fbpx

คู่มือรู้ทันวาทกรรมไล่ที่: กรณีศึกษาศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่นับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้น ความต้องการพื้นที่เพื่อใช้พัฒนาสำหรับหากำไรสูงสุดของกลุ่มทุนก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่นับได้ว่าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ด้วยพื้นที่ในเมืองมีอยู่อย่างจำกัด และมีผู้อาศัยอยู่เดิมก่อนหน้าแล้ว จึงเกิดการไล่ผู้อยู่อาศัยเดิมที่ไม่ตอบโจทย์กับการสร้างความมั่งคั่งออกไปและแปลงพื้นที่ให้ชนชั้นกลางและชนชั้นสูง (รวมถึงชาวต่างชาติ) ที่มีกำลังทรัพย์เข้ามาจับจ่ายใช้สอยแทนที่ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า gentrification

ในระยะยาวกระบวนการดังกล่าวนี้สร้างปัญหาที่ส่งผลกับสังคมในวงกว้าง คนชั้นล่างจะถูกผลักออกไปนอกเมืองหรือถูกบังคับให้อาศัยในพื้นที่แออัดที่มีคุณภาพชีวิตแย่ ค่าครองชีพในเมืองจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ชนชั้นกลางเองก็จะค่อยๆ ถูกผลักออกไปเช่นเดียวกัน เมืองจะถูกควบคุมและเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มทุนใหญ่ให้ตอบสนองกับผลประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้คนในเมือง ความเป็นชุมชน หรือคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม หากสิ่งใดไม่ตอบโจทย์รสนิยมของผู้เข้ามาใหม่ก็ไม่อาจจะอยู่รอด

ในยุคปัจจุบัน การลงทุนเพื่อเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ทำให้เกิดปัญหา gentrification ขึ้นแทบจะทุกเมืองใหญ่ ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ในโลกต้องเผชิญด้วย

ในประเทศไทย การไล่ที่ชาวบ้านเพื่อพัฒนาราคาอสังหาริมทรัพย์ปรากฏอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์คู่ขนานไปกับแนวคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน แทบทุกครั้งผู้อยู่อาศัยเดิมก็ไม่ยอมศิโรราบต่อกระบวนการ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน และตัวเองใช้ชีวิตที่นี่มาตลอดจะปรับตัวใหม่กับที่ใหม่อย่างไร อีกทั้งมีความผูกพันกับสถานที่ที่ตนเคยอยู่ จึงเกิดการขัดขืนต่อต้านการไล่ที่ และนายทุนก็มักโต้ตอบอย่างไม่ปราณี

ในอดีต วันดีคืนดีก็บังเอิญมีไฟไหม้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นกลางชุมชนที่ต่อต้าน ส่งผลให้ทั้งชุมชนกลายเป็นซากตอตะโกที่อาศัยไม่ได้อีกต่อไป พร้อมกับบังเอิญอีกเช่นกันที่นายทุนมีแผนทำธุรกิจเตรียมพร้อมอยู่พอดีจึงสามารถเริ่มก่อสร้างได้แทบจะทันทีหลังจากที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า แท้จริงแล้วความบังเอิญนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญจริงๆ นี่คือวิธีการที่เรียกว่า ‘การเผาไล่ที่’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้กันดีในหมู่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะการลอบวางเพลิงจะผิดกฎหมาย แต่ด้วยข้อจำกัดของคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากเสียง ก็ทำให้ยากจะจับมือใครดมได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่มักถูกหยิบยกมาใช้สำหรับชุมชนที่กระด้างกระเดื่อง

ในอดีตที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เคยมีกรณีเพลิงไหม้ปริศนาขึ้นหลายครั้ง หนึ่งในนั้นมีบันทึกไว้ในหนังสือ กบฏจีนจน บนถนนพลับพลาไชย ของสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ว่าหลังเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในที่ดินเช่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวบ้านในชุมชนชาวจีน (ซึ่งในเวลานั้นถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าวและถูกเหยียดหยาม) รวมตัวกันล้อมโรงพักปทุมวัน แสดงความโกรธเกรี้ยว พวกเขาจะไปล้อมโรงพักทำไม หากเพลิงไหม้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเองก็รับรู้ว่าไฟไหม้นี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุธรรมดาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการจับจ้องของสาธารณชนและบทบาทของสื่อภาคพลเมืองทำให้การเผาไล่ที่ไม่อาจทำได้โดยสะดวกนัก กลุ่มทุนเจ้าของที่จึงเลือกใช้วิธีอื่นอย่างการใช้ข้อกฎหมายฟ้องขับไล่ แต่ลำพังเพียงข้อกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ใช่พลังที่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคที่ทุนต้องถูกมองว่ามีหัวใจด้วยแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมให้ปรากฏในสายตาของสาธารณชนไปด้วยผ่านการผลิต ‘วาทกรรม’ ที่มีลักษณะเฉพาะประเภทหนึ่งออกมา วิธีสมัยใหม่นี้ให้ผลดีต่อนายทุนเสียยิ่งกว่าการเผาไล่ที่ซึ่งเคยทำมาก่อน เพราะเป็นกลวิธีซึ่งซ่อนความโหดร้ายของการไล่ที่เอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ย้อมสีทำให้สาธารณชนไม่เห็นถึงความเลือดเย็น ความกระหายเงินทอง หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แถมยังอาจจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะเสียด้วย ทั้งที่ความจริงวิธีสมัยใหม่นี้ก็โหดร้ายไม่ต่างจากการเผาไล่ที่เลย

บทความนี้จะพูดถึงเทคนิคเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนสังเกตเห็นมาตลอดหลายปี ผ่านการวิเคราะห์การใช้วาทกรรมของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) รวมถึงสื่อฝ่ายสนับสนุนสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ในการทำลายความชอบธรรมการมีอยู่ของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

แปลงจากผู้ร้ายเป็นพระเอก: อ้างเชี่ยวชาญการอนุรักษ์

“PMCU ตระหนักและให้ความสำคัญในทุกรายละเอียดของศาลโดยการปรับปรุงและย้ายศาลอยู่ในการดูแลของนักอนุรักษ์และทีมก่อสร้างเชิงอนุรักษนิยมที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หลักการดำเนินงานคำนึงถึงเอกลักษณ์ดั้งเดิมพร้อมรักษาสถาปัตยกรรมร่วมสมัยโดยมีที่ปรึกษาเป็นคณาจารย์ที่มีความรู้ที่ได้ศึกษาประวัติเจ้าแม่ทับทิมและสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีนโดยเฉพาะ … โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมให้มากที่สุด …”[1]

ข้อความข้างต้นนี้แถลงโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ในช่วงที่มีประเด็นดราม่ากรณีรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม หากอ่านผ่านๆ ไม่คิดอะไรมากก็คงตกหลุมเชื่อ เพราะในข้อความมีทั้ง ‘นักอนุรักษ์และทีมก่อสร้างเชิงอนุรักษนิยม’ มีทั้ง ‘คณาจารย์ที่มีความรู้ที่ได้ศึกษาประวัติเจ้าแม่ทับทิมและสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีนโดยเฉพาะ’ อ่านแล้วก็มีแต่จะต้องกล่าวประณามพวกไม่ยอมให้ย้ายศาลที่ดื้อดึงหัวโบราณ แต่วาทกรรมนี้ก็เป็นกลลวงอย่างหนึ่ง เป็นการแปลงตัวร้ายให้กลายเป็นตัวเอก กล่าวคือ ในที่สุดแล้ว ศาลเจ้าที่จุฬาฯ สร้างขึ้นใหม่ (โดยไม่ได้ปรึกษากับทางศาลเก่า) มีลักษณะที่ไม่ตรงกับขนบการสร้างศาลเจ้าจีนหลายประการ ตัวอักษรจีนก็มีส่วนที่เขียนผิดอย่างไม่น่าให้อภัย หรือแม้กระทั่งการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผิดไปจากขนบการสร้างอาคารจีนแบบแต้จิ๋ว

หลักฐานเชิงประจักษ์เหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่าไม่มีการใช้อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบหรืออนุรักษ์แต่อย่างใด แต่แถลงการณ์ข้างต้นนี้ก็มีส่วนที่ทำได้จริงอยู่บ้างในส่วนที่ระบุว่า “… ปรับเปลี่ยนเป็นหลังคา Skylight นำแสงเข้าสู่บริเวณที่บูชา …” ซึ่งหากสังเกตจากศาลใหม่ที่จุฬาฯ สร้าง ณ อุทยาน 100 ปีจะพบว่ามีลักษณะเช่นนี้จริง คือหลังคาเป็นกระจกเปิดให้แดดส่องลงมาทั่วถึง อย่างไรก็ดี การสร้างศาลในลักษณะนี้ก็ขัดกับข้อความก่อนหน้าที่อ้างการอนุรักษ์ เพราะแสดงให้เห็นถึงปัญหาขาดความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับคติพื้นฐานของฮวงจุ้ยเรื่องอิม-เอี้ยง ซึ่งโดยปกติศาลเจ้าจีนจะต้องเปิดให้แสงส่องเข้ามาได้น้อย เพราะพลังงานของเทพจีนถือเป็นพลังงานหยินที่จะทรงเทวานุภาพได้เมื่ออยู่ในที่มืดและเย็น ไม่ใช่ที่ร้อนและสว่างอย่างที่ทำไว้

ประเด็นเหล่านี้อาจจะมองอย่างผิวเผินได้ว่าสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ บกพร่องเชิงข้อมูล แต่เมื่อพิจารณาถึงคำกล่าวอ้างใหญ่โตข้างต้นนี้ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพทั้งต่อศาลเจ้าและชุมชน เพราะในข้อความพูดถึงแต่ผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่คำนึงถึงชาวบ้านในพื้นที่และชุมชน สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญก็คือคำปลอบใจปลอมๆ ที่ผู้มีอำนาจบางส่วนในมหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ใช้หลอกสาธารณชนให้วางใจ แต่ยังใช้หลอกตัวเองให้คลายความกังวลว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ไม่ชอบอยู่ จะได้นอนหลับอย่างเป็นสุข ไม่รู้สึกผิดบาป

นอกจากกรณีของศาลเจ้าแม่ทับทิมแล้ว เรายังพบเห็นการใช้วาทกรรมนี้ในกรณีอื่นๆ อีก หนึ่งในนั้นคือกรณีโรงภาพยนตร์สกาลาที่มีกระแสว่าจะถูกทุบและเป็นที่ทักท้วงของสาธารณชนมาตลอดปี 2561 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ระบุว่า “สำนักงานยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า เราไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด เรายังคงอยากให้ผู้เช่าประกอบการในส่วนอาคารสกาลาทั้งหมดต่อไปจนกว่าเวลาเหมาะสม … ทางสำนักงานฯกำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับสกาลา … [2]

สามปีให้หลัง สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ก็ให้สัมปทานที่ดินบริเวณสกาลาไปกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (ปี 2564) กลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทานที่ดินก็ปลอบประโลมสาธารณะว่า “โครงสร้างเก่าเป็นโรงหนังสกาลา เราจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าไว้ให้มากที่สุด[3] แต่ในที่สุดคำสัญญาราวกับพระเอกดังกล่าวก็เผยธาตุแท้ของผู้ร้ายอย่างชัดเจน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 สกาลาถูกรื้อโดยไม่ประกาศล่วงหน้า สร้างความตกใจให้แก่ผู้ทราบข่าวเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีใครทันตั้งตัวจะตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น

กระนั้น หากติดตามเรื่องความเป็นไปของสกาลาอย่างละเอียดจะพบว่าการรื้อนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจสักเท่าไหร่ เพราะสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ไม่เห็นคุณค่าของสกาล่าจริงๆ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า “ต้องยอมรับกันก่อนว่า สกาลาถึงขั้นที่เป็นประวัติศาสตร์หรือเปล่า ซึ่งผมมองว่าเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นแบบวัดพระแก้วขนาดนั้น แต่แน่นอนว่าก็เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่า มีคนที่ชื่นชอบมากน้อยแค่ไหน และคิดเห็นว่าอย่างไร มีคุณค่ามากน้อยขนาดไหน …[4] เช่นเดียวกับกรณีของสกาลา คำกล่าวนี้ของ รศ.ดร.วิศณุ อาจทำให้เราตั้งคำถามถึงนัยเบื้องหลังแถลงการณ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ว่าแท้จริงแล้วก็ไม่เห็นว่า มีคุณค่าขนาดนั้น แต่ที่การอ้างว่ามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เพื่อจะลดแรงต้านทานของสาธารณชนในช่วงนั้นเท่านั้นเอง

ภาพเปรียบเทียบศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง (ภาพบน) และศาลเจ้าใหม่ของจุฬาฯ ณ อุทยาน 100 ปี (ภาพล่าง)

เล่นบทบาทนักพัฒนาทันสมัย: อ้างว่าสกปรก

“… ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ติดถนนบรรทัดทอง มีความพร้อมในทุกด้านทั้งความปลอดภัย สะดวก สะอาด มีที่จอดรถ สถานที่เข้าถึงได้ง่าย มีพื้นที่รองรับการจัดแสดงประจำปีในบรรยากาศที่ดี …”[5]

อีกเหตุผลที่ถูกหยิบยกมาอ้างเพื่อสนับสนุนการรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมคือ ศาลเดิมเก่า สกปรก นัยเห็นได้จากแถลงการณ์ข้างต้นของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความคิดเกี่ยวกับเรื่องความสะอาดอย่างชัดเจน โดยเป็นการอ้างบทบาทนักพัฒนาที่ทันสมัยและอ้างว่าศาลเจ้าที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ สร้างขึ้นใหม่มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะมีความสะอาดตามแบบสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นความสะอาดและสะดวกสบายเป็นหลัก โดยมองข้ามมิติสำคัญทางด้านความเชื่อของศาสนสถานไป เช่นที่เรามองพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยว่าศักดิ์สิทธิ์กว่าพระพุทธรูปทองเหลืองที่เพิ่งออกจากโรงหล่อได้สองสามวัน แม้ว่าพระพุทธรูปสุโขทัยจะเก่าและอาจมีฝุ่นเกาะ แต่เราก็ไม่มองว่านั่นคือความสกปรก ในทางตรงข้ามคือยิ่งทำให้ดูขรึมขลังมากขึ้น สำหรับวัตถุทางความเชื่อแล้วสิ่งสำคัญจึงไม่ใช่ความใหม่และสะอาด แต่คือเรื่องราวของผู้คนที่หล่อหลอมอยู่ในนั้นต่างหาก

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า “… ปรับเปลี่ยนการจากการจุดธูปเทียนแบบเดิมที่มีฝุ่นควัน โดยคำนึงถึงการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมด้วยเครื่องบูชาโคมประทีปแบบไฟฟ้าไร้ควัน …” ซึ่งชี้ให้เห็นแนวคิดความสะอาดแบบสมัยใหม่ที่มองว่าควันธูปเป็นสิ่งแปลกปลอม โดยไม่เข้าใจว่าควันธูปและศาลเจ้าเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน สุดท้าย วาทกรรมเหล่านี้ก็คือคำลวงอีกนั่นเอง เมื่อศาลเจ้าที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ สร้างเสร็จก็ยังมีการจุดธูปควันโขมงไม่ต่างจากศาลเจ้าทั่วไป ไม่ได้ใช้ระบบธูปไร้ควันดังที่อ้างเอาไว้ การหยิบยกเรื่องความสกปรกจึงเป็นข้ออ้างสำหรับการไล่ที่มากกว่าจะมีความหมายจริงๆ

ความสกปรกถือเป็นหนึ่งในวาทกรรมยอดนิยมที่ถูกหยิบยกมาใช้สร้างความชอบธรรมในการไล่คนจนอยู่เสมอ ชุมชนคลองเตยก็เคยต้องเผชิญหน้ากับวาทกรรมแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่มีการตีข่าวเสมือนว่าชุมชนเป็นแหล่งระบาดของโควิด หากมองลงลึกแล้ว ความสกปรกในที่นี้ อาจกล่าวได้ว่า คือสิ่งเก่าที่ไม่สามารถขายเพื่อแลกเม็ดเงินในระบบตลาดได้นั่นเอง เมื่อเรายอมรับว่าสถานที่ดังกล่าวเก่าและสกปรก กลุ่มทุนก็จะเสนอโครงการของตนเองเข้ามาปรับปรุงทำความสะอาดเหมาะสมกับการใช้งาน โดยแอบซ่อนข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มคนที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงใหม่เป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มเดิมไปแบบเนียนๆ

เอานิสิตเป็นโล่ป้องกันตัว: อ้างว่าเพื่อการศึกษาและประโยชน์ใช้สอยของนิสิต

“… แผนพัฒนาพื้นที่นี้จัดให้เป็นหอพักสำหรับนิสิต 972 ห้องรองรับได้ 2,200 กว่าคน และบุคลากรและบุคคลทั่วไป 831 ห้องเนื่องจากที่พักของจุฬาฯ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถือเป็นการสนับสนุนในด้านการศึกษาเพื่อให้มีการเดินทางในรอบนอกน้อยลงและลดผลกระทบด้านมลภาวะและจราจรที่เกิดขึ้น …” [6]

ในแถลงการณ์ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ พยายามก่อร่างสร้างวาทกรรมว่าเหตุที่ต้องไล่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เพราะจำเป็นต้องใช้พื้นที่ส่วนนี้สร้างที่พักอาศัยให้นิสิตเพื่อแก้ปัญหาที่พักอาศัยไม่พอ ข้ออ้างนี้ช่วยลดแรงกระแทกจากการที่นิสิตจะต่อต้าน รวมถึงสาธารณะจะตั้งคำถามถึงการแสวงหากำไรอย่างไม่หยุดยั้ง แต่หากพิจารณาลงลึกแล้ว ข้อความนี้ก็กำลังอำพรางข้อเท็จจริงอยู่หลายประการ

ประการแรก ข้อมูลจากรายงาน EIA ‘โครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 33’ [7] ระบุว่าโครงการดังกล่าวถูกออกแบบมาให้เป็นทั้งอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนที่เป็นห้างมิกซ์ยูส (mixed-use) และส่วนที่อยู่อาศัยคล้ายกับโครงการจามจุรีสแควร์และสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อพิจารณากรณีจามจุรีสแควร์จะพบว่าแทบไม่มีนิสิตเช่าที่อยู่อาศัยในอาคารดังกล่าวได้ เพราะราคาค่าเช่าสูงมาก

ส่วนกรณีสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อไม่กี่ปีก่อน มหาวิทยาลัยให้สัมปทานกับบริษัททุนขนาดใหญ่สร้างห้างแห่งนี้และสัมปทานสร้างโรงแรมและคอนโด โดยโฆษณาให้นิสิตเช่าเป็นสัญญา 30 ปี ซึ่งที่พักมีราคาเช่าสูงมาก ไม่ว่าจะเช่าโดยตรง 30 ปี หรือเช่าช่วงต่ออีกที ทำให้นิสิตที่ไม่ได้มีรายได้มากไม่สามารถอยู่อาศัยได้  ส่วนโครงการบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมนั้น ก็ควรถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่าการสร้างอาคารใหม่นี้จะซ้ำรอยเดิมที่มีแต่นิสิตที่มีเงินมากพอจึงจะอยู่ได้ ขณะที่นิสิตที่ต้องการที่พักจริงๆ ต้องไปแย่งที่อยู่หอในที่ไม่เพียงพออยู่เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่น่าจะขาดแคลนจริงๆ คือ ‘ที่พักราคาถูก’ ไม่ใช่ที่พักสำหรับคนมีเงินที่มีเกลื่อนรอบจุฬาฯ อยู่แล้ว  การจะทุบทำลายศาลโดยอ้างนิสิตจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาขาดแคลนที่พักราคาถูกของนิสิต ทำให้ไม่อาจอ้างได้ว่าเป้าหมายแท้จริงของการสร้างอาคารใหม่นี้ คือการแก้ปัญหาความต้องการที่พักได้อย่างเพียงพอ

ภาพโครงการจากรายงาน EIA
ภาพโปรโมตโครงการที่ปัจจุบันเริ่มมีการส่งเฉพาะในกลุ่มไลน์บุคลากรของจุฬาฯ แล้ว

ประการที่สอง ต่อให้บางคนจะปักใจเชื่อว่าโครงการนี้จะแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่พักราคาถูกได้จริง ก็ยังสามารถตั้งคำถามต่อความจำเป็นในการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม ข้อมูลจากรายงาน EIA ระบุว่าบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าไม่ได้ทับกับโครงสร้างของอาคารหลักทั้งสองอาคาร เพราะตามแผนบริเวณดังกล่าวจะถูกทำให้เป็นพื้นที่สวนดังภาพที่แนบมา โดยปัจจุบันการก่อสร้างส่วนโครงสร้างหลักดำเนินไปเกือบจะครบแล้ว แต่ศาลเจ้าก็ตั้งอยู่ได้ ดังนั้น การจะปรับแผนการก่อสร้างให้ศาลเจ้าตั้งอยู่ในพื้นที่สวนจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไรอยู่แล้ว อาคารที่อ้างว่าจะทำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่พักก็ยังสร้างได้ดังเดิม

ภาพผังการก่อสร้างจาก EIA และตำแหน่งศาลเจ้าแม่ปัจจุบัน โดยส่วนสีเขียวคือบริเวณที่จะทำเป็นพื้นที่สวน

ประการที่สาม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ไม่สามารถอ้างได้อย่างเต็มปากว่ารายได้จากการบริหารอสังหาริมทรัพย์จะไปสนับสนุนการศึกษา เพราะไม่ได้มีการเปิดเอกสารแก่สาธารณชนว่า ในหนึ่งปีจุฬาฯ มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์เท่าไหร่ เอาไปใช้สนับสนุนการศึกษาร้อยละเท่าไหร่ หากสนับสนุนการศึกษาเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยทฤษฎีก็สามารถอ้างได้แล้วว่าสนับสนุนการศึกษา แต่นั่นย่อมขัดต่อพันธะหน้าที่ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งต้องเน้นการสนับสนุนการศึกษาเป็นหลัก ไม่ใช่แค่แบ่งเงินส่วนน้อยมาสนับสนุนการศึกษา ขณะที่ส่วนใหญ่ไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ก็ยังไม่แน่ใจว่าประโยชน์จะไปตกที่ใครกันแน่

การอ้างประโยชน์ของคนหมู่มากในกรณีแบบนี้ถือเป็นวาทกรรมที่มักถูกยกมาใช้ในการไล่ที่อยู่เสมอ หลักการทำงานของวาทกรรมนี้เป็นการสร้างน้ำหนักให้แก่ทางเลือกในการรื้อถอน โดยอ้างว่าการไล่รื้อเพื่อสร้างสิ่งใหม่นี้จะเกิดผลที่ดีมากเสียจนทำให้มองข้ามข้อเสียอื่นๆ ไปได้หมด หากคุณเป็นคนส่วนน้อยก็จงยอมเสียสละให้แก่คนส่วนใหญ่ซะ! วาทกรรมลักษณะนี้ให้ภาพลวงตาเกี่ยวกับกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง โดยทำให้เหมารวมไปว่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกคน แต่หากวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ก็คือนายทุน และที่อาจได้ประโยชน์อยู่บ้างเล็กน้อยคือกลุ่มผู้ที่มีกำลังทรัพย์พอจะซื้อของ แต่คนส่วนใหญ่ของสังคมจริงๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไหร่เลย

แน่นอนด้วยว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ใช่กรณีแรกที่ถูกอ้างว่าต้องย้ายเพื่อประโยชน์แก่นิสิต ทุกครั้งของการไล่รื้อสถานที่ที่มีคุณค่าทางสังคม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ก็มักจะยกเรื่องประโยชน์ทางการศึกษาของจุฬาฯ มาถ่วงดุลเสมอ กรณีที่จะยกมาชี้ให้เห็นก็คือกรณีหอพัก CU I-House (หอพักเรือนวิรัชมิตร) และกรณีทริปเปิ้ลวายของสามย่านมิตรทาวน์ สำหรับกรณีแรก ก่อนจะเป็น CU I-House พื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นโรงเรียนสวนหลวง[8] ซึ่งดำเนินการมากว่า 74 ปี และเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านแถวนั้นที่ไม่ได้มีรายได้สูงมาก โรงเรียนสวนหลวงปิดตัวลงเนื่องจากจุฬาฯ ไม่ต่อสัญญาเช่าให้ เพื่อนำพื้นที่ไปสร้าง CU I-House โดยอ้างว่าเป็นที่พักอาศัยสำหรับนิสิตและบุคลากร อย่างไรก็ตามจะพบว่า CU I-House เป็นที่พักที่มีราคาค่อนข้างสูง ไม่ใช่ที่พักที่นิสิตและบุคลากรทุกคนจะเข้าถึงได้ การจะบอกว่าจำเป็นต้องรื้อโรงเรียนสวนหลวงเพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษานั้นแท้จริงคือประโยชน์เพื่อการศึกษาของคนที่มีปัญญาพอจะจ่ายค่าที่พักราคาสูงได้อยู่แล้ว มิใช่นิสิตส่วนใหญ่ อีกทั้งความเสียหายต่อนักเรียนจำนวนมากก็ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในการคิดคำนวณเรื่องประโยชน์นี้เลย

สำหรับกรณีสามย่านมิตรทาวน์ ที่ดินตรงนั้นเคยเป็นตลาดสามย่านและโรงเรียนศึกษาวัฒนา และถูกไล่ที่ออกไปเพื่อสร้างเป็นสามย่านมิตรทาวน์ แม้จะมีส่วนหนึ่งของอาคารที่จัดทำเป็นที่อยู่อาศัยในชื่อของ ‘ทริปเปิ้ลวาย’ แต่ที่พักดังกล่าวก็ไม่ใช่ที่พักราคาถูกที่นิสิตต้องการ เพราะมีราคาค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่าทั้งโรงเรียนสวนหลวงและโรงเรียนศึกษาวัฒนา แม้จะดำเนินกิจการทางการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังถูกไล่ที่ในนามของการศึกษาอยู่ดี

แน่นอนว่าเด็กโรงเรียนแถวนั้นน้อยคนนักที่จะเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาหรือโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้ พวกเขาจึงถูกผลักให้ออกไปเรียนที่อื่นที่ห่างไกลจากชุมชน ในแง่หนึ่งการทำเช่นนี้ก็เผยให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังการดำเนินการที่มองว่าการศึกษาของคนบางกลุ่มมีค่ามากกว่าการศึกษาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นการให้ค่าโดยคิดว่าการศึกษาของเด็กจุฬาฯ ซึ่งเป็นชนชั้นนำที่มีความพร้อมเชิงเศรษฐกิจในการบริโภคมีความสำคัญมากกว่าการศึกษาของเด็กในชุมชนแถวนั้นซึ่งไม่ได้มีกำลังทรัพย์ในการจับจ่ายใช้สอยในโครงการห้างร้านใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดตัว รวมถึงมีคุณค่าสำคัญกว่าการศึกษาของเด็กจุฬาฯ ที่ไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอยด้วยเช่นกัน

แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้มีกำลังทางเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่นๆ นี้ เป็นแนวคิดที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่ผู้บริหารจุฬาฯ ทำอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้ให้การศึกษา การที่มีแนวคิดเช่นนี้ยิ่งน่าหดหู่เข้าไปใหญ่

พื้นที่ไม่ปลอดภัย: อ้างเป็นพื้นที่อาชญากรรมอันตราย

“เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 เวลา 21.00 น. ตำรวจสายสืบจากส่วนกลางได้เข้าจับกุมแก๊งยาบ้า ได้ของกลาง 200,000 เม็ด โดยตำรวจ 191 ได้รวบตัวแก๊งยาบ้านี้ได้ ณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม”[9]

เมื่อแถลงการณ์และข้ออ้างทุบศาลทั้งหลายดูจะเป็นความเหลวไหลหลอกลวงก็จำเป็นต้องอาศัยข้ออ้างที่มีน้ำหนักมากกว่านี้ และ ‘ยาเสพติด’ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนขยาดหวาดกลัว เร็วๆ นี้มีการพยายามปล่อยข่าว รวมถึงการพูดต่อกันปากต่อปากว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมซ่อนยาเสพติด บิดเบือนให้สาธารณะเข้าใจผิดโดยอาศัยข่าวการจับกุมผู้ต้องหาค้ายาเสพติด พร้อมหลักฐานเป็นยาบ้า 200,000 เม็ดบริเวณลานจอดรถของอาคารจามจุรี 9 ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 การจับกุมนี้ไม่ได้มีใครให้ความสนใจนัก แต่ต่อมาประมาณเกือบเดือนครึ่งข่าวนี้ถูกขุดมาเขียนในเว็บไซต์ชื่อว่า ‘เปลว สีเงิน’ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan ซึ่งเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิมเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่ House Samyan โดยพาดหัวข่าวบิดไปว่า ‘ตำรวจ 191 รวบเอเย่นซุกยาบ้ากลางกรุง หลังศาลเจ้าแม่ทับทิม สามย่าน พร้อมของกลาง 2 แสนเม็ด’ และมีเนื้อข่าวภายระบุว่า “… ตำรวจ 191 ได้รวบตัวแก๊งยาบ้านี้ได้ ณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สามย่าน …” ซึ่งขัดแย้งกับความจริงที่ว่าการจับกุมผู้ต้องหาค้ายาเสพติดนี้เกิดขึ้นที่อาคารจามจุรี 9 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมีการขยายผลมาตรวจสอบที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมเพิ่มเติมเพราะตำรวจสืบทราบมาว่าผู้ต้องสงสัยเป็นวัยรุ่นในชุมชนที่บางครั้งนัดมารวมตัวบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม แต่จากการตรวจสอบไม่พบยาเสพติดบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ยึดโทรศัพท์รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของครอบครัวผู้ดูแลศาลไปตรวจสอบ และต่อมาก็ได้รับการส่งคืนโดยไม่มีการแจ้งข้อหากับผู้ดูแลศาล

นี่ก็เป็นอีกข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าตำรวจได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเป็นใจกับเครือข่ายค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมนี้ กล่าวได้ว่าหากสื่อยึดมั่นในข้อเท็จจริงก็ควรพาดหัวข่าวว่า ‘ตำรวจ 191 รวบเอเย่นซุกยาบ้าที่มหาวิทยาลัยกลางกรุง อาคารจามจุรี 9 จุฬาฯ’ จึงจะตรงกับความจริงมากกว่า น่าตั้งคำถามว่า ทำไมจึงลงข่าวนี้ว่าเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมมากกว่าจุฬาฯ ทำไมถึงหยิบยกข่าวที่เกิดเดือนกว่าๆ นี้มาลงอีกครั้งในวันฉายปฐมทัศน์สารคดี

นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับผู้ดูแลศาลทำให้ทราบว่าผู้ต้องหาเป็นวัยรุ่นแถวนั้นที่ไปๆ มาๆ บริเวณศาลเจ้าอยู่เป็นประจำ ก่อนหน้านี้มีอาชีพรับซ่อมจักรยานยนต์ในชุมชนเซียงกงที่ขายอะไหล่รถยนตร์บริเวณใกล้ศาลเจ้า แต่เมื่อชุมชนถูกไล่ออกไปหมดแล้ว จึงขาดรายได้เพราะไม่มีอาชีพ ทั้งนี้ การที่วัยรุ่นในชุมชนแถวนั้นจะมาจับกลุ่มอยู่ที่ศาลเจ้าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะศาลเจ้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเข้าออกได้อยู่แล้ว อีกทั้งพื้นที่โดยรอบก็ถูกพัฒนาเป็นห้างก็ไม่ได้โอบรับคนกลุ่มนี้ที่ไม่ได้มีกำลังจับจ่ายใช้สอย จะกล่าวว่าย่านศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะแห่งสุดท้ายในบริเวณสามย่านที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้งานได้อย่างเท่าเทียมก็คงไม่ผิดนัก

วาทกรรมทำให้เป็นพื้นที่อาชญากรรมเน้นไปที่การทำให้เกิดความกลัว โดยอาศัยกลไกธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าเมื่อเราเริ่มรู้สึกกลัวอะไรแล้วก็ยากที่จะรู้สึกเห็นใจสิ่งนั้นต่อไปได้ และเพื่อความปลอดภัย เราก็พร้อมสนับสนุนใครก็ตามที่จะมากำจัดสิ่งที่เรากลัวออกไป การสร้างความกลัวที่ง่ายที่สุดคือการทำให้สถานที่นั้นเป็นพื้นที่อันตรายของอาชญากรรมร้ายแรงอย่างยาเสพติด เพื่อทำให้ผู้คนไม่อยากยุ่งด้วย ทำให้ไม่กล้าเข้าไปแสวงหาความจริง และเพื่อสร้างความชอบธรรมในการไล่ที่

เราพบลักษณะคล้ายกันนี้ในกรณีของชุมชนคลองเตยและชุมชนป้อมมหากาฬ ภาพของชุมชนคลองเตยที่สื่อประกอบสร้างเป็นคือพื้นที่อาชญากรรม มีทั้งยาเสพติดและการฉกชิงวิ่งราว โดยโครงการที่จะรื้อชุมชนคลองเตยเพื่อสร้างเป็น ‘คลองเตย Smart Community’ ได้ระบุไว้ว่า “… เป็นความหวังที่จะมาเปลี่ยนโฉม ชุมชนคลองเตย ชุมชนใหญ่ใจกลางกรุงที่มีภาพจำของการเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เต็มไปด้วยปัญหาทั้งยาเสพติดและอาชญากรรม ให้เป็นแหล่งรวมของความสมาร์ท[10]

เช่นเดียวกับชุมชมป้อมมหากาฬ ที่ข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐก็คือ อ้างความอันตรายของพลุไฟ ยาเสพติด และระเบิด ดังที่สมาชิกชุมชนป้อมมหากาฬให้ข้อมูลไว้ว่า “… การเข้ามาของ กอ.รมน.กทม. ที่ใช้เหตุผลเรื่องการเข้ามาดูเรื่องพลุไฟ ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล แต่ตอนนี้ทุกอย่างหมดไปแล้วแต่ก็ยังไม่ออกไปจากพื้นที่ เลยคิดว่าเจ้าหน้าที่ใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาในพื้นที่มากกว่า[11] ตัวอย่างข้างต้นนี้ต่างทำให้เราเห็นความพยายามผูกคนจนเมืองเข้ากับปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด เพื่อสร้างความชอบธรรมในการไล่รื้อชุมชนที่ไม่ตอบโจทย์ต่อการทำกำไรสูงสุด

แบ่งแยกแล้วปกครอง: ปั่นหัวนิสิตสถาปัตย์ให้หลงเชื่อ

“เห็นในทวิตเดือดมาก อยากให้คนตรงนั้น (พวกต่อต้านการรื้อศาลเจ้า) อ่านตรงนี้ด้วย เค้าสำรวจแล้วจริงๆ”
เลิกปั่นซะทีเถอะ

คอมเมนต์จากเฟซบุ๊กของนิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ

ในช่วงแรกของการเคลื่อนไหวต่อต้านการรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม เราจะเห็นความพยายามปลุกให้นิสิตอีกกลุ่มต่อต้านแนวทางการเคลื่อนไหวอนุรักษ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเดิม โดยเฉพาะเพื่อนนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์บางส่วนที่ในช่วงแรกมองว่าการทุบแล้วสร้างใหม่ให้เหมือนเดิม (reconstruction) เป็นแนวทางการอนุรักษ์ที่ทำได้กับอาคารประเภทนี้ตามที่ได้เรียนมา ประกอบกับมีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์บางคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างศาลเจ้าของจุฬาฯ บริเวณอุทยาน 100 ปี ทำให้เพื่อนนิสิตกลุ่มนี้เชื่อว่าอาจารย์ของพวกเขาจะสามารถถอดแบบอาคารมาได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลเจ้าของจุฬาฯ สร้างเสร็จ เพื่อน ๆ กลุ่มนี้ก็เริ่มถอนออกจากโมหคติ หลายคนที่มีสำนึกดีช่วยเคลื่อนไหวคัดค้านการรื้อศาลเจ้า เพราะว่ารูปแบบอาคารที่สร้างโดยจุฬาฯ นั้น ออกมาห่างไกลจากคำว่าอนุรักษ์ด้วยการสร้างใหม่มากนัก

ยุให้บ้านแตกและจัดตั้งชาวบ้านมาสนับสนุนนายทุน

… ทายาทโดยธรรมของ นายประจวบ พลอยสีสวย ผู้ดูแลองค์เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง รุ่นที่ 4 กล่าวว่า “ในนามของครอบครัวพลอยสีสวยจะอัญเชิญเจ้าแม่ทับทิมไปประทับในอาคารศาลแห่งใหม่บริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ … ติดถนนบรรทัดทอง มีความพร้อมด้านสถานที่ เดินทางสะดวก ปลอดภัย มีที่จอดรถและห้องสุขาในอุทยาน … อยากขอบคุณ PMCU ที่จะจัดหาที่พักชั่วคราวสำหรับคนเฝ้าศาลในระหว่างก่อสร้างศาลใหม่ แต่การที่คนเฝ้าศาลอยากขอที่อยู่อาศัยในศาลใหม่นั้น ทาง PMCU ไม่สามารถอนุญาตได้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะยุติได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้… [12]

จากแถลงการณ์นี้ ดูเหมือนผู้ดูแลศาลจะเป็นคนนอกที่มาดูแล แต่ดื้อรั้นไม่ยอมไป ทั้งที่ผู้มีสิทธิ์ชอบธรรมต่างยินยอมต่อการย้ายศาลเจ้าแล้วทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ผู้ดูแลศาลนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ นก-เพ็ญประภา พลอยสีสวย ลูกสะใภ้คนโตที่แต่งงานเข้ามาในบ้านพลอยสีสวยนั่นเอง ตามประเพณีจีน ครอบครัวของพี่ชายคนโตจะเป็นผู้สืบทอดบ้านเดิมของพ่อแม่ ส่วนน้องๆ จะแต่งงานออกเรือนไปอยู่ที่อื่น สามีของพี่นกเป็นลูกชายคนโตถือเป็นผู้สืบทอดการดูแลศาลเจ้าแห่งนี้อย่างชอบธรรม และโดยประเพณีพี่นกและลูกๆ ก็มีหน้าที่อาศัยอยู่ที่ศาลเจ้าเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกให้ผู้ศรัทธา

ในข้อพิพาทช่วงแรก บรรดาน้องของสามีพี่นกดูจะช่วยเหลือพี่นกเป็นอย่างดี แต่ภายหลังปรากฏว่าพวกเขากลับไปปรากฏตัวเข้าข้างฝั่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ โดยปรากฏในหน้าสื่อพร้อมตัวแทนสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ และอ้างตนว่าเป็นผู้สืบทอดศาลเจ้าที่ชอบธรรมซึ่งยินยอมให้ทุบศาลเจ้า แต่ความเป็นจริงก็คือศาลหลังนี้ตกอยู่ในการดูแลของพี่นก มิใช่บรรดาญาติฝ่ายสามีคนอื่นๆ และพวกเขาแต่งงานออกจากบ้านไปแล้ว พี่นกต่างหากที่เป็นผู้สืบทอดดูแลกิจการศาลเจ้าและเป็นผู้มีสิทธิขาดโดยชอบธรรม

สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ น่าจะทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว การทำแบบนี้ทำให้สาธารณชนไขว้เขวว่าศาลเจ้าเป็นของใครกันแน่ และลดทอนพี่นกว่าเป็นบุคคลภายนอกมากกว่าจะเป็นผู้มีสิทธิตัวจริง จึงน่าตั้งคำถามว่าการทำให้ครอบครัวแตกแยกและการเดินเกมเพื่อผลกำไรโดยสังเวยความสัมพันธ์ครอบครัวเช่นนี้เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่

กล่าวถึงการไล่ที่ในภาพรวม การอ้างว่าชาวบ้านบางส่วนเห็นด้วยกับนายทุนนั้น จะต้องจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลจากปัญหาแต่เลือกฝ่ายนายทุนให้ได้เสียก่อน การจะหากลุ่มชาวบ้านลักษณะนี้ได้ก็ดูจะขัดสามัญสำนึกทั่วไปอยู่แล้ว จึงต้องทำให้กลุ่มต่อต้านเดิมแตกกันเองให้ได้และดึงบางส่วนมาสนับสนุนฝ่ายนายทุน ผ่านกลวิธีทั้งการอำนวยผลประโยชน์ในการเช่าพื้นที่ หรือการข่มขู่ด้วยข้อกฎหมายตามแต่สถานการณ์จะเหมาะสม เพื่อเป้าหมายหลักคือการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ฝั่งนายทุน การทำเช่นนี้จะให้ภาพลวงตาว่ามีกลุ่มคนในชาวบ้านที่ได้รับผลเสียเห็นด้วยกับโครงการนายทุน และทำให้กลุ่มที่ต่อต้านกลายเป็นเพียงตัวปัญหาที่เรื่องมากไปเอง หรือในบางครั้งก็อาจใส่ร้ายว่าที่ต่อต้านเพราะอยากเรียกเงินเพิ่มจากนายทุน เป็นต้น

การทำเช่นนี้นับว่าชาญฉลาด แต่สกปรก และโหดร้าย เพราะเป็นการวางเกมให้คนเล็กคนน้อยห้ำหั่นกันเองเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนที่นั่งดูสบายๆ ยุทธวิธีเช่นนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายไม่แพ้วิธีอื่นๆ ในชุมชมป้อมมหากาฬก็มีการระบุว่าเกิดกรณีการทำให้แตกกันลักษณะนี้ขึ้น โดยชาวบ้านท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “สภาวการณ์ปัจจุบันทำให้ตนปวดใจ เพราะเจ้าหน้าที่ กทม. และ กอ.รมน.กทม. เจาะตามบ้าน และมีกลยุทธ์ที่ทำให้พี่น้องในชุมชนแตกแยกด้วยเงิน …[13]

วิธีเดียวกันนี้ก็ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดกับพื้นที่จุฬาฯ ในชุมชนสยามสแควร์เองก็มีกรณีที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ “ดำเนินการติดต่อผู้เช่าช่วงการค้ารายย่อยภายในตึกแถวชักจูงให้หันไปชำระค่าเช่าพื้นที่โดยตรงกับสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ทั้งยังอาจจะมีการเสนออันตราที่ลดพิเศษให้แก่บรรดาผู้ค้ารายย่อยเหล่านั้น”[14] สุดท้ายการทำแบบนี้ก็ทำให้ชุมชนสยามสแควร์ไม่อาจรวมตัวต่อรองกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ และถึงคราวหายนะไปในที่สุด

บทสรุป

การไล่ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นแหล่งรวมศรัทธาผู้คน แม้จะอยู่ในการดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ แต่ก็ไม่อาจจะกระทำโดยอาศัยกลวิธีทางกฎหมายเท่านั้น วาทกรรมจึงมีส่วนจะทำให้การเล่าเรื่องของการไล่ที่เป็นไปอย่างชอบธรรม สมเหตุสมผล ดูนุ่มนวล งดงาม และอาจถึงขั้นได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชน จนนิสิต อาจารย์ และคนทั่วไปยอมปล่อยให้ทำลายลงไปอย่างไม่ต่อต้านใดๆ

อย่างไรก็ตาม ดังที่การที่ภาคนิสิตและประชาชนรณรงค์ต่อต้านการทำลายศาลเจ้าแม่ทับทิม ไม่เชื่อคำของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ขณะนี้เราก็มีตัวเปรียบเทียบระหว่างสองศาลเจ้าให้เห็นแล้ว และหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นว่า วาทกรรมที่อ้างเรื่องการพัฒนาทันสมัย สะอาด สะดวก เป็นการยุให้แตกมากกว่าเป็นคำสัตย์จริงและแฝงด้วยความโหดร้าย ทารุณ ไร้มนุษยธรรม และผิดศีลธรรม

นอกจากนี้ ดังที่ได้ยกขึ้นมาแสดงในแต่ละการอภิปรายว่า วาทกรรมเช่นนี้ถูกผลิตซ้ำโดยมีเรื่องเล่าที่ไม่แตกต่างกันนักในที่อื่นๆ ด้วย หากเปลี่ยนชื่อศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเป็นที่อื่นๆ ที่ถูกทำลาย การใช้วาทกรรมก็ไม่ได้ต่างกันมาก

พวกเราเชื่อว่านี่เป็นแค่วาทกรรมบางส่วนเท่านั้นและยังมีที่อาจตกหล่น รวมถึงการวิเคราะห์กลไกของพวกมันที่ควรจะเป็นสิ่งศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

และการตอบโต้ต่อวาทกรรมเหล่านี้อย่างเป็นระบบและการรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่เข้มแข็งก็จำเป็นอย่างยิ่ง

References
1 จุฬาฯแจงแล้ว! เหตุรื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม ปรับฮวงจุ้ยแต่ยังอนุรักษ์ ของเก่าบนพื้นที่ใหม่
2 จุฬาฯ ระบุผ่านเพจ ไม่มีแผนเวนคืน-รื้อทุบโรงหนังสกาลา
3 ‘เซ็นทรัล’ คว้าที่ดินจุฬา ‘โรงหนังสกาลา’ ผุดศูนย์การค้าใหม่ เผย รักษาโครงสร้างสถาปัตย์เดิม
4 อยู่หรือไป? ฟังคำตอบจากจุฬาฯ ก่อนโรงหนังสกาลาหมดสัญญาเช่า
5 จากคำชี้แจงของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ในอ้างอิงที่ 1
6 ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ ไปสู่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงาม สู่สังคม ชุมชนยั่งยืน
7 รายละเอียดรายงาน EIA โครงการพัฒนาพื้นที่หมอน 33
8 โรงเรียนสวนหลวง: โรงเรียนที่ถูกลืมในหน้าประวัติศาสตร์พื้นที่จุฬาฯ
9 ตำรวจ 191 รวบเอเย่นซุกยาบ้ากลางกรุง หลังศาลเจ้าแม่ทับทิม สามย่าน พร้อมของกลาง 2 แสนเม็ด
10 เปลี่ยนโฉม ชุมชนคลองเตย ให้เป็น ‘คลองเตย Smart Community’ แลนด์มาร์กใหม่ ศูนย์รวมความสมาร์ทใจกลางกรุง
11 มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน
12 “PMCU” เดินหน้าย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไปยังอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ สืบสานศรัทธา อยู่คู่ชุมชน
13 จากรายงานเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬของประชาไทในอ้างอิงที่ 11
14 พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ, การเมืองเรื่องสยามสแควร์, หน้า 210-211

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save