fbpx

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่ตรงไปตรงมา การอดอาหารจึงเกิดขึ้น : ว่าด้วยเงื่อนไขและการถอนประกัน 112

ปี 2023 เริ่มต้นด้วยประเด็นการเมืองที่น่ากังวลและชวนตั้งคำถาม หลังศาลสั่งถอนประกันนักกิจกรรมทางการเมืองจนนำมาสู่การถอนประกันตัวเองและประกาศอดอาหารของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ก่อนหน้านี้นักกิจกรรม 2 คนคือ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถูกศาลสั่งถอนประกันเนื่องจากผิดเงื่อนไขการประกัน กรณีเข้าร่วมชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปกในปี 2022 ส่วนทานตะวันได้รับแจ้งให้มีการไต่สวนถอนประกันในกรณีเดียวกัน แต่มีคำสั่งเลื่อนไต่สวนไปช่วงต้นเดือนมีนาคม

ยังไม่ทันผ่านพ้นเดือนมกราคม ตะวันและแบม ประกาศถอนประกันตัวเอง พร้อมประกาศ 3 ข้อเรียกร้องคือ หนึ่ง-กระบวนการยุติธรรมต้องอิสระ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก ปกป้องสิทธิของประชาชน โดยผู้บริหารศาลไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สอง-ยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชน สาม-พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 112 และ 116 และให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมดภายใน 3 วัน

เมื่อข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการตอบรับ 3 วันผ่านไป ตะวันและแบมจึงยกระดับการต่อสู้ด้วยการอดอาหารและน้ำ (dry fasting) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีนักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่ใช้วิธีอดอาหารประท้วงแบบ dry fasting ซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพและอาจก่อให้เกิดอันตรายสูงสุดถึงชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการนี้จะสร้างข้อถกเถียงให้สังคมอย่างมาก แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้นักกิจกรรมต้องออกมาเรียกร้องด้วยวิธีการเสี่ยงต่อชีวิตตัวเองเช่นนี้

101 คุยกับทนายทราย-กุณฑิกา นุตจรัส หนึ่งในทนายผู้ดูแลคดี 112 ถึงปัญหาของการประกันตัวแบบมีเงื่อนไข และกระบวนการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีลักษณะ ‘ต่าง’ จากคดีอื่นๆ รวมถึงพูดคุยกับใบปอและเก็ทผ่านการส่งคำถามกับทนาย เพื่อสื่อสารถึงกระบวนการยุติธรรมครั้งล่าสุดที่พวกเขาเผชิญ

 ติดกำไลอีเอ็ม ห้ามออกจากบ้าน ห้ามกระทำผิดซ้ำ ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในเงื่อนไขประกันตัวคดี 112 

“เขาคงตกผลึกแล้ว เขาใช้คำนี้กับเราว่า สิ่งนี้คือเสรีภาพจอมปลอม แล้วเราต่อสู้กับเรื่องนี้มาไกลเกินกว่าที่จะให้มันมาผูกเราแล้วล่ะ เมื่อศาลมีเงื่อนไขมาพันไว้ เขารู้สึกว่าผู้คนสิ้นหวัง” กุณฑิกาเล่าถึงวันที่ทานตะวันโทรปรึกษาเรื่องการถอนประกันร่วมกับแบม ซึ่งเป็นสิ่งที่กุณฑิกายอมรับว่าไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อนตั้งแต่เป็นทนายมาเกือบ 10 ปี

เจตนาการถอนประกันของทานตะวันและแบมครั้งนี้มีผลสืบเนื่องจากการประกันตัวที่ผ่านมา พวกเธอต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกันจากศาล โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ศาลสั่ง เช่น ติดกำไลอีเอ็ม, ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล, ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันตามที่ถูกกล่าวหาในคำฟ้อง, ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามผู้ต้องหาออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่เพื่อการศึกษา หรือรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยได้รับอนุญาตจากศาลล่วงหน้า หากเป็นกรณีเพื่อการศึกษา ให้แสดงหลักฐานโดยมีการรับรองจากสถาบันการศึกษาและอาจารย์ผู้ควบคุมดูแลในแต่ละรายวิชาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน หากเป็นกรณีให้เหตุเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ ต่อศาลภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ไปพบแพทย์ ฯลฯ

“ปกติเราไม่เคยมีการไต่สวนถอนประกัน เพิ่งมาเกิดยุคเพนกวิน เพราะช่วงนั้นไม่ให้ประกันก่อน เราไปขอ เพราะตอนนั้นเด็กจะตายแล้ว เขาอดอาหาร แล้วพอให้ก็จะให้เด็กยอมรับเงื่อนไข ต่อมาหลังๆ ในคดี 112 จะไม่ค่อยมีลักษณะไม่ให้ประกันแล้ว เขามักจะให้ประกันเลยแต่มีเงื่อนไขตั้งแต่วันแรก เงื่อนไขนี้ไม่ใช่แค่คดีแกนนำ แต่คนทั่วไปก็เจอเหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็น new normal ของกระบวนการยุติธรรมเลย” กุณฑิกาเล่าถึงแนวปฏิบัติใหม่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับเยาวชนและประชาชนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ 

การประกันตัวพร้อมเงื่อนไขเหล่านี้กลายเป็นปัญหาและคำถามในเชิงเป้าหมาย หลักเกณฑ์ และการตีความ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบว่าสามารถทำอะไรได้บ้างภายใต้เงื่อนไขนี้ ทำให้เกิดความไม่สมมาตรกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา  

“อย่างกรณีเก็ท เราแถลงกับศาลตั้งแต่วันนั้นว่าเขาเป็นนักศึกษาแพทย์รังสีวิทยา เขาต้องไปฝึกงาน ถ้าติดอีเอ็มจะขัดขวางการทำงานในโรงพยาบาล แต่ศาลก็ให้เงื่อนไขอยู่บ้าน 24 ชั่วโมง ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาล

“ดังนั้นเก็ทต้องให้เราช่วยเขียนใบคำร้องขออนุญาตศาลเพื่อให้ไปไหนมาไหน ไปทำมาหากินได้ บางทีเขาก็เขียนเอง คำร้องน่าจะอยู่ที่ 40 ฉบับหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งศาลให้บ้างหรือไม่ให้บ้าง เช่น ครั้งหนึ่งเก็ทสมัครงานออนไลน์ ขอไปทำงาน แล้วศาลไม่ให้ เพราะจำเลยสมัครงานจากในบ้าน สมัครงานก่อนขออนุญาตศาล แต่ที่จริงเราก็มองว่าเงื่อนไขไม่มีบอกว่าห้ามสมัครงาน หรือมีบอกว่าถ้าจะสมัครงานในอินเทอร์เน็ตให้ขออนุญาต เพราะในเงื่อนไขบอกแค่ว่าถ้าจะออกไปไหนให้ขอ”

กุณฑิกา นุตจรัส ทนายความผู้ดูแลคดี 112 ของทานตะวัน แบม ใบปอ และเก็ท

หรือในกรณีของตะวันที่เจอเงื่อนไขติดกำไลอีเอ็มและห้ามออกนอกเคหะสถาน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นคำถามของทนายว่า ทำไมจำเลย 112 เหล่านี้ถึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดอย่างมากที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและเกินสัดส่วนไปมากเช่นนี้

“การติดอีเอ็ม เกิดขึ้นมาเพราะว่ากระทรวงยุติธรรมเห็นว่าคนไทยเป็นคนจน บางคนไม่มีญาติพี่น้อง จึงไม่อยากให้มีคนต้องติดคุกเพราะจน เขาเลยเอาอีเอ็มติดให้คนที่ไม่มีเงินมาวาง เพื่อประกันว่าแม้ไม่มีเงินในประเทศไทยก็มีสิทธิในการประกันตัว”

“แต่ในคดี 112 เรียกเงินประกันสูง ติดอีเอ็ม ไม่ให้ออกจากบ้าน เงื่อนไขเหล่านี้มีปัญหา เพราะเกิดคำถามว่าเด็กทำอะไรได้บ้าง และการที่เงื่อนไขเขียนไว้กว้างขนาดนี้ ก็ทำให้เกิดผลประหลาดทางนิติศาสตร์ ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกว่า chilling effect มันคือการที่คำสั่งกว้างขวางจนคนไม่รู้ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้”

กุณฑิกายกตัวอย่างกรณีที่เก็ท ใบปอ และตะวันร่วมกิจกรรมในช่วงประชุมเอเปก ซึ่งมีการยื่นหนังสือถึงตัวแทนประเทศต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในไทย มีการพูดและวิจารณ์รัฐบาลจีน และมีส่วนที่ตะวันร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีพายุ ดาวดินถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ตาขวา โดยศาลให้เหตุผลว่ากิจกรรมเหล่านี้ถือว่าผิดเงื่อนไขของศาล และต้องมีการถอนประกัน

“ถ้าพูดอย่างตรงๆ คือ (ในเงื่อนไขนี้) เขาพูดวิจารณ์รัฐบาลจีนได้ไหม เพราะอย่างที่เราเข้าใจ ข่าววันนั้น เนื้อหาที่เด็กเข้าร่วม เขาพูดเรื่องไม่เอาจีนเดียวด้วยซ้ำ”

ในความคิดเห็นของกุณฑิกา ยังมีเงื่อนไขประกันบางประการที่ขัดแย้งกับลักษณะคดีที่ยังไม่มีการตัดสิน และขัดแย้งกับหลักการสิทธิในการแสดงออกที่ระบุไว้รัฐธรรมนูญ

“พูดแบบกฎหมายเบื้องต้น ในข้อเท็จจริง หากเป็นคดีฆ่าข่มขืน กฎหมายเขียนไว้ว่าฆ่าเท่ากับผิด ข่มขืนเท่ากับผิด แม้ในคดียังไม่มีการตัดสิน แต่มีพยานและผู้เสียหายหลายคนมายืนยันเรียกร้องว่าคนๆ นี้ทำมาหลายครั้ง สมมติว่าศาลให้ประกัน แต่มีเงื่อนไขคือ ห้ามไปในที่ที่มีสตรีจำนวนมาก ก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่าถือเป็นการปกป้องประชาชนคนอื่นเพื่อป้องกันเหตุการณ์อันตรายบางอย่างอันมีความเสี่ยง

“แต่นักกิจกรรมการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ติดคุกในข้อหาแบบนั้น คือวัตถุแห่งคดีของพวกเขาเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการพูด ทีนี้กฎหมาย 112 เขียนว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดังนั้น วัตถุแห่งคดีคือการตีความว่าที่เด็กพูดผิดไหม ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินว่าผิด ถ้าเงื่อนไขประกันคือ ห้ามกระทำผิดซ้ำในสิ่งที่เป็นลักษณะที่ถูกฟ้องอีก หมายความว่า ที่ถูกฟ้องมา พวกเขาทำไปในทางที่ผิดแล้วหรือ”

ทนายยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าประชาชนทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก แล้วเงื่อนไขประกันเป็นคำสั่งทางกฎหมายของศาล ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด ดังนั้น การพิจารณาในแต่ละครั้งจะต้องยึดการตีความให้สอดคล้องกับกฎหมายสูงสุดขึ้นก่อนหรือไม่

“เราอธิบายลูกความตลอดว่าเงื่อนไขตามศาลกำหนดจะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หมายความว่าไม่ว่าท่านจะเขียนกฎหมายอะไรมา คำสั่งของท่านต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สิทธิผู้เสียหาย จำเลยในคดีอาญา และในวิอาญา ดังนั้น สิทธิการชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งในสิทธิเสรีภาพ แต่ผู้พิพากษาท่านที่ถอนประกันเก็ทและใบปอ และเรียกไต่สวนถอนประกันทานตะวัน ท่านพูดในทำนองว่า จำเลยถูกศาลสั่งฟ้อง และศาลกำหนดคำสั่งเงื่อนไขออกมาแล้ว ดังนั้น จำเลยถูกกำหนดภายใต้เงื่อนไขของศาลเป็นหลัก คำถามคือ แล้วคำสั่งของศาลไม่ถูกกำหนดภายใต้รัฐธรรมนูญหรือ?”

“ถ้าคนที่ถูกคดี 112 ต้องเจอเรื่องแบบนี้ แล้วตกลงประมวลกฎหมายอาญากับวิธีพิจารณา และรัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญอะไรไหม เพราะเขาไม่ได้เป็นจำเลยภายใต้มาตรา 112 อย่างเดียว เขาเป็นจำเลยภายใต้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย บอกว่ามีประชาธิปไตย มีสิทธิ มีเสรีภาพ” 

ข้อสังเกตในกระบวนการถอนประกันใบปอ เก็ท และทานตะวัน

สิ่งที่สืบเนื่องให้นักกิจกรรมทางการเมืองและทนายตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้นคือ คำสั่งถอนประกันจากศาลครั้งล่าสุด เนื่องจากก่อนจะเกิดการพิจารณาครั้งนี้ ทนายยื่นคำร้องขอศาลอนุญาตให้เก็ทเดินทางไปทำงาน แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าวและสั่งบนคำร้องว่าให้มีการไต่สวนถอนประกัน

“ในกฎหมายวิอาญาเขียนไว้ว่า ห้ามพิพากษาเกินคำฟ้อง และห้ามสั่งเกินคำขอ เราเห็นแล้วว่าแบบนี้ไม่ใช่ เราเลยไปอุทธรณ์ ซึ่งศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์และมีรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว แสดงว่าที่จริงแล้วหากศาลอุทธรณ์เห็นเหมือนเรา ศาลอาญาก็ไม่มีอำนาจไต่สวน ดังนั้นทนายความจึงมีความเห็นว่าการไต่สวนนี้จะต้องรอคำสั่งศาลอุทธรณ์ก่อน ถ้าศาลอุทธรณ์บอกว่าสิ่งที่ศาลชั้นต้นทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วยกเลิก การไต่สวนนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ วันที่ 15 ธันวาคมที่ศาลนัดไต่สวนถอนประกัน เราแจ้งกับท่านว่าตอนนี้เรื่องอยู่ในเขตอำนาจศาลอุทธรณ์แล้ว ผู้พิพากษาที่เป็นคนไต่สวนคดีเก็ทเดินลงมาบอกว่า ไม่เห็นด้วย ในทางกฎหมาย การที่อีกศาลไปรับอุทธรณ์นั้นไม่ชอบ เป็นการสั่งผิด เดี๋ยวเขาจะจดในกระบวนพิจารณาเพิกถอนสิ่งนั้น แล้วให้พิจารณาคดีการไต่สวนนี้ต่อไป”

“ทางเราก็คิดว่า การไต่สวนจะเอาคนคนหนึ่งเข้าคุกต้องผ่านการกลั่นกรอง ต้องให้เวลาคนที่คุณจะเอาเข้าคุกในการต่อสู้ เป็นสิทธิทางอาญา เพื่อจะได้รู้ว่ามากล่าวหาอะไรฉัน เอกสารหนึ่งตั้ง เรายังไม่ได้ตรวจสอบ ทางทนายกฤษฎางค์ นุตจรัสเลยถามศาลว่าต้องรีบไต่สวนวันนี้เลยไหม เราขอไปตรวจสอบเอกสารก่อน ศาลเลยเลื่อนจากวันที่ 15 ธันวาคม ไปอีก 2-3 วัน” 

หลังจากนั้นมีการนัดวันพิจารณาใหม่อีกครั้ง และศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 9 มกราคม โดยระบุในเอกสารว่า

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และรายงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลนี้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 กระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา รวมถึงห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จนมีการปะทะกับเจ้าพนักงานตำรวจ ต่อมามีการนำมวลชนมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดในการกระทำของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวตามที่ศาลกำหนดไว้ จึงให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1

“โดยสรุปคือ อัยการไม่ได้เป็นคนยื่นคำร้องขอเพิกถอน ศาลบอกว่าศาลเห็นเอง เพราะอ่านข่าวเอเปกแล้วเห็นว่าเด็กไปทำกิจกรรม อัยการเลยได้รับคำสั่งเป็นกระดาษรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ให้ทำหลักฐานและมาไต่สวน อัยการ 3 คน มีคนเดียวที่พอจะได้รับแจ้ง ส่วนอีก 2 คนไม่รู้ตัว 

“แต่ระหว่างพิจารณา เราเห็นหลักฐานแล้วว่าไม่เพียงพอ เพราะคนมาเบิกความไม่มีใครได้เห็นเก็ทจริงๆ ความหมายคือ ตำรวจทำรายงานมา แต่ว่าไม่มีประจักษ์พยาน ไม่มีใครเห็น มีตำรวจคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยนะว่า ผมไม่ได้เป็นคนร้องเรื่องนี้”

ในรายงานของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุความตอนหนึ่งระหว่างที่ทนายซักถามพยานเกี่ยวกับการชุมนุมเอเปกว่า การชุมนุมมีความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งพยานยืนยันว่า การชุมนุมไม่ได้ปรากฏความรุนแรงแต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยทั้งสองได้จัดกิจกรรมและแถลงการณ์ แต่สร้างการจราจรติดขัดสำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา และไม่ทราบว่าวันที่ 19 พ.ย. ที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการชุมนุมเพื่อทำอะไร แต่ไม่พบความวุ่นวายในวันดังกล่าวเช่นกัน

 “เราก็เลยคิดว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะมาเอาผิดอะไรจำเลย เราก็ประเมินกันว่าถ้าอย่างนั้นจำเลยไม่ต้องเบิกความ เพราะเป็นสิทธิของจำเลย เราก็เลยไปฟังคำสั่งศาล ผลก็ออกมาเป็นอย่างนี้” 

ส่วนการไต่สวนเพิกถอนประกันของทานตะวัน ทนายระบุว่า ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ไม่มีเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งผู้เกี่ยวข้องว่าจะมีการนัดไต่สวน ทำให้ทนายและอัยการผู้ดูแลคดีไม่สามารถเตรียมเอกสารมาพิจารณาได้ทัน ซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ทีมทนายต้องเข้าไต่สวนพิจารณาการเพิกถอนของเก็ทและใบปอ

“เรามาถึง เห็นคนมามุงดูใบประกาศข้างหน้า แล้วพูดว่ามีชื่อทานตะวันด้วย เราตกใจ เพราะเขาไม่ได้แจ้งมาก่อน แล้ววันนั้นตะวันต้องไปรายงานตัวที่สน.พญาไท ไม่ได้หนีหายไปไหน เราเลยทำหนังสือแจ้งไปว่ายังไม่มีการแจ้งอย่างถูกต้อง

“เรื่องนี้มาชัดตรงที่วันที่ศาลอ่านคำสั่งให้เก็ทและใบปอเข้าคุก เราต้องวิ่งไปห้องข้างๆ ที่กำลังจะพิจารณาเพิกถอนประกันทานตะวัน อัยการยืนขึ้นแล้วบอกว่า เขาทำอะไรไม่ได้ เขางง เพราะยังไม่รู้ว่าที่แจ้งผิดเงื่อนไขถอนประกันคืออะไร มีคนมาบอกให้เขาเข้ามา แต่ไม่มีเอกสารหรือหนังสือแจ้งรายละเอียด ศาลบอกว่า ทำได้ๆ ท่านถามตำรวจที่มา อัยการก็บอกว่าท่านทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ถูกต้องมาดีกว่า ศาลเลยบอกว่างั้นเดี๋ยวจดลงกระบวนพิจารณาเลย และศาลพูดคำเดิมว่า ศาลเห็นเอง ศาลสั่งได้ ตอนหลังศาลพูดคำหนึ่งว่า งั้นไม่เป็นไร จะให้ตำรวจมาเบิกความเองก็ได้”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่พร้อมของหลักฐาน และอัยการไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยื่นคำร้อง ศาลจึงเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม แต่ทานตะวันและแบมตัดสินใจถอนประกันก่อนจะถึงวันพิจารณา

ข้อสังเกตสุดท้ายของฝั่งทนายคือ ในการสั่งไต่สวนถอนประกันและสั่งถอนประกันของนักกิจกรรมทั้ง 3 มีผู้พิพากษาคนเดียวกัน ซึ่งทนายความมีความเห็นว่าคนพิจารณาเรียกให้มีการไต่สวนและคนพิจารณาเพื่อสั่งถอนประกันไม่ควรจะเป็นผู้พิพากษาคนเดียวกัน

“หลักมีอยู่ว่า การให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน หรือการออกคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว ให้ผู้พิพากษาที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นคนสั่ง เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม

“ยกตัวอย่างคดีฆ่าข่มขืน ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นทุกอย่าง อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เมื่อเห็นทุกอย่างแล้วจะมีแนวโน้มไม่ให้ประกัน ตามหลักการเลยต้องแยกคนกัน สิ่งนี้ทำกันมาในขั้นตอนอื่นด้วย เช่น แม้กระทั่งผู้พิพากษาที่ตรวจพยานหลักฐานกับผู้พิพากษาที่สืบพยานก็เป็นผู้พิพากษาคนละคนกัน อันนี้เป็นวิธีการที่ทำให้ระบบมีความโปร่งใส

“ในศาลอาญา การสั่งเกี่ยวกับปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ว่าจะให้หรือถอน เขาให้เป็นอำนาจของผู้บริหารศาล ซึ่งคือรองอธิบดีมีอยู่ 5 คน อันนี้เราไม่รู้ระเบียบในทางปฏิบัติข้างใน แต่ปัญหาที่เราเจอคือ ลูกความบางคนเจอคนสั่งคนเดียว เช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งไม่ว่าเก็ทจะไปยื่นคำขออนุญาตศาลออกนอกบ้านตอนไหนเขาเจอแต่รองอธิบดีศาลอาญาคนเดิม ชื่อเดิม”

กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส สง่างาม เป็นไปตามมาตรฐานและหลักการ

ด้วยกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทานตะวันและแบมเลือกถอนประกันตัวเอง และใช้วิธียกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำ กุณฑิกาย้ำว่า แม้จะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเหล่านี้ แต่อยากให้สังคมช่วยกันจับตาในการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมต่อคดี 112 

“เราฟังพวกเขา เราคิดว่าเขาไม่ได้ต้องการเรียกร้องความเวทนาเห็นใจ แต่เขาอยากให้คนได้เห็นกระบวนการยุติธรรมตอนนี้ ซึ่งพวกเราสามารถช่วยพวกเขาได้ด้วยการติดตามสนใจเรื่องนี้ แม้จากข่าวเล็กๆ หรือสนใจข้อเรียกร้องของเขา จะถกเถียงหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ และข้อเรียกร้องของเขาไม่ได้เรียกร้องให้ตัวเอง เขาเรียกร้องให้คนอื่น ดังนั้น ช่วยกันจับตาเคสของคนอื่นๆ ได้ สุดท้ายคืออย่าสิ้นหวัง เพราะพวกเขายังไม่สิ้นหวัง เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขาก็ได้ แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง” 

ในตอนท้าย กุณฑิกาบอกเล่าถึงเจตจำนงของนักกิจกรรมทางการเมือง หลังจากได้รับฟังความคิดและเป้าหมายในฐานะลูกความของตัวเองว่า

“เราคิดว่าพวกเขาไม่ได้อยากให้กระบวนการยุติธรรมเข้าข้างหรืออะลุ่มอล่วยให้ เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก พวกเขาเข้าใจดีว่าถ้าคนส่วนมากในสังคมไทยไม่ได้คิดแบบเดียวกัน จะต้องโดนต่อต้าน เพียงแต่ว่าในกระบวนยุติธรรมขอให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ไหม ถึงผิดพวกเขาก็ยอมรับได้” 

“กระบวนการที่สง่างาม ถูกต้อง โปร่งใสเป็นกระบวนการสำคัญมากในคดี 112 คดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์จะต้องให้ประกันโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะยังไม่มีคำพิพากษาเลยว่าเขาไม่มีสิทธิ และยิ่งเป็นคดีการเมือง ทุกอย่างต้องทำด้วยความโปร่งใส การจะถอนประกันคนเป็นเรื่องใหญ่ เอาคนเข้าคุก เราซีเรียสกับความโปร่งใส ความถูกต้อง ความยุติธรรม” 

ส่วนใบปอและเก็ทที่ต้องเข้าสู่เรือนจำตามคำสั่งของศาลไปก่อนหน้านี้ ทนายได้ติดต่อพูดคุยกับทั้งสองทุกวันตามเวลาราชการ โดยในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 101 ได้ฝากคำถามให้กับทนายเพื่อสอบถามความคิดเห็นของทั้งสองคนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเก็ทและใบปอได้ตอบกลับมา ดังนี้

มีความคิดเห็นอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมครั้งล่าสุด
เก็ท : สำหรับศาล กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันไม่เมกเซนส์มาตั้งแต่แรก มีที่ไหนเอาผู้พิพากษาที่เป็นคนริเริ่มเปิดประเด็นการถอนประกันมาเป็นผู้ไต่สวนเสียเอง แล้วเขาก็ยังเป็นคนสั่งขังผม ไม่ให้ผมออกจากบ้าน การกระทำหลายๆ อย่างของผู้พิพากษาสะท้อนอะไรหลายอย่าง ตัวคำสั่ง คำพิพากษาเองก็สะท้อนทัศนคติผู้พิพากษาเอง ตัวผู้พิพากษาเองก็สะท้อนกระบวนการยุติธรรม
ใบปอ : ทุเรศ

อยากฝากบอกอะไรกับคนข้างนอกบ้าง
เก็ท : อยากบอกให้ทุกคนเข้มแข็ง บางคนอาจคิดว่ากระแสสังคมแผ่วหรือเปล่า ผมอยากให้ลองคิดว่าปี 2563 วันที่ทุกคนต่างไม่รู้จักกันแต่กล้าที่ออกมาชุมนุมกัน มาช่วยกันส่งน้ำ ช่วยกันดูแลกันในที่ชุมนุม คุณคิดกันจริงๆ เหรอว่าคนเหล่านี้หายไปจริงๆ ผมยังเชื่อว่าคนที่มีอุดมการณ์เหล่านี้เขายังอยู่และพร้อมจะออกมา แต่หลายๆ ปัจจัยทำให้คนหายไป ไม่ว่าจะโรคระบาดและรัฐที่บีบเรา อาจจะทำให้คนไม่สะดวกที่จะออกมา “พวกคุณที่มีอุดมการณ์ไม่ได้เดียวดาย คุณยังมีความหวัง ยังมีเพื่อนอยู่ ทันทีที่เพื่อนคุณออกมากับคุณ ปีนี้คงจะเป็นอีกปีที่เดือด ส่วนปีหน้าก็จะมีจดหมายปรีดีอีก ทุกๆ อย่างจะถึงจุดไคลแมกซ์ คำว่าจบที่รุ่นเรา จบเรื่องอะไร เป้าหมายมันยังอยู่ มันสำเร็จมาเรื่อยๆ ขอให้ทุกคนเข้มแข็งและสู้ให้เต็มที่เลย เชื่อในอุดมการณ์!”
ใบปอ : คิดถึงเพื่อนๆ คิดข้างนอกมากๆ รู้สึกว่าคิดถึงการใช้ชีวิตข้างนอกมากๆ กำลังใจยังดีอยู่มากๆ
(ชูมือ 2 นิ้ว 2 ข้าง)

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save