fbpx

อิทธิพลของโลกตะวันตกต่อการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ก้าวเข้าสู่ท้ายปีของปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในลาตินอเมริกา โดยผู้นำประเทศที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจนั้นต่างก็ผ่านกติกาประชาธิปไตย คือมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในประเทศของตน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ฝังรากลึกในลาตินอเมริกาส่วนหนึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากแรงผลักดันจากโลกตะวันตก โลกตะวันตกมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยโดยการทำให้ฝ่ายอำนาจนิยมไม่สามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนฝ่ายที่มีความเป็นกลาง ในบางกรณีต่างชาติอาจเข้าไปแทรกแซงโดยตรงในกระบวนการทางการเมืองโดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970s เมื่อสภาวการณ์ทางการเมืองโลกดูมีทีท่าไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการ ประเทศในลาตินอเมริกาก็ได้รับแรงกดดันจากประชาคมโลก จนทำให้จำนวนไม่น้อยต้องกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยพร้อมกับส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน

Laurence Whitehead นักวิชาการทางด้านลาตินอเมริกันศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) สหราชอาณาจักร ได้เสนอกรอบการวิเคราะห์สำหรับการศึกษาถึงปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เขาได้ชี้ให้เห็นถึง 4 ขั้นตอนที่สามารถส่งผลให้เกิดการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยดังนี้

  1. การควบคุม คือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยโดยส่งกองกำลังเข้ายึด อย่างเช่นในกรณีเฮติ (1994) ในนามของ Operation Uphold Democracy
  2. การยื่นเงื่อนไข คือการยื่นข้อเสนอให้เกิดการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยโดยการแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศหรือขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
  3. การแพร่กระจาย คือการที่สื่อได้นำเสนอข่าวสารการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประชาชนในประเทศเกิดจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลง
  4. การยอมรับ คือการที่ประเทศนั้นๆ ยอมพัฒนาตัวเองไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

สำหรับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา โลกตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตยใน 3 ทาง ได้แก่

1. สหรัฐอเมริกา

การพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยของบางประเทศในลาตินอเมริกามีส่วนมาจากแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา โดยในสมัยของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter, 1976-1981) ได้มีการกดดันประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ให้ปรับปรุงแก้ไขในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากนั้นนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมาประธานาธิบดีคนต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงความคิดเห็นในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา และเมื่อมาถึงยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama, 2009-2016) เขาก็พยายามเปลี่ยนแผนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนก่อนๆ จากเดิมที่พยายามกดดันให้ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย มาใช้วิธีการเจรจาหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนผ่าน

นับตั้งแต่อดีต สหรัฐอเมริกามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาโดยอาศัยรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย นับแต่อาศัยความสัมพันธ์ทางการทูต การสอดส่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อยไปจนถึงการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ในเม็กซิโกระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1990s สหรัฐอเมริกากดดันให้เกิดการปรับปรุงในกระบวนการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็พยายามอย่างยิ่งยวดในการรักษาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง อาทิเวเนซุเอลาหลังปี 1990 กัวเตมาลาในปี 1993 และปารากวัยในปี 1996

สหรัฐอเมริกาทำแม้กระทั่งส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในลาตินอเมริกาโดยอ้างว่าเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ อาทิ การโค่นล้มระบอบเผด็จการของนายพลมานูเอล อันโตนิโอ โนรีเอกา (Manuel Antonio Noriega, 1981-1989) ของปานามา และการแทรกแซงในเฮติในปี 1994 และ 2004 ภายใต้การนำขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ทุ่มเททรัพยากรจำนวนไม่น้อยในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาผ่านงานองค์กรทางด้านวิชาการอีกด้วย อาทิ The Freedom House หรือโครงการ The National Endowment for Democracy

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาถูกวิจารณ์ว่ามีความไม่แน่นอนในทัศนคติที่มีต่อประชาธิปไตยในลาตินอเมริการวมไปถึงการสนับสนุนบุคคลที่มีคุณลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ ในปี 1982 ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เรียกร้องให้นานาชาติเร่งส่งเสริมประชาธิปไตย หรือในปี 1984 Kissinger Commission ได้เสนอมาตรการระยะยาวในการส่งเสริมประชาธิปไตยในอเมริกากลาง ทว่ารัฐบาลของ Ronald Reagan กลับเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองในอเมริกากลาง โดยหนุนหลังรัฐบาลฝ่ายขวาทำการปราบปรามผู้เห็นต่าง ขณะที่ในปี 2002 สหรัฐอเมริกาก็ให้การรับรองประธานสภาหอการค้าของเวเนซุเอลาให้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ที่ถูกรัฐประหาร ส่งผลให้มีการตั้งคำถามต่อพฤติการณ์ดังกล่าวว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้หรือไม่ ขณะที่อดีตประธานาธิบดีเฮติ ฌ็อง-แบร์ทร็อง อาริสตีด (Jean-Bertrand Aristide; 1991, 1993-1993, 1994-1996, 2001-2004) ก็ประณามว่าสหรัฐอเมริกาบีบให้เขาต้องลงจากตำแหน่งอย่างไม่เต็มใจ นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของสหรัฐอเมริกาต่อการรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดี มานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) ของฮอนดูรัสในปี 2009 ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การลี้ภัยออกนอกประเทศของประธานาธิบดีเซลายา

โครงการ The National Endowment for Democracy ยังถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องมือทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างว่าเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในภูมิภาค สหรัฐอเมริกาถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่ามีความสองมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 9/11 และ War on Terror ที่เน้นการปราบปรามผู้ก่อการร้ายขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการละเมิดในเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมากด้วยเช่นเดียวกัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจากเหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลางและวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ส่งผลให้การส่งเสริมประชาธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศโลกตะวันตกดูจะอ่อนแรงลงไป นอกจากนี้การส่งเสริมประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาของสหรัฐอเมริกามักจะมาพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ลาตินอเมริกาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันในนาม ‘เสรีนิยมใหม่’ อีกด้วย

2. องค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States – OAS)

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา OAS มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภายใต้การนำของเลขาธิการ โฆเซ่ มิเกล อินซุลซา (José Miguel Insulza, 2005-2015) หลักการประชาธิปไตยถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญขององค์การ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิก โดยได้มีการลงนามกันในหมู่ประเทศสมาชิกเมื่อเดือนกันยายน 2001 ในการจะยึดหลักประชาธิปไตยให้เป็นเสาหลักในการปกครองทั้งภูมิภาค รวมทั้งปกป้องความเป็นประชาธิปไตยให้ธำรงอยู่ตลอดไป มีการส่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานย่อยขององค์การไปทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศสมาชิก อาทิ ในปี 2005 โบลิเวีย เอกวาดอร์ เฮติ และนิคารากัว ได้ร้องขอให้ผู้แทน OAS เข้าไปช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย ในเอกวาดอร์นั้น องค์การได้เข้าไปช่วยในการคัดสรรผู้พิพากษาศาลสูงสุดของประเทศ ในปี 2008 ประธานาธิบดี Evo Morales ของโบลิเวียได้ร้องขอให้ OAS เป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างเขากับฝ่ายค้านในปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในภาพรวม มาตรการต่างๆ ขององค์การรัฐอเมริกันพอจะสรุปได้ดังนี้

  • การตั้งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง โดยมีการทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 1962 อย่างไรก็ดี มากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2005-2021 การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยองค์การมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ พร้อมๆ กับมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการสังเกตการณ์ทั้งก่อนหน้าและหลังวันเลือกตั้ง
  • การเข้าร่วมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง นอกจากทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งแล้ว นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นม OAS ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก อาทิ การจัดการอบรมเรื่องขั้นตอนการเลือกตั้ง อย่างการอบรมคณะกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เอกวาดอร์ และการเข้าไปช่วยโบลิเวียและกัวเตมาลาในการติดตั้งการลงคะแนนเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • การประกันคุณภาพ จากประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานของ OAS นำไปสู่การจัดทำมาตรฐานเชิงคุณภาพของการเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกของโลก เรียกว่า ISO/TS 17582:2014 ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วโลก ไม่จำเพาะแต่ในลาตินอเมริกา
  • การเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ นอกจากจะช่วยในเรื่องการยืนยันสิทธิในการเลือกตั้งแล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถยืนยันสิทธิต่างๆ ของประชาชนในแต่ละประเทศว่าเขามีสิทธิอะไรในการรับบริการจากรัฐตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต
  • การส่งเสริมการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ OAS มีแนวคิดที่ว่าการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะที่ดีจะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง ในทางกลับกันถ้าความต้องการของประชาชนไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมก็จะเกิดการบั่นทอนความเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐ ส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว ดังนั้นองค์การรัฐอเมริกันจึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะในภูมิภาค

3. สหภาพยุโรป

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตอนใต้ อาทิ สเปน ในระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1970s และ 1980s ส่งผลให้สหภาพยุโรปมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแพร่กระจายแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตย เช่นการผู้ให้ทุนสนับสนุนการตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับประชาธิปไตยของ The United Nations Development Program ในปี 2004 รวมถึงการจัดทำรายงานสำรวจคุณภาพประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา Latinobarómetro ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในลาตินอเมริกาในปัจจุบัน

ความสนใจของสหภาพยุโรปในประเด็นการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นมักจะอยู่ในรูปการเปรียบเทียบกับพัฒนาการของประเทศในลาตินอเมริกา นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังใช้การแทรกแซงเพื่อกดดันให้ประเทศในลาตินอเมริกากลับสู่หนทางประชาธิปไตย อาทิ ในปี 2008 สหภาพยุโรปยกเลิกการกดดันคิวบาที่มีมานับตั้งแต่ ค.ศ. 2003 หลังจากรัฐบาลคิวบาทำการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองกว่า 70 คน ต่อมาในปี 2016 มีการเปิดการเจรจรกันระหว่างสหภาพยุโรปกับคิวบาเพื่อแสวงหาความร่วมมือกันในทุกมิติ โดยตัวแทนของสหภาพยุโรปกล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเผยแพร่ความคิดเสรีนิยมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคิวบา นอกจากนี้เมื่อเกิดการรัฐประหารในฮอนดูรัสปี 2009 สหภาพยุโรปมีการเรียกตัวทูตกลับเพื่อเป็นการประท้วงสถานการณ์ดังกล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับลาตินอเมริกายังมีลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์เชิงทวิภาคี อาทิ มีการประชุมระหว่างสหภาพยุโรปและสหภาพรัฐลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (The Community of Latin America and Caribbean States – CELAC) เป็นครั้งแรกในปี 2013 อย่างไรก็ดีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปหลังปี 2009 รวมถึงการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้บทบาทของสหภาพยุโรปในลาตินอเมริกาลดลง การที่บทบาทของสหภาพยุโรปลดลง รวมถึงมีความแตกแยกภายในสหภาพยุโรปเอง กอปรกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น น่าจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรปและลาตินอเมริกามีทิศทางที่เปลี่ยนไป

…………………………………….

กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่าบทบาทของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือองค์การรัฐอเมริกันเอง ล้วนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศในอาเซียนจะพบว่าอิทธิพลของโลกตะวันตกยังไม่สามารถคัดง้างให้ระบอบอำนาจนิยมในภูมิภาคล่มสลายไปได้ แถมยังมีจีนที่คอยต่อต้าน ส่งผลให้ประเทศในอาเซียนยังคงตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมอยู่ไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาในปัจจุบัน

แม้กระทั่งในไทยเองก็ตามยังมีคนอยู่เป็นจำนวนมากที่ต่อต้านหรือมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ต้องการ ‘คนดี’ ขึ้นมาปกครองประเทศ ไม่ว่าคนดีเหล่านั้นจะมาด้วยหนทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในมุมมองของโลกตะวันตกก็ตาม ตราบใดที่วาทกรรมเรื่อง ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ยังคงมีอิทธิพลอยู่อย่างไม่เสื่อมคลายในสังคมไทย เราก็ยังคงหนีไม่พ้นระบอบอำนาจนิยมอยู่นั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save