fbpx

อุปสรรคของเยาวชนชายแดนใต้ ในกำแพงของความมั่นคง : ข้อมูลจากการสำรวจเยาวชน 2022

พื้นที่ ‘ชายแดนใต้’ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ปมความขัดแย้งในพื้นที่มีจุดกำเนิดย้อนกลับไปไกล ตั้งแต่ที่ดินแดนปาตานีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม การรวมศูนย์อำนาจและกลืนอัตลักษณ์มาเลย์มุสลิมด้วยอัตลักษณ์แบบไทยก่อร่างเป็นกระแสความไม่พอใจของคนในพื้นที่ที่มีมาอย่างยาวนาน [1]

แม้ตลอดประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง จะมีการใช้ความรุนแรงอยู่เนืองๆ แต่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นสำคัญอาจเริ่มต้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ ค่ายปิเหล็งในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ตามมาด้วยเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบในเดือนเมษายนและตุลาคมปีเดียวกัน หลังจากนั้น ความไว้วางใจระหว่างชาวพุทธและมุสลิมเสื่อมถอยลง แทนที่ด้วยความหวาดกลัวและอาวุธปืน [2] เมื่อผนวกรวมกับปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในพื้นที่ อันเป็นผลมากจากการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับระบบตลาดสินค้าเกษตรที่มีความเปราะบาง [3] ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งย่อมย้อนกลับมากระทบกับครอบครัว โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่จะต้องเป็นกำลังหลักต่อไป

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนทำความเข้าใจอุปสรรคในชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และการศึกษา จากผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) รวมถึงการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของเยาวชน ในกำแพงกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่รัฐตั้งขึ้น

เด็กและเยาวชนชายแดนใต้เติบโตท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบภายในจังหวัดชายแดนใต้บรรเทาลงอย่างมาก โดยในปี 2012 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 1,850 ครั้ง แต่ในปี 2022 เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือ 158 ครั้งเท่านั้น [4] อย่างไรก็ตาม พัฒนาการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จะราบรื่นและปลอดภัย

ความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘กลุ่มผู้ก่อการ’ เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐไทยเองด้วย ซึ่งในกลุ่มที่ถูกคุกคามนี้รวมถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ด้วย

กลไกสำคัญที่ทำให้รัฐส่วนกลางสามารถควบคุมประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ที่บังคับใช้ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประกอบด้วยกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันในชื่อ กอ.รมน.

การบังคับใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการสถานการณ์ความไม่สงบ โดย พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจจับกุม/ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ตรวจค้นอาคารหรือสถานที่ต่างๆ ตรวจสอบสิ่งพิมพ์ หนังสือ หรือเครื่องมือสื่อสาร และการเรียกบุคคลใดก็ได้เพื่อให้ข้อมูล มอบเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้ ส่วนทางด้าน พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดอำนาจต่างๆ อย่างชัดเจนแบบกฎหมาย 2 ฉบับแรก แต่ก็ได้ระบุในมาตราที่ 15 ว่าหากมีเหตุการณ์ความไม่สงบแต่ยังไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กอ.รมน. มีอำนาจในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง หรือบรรเทาได้

ปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษคือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ หรือกระทั่งคุกคามประชาชนโดยเจ้าที่รัฐอย่างไม่ชอบธรรม และอาจเกิดการตีความใช้อำนาจเกินเลยกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากพ่อแม่และญาติๆ ที่ถูกคุกคามแล้ว ที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนก็ถูกคุกคามด้วยเช่นกัน (ภาพที่ 1) ในช่วงปี 2005 – 2018 มีเด็ก 127 คนถูกควบคุมตัวและอีก 16 คนถูกจับกุม [5] ตลอดจนการใช้อำนาจเกินกฎหมายในการข่มขู่แม่ของเด็กอายุ 10 ขวบ เพื่อตรวจ DNA ของเด็กเพื่อหาเบาะแสผู้ก่อความไม่สงบ [6] การตรวจ DNA เด็กนอกจากจะเป็นการกระทำนอกกฎหมายแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย ‘สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ กับ ‘สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ’ อีกด้วย [7]

ภาพที่ 1: ปัญหาความไม่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้

ต้นทุนชีวิตเยาวชนชายแดนใต้เสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น

มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุม-คุกคามเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐไทยที่มองว่าเด็กและเยาวชนชายแดนใต้มีโอกาสที่จะก่อความไม่สงบ จึงใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ทัศนคติดังกล่าวทำให้การพัฒนาด้านอื่นๆ จากรัฐส่วนกลางมักมีเหตุผลด้านความมั่นคงแฝงอยู่เสมอ ส่งผลให้การพัฒนาชายแดนใต้ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้

ผู้เขียนใช้ข้อมูลการสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) ซึ่งมีเยาวชนตอบแบบสอบถามจำนวน 19,237 รายทั่วประเทศ โดยมี 381 รายที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงอุปสรรคในการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่

เมื่อแบ่งกลุ่มรายได้ครอบครัวทั่วประเทศออกเป็น 5 กลุ่มตามลำดับรายได้จะพบว่า เยาวชนชายแดนใต้ถึง 2 ใน 3 อยู่ในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยที่สุด (ควินไทล์ 1) ต่างกับเยาวชนภาคใต้และเยาวชนทั้งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้เพียง 28.9% และ 19.7% ตามลำดับ (ภาพที่ 2) สอดคล้องกับข้อมูลอัตราความยากจนของสำนักงานสถิติปี 2021 ที่รวมเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีด้วย ซึ่งพบว่ามีเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ถึง 28.0% ที่มีฐานะยากจน สูงกว่าอัตราความยากจนของเด็กและเยาวชนเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีค่า 11.5% กว่าเท่าตัว [8] (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 2: สัดส่วนเยาวชนตามระดับรายได้ครัวเรือน (ควินไทล์) และสัดส่วนเยาวชนที่รายงานว่าที่อยู่อาศัยของตนไม่เหมาะสม
ภาพที่ 3: สัดส่วนเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวยากจน

ที่มา: ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2021

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาความเหมาะสมของที่อยู่อาศัยของเยาวชนตามที่พวกเขารับรู้ พบว่าที่อยู่อาศัยของเยาวชนชายแดนใต้ 28.4% ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศ (ภาคใต้ 19.3% ประเทศ 22.4%) สิ่งแวดล้อมโดยรอบสกปรก ผิดหลักสุขอนามัย 24.8% (ภาคใต้ 15.3% ประเทศ 13.1%) รวมถึงไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน 18.0% (ภาคใต้ 9.7% ประเทศ 10.5%) นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยของเยาวชนชายแดนใต้ราว 24.8% ยังไม่มีน้ำประปา ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าไม่ถึงน้ำประปาเพียง 6.0% ทั้งนี้เยาวชนชายแดนใต้กว่า 40.7% ยังรายงานว่า ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านของตัวเอง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปกว่าเท่าตัว

ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูง สวนทางกับคุณภาพ

ปัญหาด้านรายได้ของเยาวชนชายแดนใต้ส่งผลให้ต้นทุนในชีวิตรวมถึงการพัฒนาเยาวชนสูงโดยเปรียบเทียบด้วย อาทิ แม้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีค่าเฉลี่ย 2,423 บาท/เดือน ซึ่งไม่แตกต่างนักจากค่าเฉลี่ยโดยรวมของภาคใต้ ที่เท่ากับ 2,106 บาท/เดือนและทั้งประเทศที่เท่ากับ 2,602 บาท/เดือน แต่ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษากลับกลายเป็นการลงทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่พวกเขามี โดยมีค่าสูงถึง 25.8% ของรายได้ครอบครัวเยาวชนชายแดนใต้ ในขณะที่การลงทุนด้านการศึกษาต่อรายได้ในภาคใต้คิดเป็น 14.1% และค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 13.0%

แม้ว่าการลงทุนด้านการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของพวกเขา แต่กลับได้รับคุณภาพการศึกษาที่ด้อยกว่าที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 4) ทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากร ดังนี้:

  • 51.5% เคยประสบปัญหาสื่อการสอนล้าสมัย (ภาคใต้ 40.2% ประเทศ 39.7%)
  • 50.2% เคยประสบปัญหาคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน (ภาคใต้ 35.0% ประเทศ 29.1%)
  • 48.9% เคยประสบปัญหาครูไม่มีความรู้เรื่องที่สอน (ภาคใต้ 40.7% ประเทศ 38.6%)
  • 69.6% เคยประสบปัญหาครูไม่มีเวลาสอน (ภาคใต้ 56.5% ประเทศ 55.2%)
ภาพที่ 4: สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อรายได้ครัวเรือน และสัดส่วนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาด้านการศึกษา

เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่เยาวชนแต่ละกลุ่มต้องการสำเร็จการศึกษาพบว่า เยาวชนแต่ละกลุ่มมีความต้องการสำเร็จระดับการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน คือ ส่วนใหญ่ต้องการสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเยาวชนชายแดนใต้ต้องการสำเร็จระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพียง 5.4% เท่านั้น (ภาคใต้ 8.7% ประเทศ 14.0%) และต้องการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปถึง 29.8% (ภาคใต้ 25.1% ประเทศ 25.5%) (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: สัดส่วนเยาวชนที่ต้องการสำเร็จการศึกษาแต่ละระดับ

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

แม้ว่าเยาวชนชายแดนใต้จะมีความใฝ่ฝันด้านการศึกษาที่มากกว่าเยาวชนพื้นที่อื่นเล็กน้อย แต่พวกเขากลับไม่มั่นใจอย่างมากว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายของตน โดยเยาวชนชายแดนใต้ 41.4% ไม่มั่นใจว่าตนจะเรียนจบได้ตามที่ตัวเองต้องการ (ภาคใต้ 30.7% ประเทศ 34.2%) (ภาพที่ 6) เมื่อเจาะลึกในกลุ่มเยาวชนที่ไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบตามที่ตัวเองต้องการจะพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มากจากความกังวลว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชายแดนใต้ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 6: สัดส่วนเยาวชนที่ไม่มั่นใจว่าตนจะเรียนจบได้ตามที่ต้องการที่

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ภาพที่ 7: สัดส่วนสาเหตุที่ทำให้เยาวชนไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบตามที่ต้องการ

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

อีกหนึ่งปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นของระบบการศึกษาชายแดนใต้คือมักเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบด้วย เช่น การตรวจค้นโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อค้นหาเบาะแสของผู้ก่อความไม่สงบ การเก็บข้อมูลรายชื่อครูและถ่ายรูปนักเรียน การจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายในโรงเรียน การตรวจ DNA เด็กและบุคลากรการศึกษา เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เด็ก ครู หรือผู้บริหารหวาดระแวง ครูไม่สามารถสอนหนังสือได้อย่างเต็มที่ เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ที่ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมย่อมเสียเปรียบเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นในระยะยาว

ล้อมกรอบ 1: เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าไปเก็บข้อมูลครูและถ่ายรูปนักเรียน

วันที่ 10/02/2018 เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในโรงเรียนตาดีกานูรุลอิหส้าน (เกาะแน) ในจังหวัดปัตตานี พร้อมอาวุธ โดยได้มีการถ่ายบัตรประชาชนครูผู้สอน และเก็บรายชื่อ/ถ่ายรูปเด็กด้วย ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามด้วย (ที่มารูปภาพและเนื้อหา: กลุ่มด้วยใจ (2018) น.18)

เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ยังมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งกายและใจ

จากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่ให้เยาวชนประเมินระดับความเครียดในแต่ละเรื่องโดยให้คะแนน 0 เมื่อเครียดน้อยที่สุด และ 5 เมื่อเครียดมากที่สุด พบว่า เยาวชนชายแดนใต้ประเมินว่าตนเครียดเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ระดับ 3 เป็นต้นไป (เครียดค่อนข้างมาก-เครียดมากที่สุด) มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องเงินที่มีสัดส่วนผู้ที่รู้สึกเครียด 83.3% (ภาคใต้ 65.5% ประเทศ 63.5%) ในเรื่องการศึกษา/ทำงานมีผู้ที่รู้สึกเครียด 78.3% (ภาคใต้ 67.6% ประเทศ 68.6%) และเรื่องสังคม/การเมืองมีผู้ที่รู้สึกเครียด 48.4% (ภาคใต้ 41.5% ประเทศ 43.3%)

ซ้ำร้ายเด็กชายแดนใต้ที่อายุ 0-5 ขวบมีภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ในด้านภาวะโภชนาการที่ต่ำ (Undernutrition) กว่ากลุ่มอื่น โดย 23.5% อยู่ในภาวะเตี้ยปานกลางถึงเตี้ยมาก ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และประเทศเกือบเท่าตัว (ภาคใต้ 12.9% ประเทศ 13.3%) เด็กชายแดนใต้ 19.0% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปานกลางถึงมาก (ภาคใต้ 9.8% ประเทศ 7.7%) 11.0% อยู่ในภาวะผอมแห้งปานกลางถึงมาก (ภาคใต้ 6.8% ประเทศ 7.7%)[9] ภาวะโภชนาการต่ำในเด็กโดยเฉพาะช่วง 0 – 2 ขวบส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็กและผลิตภาพในอนาคต [10] (ภาพที่ 8)

สังเกตได้ว่านอกจากปัญหาด้านรายได้และการศึกษาจะเป็นปัญหาในตัวมันเองแล้ว ยังส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมิติอื่นๆ ด้วย กรณีภาวะโภชนาการที่ต่ำในเด็กก็มักมีสาเหตุหลักจากเรื่องความยากจน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาด้านการศึกษาซ้ำเติม ย่อมส่งผลต่อรายได้ของเด็กในระยะยาวและกลายสภาพเป็นความยากจนข้ามรุ่น หรือกรณีของเยาวชนชายแดนใต้ที่มักจะเครียดเรื่องการศึกษากับเงินมากกว่าประเด็นอื่น ก็ย่อมเป็นผลทางตรงจากปัญหาด้านรายได้และการศึกษาในพื้นที่

อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ‘เด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบ’ โดยในช่วงปี 2004–2020 มีเด็กกำพร้าถึง 6,687 คน โดยส่วนใหญ่กำพร้าพ่อ ในกลุ่มเด็กกำพร้ามีถึง 27% ที่มีภาวะซึมเศร้า [11]

ภาพที่ 8: สัดส่วนปัญหาสุขภาพของเด็กและเยาวชน

เยาวชนชายแดนใต้เผชิญอุปสรรครอบด้าน แต่ยังมีความหวัง
สร้างสังคมที่ดีกว่า

จากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่ให้เยาวชนประเมินความน่าเชื่อถือต่อสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดย 0 หมายถึงน่าเชื่อถือน้อยที่สุด 5 คือน่าเชื่อถือมากที่สุดพบว่า เยาวชนชายแดนใต้โดยเฉลี่ยประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองทุกๆ สถาบันต่ำพอๆ กับเยาวชนกลุ่มอื่น ในกรณีนักการเมือง กองทัพ และตำรวจ เยาวชนชายแดนใต้ประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านี้ต่ำกว่าเยาวชนกลุ่มอื่นเล็กน้อย สะท้อนปัญหาความขัดแย้งหรือการไม่พัฒนาในชายแดนใต้ที่มีมานาน (ภาพที่ 9) ซึ่งสะท้อนกลับไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับรัฐส่วนกลาง

ภาพที่ 9: ความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองในสายตาเยาวชน (0 เชื่อถือน้อยที่สุด 5 น่าเชื่อถือมากที่สุด)

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

อย่างไรก็ตาม เยาวชนชายแดนใต้มีจุดแข็งที่สำคัญกว่าในพื้นที่อื่นคือความรู้สึกยึดโยงกับพื้นที่ และยังมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ดีขึ้น ในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่น 32.8% ของเยาวชนชายแดนใต้เคยร่วมประชุมเพื่อจัดการปัญหาท้องถิ่นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ภาคใต้ 22.3% ประเทศ 22.7%) 16.6% เคยจัดตั้งกลุ่มเพื่อลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ภาคใต้ 11.5% ประเทศ 11.4%)

ในแง่การเข้าร่วมอาสาสมัครต่างๆ พบว่าเยาวชนชายแดนใต้มีบทบาททำกิจกรรมทางสังคมมากกว่าเยาวชนโดยเฉลี่ยอย่างมาก โดย 81.6% เคยร่วมเป็นผู้นำนักเรียนหรือเยาวชน (ภาคใต้ 67.3% ประเทศ 58.5%) 79.9% เคยเป็นอาสาสมัครด้านสังคม (ภาคใต้ 68.0% ประเทศ 59.2%) และ 72.6% เคยเป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม (ภาคใต้ 66.2% ประเทศ 56.0%) นอกจากนั้น จากคำถามที่ให้เยาวชนประเมินความสำคัญของเป้าหมายในชีวิต พบว่ามีเยาวชนชายแดนใต้มีเพียง 37.5% เท่านั้นที่ประเมินว่าเป้าหมายการย้ายประเทศของตนมีความสำคัญ (ภาคใต้ 54.6% ประเทศ 62.5%) (ภาพที่ 10)

ภาพที่ 10: สัดส่วนเยาวชนที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และสัดส่วนเยาวชนที่อยากย้ายประเทศ

รัฐไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ลดกำแพงความมั่นคง โอบรับพัฒนาคนด้วยความเท่าเทียม

ในด้านความมั่นคง รัฐไทยต้องลดระดับความรุนแรงของมาตรการด้านความมั่นคงลงและต้องไม่เลือกปฏิบัติกับประชาชนชาวมุสลิม การใช้กฎหมายพิเศษควรต้องได้รับการทบทวนใหม่ ที่จะต้องไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากจนเกินไปแต่ต้องมีความชอบธรรมทางกฎหมาย (Due process) โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ให้อำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการระงับปราบปรามโดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ และในทางปฏิบัติ รัฐไทยต้องระงับการกระทำใดๆ ที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น การตรวจ DNA ประชาชนที่เจ้าหน้าที่รัฐสงสัย การซ้อมทรมาน และการข่มขู่

นอกจากการลดระดับความมั่นคงในเชิงมาตรการแล้ว เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2566 ใน ‘แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้’ พบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ 1,200 ล้านบาท สร้าง/ซ่อมถนนเกือบ 920 ล้านบาท และเขื่อนกันตลิ่ง 500 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ใช้งบประมาณแผ่นดินรวมกันประมาณ 2,600 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกับโครงการที่มีรายละเอียดไม่ชัดเจนแต่ตั้งงบประมาณสูง เช่น โครงการ ‘เงินอุดหนุนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันตนเองของประชาชนในหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้’  ที่ตั้งงบโครงการเดียวสูงถึง 474 ล้านบาท [12] งบประมาณเหล่านี้ควรได้รับการจัดสรรใหม่โดยเน้นไปที่การสร้างพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น

รัฐไทยควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพื้นที่ชายแดนใต้คือ ภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์และความพร้อมของเยาวชนในการพัฒนาท้องถิ่น ในการสร้างการมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายภายในพื้นที่ และให้อำนาจท้องถิ่นในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับนโยบาย นอกจากกระบวนการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังความเป็นพลเมืองของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ได้อีกในอนาคต

References
1 ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง. (2005). ความเป็นมาของปัญหาภาคใต้และทางออก ปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี. วารสารฟ้าเดียวกัน. 3(2). น.86-100
2 จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (2009). เพราะปืนคือความมั่นคง หรือเพราะไม่มั่นคงจึงต้องติดอาวุธ?. วารสารฟ้าเดียวกัน. 7(1). น.72-87
3 ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่ ชลิตา บัณฑุวงศ์. (ม.ป.ป). เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้: การสำรวจเชิงวิพากษ์.
4 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สืบค้นวันที่ 1 ธันวาคม 2022.
5 กลุ่มด้วยใจ. (2018). สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย.
6 ’ก้าวไกล’ เรียกร้องทหารหยุดละเมิดสิทธิ หลังเก็บ DNA เด็กทารก 10 เดือน,” กรุงเทพธุรกิจ, ตุลาคม 17, 2022.
7 ชนาธิป ตติยการุณวงศ์. (2019). เอกสารชุดความรู้: การบังคับเก็บ DNA ในพื้นที่ชายแดนใต้.
8 ครัวเรือนที่มีความยากจนในแง่นี้หมายถึงครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยแต่ละสมาชิกต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ในปี 2021 เส้นความยากจนทั้งประเทศเท่ากับ 2,803 บาท/เดือน ภาคใต้ 2,840 บาท/เดือน ปัตตานี 2,572 บาท/เดือน ยะลา 2,733 บาท/เดือน และนราธิวาส 2,619 บาท/เดือน
9 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2021). การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 17 จังหวัดของประเทศไทย พ.ศ.2562. คำนวณข้อมูลใหม่โดยคิด for คิดส์
10 Black, R. E., Victora, C. G., Walker, S. P., Bhutta, Z. A., Christian, P., de Onis, M., … Uauy, R. (2013). Maternal and child undernutrition and overweight in low-income and middle-income countries. The Lancet, 382(9890), 427–451.
11 ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2021). สถานการณ์เด็ก เยาวชน และผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้. คำนวณข้อมูลใหม่โดยคิด for คิดส์
12 คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ถูกแปลงเป็นตารางข้อมูลเอ็กเซลโดย WeVis และพรรคก้าวไกล รายการงบลงทุนทั้งหมดในปีงบประมาณ 2566

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save