fbpx

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จะเปรียบเทียบกันไปถึงไหน?

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเปรียบเทียบมากนะครับ เราเปรียบเทียบอะไรต่อมิอะไรอยู่ตลอดเวลา อันที่จริงแล้วมีผู้ทดลองและพบว่า วันหนึ่งๆ เราเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ มากถึงราว 10% ของการใช้ความคิดทั้งหมดทีเดียว [1]

ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รายการต่างๆ ก็เชิญผู้สมัครมาตอบคำถามและแสดงวิสัยทัศน์ให้เราได้ ‘เปรียบเทียบ’ กันแทบทุกวัน 

เรื่องที่น่าสนใจคือ มีการศึกษาเกี่ยวกับการเลือกตัวแทนของคนทั่วไปเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ทางการเมือง ซึ่งค้นพบว่า ผู้คนมักติด ‘กับดัก’ ทางความคิดบางอย่างเสมอ เรามักเลือกตามบรรทัดฐานและค่านิยมที่ได้รับการปลูกฝังจนอยู่ในตัวนับตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นความสำนึกในชนชั้น เชื้อสาย และเพศ 

ในโลกตะวันตก ผู้สมัครที่เป็นนักธุรกิจชายที่มั่งคั่งจึงมักได้เปรียบกว่าตลอด [2] ทั้งที่อันที่จริงแล้วการเลือกแบบนี้ไม่ได้การันตีผลลัพธ์เลยแต่น้อย   

งานวิจัยดังกล่าวสรุปว่า ‘เราอาจพอใจจะเลือกนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนทำงานดูแลเด็ก ทั้งๆ ที่ในกรณีหลังอาจจะเป็นคนที่มีประสบการณ์เรื่องนโยบายการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ  และครอบครัวมากกว่า’ 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการศึกษา [3] ที่ถึงกับระบุว่า ‘มีคนเก่งๆ จำนวนน้อยเกินไปที่เลือกจะมีอาชีพทางการเมืองหรือยอมรับการแต่งตั้งทางการเมืองหรืองานด้านตุลาการและกฎหมาย’ จะเห็นว่าแม้แต่โลกตะวันตกก็มีอาการไม่อยาก ‘เปลืองตัว’ โดยการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง 

ไม่แตกต่างอะไรกับประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน   

แต่ก่อนจะไปไกลกว่านี้ ขอชวนหันมากันมามองเรื่องการเปรียบเทียบที่ใช้ตัวเราเองเป็นที่ตั้งนะครับ ทำไมเราถึงชอบเปรียบเทียบนัก? การเปรียบเทียบมีประโยชน์หรือโทษอะไรบ้าง? เวลาเปรียบเทียบอะไรต่างๆ เราควรจะระมัดระวังอะไรมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น?

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือ ประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวเราเองมากที่สุดนั่นเองครับ 

นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า คำแนะนำทางจิตวิทยาที่ดีที่สุดและได้ยินกันบ่อยที่สุดคือ ‘อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น’ ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกาอย่าง ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ถึงกับบอกกว่า การเปรียบเทียบก็คือ ‘ตัวขโมยความสุข’ 

อันที่จริงภูมิปัญญาในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ตกผลึกจนได้ข้อสรุปเรื่องนี้คล้ายคลึงกัน   

แต่ทำไมเราถึงชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นนัก?

อาจจะกล่าวได้ว่าอุปนิสัยแบบนี้ มันฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเราครับ เพราะเราเป็นสัตว์สังคม และนี่คือพฤติกรรมเชิงสังคมที่สร้างขึ้นและดำรงอยู่เรื่อยมาตลอดช่วงวิวัฒนาการ เราเปรียบเทียบกับคนอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่เรารู้จักหรือเพื่อนบ้านนี่แหละตัวดีเลย บางครั้งเราก็เปรียบเทียบข้ามรุ่นไปกับเจเนเรอชันอื่น ไม่ว่าจะบูมเมอร์ X Y Z หรือ ME หรือเจ็นฯ อื่นๆ 

เราเปรียบเทียบกันทั้งเรื่องสติปัญญา และความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ แต่ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งเรายังเปรียบเทียบกับตัวเราเองด้วยซ้ำไป! 

ไม่ต้องตกใจไปครับ ลำพังพฤติกรรมการเปรียบเทียบแค่นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องแย่ในตัวของมันเองเสียทีเดียว เพราะการเปรียบเทียบทำให้มองเห็น ‘เส้นฐาน (baseline)’ ของชีวิต เราใช้มันวัดและช่วยให้เราเป็นสิ่งที่อยากเป็นได้ 

เรียกว่าเป็น ‘ไม้บรรทัด’ สำหรับใช้วัดความก้าวหน้าของตัวเองก็คงได้ 

หากเราเปรียบเทียบไม่เป็น โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราก้าวหน้าไปบ้างหรือไม่ หรือไปถูกทิศถูกทางไหม

เราอาจใช้ประโยชน์จากการเปรียบเทียบได้ โดยใช้มันเป็น ‘แรงจูงใจ’ เช่น เราเห็นเพื่อนเรียนเก่งกว่าเรา ก็ตั้งเป้าว่าจะเรียนให้เก่งขึ้นเข้าใกล้ระดับที่เพื่อนคนนั้นทำได้ ในแง่นี้ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็น ‘ผลป้อนกลับ (feedback)’ อย่างดีสำหรับเราว่า เราทำได้ดีแค่ไหน หากเราทำได้ดีแล้ว ก็จงทำต่อไป หากเรายังทำได้ไม่ดีพอ ก็ใช้มันเป็นแรงจูงใจในการปรับปรุงทำให้ดีขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อการนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ กลเม็ด หรือวิธีการบางอย่าง 

อีกเหตุผลที่เป็นเหตุผลประกอบสำคัญคือ เราแคร์ต่อสายตาของคนรอบข้าง การปรับปรุงตัวจนดีขึ้นของเราจึงช่วยให้คนอื่นชื่นชมและชื่นชอบเรา และนี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญและทำให้แรงจูงใจแบบนี้ได้ผล [4]  

แต่การเปรียบเทียบก็ใช่จะมีแต่เรื่องดี มันยังมีคมอีกด้านที่อาจทิ่มแทงเราได้ หากไม่ระวังผลจากการเปรียบเทียบ มันจะกลายเป็น ‘ตัวขัดขวาง’ ไม่ให้เราทำลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง คอยตัดกำลังใจและทำให้ท้อ จึงอาจส่งผลเสียกับสุขภาพจิตในระยะยาวได้ทีเดียว 

ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดตอนไหน? 

มักจะเกิดเมื่อเรานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับบางคนที่เหนือกว่าตัวเองมากๆ และยากจะนำไปเปรียบเทียบกันได้ จนเรามักจะรู้สึกว่า ‘ชาตินี้ก็คงทำแบบนั้นไม่ได้’ เช่น เราเห็นนักฟุตบอลระดับโลกเตะบอลหรือเห็นนักดนตรีเจ้าของรางวัลดัง เล่นกีตาร์ได้เก่งและพริ้วขนาดนั้น

วิธีป้องกันคือ ให้ปรับมุมมองเล็กน้อยเป็นว่า ‘แล้วเราจะทำให้ได้ถึงระดับนั้นได้ยังไง?’ ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วเรายังทำได้ไม่ถึง แต่กระบวนการดังกล่าวก็ช่วยปรับปรุงให้เราดีขึ้นแน่นอน 

ผลกระทบของการเปรียบเทียบจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นอีก หากเป็นเรื่องที่เราไม่รู้สึกสนุกด้วยหรือรู้สึกยาก เราอาจจะบอกกับตัวเองว่า “ใครจะไปอยากทำอะไรที่ยากและน่าเบื่อขนาดนั้น” นี่ก็เป็นการมองด้วยมุมที่ผิดอีกเช่นกัน สิ่งที่ควรทำคือมองว่า 

“ฉันน่าจะก้าวข้ามความไม่ชอบและทำมันให้ได้ ซึ่งจะทำให้ฉันมีความสุขมากขึ้นในระยะยาว” 

ทุกครั้งที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ย่อมจะมองเห็น ‘ช่องว่าง’ บางอย่างอยู่ อาจจะเป็นประวัติที่มาของครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา ทักษะกับประสบการณ์บางอย่าง และแม้แต่ระดับสติปัญญา ฯลฯ 

เรื่องนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา  

บางครั้งส่งผลเสียร้ายแรงคือ ทำให้เรารู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเอง เกิดความรู้สึกผิด เกิดความสำนึกผิด หรืออาจนำไปสู่พฤติกรรมทางลบอื่นๆ เช่น การโกหกหรือการกินอย่างไม่อาจห้ามใจได้ เพื่อกลบเกลื่อนความผิดหวังที่ตัวเองด้อยกว่าคนอื่น 

วิธีแก้ไขคือให้ตระหนักรู้ว่า การคิดหรือทำเช่นนั้น คือความพยายาม ‘โคลน’ เพื่อนที่เราใช้เปรียบเทียบด้วยขึ้นมาอีกคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่มีประโยชน์ เพราะมันจะทำให้เราเหมือนคนอื่น ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง และที่แย่ที่สุดคือ มันจะทำให้เรากลายเป็นคนไม่มีความสุข 

เราเกิดมาโดยมีสมองที่ชอบความแตกต่าง เราทุกคนต่างต้องการเป็น ‘คนพิเศษ’ เราต้องการจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเป็น ‘โคลน’ ของเพื่อนคือความล้มเหลว เพราะมันทำให้เรารู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า เราไปไม่ถึงสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ซึ่งฝังลึกอยู่ในจิตใจของเราเอง

การเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่าอาจมีประโยชน์ได้ หากเรานำ ‘ความอิจฉาเล็กๆ น้อยๆ’ ในความสำเร็จของคนเหล่านั้นมาใช้เป็นแรงผลักดันตัวเราเองได้ โดยไม่มัวแต่เศร้าซึมและเซ็งกับความไม่เอาไหนของตัวเอง [5]

บางคนหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ ‘เหนือว่า’ หันมาเปรียบเทียบกับคนที่ ‘ด้อยกว่า’ แม้การเปรียบเทียบแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองได้เหมือนกัน [6] แต่ก็มีจุดอ่อนที่ต้องระมัดระวังว่า ต้องไม่ทำจนล้นเกินหรือบ่อยเกิน จนเกิดความมั่นใจในตัวเองมากจนเกินควร เกิดความเย่อหยิ่ง ทะนงตัว ซึ่งจะกลายเป็นผลร้ายต่อไปได้  

เราจึงต้องตั้งสติเสมอเวลาจะเปรียบเทียบอะไรกับใคร เพราะแม้ว่าเราจะเลิกเปรียบเทียบกับใครต่อใครได้ยากมาก แต่เราเปรียบเทียบในแง่มุมที่ดีและมีประโยชน์ได้ เราใช้มันเป็น ‘หมุดหมาย’ ของชีวิตตามเป้าหมายระยะยาวที่เราตั้งไว้ได้ โดยไม่ทำให้เราต้องทนทุกข์อยู่ตลอดเวลา

นอกจากมีสติแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องตระหนักเสมอคือ ความสำเร็จของแต่ละคนนั้น นอกจากเป็นเรื่องของความพยายามและประสบการณ์ที่ต้องสะสมอย่างมากมายแล้ว บ่อยครั้งทีเดียวที่เรื่องโชคก็มีส่วนด้วย อันที่จริงนักลงทุนบางคนถึงกับสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ว่า โชคเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากกว่าประสิทธิภาพในการลงทุนในตลาดด้วยซ้ำไป [7]     

เส้นทางที่นำไปสู่ความสุขระยะยาวสำหรับเราทุกคน จึงต้องผ่านการปรับปรุงตัวเองในแง่มุมต่างๆ จนทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเริ่มจากการรักตัวเองเสียก่อน

ดังนั้น คำตอบสำหรับชื่อบทความน่าจะเป็นว่า จะเปรียบเทียบไปจนกว่า….จะตายจากกันไป หรือไม่ก็จนกว่าจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้นได้มากพอ.      

References
1 https://www.psychologytoday.com/us/basics/social-comparison-theory
2 https://qmro.qmul.ac.uk/xmlui/bitstream/handle/123456789/9422/MURRAYWhatmakes2015Accepted.pdf?sequence=2&isAllowed=y
3 http://www1.worldbank.org/publicsector/anticorrupt/feb06course/besleyPoliticalSelection.pdf
4 https://www.psychologytoday.com/us/blog/science-choice/201904/the-10-most-common-sources-motivations
5 https://www.psychologytoday.com/us/blog/talking-apes/201705/can-envy-ever-be-positive-emotion
6 https://www.psychologytoday.com/us/blog/valley-girl-brain/201902/why-we-can-t-stop-thinking-about-other-people-s-lives
7 https://www.wealthycorner.com/these-are-the-two-most-important-factors-to-grow-wealth/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save