fbpx

อุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยของลาตินอเมริกาในปัจจุบัน

ในบทความครั้งที่แล้วที่ กระผมพูดถึงการเลือกตั้งในบราซิลครั้งล่าสุด ซึ่งได้ผู้นำแนวคิดสังคมนิยมคือ ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลูลา’ สอดคล้องไปกับการที่ผู้นำในลาตินอเมริกาขณะนี้เป็นจำนวนมากก็ได้ผู้นำแนวคิดสังคมนิยมเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดต่างก็ผ่านการรับเลือกจากประชาชนโดยโปร่งใส แสดงให้เห็นการเบ่งบานของประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่การสิ้นสุดของอำนาจเผด็จการทหารในคริสต์ทศวรรษที่ 1970s เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบประชาธิปไตยของลาตินอเมริกาในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมและการทุจริต ดังนั้นในบทความชิ้นนี้ กระผมจะชี้ให้เห็นว่าปัญหาทั้งสองนั้นได้กร่อนเซาะระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาได้อย่างไร

อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัย

ปัญหาอัตราการเกิดอาชญากรรมที่มีสูงมาก ซึ่งรวมไปถึงประเด็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา บางครั้งไม่เพียงแต่ทำให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสั่นคลอนเท่านั้น แต่อาจถึงกับทำให้รัฐบางรัฐเกือบล่มสลายก็มี

โดยรวมแล้ว ลาตินอเมริกาแทบทุกประเทศมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่อวันอยู่ในระดับที่สูงมาก กระทั่งว่าในปี 2018 รายงานของ Latinobarómetro ระบุว่า ประชาชนส่วนมากเปลี่ยนมาลงความเห็นว่าปัญหาเร่งด่วนลำดับแรกในสายตาของตนคือปัญหาอาชญากรรม จากแต่เดิมตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมาปัญหาหลักในสายตาพวกเขาคือเรื่องการว่างงานมาโดยตลอด ส่วนในรายงานของ Latinobarómetro ฉบับปี 2021 พบว่าประชาชนในลาตินอเมริกาที่ตอบแบบสำรวจร้อยละ 10 ระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตนเคยตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมมาก่อน ส่วนประชาชนอีกร้อยละ 25 ระบุว่าญาติของตนเคยตกเป็นเหยื่อเช่นกัน

แม้ว่าอาชญากรรมในปัจจุบันจะมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ กระนั้นก็ดี จำนวนตัวเลขของคดีความอาชญากรรมที่ทางการลงบันทึกไว้ กับจำนวนตัวเลขสัดส่วนของผู้ที่ไปแจ้งความจริงๆ ว่าตนเป็นผู้เสียหาย แตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละช่วงเวลา บริบทสังคม การเมืองและเศรษฐกิจเป็นเช่นไร สิ่งนี้จึงบ่งชี้ว่าถึงแม้อัตราการเกิดอาชญากรรมจะไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างฉับพลันหรือน้อยลงอย่างช้าๆ แต่การรับรู้ของประชาชนต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง อิทธิพลของความรับรู้เรื่องอาชญากรรมอาจมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยด้วย

ยกตัวอย่างเช่นประเทศเม็กซิโก ในปี 2001 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่สู้ดีนัก ประชาชนชาวเม็กซิโกร้อยละ 79 บอกกับ Latinobarómetro ว่าตนเคยตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรม แต่มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่บอกว่าอาชญากรรมเป็นปัญหาหลักของประเทศ ส่วนในเวเนซุเอลา ข้อวิตกกังวลใจในหมู่ประชาชนต่อปัญหาอาชญากรรมยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 47 ในปี ค.ศ. 2013) ซ้ำแล้วผู้คนจำนวนมากยังระบุว่าตนหรือญาติของตนเคยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในช่วง 12 เดือนก่อนหน้าด้วย แต่ถึงเวเนซุเอลาจะอยู่รั้งท้ายในรายงานดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project ปี 2021 ในรายงานฉบับเดียวกันระบุว่าเม็กซิโกประสบปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากกว่า ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการฆาตกรรม (Homicide Rate) ชุดใหม่ที่เพิ่งจัดทำในไม่กี่ปีมานี้โดย InSight ชี้ว่าในปี 2018 ประเทศเอลซัลวาดอร์มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยในช่วง ค.ศ. 2012–2017 มีสัดส่วนเหยื่อต่อประชากรอยู่ที่ 103 ต่อ 100,000 คน ส่วนในรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) ประจำปี 2021 ระบุว่าในภูมิภาคอเมริกากลางช่วงปี 2015–2021 ความรับรู้ของประชาชนต่อระดับอาชญากรรมในสังคมมีสภาพย่ำแย่ลง อีกทั้งปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดก็ยิ่งเสริมให้อัตราฆาตกรรมในภูมิภาคดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

การที่ปัญหาอาชญากรรมอยู่ในขีดสูงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังอาจส่งผลไปถึงทัศนคติและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย (legality) ด้วย ปัญหาเรื่องการไร้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินส่งผลให้ประชาชนในลาตินอเมริกาจำนวนมากมองว่าการเคารพกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเสมอไป กลายเป็นว่าจะเคารพกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนมากกว่า สิ่งนี้เองที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมยิ่งพุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ตัวอย่างเช่นในประเทศบราซิล แค่ในปี 2019 เพียงปีเดียวเกิดเหตุฆาตกรรมสูงถึง 50,000 คดีต่อมามีความพยายามออกกฎหมายห้ามการซื้อขายอาวุธปืน แต่ก็ถูกปัดตกไปในขั้นตอนการลงประชามติ ประชาชนไม่ให้การรับรอง นอกจากนี้แทบทุกประเทศในลาตินอเมริกาก็ประสบปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไปทั่วเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในเม็กซิโก มีการลอบฆ่าอะกุสติน ปาเวีย ปาเวีย (Agustín Pavia Pavia) ช่วงเดือนกันยายน 2016 ที่เมืองวาฆัวปัน เด เลออน (Huajuapan de León) รัฐวาฆากา (Oaxaca) ปาเวียเป็นสมาชิกคนที่ 5 ของกลุ่มเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชื่อว่า Movimiento Regeneración Nacional (National Regeneration Movement หรือเรียกโดยย่อว่า MORENA) ที่ถูกฆ่าตายในปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ในบางกรณีเราพบเช่นกันว่าอาชญากรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาพร้อมๆ กับการเดินหน้ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เร่งด่วนอย่างยิ่งต่อรัฐเพราะอาจทำให้ประชาชนตั้งแง่กับการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้ อาจเกิดคำถามว่าจริงๆ แล้วประชาธิปไตยตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยให้กับพวกเขาหรือไม่นั่นเอง โดยต้นตอสำคัญของปัญหาความรุนแรงในลาตินอเมริกาก็คือปัญหาการค้ายาเสพติด และในบางประเทศอย่างเช่นเม็กซิโกและโคลอมเบีย ปัญหาการค้ายาเสพติดถือว่าเป็นสาเหตุหลักที่นำมาซึ่งการละเมิดกฎหมายด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

สภาพสังคมที่ปัญหาอาชญากรรมอยู่ในระดับสูงและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพเอื้ออำนวยให้องค์กรหรือบุคคลนอกกฎหมายทั้งหลายได้ถือกำเนิดและแผ่ขยายอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดก็ดี แก๊งอาชญากรก็ดี รวมทั้งกลุ่มกองโจร (guerrilla) มีหลายต่อหลายครั้งมากที่แก๊งค้ายา (cartel) ในประเทศอย่างเช่นเม็กซิโกและโคลอมเบียสามารถควบคุมเหนือพื้นที่ขนาดมหึมาในประเทศได้ ซ้ำยังอาจมีอิทธิพลมากถึงขนาดสามารถชักใยอยู่เหนือการเมืองระดับชาติได้อีกด้วย เงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดจำนวนไม่น้อยมักไปตกอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐในรูปแบบเงินใต้โต๊ะที่ให้เป็น ‘ค่าตอบแทน’ ในการช่วยแก๊งค้ายากระทำการต่างๆ

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือประเทศฮอนดูรัส ในเดือนเมษายน 2018 คณะปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนพิเศษที่ประกอบด้วยทหารและตำรวจบุกเข้าค้นศูนย์บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคนอยู่เบื้องหลังการสังหารหัวหน้าสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและผู้ช่วย ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งสองเป็นคนที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาลและพวกค้ายาเสพติดนั่นเอง การที่กลุ่มนอกกฎหมายมีอำนาจสามารถควบคุมสถาบันต่างๆ ระดับชาติได้เช่นนี้ ทำให้เราต้องหวนกลับมาคิดว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติของอำนาจรัฐในลาตินอเมริกาเป็นเช่นไร รัฐมีอำนาจควบคุมและปกป้องสิทธิทางการเมืองและสังคมของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด

การทุจริต

เมื่อหลักนิติธรรมอ่อนแอ สิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นคือการทุจริตทางการเมือง ซึ่งส่งผลร้ายต่อประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง มีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าประชาธิปไตยย่อมไม่มีทางแข็งแรงฝังรากลึกได้ ถ้าหากบุคคลหรือกลุ่มคนในสังคมยังเชื่อว่าตนจะได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งเสียงสนับสนุนของประชาชนโดยที่ไม่จำเป็นต้องเคารพกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ลักษณะและพฤติการณ์แหกกฎเกณฑ์ของผู้นำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาเช่นนี้ก็ยังคงธำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นเวเนซุเอลาในสมัยประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซ (Carlos Andrés Pérez) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง 2 สมัย (1974–1979 และ 1989–1993) เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งในปี 1989 กระนั้นก็ดีในปี 1993 ประธานาธิบดีคาร์โลส อันเดรส เปเรซถูกฟ้องขับออกจากตำแหน่งเพราะเรื่องการทุจริตเช่นเดิมและโดนไล่ออกในที่สุด หรือแม้แต่ประธานาธิบดีลูลาของบราซิลเองก็เคยถูกกล่าวหาว่าทุจริต

อันที่จริงแล้ว การกล่าวหาว่าประธานาธิบดีกระทำการทุจริตและประพฤติผิดในหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์การเมืองลาตินอเมริกามาโดยตลอด แต่การทุจริตที่ส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเท่านั้น การทุจริตในหมู่ข้าราชการระดับปฏิบัติการหรือในหน่วยงานระดับท้องถิ่นก็ส่งผลเสียต่อวิถีประชาธิปไตยพอๆ กัน มีงานศึกษาของนักวิชาการจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตในลาตินอเมริกาทั้งภูมิภาคมีปัจจัยและได้รับอิทธิพลมาจากหลายทางมาก ดังนั้นข้อสังเกตอย่างง่ายที่มักพูดกันว่าปัญหาการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรม’ แบบลาตินอเมริกาซึ่งฝังรากลึกมาเป็นเวลานานอาจเป็นการกล่าวที่เกินจริงและขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือไปเสียหน่อย

ในหลายๆ กรณี คดีการทุจริตมักเกี่ยวเนื่องกับการที่รัฐรับสินบนกับเอกชนเพื่อแลกกับสัมปทานในการดำเนินงานต่างๆ กรณีเปรูคือตัวอย่างหนึ่ง ในเดือนตุลาคม 2008 คณะรัฐมนตรีทั้งคณะประกาศลาออกเพราะมีการกล่าวหาว่าสมาชิกพรรค Alianza Popular Revolucionaria Americana (American Revolutionary Popular Alliance – APRA) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ณ ขณะนั้น ไปรับสินบนจากบริษัทเอกชนเพื่อแลกกับสัมปทานการขุดเจาะน้ำมัน

นอกจากเรื่องการติดสินบนแล้ว ปัญหาการทุจริตอีกข้อหนึ่งก็มักจะมาจากเรื่องเงินทุนสนับสนุนพรรค ต้องยอมรับว่าอุปสรรคข้อหนึ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเลี่ยงไม่ได้เลยคือเรื่องเงินทุน พวกเขาต้องมีทุนมากพอในการหาเสียงและเข้าถึงประชาชน การแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นๆ จะได้เป็นไปอย่างโดดเด่นและสมน้ำสมเนื้อพอ ด้วยเหตุนี้ การสร้างข้อกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการระดมทุนและจัดการเงินทุนในช่วงหาเสียงของแต่พรรคจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง การหมุนเวียนของเงินทุนสนับสนุนพรรคต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส ในการนี้องค์กรต่อต้านการทุจริตระดับโลก Transparency International และ Carter Center ร่วมมือกันพัฒนาดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมือง จากนั้นก็นำมาปรับใช้ในการศึกษาประเทศในลาตินอเมริกาจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา นิการากัว ปานามา ปารากวัย และเปรู ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 8 ประเทศมีจุดบกพร่องขนาดมหึมาในประเด็นเรื่องระบบการตรวจสอบความโปร่งใสของแหล่งเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองและการหาเสียงจริง ทั้งในแง่ตัวมาตรฐานการตรวจสอบเองและวิธีการจัดการ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน

ทุกๆ ปี Transparency International จะจัดทำรายงาน ‘ดัชนีภาพลักษณ์การทุจริต’ (Corruption Perceptions Index) ซึ่งแสดงผลชี้วัดว่าใน 168 ประเทศ ระดับการรับรู้ถึงปัญหาการทุจริตภายในภาครัฐของประเทศนั้นๆ อยู่ในระดับใด ประเทศในลาตินอเมริกาทำคะแนนได้ไม่ดีนัก มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น (อุรุกวัยและชิลี) ที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ใน 25 ประเทศที่มีภาพลักษณ์ปัญหาการทุจริตน้อยที่สุด ขณะที่อีก 13 ประเทศหล่นไปอยู่ในครึ่งหลังของตาราง ที่มากไปกว่านั้นคือประเทศเฮติกับเวเนซุเอลาติดโผเข้าไปอยู่ใน 10 อันดับประเทศที่มีภาพลักษณ์การทุจริตมากที่สุดในโลกด้วย

‘เครื่องชี้วัดการทุจริตทั่วโลก’ (Global Corruption Barometer) เป็นรายงานผลการสำรวจอีกชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International โดยใช้ข้อมูลจากผลสำรวจมาจัดลำดับภาพลักษณ์การทุจริตในระดับสถาบัน ผลการสำรวจพบว่าในภาพลักษณ์และการรับรู้ถึงการทุจริตในหมู่พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจในลาตินอเมริกาอยู่ในระดับสูงมาก จริงอยู่ที่ปัญหาการทุจริตอาจก่อให้เกิดความเสียหายราคาแพงต่อประเทศ แต่ในบางกรณีวงเวียนการทุจริตก็อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยกรณีน่าสนใจคือเม็กซิโก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ประมาณการณ์ไว้ว่าเม็ดเงินที่สะพัดจากการกระทำการทุจริตอาจคิดเป็นร้อยละ 2-10 ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว

จนถึงที่สุดแล้ว การต่อสู้กับปัญหาการทุจริตในลาตินอเมริกา ณ ปัจจุบัน อาจกำลังเดินมาถึงช่วงที่ผู้กระทำผิดถูกจับมารับผิดเสียที Transparency International ระบุไว้ว่าทั่วทั้งทวีปอเมริกาช่วงปี 2015 เกิดกระแสการต่อสู้กับการทุจริตขึ้นมา 2 กระแสเป็นวงกว้าง อย่างแรกคือการเปิดโปงเครือข่ายการทุจริตขนาดมหึมา และอย่างที่สองคือการที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือประเทศบราซิล นักวิชาการได้ทำการวิเคราะห์พัฒนาการของสถาบันระดับชาติที่ทำหน้าที่เป็นกลไกจัดการความรับผิด (Federal Accountability Institutions) ในบราซิลตั้งแต่ช่วงที่ประเทศเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปี2020 ผลการศึกษาพบว่าสถาบันประเภทดังกล่าวค่อยๆ พัฒนาดีขึ้นมากตามลำดับ

กล่าวโดยสรุป การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยของลาตินอเมริกายังมีอุปสรรคจำนวนไม่น้อยที่ขวางกั้นอยู่ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมและการทุจริต ดังนั้นผู้นำรัฐบาลแต่ละประเทศในลาตินอเมริกาจะต้องผลักดันให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว หาไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาย่อมสั่นคลอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save