fbpx

กะเทาะปัญหาเด็กนอกสายตา – สร้างการศึกษาสำหรับเด็กนอกลู่

เด็กเร่ร่อน เด็กข้ามชาติ เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและการทำงาน ล้วนเป็นตัวอย่างของ ‘เด็กนอกสายตา’ ที่อยู่บนถนนแห่งชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พวกเขาเผชิญหลุมดำแห่งความเหลื่อมล้ำ และความขรุขระของชีวิตบนข้อจำกัดที่แตกต่าง

ท่ามกลางความเชื่อว่า ‘การศึกษา’ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนและก่อให้เกิดเส้นทางแห่งอนาคตที่หลากหลาย จะทำอย่างไรให้เด็กที่หลุดออกนอกลู่ของระบบการศึกษาตามครรลองที่สังคมยอมรับและปฏิบัติ ได้มีทางเลือกทางการศึกษาที่ตอบโจทย์เงื่อนไขของเยาวชนผู้มีความเปราะบางทับซ้อน

101 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนคลี่ปมความเปราะบางของกลุ่มเด็กนอกสายตาทีละชั้น กะเทาะถึงแก่นปัญหาและความต้องการของผู้เรียน ไปจนถึงขบคิดแนวทางการศึกษาและพัฒนาเด็ก-เยาวชนนอกระบบที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับ ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 Public Forum – คลี่ปมความเปราะบาง สร้างการศึกษาแก่ ‘เด็กนอกสายตา’ เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567

YouTube video


อ่านสถานการณ์เด็กเร่ร่อน – เด็กข้ามชาติในไซต์งานก่อสร้าง


ครูจิ๋ว – ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์เด็กเร่ร่อนในประเทศไทยและตีโจทย์ทางการศึกษาผ่านการแยกประเภทเด็กเร่ร่อน 3 กลุ่มเป้าหมายตามคำนิยามของเธอ ได้แก่

1) เด็กเร่ร่อนไทยถาวร คือกลุ่มเด็กที่ออกจากบ้านหรือองค์กรที่เคยดูแลมาใช้ถนนต่างบ้านเป็นการถาวร ปัจจุบันมีครอบครัวเร่ร่อน 15 ครัวเรือน และเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นประมาณ 50 กว่าคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของครูจิ๋ว ซึ่งครูจิ๋วกำลังผลักดันให้เด็กเร่ร่อนเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ความท้าทายของเด็กกลุ่มนี้คือเรื่องปัญหาด้านเอกสารยืนยันสถานะ แม้จะเป็นคนไทยก็ตาม

2) เด็กเร่ร่อนไทยชั่วคราว คือกลุ่มเด็กที่ออกมาขายพวงมาลัยหรือขายขนม เป็นกลุ่มที่เงื่อนไขในชีวิตบีบบังคับให้ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวก่อนวัยอันควร ทำให้หลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ความท้าทายของการทำงานกับกลุ่มนี้คล้ายกับการแย่งชิงกันระหว่างครอบครัวกับครู เพื่อให้เด็กกลับไปโรงเรียนอีกครั้ง

3) เด็กเร่ร่อนข้ามชาติ คือกลุ่มเด็กข้ามชาติหรือชนกลุ่มน้อยที่มาอยู่ในประเทศไทย สำหรับเด็กที่อยู่ในความดูแลของครูจิ๋ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กกัมพูชาที่ออกมาขอทานบนถนนสุขุมวิท ตั้งแต่สำโรงถึงมาบุญครอง ในกลุ่มนี้มีประมาณ 100 กว่าคนที่สามารถนำเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ความท้าทายในการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้เด็กเต็มร้อย ไล่มาตั้งแต่ค่าประกัน ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าครูที่ต้องจ้างสอนพิเศษในโรงเรียน ค่าชุดและอุปกรณ์การเรียน โดยมีเพียงค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเช้ากับค่าพาหนะส่งเด็กไปโรงเรียนที่ให้ผู้ปกครองรับผิดชอบ แต่จุดนี้ก็เป็นจุดด่างสำหรับเด็กที่ต้องออกไปขอทาน เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายไปโรงเรียน

ครูจิ๋วประเมินสถานการณ์เด็กเร่ร่อนจากการลงพื้นที่ทำงานเอง ว่าตัวเลขเด็กเร่ร่อนมีอยู่ประมาณ 30,000 คน เป็นเด็กไทย 10,000 คน และเด็กข้ามชาติอีก 20,000 คน เด็กเร่ร่อนชั่วคราวนับวันจะมีเพิ่มขึ้น อาจจะด้วยเรื่องปัญหาสภาพเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่นเดียวกับสถานการณ์เด็กเร่ร่อนข้ามชาติ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน เด็กอีกกลุ่มที่ถือว่ามีข้อจำกัดในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา คือกลุ่มเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 30,000 คน โดยในจำนวนนั้นมี 5,000 คนเป็นเด็กไทยที่ติดตามพ่อแม่มา ส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทค่อนข้างใหญ่ และอีกส่วนเป็นแรงงานเด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่มาเช่นกัน ทั้งแรงงานกัมพูชา พม่า มอญ กะเหรี่ยง ลัวะ

ปัจจุบันครูจิ๋วทำงานผ่านโครงการ ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’ ที่จะเข้าไปยังพื้นที่ก่อสร้าง 30 แห่ง ครอบคลุมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อทำงานด้านการศึกษา โดยแบ่งรูปแบบการทำงานเป็น 3 รูปแบบตามช่วงอายุ ดังนี้

1) เด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป เน้นเสริมทักษะการลีลามือ การอ่าน ก-ฮ การผสมสระขั้นพื้นฐาน

2) เด็กอายุ 6-11 ปี ประสานโรงเรียนที่ใกล้กับแหล่งก่อสร้าง และเซ็นรับรองพาเด็กเข้าระบบ เพื่อให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษา

3) เด็กอายุ 11-15 ปี เด็กกลุ่มนี้โรงเรียนจะไม่รับ จะต้องจัดการเรียนการสอนเอง โดยเน้นการอ่านออกเขียนได้

“เด็กต่างด้าวอพยพเข้ามา ผิดกฎหมาย 60% ถูกกฎหมายเพียงแค่ 40% เท่านั้น เมื่อพ่อแม่ผิดกฎหมาย เด็กจะเข้ามาอยู่ก็เข้ามาอยู่แบบผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจะเป็นปัญหามากเลย โชคดีที่ครูจิ๋วใช้ว่าถ้าเด็กคนไหนที่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เราพยายามไปคุยกับโรงเรียน เด็กกลุ่มนี้จะได้อักษร G (เด็กนักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย แต่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G เพื่อใช้ในระบบการศึกษา) มันเป็นแค่ขั้นพื้นฐานที่จะมีเงินค่าหัวให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่ถามว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเลขศูนย์ในอนาคตหรือไม่ ยังตอบไม่ได้

“ปีนี้เรามีเด็กใหม่ประมาณ 140 กว่าคนที่ครูจิ๋วทำรายชื่อแล้วเอาเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่จะเข้าได้แค่ไหน 140 กว่าคนไหม ยังไม่รู้ เพราะว่าโรงเรียนเขาก็มีสถานที่ที่จำกัดและแหล่งก่อสร้างก็จะมีการเคลื่อนย้าย บางคนย้ายจากสะพานสูงไปอยู่ศาลาแดง พอย้ายปุ๊บ เวลาเปลี่ยนโรงเรียนทีมันจะลำบาก นี่คือส่วนหนึ่งที่เราจะต้องทำงานด้วย” ครูจิ๋วกล่าว


ออกแบบการศึกษาแก่เด็กเร่ร่อนและเด็กข้ามชาติให้จัดการชีวิตได้


“การเรียนในระบบจะช่วยให้เราอ่านออกและเขียนได้ หลังจากอ่านออกและเขียนได้ จะไปสู่การศึกษานอกระบบ ซึ่งตอนนี้ยังมีรับไม่กี่แห่ง เพราะว่าเขาบอกว่าก็เด็กเป็นแค่อักษร G ในขณะเดียวกัน ก็ต้องนำไปสู่ผู้ประกอบการที่เขาอยากให้เด็กของเรามีที่ยืน ทั้งการศึกษา การใช้ชีวิตและการหยุดเร่ร่อน”

ครูจิ๋วเล่าให้ฟังว่าหลังการอ่านออกเขียนได้จะผลักดันไปสู่การศึกษานอกระบบหรือการทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีตั้งแต่เป็นลูกมือร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ ซ่อมคอมพิวเตอร์ ทำมุ้งลวด หรือทำงานในปั๊มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ทักษะที่จำเป็นต้องติดอาวุธให้กับกลุ่มเด็กเร่ร่อน คือเรื่องการจัดการชีวิตกับทักษะการจัดการเงิน เพื่อให้สามารถมีเงินเก็บและอยู่ได้ในสังคม โดยที่ครูจิ๋วใช้คำว่า “ทำไปด้วย ได้ไปด้วย กินไปด้วย เรียนไปด้วย รู้ไปด้วย”

สำหรับการจัดการศึกษากลุ่มเร่ร่อนชั่วคราวที่ขายพวงมาลัย ขายนมเปรี้ยว ครูจิ๋วไม่อยากให้กฎหมายมองว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิดและจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ แต่ควรจะให้การศึกษา ให้ชีวิตและให้ความรู้ รวมถึงให้ความเห็นว่าควรจำกัดการลงถนน 2-3 ชั่วโมงต่อวันหรือจัดสถานที่ให้เขาไปขายอย่างเหมาะสม โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน และเน้นย้ำว่าการฝึกอาชีพให้พวกเขาสำคัญมาก ดังนั้นควรเปิดอาชีพให้หลากหลายและทันสมัย

ขณะที่การออกแบบการศึกษาให้กับลูกกรรมกรก่อสร้างข้ามชาติจะต้องตอบโจทย์ชีวิตของเขา เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มให้ผู้รับเหมาข้ามชาติคุมงานมากขึ้น หลายคนจึงอยากอ่านแบบเป็น เพื่อใช้ในการทำงาน และอยากพูดภาษาไทยได้ เพื่อให้สามารถทำงานล่ามได้ หากเกิดปัญหาหรือได้กลับไปทำงานก่อสร้างในประเทศต้นทางแล้วมีคนไทยเป็นคนคุมงาน

“ครูจิ๋วมองการศึกษาแบบข้ามช็อต ครูจิ๋วจะมองว่าเด็กที่มาเรียนหนังสือในประเทศไทยก็จะได้ทั้งภาษาไทย และภาษาของเขา ตอนนี้เวลาเด็กกัมพูชามีปัญหา ครูจิ๋วจะใช้ล่ามเด็กของครู เขาลงทะเบียนล่ามเลยนะคะ ตอนนี้การศึกษามันเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งในประเทศอาเซียน แล้วเขาก็อาจจะรู้ถึง 2-3 ภาษา เด็กอนุบาลที่มาจากพม่าส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษดีมาก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของครูจิ๋วคือส่งเสริมการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ที่เขาอยากเป็น ให้เขาได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อและอยู่ในประเทศไทยอย่างปลอดภัย มีชีวิตที่พอจะอยู่ได้ แต่เมื่อเขามีโอกาสได้กลับ เขาต้องกลับไปอย่างมีคุณภาพในประเทศของเขา”  

ครูจิ๋วสะท้อนว่าอุปสรรคในการจัดการศึกษาให้กับเด็กเร่ร่อน ณ ตอนนี้ คือ 1) กรอบระเบียบที่แข็งตัว จำเป็นต้องมีเอกสารใบเกิดหรือเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา ทั้งที่การศึกษาคือการศึกษาสากล และประเทศไทยมีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งครูจิ๋วอยากจะทะลุทะทวงกฎเกณฑ์ดังกล่าว

2) เรียนฟรีแต่เสียเงิน ครูจิ๋วพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องขอรับบริจาคเงินจากกองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์มาสนับสนุนเด็ก 583 คนเป็นเงินประมาณสองแสนกว่าบาท ไม่รวมอุปกรณ์การเรียนที่จะต้องขอรับบริจาคภายหลัง

3) การบ้านเยอะเกินไป เป็นอุปสรรคของเด็กข้างถนนที่ต้องขายของหลังเลิกเรียนและทำให้ไปต่อไม่ได้

4) การขาดอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ อย่างโทรศัพท์มือถือที่จะใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งต้องขอรับบริจาคจากคนใจดี แต่ข้อเสียคือจำกัดการใช้งานไม่ได้ ทำให้เด็กติดโทรศัพท์มือถือ

“มีเด็กที่ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำงานเหมือนกัน แต่ครูจิ๋วบอกเลยว่า เฮ้ย พ่อแม่เอ็งไม่ได้รวยนะ ครูก็ไม่ได้รวยนะ ครูจิ๋วจะพูดอย่างนี้ตอกย้ำกับเด็กตลอดเวลาว่าโอกาสวันนี้ที่ให้มา สู้กันมาเป็นสิบปี แต่วันนี้เขาให้มา แล้วถ้าเอ็งทำลาย เอ็งจะทำลายรุ่นน้องรุ่นต่อไปนะ

“สิ่งสำคัญที่ครูจิ๋วคิดว่าจะช่วยเด็กได้ก็คือ การรู้จักตนเอง การรักตนเอง การจัดการชีวิตให้ได้ พวกนี้ต้องเสริมทักษะให้สำหรับเด็กกลุ่มที่ด้อยโอกาส และกลุ่มที่นอกสายตาตลอดเวลา เพื่อให้เขาได้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ที่มีในสังคม”

ครูจิ๋วกล่าวถึงการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายว่ารัฐควรจะเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังและจริงใจให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่เพียงพูดว่ามีระเบียบ มีกฎหมายรองรับ แต่ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่าอยากเห็นประชาชนเข้าใจและให้โอกาสเด็กเปราะบาง ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ เนื่องจากพวกเขาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของโลก ครูจิ๋วใช้คำว่า ‘เปิดกะโหลกกันเถอะ’ ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก และเราสามารถอยู่กันได้แบบพหุวัฒนธรรม


NEET คือใครในสังคม


“NEET ย่อมาจาก Not in Education, Employment or Training ซึ่งหมายความว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นสถานะที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้ทำงานและไม่ได้อยู่ในการอบรมใดๆ ช่วงอายุก็จะปรับแล้วแต่แต่ละประเทศ แต่ว่ามาตรฐานโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 15-24 ปี เมื่อเราพูดถึงกลุ่มนี้มันจะมีความคลุมเครือ เทาๆ บางๆ ว่าเขาคือกลุ่มไหนกันแน่” รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอ่ย

รศ.ดร.รัตติยาชี้ว่าเรื่องเด็กกลุ่ม NEET เป็นเรื่องที่ในต่างประเทศให้ความสนใจและทำการศึกษาค่อนข้างเยอะ รวมถึงเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยรู้จักหรือมีการหารือในเชิงนโยบายกันมากนัก จากข้อมูลจำนวนประชากรไทยปี 2021 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี มีประมาณ 9.2 ล้านคน ในตัวเลขดังกล่าวมีกลุ่ม NEET อยู่ประมาณ 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของเด็กทั้งหมด ในบรรดาเด็กกลุ่ม NEET มีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเป็นวัยรุ่นตอนปลาย (20-24 ปี) มากกว่าวัยรุ่นตอนต้น (15-19 ปี) อีกทั้งกลุ่ม NEET เหล่านี้สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ขาดความสนใจในการเรียนหรือการทำงาน และกลุ่มที่ด้อยโอกาสในการศึกษา

“ถ้าเป็นการศึกษาก่อนหน้านี้ มันจะเป็นลักษณะคล้ายๆ กับรูป slope down คือพอรายได้สูง สัดส่วนของ NEET ก็จะมีน้อย ขณะที่พอรายได้ต่ำ สัดส่วนของ NEET จะมีมากขึ้น แต่ประเทศไทยจะค่อนข้างพิเศษ เป็นลักษณะคล้ายๆ กับตะขอ หมายความว่ามีทั้ง 2 ส่วน มีส่วนที่ยากจนที่เข้าไม่ถึงโอกาส และส่วนที่ไม่อยากจะเรียนหรือทำงาน อาจจะมีเศรษฐฐานะที่มีโอกาสอยู่พอสมควรเลยค่ะ”

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจของทางสำนักงานสถิติ จาก NEET ทั้งหมดประมาณ 1.4 ล้านคน พบว่ามีกลุ่มที่ไม่อยากเรียนและไม่อยากทำงานสูงถึง 8 แสนกว่าคน กลุ่มที่ไม่พร้อมพัฒนาทักษะแต่พร้อมทำงานอยู่ 170,000 คน กลุ่มพร้อมทำงานและพร้อมพัฒนาทักษะ 9 หมื่นคน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในเจเนอเรชันใหม่ๆ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้หลายสาเหตุว่าทำไมเด็กและเยาวชนถึงกลายเป็น NEET  

สำหรับการศึกษาเชิงคุณภาพในจังหวัดตัวแทนของประเทศไทย พบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิด NEET ในประเทศไทยสรุปได้ออกมาเป็น 4 ประการ ได้แก่ ประเด็นกลุ่มคาแรกเตอร์ เช่น อายุของวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย เพศ ชาติพันธุ์ ภาวะของความพิการ ทั้งพิการที่เห็นได้ด้วยตา และที่น่าเป็นห่วงคือพิการทางการเรียนรู้ ซึ่งสังคมมองเห็นพวกเขาไม่ชัด ประเด็นครอบครัว พบว่าเด็กและเยาวชนที่อยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวจะมีแนวโน้มเป็น NEET มากกว่าอยู่กับพ่อเลี้ยงเดี่ยว นอกจากนี้ลักษณะครอบครัวยากจนที่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานติดตามพ่อแม่ และการดูแลคนในครอบครัว ทั้งกลุ่มที่มีลูกเร็วและกลุ่มที่ต้องดูแลผู้สูงอายุยังมีส่วนต่อทัศนคติของเด็กในการเป็น NEET

ประเด็นเรื่องทัศนคติที่มองไม่เห็นภาพอนาคตและกลุ่มประสบการณ์ เช่น ถูกบูลลีจนเป็นแผลใจตั้งแต่ยามเด็ก ความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติด เรียนไม่ทันสะสม และสุดท้าย ประเด็นไม่มีระบบชุมชน (community) บางครอบครัวเมื่อเผชิญปัญหา ชุมชนรอบข้างอาจจะช่วยดึงเขากลับมา แต่ความใกล้ชิดของชุมชนในเมืองที่นับวันจะน้อยลงก็เป็นปัญหา ขณะที่ในชนบทจะเจอปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้ไม่ดีนัก

เด็กกลุ่ม NEET ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ประมาณ 1-2% ต่อปี สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ตัวเลขเขยิบขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนเด็กและเยาวชนลดลงหลังเข้าสู่สังคมสูงวัยก็ตาม หากเปรียบเทียบตัวเลขกับทั่วโลกพบว่ามองได้ 2 มุม ถ้าดูสัดส่วน 15% ยังถือว่าอยู่ระดับกลางๆ แต่ถ้าเทียบอัตราการว่างงานของผู้ใหญ่ถือว่าสูง นั่นหมายความว่าการเข้าถึงโอกาสในการเรียนการทำงานของเยาวชนยังมีจำกัด เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น

“เราจะเห็นเลยว่าเทรนด์ของกลุ่มที่เป็น NEET ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะว่าเด็ก NEET จะเป็นความซับซ้อนอย่างนึง การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงตลาดแรงงาน หรือการเข้าถึงการอบรม อะไรก็ตามที่ผสมในสามก้อนนี้จะมีผลต่อเขาทั้งสิ้น ดังนั้นตลาดแรงงานที่มีหางานยาก ก็จะทำให้เด็กกลุ่ม NEET เพิ่มมากขึ้น

“ปัญหาด้านทัศนคติและมุมมอง เช่น กรณีของญี่ปุ่นอย่าง ‘ฮิคิโคโมริ’ ที่เด็กอาจจะมีลักษณะไม่ได้มีส่วนร่วมในสังคมที่เป็นสังคมจริงๆ นอกเหนือจากนั้นก็คือการมองไม่เห็นโอกาส ไม่เห็นประโยชน์ของการแอคทีฟ ซึ่งทำให้แนวโน้มในการพัฒนา หรือกลับเข้ามาสู่ตลาด (แรงงาน) จะยิ่งยากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น” รัตติยายังเสริมว่าความเปราะบางจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เพราะว่ากลุ่ม NEET นี้จะมีลูกเร็วและน่าจะมีความท้าทายยิ่งขึ้นในเจเนอเรชันถัดไป


ตีโจทย์การศึกษาเด็ก NEET เมื่อการเรียน-การทำงานต้องสอดรับและยืดหยุ่น

 
“จะทำอย่างไรให้กลุ่ม NEET รู้สึกว่าเรียนแล้วมีคุณค่า มีทั้งคุณและก็มีทั้งค่า”

รศ.ดร.รัตติยาตั้งโจทย์และขยายว่าในการออกแบบการศึกษาสำหรับเด็ก NEET ที่มีเศรษฐฐานะแตกต่างกันย่อมมีรายละเอียดและวิธีการเข้าถึงพวกเขาแตกต่างกัน อีกทั้งสถานะของเด็กกลุ่ม NEET เองยังส่งผลต่อการจัดการศึกษา กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็น NEET กำลังจะหลุดออกจากการศึกษา แต่ยังไม่หลุด ควรจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบฟีดแบ็กที่ทำให้เห็นว่าเด็กรู้สึกต่อการเรียนรู้ในระบบนั้นอย่างไร แล้วเคลื่อนย้ายไปยังการศึกษาที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งคนรอบข้างจะต้องให้คำแนะนำ ขณะที่กลุ่มที่เป็น NEET หลุดออกจากการเรียน การทำงานและการอบรม กลุ่มนี้จะต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานค่อนข้างเยอะในการดึงกลับ และต้องไปพร้อมกับการสร้างการศึกษาที่มีรายได้ มีการทำงานควบคู่กันไปให้เขาแอคทีฟ

“คำว่า NEET การเรียน การทำงาน การอบรม ทั้งสามอันถือว่ามีองค์ประกอบเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรมใดก็ตาม เขากำลังสะสมความรู้ความสามารถเพื่อจะขับเคลื่อนต่อ สมมติว่าวันนี้เขาไม่ได้เรียน แต่เขากระเถิบนิดนึงไปทำงานก่อน แล้วค่อยเอาความรู้จากตรงนั้นกลับมาวัดหรือประเมินว่าอันนี้คือความรู้ที่ฉันต้องการและความรู้ที่ฉันมี ก็เป็นระบบการศึกษาที่อาจจะเหมาะสมสำหรับคนๆ นี้ก็ได้

“อยากจะเติมอีกนิดนึง ถ้าเด็กมากๆ พ่อแม่จะมีบทบาทค่อนข้างสูงมาก ขณะที่พออายุเริ่มมากขึ้น บทบาทการตัดสินใจก็จะกลายเป็นของเด็กหรือเยาวชนมากขึ้น แต่ทีนี้ถ้าให้ดี จุดเริ่มต้นจะต้องดึงเอาผู้ปกครอง เอาคนที่อยู่รอบข้างเด็กเข้ามาร่วมในการดีไซน์การศึกษาด้วย และเข้าใจว่าทำไมเด็กต้องไปในทิศทางแบบนั้น เพราะคนคือคน ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะออกมาฟอร์มเดียวกันค่ะ

“เวลาเราพูดถึงเรื่องของการศึกษา มันไม่ใช่การศึกษา ณ ปัจจุบัน มันคือการออกแบบชีวิตทั้งหมด แต่การศึกษาที่ออกแบบชีวิตตั้งแต่ต้นไปถึงปลายไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน พูดแค่ว่าจะเรียนยังไงให้จบ จะเรียนยังไงให้ผ่านในแต่ละวัน และมันทำให้มองไม่ออกว่าแล้วตกลง ฉันต้องการอะไรกันแน่ พอมองไม่ออกก็ไม่รู้ว่าฉันจะไปเรียนอะไร แล้วมันก็วนอยู่ในอ่างแบบนี้”

รศ.ดร.รัตติยาชี้ว่าอุปสรรคที่ทำให้ยังไม่สามารถไปถึงการศึกษาที่อยากเห็นคือ หนึ่ง ทิศทางและการออกแบบที่ยังไม่ชัดเจน ท่ามกลางเครื่องมือทางการศึกษามากมายในปัจจุบัน เด็ก NEET ยังขาดคนหรือระบบที่จะแนะนำในการเข้าถึงการเรียนรู้ และ สอง ข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร ที่มองได้หลายมุม อย่างระบบไม่พร้อม เช่น ระบบส่งเสริมเด็กให้ทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วย เพื่อสะสมประสบการณ์ ระบบเชื่อมจากโรงเรียนไปยังที่ทำงาน (school to work transition) โครงสร้างของนายจ้างในตลาดแรงงานที่ไม่เอื้อกับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ เป็นต้น

“หลักการสำคัญคือการให้เขาได้บริหารจัดการเวลาในชีวิต โดยไม่ไปเบียดบังการเรียนรู้ของเขา ตรงนี้ต้องเข้าใจตรงกันว่าการทำอะไรก็ตาม มันคือกระบวนการในการเรียนรู้และการเติบโตทั้งสิ้น แล้วที่สำคัญตอนนี้ชีวิตเราไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว หมายถึงว่าเราอาจจะไปทำงานก่อนค่อยกลับมาเรียนก็ได้”

ในช่วงท้ายของการสนทนา รศ.ดร.รัตติยากล่าวถึงนโยบายกลุ่ม NEET ว่าควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจโดยปราศจากการตีตรา และจะเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาในทุกภาคส่วน

“ทำความรู้จักให้เข้าใจก่อนว่าเด็กกลุ่ม NEET ใครก็เป็นได้ หมายถึงลูกคุณก็เป็นได้ หลานคุณก็เป็นได้ มันเกิดขึ้นได้ อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด เพราะงั้นเข้าใจเขาว่ามีจริงและต้องช่วยกัน สอง (ตนเอง) เข้าใจว่าตอนนี้ภาครัฐตั้งเป้าหมายตัวเลขลดสัดส่วนของกลุ่ม NEET ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 13 แต่ในตอนที่ลงมือทำในระดับพื้นที่ยังมีช่องว่างอีกเยอะเลยค่ะ ตรงนี้เราไม่โทษกัน เพราะว่าก็ยังถือว่าเป็นเริ่มต้น แต่คิดว่าคงต้องมีหลายมือมาช่วยกันให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่นโยบายรัฐ แต่นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกันเพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถัดไปคือในเรื่องของการให้บริการเกี่ยวข้องกับการทำงาน ทางเรียน จะทำยังไงให้มันสามารถไปด้วยกันได้ ไหลลื่นและส่งต่อกันได้

“ทุกอย่างมันไปรวมกันที่จุดปลายคือให้เขามีความสุข เห็นคุณค่าตัวเอง คนอื่นเห็นคุณค่าเขา เขารู้สึกว่าได้ทำอะไรให้กับสังคม แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเห็นคุณค่า เขาจะมีความแอคทีฟต่อตัวเอง ทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะทำ แน่นอนว่ายิ่งถ้ามีไกด์ยิ่งดี แต่อยากฝากไว้ด้วยเหมือนกันว่าบางทีเด็กเปราะบาง มาจากผู้ใหญ่ที่เปราะบางนะคะ เพราะงั้นเราก็มองแค่เด็กไม่ได้ ต้องมองทั้งระบบนะคะ” รศ.ดร.รัตติยาทิ้งท้าย


ส่อง ‘การศึกษานอกลู่’ ของเด็กนอกสายตา


“วันนี้พวกเราทำการศึกษาเรียกว่า ‘การศึกษานอกลู่’ กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำงานกับคนต้นน้ำ เด็กชนบท กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ในชนบท ลูกหลานชาวนาที่ยากไร้” เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เอ่ยและเล่าว่าเด็กในภาพชนบทและเด็กชาติพันธุ์เริ่มมีแนวโน้มไม่เรียนหนังสือมากขึ้น เดิมอาจจะเป็นเพราะอยากเรียน แต่ไม่ได้เรียน แต่ปัจจุบันเด็กเริ่มไม่อยากเรียนด้วยตัวเอง

“อาทิตย์ก่อนผมไปเจอเด็ก ม.2 ตื่นเช้ามาบอกพ่อว่าผมไม่ไป (เรียน) แล้วครับ ทำไมไม่ไป ผมเบื่อครับ ใช้คำง่ายๆ ว่าเบื่อ กระแสนี้มากขึ้นครับ ตอนนี้ผมตั้งคำถามกับทั้งสังคมว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราบอกว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบ เข้าไม่ถึงการศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความยากจน ความยากไร้ เมื่อก่อนเด็กบ้านนอกคอกนาอยากเรียน แต่เราไม่มีโอกาสได้เรียน เพราะโรงเรียนมีน้อย ต้องเดินทาง 4-5 กิโลเมตร หรือบางทีเป็น 10 กิโลเมตรถึงจะได้เรียนหนังสือ แต่ปัจจุบันเด็กไม่อยากเรียน คำถามคือทำยังไงเด็กถึงไม่อยากเรียน อันนี้ต้องขบกันให้แตก ถ้าเราไม่แตกตรงนี้ เราทำแทบตายก็ไม่มีทางที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กได้จริงนะครับ”

เทวินฏฐ์สะท้อนว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นจำเลยอยู่เสมอว่าทำให้เด็กไม่เข้าถึงการศึกษา อีกทั้งปัจจัยสุขภาพ ความพิการและการเรียนไม่ทันเพื่อน รวมไปถึงปัญหาที่มองไม่เห็นจากความยากจน เช่น การถูกครูหรือเพื่อนทักเรื่องชุดเก่า แค่นี้ไม่มีเงินซื้อ หรือปัญหาเด็กที่เรียนไม่เก่ง เพราะว่าต้องช่วยเหลือครอบครัว สุขภาพไม่ดี พอสอบไม่ได้ ครูก็บีบเด็กให้สอบให้ได้ ทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนและหลุดจากการศึกษา เป็นต้น แต่อีกประเด็นที่มักละไว้เป็นที่เข้าใจ คือระบบการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กกลุ่มนี้

“ระบบการศึกษาไทยเราไม่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจสังคมโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทุกวันนี้เศรษฐกิจยากจน แล้วระบบการศึกษาก็ไม่ฟรีจริง”

เทวินฏฐ์ขยายเพิ่มเติมว่าเขาทำเรื่องการศึกษาทางเลือก เป็นศูนย์การเรียนสำหรับการศึกษานอกระบบ ส่งเสริมให้พ่อแม่จัดการศึกษาให้ลูกหลานได้เรียนผ่านบ้านเรียนหรือโฮมสคูล เพื่อให้หลักสูตรตอบโจทย์ชีวิตของเด็ก แต่ก็ติดปัญหาว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ค่อยส่งเสริม เนื่องจากบอกว่ายังไม่มีคุณภาพพอ และการที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ให้โอกาสสถานศึกษาออกแบบการศึกษา 3 แบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย สามารถเทียบโอนหากันได้ ปัญหาคือไม่ทำให้เกิดขึ้นจริง  

“ระบบการศึกษาต้องออกแบบใหม่ครับ ออกแบบบนฐานชีวิตจริง ออกแบบบนฐานของชุมชน ออกแบบบนฐานที่เด็กๆ ในชุมชนต้องการ มันต้องไปพร้อมกับความต้องการของเด็ก และต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลางจริงๆ” เทวินฏฐ์เอ่ยถึงหัวใจของการศึกษา

เทวินฏฐ์เล่าว่าปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับ กสศ. และ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งโจทย์แก้ปัญหาการศึกษาแก่เด็กนอกระบบอายุ 3-18 ปีที่มีอยู่ทั่วประเทศ 1.2 ล้านคน เฉพาะจังหวัดเชียงรายที่เทวินฏฐ์ทำงาน 24,081 คน สร้างการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากหากเป็นการศึกษาในระบบเหมือนเดิม เด็กก็จะหลุดกลางคัน (Drop out) รอบ 2

“หนึ่ง ต้องเป็นการศึกษาที่กินได้ การศึกษาทุกวันนี้เป็นการศึกษาที่กินไม่ได้ เป็นการศึกษาที่เรียนในห้อง ท่องจำ นำไปสอบ และได้ใบประกาศแล้วไปหางานทำ ซึ่งระยะเวลาแค่ 3 ปี ป.6 อีก 3 ปีถึง ม.3 อีก 3 ปีถึงม.6 ช้าไปแล้วครับ เด็กไม่พอกิน เด็กจะตายก่อน พ่อแม่ก็จะตายก่อน เพราะฉะนั้นการศึกษามันต้องตอบโจทย์วันนี้ครับ สอง คุณภาพการศึกษาต้องหลากหลาย ไม่ใช่มีการศึกษาคุณภาพเดียว และใช้มาตรฐานจากส่วนกลางวัดและวัดเหมือนกันหมดเลย”

ขณะนี้มีศูนย์การเรียนที่เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่จดทะเบียนรับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ทั้งประถมและมัธยมศึกษาทั่วทั้งประเทศ 200 กว่าศูนย์ ซึ่งเทวินฏฐ์เองก็ทำศูนย์การเรียนม่อนแสงดาววิชชาลัยระดับมัธยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย มีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กนอกระบบ เด็กกลุ่มเปราะบาง เด็กนอกสายตา “มีหลายกรณีที่สามารถยกระดับเด็กและออกแบบโจทย์ชีวิตเป็นรายบุคคลได้ เช่น เขามีความฝันอยากเป็นช่างมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่มีโอกาส ก็ไปส่งเสริมให้เขาได้เรียนเรื่องเรื่องช่างมอเตอร์ไซค์ หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่เขาเก่งเรื่องเกษตรมาก ตอนนี้ก็ผลักดันให้เรียนเรื่องขับโดรนเกษตร และไปทำงานกับสถานประกอบการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนหลายแห่งที่ทำงานเชื่อมกับมหาวิทยาลัยและชุมชน เช่น ศูนย์การเรียนที่แม่ฮ่องสอน เชื่อมกับมหาวิทยาลัยที่ภูเก็ต ออกแบบผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากชุมชน” เทวินฏฐ์ยกตัวอย่าง

“ผมคิดว่าการออกแบบแบบนี้ตอบโจทย์ชีวิตและเอาเด็กอยู่ครับ เด็กที่ไม่อยากเรียนแล้ว พอเขามาอยู่อย่างนี้ เขาบอกว่าอันนี้ไม่ใช่เรียน มาทำงาน มาหาเงิน แล้วก็การศึกษาจะไปตามทีหลัง ตามไปกับชีวิตเขานะครับ”


ปลดล็อกกฎเกณฑ์ เพิ่มทางเลือกการศึกษาที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน


“ทักษะสำคัญที่เด็กจะต้องรู้คือเข้าใจตัวเองก่อนครับ เด็กต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าเขาเป็นใคร มีแก่นอะไร พวกเราที่ทำงานด้านการศึกษาทางเลือกกับกลุ่มเด็กเปราะบาง เรามองเด็กทุกคนมีของในตัวนะครับ เด็กบางคนบอกว่าเขาไม่ใช่เด็กนอกระบบ อ.ต่างหากที่อยู่นอกระบบ เขาอยู่ในระบบของเขา (หัวเราะ) น่าสนใจมากนะครับ อย่ามาบอกว่าเขาเป็นเด็กด้อยโอกาส เขาไม่ใช่เด็กด้อยโอกาส แต่ว่าเขาไม่มีโอกาสเลือกในสิ่งที่เขาต้องการเลือกเท่านั้นเอง”

เทวินฏฐ์ให้ความเห็นว่าจริงๆ สังคมไทยปัจจุบันมีเครื่องมือทางการศึกษาเยอะมาก เพียงแต่ว่าไม่ถูกคลี่ให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นและให้เด็กได้เลือกออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองได้ เมื่อเข้าใจตัวเองและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองบนฐานการสนับสนุนอย่างเข้าใจจากครู ผู้ปกครองและหน่วยงานต่างๆ เด็กจะสามารถเดินไปบนทางที่เขาออกแบบได้อย่างผ่าเผย สง่างามและภาคภูมิใจ พร้อมกับตอบโจทย์การศึกษาตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี ปัญหาการศึกษาของกลุ่มเปราะบางนอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจที่เทวินฏฐ์มองเห็น คือขาดแรงจูงใจในการเรียนและขาดแรงจูงใจในการออกแบบการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กรู้สึกว่าเขาไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดนครอบด้วยระบบสั่งให้ทำตามคำบอก ประเด็นที่สองคือสิทธิเด็กด้านนิเวศ ความเสี่ยงรอบตัวเด็กนับวันจะรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ความรุนแรง ยาเสพติด สื่อออนไลน์ที่ครอบงำเด็ก ประเด็นต่อมาคือเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่หลากหลายพอที่จะทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ตอบโจทย์ตัวเองได้ ซึ่งระบบการศึกษาต้องไปสนับสนุนเด็กเปราะบางเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยมีหลายวิธีในการเทียบโอน ไม่ว่าจะเป็นกลไกที่เคยวางไว้ในอดีตหรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ที่สภาการศึกษากำลังทำ

ขยับมาที่การสนทนาเรื่องนโยบายภาพรวมเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก เทวินฏฐ์เล่าว่าศูนย์การเรียนเป็นการศึกษาทางเลือกที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการให้สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.6 และปวช. มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กเปราะบาง และผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ประกอบการและชุมชนได้ แต่ปัจจุบันยังติดล็อกด้วยข้อจำกัดด้านระเบียบบางประการ

เทวินฏฐ์เสนอว่าศูนย์การเรียนควรจะต้องปลดล็อกระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติอายุของผู้เรียนที่จำกัดถึงแค่ 18 ปี และกฎเกณฑ์เรื่องความยากจนว่าต้องเป็นเด็กยากจนและด้อยโอกาสเข้าเกณฑ์ 12 ข้อที่กระทรวง พม. กำหนด เพื่อให้ศูนย์การเรียนรองรับเด็กนอกสายตาที่ตกหล่นทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่วัยรุ่น เด็กที่หลุดกลางคันจนล่วงเลยมาถึงอายุ 23-24 ปี หรือกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น เกษตรกรรม ธรรมชาติบำบัดให้ได้เรียนตามความสนใจ

ทั้งนี้ เทวินฏฐ์ยังวิงวอนให้ศูนย์การเรียนรู้มีองค์กรที่ดูแลชัดเจน ไม่ใช่แค่ฝากไว้ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ และขอให้มีเงินอุดหนุนไปถึงตัวเด็ก เมื่อปลดล็อกส่วนนี้ได้ ศูนย์การเรียนทั่วประเทศ 200 กว่าศูนย์จะพร้อมมาช่วยแบกรับเด็กที่หลุดจากการศึกษา และนอกเหนือจากประเด็นข้างต้นแล้ว ทางศูนย์การเรียนเองก็มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาทักษะครูให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง

“ผมอยากให้ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างนอกระบบหรือในระบบ เด็กทุกคนคือเด็ก เขาควรได้รับสิทธิทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมตามกำลังศักยภาพของเขา เด็กทุกคนมีของดีอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นพวกเรา ผู้ใหญ่ ระบบการศึกษา องค์กรต่างๆ ก็สนับสนุนให้เขาได้มีชีวิตเติบโตไปตามวิถีของเขาบนความหลากหลาย สังคมมีความหลากหลาย เด็กทุกคนมีความหลากหลาย ความงดงามคือความหลากหลาย ความหลากหลายคือชีวิต ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษาไทย การศึกษาของโลก” เทวินฏฐ์ทิ้งท้าย




ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save