fbpx

เดวิด สเตร็คฟัสส์: วิวัฒนาการถอยหลังของการเมืองไทย และฉากทัศน์ต่อไปของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในบรรดานักวิชาการต่างประเทศจำนวนมหาศาลที่ให้ความสนใจการเมืองการปกครองไทยในหลากหลายมิติ หนึ่งในบุคคลที่เราน่าจะคุ้นหูคุ้นตากันดีคนหนึ่ง ย่อมไม่อาจขาดชื่อของ ‘เดวิด สเตร็คฟัสส์’ ไปได้

เดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) เป็นทั้งนักวิชาการ อดีตผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา CIEE ประเด็นที่เดวิดสนใจและได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการระดับโลก คือการเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาคือเรื่อง The Poetics of Sub-version: Civil Liberty and Lese-Majeste in the Modern Thai State ที่ได้พัฒนาต่อยอดเป็นหนังสือชื่อ Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-majesté (2011) อันเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในการกล่าวถึงและวิเคราะห์การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเปิดเผย

กระทั่งเมื่อปี 2564 จากข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นแจ้งว่ามีการยกเลิกสัญญาจ้างกับเดวิด ส่งผลให้ทั้งใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยกรมการจัดหางานและวีซ่าทำงานของเขาสิ้นสุดไปด้วย เป็นเหตุให้เดวิดตั้งคำถามว่า การยกเลิกดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ก่อนที่ภายหลังจะได้รับคำตอบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า เป็นเพราะโครงการ CIEE ที่เดวิดสัญญากับคณะสาธารณสุขศาสตร์ไว้นั้นไม่มีความคืบหน้า เป็นการยุติความร่วมมือของโครงการที่ CIEE ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่ถึงกระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมาพูดถึงได้เป็นจุดตั้งต้นในการขบคิดและถกเถียงประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย

กว่า 32 ปีนับจากวันที่เดวิดมาเยือนประเทศรูปขวานทองเป็นครั้งแรก 12 ปีหลังจากผลงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรา 112 ของเขาเผยแพร่ออกมา และผ่านมาแล้ว 2 ปีที่เขาถูกยกเลิกสัญญาจ้างกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนถึงวันนี้ คงพูดได้อย่างไม่เกินจริงว่า ประสบการณ์ชีวิตของเดวิดเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองและความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์

จากจุดเริ่มต้นของการศึกษากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทย หากมองย้อนไปยังฉากทัศน์การเมืองไทยในอดีตจนถึงวันนี้ เส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในสายตาของเขาเป็นอย่างไร และถึงที่สุด ภาพของการเมืองการปกครองไทยที่เขาอยากเห็นหน้าตาเป็นแบบไหน

ร่วมหาคำตอบได้ในบทสนทนาต่อไปนี้

ภาพจาก เดวิด สเตร็คฟัสส์

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อะไรคือเหตุผลและจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเลือกประเด็นนำเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 มาศึกษาอย่างจริงจังจนตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ

ที่จริงแล้ววิทยานิพนธ์แรกสุดของผมเขียนเสร็จเมื่อปี 2540 หลังจากนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) นักวิชาการที่ดูแลชุดหนังสือเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กระตุ้นให้ผมเขียนหนังสือ และตอนที่เริ่มตัดสินใจว่าจะเขียนคือช่วงที่มีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกรำคาญใจอย่างมาก ผมจึงตัดสินใจว่าจะลองเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทย หลังจากนั้นก็ใช้เวลาสองปีถึงจะเขียนจนเสร็จ 

ตอนแรกผมก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเดียว ในสมัยนั้นประเทศไทยตั้งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติมาคอยดูแลเกี่ยวกับเอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติ และผมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐไทยมีความพยายามจะสอดแทรก ‘ความมั่นคง’ อยู่ทุกที่ อยู่ทั้งในวารสารของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งเนื้อหามีทั้งความมั่นคงกับเยาวชน ความมั่นคงกับผู้หญิง ฯลฯ คือมี ‘ความมั่นคง’ กับทุกๆ เรื่อง ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่ารัฐไทยกำลังพยายามนิยามพื้นที่อะไรอยู่กันแน่ ขอบเขตของความมั่นคงอยู่ตรงไหน เพราะดูเหมือนทุกเรื่องก็จะเป็นความมั่นคงในสมัยนั้นไปหมด ทำให้เริ่มเข้าไปศึกษาเรื่องนี้อย่างลงลึกมากขึ้น

ณ ตอนนั้นเรื่อง 112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากสำหรับคนไทย คุณหาข้อมูลจากไหนและเข้าถึงแหล่งข้อมูลศึกษาได้อย่างไร

พอดีผมเจอหนังสือที่เขียนถึงความเป็นมาของการพิพากษาของแต่ละมาตราที่อยู่ในกฎหมายอาญา และจะมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ผู้เขียนอธิบายรายละเอียดของหลายๆ คดีที่เคยมีมา รวมทั้งคดีอาญามาตรา 112 ทั้งยังมีแหล่งข้อมูลของบางคดีที่ผู้ถูกกระทำหรือคนใกล้ตัวของผู้ต้องหาออกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง เช่น หนังสือของวีระ มุสิกพงศ์ ที่เคยต้องโทษคดี 112

นอกจากนั้น ผมได้ไปหาข้อมูลการพิจารณาคดีเพิ่มเติมที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีหนังสือรวบรวมคดีศาลฎีกา ถึงแม้ว่าเนื้อหาที่ได้มาอาจจะย่นย่อไปบ้าง และไม่แน่ใจว่าเอกสารจริงสามารถหาอ่านได้ที่ไหน เพราะผมไม่เคยเข้าถึงข้อมูลดิบที่มาจากศาลฎีกาโดยตรงได้ โดยส่วนมากภาครัฐมักจะไม่บอกข้อมูลเหล่านี้แก่สังคมเลย คืออาจจะเลือกเผยแพร่บางคดี หรือก่อนเผยแพร่อาจนำมาย่อเนื้อหาแค่พอสังเขป และระหว่างการศึกษาก็มีหลายคำถามที่เกิดขึ้นกับผมว่า ทำไมภาครัฐไม่ปล่อยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนรู้ และเขาใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือกเนื้อหา ใช้ตัวชี้วัดใดในการตัดสินใจว่าจะปล่อยข้อมูลของคดีไหนบ้าง และที่สำคัญคือกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่เราเข้าถึงได้ไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด อาจเป็นแค่ข้อมูลไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากข้อมูลดิบทั้งหมดที่ภาครัฐมี

แต่หลังจากศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นขอบเขตของสิ่งที่รัฐพยายามป้องกันหรือปกป้องไว้ เริ่มเห็นขอบเขตของความมั่นคงที่รัฐพยายามสร้างขึ้น การศึกษาคดีเหล่านี้จะทำให้เราเห็นวิธีคิดและวิธีพิจารณาคดีของศาลที่พยายามอธิบายว่าทำไมสิ่งนี้ผิด ทำไมสิ่งนั้นไม่ผิด การศึกษาคดีที่เกิดขึ้นเหมือนกำลังพยายามเข้าใจว่า 112 ถูกใช้งานอย่างไร ไปจนถึงกฎหมายอาญามาตรา 113 116 หรือแม้แต่กฎหมายปราบปรามการกบฏ

ผมยังศึกษากฎหมายไทยย้อนกลับไปถึงอดีตตอนที่มีกฎหมายตราสามดวง เพราะเป็นยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันที่จริง กฎหมายตราสามดวงกำหนดโทษกว้างมาก อาจจะกว้างที่สุดของกฎหมายในสมัยนั้น ถ้าผมจำไม่ผิด มีโทษตั้งแต่แค่ตักเตือนจนถึงประหารชีวิต ประมาณปี 2443 ก็เริ่มมีกฎหมายในรูปแบบใหม่ แต่ยังไม่ได้รวบรวมเป็นประมวลและการกำหนดโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศที่มีพระกษัตริย์ในยุโรปของสมัยนั้นและต่ำกว่าบางประเทศ เช่น สเปน รัสเซีย เป็นต้น 

แม้ข้อมูลในสมัยนั้นจะไม่มีการบันทึกคำพิพากษาหรือวิธีการพิจารณาอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็ศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงแนวความคิดของคนในสมัยนั้น เพราะในช่วงที่มีกฎหมายตราสามดวงเป็นช่วงเวลาที่สยามเริ่มพยายามออกกฎหมายในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้นหรือเหมือนกับต่างประเทศมากขึ้น

มาจนถึงปี 2451 คือช่วงสองปีก่อนรัชกาลที่ 5 จะสิ้นสุดลง จึงมีการบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะด้วยกระแสรัฐสมัยใหม่จากตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการปฏิรูปกฎหมายและศาลนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ซึ่งมีการเพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้สูงขึ้น โดยกฎหมายนี้กำหนดความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระบรมราชตระกูล ในตอนที่มีการปฏิรูปกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มีคำอธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจแก้ไขกฎหมายออกมาในลักษณะนี้ โดยระบุว่าเป็นการปฏิรูปโดยใช้แบบอย่างจากต่างประเทศ เนื่องจากขณะนั้นทั้งประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน และอังกฤษต่างมีกฎหมายในลักษณะการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นกัน

หลังจากการปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ก็มีการตั้งกระบวนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยอ้างว่าเป็นการปรับให้เข้ากับกระแสของการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น

เมื่อปี 2499 ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็มีความเข้าใจว่า ที่ปรากฏในคำพิพากษาบางบทว่า ศาลเห็นว่าคนนั้นแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอาจจะไม่ลงโทษเลยหรือลดโทษน้อยลง พอมีขอบเขต คืออาจจะจำคุกไม่นาน ช่วงนั้นจะเห็นคำว่า ‘ความมั่นคง’ ปรากฏในชื่อหมวดของกฎหมายเป็นครั้งแรก   

โดยคดีในช่วงปีนั้น ส่วนมากผู้พิพากษาจะตัดสินโทษจำคุกประมาณ 1 เดือนถึง 1 ปี ไม่มากไปกว่านี้ ในแง่หนึ่ง อาจมองได้ว่าประเทศไทยก็ยังอยู่ในกระแสกฎหมายแบบประเทศอื่น เพราะในยุคสมัยนั้นประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคล้ายๆ กัน แต่ต้องยอมรับว่าโทษของประเทศไทยหนักกว่าที่อื่น ประเทศอื่นอาจกำหนดโทษจำคุก 3-5 ปี แต่ประเทศไทยสูงถึง 7 ปี

ดูเหมือนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วถึงจุดไหนที่ทำให้คุณมองว่ากฎหมายนี้มีปัญหา

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2519 แค่สองอาทิตย์หลังจากการทำร้ายประชาชนที่ธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการเพิ่มบทลงโทษของกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเดิมจำคุกไม่เกิน 7 ปี เปลี่ยนเป็นจำคุกอย่างน้อย 3 ปี และสูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากการยินยอมหรือถามความเห็นประชาชนเลยแม้แต่น้อย เป็นการออกคำสั่งของคณะรัฐประหาร เห็นได้ชัดว่าการเพิ่มโทษของกฎหมาย 112 เป็นผลพวงจากรัฐประหารหลัง 6 ตุลาคม 2519 พอมีการแก้ไขกฎหมาย 112 โดยกำหนดเพดานโทษถึง 15 ปี ตอนนั้นมีการสั่งจำคุกคนในข้อหา 112 เยอะพอสมควร 

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเริ่มไม่เหมือนประเทศอื่นแล้ว เพราะแนวโน้มของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่นคือการมีบทบาทเป็นเพียงสัญลักษณ์ของรัฐ และเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดจากความเห็นชอบของประชาชน จะเห็นว่าต่างประเทศจะต้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะตอนที่คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามว่าสถาบันนี้มีประโยชน์อย่างไร หรือสถาบันนี้จะสร้างผลดีหรือความเสียหายต่อประเทศอย่างไรบ้างไหม และสถาบันใช้งบประมาณประเทศไปมากเท่าไหร่ เหล่านี้สถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศต้องตอบประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการแก้ไขโทษของกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2519 ในขณะเดียวกันก็ยังมีกฎหมายที่รุนแรงกว่านั้นที่รัฐไทยเลือกจะใช้มากกว่ากฎหมาย 112 นั่นคือกฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในช่วงนั้นรัฐไทยใช้กฎหมายนี้มากกว่า 112 เสียอีก และหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย ก็จะมีช่วงเวลาที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคทองของราชาธิปไตย’ คือหลังจากรัฐประหารปี 2534 จนถึงปี 2547 เป็นช่วงที่ไม่ได้ใช้กฎหมาย 112 มากเท่าไร อาจจะมีแค่ 1-2 คดีต่อปี คือ 112 อาจไม่ได้ถูกยกเลิก แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนถึงปี 2548 ที่เริ่มมีความขัดแย้งระหว่างสนธิ ลิ้มทองกุลกับทักษิณ ชินวัตร กฎหมาย 112 จึงเริ่มถูกนำมาใช้บ่อยมากกว่าที่เคย มีคดีเยอะขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะถ้าเป็นปีที่มีการรัฐประหารจะยิ่งมีคดีเยอะมากขึ้นเป็นพิเศษ

ช่วงเวลาไหนที่คุณมองว่าเป็นยุคที่ 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเด่นชัดที่สุด

ยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาท พอถึงยุคที่มีทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งเสื้อแดงเป็นกลุ่มที่เข้าถึงข้อมูลที่คนในสังคมทั่วไปเข้าไม่ถึงมาก่อน พอคนเริ่มพูดถึงข้อมูลที่พวกเขาเจอ และตั้งคำถามต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก ช่วงนั้นคดี 112 ก็เริ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก่อนคนส่วนมากอาจมองว่ามีเฉพาะพวกชนชั้นแกนนำที่ใช้กฎหมาย 112 มาฟาดฟันกัน แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ว่าทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อยู่ในสายตาของสังคมมากขึ้น และแทนที่จะมีการเจรจาในสังคมหรือในกลุ่มแกนนำ กลับใช้กฎหมายในการจัดการอีกฟากฝั่งแทน

ในวาทกรรมจงรักภักดีต่อสถาบันของคนไทย แต่ก่อนเราอาจเข้าใจไปว่ามีแค่คนยากจน คนชนชั้นรากหญ้า หรือคนต่างจังหวัดที่มีการศึกษาน้อยเท่านั้นถึงจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย อันที่จริงจุดศูนย์กลางของฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อเหลือง แต่ถ้าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในต่างจังหวัด หลายครั้งเกิดจากความกลัว มีหลายคดีแปลกๆ ที่ต่อจะให้เป็นความจริงหรือไม่ก็มีส่วนทำให้คนกลัวและไม่กล้าล้ำเส้น

แต่หลังจากมีกลุ่มเสื้อแดงขึ้นมา เราจะเริ่มเห็นรัฐใช้ความรุนแรงในการจัดการกลุ่มเสื้อแดงอย่างเด่นชัด แต่ในขณะเดียวกันก็แทบไม่ปราบปรามกลุ่มเสื้อเหลือง ทำให้ประชาชนเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นก็จะมีคดี 112 เยอะแยะไปหมดและขยายวงกว้างไปอย่างน่าเหลือเชื่อ ยุคนั้นเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนกับอนุรักษนิยม ฟาดฟันกันในทุกวิถีทาง ในขณะที่อนุรักษนิยมเป็นฝ่ายที่มีปืนอยู่ในมือ และมีอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงในการจัดการอีกฝ่าย

ก่อนหน้าที่บอกว่ามีช่วงหนึ่งที่รัฐไทยใช้กฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์มากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่อัตราคดี 112 น้อยลงมาก แปลว่าในความเป็นจริงเครื่องมือของรัฐไทยในการรักษาอำนาจไม่ได้มีแค่ 112 ?

ใช่ ในเมื่อตอนนั้นกำลังต่อสู้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ แล้วหลังจากคอมมิวนิสต์หายไป เขาก็ต้องใช้ 112 มากขึ้นแทน และอย่างที่รู้กันเสมอว่าทุกครั้งที่ประเทศไทยเกิดการรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็มักจะออกคำสั่งต่างๆ มาควบคุมสถานการณ์อยู่เสมอ เช่น มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ขึ้นมาเป็นอีกเครื่องมือหรืออาวุธที่จะใช้กับคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือเขามีอะไรพอที่จะปิดปากประชาชนได้ก็นำมาใช้หมด เพื่อห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาล

จากการศึกษา ส่วนตัวคุณมองว่า 112 มีปัญหาที่อัตราโทษที่สูงเกินไป แล้วจากครั้งแรกที่ศึกษาเรื่อง 112 จนถึงตอนนี้ คุณมองเรื่องนี้แตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหนบ้าง

ผมมองว่าประเทศไทยไม่เคยชัดเจนว่ากฎหมายนี้พูดถึงใคร ปกป้องใครบ้าง ปกป้องสถาบันทั้งหมด ปกป้องหนึ่งคนหรือหลายคน หรือหมายรวมทั้งราชวงศ์เลยหรือ เคยมีคดีที่ศาลระบุว่ากฎหมาย 112 ปกป้องทั้งราชวงจักรีตั้งแต่จุดเริ่มต้น เช่น มีกรณีหนึ่งที่คนพูดในวิทยุชุมชนเกี่ยวกับเรื่องของทาสในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยเคยมีทาสจริงๆ แต่กลับมีคนกล่าวหาว่าพูดแบบนี้เหมือนทำให้รัชกาลที่ 4 ดูโหดร้ายและไม่ใส่ใจประชาชน และอ้างไปถึงว่าการพูดถึงรัชกาลที่ 4 แบบนี้เท่ากับเป็นการดูหมิ่นและเข้าข่ายอยู่ในขอบเขตของ 112 เพราะเป็นเชื้อสายบรรพบุรุษของรัชกาลปัจจุบัน และยังอ้างว่าทั้งราชวงศ์จักรีต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย 112 ทั้งที่เป็นเพียงการพูดถึงข้อเท็จจริงทั่วไป นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นของกฎหมายนี้ อีกทั้งตอนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 มีกลุ่มหนึ่งจากพรรคประชาธิปัตย์เสนอเพิ่มโทษกฎหมาย 112 เป็นขั้นต่ำ 5 ปี และขั้นสูงที่ 25 ปี และเสนอว่า 112 ต้องไม่ใช่แค่ปกป้องในหลวงกับพระราชินีเท่านั้น แต่ต้องทั้งราชวงศ์จักรี

จนถึงตอนนี้ ผมมองว่าประชาชนสื่อสารอย่างตรงไปตรงมามากว่าอยากให้สถาบันมีบทบาทในสังคมการเมืองอย่างไร ยิ่งหลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นก็มีปฏิกิริยาจากประชาชนที่รู้สึกไม่เป็นธรรม ประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมกันแบบพร้อมที่จะสู้ตาย จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เชื่อว่าทุกคนตกใจมากตอนที่มีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เพราะประเทศไทยไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน ครั้งสุดท้ายที่มีประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนเช่นนี้ก็น่าจะตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ออกมาต่อต้านมากขึ้น เขาก็เริ่มจัดการด้วย 112 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่พอจะใช้ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 เป็นต้นมา จนนักกิจกรรมหลายคนโดนคดีนับไม่ถ้วน

และในที่สุดรัฐบาลก็พยายามจัดการคนเห็นต่างด้วยการใช้ความรุนแรง ทั้งทางร่างกายและทางกฎหมาย แทนที่จะพูดคุยกันว่ากฎหมายนี้ควรแก้ไขหรือไม่อย่างไร จะแก้ไขแบบไหน หรือควรยกเลิกเพราะอะไร เพราะสิ่งสำคัญเมื่อเราพูดถึงหลักการประชาธิปไตย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของระบอบการปกครองนี้คือเสียงของประชาชน ไม่ใช่สถาบันใดๆ ทั้งนั้นที่จะมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า และทุกสถาบันต้องเป็นไปตามประชาธิปไตย สังคมไทยควรจะมีสิทธิพิจารณาทุกปัญหาด้วยกันโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม และใช้วิธีการประนีประนอมตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ากฎหมายถูกใช้มากเกินไป ออกมาบ่อยเกินไป และบทลงโทษก็สูงเกินไป ทั้งยังผิดกับหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ถึงที่สุด คุณมองว่า 112 ควรจะแก้ไขอย่างไร หรือควรจะยกเลิกไปเลย

คำถามนี้ตอบยาก ในแง่หนึ่ง ต้องบอกว่าผมเป็นนักวิชาการอิสระ ผมจึงมีหน้าที่เพียงศึกษา ค้นคว้า ทำวิจัย และพยายามค้นหาความเป็นจริงของสถานการณ์หนึ่ง หรือพยายามสร้างกรอบให้สังคมเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนที่สนใจการเมืองไทย ดังนั้น ผมจึงไม่ได้ถามตัวเองว่าผมเห็นด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีสถาบันหรือกฎหมายแบบไหน ผมเพียงพยายามรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งในอีกหลายล้านข้อเสนอที่มีนักวิชาการเคยศึกษามา

ดังนั้น ผมจึงไม่อาจเสนอได้ว่าประเทศไทยควรจะทำอย่างไร ผมรู้เพียงแต่ว่าถ้าประเทศไหนเป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันจากทุกฝ่าย ต้องมีเวทีหรือวิธีการที่จะคุยกันได้ ไม่ใช่การข่มขู่ ในเมื่อคนมีความหลากหลายก็ต้องมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติ

สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีเวทีในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันให้กับทุกฝ่าย และไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขู่หรือสั่งจำคุกเพียงเพราะแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ผมจะมองถึงหลักการเช่นนี้มากกว่าการชี้นำว่าคนไทยควรทำอะไร เพียงแต่ตามหลักการของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าสถาบันใดๆ ต้องอยู่ในการตรวจสอบของประชาชน และประชาชนต้องสามารถออกความคิดเห็นได้ ไม่ใช่บังคับให้คิดเหมือนกันหมด

และสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปคือฝ่ายอนุรักษนิยมหรือชนชั้นนำของไทยกำลังกลัวอะไร ทำไมถึงยึดมั่นกับกฎหมาย 112 หรือกับสถาบันฯ มากถึงขนาดนั้น เพราะทุกวันนี้แม้แต่รัฐบาลเองก็ตั้งตัวว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาสถาบันฯ มีคนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า จะไม่มีรัฐประหารใดๆ เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการยินยอมจากสถาบันฯ อาจมองได้ว่านี่เป็นข้อตกลงของคนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

จากสนามการเลือกตั้งล่าสุดที่พรรคก้าวไกลนำเรื่อง 112 มาเป็นนโยบายหาเสียง คิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่เปลี่ยนไปของการเมืองไทยหรือไม่

แน่นอน และที่น่าสนใจกว่าคือการเลือกตั้งที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับพรรคก้าวไกลจากการนำ 112 มาใช้เป็นนโยบายหลัก เห็นได้ชัดว่าพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามรับไม่ได้เลย ก้าวไกลใช้ทุกจุดที่ชนชั้นนำใช้เป็นเครื่องมือและเป็นฐานทางอำนาจตลอดมา ทั้งกฎหมาย 112 และการเกณฑ์ทหาร เหมือนก้าวไกลยิงทุกจุดที่เป็นศูนย์อำนาจที่อีกฟากฝั่งต้องการรักษาไว้เพื่อควบคุมประชาชน

ดังนั้น ผมไม่แน่ใจว่าครั้งนี้ก้าวไกลจะโดนแรงทัดทานมากแค่ไหน จะโดนยุบพรรคอีกครั้งหรือไม่ หรืออีกฝ่ายอาจหากฎหมายสักมาตรามาเล่นงานเพื่อขัดขวางไม่ให้ก้าวไกลได้ไปต่อ พวกเขาใช้วิธีนี้ในการจัดการฝ่ายตรงข้ามตัวเองมาตลอด เพียงแต่ครั้งที่แล้วเขาคิดผิด คือเขาคิดว่ายุบพรรคอนาคตใหม่แล้วจะได้ผล แต่กลับได้ผลตรงกันข้าม เพราะเหตุการณ์นั้นกลับยิ่งจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมกันมากขึ้น ทีนี้พอมีการชุมนุมก็ยิ่งมีการรื้อฟื้น 112 มาใช้ใหม่ แต่พอการเลือกตั้งครั้งนี้ก้าวไกลได้คะแนนเสียงมหาศาลทั้งที่พูดถึง 112 อย่างตรงไปตรงมา นี่คือประเด็นที่น่าติดตามว่าฝั่งนั้นจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกครั้งที่เขาพยายามจะทำลายอะไรสักอย่าง มันอาจกลับมาอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิม เหมือนที่ก้าวไกลได้คะแนนเสียงเยอะจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกอัดอั้นของประชาชนตอนที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย เพราะอีกฝ่ายคิดแบบหยาบๆ ว่าใช้ค้อนทุบทำลายไปแล้วทุกอย่างจะจบ แต่แน่นอนว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น และไม่ได้จบอย่างที่เขาต้องการ

พวกอนุรักษนิยมที่ไม่มีจินตนาการมากกว่านี้ก็คิดแค่ต้องทำลายมันลงแล้วทุกอย่างจะจบ แล้วอีกฝ่ายจะหยุดต่อต้าน แต่ความจริงเราก็เห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่แน่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะเป็นฝ่ายที่ทำลายสถาบันฯ เองในที่สุด ไม่ใช่พวกหัวก้าวหน้า เพราะพวกอนุรักษนิยมจะเอาแต่ผลักไสและไม่ยอมรับฟังใคร ไม่ยอมคุย มีแต่ขู่และใช้ความรุนแรง และที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มอนุรักษนิยมไม่ยอมให้สถาบันฯ มีวิวัฒนาการด้วยตัวเอง ต่อให้วันหนึ่งจะมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนกล้าพูดออกมาไหมหากยังมีกฎหมาย 112 อยู่

แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 มักอ้างเหตุผลว่าประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันกษัตริย์ก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ต่างจากไทย คุณมีข้อคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

ถ้าเป็นกรณีของประเทศอื่นอย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สวีเดน หรืออังกฤษ สมมติว่าร้อยละ 50 ของประชาชนทั้งประเทศไม่พอใจกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกับสถาบัน จุดนั้นราชวงศ์ต้องมาพิจารณาแล้วว่าเขาต้องปรับตัวหรือมีการแก้ไขอะไรบางอย่างให้ดูมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาประชาชน เพราะหากสถาบันไม่มีโอกาสเรียนรู้จากคำวิจารณ์ของประชาชนบ้างเลยก็จะไม่มีทางปรับตัวได้ และถึงที่สุดอาจไปถึงจุดหนึ่งที่แม้แต่คนที่เคยชอบก็ไม่ชอบแล้ว ไม่ศรัทธาแล้ว อย่างประเทศอื่นกำหนดไว้ว่าสถาบันต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ประเทศไทยไม่ใช้คำนี้ ประเทศไทยยึดมั่นว่าเราเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือปลูกฝังว่าสถาบันที่ไทยเหมือนพ่อดูแลลูก พยายามสร้างมายาคติว่าความสัมพันธ์ของราชวงศ์ไทยกับประชาชนแตกต่างจากประเทศอื่น

หรือถ้าพิจารณาการบังคับใช้ของประเทศอื่น เช่น ประเทศตุรกีที่ไม่ได้มีสถาบันกษัตริย์ แต่มีมาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญา กำหนดไม่ให้มีการดูหมิ่นความเป็นตุรกี ชนชาติเติร์ก สถาบันของรัฐตุรกี และวีรชนแห่งชาติตุรกีอย่างมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์กนั้นมีความผิด ทว่าต่อมาพบว่ามีการใช้กฎหมายนี้ในการให้ร้ายประชาชนคนทั่วไป จนทำให้มีการสั่งจำคุกนักกิจกรรมและปัญญาชนจำนวนมากจนถึงขั้นที่ระบบรับไม่ไหว กระทรวงยุติธรรมของตุรกีจึงออกคำสั่งว่าต่อไปนี้หากจะดำเนินคดีมาตรา 301 ต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงยุติธรรมก่อน คล้ายกับมีประตูคัดกรองก่อนด้านหนึ่ง เพราะรัฐบาลตุรกีรับรู้ว่าถ้ามีการใช้กฎหมายนี้เยอะไป คนอาจใช้มันเป็นอาวุธในการจัดการศัตรูทางการเมืองได้

หรือตัวอย่างที่ประเทศนอร์เวย์ ถ้ามีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภาครัฐหรือคนทั่วไปจะดำเนินคดีไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่าตัวของสถาบันฯ ที่ถูกพาดพิงจะอนุมัติให้ดำเนินคดีด้วยตัวเอง จึงจะเห็นภาพชัดเจนว่าถ้ามีคดีดูหมิ่นความเป็นตุรกี อย่างน้อยทุกคนรู้ว่ายังมีกระทรวงยุติธรรมตุรกีเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ หรือหากเกิดมีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่นอร์เวย์ ประชาชนก็รู้ว่าเป็นสถาบันฯ เองเป็นผู้ตัดสินใจให้ฟ้องร้อง แต่ที่ประเทศไทยกลับเป็นตาสีตาสาที่ไหนก็ได้ไปฟ้องร้องให้เกิดคดี 112 ขึ้นมา

หรือตอนที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองคดี 112 เพื่อที่จะให้มีประตูพิจารณาด่านหนึ่งก่อนว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ แต่ผลที่ออกมาคือไม่สำเร็จ คือไม่สามารถควบคุมกระบวนการของกฎหมาย 112 ได้ ด้วยวาทกรรมอันเข้มข้นของกฎหมายนี้ที่สร้างมาเพื่อให้ประชาชนต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเน้นย้ำว่าความเป็นไทยคือความจงรักภักดีต่อสถาบัน

ดังนั้น ผมมองว่าถ้าประเทศไหนมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วสถาบันนั้นอยู่ในการตรวจสอบของประชาชนตามปกติแบบประเทศอื่น การจะมีกฎหมาย 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะความจริงทุกวันนี้ทั้งโลกมีแค่ประเทศเดียวที่มีสถาบันแล้วไม่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้านำไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีกฎหมายลักษณะนี้ จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ใช้กฎหมายแบบนี้น้อยมาก อาจจะแค่ปรับเป็นจำนวนเงินหรือลงโทษแบบรอลงอาญา แต่ไม่มีทางให้โทษสูงถึงขนาดประเทศไทย เพราะเขารู้ว่าถ้าใช้กฎหมายแบบนี้บ่อยจะส่งผลกระทบร้ายต่อสถาบันฯ เอง และแน่นอนว่าการที่มีคนรักบ้างหรือไม่รักบ้างเป็นเรื่องธรรมดา สถาบันฯ ทั่วโลกก็ต้องเจอเหมือนกันหมด ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามว่า ถ้าชนชั้นนำไทยรักสถาบันฯ จริง ทำไมต้องดึงดันให้มีกฎหมายร้ายแรงถึงขนาดนี้

แล้วจนถึงตอนนี้ ส่วนตัวคุณคิดว่ามีโอกาสแค่ไหนที่เราจะได้เห็นการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ในรัฐบาลสมัยนี้

อนาคตเป็นเรื่องที่ตอบยาก และโชคร้ายที่ฝ่ายอำนาจเก่าใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยการใช้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อรักษาอำนาจไว้ และเพื่อไม่ให้พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นี่เป็นสัญญาณที่ค่อนข้างอันตราย เป็นการบอกว่าเขาไม่ยอมมอบอำนาจให้ง่ายๆ ผมมองว่านี่เป็นการวางแผนตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เพราะตอนที่ออกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ เขาก็ออกแบบให้วุฒิสภาสามารถเข้ามาช่วยรักษาอำนาจไว้ได้ถึงสองครั้ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าเราจะพูดถึงอุดมการณ์พื้นฐานของรัฐไทย แน่นอนว่าวาทกรรมพื้นฐานของความเป็นไทยคือ ประชาชนต้องจงรักภักดีต่อสถาบันฯ แต่ประเทศไทยที่ผมอยากเห็นคือการยอมรับและเคารพความหลากหลาย ให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ ทางเชื้อชาติ ทางศาสนา ไปจนถึงความหลากหลายด้านความคิดทางการเมืองและการแสดงออก แต่น่าเสียดายว่าแม้แต่ตอนนี้ผมก็มองว่ายังไม่มีวี่แววว่าที่จะได้เห็นเวทีสาธารณะในการโต้วาทีประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่เป็นปัญหามานานจนถึงตอนนี้

ยิ่งตอนนี้ฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าต้องการให้ก้าวไกลหายไปเลยเพื่อจะได้อำนาจกลับมา พอเป็นเช่นนี้ ถ้าหากประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ ผมกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นจะเกิดจากการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนประชาชนทนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย 112 อาจไม่ได้เกิดจากการที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ชะลอการใช้กฎหมาย 112 ไว้ก่อนเพื่อมาหารือแนวทางแก้ไขกับประชาชน แต่อาจเกิดจากการกระทำของฝั่งอนุรักษนิยมที่ยังดื้อรั้นไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนนำมาสู่วิกฤตที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาในที่สุด

แต่ถึงกระนั้น ในวิกฤตที่ว่านั้นอาจมีความหวัง เพราะเวลามีคำสั่งยุบพรรค สิ่งที่หายไปแน่นอนคือพรรคการเมืองนั้น แต่คนในพรรคและอุดมการณ์ไม่ได้หายไปไหน พออนาคตใหม่หายไปถึงมีก้าวไกลตามมา พอเป็นแบบนี้ฝ่ายขั้วอำนาจเก่าจึงยิ่งต้องใช้ 112 และ 116 ไปจนถึงทุกกลไกที่เขามีมาใช้กับฝ่ายประชาธิปไตยอยู่เสมอ ดังนั้น ผมมองว่าประเทศไทยพอจะมีความหวัง แต่อีกฝั่งก็คงไม่ยอมง่ายๆ เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยแช่แข็งมาเป็นเวลาห้าสิบปี หลายคนหมดหวังไปนานแล้ว แต่บางทีคนรุ่นใหม่หลายคนอาจยังพร้อมจะทำให้เรื่องนี้จบลงที่รุ่นของพวกเขา และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้จริงๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save