fbpx

‘ปฏิรูปการศึกษา’ หรือสักแต่จะประชุมไปเรื่อยๆ

ข่าวเรื่องผลสอบ PISA ที่ปรากฏออกมาเมื่อปลายปี 2566 มิใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่น่ากังวลมากกว่าคือเราชาชินหรือยัง มิใช่ชาชินที่ได้ข่าว แต่ชาชินกับการอ่านบทตามของผู้รู้มากมายซ้ำๆ ทุกปีแล้วก็ไม่ทราบว่าทั้งหมดนี้ไปถึงผู้บริหารระดับประเทศมากเพียงไร อย่าแม้แต่คิดจะถามว่าแล้วจะทำอะไรต่อไป จากวันนั้นเรารอข่าวผลสอบ PISA รอบต่อไปเป็นปกติ

ข่าวจัดอันดับการใช้อังกฤษของเด็กไทยก็พอๆ กัน

นั่งอ่านงานวิจัยดีๆ ของ 101 PUB หลายชิ้น กล่าวเฉพาะงานวิจัยเรื่องเรียนพิเศษ ผมรู้เห็นด้วยตาเปล่าอยู่แล้วว่าบ้านที่มีเงินน้อยกว่าจ่ายค่าเรียนพิเศษให้ลูกในสัดส่วนมากกว่าบ้านที่มีเงินมากกว่า แถมด้วยว่าเป็นการจ่ายผิดจ่ายถูกเสียมากกว่าอีกด้วย ยกตัวอย่างบ้านหลายหลังมีเงินจ่ายค่าเรียนพิเศษให้ลูกได้คอร์สเดียว การเลือกคอร์สจึงต้องแม่นยำมากให้คุ้มกับเงินของบ้านที่จ่ายออกไป โอกาสผิดก็มีมากกว่าถูกเพราะราคาของติวเตอร์ห้าดาวสูงกว่าราคาของติวเตอร์ส่วนท้องถิ่น และเป็นความจริงว่าผลลัพธ์ของการเรียนหนังสือกับติวเตอร์ห้าดาวนั้นชะงัดกว่ามาก 

เปรียบเทียบกับบ้านที่มีเงินพรั่งพร้อมมากกว่า เช่น บ้านผม เป็นต้น เรามีเงินจ่ายค่าเรียนพิเศษให้แก่ติวเตอร์ห้าดาวทุกท่านโดยเงินที่จ่ายเป็นสัดส่วนต่อเงินของบ้านน้อยกว่าบ้านที่ฐานะการเงินแย่กว่า ไม่นับว่าเราแทงถูกกินรวบได้อีกด้วย เพราะเราสามารถติวหมดทุกวิชาถ้าอยากทำ

มากไปกว่านี้ บ้านที่เงินน้อยมากนั้นเด็กมิได้คิดเรื่องติวเพื่อไปมหาวิทยาลัย เอาแค่ไปติวเพื่อให้ได้ข้อสอบปลายภาคประจำปีเสียมากกว่า แบบนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางบ้าน ผ่านไปให้ได้ทีละปีแล้วค่อยมาว่ากันเรื่องอนาคต

งานวิจัยบอกเรื่องที่ผมรู้อีกว่านักเรียนที่จำเป็นต้องติวอาศัยอยู่ในหัวเมืองและนอกหัวเมืองมากกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองขนาดใหญ่ ที่รู้เพราะเห็นเด็กต่างอำเภอต้องเสียค่ารถมาเรียนพิเศษในตัวเมืองมากมาย ถ้ามีเงินมากขึ้นก็นั่งรถไปติวต่อที่หัวเมืองประจำภาค มีเงินมากขึ้นอีกก็บินลัดฟ้าไปติวที่กรุงเทพฯ ได้เลย แต่ทั้งหมดนี้ด้วยค่าเดินทางที่สูงขึ้น ค่าอาหารสามมื้อที่สูงขึ้น และค่าหอพักที่สูงขึ้น ไม่นับส่วนเอนเตอร์เทนตามประสาวัยทีนและวัยรุ่นซึ่งจำเป็นต้องมี 

ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือการศึกษาของเราทั้งนั้น ยิ่งเรียนยิ่งยาก ยิ่งเรียนยิ่งจน กับเรียนฟรีไม่มีจริง  

แต่ว่านี่มิใช่การศึกษาของเรา เป็นการศึกษาของส่วนภูมิภาคที่ต้องฟังส่วนกลาง การศึกษาเป็นการสร้างเครือข่ายและเป็นบันไดสร้างคอนเน็กชันให้แก่ผู้จ่ายได้แล้วละทิ้งเด็กส่วนใหญ่ของประเทศไว้กับคำขวัญวันเด็กประจำปี จะเอาอะไรไปคิดสร้างสรรค์หากแม้แต่คิดไม่ตรงกับครูยังทำมิได้

ปัญหาจึงเป็นเรื่อง ‘โรงเรียนของเราน่าอยู่’ ว่าที่จริงแล้วโรงเรียนมิใช่ของเราตั้งแต่แรก มีความพยายามอย่างจริงจังในการแก้ไขด้วยการชูนโยบายปฏิรูปการศึกษาหลายครั้งในหลายรัฐบาลหมดเวลาไปหลายสิบปี ประชุมตั้งแต่ทารกคลอดจนวันนี้เขาจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ผลลัพธ์ก็เป็นดังที่เห็นวันนี้

ที่ว่ามีความพยายามอย่างจริงจังนั้นใช่แน่ เพราะผมอยู่ในที่ประชุมหลายครั้งสามารถเป็นประจักษ์พยานได้อยู่ หลายท่านจริงจัง แต่อีกหลายท่านจะจริงใจหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากให้ลงความเห็นวันนี้ก็ต้องว่าไม่ใช่ หลายหน่วยงานที่นั่งประชุมไม่จริงใจตั้งแต่แรก

บ้างไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาประชุมทำไมเพราะเป็นเพียงตัวแทนของหัวหน้า

ผู้บริหารบางท่านมาด้วยตัวเองแต่ก็มาด้วยสปีชสำเร็จรูปที่ถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ

ผู้สนับสนุนทุนการประชุมไม่มีความรู้มากพอ

ทุกคนในที่ประชุมอายุมากเกินกว่าที่จะทำงานการศึกษาได้

ตลอดช่วงเวลาโควิดสามปีที่ผ่านมา ผมนั่งประชุมออนไลน์อยู่บางครั้งพบว่าข้อค้นพบสี่ข้อมิได้เปลี่ยนแปลงไป เราไม่สามารถก้าวออกจากกับดักการประชุมไม่รู้จบเหล่านี้เสียที 

เราไม่มีวิสัยทัศน์ อายุมากแล้วสายตาสั้นจะไปเห็นอนาคตได้อย่างไร

มีคนพูดเสมอว่าโรงเรียนส่วนท้องถิ่นไม่เก่งพอที่จะรับช่วงงานด้านการศึกษาของชาติไปได้ ผมกลับคิดว่าถึงไม่เก่งพอก็ต้องให้ทำและที่ให้ทำมิใช่เรื่องการศึกษาของชาติแต่เป็นการศึกษาของเด็กๆ คือเด็กๆ ในท้องถิ่นของเราเอง พูดอย่างง่ายที่สุดคือเด็กแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนเหมือนกันเพราะบริบทไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารส่วนท้องถิ่นโดยแท้

จะว่าไปเวลานี้เป็นยุคสมัยที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกข์สาหัสจนใกล้ป่วยทางจิตและหลายคนป่วยไปเรียบร้อยแล้ว หลายคนต้องกินยาจิตเวชเพื่อให้มีแรงทำงานส่งลูกๆ เรียนหนังสือต่อได้ 

หากโรงเรียนทุกโรงเรียนเป็นของท้องถิ่น ของชุมชน และของพ่อแม่ แรกๆ ก็น่าจะชุลมุนน่าดู แต่ก็เชื่อได้ว่าไม่มีอะไรจะเสียหายมากไปกว่าที่เป็นอยู่นี้อยู่แล้ว วันนี้เด็กออกกลางคันเป็นแสน ส่วนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร หากจะมีมิคสัญญีการศึกษาก็ไม่นาน เพราะมิใช่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไร้น้ำยาสิ้นเชิง ในทางตรงข้ามพวกเขาสั่งสมภูมิปัญญาไว้มากพอสมควรเพียงรอเวลาปลดล็อก ไม่นับสถาบันราชภัฏที่อยากช่วยเหลือเต็มแก่ แต่ก็ต้องการการปลดล็อกเช่นกัน  

รวมทั้งพ่อแม่เองที่รู้มากขึ้นทุกทีๆ ว่าโรงเรียนต้องเป็นของเรามิใช่ของคนอื่น และมีแต่เราที่จะพัฒนาและควบคุมโรงเรียนให้ทำตัวถูกเรื่องถูกราวได้เสียที

เหนืออื่นใดครูทุกคนต้องเป็นของเรามิใช่ของหน่วยงานอื่น แล้วผู้ให้คุณให้โทษผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ และครูทุกคนก็คือเรา

พูดกันมากเรื่องการกระจายอำนาจแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่รู้แปลว่าอะไร เราประดิษฐ์คำ ‘โรงเรียนปกครองตนเอง’ มาสิบปี ประดิษฐ์คำใหม่ๆ ทุกบ่อยๆ มีคำศัพท์มากมาย ทุกวันนี้บางที่ประชุมก็ยังประดิษฐ์คำใหม่ๆ อยู่

พูดจริงๆ ว่าครูประจำการจำนวนไม่น้อยก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงทันใด เพราะพวกท่านก็ทุกข์พอกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save