fbpx

เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

เมื่อพูดถึงการเรียน ภาพจำของเราส่วนใหญ่คงนึกถึงการไปเรียนในโรงเรียน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ก็ใช่ว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะได้กลับบ้านหรือทำกิจกรรมของตนเอง เพราะยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มนอกห้องเรียน และยังอาจต้องไปเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

พฤติกรรมการเรียนพิเศษควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเพียงที่เดียวเท่านั้น เด็กนักเรียนในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการเรียนพิเศษเช่นกัน หากแต่สัดส่วนการเรียนพิเศษในประเทศแทบเอเชียนั้นสูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง[1]

แม้ว่าการเรียนพิเศษเพิ่มตามโรงเรียนกวดวิชานั้นมีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งดูเหมือนจะเป็นเรื่องชินตาสำหรับสังคมไทย แต่สาเหตุที่เด็กไทยเรียนพิเศษกลับมีคำตอบที่หลากหลายตั้งแต่ เรียนในห้องเรียนไม่ค่อยเข้าใจ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย[2] ไปจนถึงเพราะระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์เด็กนักเรียน[3]

เพื่อให้เข้าใจโลกของการเรียนพิเศษได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงชวนสำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 (Youth Survey 2022) ที่มุ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนพิเศษ

นักเรียนไทย 1 ใน 3 ทุ่มทรัพยากรเพื่อเรียนพิเศษ

เมื่อดูสัดส่วนการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนในประเทศไทยจากผลสำรวจเยาวชน 2022 พบว่าร้อยละ 35.1 ของเด็กนักเรียนอายุ 15-18 ปี ทั้งหมดในประเทศไทยเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากการศึกษาในระบบ เมื่อแยกกลุ่มรายพื้นที่ พบว่ากลุ่มที่มีนักเรียนเรียนพิเศษเยอะที่สุดไม่ใช่กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (19.5%) แต่เป็นกลุ่มนักเรียนที่อยู่นอกเมือง (35.6%) และในอำเภอเมือง (33.9%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกกลุ่มเด็กนักเรียนตามระดับเป้าหมายที่ตนต้องการศึกษา พบว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะเรียนพิเศษสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อยากศึกษาต่อราว 7.1%

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยจะมีสัดส่วนการเรียนพิเศษที่น้อยกว่า แต่ตัวเลขสัดส่วนนี้ก็ยังสูงสำหรับทุกพื้นที่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มที่ต้องการเสริมความรู้เพื่อให้สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มที่เรียนพิเศษเพื่อช่วยให้ตนเรียนตามทันการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ กล่าวคือ โรงเรียนไม่อาจช่วยสอนให้พวกเขาเข้าใจได้ จึงต้องพึ่งพาการเรียนพิเศษ

1 ใน 3 ของเด็กนักเรียนไทยเหล่านี้ ต่างทุ่มเททรัพยากรที่ตนมีเพื่อการเรียนพิเศษ โดยทรัพยากรที่ใช้เพื่อเรียนพิเศษมีความแตกต่างกันตามระดับรายได้ครัวเรือนของเด็กนักเรียนที่แตกต่างกันไป

เด็กนักเรียนต่างระดับรายได้ครัวเรือนต่างมีทรัพยากรไม่เท่ากัน โดยเด็กนักเรียนครัวเรือนยากจน แม้จะมีทรัพยากรด้านเงินที่ไม่มากนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านการเรียนพิเศษโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 6,000 บาทต่อปี แต่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ก็ทุ่มเททรัพยากรด้านเวลาเพื่อเรียนพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่น โดยใช้เวลาเรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 11-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ แม้จำนวนเงินค่าเรียนพิเศษและค่าเล่าเรียนรวมของเด็กกลุ่มนี้จะเป็นจำนวนที่น้อย แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ครัวเรือนแล้ว เด็กนักเรียนกลุ่มนี้มีภาระค่าเล่าเรียนที่สูงมาก (ราว 6% ของรายได้ครัวเรือน)

สำหรับเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยที่เรียนพิเศษ แม้พวกเขาจะใช้เวลาเรียนพิเศษน้อยกว่าเล็กน้อย แต่ก็ใช้จ่ายเงินเพื่อเรียนพิเศษมากที่สุด โดยกลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยมีค่าเรียนพิเศษโดยเฉลี่ยราว 20,000-22,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ครัวเรือนแล้ว ค่าเรียนพิเศษและค่าเล่าเรียนที่สูงนี้กลับคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากต่อรายได้ครัวเรือน (ภาพที่ 1)

นอกจากนี้ เมื่อคำนวณค่าเล่าเรียน[4]ของกลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษเหล่านี้ ก็ยังพบว่าค่าใช้จ่ายระหว่างนักเรียนครัวเรือนยากจนและครัวเรือนร่ำรวยมีแนวโน้มที่เหมือนกับค่าเรียนพิเศษ โดยนักเรียนครัวเรือนยากจนสุดมีค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยราว 20,000 บาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 19.4% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่เด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยสุดมีค่าเล่าเรียนรวมโดยเฉลี่ยราว 45,000 บาทต่อปี แต่คิดเป็นเพียง 5.0% ของรายได้ครัวเรือนเท่านั้น

ภาพที่ 1: สถิติการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

จะพึ่งพาการศึกษาในระบบได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนยังไม่พร้อม

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ายังมีเด็กนักเรียนไทยเป็นสัดส่วนไม่น้อยที่อาจเรียนพิเศษเพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่อาจช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ หนึ่งในสาเหตุนี้ อาจเป็นเพราะโรงเรียนขาดบุคลากรและทรัพยากรที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการเรียนการสอนที่ดี

จากผลสำรวจเยาวชน พบว่าเด็กนักเรียนไทยอายุ 15-18 ปี จำนวนไม่น้อยเคยเผชิญปัญหาต่างๆ ในสถานศึกษา ทั้งปัญหาด้านบุคลากร อาทิ ครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ครูไม่มีเวลาหรือไม่ใส่ใจที่จะสอน และครูไม่มีความรู้ในเรื่องที่สอน และปัญหาด้านทรัพยากร เช่น สื่อการสอนล้าสมัย คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ห้องสมุดหรือหนังสือไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ เมื่อแยกกลุ่มเด็กนักเรียนตามพื้นที่ พบว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรน้อยกว่ากลุ่มอื่น (ภาพที่ 2)          

ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากรในโรงเรียนที่เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเคยเผชิญน้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พึ่งพาการเรียนพิเศษน้อยกว่านักเรียนในพื้นที่อื่น ในทางตรงข้าม กลุ่มที่เรียนพิเศษมากก็อาจเป็นเพราะโรงเรียนในพื้นที่เหล่านั้นมีแนวโน้มยังไม่พร้อมที่จะให้การเรียนการสอนที่มีคุณภาพแก่เด็กนักเรียนได้

ภาพที่ 2: สัดส่วนเด็กนักเรียนไทยที่เคยพบเจอปัญหาในสถานศึกษา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนที่เคยเรียนในโรงเรียนที่มีปัญหา ยิ่งเห็นว่าการศึกษาในระบบช่วยพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (MIDL) และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้

กลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนในโรงเรียนที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอเห็นว่าโรงเรียนช่วยพัฒนาทักษะด้าน MIDL ให้พวกเขาได้ต่ำ เพราะให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์/ดิจิทัล’ และ ‘ทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูล’ โดยเฉลี่ยที่ 3.0 สำหรับทั้งคู่ ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 3.2 และ 3.1 ตามลำดับ โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3: ผลการประเมินความสามารถของโรงเรียนในการช่วยพัฒนาทักษะด้าน MIDL จากเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มเยาวชนที่เคยเจอครูไม่เปิดกว้างทางความคิดหรือสื่อการสอนล้าสมัยนั้นเห็นว่าโรงเรียนช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ได้ต่ำ โดยกลุ่มที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนกับครูที่ไม่เปิดกว้างทางความคิด ให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์’ ‘ทักษะการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม’ และ ‘ทักษะการตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ และระบอบการเมือง’ โดยเฉลี่ยที่ 2.9, 2.9 และ 2.7 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 3.1, 3.0 และ 2.9 ตามลำดับ โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด

ขณะที่กลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนในโรงเรียนที่ใช้สื่อการสอนล้าสมัย ให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการเงินและการลงทุน’ โดยเฉลี่ยที่ 2.2 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 2.8 โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: ผลการประเมินความสามารถของโรงเรียนในการช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ จากเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ทั้งความไม่พร้อมของโรงเรียนและความคาดหวังที่จะเรียนต่อเป็นปัจจัยที่ทำให้นักเรียนเลือกเรียนพิเศษเพิ่ม

การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นช่วยให้เห็นว่าการเรียนพิเศษอาจมีปัจจัยส่งหลายด้าน ทั้งความต้องการศึกษาต่อในระดับสูง ความไม่พร้อมของสถานศึกษา การไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น ยังอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยเชิงพื้นที่และสถานะของครัวเรือน ซึ่งหลายปัจจัยมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราอาจไม่สามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยใดมีผลมากน้อยต่างกันอย่างไร หรือแท้จริงแล้วมีปัจจัยได้บ้างที่ไม่มีผล ดังนั้น เพื่อให้คำตอบของคำถามนี้ชัดเจนมากขึ้น คิด for คิดส์ จึงใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อประเมินหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย[5]

ผลลัพธ์จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนไทยต้องเรียนพิเศษไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่มีหลากหลายมิติด้วยกัน ได้แก่ คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ความต้องการของเด็กนักเรียน นอกจากนี้ พื้นที่ของเด็กนักเรียนก็ยังส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเรียนพิเศษด้วยเช่นกัน

เมื่อเด็กนักเรียนเจอโรงเรียนที่ให้การเรียนการสอนที่ไร้คุณภาพ พวกเขาก็จำต้องพึ่งการเรียนการสอนนอกระบบมากขึ้น โดยแบบจำลองชี้ว่าหากเด็กนักเรียนเรียนในโรงเรียนที่มีห้องสมุดหรือหนังสือไม่เพียงพอ หรือหากเด็กนักเรียนเจอครูที่ไม่มีความรู้ในเรื่องที่สอน ความน่าจะเป็นที่เด็กจะเลือกเรียนพิเศษจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติราว 2.7% และ 4.3% ตามลำดับ

นอกจากคุณภาพการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบแล้ว ความต้องการของเด็กนักเรียน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษ โดยแบบจำลองชี้ให้เห็นว่า หากเด็กนักเรียนมีความต้องการที่จะเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป ความน่าจะเป็นที่เด็กจะเลือกเรียนพิเศษจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึง 5.2%

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเรียนพิเศษ คือปัจจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งแบบจำลองชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่นอกเมืองจะมีความน่าจะเป็นที่จะเรียนพิเศษเพิ่มมากกว่ากลุ่มที่เรียนในอำเภอเมืองและกลุ่มที่เรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติราว 2.5% และ 4.0% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติยังชี้ว่าปัจจัยที่เดิมคาดว่าน่าจะส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการตัดสินใจเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนกลับไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งได้แก่ รายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษาสูงสุดของพ่อแม่ เพศสภาพของเด็กนักเรียน และอายุของเด็กนักเรียน

กล่าวโดยสรุปคือ จากการทำแบบจำลองทางเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนไทยเลือกเรียนพิเศษหรือไม่นั้น มีทั้งเพื่อชดเชยความรู้จากการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ และเพื่อเพิ่มความรู้ให้สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยการตัดสินใจเรียนพิเศษของนักเรียนไม่มีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของครอบครัวเด็กนักเรียนและระดับการศึกษาของพ่อแม่เด็กนักเรียน (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: ผลวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นที่จะเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 คำนวณโดย คิด for คิดส์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบบจำลองในเศรษฐมิติในข้างต้นจะชี้ให้เห็นว่ารายได้ครัวเรือนของเด็กนักเรียนจะไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษเพิ่ม แต่รายได้ครัวเรือนกลับส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนพิเศษ เมื่อใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจ่ายค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียน[6] ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ก็ยืนยันว่ารายได้ครัวเรือนนั้น ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของนักเรียน โดยเมื่อรายได้ครัวเรือนมากขึ้น 10% ค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนจะเพิ่มขึ้น 5.7% กล่าวคือนักเรียนในทุกสถานะเข้าเรียนพิเศษไม่แตกต่างกันมาก แต่นักเรียนในครัวเรือนร่ำรวยจะสามารถเรียนพิเศษที่มีราคาแพง ซึ่งอาจเป็นการเรียนที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีผู้สอนที่คอยให้คำอธิบายได้มากกว่า ซึ่งทำให้คุณภาพที่ได้รับแตกต่างกันตามรายได้

นอกจากนี้ ปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากรของโรงเรียน ความต้องการของเด็กนักเรียน และปัจจัยเชิงพื้นที่ ก็ยังส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน (ตารางที่ 1)

ปัจจัยค่าเรียนพิเศษ
รายได้ครัวเรือนมากขึ้น 10%+5.7%
อยู่ในเมือง+22.8%
อยู่ใน กทม. และปริมณฑล+41.6%
อยากเข้ามหาวิทยาลัย+37.4%
เจอครูไม่มีความรู้+28.7%
เจอครูบังคับให้ทำตามโดยไม่บอกเหตุผล+18.6%
สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่เหมาะสมต่อการเรียน+28.0%
ตารางที่ 1: ผลวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 คำนวณโดย คิด for คิดส์

การเรียนพิเศษอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถเรียนต่อได้

เมื่อสอบถามเด็กนักเรียนไทยอายุ 15-18 ปี ที่มีเป้าหมายอยากเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งหมดว่าพวกเขามั่นใจว่าจะสามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้หรือไม่ พบว่า ราว 60% ตอบว่ามั่นใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกกลุ่มระหว่างเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษและเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษมีสัดส่วนคนที่ตอบว่าตนมั่นใจมากกว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 8.0% จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การเรียนพิเศษอาจช่วยเพิ่มทักษะบางอย่างทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้มีความมั่นใจว่าจะเรียนต่อได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยก็ยังมีสัดส่วนคนที่มั่นใจมากกว่ากลุ่มครัวเรือนยากจน ทั้งในกลุ่มที่เรียนพิเศษและไม่ได้เรียนพิเศษ (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 6: สัดส่วนเด็กนักเรียนที่มั่นใจว่าสามารถเรียนต่อถึงระดับที่ต้องการได้
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

พยายามแค่ไหน ก็อาจยังไม่ประสบความสำเร็จดังฝัน

แม้ว่าเด็กนักเรียนที่ตั้งเป้าจะเข้ามหาวิทยาลัยและทุ่มทรัพยากรเพื่อเรียนพิเศษมีสัดส่วนคนที่มั่นใจว่าจะสามารถเรียนถึงเป้าหมายได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่เรียนพิเศษ แต่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ก็ยังกังวลว่ามีอุปสรรคอื่นที่อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถประสบความสำเร็จดังที่ฝันได้อยู่ดี

เมื่อถามความคิดเห็นเยาวชนว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้ พบว่าเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษและมีเป้าหมายอยากเข้ามหาวิทยาลัยก็มีอุปสรรคที่แตกต่างกันไปตามระดับรายได้ครัวเรือน

กลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนยากจนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยและยอมทุ่มเทเวลาเพื่อเรียนพิเศษเกินครึ่งเห็นว่าอุปสรรคสำคัญ คือ ไม่มีเงินเพียงพอ (57%) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถเรียนต่อได้ ยิ่งเห็นว่าเรื่องเงินเป็นอุปสรรคสำคัญมากที่สุด (68.7% ของคนที่ไม่มั่นใจ) ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ ไม่มีความสามารถเพียงพอ (16.8% ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ) และบ้านไกลจากสถานศึกษา (7.8% ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ)

ขณะที่กลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยกลับมีปัญหาเรื่องเงินน้อยกว่า เพราะสามารถทุ่มทรัพยากรด้านเงินเพื่อเรียนพิเศษได้มากกว่าและส่วนมากไม่ได้เห็นว่าเรื่องเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ หากแต่เป็นเรื่องความสามารถ โดยร้อยละ 31 ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้ คือ ไม่มีความสามารถเพียงพอ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 7: อุปสรรคสำคัญที่เด็กนักเรียนไทยที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนพิเศษเห็นว่าทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ทางออกไม่ใช่การห้ามเรียนพิเศษ แต่คือการศึกษาที่คุณภาพเสมอหน้า และมีเส้นทางเดินที่ตอบโจทย์โลกการทำงานยุคใหม่แก่ทุกคน

ภาพของการเรียนพิเศษของนักเรียนไทยที่เห็นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำจากระบบการศึกษาที่มีโรงเรียนที่มีความพร้อมอย่างไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเลือกคุณภาพของทางออก (โรงเรียนสอนพิเศษ) ได้เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาโดยการจำกัดการเรียนพิเศษนั้นยังไม่ใช่คำตอบ เพราะการเรียนพิเศษอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ โดยการเรียนพิเศษอาจเป็นเพียงแค่หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาจากการศึกษาในระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ และหากมีการห้ามไม่ให้เรียนพิเศษ กลุ่มครัวเรือนร่ำรวยก็ยังสามารถทุ่มทรัพยากรไปกับสิ่งอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้พวกเขาได้เปรียบได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ อยู่ดี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยการห้ามเรียนพิเศษก็ยังคงทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้หายไปไหน[7]

เป้าหมายในการแก้ปัญหาไม่ใช่การเรียนการสอนนอกระบบ หากแต่เป็นการแก้ไขระบบการศึกษาไทยให้เป็นระบบการศึกษาที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

หน้าตาของระบบการศึกษาใหม่จะต้องมีคุณภาพที่ดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สามารถช่วยพัฒนาทักษะความรู้ที่หลากหลายและสอดรับกับโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถบรรลุเป้าหมายที่พวกเขาใฝ่ฝันได้ โดยความฝันในที่นี้ ไม่ได้จำกัดแค่ด้านการเรียนต่อระดับมหาลัย เพราะเด็กและเยาวชนยังมีความฝันอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยเหมือนที่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันคิดไว้ให้


References
1 Baker, David P., Akiba, Motoko, LeTendre, Gerald K., and Wiseman, Alexander W. “Worldwide Shadow Education: Outside-School Learning, Institutional Quality of Schooling, and Cross-National Mathematics Achievement,” Educational Evaluation and Policy Analysis 23, no. 1 (2001): 1-17.
2 “ชีวิตเด็ก ม.ปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย,” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล), กรกฎาคม 1, 2014, https://bangkokpoll.bu.ac.th/poll/result/doc/poll686.pdf.
3 “‘โรงเรียนกวดวิชา’ เงาสะท้อนความเหลื่อมล้ำและความล้มเหลวของการศึกษาไทย,” สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.), กุมภาพันธ์ 12, 2021, https://research.eef.or.th/thailand-tutoring-culture/.
4 ค่าเล่าเรียน ได้แก่ ค่าเรียนในระบบและค่าเรียนพิเศษ
5 แบบจำลองทางเศรษฐมิติดังกล่าว คือ logistic regression ซึ่งผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษถูกประมาณโดยการคำนวณ average marginal effects (AME)
6 เครื่องมือทางเศรษฐมิติที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษ คือ การประมาณค่าด้วยวิธี Ordinary Least Square (OLS) กับกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ปีที่เรียนเต็มเวลาและเรียนพิเศษ
7 วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์, “ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมต้องเรียนพิเศษ: เมื่อความเหลื่อมล้ำจู่โจมการศึกษา,” พฤศจิกายน 12, 2020, https://thestandard.co/why-having-extra-class-if-education-is-qualified/.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save