fbpx

ระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา เหตุใดจึงก้าวหน้า?

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่สองหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารปี 2549

เห็นได้ว่าการเมืองไทยนั้นระบอบประชาธิปไตยยังคงไม่สามารถลงหลักปักฐานได้อย่างเข้มแข็งได้ในสังคมไทย โดยส่วนตัวของผมนั้นเคยเชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 จนนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 แล้วนั้น บ้านเมืองเรานั้นคงจะเดินหน้าไปในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเอง แต่ความฝันของผมก็ล่มสลายลงไปเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และตอกย้ำปิดฝาโลงอีกครั้งในปี 2557 แตกต่างจากประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่มีความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองบางประการ

ในบทความนี้ ผมขอเล่าให้ฟังว่าปัจจัยเหล่านั้นที่ทำให้ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาก้าวหน้าขึ้นมาได้อย่างในปัจจุบันนี้คืออะไร ด้วยความหวังว่าวันหนึ่ง ประเทศไทยของเราเองจะสามารถใส่เกียร์เดินหน้าทางประชาธิปไตยได้เหมือนกับในลาตินอเมริกา โดยไม่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารหรือการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพอีกต่อไป

ปัจจัยทางด้านการเมือง

ชนชั้นนำ

การศึกษาเรื่องความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในลาตินอเมริกามักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของชนชั้นนำในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่ความร่วมมือหรือความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่เกิดจากความตกลงกันระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจที่อาจออกมาทั้งในรูปแบบที่เป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย โดยผู้มีอำนาจในระบอบเผด็จการจะคล่อยๆ ผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองเมื่อได้มีการเจรจาต่อรองกับขั้วตรงข้าม 

ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยจะมาถึงเมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองตัดสินใจที่จะตีตัวออกห่างจากการครอบงำของกองทัพและเห็นพ้องกันในการจัดระเบียบทางการเมืองใหม่จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ดังเช่นในเปรู (ค.ศ. 1979) และบราซิล (ค.ศ. 1988) แต่ระบอบประชาธิปไตยลักษณะนี้มักจะสงวนพื้นที่ทางการเมืองบางส่วนให้กับกองทัพ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘การผสานผลประโยชน์ของชนชั้นนำ’ โดยที่แต่ละฝ่ายหันมาร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองแบบสันติในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเริ่มเดินหน้าอีกครั้งหนึ่ง

ความชอบธรรม

ระบอบอำนาจนิยมมักประสบปัญหาเรื่องความชอบธรรมโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและการสืบทอดอำนาจ เช่น พรรค Institutional Revolutionary Party (PRI) ในเม็กซิโก ซึ่งสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 จนนำไปสู่ชัยชนะชองพรรคคู่แข่ง National Action Party (PAN)

ต้นเหตุที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการในอเมริกากลางสูญเสียความชอบธรรมมักเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรง โดยรัฐบาลเหล่านี้มัก ถูกตั้งคำถามในการชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นความชอบธรรมกับการกดขี่ผู้เห็นต่าง แม้ในระยะสั้นการใช้แนวทางปราบปรามคนเห็นต่างอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจของตนได้ แต่ในระยะยาวการกระทำแบบนี้มักนำปัญหามาสู่รัฐบาล แต่ถ้าผู้นำเผด็จการจะยกเลิกการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว พวกเขาจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในสังคมเพื่อให้ดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป

ประสบการณ์จากลาตินอเมริกาแสดงให้เห็นว่าผู้นำเผด็จการส่วนใหญ่พยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเองเพื่อให้เกิดการยอมรับ หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งการกดขี่มาเป็นเวลานาน

พรรคการเมือง

กระบวนการในการก่อตั้งพรรคการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งเพราะมีผลโดยตรงต่อลักษณะและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่เข้มแข็งจะสามารถใช้ช่องทางต่างๆ ในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยและต่อรองจนนำมาสู่ระบอบการเมืองใหม่ ตรงกันข้าม การมีพรรคการเมืองที่อ่อนแอจะส่งผลต่อการร่วมมือกันและเป็นปัญหาต่อความกาวหน้าของประชาธิปไตย

ยกตัวอย่างในชิลี พรรคการเมืองกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งหนี่งในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และประสบความสำเร็จในการท้าทายอำนาจของนายพล Augusto Pinochet ส่งผลให้การทำประชามติเพื่อสืบทอดอำนาจของนายพล Pinochet ต้องพ่ายแพ้ เมื่อพรรคการเมืองได้รับอนุญาตให้ทำการหาเสียงในการเลือกตั้งหลังจากระบอบเผด็จการนี้ และพบว่าพรรคการเมืองมักได้รับโอกาสมากกว่าระบอบเดิมที่อยู่ในอำนาจ

สามัญชนและประชาสังคม

บทบาทของประชาชนและประชาสังคมในการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการนั้นเป็นที่ยอมรับกันมาช้านาน การเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นของชนชั้นกลาง นักธุรกิจ ข้าราชการ แรงงาน เกษตรกร หรือแม้กระทั่งชนชั้นล่าง ต่างก็มีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตย ในบางสถานการณ์ กลุ่มประชาสังคมต่างๆ เหล่านี้อาจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจนนำไปสู่การล้มสลายของระบอบเผด็จการ

ยกตัวอย่างในบราซิล ชนชั้นกลางเป็นแกนนำต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐเผด็จการทหาร โดยรวมพลกันเดินขบวนประท้วงจนสร้างแรงกดดันต่อกองทัพเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ในเม็กซิโก การเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งที่ฉ้อโกงในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ก็ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของพรรค Institutional Revolutionary Party เช่นกัน

ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจะไม่ยังไม่กระจ่างชัดเท่าไรนัก แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลกระทบโดยตรงต่อระยะเวลาและรูปแบบของความก้าวหน้าของประชาธิปไตยรวมถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยมีการศึกษาของนักวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างปฏิกิริยาเคลื่อนไหวทางการเมืองในลาตินอเมริกาบางประเทศกับความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการต่อความคาดหวังของประชาชนในการบริหารเศรษฐกิจ และวิกฤตเศรษฐกิจอาจทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนเผด็จการตีตัวออกห่างจนกระทั่งเกิดการเดินขบวนขับไล่ได้

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างที่น่าสังเกตระหว่างประเทศที่ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยเกิดขึ้นหลังจากประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างเช่น อาร์เจนตินา กับประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าหลังจากประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง อาทิ ชิลี

ในกรณีอาร์เจนตินานั้น วิกฤตเศรษฐกิจผสานกับความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ต่ออังกฤษ ส่งผลต่อการล่มสลายของอำนาจเผด็จการ ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมที่หนุนหลังกองทัพก็ประสบความยากลำบากในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลพลเรือนของพรรค Radical Party ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Raúl Alfonsín (1983-1989) ส่วนในชิลีนั้น ความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในช่วงปลายของรัฐบาลนายพล Augusto Pinochet ที่มีการผ่อนคลายแรงกดทับทางการเมือง หลังจากนายพล Augusto Pinochet ลงจากอำนาจในปี 1989 แล้ว โดยกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาถือแต้มต่อทางการเมืองเหนือฝ่ายซ้าย

เห็นได้ชัดว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อความก้าวหน้าทางการเมืองแบบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา ดังเห็นได้จากผลการเลือกตั้งระหว่างปี 1998-2008 ที่กระแสความคิดแบบเสรีนิยมใหม่อยู่ในช่วงขาลง โดยนับตั้งแต่ปี 2000 ประธานาธิบดีจำนวนมาก รวมทั้งบรรดาสมัครชิงตำแหน่งเดียวกัน ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบอ้างอิงกลไกตลาดแสดงความต้องการขยายบทบาทของรัฐในภาคเศรษฐกิจ รวมทั้งเน้นการใช้จ่ายทางสังคม โดยผู้เสนอแนวคิดเหล่านี้ต่างก็ชนะการเลือกตั้งหรือได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้เพราะระบอบการเมืองแบบใหม่ที่ให้อำนาจแก่ชนชั้นที่เคยถูกกดทับภายใต้ระบอบเผด็จการได้มีปากมีเสียง การเมืองระบอบประชาธิปไตยมักจะถูกเรียกร้องให้ตอบสนองต่อความต้องการในการกระจายรายได้ที่เสมอภาคกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้อยู่ชายขอบแห่งอำนาจ

ในลาตินอเมริกานั้น ประเทศที่ประชาธิปไตยค่อนข้างมั่นคง อาทิ คอสตาริกา อุรุกวัย และชิลี นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐถูกวางโครงสร้างมาอย่างดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประชาธิปไตยยังง่อนแง่น และก่อให้เกิดคำถามในวงวิชาการว่า ภายใต้ระบอบเผด็จการนั้นจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามของรัฐบาลเผด็จการในการขยายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มที่สนับสนุนตัวเองก็ตาม

…….

กล่าวโดยสรุป ความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกานั้นมีปัจจัยที่มาจากทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้ในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า ดัชนีชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยของลาตินอเมริกาโดยภาพรวมดีกว่าประเทศต่างๆ ในอาเซียนอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถเชื่อมั่นได้อย่างเต็มร้อยว่าระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกานั้นจะมั่นคงสถาวร ตราบใดที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหานี้เป็นปัญหาหลักที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาเผชิญมาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเวเนซุเอลาในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่นำไปสู่ระบอบเผด็จการทางการเมืองนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Hugo Chávez ที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนมาถึงประธานาธิบดี Nicolás Maduro ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้วที่ระบอบประชาธิปไตยในเวเนซุเอลา แทนที่จะก้าวหน้าไปเหมือนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน กลับถดถอยลงไปอย่างมาก จนนำไปสู่หายนะของประเทศอย่างรุนแรงดังที่เกิดขึ้นในเวลานี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save