fbpx

ฤา Detroit of Latin America จะสิ้นชื่อ: ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเม็กซิโก

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศเม็กซิโก ในปัจจุบัน รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงผ่านมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ทั้งระบบเพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของเม็กซิโกมีมาตรฐานในระดับสากลและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมา เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีศักยภาพการผลิตรถยนต์ชั้นแนวหน้าของโลก มีกำลังการผลิตรวมเกือบ 2 ล้านคัน/ปี โดยเฉลี่ย มีมูลค่าตลาดราว 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และบุคลากรในระบบกว่า 800,000-900,000 คน จากข้อมูลล่าสุดในปี 2021 เม็กซิโกมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1,685,705 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกถึง 956,530 หรือร้อยละ 56.74 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 34.91 แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประเทศได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก จนได้รับการขนานนามว่า ‘ศูนย์กลางยานยนต์แห่งลาตินอเมริกา’ และเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 สำหรับรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศชั้นนำในสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโกในอนาคตอาจยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากความเสี่ยงและความท้าทายรอบด้าน อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 ที่ยังมีความเปราะบาง กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอยสืบเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด ภาวะเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มยาวนานด้วยผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จากรายงานของธนาคารโลกระบุว่า การหดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (GDP) ในปี 2020 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 นับว่าเป็นภาวะถดถอยมากที่สุดในรอบ 80 ปี และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านภายในอุตสาหกรรมยานยนต์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงจากระบบเครื่องยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electronic Vehicles: EV) ซึ่งเป็นภาพที่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นและได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

อนึ่งในเชิงของการบริหารจัดการความเสี่ยง วิกฤติเหล่าถือเป็นความเสี่ยงที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งธุรกิจยานยนต์ทั้งระบบพึงจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมมีแผนรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการมีบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านที่สามารถออกแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งเชิงรุกและเชิงรับ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่รอดของธุรกิจในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการศึกษาเชิงประจักษ์ว่าด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจยานยนต์ในบริบทด้านการตลาดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการศึกษาให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์ปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารผู้ประกอบการเป็นมุมมองสะท้อนกลับเพื่อให้องค์กรสามารถปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดและการบริการจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

แนวคิดเรื่องความเสี่ยงนั้น มองว่าความเสี่ยงคือความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แอบแฝงอยู่ในทุกระบบของการทำงาน นับเป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการบรรลุกลยุทธ์หรือวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดการความเสี่ยงจึงเป็นกิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญเพื่อให้องค์กรสามารถคงอยู่และเติบโตได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผันผวนและไม่แน่นอน หน้าที่ขององค์กรคือต้องรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการแสวงหาแนวทางป้องกันและจัดการกับความเสี่ยง เพราะความเสี่ยงจะนำมาสู่ความเสียหาย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาพัฒนามาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมและจัดการความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีมูลเหตุแห่งความเสี่ยง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากสองปัจจัย คือ 1) เหตุที่เกิดจากภายในองค์กร เช่น วัฒนธรรม โครงสร้างองค์กร บุคลากร หรือ 2) เหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การเมือง คู่แข่ง สภาวะเศรษฐกิจ เทคโนโลยี เป็นต้น

แนวความคิดในเรื่องของความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย กล่าวคือเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มักเกิดขึ้นได้ในทุกขณะทั้งทางธุรกิจหรือทางส่วนตัวในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งต้องอาศัยการรับมือหรือจัดการด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางสถานการณ์เกิดความเสี่ยงเฉพาะอย่างที่จะต้องได้รับการวิเคราะห์และจัดการ บางสถานการณ์เกิดการละเว้น การจัดการความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องเฉพาะที่ควรมีการวางแผนรับมือล่วงหน้าเพื่อป้องกันการเกิดความสูญเสียที่จะกลายมาเป็นปัญหาสำคัญ

แนวทางการบริหารความเสี่ยงหรือการจัดการความเสี่ยงจึงเข้ามามีบทบาทและความสำคัญต่อการบริหารงานในรูปแบบใหม่ ที่ต้องการควบคุมผลกระทบและโอกาสที่เกิดจากการดำเนินกิจการให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดขององค์กร จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร ทำหน้าที่ช่วยในการค้นหา ลดระดับความรุนแรง การควบคุมและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ให้อยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้ หรือสามารถป้องกันได้

การบริหารจัดการความเสี่ยงควรต้องยึดตามกรอบการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การตรวจสอบ และการปรับปรุง ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ

1) เริ่มต้นจากการค้นหาความเสี่ยงหรือการระบุความเสี่ยง โดยจำแนกหรือระบุสิ่งที่จะสัมผัสกับความเสี่ยง

2) ทำการวิเคราะห์หรือประเมินความเสี่ยง นับเป็นการประเมินในรูปแบบของเหตุการณ์ที่ไม่ปรารถนาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ขนาด ความถี่ และความรุนแรง รวมถึงความสำคัญของผลกระทบจากเหตุการณ์ความเสี่ยงนั้นๆ

3) การรับมือหรือวิธีการจัดการความเสี่ยงผ่าการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยวิธีการที่นำมาใช้จะต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายขององค์กร

4) การประเมินผลและการควบคุม กล่าวคือหลังจากที่ทำการตัดสินใจในการใช้วิธีการที่เหมาะสมในการบริหารความเสี่ยงแล้ว เพื่อย้อนดูประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง และพิจารณามาตรการการป้องกันหรือลดความเสี่ยงขึ้นใหม่ตลอดจนไม่ละเลยที่จะทำการควบคุมความเสี่ยงโดยการวางแผนกลยุทธ์ และเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย

ผลการศึกษาบริบทของการจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจรถยนต์ในเม็กซิโกพบว่า องค์กรมีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงแต่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกได้ว่าเป็นการบริหารจัดการเชิงสถานการณ์เฉพาะหน้า ผ่านการกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ภายใต้องค์กรเครือข่าย (สาขา) ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความเสี่ยงโดยตรง

ดังนั้น การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจยานยนต์จึงเป็นเพียงการบริหารจัดการภายใต้การควบคุมดูแลสถานการณ์ของผู้บริหารระดับสูง โดยมีแนวทางปฏิบัติเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อาศัยการสื่อสารเป็นลำดับขั้นของหน้าที่ความรับผิดชอบ เริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการฝ่าย และผู้ปฏิบัติงานตามลำดับสายการบังคับบัญชา โดยการระบุความเสี่ยงด้านการตลาดจะถูกกำหนดและวิเคราะห์จากผลประกอบการเป็นหลักในขณะเดียวกันมีเพียงเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง (สำนักงานใหญ่) เข้ามาตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานและให้ข้อคิดเห็นเป็นระยะๆ และไม่มีการติดตามความเสี่ยงกับแนวทางการจัดการที่เกิดขึ้น เนื่องจากการจัดการความเสี่ยงขององค์กรเป็นเพียงลักษณะของการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าจากการสังเกตการณ์ภาพรวมของการดำเนินงานเท่านั้น การติดตามความเสี่ยงจึงเป็นเพียงการติดตามผลการดำเนินงานขององค์กรภาพรวมภายใต้การดูแลของผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรต้นสาย (สำนักงานใหญ่) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเน้นย้ำและปรับการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ปัญหาการจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจรถยนต์แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ปัญหาจากสภาพแวดล้อมภายนอก และปัญหาด้านสภาพแวดล้อมภายใน

ปัญหาจากสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือความผันผวนทางเศรษฐกิจมีผลต่อการจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจรถยนต์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อ และปัญหาด้านเทคโนโลยี กล่าวคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามีผลต่อการจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากผู้บริโภคยังมีแรงต้านต่อเทคโนโลยีใหม่ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังคงเกิดขึ้นเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น สอดคล้องกับงานวิจัยของธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างรัฐในสหรัฐอเมริกา (IADB) เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงในโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์เม็กซิโก ที่พบว่าหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงภายนอกห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์ของลูกค้า อันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์เช่นกัน

ส่วนในด้านปัญหาด้านสภาพแวดล้อมภายใน พบว่าองค์กรไม่มีแบบแผนหรือการกำหนดค่านิยมร่วมในการจัดการความเสี่ยงและไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความเสี่ยงโดยเฉพาะ ตลอดจนพบว่ามีปัญหาในเรื่องขาดการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารผ่านคำพูด ซึ่งทำให้เกิดความไม่ครบถ้วนในเนื้อหาที่สื่อสารระหว่างที่ทำการถ่ายทอดข้อมูล และในบางครั้งเกิดการบิดเบือนข้อมูลในการถ่ายทอดข้อมูลด้วยเช่นกัน

จากปัญหาการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เกิดแนวทางการจัดการความเสี่ยงสี่ด้าน ได้แก่

1) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์การปรับตัวต่อความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนผสานความร่วมมือกับสถาบันทางการเงินในการสร้างประสบการณ์ความคุ้มค่ารูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นกับลูกค้า ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดที่แตกต่างไปจากเดิม

2) ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ การสร้างโมเดลธุรกิจการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยสร้างความคุ้นเคยและลดความกังวลให้กับผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อ ตลอดจนไม่หยุดยั้งในการพัฒนารูปแบบการจัดเก็บพลังงานให้ยาวนานยิ่งขึ้น ขยายสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในมุมมองด้านราคา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องวิสัยทัศน์ของการไฟฟ้าในท้องถิ่นต่างๆ นอกเมืองหลวงกรุงเม็กซิโกซิตีกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า พบว่า การเปลี่ยนแปลงของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามีความท้าทายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างออกไปจากในอดีต โดยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องของภาครัฐบาล ภาคเอกชนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและไว้วางใจให้แก่ผู้บริโภค จึงจะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

3) ด้านค่านิยมร่วม ได้แก่ การสร้างค่านิยมร่วมกันในองค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและข้อกำหนดร่วมกันของคนในองค์กร โดยใช้เป็นเครื่องกระตุ้นและโน้มน้าวให้เกิดการกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานและมีพฤติกรรมในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องบทบาทของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในมิติของการจัดการความเสี่ยง พบว่าความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยงต้องเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงขององค์การที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการความเสี่ยง และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยตรงผ่านกระบวนการกำหนดนโยบาย ค่านิยมและวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรมร่วมกันตลอดจนถ่ายทอดแนวทางและวิธีการปฏิบัติสู่พนักงานในทุกระดับขององค์การ (Latin America Focus, 2017)

4) ด้านการสื่อสาร ได้แก่ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารภายในองค์กร สอดคล้องกับการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) (2015) ที่วิเคราะห์เรื่องการพัฒนาทักษะการสื่อสารของพนักงานบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน พบว่า การให้ความสำคัญและส่งเสริมให้พนักงานมีความคุ้นเคยและประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสาร อำนวยความสะดวก สามารถรวบรวมสาระสำคัญของข้อมูลได้ครบถ้วน

ดังนั้นในบริบทการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการตลาดของธุรกิจรถยนต์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือและกรอบแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง ทั้งในเชิงวิชาการควบคู่กับเชิงปฏิบัติการ เพราะแนวทางและหลักเกณฑ์เชิงวิชาการ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร ทำหน้าที่ช่วยในการค้นหา ลดระดับความรุนแรง การควบคุมและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ให้อยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้หรือสามารถป้องกันได้ นำไปสู่ปฏิบัติการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save