fbpx

ภาคธุรกิจโคลอมเบีย: จากภารกิจบูรณะประเทศ สู่การดึงอำนาจกลับเข้าหาตัวเอง

ภาคธุรกิจนับว่าเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญมากในความเป็นไปของแต่ละประเทศ อาจทั้งในแง่การสร้างปัญหาให้ประเทศ หรือในทางกลับกัน ก็อาจเป็นผู้ช่วยประเทศให้พ้นจากวิกฤตต่างๆ ได้

ที่ผ่านมามีการศึกษาถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างธุรกิจกับการบูรณะประเทศ โดยเฉพาะในสภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤต ซึ่งก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ ผมจึงมาเล่าว่าภาคธุรกิจมีบทบาทช่วยบูรณะประเทศได้อย่างไร โดยเล่าผ่านตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศโคลอมเบียในคริสต์ทศวรรษที่ 1990

วิกฤตความรุนแรงมิได้เป็นเพียงปัญหาประการเดียวที่โคลอมเบียประสบในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำที่กระทบโคลอมเบียอย่างหนัก และจากกระแสทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้น ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มตระกูลชนชั้นนำและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนมากขึ้น อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจก็เป็นภัยต่อกลุ่มชนชั้นดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจส่งผลให้เครือข่ายของชนชั้นนำ สถาบันต่างๆ รวมถึงตัวระบบที่มีลักษณะกีดกันและเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจให้แก่เพียงชนชั้นนำมาโดยตลอดต้องเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้าง

วิกฤตเศรษฐกิจได้แบ่งชนชั้นนำทางเศรษฐกิจออกเป็นกลุ่มชนชั้นนำ ‘เก่า’ และ ‘ใหม่’ โดยกลุ่มชนชั้นนำใหม่ต้องการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ อาทิ เงินทุนและการลงทุน ในขณะที่กลุ่มชนชั้นนำเก่าต้องการใช้แนวทางและนโยบายที่มีลักษณะกีดกันมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ในช่วงดังกล่าวมีการตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การลงทุนเป็นอย่างมากเช่นกัน อีกทั้งโคลอมเบียยังมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในเรื่องอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และคอร์รัปชันอีกด้วย

รายงานเรื่อง ‘ความได้เปรียบในการแข่งขันของโคลอมเบีย’ (Competitive Advantages for Colombia) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยหอการค้าของประเทศ ในฐานะส่วนหนึ่งของรายงานภาพรวมของเศรษฐกิจโคลอมเบียได้รับการตีพิมพ์ในปี 1994 รายงานฉบับนี้สรุปอย่างตรงไปตรงมาว่าผู้นำทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถรับมือกับทั้งภัยและโอกาสที่มากับกระแสโลกาภิวัตน์ได้

ความคิดแบบอนุรักษนิยมแสดงถึงความนิ่งนอนใจ ย่อมไม่สามารถนำธุรกิจไปในกระแสที่ระเบียบโลกใหม่ต้องการได้ ผู้คนจากเมื่อวานไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งที่ต้องบริหารความซับซ้อนของวันพรุ่งนี้ได้แล้ว และนี่คืออุปสรรคที่เรากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน หากเราไม่เปลี่ยนแปลง เราก็จำต้องหายไป โดยเฉพาะหลังจากที่องค์กรและธุรกิจเราพังทลายลง

บทสรุปของรายงานฉบับดังกล่าวสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับบทสรุปของรายงานเรื่อง ‘โคลอมเบีย: การกลับสู่อนาคต’ ในแง่ที่ว่า ความเหลื่อมล้ำของที่เกิดขึ้นในประเทศ ความด้อยพัฒนาในบางพื้นที่ และทัศนคติแบบอนุรักษนิยม ถือเป็นปัญหาหลัก รายงานฉบับนี้ยังสรุปด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงโคลอมเบียให้อยู่ในระดับนานาชาติเป็นหน้าที่ผู้คนทุกกลุ่ม – “รัฐบาล ภาคธุรกิจ แรงงาน สื่อ นักวิชาการ และประชาชน”  – และเน้นว่ากลุ่มผู้นำภาคธุรกิจจำเป็นต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ที่มีต่อประเทศ นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังทำการแนะนำอย่างชัดเจนถึงการสร้างกลุ่มความร่วมมือกับผู้ที่มีบทบาททางการเมืองของโคลอมเบียเพื่อปรับปรุงและพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กว้างขึ้น

ข้อแนะนำด้านการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลกของโคลอมเบียมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสังคมตามรายงานของคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดี โดยรายงานฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นการลงทุนด้านการศึกษาของประชาชน เน้นภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม และเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยหอการค้าเมืองของโคลอมเบียได้ระบุไว้ว่า    

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพัฒนาได้แก่ทรัพยากรมนุษย์ แก้ไขโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงข้อกำหนดของประเทศให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างจุดยืนที่มั่นคงต่อการปรับปรุงการศึกษาและสถาบันต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น” 

ข้อแนะนำดังกล่าวสนับสนุนกระบวนการทำให้ทันสมัย (modernization) เป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดที่ความต้องการระหว่างองค์กรเพื่อการพัฒนาต่างๆ กับกลุ่มชนชั้นนำมาบรรจบกัน โดยฝ่ายองค์กรเพื่อการพัฒนาก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐธรรมนูญและคณะที่ปรึกษาประธานาธิบดี ขณะที่ฝ่ายชนชั้นนำก็ต้องการแก้ไขปัญหาความรุนแรง นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำทางธุรกิจก็ได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศในเชิงโครงสร้างด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้นำทางธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชนมีความเข้าใจปัญหาของโคลอมเบียรวมทั้งแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกันออกไป การร่วมมือของชนชั้นนำนักธุรกิจในกระบวนการทางการเมืองนี้จะมีมากน้อยเพียงใด เป็นความต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อไป

แผนการที่คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีได้นำเสนอสะท้อนให้เห็นถึงพันธะของกลุ่มชนชั้นนำแบบดั้งเดิม โดยบ่งชี้ถึงหน้าที่และความรับชอบของกลุ่มชนชั้นนำต่อการดูแลบริหารท้องถิ่นของตัวเอง หน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการทำหน้าที่ชดเชย ‘หนี้ทางสังคม’ ได้สร้างเสริมความภาคภูมิใจให้แก่ชนชั้นนำว่าตนมีส่วนในการพัฒนาประเทศโคลอมเบีย รวมถึงมีส่วนในการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมอีกด้วย กลุ่มชนชั้นนำได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงของประเทศโคลอมเบีย โดยชี้ให้เห็นถึงที่มาของปัญหาดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากระเบียบสังคมที่ทลายลง และกลุ่มชนชั้นนำที่ถูกลดอำนาจลง ดังนั้นทางออกคือการดึงอำนาจกลับสู่ตน ด้วยเหตุนี้ การผสมผสานของแนวความคิดที่เป็นใจกลางของพันธะเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสาธารณะชนของกลุ่มชนชั้นนำ จึงมีความสำคัญอย่างมากทั้งในด้านการเมืองและเงินสนับสนุนในการบังคับใช้นโยบายที่จะสร้างความสงบสุขให้ประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อสังเกตว่าความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโคลอมเบียนั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นแรงผลักดันจากกลุ่มชนชั้นนำที่ต้องการดึงอำนาจกลับสู่ตนและสร้างฐานตำแหน่งที่เข้มแข็ง

กลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจรวมถึงบริษัทรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ได้ให้เงินทุนและแรงสนับสนุนเพื่อการพัฒนานโยบายการลดความรุนแรงในประเทศ และองค์กรที่มักได้รับการกล่าวถึงว่าได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดแก่โคลอมเบีย คือบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งโคลอมเบีย ซึ่งถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาตินอเมริกา และเนื่องจากเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ จึงจำเป็นต้องแบ่งรายได้ประจำปีร้อยละ 30 ให้แก่รัฐบาล นอกจากจะได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนแล้ว บริษัทดังกล่าวยังถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมาก ด้วยการสนับสนุนด้านต่างๆ ของบริษัททำให้โคลอมเบียสามารถลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างหลากหลาย อาทิ เมโทรเคเบิล ห้องสมุด และสวนสาธารณะ รวมถึงการลงทุนด้านการศึกษา ที่ถือเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จครั้งนี้ รวมถึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างสันติสุขอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี การที่บริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งโคลอมเบียเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจและมีชื่อเสียงด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นภาพหลอนกับผู้ที่ยึดมั่นและเชื่อถือแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในแง่ของบทบาทของรัฐในการพัฒนา บริษัทดังกล่าวเป็นหน่วยงานสำคัญในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ การประปา การไฟฟ้า และการสื่อสาร ให้เข้าสู่บริเวณพื้นที่ชายขอบของเมืองต่างๆ ในโคลอมเบีย อาทิ สลัม อย่างไรก็ดี ผู้นำชุมชนได้คัดค้านค่าบริการของบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งโคลอมเบียอยู่เสมอ และผู้คนจำนวนหนึ่งก็มองว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งโคลอมเบียเป็นส่วนต่อขยายมาจากรัฐที่ถูกควบคุมโดนชนชั้นนำ

ในคริสต์ทศวรรษ 1990 จิตสำนึกความรับผิดชอบของกลุ่มชนชั้นนำทางธุรกิจต่อการดูแลประเทศของตนถือได้ว่าเป็นอีกปฏิกิริยาหนึ่งต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ณ ช่วงดังกล่าว ซึ่งมักมีการเรียกร้องให้กลุ่มบริษัทและองค์กรต่างๆ ออกมาแสดง ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีประเทศโคลอมเบีย ได้แก่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของกลุ่มธุรกิจโปรโคลอมเบียในช่วงดังกล่าวที่ว่า “ให้ความช่วยเหลือในการเสริมสร้างประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น สร้างสังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นสังคมอันสงบสุขและมีความหลากหลาย รวมทั้งสร้างโอกาสสำหรับทุกคน” 

การที่มีกลุ่มธุรกิจอันเข้มแข็งและอุทิศให้กับประเทศเช่นนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในประเทศโคลอมเบีย การลงทุนจากภาคธุรกิจทั้งในเรื่องเงิน เวลา และทักษะความรู้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญของ ‘ระบบเศรษฐกิจแบบบูรณาการ’ ของประเทศ

แต่ภายใต้ความช่วยเหลือดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางธุรกิจแอบแฝงอยู่ เช่นการปกป้องอำนาจของชนชั้นนำในการควบคุมสินทรัพย์และการลงทุนในประเทศ ผลการศึกษาจากสถาบัน Instituto Popular de Capacitación (Popular Capacitation Institution – IPC) ซึ่งได้ทำการศึกษาวิเคราะห์โครงการบ่มเพาะธุรกิจที่โปรโคลอมเบียสนับสนุน ได้ข้อสรุปว่าโปรโคลอมเบียใช้โครงการดังกล่าวในการดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนในโคลอมเบีย ดังรายงานที่ว่า

การมีส่วนร่วมอย่างมากในพื้นที่ทางสังคมของภาคธุรกิจนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแรงผลักดันของนโยบายแรงงาน ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดการลดค่าแรงด้วยการรวมหน่วยการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าด้วยกันในแนวดิ่ง” 

ในขณะที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจพ้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของเมืองตามลำดับความสำคัญที่คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีได้กำหนดไว้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ แนวทางการแก้ไขดังกล่าวก็สนับสนุนให้เกิดการก่อตัวของโครงสร้างอำนาจขึ้นใหม่ที่ยิ่งทำให้ปัญหาการกีดกันทางเศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเกิดความคิดในหมู่ผู้นำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาโคลอมเบียว่าเวลานี้เป็นโอกาสที่จะกลับไปสู่ค่านิยมเดิม

การที่องค์กรทางธุรกิจของประเทศโคลอมเบียได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงประเทศมีที่มาจากหลายๆ แรงจูงใจซึ่งทับซ้อนกัน อาทิ ความรับผิดชอบต่อการพัฒนาของประเทศ ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นปฏิกิริยาตอบสนองกับวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือวิกฤตความรุนแรงในขณะนั้น การตระหนักว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง และการดึงค่านิยมระบบอุปถัมภ์แบบเดิมของกลุ่มชนชั้นนำกลับมา ทั้งนี้ยังเกิดการแบ่งกลุ่มของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจเพื่อการตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย

รายงานของ Monitor Group นำเสนอไว้ว่าผู้นำทางธุรกิจจำเป็นต้องเปิดตนเองออกสู่กระแสโลก การพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากรายงานฉบับดังกล่าว อาทิ การจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งโคลอมเบียในปี 1995 ก็สนับสนุนข้อสรุปที่ว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ในปี 1997 เสียงในสภาเศรษฐกิจแห่งโคลอมเบียได้แตกออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่ต้องการดำรงอำนาจอยู่ในเฉพาะโคลอมเบียต่อไป และกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่ต้องการเปิดตนเองออกสู่กระแสโลกาภิวัตน์ แม้จะมีเสียงที่แตกออกเป็นสองฝ่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นการนำข้อเสนอแนะจากรายงานเรื่องการเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาประยุกต์ใช้ได้ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะเรื่องการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อให้แผนการพัฒนาสังคมเกิดขึ้นอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป ภาคธุรกิจในโคลอมเบียมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการยุ่งเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือวิกฤตความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งจากกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย กลุ่มกำลังทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวา และขบวนการค้ายาเสพติด ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และยังคงมีบทบาทสำคัญเรื่อยมาในการกำหนดทิศทางของประเทศจนถึงปัจจุบันไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกาหรือภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหวังว่าเมื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับชัยชนะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล จะช่วยเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่พวกเขานั้นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save