fbpx

“พ่อกูชื่อมานะ”: ความเห็นของพยานคนหนึ่งต่อความผิดตามมาตรา 112

คดี ‘พ่อกูชื่อมานะ’ อันเป็นเหตุการณ์ที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งใส่เสื้อครอปท็อปและมีการเขียนข้อความว่า ‘พ่อกูชื่อมานะฯ’ อยู่บนแผ่นหลังด้านบน เขาเข้าร่วมการเดินแบบที่มีการจัดขึ้นในระหว่างการชุมนุมครั้งหนึ่ง ต่อมาถูกฟ้องต่อศาลในข้อหาว่ามีการกระทำความผิดต่อประมวลกฎหมาย มาตรา 112 และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้เขียนได้เข้าเป็นพยานของฝ่ายจำเลยในเดือนพฤษภาคม 2565 และเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์สำหรับการถกเถียงในประเด็นเรื่องมาตรา 112 จึงได้นำความเห็นที่นำเสนอต่อศาลมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่นำมาแสดงในที่นี้จะเป็นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 112 เป็นหลัก

ทั้งนี้ ในฐานะของพยาน ผู้เขียนมีความเห็นว่าในการพิจารณาการกระทำอันเป็นความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 มีประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน ในประเด็นดังต่อไปนี้


1. ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

เพื่อให้การพิจารณาถึงขอบเขตและความหมายของบทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องทำความเข้าใจทั้งในด้านที่มาของบทบัญญัติและในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.1 ในด้านของที่มาของบทบัญญัติว่าด้วยสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติที่รับรองสถานะอันเป็นที่เคารพสักของพระมหากษัตริย์ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ด้วยการบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายความหมายของมาตรานี้ไว้ว่า

“คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้นตามแบบเรียกว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษฐ์ร้ายส่วนแพ่ง”[1]

จากการอภิปรายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัตินี้มุ่งหมายให้ความคุ้มกันพระมหากษัตริย์จากการถูกประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องคดีต่อศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการอภิปรายว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด เป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในคดีอาญาหรือรวมถึงในคดีแพ่ง และเป็นการฟ้องร้องไม่ได้เฉพาะในการกระทำตามรัฐธรรมนูญหรือรวมไปถึงการกระทำที่ถือว่าเป็นการส่วนพระองค์

ความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการไม่ให้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 โดยมีบทบัญญัติเพิ่มเติมจากการกำหนดให้ดำรงอยู่ในฐานะอันล่วงละเมิดมิได้อีกหนึ่งมาตราว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” การเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการกำหนดสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะซึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นย้ำในประเด็นนี้ว่า

“คือตามมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ‘ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้’ ความจริงแม้ว่าจะไม่ได้บัญญัติไว้ เราก็มาใช้ความในมาตรา 5 ซึ่งมีความว่า ‘ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้’ นี่ก็เป็นการคุ้มครองที่ชัด ว่าจะไม่ให้บุคคลฟ้องร้องพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว”[2]

มีการถกเถียงต่อบทบัญญัตินี้โดยมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาโต้แย้งว่าบทบัญญัติในลักษณะเช่นนี้อาจไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนมีความเห็นว่าต้องมีการให้ความคุ้มกันต่อพระมหากษัตริย์แตกต่างไปจากประชาชนทั่วไป แม้จะมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากแต่ความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจร่วมกันก็คือ บทบัญญัตินี้เป็นไปเพื่อไม่ให้ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์ต่อศาล[3]

ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา บทบัญญัติดังกล่าวก็ปรากฏมาอย่างต่อเนื่องโดยในรัฐธรรมนูญบางฉบับอาจมีการแยกให้อยู่คนละมาตรา (เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492) หรืออยู่ในมาตราเดียว (เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520), หรืออาจอยู่ในมาตราเดียวแต่คนละวรรค ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ก็ล้วนมีความหมายในลักษณะเดียวกันคือเพื่อเป็นการป้องกันพระมหากษัตริย์จากการถูกประชาชนฟ้องคดี

1.2 ในเชิงหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาอย่างยาวนานและถือเป็นปรมาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้คำอธิบายเกี่ยวกับความหมายเรื่องสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ที่รับรองไว้ ดังนี้[4]

หนึ่ง สถานะของพระมหากษัตริย์

บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันยกเว้นพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีฐานะประมุขของประเทศ และเป็นหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำการเคารพเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ การไม่กระทำการเคารพนั้นอาจไม่มีโทษทางกฎหมายแต่อาจมีโทษทางสังคมได้ การกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะเป็นที่เคารพสักการะย่อมหมายถึงการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะไม่หารือกับนักการเมืองฝ่ายใดยกเว้นองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี การเป็นคนกลางในทางการเมืองทำให้หยุดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ถือเป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยเมื่อมีการกระทำที่สำคัญของรัฐ เช่น การยุบสภาฯ แต่หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามวิถีรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมายกษัตริย์ก็จะไม่ลงพระปรมาภิไธย อย่างไรก็ตาม การสงเคราะห์ต่อประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ ตามหลักพระมหากษัตริย์จะต้องไม่แยกตนเองออกจากประชาชน

สอง ความหมายของคำว่า ‘ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้’

คำว่า ‘ล่วงละเมิด’ หมายถึงห้ามประชาชนกล่าวหาหรือฟ้องร้องต่อพระมหากษัตริย์ สำหรับผู้มีหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรหมายถึงการห้ามอภิปรายให้เสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ หากมีการกล่าวหาหรือฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ได้กระทำความผิดไม่ทางแพ่งหรืออาญา พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือศาลจะต้องไม่รับข้อกล่าวหา คำร้อง หรือคำฟ้องไว้พิจารณา

โดยการล่วงละเมิดนั้น พิจารณาได้เป็น 3 ทาง

(ทางที่) หนึ่ง ในทางรัฐธรรมนูญ ‘ผู้ใดจะตำหนิติเตียนกษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้’ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาหรือผู้มีหน้าที่แทน จะต้องมีการห้ามอภิปรายในสภาซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียเกียรติของพระมหากษัตริย์ ห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อความยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่าการยกเลิกการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นไม่สามารถทำโดยวิธีทางสภาผู้แทนราษฎร แต่อาจทำได้โดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

(ทางที่) สอง ในทางอาญา หยุด แสงอุทัย มีความเห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกฎหมายธรรมดา (อ้างอิงโดยรัฐธรรมนูญเบลเยียม) ดังนั้น แม้ว่ากษัตริย์จะทำผิดทางอาญา ไม่ว่าก่อนหรือหลังการเป็นกษัตริย์กฎหมายอาญาก็ไม่สามารถใช้บังคับกับกษัตริย์ได้ จะมีการจับกุม รับฟ้อง หรือพิพากษาในความผิดอาญาของกษัตริย์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สามารถใช้กลไกทางสังคมบังคับให้กษัตริย์สละราชสมบัติได้เมื่อกระทำผิดทางอาญา

(ทางที่) สาม ในทางแพ่ง ผู้ใดจะใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฟ้องพระมหากษัตริย์โดยตรงไม่ได้ แต่ราษฎรอาจฟ้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ได้ กรณีที่เป็นการกระทำละเมิดผู้เสียหายจะทำได้เพียงแต่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระมหากรุณาธิคุณ หรือใช้อำนาจทางสังคมบังคับพระมหากษัตริย์ได้เช่นกัน

ดังนั้น ในการพิจารณาถึงสถานะอันล่วงละเมิดมิได้จึงเป็นการจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง หรือมีอีกความหมายหนึ่งก็คือ กษัตริย์มิอาจกระทำความผิด (king can do no wrong) จึงหมายถึงว่าในการดำเนินภารกิจต่างๆ ทางการเมืองมิได้เป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์โดยตรง หากแต่เป็นการกระทำของสถาบันทางการเมืองที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา เป็นต้น เมื่อมิได้เป็นการกระทำโดยพระมหากษัตริย์แล้วจึงไม่ต้องมีความรับผิดติดตามมา เพราะถือว่ามิได้เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากเป็นการกระทำในลักษณะส่วนพระองค์หรือเป็นการกระทำที่มิได้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติในส่วนใดที่ห้ามประชาชนแสดงความเห็นหรือกล่าวถึงพระมหากษัตริย์


2. ความหมายและขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ นอกจากบทบัญญัติในมาตรา 6 แล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชนเอาไว้

“มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

เสรีภาพในการแสดงความเห็นถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย การให้การรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็ย่อมถือเป็นการให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพดังกล่าวในฐานะที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แม้อาจจะสามารถจำกัดการแสดงความคิดเห็นได้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการที่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ก็ต้องดำเนินไปอย่างชัดแจ้งและไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายออกอย่างกว้างขวาง เพราะมิฉะนั้น จะถือว่าเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้

สำหรับกรณีการแสดงความเห็นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 นั้น ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิที่เป็นหลักคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อหลักคุณค่าอื่นทางรัฐธรรมนูญ กรณีเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญ’ การขัดแย้งกันระหว่างคุณค่าที่แตกต่างกันในกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าจะมีแนวทางในการวินิจฉัยปมปัญหานี้อย่างไร

รศ. ดร. กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวว่ารัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกจาก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ แล้ว ไม่อาจถือเอาคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดหรือคุณค่าที่ ‘แตะต้องไม่ได้’ โดยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการยอมรับให้มนุษย์มีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และกลายเป็นหลักพื้นฐานในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอื่นๆ

นอกจากนั้นแล้ว การตีความกฎหมายมหาชนต้องไม่ให้คุณค่าใดมีลักษณะสัมบูรณ์เหนือกว่าคุณค่าอื่นๆ แบบสิ้นเชิง เพราะจะเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ลง ในการตีความต้องรักษาคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์พร้อมกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่ชัดเจนว่าการแสดงความเห็นกระทบหรือทำลายคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงก็ย่อมจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น[5]

ดังนั้น การแสดงความเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นการแสดงความเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐจากรัฐราชอาณาจักรสู่การปกครองในระบอบสาธารณรัฐ, การปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยสู่สังคมนิยม เป็นต้น


3. ประมวลกฎหมายอาญา ม. 112

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา แต่มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยแท้ดังที่ใช้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากเป็นเพียงกฎหมายที่ใช้คุ้มครองเกียรติยศส่วนบุคคลของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น ซึ่งเกียรติยศส่วนบุคคลนั้นย่อมมิใช่ความมั่นคงของรัฐ

ในส่วนของบทบัญญัติ เมื่อจะพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามนิติวิธีในกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบไปด้วย การกระทำ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ในกรณีตามฟ้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

– การดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย สบประมาท หรือด่า ซึ่งหมายถึงการลดคุณค่าของบุคคลอื่น แต่ไม่รวมไปถึงการเสียดสี แดกดัน หรือการล้อเลียน[6]

– การหมิ่นประมาท อาศัยนัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หมายถึงการใส่ความบุคคลหนึ่งต่อบุคคลที่สามในประการที่ทำให้เขาเสียหาย หรือถูกเกลียดชัง แต่ไม่รวมถึงการสื่อสารที่ไม่ได้ศัพท์ จับใจความไม่ได้ และต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหายต่อชื่อเสียง[7] ซึ่งอาจอธิบายรายละเอียดได้ดังนี้ 1) ต้องมีการ ‘ใส่ความ’ หมายถึง การกล่าวร้ายหรือการแสดงพฤติการณ์อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงประการใดประการหนึ่งของผู้ถูกหมิ่นประมาท ทั้งนี้ ด้วยวาจา ตัวอักษร ท่าทาง หรือวิธีอื่นใดต่อบุคคลที่สาม 2) ข้อเท็จจริงที่นำมาใส่ความนั้น เมื่อพิจารณาอย่างวิญญูชนหรือผู้ที่มีเหตุมีผลแล้ว น่าจะกระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ถูกใส่ความ หรือน่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง 3) การใส่ความนั้นต้องสามารถ ‘ระบุเจาะจง’ ตัวผู้ถูกใส่ความได้ว่าหมายถึงบุคคลใดและต้องมิใช่พียงการ ‘แสดงความคิดเห็น’ ลอยๆ หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่อาจเป็นจริงหรือพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ ดังนั้น การกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงว่าเป็นคนเลว เป็นคนชั่ว แต่ไม่อธิบายว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด หรือมีพฤติกรรมเช่นไรประกอบ จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

– การแสดงความอาฆาตมาดร้าย หมายถึง การแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต ซึ่งในที่นี้มิได้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับการแสดงความอาฆาตมาดร้ายโดยตรง

องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 112 ต้องเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และต้องกระทำต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในส่วนของการตีความ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่มีบทลงโทษทางอาญา ซึ่งเป็นการลงโทษบุคคล การตีความจึงต้องกระทำโดยเคร่งครัด การตีความไม่อาจขยายความหมายให้กว้างขวางหากถ้อยคำไม่มีความชัดเจน เช่น การกระทำที่เป็นการ ‘ดูหมิ่น’ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น หรือคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ก็ต้องหมายความถึงเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่อาจตีความให้ขยายไปจากถ้อยคำตามความเห็นของผู้ตัดสิน เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ต้องการลงโทษแก่บุคคล ซึ่งในระบบกฎหมายสมัยใหม่แล้วจำเป็นต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอน


4. กรณีพฤติการณ์ที่เป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฏขึ้นในคดีนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าข้อกล่าวหาของทางฝ่ายโจทย์ที่มีต่อจำเลยในคดี ‘พ่อกูชื่อมานะ’ ยังไม่ชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ดังนี้

หนึ่ง ยังไม่อาจบ่งชี้ชัดได้ว่าการแต่งกายของจำเลยนั้นแสดงความหมายถึงรัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องจากการแต่งกายในลักษณะดังกล่าวมาจากนักดนตรีที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ทำให้แพร่หลาย (หมายถึง Justin Drew Bieber) และเมื่อบุคคลทั่วไปเห็นก็สามารถหวนระลึกถึงนักดนตรีคนดังกล่าวได้เช่นกัน กรณีที่มีการกระทำร่วมอื่นๆ เช่น การเปล่งเสียงของผู้เข้าร่วมว่าทรงพระเจริญ หรือการเปิดเพลงประกอบที่ชี้ชวนให้เห็นว่ามีความมุ่งหมายให้เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำร่วมกันของบุคคลทั้งหมด แต่ในการฟ้องคดีมีจำเลยเพียงคนเดียวจึงเป็นการนำเอาการกระทำของบุคคลอื่นปรักปรำการกระทำของจำเลยโดยไม่ได้มีการชี้ให้เห็นลักษณะหรือความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน

สอง การกระทำดังกล่าวยังมีความหมายที่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการดูหมิ่น แต่อาจเป็นเพียงการล้อเลียนเสียดสี ซึ่งไม่ใช่การเหยียดหยาม หรือการใส่ความ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่สบายใจต่อการกระทำหรือข้อความดังกล่าว แต่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่ถึงระดับของการดูหมิ่นที่ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้การกระทำของจำเลยอาจเป็นความไม่เหมาะในการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำทั่วไป แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย จึงย่อมถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

สาม กระบวนการลงโทษทางอาญาควรถูกใช้เป็นมาตรการสุดท้ายในการควบคุมสังคม เพราะการลงโทษทางอาญานั้นมีต้นทุนทางสังคมสูงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีนี้ เมื่อข้อความที่ถูกกล่าวหามีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามตามนัยของวิญญูชนที่เป็นกลางทางการเมืองแล้ว การลงโทษทางอาญาจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองมากกว่าการทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

References
1 รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้า 376
2 รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 14 พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2492 วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2492 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้า 184
3 สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง: ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2550 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2561) หน้า 114-130
4 หยุด แสงอุทัย, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่สอง (พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2512) หน้า 211
5 ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์, “การปะทะกันแห่งคุณค่าในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย” นิติศาสตร์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2562) หน้า 439-466
6 จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3. กรุงเทพฯ: เนติบัณฑิตยสภา, 2553) 1237-1239
7 จิตติ ติงศภัทิย์, กฎหมายอาญา ภาค 2 ตอน 2 และภาค 3. กรุงเทพฯ: เนติบัณฑิตยสภา, 2553) หน้า 405, 407, 412

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save