fbpx

Dystopia Now? ผีร้ายของสังคมไทย ในคราบทุนนิยมและรัฐเผด็จการ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล

Utopia Now

เมื่อปี 2019 เรามีโอกาสคุยกับ คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง B-Floor และในวาระที่กลุ่มนักแสดงละครเวทีโรงเล็กได้เติบโตขึ้นมายืนอยู่แนวหน้าของวงการ หลังผ่านช่วงเวลาที่รัฐไม่เคยสนับสนุนมาร่วม 20 ปี

คราวนั้นคาเงะพูดถึงประสบการณ์การทำละครของเขา กับความพยายามสื่อสารประเด็นด้านสังคมการเมืองผ่านการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่เริ่มคุกรุ่น และมีเจ้าหน้าที่ทหารคุกคามกระทั่งคนทำงานศิลปะ

มาวันนี้เราย้อนกลับมาคุยกับคาเงะอีกครั้ง ในฐานะของ ‘ผี’ และในวาระที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘Neon Ghost’ ของเขากับศิลปินชาวออสเตรีย ไค วัลโคเวียค (Kay Walkowiak) จัดแสดงในนิทรรศการ ‘Utopia Now’ ณ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ซึ่งแน่นอนว่าศิลปินรางวัลศิลปาธรผู้นี้ยังคงไม่ทิ้งลาย ภาพการแสดงกว่า 38 นาทีไม่เพียงมีสัญญะแสดงถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่คนไทยกำลังประสบเท่านั้น แต่ยังเสียดสีระบบทุนนิยมที่กำลังกัดกินชีวิตคนในหลายประเทศทั่วโลก

บนจอเงิน — คาเงะในบทบาทผีร่างสีขาว ห่อหุ้มด้วยเสื้อคลุมประดับแสงกะพริบวิบวาว พาเราเข้าไปสำรวจสถานที่รกร้างในกรุงเทพฯ อดีตอันรุ่งเรืองและความล่มสลายจากพิษเศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของคนชายขอบในสลัม กระทั่งการต่อสู้ของประชาชนภายใต้การใช้อำนาจไม่เป็นธรรม

ส่วนนอกจอ – คาเงะในหมวกของคนทำงานศิลปะที่คร่ำหวอดอยู่วงการมาหลายสิบปี จะมาเล่าให้คุณฟังถึง เบื้องหลังและความท้าทายในการผลิตผลงาน ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่ดูเหมือนรัฐก็ยังไม่สนับสนุนให้ศิลปินมีอิสระในการสร้างสรรค์มากนัก ด้วยบทสนทนาชิ้นนี้

หมายเหตุ : นิทรรศการ Utopia Now โดย ไค วัลโคเวียค (Kay Walkowiak) ร่วมกับ คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล ภายใต้การคิวเรตของ สเตฟานี เดมิอานิตช์ (Stephanie Damianitsch) จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2023



นิทรรศการ Utopia Now เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคุณและศิลปินชาวออสเตรีย คือ ไค วัลโคเวียค (Kay Walkowiak) จุดเริ่มต้นของการร่วมงานครั้งนี้คืออะไร

จุดเริ่มต้นมาจากไคครับ คือไคเคยมาแสดงงานที่ WTF Gallery มาก่อน ทำงานวิดีโอชิ้นหนึ่ง ร่วมกับศิลปิน  (performer) ชาวไต้หวัน และสนใจอยากทำงานกับศิลปินบูโตในเมืองไทย เขาเลยเสิร์ชว่าศิลปินบูโตในเมืองไทยมีใครบ้าง มันก็เด้งชื่อผมขึ้นมาในอินเทอร์เน็ต เขาเลยลองติดต่อถามพี่ส้ม (สมรัก ศิลา) ที่เป็นคิวเรเตอร์ เจ้าของ WTF แล้วก็แนะนำกันมา

เขามาเมืองไทยในช่วงที่ยังมีโควิดประมาณต้นปีที่แล้ว (2565) มาพูดถึงเรื่องคอนเซ็ปต์ว่าเขาอยากทำงานถ่ายวิดีโอการแสดง (video performance) ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ คุยไอเดียว่าเขามีความสนใจเรื่องจิตวิญญาณ (spiritual) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเปรต การแผ่ส่วนบุญ อุทิศส่วนกุศล หรือชีวิตหลังความตาย ผี หรือกระทั่งศาสนาพุทธ ซึ่งงานที่เขาทำวิดีโอร่วมกับศิลปินชาวไต้หวันก็ทำเรื่องคล้ายๆ กันแบบนี้

พอเขามาแชร์เรื่องนี้กับผม ผมก็โอเค สนใจ เลยเป็นที่มาว่าทำไมถึงเลือกใช้รูปแบบการแสดงแบบบูโต เพราะมันมีเซนส์ของ spiritual dance ภาพจำของบูโตคือการทาตัวขาว เปลี่ยนร่างกายของเราให้กลายเป็นสิ่งอื่น จึงน่าจะเหมาะกับการทำงานในครั้งนี้


ความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณมีมากมายแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วทำไมเขาถึงเลือกประเทศไทย

เขามีความสนใจเรื่องพื้นที่รกร้างในเมืองไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไคเป็นคนหาข้อมูลและเลือกพื้นที่ว่าอยากถ่ายตึกร้างที่ไหน มีภาพองค์ประกอบต่างๆ ในหัวแล้ว ดังนั้นงานของเขาไม่ได้อยากพูดถึงแค่ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ แต่จะพูดถึงทุนนิยม การล่มสลายของทุนนิยมด้วย เหมือนเป็นสองไอเดียร่วมกัน ซึ่งไอเดียของเขาทำให้ผมนึกถึงเรื่องคล้ายๆ กันตอนที่ได้ทุน ACC ไปอยู่ที่นิวยอร์ก 6 เดือน แล้วผมทำงานศิลปะ มองหาพื้นที่รกร้างเพื่อทำการแสดง พอหาข้อมูลเรื่องตึกร้างในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่าที่นั่นมีตึกร้างที่น่าสนใจและสวยมากๆ เช่น โรงพยาบาล Smallpox Memorial Hospital ที่เป็นโรงพยาบาลรักษาฝีดาษเก่า หรือสถานีรถไฟที่คนจรจัดเคยไปอยู่ในยุค 60-70 แล้วโดนไล่ออกมา ผมก็เข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ เอากล้องไปตั้งและทำการแสดง พอไคเอ่ยถึงไอเดียของเขา ความทรงจำผมเหมือนแฟลชแบ็กกลับมาว่าเราก็เคยทำเหมือนกันนะ แต่ในกรุงเทพฯ เราไม่เคยนึกถึงเลย ทั้งที่เป็นของใกล้ตัว คนต่างชาติดันรู้เยอะกว่าอีก


พอศิลปินอีกท่านเสนอคอนเซปต์ที่ค่อนข้างชัดเจน แล้วฝั่งของคุณได้ช่วยพัฒนาองค์ประกอบหรือเนื้อหาให้สอดคล้องหรือสะท้อนสภาพสังคมไทยอย่างไรบ้าง

ถ้ายังจำกันได้ สองปีก่อนหน้านี้เกิดการต่อสู้บนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เราเองก็ได้มีส่วนร่วมกับเขา สร้างกลุ่มประท้วง กระทั่งทำการแสดงบนถนนด้วยซ้ำ ทำให้สภาวะของการแสดงหรือแนวคิดการต่อสู้เรื่องการเมือง สังคม ยังคุกรุ่นในตัวเรา พอเราคุยกับไคเรื่องคอนเซปต์จิตวิญญาณ ทุนนิยม สำหรับเราจึงบอกว่าไม่พอ เรื่องพวกนี้มันพูดเมื่อไหร่ก็ได้ พูดเมื่อไหร่ก็ถูก เราอยากผสานเรื่องการต่อสู้เข้าไปด้วย เลยเสนอว่าคาแรกเตอร์ในภาพยนตร์ควรมีช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition) คือช่วงแรก ตัวละครของเราเป็นเหมือนคนไร้บ้าน เนื้อตัวมอมแมม หาของกินตามถังขยะ ไปเจอแมวก็ป้อนอาหารแมวบ้าง ดูเป็นคนชายขอบที่อยู่ในเมือง ซึ่งสภาวะแบบนี้ก็เปรียบได้กับผี คุณเหมือนผีที่เดินได้ เป็นคนที่รัฐมองไม่เห็น ไคเองก็เห็นด้วย

เนื้อหาจึงมีการพูดถึงความเป็นชายขอบ เป็นผีตั้งแต่ตอนที่ยังมีตัวตนบนโลก เราตีความว่ามันเหมือนกับเสียงของประชาชนไม่ได้ถูกรับฟังมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาวะการต่อสู้เรียกร้องในเวลานั้นที่เรียกร้องไปเท่าไหร่ก็ไม่ถูกยอมรับหรือรับฟังเลย เป็นการอุปมา (metaphor) ที่พูดถึงสถานการณ์บ้านเมือง ในหนังยังมีฉากที่หลังจากตายกลายเป็นผีไปแล้ว มีวิทยุออกข่าวว่าฝั่งของเผด็จการในที่สุดก็ยอมถอย ยอมให้มีการเลือกตั้งแล้ว นั่นแหละ หลังจากที่มึงตาย มึงถึงได้ฟังข่าวแบบนี้ (หัวเราะ)

อีกซีนหนึ่งเป็นซีนอยู่ในศาลเจ้า พอผีได้ฟังข่าวก็มีการเคลื่อนไหว กิริยาท่าทางแบบดีใจ เซอร์ไพรส์ แต่ก็ช่วยไม่ได้ ก็ตายไปแล้ว นอกจากนี้ เรายังใช้เสียง ใช้สภาวะต่างๆ แบบนี้ เข้ามานำเสนอมิติที่ซ้อนทับระหว่างอดีตและปัจจุบัน เช่น ฉากที่ผีเข้าไปในโรงหนัง ในนั้นก็ไม่มีหนังฉายอยู่หรอก แต่มีเสียงหนังเก่าๆ เข้ามา เหมือนความทรงจำยังคงลอยอื้ออึงในอากาศ ทุกอย่างยังอวลๆ วนๆ ไม่ได้หายไปไหน


สถานที่ที่ปรากฏในหนังมีนัยยะแฝงเร้นอยู่บ้างไหม

เราเลือกพื้นที่ที่เป็นหมุดหมายแสดงถึงความล่มสลายของทุนนิยม อย่างตอนแรกเราพยายามเข้าไปถ่ายในตึก Ghost Tower (ตึกร้างสาทร) ที่เป็นผลมาจากพิษวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่เขาไม่อนุญาต เลยหันไปมองหาตึกแฝดที่มีคนออกแบบเป็นคนเดียวกัน แต่ยังเปิดใช้งานอยู่แถวสีลมทำการแสดงแทน หรือเลือกสถานที่ที่เคยเฟื่องฟู เร่งสร้างกันอย่างมากมายในยุคหนึ่ง แต่มาตอนนี้กลับพังทลายไปแล้ว ตัวอย่างเช่นสมัยก่อนมีโรงหนังสแตนด์อโลนทั่วทุกหัวเมือง ตอนนี้สกาลาก็หายไปแล้ว ยุครุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลนมันผ่านไปแล้ว ทุกวันนี้โรงหนังล้วนอยู่ในห้าง อาจจะเรียกได้ว่ากลายเป็นระบบผูกขาดแล้วด้วยซ้ำไป

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อย่างโรงเครื่องบินเก่า ศาลเจ้าเก่า ห้างเก่า ถ่ายไปเยอะมาก ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงการผลัดเปลี่ยนทุน ทุนที่ไม่แข็งแรงพอก็ตายไป ทุนที่มีสายป่านยาวก็อยู่ได้ยาว คำถามคือคนตัวเล็กตัวน้อยอยู่ตรงไหน พอย้อนกลับมามอง เราจะเห็นว่าในเมืองไม่ได้มีแค่ตึกใหญ่ๆ มีแสงไฟ มีบ้านหรูๆ แต่ยังมีซอกซอย ช่องว่างที่เต็มไปด้วยคนตัวเล็กตัวน้อยกำลังขับเคลื่อนเมืองและทุนอยู่  

ในหนังเราจึงอยากสื่อว่าการเปลี่ยนร่างจากคนกลายเป็นผี เข้าไปสำรวจเศษซากที่พังทลายก็เหมือนกับการทำนายกลายๆ เรากำลังพูดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พร้อมๆ กับพูดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่ท้าทายสำหรับเราในฐานะนักแสดงคือทุกสถานที่ที่ทำการแสดง แม้จะปรากฏในภาพถ่าย แต่เรียกได้ว่าเราแทบจะไม่เคยไปเลย  แล้ววิธีการทำงานคือเราสองคนจะเข้าไปดูสถานที่ กำหนดเฟรมว่าจะใช้เฟรมแบบไหน เพราะไคไม่ใช่คนที่ถือกล้องตามถ่าย เขาเป็นมนุษย์ที่ถ่ายแบบเฟรมต้องเป๊ะ เนี้ยบกับมันมาก พอเลือกเฟรมเสร็จ เราก็จะรู้ว่าต้องอยู่ตรงไหนในเฟรม เข้าฉากตรงไหน ออกตรงไหน แต่ในส่วนที่เราจะทำการแสดงแบบไหน ก็มีอิสระแสดงได้เต็มที่



ตัวละครสำคัญที่คุณแสดงคือผี ซึ่งไม่ใช่ผีธรรมดา แต่เป็นผีที่ประดับประดาด้วยไฟนีออน ทำไมจึงออกแบบตัวละครให้เป็นผีนีออนด้วย

นีออน เป็นตัวแทนความสมัยใหม่ เหมือนเวลาเราเห็นแสงนีออนหรือตัวหนังสือนีออน จะนึกเชื่อมโยงถึงความทันสมัย ขณะเดียวกัน เราก็ตีความว่ามันคือการล่มสลายของความสมัยใหม่ การพังทลายของทุนนิยม ผีในเรื่องจึงไม่ใช่ภูตผีโบราณอย่างเปรตเหมือนที่ไคตั้งต้นไว้ตอนแรก แต่พูดถึงชีวิตของคนธรรมดาที่อยู่ในเมืองหลวง ในระบบทุนนิยม ไม่ใช่คนในชนบทหรือถิ่นทุรกันดาร เป็นคนชายขอบของชุมชนเมือง ไม่ใช่ชาวเขาหรือชนเผ่า

ในยุคสมัยหนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติมีศูนย์กลางอยู่ในเมือง เมืองต้องการคนมาเป็นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานโรงงานหรือท่าเรือ ความเติบโตของเมือง อุตสาหกรรม ทำให้คนโยกย้ายจากชนบทเข้ามาอาศัย กลายเป็นสถานที่แบบสลัมคลองเตย แรงงานเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วคือเป็นคนชายขอบ แม้จะเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสตรีทฟู้ด จัดการขยะ ทำงานเล็กงานน้อยในตึกใหญ่ แต่เสียงของเขาไม่ถูกได้ยิน สถานะของเขาเปรียบเหมือนเงาที่อยู่ตามซอกตึกต่างๆ มากกว่าจะถูกมองเห็นเป็นคนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นผีนีออนในเรื่องนี้ไม่ได้ผูกโยงกับชนชั้นกลาง แต่เป็นชนชั้นล่างที่กำลังทำงานให้ระบบเคลื่อนต่อไปได้


ระหว่างที่สวมบทบาทเป็นผีในเรื่อง คุณคิดถึงอะไรอยู่

มันเป็นสภาวะแบบ ‘กลับไม่ได้ไปไม่ถึง’ เหมือนหลงทาง ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ร่างกายใหม่ของเราคืออะไร แล้วเรากำลังจะไปไหน เราสูญเสียความทรงจำไปทุกอย่าง จำไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้เป็นยังไง ต้องการจะไปที่ไหนต่อ กลายเป็นสภาพเร่ร่อนสำรวจพื้นที่ และพยายามจะสื่อสารออกไป ทั้งๆ ที่ต้องการสื่อสารกับอะไรก็ไม่รู้ สภาวะของการกลับไม่ได้ไปไม่ถึงเรียกได้ว่าเป็นการติดอยู่ระหว่างกลางของอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นภพภูมิใหม่ ช่วงเวลาของอดีต หรืออนาคต ตัวผีกำลังสงสัยกับสิ่งที่เข้ามา ตั้งคำถามว่าฉันกำลังตกอยู่ในอดีต หรืออยู่ในอนาคตที่ทุกอย่างกำลังจะพัง เพราะในเมืองไม่ปรากฏคนอื่นอยู่เลย นี่คือสภาวะที่เราใช้ทำงานในฐานะนักแสดง


การใช้สัญญะ ‘ผี’ ของคุณทำให้เรานึกถึงคำกล่าวที่ว่า ‘คนตายพูดไม่ได้’ ถ้าผีในเรื่องพูดได้ มันต้องการจะบอกอะไรกับคนดู

มันไม่มีอะไรที่ยั่งยืนละมั้ง ไม่มีอะไรที่เรายึดมั่นยึดเหนี่ยวแล้วมันจะคงอยู่ได้นานตลอดไป เราไม่สามารถรั้งความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคืออะไร คือเสียงของประชาชน เสียงของคนชายขอบที่ดังกระหึ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดแล้วคุณเลือกจะกดทับหรือปิดบังมันไว้ไม่ได้ มันจะระเบิดออกมาแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ตัวของผีในเรื่องอาจจะกระเด็นไปจากระบบนิเวศที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ในความเป็นจริง เรายังมีผีในสังคม มีคนอีกหลายๆ คนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาตะโกนแน่นอน


เข้าใจว่าคุณเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะการแสดง (performance art) ในสถานที่ปิดอย่างโรงละครเป็นหลัก เมื่อมาทำการแสดงในสถานที่จริง ถ่ายทำในรูปแบบภาพยนตร์ มีการทำงานแตกต่างไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

สำหรับหนังเรื่องนี้ ผู้ชมคือผู้สังเกตการณ์ ตัวนักแสดงแค่ต้องปรากฏในพื้นที่ มันไม่ต้องแคร์ว่าใครจะมอง จริงๆ เรารู้ว่ากล้องคือผู้ชมนั่นแหละ แต่เราก็ไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องสนใจมันมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวละครผีมันต้องแสดงแบบลอยล่องด้วย ความยากคือเวลาถ่ายทำ ถ้าเป็นฉากที่แสดงเป็นคนจรจัดจะมีคนอื่นๆ เข้ามาร่วมเฟรมได้ เพราะนี่คือโลกจริง แต่ฉากที่เราเป็นผีต้องมีแค่เรา จะมีคนมาอยู่ร่วมมิติเดียวกันไม่ได้ สถานที่จึงต้องดูเวิ้งว้างรกร้าง เหมือนกรุงเทพฯ ไม่มีคน ณ เวลานั้น บางทีเราไปถ่ายในเขตชุมชน เช่นเยาวราช พอมีคนเดินผ่านมาก็ต้องคัต หรือบางครั้งเราสั่งคัตเองด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่ายังไม่โอเค

สีของหนังเอง ในส่วนที่แสดงเป็นมนุษย์จะมีสีแบบสมจริง ขณะที่ตอนเป็นผีทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าทั้งหมด เพื่อขับเน้นความเวิ้งว้าง โดดเดี่ยวจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ส่วนเรื่องเวลาในการถ่าย เนื่องจากหนังเรื่องนี้ ไคบอกว่าไม่ต้องการแสงกลางวันที่คมชัด ต้องการแสงอ่อนๆ ตอนเช้า หรือช่วงสนธยาไปจนถึงกลางคืน ทำให้เราใช้เวลาถ่ายรวมกันประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งมันจะเร็วกว่านี้ถ้าไม่ถ่ายแค่เช้ากับเย็น เสียดายนิดเดียวคือไคถ่ายแค่ความคมชัดระดับ Full HD ทำไมไม่ถ่ายเป็น 4K วะ คุณภาพจะได้ดีกว่านี้ เขาก็ว่า เอ้า ก็กล้องกูดีสุดแค่นี้



ส่วนที่ยากที่สุดในการทำงานครั้งนี้คือส่วนไหน

มันต้องถ่ายเป็นกองโจร เราเป็นนักแสดง ต้องเตรียมข้าวของ ขับมอเตอร์ไซค์ให้ไคที่เป็นตากล้องซ้อนท้ายไปถ่ายกัน ทั้งกองมีแค่สองคนเพื่อความรวดเร็ว เพราะบางสถานที่เราก็ใช้วิธีเข้าไปแอบถ่าย แล้วนึกออกไหม บางทีเราไปถ่ายในเยาวราชในสภาพทาตัวขาว สวมกางเกงในตัวเดียว มีป้าแถวนั้นเดินออกมาเจอ เราก็ต้องบอกว่าถ่ายรูปอยู่ครับๆ (หัวเราะ) รู้สึกอายๆ อยู่เหมือนกัน เพราะต่อให้เขาจะไม่รู้จักเรา แต่เราก็อยู่ในไทย เป็นคนไทย เทียบกับสมัยที่ไปทำอะไรแบบนี้ในนิวยอร์กจะรู้สึกเฉยๆ แก้ผ้าก็แก้ไปสิ นี่เป็นส่วนที่รู้สึกว่ายากสำหรับเรานะ


ในแง่หนึ่ง การทำงานแบบกองโจรสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ในเมืองหรือประเทศไทยไม่เอื้อให้เราทำงานศิลปะอย่างมีอิสระมากเท่าประเทศอื่นๆ หรือเปล่า

จริงๆ ในเมืองนอก คุณจะไปทำอะไรที่ไหนก็ค่อนข้างอิสระเสรีกว่านะ เรารู้สึกว่าที่ไทยเหมือนมีเจ้าที่เจ้าทางหมดทุกอย่าง และมันต้องใช้เงินทั้งหมดเลย ทั้งค่าเช่า ค่าจัดการ งานที่ต้นทุนต่ำและท้าทายวิธีคิดจึงเกิดขึ้นได้ยากและไม่ค่อยมีคนทำ

สำหรับเรา งานนี้ก็เป็นงานที่ท้าทาย แต่ทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราเคยทำในนิวยอร์ก อาจจะสามารถทำในไทยได้เหมือนกัน เราได้ลองแล้วกับเพื่อนชาวออสเตรีย ฉะนั้นโปรเจกต์ต่อไปเราก็อาจจะเป็นคนริเริ่มทำเองได้บ้าง


นอกจากอุปสรรคในการทำงานศิลปะ โปรเจกต์ครั้งนี้ทำให้คุณเห็นปัญหาใหม่ หรือตอกย้ำภาพปัญหาของที่มีอยู่ประเทศไทยอย่างไรบ้าง

เวลาเราทำละคร เราจะโหยหาเรื่องพื้นที่หรือโรงละครทางเลือกมากๆ พอเราไปเจอสถานที่อย่างที่ถ่ายทำภาพยนตร์คราวนี้ ก็มานั่งคิดว่าเฮ้ย ทำไมพื้นที่เหล่านี้จะกลายมาเป็นพื้นที่ทำการแสดงไม่ได้ เราน่าจะมีพื้นที่ทางเลือกในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อที่จะได้ทำงานแบบ installation art ในพื้นที่ที่เราไม่ต้องดูแลมันมาก ข้าวของจะวางระเกะระกะก็ได้ แค่พาคนไปดูแล้วรับประสบการณ์จากสถานที่จริง อาจจะเล่นละครกันสักรอบสองรอบ คงน่าสนใจและทำให้เราเห็นพื้นที่ทางเลือกในการแสดงมากขึ้น

ส่วนปัญหาสังคม เวลาเข้าไปในพื้นที่ไหน เราก็เห็นปัญหาเดิมๆ เรื่องการจัดสรรพื้นที่หรือการดูแลความเป็นอยู่ของคน อย่างเช่นเราเข้าไปที่คลองเตย เราเห็นคนอยู่กันอย่างแออัดเพราะเขาจำเป็นต้องอยู่ แต่เราก็คิดไม่ออกว่าถ้าจะเรียกร้องการจัดการ ทำให้พื้นที่ดีขึ้นกว่านี้จะเป็นไปได้ยังไง ในแง่หนึ่งเราเองก็เป็นคนนอกพื้นที่ จึงไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง


เมื่อต้องร่วมงานกับศิลปินต่างชาติ คุณเห็นภาพไหมว่าชาวต่างชาติเข้าใจปัญหาและบริบทสังคม การเมืองในไทยมากน้อยแค่ไหน

เรื่องบางเรื่องเราก็ต้องแชร์กัน เช่น ความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนาของไคค่อนข้างเป็นแบบอุดมคติ แต่คุณรู้ไหมว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยจริงๆ มันเป็นยังไง (หัวเราะ) ฉันสามารถพูดได้ 3 วันเลยนะเธอ มันดีแล้วที่ความคิดของคุณอยู่ปลายยอดอุดมคติของศาสนาพุทธ เชื่อเรื่องการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม แต่เราก็ต้องแชร์ว่าพุทธบริษัทในไทยมีความเป็นทุนนิยมมาก ยกตัวอย่างเหมือนระบบโบสถ์ในอเมริกา คล้ายๆ กันเลย

ในส่วนของการเมืองเช่นกัน เราก็อัปเดตให้เขาฟังเรื่องขบวนการต่อสู้ การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมาได้ยังไง ความคิดที่คนมีต่อรัฐบาลนี้ หรือแม้แต่เรื่องสถาบันกษัตริย์ ฝรั่งอยากรู้เรื่องสถาบันฯ มากนะครับ พอเขาทำความเข้าใจก็นำไปต่อยอดในผลงานได้ เช่น ฉากหนึ่งไคอยากให้มีป้ายประท้วงเกลื่อนกลาด สื่อว่าสถานที่นี้เคยมีนักศึกษามาใช้เป็นฐานที่มั่น เราก็ช่วยหาข้อมูล ดูว่าควรเขียนคำประมาณไหน หรือแผ่นกระดาษที่ปรากฏในฉากควรมีคำอะไรบ้าง กระทั่งเสียงที่ใช้ในหนัง อย่างเสียงการชุมนุมประท้วงต้องพูดอะไร เพราะไคไม่เข้าใจภาษาไทย ทั้งหมดเป็นการแชร์และแลกเปลี่ยนกับเขา

พอเราไปแสดงงานครั้งแรกที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ประมาณเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว (2565) ช่วง after talk ทุกคนสนใจอยากรู้เรื่องการเมืองไทยหมดเลย คุยเรื่องหนังนิดหน่อย นอกนั้นถามว่าบ้านเธอตอนนี้เป็นยังไง ขบวนการนักศึกษาตอนนี้เป็นยังไง คนออสเตรียอยากฟังอยากรู้มาก คุยกันเป็นชั่วโมงเลย



อันที่จริง เรื่องความชั่วร้ายของระบบทุนนิยมไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคม ทำไมเรายังต้องพูดถึงมันอยู่อีก

ทุนในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้มีการปรับเปลี่ยนไปเป็นทุนผูกขาดมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น และน่ากลัวกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำไป มีทั้งการควบรวมของบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ ธุรกิจโรงหนัง หรือธุรกิจที่มีเจ้าสัวรายใหญ่คุมทุกที่ เราจะไม่พูดถึงมันได้ยังไง ในเมื่อกฎหมายต่างๆ ที่ผ่านออกมาก็เอื้อให้กลุ่มทุนมากขึ้น เห็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับนายทุนอย่างชัดเจน ขณะที่คนเล็กคนน้อยที่พยายามต่อสู้ เช่นเรื่องสุราก้าวหน้า กลุ่มประชาชนเบียร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน กลับถูกกดทับด้วยการใช้กฎหมาย นี่คือความน่ากลัวของทุนนิยมแบบสมัยใหม่ ทุนนิยมแบบสามานย์ที่กำจัดคู่แข่งทุกวิถีทางไม่ให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสเติบโต กลายเป็นว่าทุกอย่างโดนกินเรียบทั้งหมด


ถ้าเราเจาะจงถึงแวดวงศิลปิน คนทำงานศิลปะ สภาพสังคมที่มีนายทุนผูกขาด การควบรวมกิจการทั้งหลายเหล่านี้ ส่งผลต่อพวกคุณอย่างไร

ในแง่นี้ อาจเปรียบเทียบได้ว่าเรามีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นคนผูกขาดอยู่นะ ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ควรส่งเสริม เผยแพร่งานศิลปะ หรือมีความร่วมสมัยกับสังคม กลายเป็นว่าถ้าคุณลองไปดูเนื้องานของเขา จะเห็นว่าส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอนุรักษนิยมหมดเลย ยิ่งเป็นงานที่ต้องขอทุนจากรัฐยิ่งชัดเจน หรือไม่ก็เป็นงานที่เกิดขึ้นโดยข้าราชการลุกขึ้นมาจัดเอง แทนที่จะจัดสรรหรือช่วยขับเคลื่อนศิลปิน คนทำงานจริง

อีกทางหนึ่งคือเขาผูกขาดความคิด ยกตัวอย่างการทำหนังก็มีระบบเซ็นเซอร์ บอกว่าทำแบบนี้ได้ แบบนั้นไม่ได้ ในการละครยังไม่เกิดแต่ก็อย่าเกิดเลย มันจำกัดทั้งเสรีภาพทางด้านความคิดและวิธีคิด มันบังคับให้งานศิลปะอยู่ในกรอบ อยู่ในรูปแบบเดียวกันมากเกินไป ดังนั้น คนที่พยายามสร้างทางเลือก สร้างงานศิลปะแบบใหม่ๆ ก็ต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง (ถอนหายใจ) มันก็น่าสิ้นหวังอยู่นะ คุณจำกัดหลายอย่าง ไม่ส่งเสริมหลายอย่าง ท้ายที่สุดจะมาบอกว่าประเทศเราต้องใช้วัฒนธรรมในการขับเคลื่อน พูดเรื่องการผลักดัน soft power มันก็ตอแหลน่ะ


คำว่า ‘ทุนนิยม’ เป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง สำหรับคุณ ตีความและใช้สัญลักษณ์อะไรถ่ายทอดหัวใจของคำคำนี้

สัญลักษณ์ของทุนนิยมที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเรา คือการพูดไม่ได้ พูดถึงมันไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ มันเป็นการทำลายเจตจำนงของระบบเสรีประชาธิปไตย ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีอิสรภาพ ทุนนิยมที่ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงบางสิ่งบางอย่างได้ คือทุนนิยมที่สามานย์ที่สุด


คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะมากว่า 20 ปี เห็นภาพไหมว่าคนทำงานศิลปะในบ้านเรามีโอกาสเติบโตได้โดยไม่พึ่งพารัฐหรือกลุ่มทุนมากน้อยแค่ไหน

ตอนนี้เราก็พยายามทำกันอยู่ และเริ่มเห็นว่ามีแพลตฟอร์มของคนทำงานที่เข้าใจเรื่องศิลปะมากขึ้นโดยไม่ต้องยึดโยงอยู่กับรัฐ ให้รัฐช่วยเป็นเจ้าภาพอย่างเดียว เริ่มมี dialogue ของศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบทางเลือกมากขึ้น เช่น BIPAM (Bangkok International Performing Art : เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ) เราไม่แน่ใจว่าเขาหาทุนมาจากไหน แต่นี่ก็เป็นตัวอย่างพื้นที่ตัวกลางของคนทำงานโดยตรง ซึ่งไม่ต้องมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ดูมีอนาคตมากกว่า สร้างสรรค์กว่า

เรามองว่าถ้าเป็นทุนที่ฉลาดพอ ต้องให้อิสระคนทำงานอย่างเต็มที่นะ จะวิพากษ์คนให้ทุนเองก็ยังได้ถ้าคุณฉลาดพอจะรู้ว่านี่คือหนทางการเติบโตของงานศิลปะ เราเคยได้ยินกรณีว่ามีหน่วยงานให้ทุนทำหนังเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องศาสนา แนวย้อนยุคทำนองนี้ พอเขาทำออกมาแล้ว คนให้ทุนกลับรู้สึกว่าไม่ตรงกับที่ตัวเองอยากเห็น อาจจะโฆษณาชวนเชื่อไม่มากพอ เพราะผู้กำกับที่ทำมีวิธีคิดแบบตั้งคำถาม ตัวละครมีการนำเสนอแบบตั้งข้อสงสัย ซึ่งจริงๆ เป็นวิธีคิดที่ก้าวหน้ามากเลยนะ แต่ปรากฏว่าไม่ถูกใจคนให้ทุน จึงไม่น่าได้ฉาย ทั้งที่ถ้าเขายอมฉายให้คนดูได้ ในแง่หนึ่ง คนก็จะเห็นความก้าวหน้า ความใจกว้างของตัวคนให้ทุนเองด้วยซ้ำ



ภาวะที่กลุ่มผู้ให้ทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนเปราะบางกับการถูกตั้งคำถามจากงานศิลปะ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นแค่ในไทยหรือเปล่า

ส่วนใหญ่เท่าที่เรารู้มา การให้ทุนสนับสนุนคนทำงานศิลปะในต่างประเทศ เขาไม่มาแตะต้องเรื่องเนื้อหาเลย อยากทำอะไรก็ทำไป แต่ทุนของรัฐบ้านเราเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องไอเดียเลย ต้องทำตามกระบวนการของเขาทุกอย่าง แล้วเนื้อหาต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก บางครั้งไม่ได้ดู proposal เลยด้วยซ้ำ แค่ดูชื่อกลุ่มหรือชื่อคนก็ไม่ให้แล้ว

ส่วนทุนจากภาคเอกชน หลายแห่งก็กังวลเรื่องการออกชื่อมาก อย่างผมทำละครการเมือง เคยไปขอทุนแล้วเขาบอกว่าไม่ต้องออกชื่อก็ได้ เอาไปเลย แสดงให้เห็นว่าเขามองประเด็นบางอย่างเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ถ้าเราไม่มีเพดาน ใครสามารถทำประเด็นอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ คงไม่มีเรื่องข้อจำกัดหรือข้อกังวลเหล่านี้ และเราน่าจะได้เห็นความรุ่งเรืองของงานศิลปะ ความหลากหลายทางด้านเนื้อหา เพราะตอนนี้ก็มีเพียงไม่กี่ประเด็นที่พอจะทำได้และทำวนเวียนกันอยู่


คุณเป็นศิลปินที่ทำการแสดงเพื่อสื่อสารประเด็นปัญหาสังคมการเมืองมาโดยตลอด พอมองเห็นภาพไหมว่าในแวดวงคนทำงานศิลปะมีแนวโน้มผลิตงานเกี่ยวกับประเด็นสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นบ้างไหม

ถ้าเป็นงานศิลปะรุ่นใหม่ เราเห็นว่าคนสนใจเรื่อง archive มากขึ้น ใช้วัตถุพยานในการต่อสู้ต่างๆ มาสร้างเป็นชิ้นงานขึ้นมา เช่น งานที่พูดถึงเรื่อง 6 ตุลา ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชน ก็มีการสืบเสาะหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง วัตถุพยาน ทำงานกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นแทนการเล่าเรื่อง What? Where? When? Why? ธรรมดา กระทั่งตัวศิลปินสาย visual art หรือ video art ก็ทำงานดุเดือดเผ็ดร้อนขึ้นเหมือนกันนะ แล้วแกลเลอรีหลายที่ก็เริ่มจัดแสดงงานเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งคงเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ การเคลื่อนไหวบนท้องถนนช่วงที่ผ่านมา

พอการต่อสู้บนท้องถนนสามารถดันเพดานได้สูงขึ้น เราคิดว่าศิลปินเองก็ไม่ควรเหนียมอายที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ เพราะตัวคุณก็มีกลยุทธ์ กลวิธีในการยั่วล้อ หรือจะประจันหน้าก็ยังได้เลย ธรรมชาติของงานศิลปะเปิดพื้นที่ให้คนตีความได้อยู่แล้ว

ในแวดวงการละคร ผลงานใหม่ๆ ของหลายกลุ่มก็เริ่มทำงานประเด็นนี้เช่นกัน เช่น ‘สี่วันในเดือนกันยา‘  (Four Days in September (The Missing Comrade)) ของเบสท์ – วิชย อาทมาท ก็ชัดเจนพอสมควร ยังไม่นับว่าผลงานนักศึกษาที่พูดเรื่องการเมืองก็เยอะมาก


การที่ศิลปินหันมาทำงานศิลปะเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนในวงการตื่นตัวเรื่องการเมือง หรือเป็นแค่เทรนด์ใหม่ที่ทำออกมาแล้วมีคนสนใจจำนวนมาก

เราไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ว่าเขาคิดยังไง แต่สำหรับเราที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้มาตลอด คิดว่าเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนออกมาทำงานเรื่องการเมืองมากขึ้น สมัยก่อน ฝั่งที่โปรประชาธิปไตย หรือมีแนวคิดตั้งคำถามกับความเป็นอนุรักษนิยมทำงานออกมาได้น้อย เพราะมักเจอแรงเสียดทาน ในส่วนของการแสดงในโรงละครเราไม่มีปัญหาเพราะไม่มีคิวเรเตอร์ จะเล่นประเด็นไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะทำหรือเปล่า แต่เราเข้าใจว่าในนิเวศของงานศิลปะสายอื่นๆ มีอะไรมากกว่านั้น บางทีระบบการซื้องานหรือคิวเรตงานอาจจะไม่เอื้อ บางงานก็จัดแสดงไม่ได้เพราะเจ้าของพื้นที่ไม่ให้ทำ ดังนั้น พอมาตอนนี้ที่การเคลื่อนไหวบนท้องถนนได้เปิดเพดาน จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ความอัดอั้นตันใจระเบิดออกมา

มันอาจจะถือเป็นเทรนด์ของงานศิลปะช่วงนี้ก็ได้ เพราะไม่ว่าใครๆ ก็พูดถึงเรื่องการเมือง กระทั่งต่างชาติเองก็ยังสนใจ คิวเรเตอร์หรือโปรดิวเซอร์ในเมืองนอกอยากรู้ว่าคุณทำอะไร ประเทศคุณเกิดอะไรขึ้น คุณมีงานอะไรที่สื่อสารประเด็นในปัจจุบันบ้าง หากคุณมีแต่งานที่พูดถึงแค่อดีต อดีต อดีต มันก็ล้าสมัยไปแล้ว ถ้าต่างชาติสนใจสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทย ก็ยิ่งสนใจว่าตัวศิลปินจะพูดถึงเรื่องประเทศไทยยังไง นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนลุกขึ้นมาทำงานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มันเกี่ยวข้องกับตลาด คนดูเขาอยากรู้ และนิเวศของคนทำงานศิลปะที่สนับสนุนมากขึ้น 


ถ้าสถานการณ์การเมืองยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเดิม เราอาจจะได้เห็นผลงานศิลปะที่พูดประเด็นเดิมๆ ซ้ำกันหรือเปล่า

มันยังทำไปได้อีกนาน แต่สำหรับเรื่องประเด็น ผมว่าเรายังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ทำและทำไม่ได้ อย่างเรื่องในอดีต เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำได้ไหม พาดพิงจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ไหม พูดถึงกรณีที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อดีตที่เหมือนแดนสนธยาของเราได้ไหม ถ้าหยิบมาพูดได้นะ โอ้โห จะน่าสนใจมาก เหมือนฝรั่งเล่นเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเล่น เรื่องสงครามโลกนี่ไม่รู้จะหยิบมุมไหนมาเล่นแล้ว แต่ก็ยังขายได้อยู่

เทียบกับบ้านเราแล้วจะพูดอะไรสักอย่างยากมาก ล่าสุด ผมไปช่วยเป็นโค้ชกำกับการแสดงให้หนังเรื่องหนึ่งของผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่มีกำหนดการเผยแพร่เร็วๆ นี้ พูดถึงหลายประเด็นมาก จนเราคุยกันว่าสงสัยต้องเอาไปชนะรางวัลอะไรสักอย่างในเมืองนอกให้ได้ก่อน ถึงค่อยจะนำกลับมาฉายได้ เพราะกองเซ็นเซอร์ของเราไม่รู้เป็นอะไร ต้องให้ได้รับการยอมรับจากฝรั่งก่อนถึงค่อยยอมลงให้ ตอนนี้หลายคนก็ใช้วิธีนี้ในการโปรโมตผลงานไปแล้ว

ในมุมมองของคนทำงานละครอย่างเรา ผลงานของเราคือการโชว์แต่ละรอบ เกิดขึ้น มีอยู่ แล้วก็จบลงไป ไม่ได้มีตัวชิ้นงานที่คงทน พอการแสดงแต่ละรอบมีต้นทุนค่อนข้างสูง ถ้ามีโอกาสเราก็อยากนำมันไปเผยแพร่ในสื่อช่องทางอื่นๆ ให้ตัวมันทำงานต่อกับผู้ชมวงกว้างขึ้น แต่สุดท้ายก็มาติดระบบกองเซ็นเซอร์นั่นแหละ บางงานเขาก็ตีความไปแล้วว่าสุ่มเสี่ยง ทำให้งานไปไหนต่อไม่ได้


นอกจากระบบกองเซ็นเซอร์ที่ทำให้งานละครไปต่อไม่ได้ เรื่องการจับจ้องจากเจ้าหน้าที่รัฐที่คุณเคยพบมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเดิมไหม

ทุกวันนี้ตัวของศิลปินถูกจ้องเล่นงานด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเดินพรมแดงที่สีลม หรือศิลปินที่ไปทำการแสดงเป็นศพอยู่ที่เชียงใหม่ ต่างโดนฟ้องด้วยมาตรา 112 ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็ตีความว่าเข้าข่ายการกระทำความผิด ซึ่งเรางงมากว่าแล้วตอนนี้เราต้องสอนละครกันแบบไหน เราแสดงเป็นท่าทางอยู่ในอากาศ ปล่อยให้ผู้ชมเป็นคนตีความ ในทางกฎหมายกลับตีความฟันธงว่าเป็นความผิดกันแล้วเหรอ บางกรณีผมต้องไปเป็นพยานให้จำเลยเพื่อยืนยันว่าการแสดงสามารถตีความได้หลากหลาย ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ตีความได้แค่แบบเดียว

ช่วงที่ผ่านมามีคดีอย่างนี้เพิ่มขึ้น หรือบางทีเจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่าจะมาดูการแสดง อย่างเรื่อง Fundamental (จัดแสดงโดย B-Floor) ที่เล่นเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลา เขาบอกว่าจะมา แต่สุดท้ายก็ไม่มา อุตส่าห์รอดูหน้า ที่ผ่านมากลุ่มของเราโดนเพ่งเล็งอยู่แล้ว คิดว่าเราน่าจะอยู่ใน watching list ของเขามาตลอด 



สุดท้าย โลกยูโทเปียในแบบของคุณเป็นอย่างไร

(ถอนหายใจ) มันก็เป็นเรื่องที่พูดยากนะ เวลาพูดว่าเราอยากให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิ มีเสรีภาพในการแสดงออก มันเรียกว่ายูโทเปียหรือเปล่า ทั้งที่มันคือสิทธิโดยพื้นฐาน หลายเรื่องเช่นค่าแรง ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เราก็ควรได้มากขึ้น หรือสิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคามโดยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มันก็เป็นเรื่องพื้นฐานนะ หรืออย่างสิทธิในการรักษาโรคภัย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราควรต้องมาเรียกร้องไหมวะ ทุกวันนี้เราต้องมาต่อสู้เพื่อสิทธิพวกนี้ เพื่อรัฐสวัสดิการ

ตอนนี้กติกาหรือรัฐธรรมนูญของเราถูกเขียนโดยคนไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม ดังนั้นผลประโยชน์ก็ถูกจำกัดอยู่แค่คนบนปลายยอดของพีระมิด เมื่อไหร่เราจะแชร์ผลประโยชน์ให้คนข้างล่างได้บ้าง อาจไม่ใช่การแบ่งให้เท่ากันทั้งหมดเลย แต่อย่างน้อยที่สุด ฐานพีระมิดก็ไม่ควรกว้างเกินไป มันควรแคบลง หรือเปลี่ยนจากพีระมิดเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมูได้ไหม 8 ปีที่ผ่านมา เงินที่รัฐบาลนำไปถลุงหรือใช้จ่ายมีอะไรบ้าง แล้วอะไรบ้างที่มอบให้ประชาชน เราเห็นกันอยู่โต้งๆ แล้วทำไมประชาชนจะพูดไม่ได้ ทำไมสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้หน้าด้านๆ ทุกวัน

ยูโทเปียสำหรับเราที่เริ่มต้นทำได้เองตอนนี้คือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่กี่เดือนข้างหน้า คุณต้องเลือกเพื่อสังคมในอุดมคติของคุณด้วยตัวคุณเอง


หรือว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยตอนนี้คือดิสโทเปีย

มันเป็น แต่มันมีอะไรฉาบอยู่ เราเลยไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ จริงๆ สังคมเราเป็นดิสโทเปียแบบลึกๆ แบบร้าวๆ โครงสร้างสังคมเราเปราะบาง แค่มันยังไม่ล้มลงมา และเราอาจจะยังไม่ทันเห็นคนที่ล้มหายไปจากระบบเท่านั้นเอง


Utopia Now

Utopia Now

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save