและความยืดหยุ่นอยู่สูง คล้ายกับเวลาเวลาเราเจอเชื้อโรคที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน พอเราไปนอนพักฟื้นก็ดีขึ้น สามารถรับมือและรักษาสมดุลให้กลับมาแข็งแรงได้ในระดับหนึ่ง

ปัญหาคือ พอปัญหาสะสมมากเกินไป กลไกที่มีก็รับมือไม่ไหว ธรรมชาติจึงเริ่มผันผวน เข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่เราคาดการณ์ไม่ได้ เช่น หากเราคาดการณ์ได้ว่าช่วงนี้มีมรสุม เราจะรู้แล้วว่าต้องปลูกข้าวเมื่อไหร่ แต่เมื่อความสมดุลล่ม เช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว ช่วงที่ฝนเคยตกก็ไม่ตก ช่วงที่เคยแล้งก็ไม่แล้ง ถือว่าเข้าสู่ภาวะเสี่ยง จัดอยู่ในโซนสีเหลือง เป็นภาวะที่แย่แล้ว ต้องรู้ตัวและรีบแก้ สถานการณ์ที่อยู่ในโซนนี้ประกอบไปด้วยการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ และภาวะโลกร้อน

ส่วนโซนสีแดงคือกู่ไม่กลับ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรนิ่งเฉย เพราะมันยังสามารถแดงเถือกจนมืดสนิทได้ สถานการณ์ที่อยู่ในโซนสีแดงตั้งแต่ปี 2015 คือเรื่องการสูญพันธ์ุ หรือการขาดความสมบูรณ์ของชีวมวล และเรื่องมลภาวะจากปุ๋ย ปัจจุบันคนยังไม่ค่อยตื่นตัวกับปัญหาในโซนสีแดง ทั้งที่เป็นการสูญพันธุ์ยิ่งใหญ่ครั้งที่ 6 ของโลก ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นเมื่ออุกกาบาตพุ่งชนแล้วไดโนเสาร์ก็สูญพันธุ์ แต่การสูญพันธ์ุคราวนี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์

 

ดูเหมือนสถานการณ์เรื่องมลภาวะจากปุ๋ยซึ่งเป็นสถานการณ์ร้ายแรงจะไม่ค่อยถูกพูดถึงเลยในประเทศไทย ภาพรวมของสถานการณ์นี้เป็นอย่างไร

เรื่องผลกระทบจากปุ๋ย ในไทยไม่มีการพูดถึงเลยอย่างน่ามหัศจรรย์ ปัญหาเริ่มจากเราไม่ได้ปกป้องลำน้ำ และใช้ปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปในการทำเกษตรกรรม

ธรรมชาติของพืชจะต้องการไนโตรเจน ซึ่งไนโตรเจนอยู่ในอากาศ พืชเอามาใช้เองไม่ได้ ก็ต้องไปพึ่งจุลินชีพ เช่น รา แบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ในดิน พวกนี้จะแปรไนโตรเจนในอากาศมาเป็นไนเตรท NO3 ซึ่งอยู่ในภาวะที่ละลายน้ำได้ พอละลายน้ำได้พืชก็ดูดขึ้นมาใช้ได้เป็นสารอาหาร

แต่ปัจจุบันเมื่อคุณเอาปุ๋ยไนเตรทสำเร็จรูปที่ผลิตจากน้ำมันมาละลายน้ำให้พืช พืชก็คล้ายเด็กโดนสปอยล์ เลิกเอาน้ำตาลไปเลี้ยงจุลินชีพในดิน ดินก็ตายในที่สุด และเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น โครงสร้างดินพังพินาศ จุลินชีพตายทำให้ไส้เดือนไม่มา ไม่เหลือสิ่งมีชีวิตที่คอยดูดซับสารอินทรีย์ สารพัดสารอาหารและน้ำเก็บไว้ พอฝนตกลงมาก็ชะสารอินทรีย์ที่ค้างในดินไปสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำลำธาร และกลายเป็นมลภาวะ

ตอนนี้ ในทะเลเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Dead Zone (พื้นที่มรณะ) จากปุ๋ย เพราะเมื่อสารอินทรีย์ลงมาในน้ำเยอะๆ ก็จะเกิด Plankton Bloom หรือปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นผลมาจากการที่แพลงก์ตอนพืชบางชนิดได้รับธาตุอาหารในปริมาณมากกว่าปกติ แพลงก์ตอนพวกนี้ก็เน่า มีแบคทีเรียมากิน และดึงออกซิเจนจากน้ำไป จึงกลายเป็น Dead Zone ที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอาศัยอยู่ได้ และตอนนี้ Dead Zone กำลังขยายตัวเพิ่มเป็น 4 เท่า

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

ในต่างประเทศเขากระตือรือร้นกับปัญหาโซนสีแดงมากกว่าเราขนาดไหน

30 ปีก่อน กฎหมายในยุโรปกำหนดให้เว้นพื้นที่สำหรับพืชริมน้ำ ให้เป็นแนวกันชนดูดซับสิ่งที่มาจากดินก่อนลงสู่น้ำ และยังเป็นที่วางไข่ เป็นที่หลบภัยของสัตว์ชายน้ำต่างๆ พื้นที่แบบนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์อย่างดีที่ช่วยป้องกันแหล่งน้ำ

นี่คือสิ่งที่บ้านเราไม่ได้พูดถึง แต่ประเทศยุโรปเขาเถียงกันไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน ซ้ำร้ายบ้านเรายังมีภาษีที่ดินมาซ้ำเติมปัญหา ภาษีนี้จะทำโทษพื้นที่รกร้าง เพราะใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์เก่าๆ คิดว่าประโยชน์คือสิ่งที่มนุษย์สร้าง ปลูกพืชเชิงเดี่ยวยังดีกว่าปล่อยพื้นที่รกร้าง หรือเห็นดีเห็นงามกับการสร้างคอนโดฯ เพราะเขาสนเพียงเม็ดเง็นในกระเป๋า ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้อาจมีประโยชน์และคุณค่าในเชิงนิเวศ

จะเห็นว่าวิธีคิดของผู้มีอำนาจทางกฎหมายในบ้านเราไม่ทันสมัย ไม่เข้าใจว่าชีวิตอื่นก็มีสิทธิ ความหลากหลายทางชีวภาพคือพืชและสัตว์นานาชีวิตที่มีความสัมพันพันธ์กันเกินกว่าจินตนาการของเราจะไปถึง สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความสำคัญคล้ายกับอาชีพที่หลากหลายในสังคม หากคุณขาดนางระบำหน้าท้องไป เราอาจยังอยู่ได้ เพียงแต่ขาดสีสัน แต่หากคุณเริ่มขาดหมอไป คิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรล่ะ

ตอนนี้เราสูญเสียชีวิตของเพื่อนร่วมโลกไปเยอะมาก คิดเป็นหนึ่งพันเท่าของอัตราการสูญพันธุ์ปกติ เรียกว่าอยู่ในขั้นพิกลพิการแล้วนะโลกใบนี้ ซึ่งเราต้องเรียนรู้และยอมรับ แต่เรายังมีโอกาสอีก 10 ปีสุดท้ายที่จะรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ ทางออกคือหยุดการทำลาย มีอีกไม่ได้แล้วนะกรณีอย่างเขื่อนไซยะบุรี และถ้าให้ดีคือควรรื้อทิ้ง อะไรก็ตามที่ทำลายต้องหยุด แล้วต้องฟื้นฟูธรรมชาติใหม่ทุกหนทุกแห่ง

 

หลายคนอาจเคยชินกับการจัดการทรัพยากรแบบที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ โดยไม่เห็นภาพว่าการจัดการที่ดีกว่าควรจะเป็นอย่างไร กระทั่งรัฐธรรมนูญจะมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร คุณจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

เราต้องเข้าใจหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนก่อน ที่ผ่านมา 30 ปีสังคมเราจะพูดถึงการพัฒนาว่าต้องมี 3 ขา คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันขาเศรษฐกิจจะบวมโต และมีอำนาจมากกว่า แต่มันไม่ถูกต้อง สังคมและเศรษฐกิจจะอยู่รอดได้เมื่ออยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ต้องอย่าลืมว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์ที่อยู่ใต้การเกื้อหนุนของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกที่ทำงานร่วมกัน ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ มีออกซิเจนหายใจ ซึ่งออกซิเจนเราก็ไม่ได้ผลิตเอง แต่มาจากต้นไม้ สาหร่าย แพลงก์ตอน พืชทะเล

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นแล้วว่าสิ่งแวดล้อมเริ่มไม่เอื้อ เริ่มไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนายั่งยืนจึงหมายความว่าระบบเศรษฐกิจของเราต้องเปลี่ยน ต้องเป็นระบบที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ (Green Economy) คือการหาวิธีใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และการไม่เบียดเบียนธรรมชาติจะขับเคลื่อนได้ในสังคมที่เป็นธรรมเท่านั้น

ปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมตอนนี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการที่คนเพียงหนึ่งหยิบมือใช้ทรัพยากรโลกแบบมหาศาล ทรัพยากรครึ่งหนึ่งไปอยู่ที่คนจำนวน 1% สำนวนฝรั่งเขาเรียกว่า ‘Tragedy of the Commons’ หรือโศกนาฏกรรมของสาธารณะสมบัติ เช่น การทำลายแม่โขงสายเดียวที่หล่อเลี้ยงคนเกือบร้อยล้าน ทำลายพืชและสัตว์ที่คอยดูแลคนอีกตั้งเท่าไรในแง่บริการเชิงนิเวศ เมื่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่แม่โขง ผลประโยชน์เข้ากระเป๋าคนกี่คน นี่คือการทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อไปเกื้อหนุนคนจำนวนเท่าเศษกระผีก แล้วคนที่เหลือก็พังพินาศกันหมด

ตอนนี้สถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหม่ เรามีคนเยอะขึ้น แต่ทรัพยากรลดน้อยลง จากตอนแรกที่มีจำกัดอยู่แล้วตอนนี้ก็ยิ่งจำกัด เพราะคนรุ่นเราก็ใช้กันแบบตะบี้ตะบัน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมมากขึ้น ขณะเดียวกันคนทุกคนก็เริ่มเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ทางออกเดียวคือต้องจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบเศษฐกิจใหม่ ให้เราใช้ทรัพยากรในแบบที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและเกื้อหนุนกัน โดยหลักการเหล่านี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

รัฐธรรมนูญในฝันของคุณที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน 

รัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มาช่างละเอียด ยิบย่อย ลงลึกไปถึงรายละเอียดของยุคสมัย ทั้งที่มันน่าจะเป็นอะไรที่ง่าย และเป็นหลักการมากกว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นฉันทามติของมนุษย์ ของสังคม ต้องเป็นสากล และเป็นของคนทุกกลุ่มทุกก้อน แน่นอน เราจะต้องพูดถึงเรื่องสิทธิของความเป็นธรรม หรือสิทธิในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เช่น เรื่องความปลอดภัยในร่างกาย สิทธิที่จะเลือกตั้งหนึ่งเสียงเท่ากัน หรืออย่างในอเมริกาก็มีเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) คือเป็นหลักง่ายๆ ที่ทุกคนเข้าใจและเกี่ยวข้องกับชีวิต อย่างไรก็ตาม เราต้องคิดถึงมันภายใต้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วย

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเขามองว่าเวลาของโลกอาจเหลือน้อยกว่า 10 ปี เรียกว่าเป็นหน้าต่างบานสุดท้าย หลายๆ อย่างเราแก้ไขไม่ได้แล้ว เนื่องจากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์เตือนว่านี่คือโอกาสสุดท้ายในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีใครฟัง ยังตะบี้ตะบันใช้ทรัพยากรโลกกันไป จนตอนนี้มาถึงจุดที่หวนกลับไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ขณะนี้สภาพของมนุษย์ ระบบนิเวศ หรือสิ่งแวดล้อมโลก มีสภาพเหมือนคนป่วยหนัก ป่วยหนักไม่ได้แปลว่าไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือยังสามารถที่จะอยู่ได้ เพียงแต่เหลือเวลาน้อยมาก แปลว่าเราอยู่ในยุคที่ต้องหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องฟื้นฟูธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ต้องฟื้นฟูทุกหนแห่ง มิใช่แค่ที่อุทยานแห่งชาติ เมือง หรือพื้นที่การเกษตรเท่านั้น รัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนที่จะเกื้อหนุนคุณภาพชีวิตคนจึงสำคัญมาก

ในด้านสิ่งแวดล้อม เราเคยเห็นรัฐธรรมนูญสองแนว แนวแรกคือแบบประเทศเคนยา ที่กำหนดว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งถูกนำไปตีความออกมาเป็นเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องอากาศ และมีกฎหมายลูกตามมาเช่น กฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act)

รัฐธรรมนูญแบบเคนยามันเวิร์กตรงที่เป็นกติกาของมนุษย์ ต้องสื่อสารกับมนุษย์ และมนุษย์จะเป็นตัวออกแอคชัน แต่ก็ยังมีรัฐธรรมนูญอีกแนวหนึ่ง เช่น รัฐธรรมนูญแบบเอกวาดอร์ นิวซีแลนด์ ที่กำหนดว่าธรรมชาติมีสิทธิที่จะดำรงอยู่ด้วยตัวของมันเองอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า ‘intrinsic rights’ ฉะนั้น เขาจึงสามารถลุกขึ้นมาฟ้องร้องแทนธรรมชาติได้

จริงๆ วิธีคิดทั้งสองมีเจตนาคล้ายกัน ในด้านหนึ่งเราจะรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญแบบเอกวาดอร์ยิ่งใหญ่กว่าในเชิงคำพูด คือธรรมชาติอยู่เหนือเรา เขามีสิทธิเป็นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญคือกติกาของมนุษย์ไง ธรรมชาติไม่ได้รู้เรื่องว่าเราจดอะไร เขียนอะไรลงไปในรัฐธรรมนูญบ้าง จะลุกขึ้นมาฟ้องก็ไม่ได้ หากใครไม่แยแสชีวิตของธรรมชาติ ก็จะคอยค้านแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ ทำให้คนห่างไกลจากสิ่งแวดล้อม เช่น การดูแลจัดการแม่น้ำ หรือวิธีการจัดการฝายที่เปลี่ยนไป คนไม่คิดว่าจะสร้างฝายอย่างไรให้น้ำไหล รักษาระบบนิเวศอย่างไรให้ชีวิตที่เคยอยู่ยังอยู่ได้ เป็นผลมาจากการที่มนุษย์ไม่ได้รู้สึกว่าฉันอยู่ได้ด้วยสิ่งนี้ จึงไม่แคร์ชีวิตอื่นๆ เลย

นิวซีแลนด์และอินเดียคือตัวอย่างของประเทศที่บอกว่าแม่น้ำมีสิทธิในตัวมันเอง พอธรรมชาติมีสิทธิในตัวเอง มนุษย์จึงต้องเคารพความเป็นอยู่และโครงสร้างทางกายภาพของระบบนิเวศนั้นๆ ไม่ใช่ลุกขึ้นไปเปลี่ยนแปลง เวลาออกแบบชีวิตตัวเองก็ต้องออกแบบให้อยู่ในพลังที่ขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ เช่น น้ำไหลอยู่ก็อย่าไปกันให้มันนิ่ง เพราะตะกอนซึ่งเป็นสารอาหารจะหายไปด้วย

 

รัฐธรรมนูญไทยในอดีตเคยกำหนดหลักการเรื่องสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไร ถ้ามองสิ่งแวดล้อมในประเทศเราตอนนี้เราควรจะเดินไปในทางใด

รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะใช้คำว่าประชาชน “มีสิทธิดูแลสิ่งแวดล้อม” ซึ่งก็ยังดี ถือเป็นความก้าวหน้า เพราะแปลว่าไม่ใช่ภาครัฐเท่านั้นที่มีสิทธิดูแล แต่แนวทางแบบเคนยาก็ยังแข็งแรงกว่า เพราะเขาใช้คำว่า “มีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี”

ในโลกปัจจุบันเราต้องการการพัฒนาที่เน้นความยั่งยืน หลักการพื้นฐานอย่างรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดกรอบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น สิทธิในการดูแลน่าจะเป็นกฎหมายที่ย่อยลงมามากกว่า เพราะมันจะเริ่มเข้าสู่เรื่องวิธีการอนุรักษ์ หรือเรื่องที่เป็นกลไกเครื่องมือ แต่ข้อกำหนดที่เป็นหลักการชีวิตที่เราตกลงอยู่ร่วมกัน อันนี้สิ คือรัฐธรรมนูญ

เราอยากเห็นการเคารพในการทำงานของระบบนิเวศ การทำงานของธรรมชาติ แต่ก็ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าเขียนแนวไหนเวิร์กที่สุดสำหรับสังคมนั้นๆ เพราะเอาเข้าจริง แนวทางของเอกวาดอร์ดูสวยหรูนะ แต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ขณะที่แนวทางแบบเดียวกันในนิวซีแลนด์มันเวิร์ก ก็ต้องดูความพร้อมและบริบทของสังคมด้วย แต่อย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรเขียนหลักการเหมือนกับว่าคนไทยไม่ต้องหายใจ หรือคนไทยมีปอดเหล็กแข็งแรงเป็นพิเศษ เราก็เป็นสัตว์เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ค่ะ อยากให้ท่องไว้

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

หากระบบเศรษฐกิจและการจัดการของรัฐมีผลอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ในเมืองไทยคุณเห็นการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีอะไรบ้างที่ไม่เกื้อหนุน แต่กลับไปทำลายสิ่งแวดล้อม

ตอนนี้เราเต็มไปด้วยโครงการที่ทำลายธรรมชาติ เรื่องแรกคือภาษีที่ดิน เราเข้าใจเจตนาของกฎหมาย ทุกคนก็พูดถึงการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นธรรม แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปผูกที่ดินกับการใช้ประโยชน์ ใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิมีเสียงในการร่างกฎหมาย ไม่ฟังคนอื่น และปัดเรื่องระบบนิเวศออกไปเลย ทั้งๆ ที่มันยิ่งใหญ่กว่าเรื่องอื่น

เราพยายามเสนอว่าต้องใช้กฎหมาย land trust ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่อังกฤษกับอเมริกาใช้ คือการที่รัฐสามารถยกเว้นบางพื้นที่ไว้เพื่อรักษาธรรมชาติ เช่น เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ หรือใช้เป็นสาธารณประโยชน์โดยการจัดการของมืออาชีพ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ การทำเช่นนี้จะสร้างงานให้นักชีววิทยาและคนมากมาย ทั้งยังได้ละเว้นภาษีเพราะเขาทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อกอบกู้สมบัติสาธารณะ ต่างประเทศก็ใช้แนวทางนี้ คนที่อังกฤษบางคนไม่อยากมาดูแลปราสาทใหญ่โตที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ซึ่งพ่วงมาด้วยภาษีมรดกที่จ่ายไม่ไหว ก็ยกพื้นที่ให้รัฐ กลายเป็นของส่วนรวมที่มีมืออาชีพคอยจัดการ ไม่ใช่แค่ราชการ แต่มีเอ็นจีโอเข้ามาดูแลด้วย

เรื่องอื่นๆ ที่พอจะมองเห็นก็เช่น เรื่องเขื่อน อย่างที่พูดไปแล้ว โครงการเขื่อนบางแห่งของเราทำลายนิเวศน้ำ ทั้งที่ประเทศเรายังไม่มีกฎหมายดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยซ้ำ

หรือการสร้างเมืองเพื่อรถยนต์ส่วนตัว แม้กระทั่งการขนส่งระบบรางก็ต้องอยู่ใต้ดินหรือลอยฟ้า ห้ามแตะพื้นที่ของรถยนต์บนถนน ทำให้เรายังเห็นภาพคนหอบของขึ้นแอร์พอร์ตลิงก์โดยไม่มีบันไดเลื่อนในช่วงแรกๆ ก่อนคนจะออกมาโวย เรายังเห็นคนต้องข้ามถนนโดยใช้สะพานลอย บางคนเถียงว่าไม่ข้ามสะพานลอยก็โดนชนน่ะสิ แปลว่าคุณยอมรับว่าคนขับรถยนต์มีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ที่ดีที่สุดอย่างพื้นราบ แนวคิดเช่นนี้ทำให้รถยนต์กินพื้นที่สาธารณะซึ่งได้มาจากภาษีของเราทุกคน ปล่อยไอเสีย ปล่อย PM 2.5 และสารก่อมะเร็งไปสู่คนอื่น ฉะนั้นทั้งระบบต้องเปลี่ยนวิธีคิด หากคุณยอมรับว่าทุกคนเท่าเทียม ก็ต้องพยายามจัดสรรให้เท่าเทียม คำนวณพื้นที่ต่อคนต่อหัวให้เท่าๆ กัน

อีกเรื่องที่ผิดปกติไปหมดคือการทำ EIA (รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ของโครงการต่างๆ เอาแค่ตามระเบียบที่มีก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว  EIA แบบบ้านเรามักจะมองแค่ผลกระทบจากโครงการนั้นๆ อย่างเดียว ซึ่งผิด เพราะไม่มีใครหรือพื้นที่ใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว มันยังมีพื้นที่รอบๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะสะสม เราจึงต้องพิจารณาบริบทให้ดี เช่น คอนโดฯ โครงการหนึ่งทำโมเดลเสมือนตัวเองอยู่ตรงกลางป่าเขาลำเนาไพร บอกว่าไม่ได้กระทบใคร แต่จริงๆ การมีคอนโดฯ ตึกเดียวเข้ามาก็บังลมบังแดดของพื้นที่ข้างเคียงเกือบหมดแล้ว การวิเคราะห์ผลกระทบจึงต้องดูภาพใหญ่ในระดับภูมิภาค ดูยุทธศาสตร์การทำงานของพื้นที่นั้นๆ ให้รอบคอบ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาขั้นตอนการทำ EIA เต็มไปด้วยการโกงมากมาย คนในพื้นที่มักจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลยจนโครงการผ่าน ได้เริ่มคัดค้านก็เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติแล้ว ประชาชนก็จะถูกถามว่า ก่อนหน้านั้นทำไมไม่ค้าน ถามหน่อยเถอะ ก่อนหน้านั้นประชาชนจะรู้อะไร ในเมื่อไม่มีข้อมูลอะไรให้เลย หรือต่อให้มีก็ชอบเขียนให้อ่านยาก ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเรามีคนทำ EIA ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ คนไหนซื่อสัตย์ก็โดนปลดออก เพราะอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่โปร่งใสอย่างไม่จบสิ้น

 

โครงสร้างการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมต้องการองค์กรหรือระบบที่มีคุณลักษณะแบบไหน

ทางออกเชิงระบบคือการที่เราต้องมีรายละเอียดการจัดการ มองไปถึงระดับภูมิภาค ถึงชีวิตคน เราต้องตรวจสอบเขาได้ ต้องเปลี่ยนระบบให้กว้างขึ้นในการจัดการดูแล และวิธีคิดแบบระบบราชการก็ต้องเปลี่ยนอย่างมาก คือรัฐต้องไม่เป็นเจ้าของไปเสียทุกอย่าง  ปัจจุบันเรามีปัญหามากในการขอจัดสรรดูแลอะไร ทุกอย่างต้องขออนุญาตรัฐ เพราะเขามีสิทธิเหนือเราทุกอย่าง เราไม่ได้หมายความว่าอยากให้ใครทำอะไรก็ได้นะ แต่อย่างที่เห็นว่าตอนนี้ กระบวนการการมีส่วนร่วมไม่มีจริง เอาไว้ประดับประดา อย่างมากก็เอานักวิชาการมาพูด แต่ฟังเสียงคนที่มาเสนออะไรเพียงนิดเดียว ทั้งที่ตอนนี้เรามีทั้งโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีที่สามารถดึงความคิด ดึงไอเดียต่างๆ ไว้ได้มากขึ้นแท้ๆ

ถ้าเรายังเดินต่อไปแบบปัจจุบัน พังพินาศแน่นอน เรามีเวลาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกันอีก 10 ปี ใน 10 ปีนี้เราไม่ควรจะต้องมานั่งสู้กับอะไรแบบนี้แล้ว แต่ควรได้ไปฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเต็มที่

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

 

แม้เราจะต้องอยู่กับโลกที่นับถอยหลังในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่เราพอจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างรัฐธรรมนูญที่เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อมโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เป็นคำถามที่ยาก และเราก็อาจไม่มีคำตอบ ถึงอย่างนั้นก็เป็นคำถามที่ต้องถาม ต้องโยนสู่สังคมเพื่อที่จะบอกว่า เรากำลังเจอกับอำนาจหนึ่งที่หยามใจว่ามัดทุกอย่างเอาไว้

ตอนนี้สังคมเราต้องการความคิดสร้างสรรค์ คิดอะไรได้ก็ต้องคายออกมา และอย่าลืมว่าเรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ โครงสร้างใหม่ๆ มีวิธีเรียนรู้และการสื่อสารแบบใหม่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ถนัด เราต้องการคนรุ่นใหม่ที่จะดิสรัปต์โครงสร้างเดิม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่ว่า ฉันไม่แคร์ระบบโครงสร้าง ฉันจะสร้างระบบของฉันเองจากสายสัมพันธ์เครือข่ายของตัวเอง แม้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมเราจะพยายามพึ่งตัวเองมากที่สุด พยายามสร้างสังคมของคนที่ต่อสู้ในสิ่งเดียวกันได้ แต่ในที่สุดระบบโครงสร้างก็กระทบ เรื่องสิ่งแวดล้อมเองก็กระทบข้ามพรมแดน ข้ามรัฐ เพราะฉะนั้นต้องไปแก้ไขโครงสร้างใหญ่อยู่ดี

เราไม่สามารถคิดหรือทำอะไรภายในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างเดียว แต่ต้อง Think global, act local และต้องมีช่องทางในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิม เพราะฉะนั้นข้อมูลและการสื่อสารจึงเป็นกุญแจสำคัญ เรายังเชื่อว่าการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงจะช่วยโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอน มนุษย์เราไม่ได้มีแค่สมอง ส่วนหนึ่งของมนุษย์เราอยู่ด้วยความรู้สึก เราต้องรู้วิธีที่จะสื่อสารและรู้จักหัวใจคนด้วย ไม่ใช่เอาแต่แข็งกร้าว เพราะถึงจะมีข้อมูลที่ดีแต่หากแข็งกร้าว คนคงไม่อยากฟัง อยากปิดประตูหนี

เราเป็นมนุษย์ ท่องไว้ว่าเราเป็นสัตว์ เราเป็นสัตว์ เราต้องใช้หัวใจ ใช้เจตนาที่ดี และต้องเปิดประตูสร้างเครือข่ายสร้างความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ

 

สิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี แต่ก็เป็นสิ่งที่คุณต่อสู้มาหลายสิบปี ถ้าจะมีสักบทเรียนที่จะมอบให้คนที่จะต้องอยู่บนโลกสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และยังไม่เห็นว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรไหว บทเรียนนั้นคืออะไร

เราเจอคำถามนี้ถี่มากเลย คำถามที่ว่า ยังมีแรงอยู่ได้อย่างไร สิ่งสำคัญมากๆ เลยคือ ถึงเราจะออกมาโวยวายกับปัญหาอย่างนี้ แต่ทุกวันเรายังเชื่อมโยงกับธรรมชาติ  กับนก กับดอกไม้ อย่างน้อยเนื้องานของเราก็เป็นการหาวิธีให้คนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ฝึกอ่าน จัดการ และฟื้นฟูมัน แม้เราจะทำงานนี้มาทั้งชีวิตเพื่อพบว่าวันนึงมีรถถังเข้ามาฉีกกฎหมาย ฉีกหลักการทุกอย่างทิ้ง แม้จะเคยรู้สึกว่า กูไม่มีความหมายเลย แต่เราจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะยังมีสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ที่ต่างชนิดไปจากเรา เราสังเกตเห็นเขา รับรู้การมีอยู่ของเขา และมีปฏิสัมพันธ์กับเขา จนทำให้เรารู้สึกว่า ‘We are connected’ เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

เราอาจจะเป็นคนดุๆ นั่นก็เพราะคิดว่า เราต้องช่วยกันปกป้องสิ่งที่ถูกรังแก เราจะปี๊ดง่ายมาก แต่ลึกๆ ต้องรู้ว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียว

ในยุคสมัยนี้คนรู้สึกชีวิตไม่มีความหมาย หมดแรง แต่ถ้าเราได้พลังจากชีวิตอื่นๆ จากธรรมชาติรอบตัวเราจะไม่เป็นไร เราอาจไม่คอนเน็กต์กับคนกลุ่มหนึ่ง หรือกับสังคมกระแสหลัก แต่เรายังคอนเน็กต์กับสิ่งอื่นๆ ได้

อีกเรื่องที่มักจะบอกกับทุกคนคือ เราไม่ค่อยคิดเรื่องความหวัง เพราะขณะเดียวกันเมื่อคิดถึงระบบที่เป็นอยู่เราจะรู้สึกหดหู่อย่างรวดเร็ว จะเสียกำลังใจ และพาลคิดว่าไอ้โครงสร้างและระบบนี้ยิ่งใหญ่กว่าเรา เราไม่มีทางชนะมัน เราจึงวางความหวังเอาไว้ข้างๆ แล้วถามตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง ถ้าคำตอบคือ เราทำได้แค่เขียนบทความ ก็เขียนมันไปเถอะ แล้วสิ่งที่เราทำได้มันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ

ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่รวมตัวกันทำให้ทุกคนมีสปิริตขึ้นมาก บางคนอาจคิดว่าเด็กพวกนี้ก็แค่รวมตัวกันชูป้ายประท้วง  ไม่ได้มีผลอะไร แต่เราว่ามันได้ผลมากนะ แม้จะยังไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ แต่มันจุดประกายคนได้มากมายแล้ว ดังนั้น ทำไปเถอะ ไอ้โครงสร้างใหญ่ที่เป็นอยู่ เราต้องจ้อง ต้องรู้จักมันไว้ การมัวแต่คิดว่าทำอะไรไม่ได้สักอย่างไม่มีประโยชน์หรอก กินแรงเราเปล่าๆ ดังนั้น เมื่อเราลงมือทำ แค่ถามตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง อย่ามัวเจ็บใจกับอำนาจเลย

 

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save