fbpx

ฟ้องคดีแบบกลุ่ม: ความยุติธรรมที่ผู้บริโภคไม่อาจเอื้อมถึง

ผู้ขายไม่ส่งของ โดนโก่งราคา ซื้อของมาแล้วไม่ตรงปก เมื่อประสบปัญหาเหล่านี้ ทางเลือกของผู้บริโภคในการทวงถามความยุติธรรมและค่าชดเชยความเสียหาย นอกจากไปฟ้อง สคบ. คือ การฟ้องคดีผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งการฟ้องคดีผู้บริโภครายบุคคล ที่ปรากฏยอดสูงกว่า 8.6 แสนคดีในปี 2021 และการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการฟ้องคดีในอุดมคติของทางศาลและผู้เสียหาย เนื่องจากการฟ้องคดีแบบกลุ่มนี้จะนำไปสู่การลดภาระงานของศาล การลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และคุ้มครองผู้เสียหายอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

อย่างไรก็ดี การฟ้องคดีแบบกลุ่มในไทยยังมีปัญหาอีกมากที่รอการแก้ไข 101 PUB ชวนสำรวจอุปสรรคขัดขวางการเข้าถึงกระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มของผู้บริโภค ทำความเข้าใจถึงปัญหาและความล้าหลังของกฎหมาย พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรมโดยถ้วนหน้าและเท่าเทียมอย่างแท้จริง

คดีผู้บริโภคล้นมือ ทางแก้คือการฟ้องคดีแบบกลุ่ม?

การฟ้องคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกระบวนการที่กฎหมายอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเสียหายในเรื่องเดียวกัน โดยตั้ง ‘โจทก์’ เสมือนตัวแทนของผู้เสียหายทั้งหมด (class representative) ที่ต้องการฟ้องคดีและดำเนินกระบวนการทางศาล ผู้เสียหายทั้งหมดจึงไม่ต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเลยก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายบางรายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอ หรือเห็นว่าเป็นความเสียหายเล็กน้อยมีโอกาสได้รับการคุ้มครองและชดเชย[1] ถือเป็น ‘การฟ้องคดีคนเดียวแต่คุ้มครองทั้งกลุ่ม’

7 ปีที่ผ่านมา มีคดีผู้บริโภคเฉลี่ยถึง 8 แสนคดี/ปี

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองมากขึ้น และเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทำให้การฟ้องคดีสะดวกยิ่งขึ้น ในระยะ 10 ปีหลัง การฟ้องคดีผู้บริโภคในศาลชั้นต้นจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 378,564 คดีในปี 2012 มาเป็น 821,504 คดี ในปี 2022[2] 

จำนวนคดีที่เพิ่มสูงขึ้นในทางหนึ่งหมายถึงภาระหน้าที่ของศาลเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคแยกกันฟ้องเป็นรายคดี  การคิดค่าเสียหายอาจได้รับไม่เท่าเทียมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายก็จะมีเฉพาะผู้ที่ฟ้องเป็นคดี ด้านผู้เสียหายรายอื่นที่เสียหายเหมือนกัน แต่ไม่ได้ฟ้องเป็นคดีความก็จะไม่ได้รับการชดเชย อนึ่ง ถึงแม้ว่าศาลจะสามารถรวมคดีเพื่อพิจารณาได้ แต่ก็ยังไม่ทำให้จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลลดลง ซ้ำยังเพิ่มขึ้นด้วย 

โดยหลักการ ‘ฟ้องแบบกลุ่ม’ คุ้มครองได้ทั่วถึง-เท่าเทียม

ในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่มตั้งแต่ปี 2002[3] โดยมีต้นแบบจาก Federal Rules of Civil Procedure (FRCP) Rule 23 ของสหรัฐอเมริกา[4] และมีความพยายามนำเรื่องนี้มาพิจารณาในสภาผู้แทนฯ ในช่วงปี 2011 น่าเสียดายที่ร่างกฎหมายฉบับนั้นต้องตกไปเนื่องจากยุบสภา[5] แต่ท้ายที่สุดแล้วความพยายามเพิ่มการฟ้องคดีแบบกลุ่มในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็สำเร็จในปี 2014 

การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม ไม่ใช่แค่การลดจำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ชั้นศาล แต่ยังเป็นการช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแม้จะเป็นความเสียหายเล็กน้อยด้วย 

  • ผู้เสียหายไม่ต้องฟ้องเป็นคดีเองทุกคน แต่ให้ตัวแทนผู้เสียหายเป็นโจทก์ ซึ่งก็ทำให้ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีลดลงไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีก็จะมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมดรับผิดชอบร่วมกัน
  • เมื่อมีการฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม บุคคลที่ได้รับการชดเชยจึงไม่ใช่แค่โจทก์ แต่เป็นผู้เสียหายทั้งหมดที่เสียหายแบบเดียวกัน
  • จากการที่ฟ้องคดีรวมกันเป็นคดีเดียว คำตัดสินของศาลก็ย่อมมีคำตัดสินเดียว ทำให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยที่เท่าเทียมกัน

ต้องให้ศาลพิจารณาก่อนว่าเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่

หลักการฟ้องคดีแบบกลุ่มข้างต้นเป็นเพียงหลักการเชิงทฤษฎี ในความเป็นจริงยังมีความยุ่งยากอีกหลายประการที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม

ศาลใช้เวลานานเกินควร ในการพิจารณาว่า ‘เป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่’

ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น ใช่ว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วศาลจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มทันที แต่ต้องทำคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ และในขั้นตอนนี้ ศาลจะเปิดโอกาสให้คู่ความโต้แย้งกันเพื่อแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าเหตุใดศาลจึงต้องรับหรือไม่รับเป็นคดีที่พิพาทกันอยู่เป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งยิ่งทำให้ใช้ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรมยาวนานมากขึ้น

ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ผ่านมา อาทิ คดีที่ผู้บริโภคฟ้องต่อบริษัท Mazda และพวก เนื่องจากได้รับรถยนต์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ศาลใช้เวลา 2 ปีในการตัดสินว่าจะรับคดีดังกล่าวเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่[6] การรับเป็นคดีแบบกลุ่มกรณีการโฆษณาเกินจริงของกระทะโคเรียคิงก็ใช้เวลาถึง 5 ปี [7] เป็นต้น สาเหตุที่ทั้ง 2 คดีใช้ระยะเวลานานก็เนื่องมาจากการที่ศาลเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้งกันตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลอุทธรณ์[8] โดยในคดี Mazda ข้างต้นพบว่าเดิมศาลชั้นต้นจะไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่ผู้บริโภคที่เสียหายโต้แย้งไปยังศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม[9] แต่ในคดีของกระทะโคเรียคิงนั้นตรงข้ามกับคดี Mazda อย่างสิ้นเชิง โดยพบว่าศาลชั้นต้นนั้นรับไว้เป็นคดีแบบกลุ่มแต่แรก แต่เนื่องจากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาล จึงได้โต้แย้งไปยังศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม 

หลักเกณฑ์ของศาลไม่แน่นอน

นอกจากการพิจารณาว่าเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ของศาลจะกินระยะเวลานานแล้ว การวินิจฉัยของศาลยังมีความไม่แน่นอนด้วย กรณีตัวอย่างเช่นการฟ้องค่ายโทรศัพท์ 3 ค่ายใหญ่ (ในขณะนั้น) คือ TRUE DTAC และ AIS เรื่องการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาที ซึ่งทั้ง 3 คดียื่นฟ้องพร้อมกันด้วยความเสียหายเดียวกัน ต่างกันแค่จำเลยทั้ง 3 เท่านั้น แต่ผลของการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ของศาลนั้นไม่เหมือนกันเลย

  • ในคดีของ TRUE ได้มีการไกล่เกลี่ยกันนอกชั้นศาลในช่วงเดือนมิถุนายน 2019[10]โดยทางผู้ให้บริการยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหาย คดีจึงจบไป
  • ในคดีของ AIS ศาลชั้นต้นรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่ในวันที่ 3 สิงหาคม 2021 อุทธรณ์ตัดสินไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยศาลอ้างว่า ‘การดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นไม่ได้ให้ความเป็นธรรมและไม่ได้มีประสิทธิภาพไปมากกว่าการดำเนินคดีทั่วไป นอกจากนี้ยังกล่าวเลยไปถึงการคำนวณค่าเสียหายที่ผู้เสียหายร้องขอต่อศาลว่าไม่ได้มีหลักการและวิธีการคำนวณที่แน่นอน โดยศาลกล่าวว่าผู้เสียหายต้องเป็นผู้ชี้แจงว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีทั้งหมดเท่าไร หากดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภคทั่วไป ภาระหน้าที่นี้จะเป็นของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้เสียหายมากกว่า และที่สำคัญ ศาลให้เหตุผลที่ไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่มว่าผู้ให้บริการมีการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีเป็นโปรโมชั่นหนึ่ง และผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือเปลี่ยนไปใช้ค่ายโทรศัพท์อื่นได้ตลอดเวลา’[11]
  • และสุดท้าย คดีของ DTAC ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2021 ศาลอุทธรณ์ก็ยืนยันคำตัดสินของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่าการคิดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถคิดเหมือนกันได้ เนื่องจากผู้เสียหายบางคนได้รับส่วนลดจากผู้ประกอบการ และศาลต้องพิจารณาผู้ใช้บริการที่มารวมตัวกันฟ้องรายบุคคลว่าได้ถูกกระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจริงหรือไม่ และค่าเสียหายของผู้เสียหายแต่ละรายเป็นเท่าไร และสุดท้ายศาลก็ยังคงยืนยันว่า ‘การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ’[12]

ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ศาลใช้หรือคำตัดสินของศาลจะเห็นว่าขาดทั้งความรวดเร็วและความแม่นยำ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบยุติธรรมไทยที่ใช้การศึกษาคำตัดสินจากฎีกาก่อนหน้า เมื่อเกิดกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ๆ ศาลจึงขาดหลักพิง ซ้ำยังไม่มีคู่มือในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ศาล ศาลจึงต้องอาศัยการตีความเอง

นอกจากนี้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มในการดำเนินกระบวนพิจารณา เนื่องจากการดำเนินคดีแบบกลุ่มใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหาอย่างคดีแพ่งปกติ จึงต้องการผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือ แต่ในปี 2022 กลับพบว่ายังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มเลย แต่อาศัยเจ้าพนักงานคดีผู้บริโภคมาช่วยในกระบวนพิจารณา[13]

การเริ่มพิจารณาคดีแบบกลุ่มมีต้นทุนสูง

เมื่อศาลรับคดีใดเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาให้ศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง[14] ซึ่งเงินค่าใช้จ่ายเหล่านั้น โดยหลักแล้วเป็นค่าใช้จ่ายในการประกาศรับเป็นคดีแบบกลุ่มของศาลลงหนังสือพิมพ์ และค่าส่งคำตัดสินของศาลให้แก่ผู้เสียหายในกลุ่มนั้น ซึ่งเงินทั้งสองส่วนนี้ เมื่อลองนำมาคำนวณในกรณีที่มีผู้เสียหาย 20 คน และการประกาศลงหนังสือพิมพ์ใช้เงิน 33,000 บาท/วัน ก็จะรวมเป็นเงินถึง 106,000 บาท 

จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนมากที่โจทก์ต้องนำมาให้ศาลนั้น เป็นค่าประกาศลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งการคิดค่าประกาศลงหนังสือพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ที่ใช้และบริเวณที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ด้วย กล่าวคือ ยิ่งใช้พื้นที่ในการประกาศมาก ก็ยิ่งเป็นภาระต่อโจทก์มาก และในทางปฏิบัติก็พบว่าการประกาศเรื่องนี้ลงหนังสือพิมพ์ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งขัดต่อหลักการของการฟ้องคดีแบบกลุ่มที่ต้องการลดภาระทางการเงินของผู้เสียหาย ดังที่ปรากฏในภาพ

ภาพแสดงตัวอย่างการประกาศลงหนังสือพิมพ์เมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่ม
ที่มาภาพ Facebook ฮั่นมิน หลิน

การที่กฎหมายกำหนดให้ประกาศลงหนังสือพิมพ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรับรู้รับทราบนั้น เป็นเรื่องที่ดีในช่วงเวลาที่การฟ้องคดีแบบกลุ่มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร (ปี 2011) ซึ่งในขณะนั้นสื่อออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาวะสังคมในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ไม่ใช่เรื่องที่ตอบโจทย์ของการประกาศสู่สาธารณะอีกต่อไป การประกาศลงหนังสือพิมพ์จึงไม่ใช่แค่ภาระทางด้านการเงินของโจทก์ แต่ยังแสดงถึงความล้าสมัยของกฎหมายอีกด้วย

ถึงแม้ว่าในปี 2016 จะมีการออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา เพื่อให้เผยแพร่คำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในพื้นที่อื่น เช่น ปิดประกาศไว้ที่ศาล หรือเว็บไซต์ของศาลหรือสำนักงานศาลยุติธรรม หรือวิธีการอื่นใดตามที่เห็นสมควรแล้ว[15] แต่การประกาศลงหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำเนื่องจากถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และต่อให้ศาลจะไม่ได้กำหนดว่าเงินที่โจทก์ต้องนำมาให้ศาลในครั้งแรกต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ศาลต้องใช้ แต่หากเงินที่นำมาวางต่อศาลไม่เพียงพอ ศาลก็จะเรียกให้นำเงินมาวางเพิ่ม[16]

หากผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ไม่นำเงินค่าใช้จ่ายมาวางต่อศาลก็จะมีผลเสียตามมา กล่าวคือ หากไม่นำเงินมาวางต่อศาลภายใน 7 วันแรก ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินคดีแบบกลุ่ม และให้ดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีปกติ ในกรณีที่ศาลสั่งให้นำเงินมาวางเพิ่มก็อาจส่งผลร้ายกว่านั้น คือศาลจะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์นั้นทิ้งฟ้อง[17] และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาลต่อไป ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มคนอื่นเข้ามาแทนที่โจทก์ในกรณีทิ้งฟ้องก็ได้[18]

นอกจากค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาให้ศาลตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การฟ้องคดีก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเช่นเดียวกับการฟ้องคดีแบบทั่วไป อาทิ ค่าปรึกษาทนาย ค่าเดินทางไปศาลก่อนที่ศาลจะรับเป็นคดีแบบกลุ่ม แต่การพิจารณาคดีแบบกลุ่มที่ใช้ระยะเวลานาน รวมถึงการเปิดโอกาสให้คู่ความได้โต้แย้งกัน ย่อมนำมาสู่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าศาลต้องรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ค่าใช้จ่ายแฝงเหล่านี้ก็เป็นต้นทุนที่โจทก์ต้องแบกรับภาระไว้ก่อนด้วย

อนึ่ง หากผู้เสียหายรวมตัวกันได้น้อยในตอนแรก ค่าใช้จ่ายของโจทก์เฉลี่ยต่อรายก็จะสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าประสงค์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล การจะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอจำต้องรวมผู้เสียหายให้ได้จำนวนมากเพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายให้ถูกลง แต่การจะรวมผู้เสียหายให้ได้กลุ่มใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากประเทศไทยเองก็ยังขาดศูนย์กลางที่คอยประสานและรวมตัวผู้เสียหายไว้ด้วยกัน

ผู้เสียหายขาดระบบประสานงานในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

หากผู้เสียหายรวมตัวกันได้มาก ไม่ใช่แค่เรื่องภาระค่าใช้จ่ายรายบุคคลเท่านั้นที่จะลดลง แต่พื้นที่ในการกระจายข่าวเรื่องการฟ้องคดีก็จะมากขึ้นด้วย เพียงแต่ในประเทศไทย การรวมตัวผู้เสียหายยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่มีศูนย์กลางที่จะทำระบบนี้ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ผู้เสียหายพลาดโอกาสตั้งแต่การเริ่มเป็นสมาชิกกลุ่มผู้เสียหายเพื่อติดตามการฟ้องคดี ไปจนถึงการรับเงินค่าชดเชยก็ได้ 

ผู้เสียหายไม่ทราบถึงการรวมตัวกันฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทำให้มีผู้เสียหายตกหล่นและไม่ลดจำนวนคดีในศาล

การรวมตัวผู้เสียหายแบบออนไลน์นั้นเกิดขึ้นเฉพาะบางกรณีที่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคช่วยเหลือเท่านั้น และยังเป็นการรวมตัวที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ไม่ใช่การรวมตัวตั้งแต่เริ่มกระบวนการแต่อย่างใด 

ตัวอย่างแบบฟอร์มการลงชื่อร่วมเป็นผู้เสียหายในคดี Mazda 2 จัดทำโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค

เมื่อไม่มีศูนย์กลางในการกระจายข่าวสาร ก็นำไปสู่กรณีที่ผู้เสียหายบางรายไม่ทราบเรื่องการรวมตัวกันฟ้องคดีแบบกลุ่มแต่แรก และแยกไปฟ้องเป็นคดีเอง จริงอยู่ที่การฟ้องคดีในปัจจุบันนั้นทำได้ง่ายดายและสะดวกมากขึ้น เพียงแต่การฟ้องคดีเองก็เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับผู้เสียหาย ทั้งในเรื่องเวลาและเงิน การได้รับเงินชดเชยก็อาจจะได้รับไม่เท่ากับผู้เสียหายที่รวมกันฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม นอกจากนี้ การที่ผู้เสียหายหลายรายไม่ทราบถึงการรวมตัวกันฟ้องคดีและแยกไปฟ้องคดีเอง ย่อมทำให้คดีในศาลนั้นมีจำนวนมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว การกล่าวว่าการนำกระบวนการพิจารณาคดีแบบกลุ่มมาใช้จะทำให้คดีในศาลลดลงก็ไม่เกิดขึ้นจริง

องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคช่วยเป็นโจทก์ได้ยาก ทำให้พยานหลักฐานในชั้นศาลมีน้ำหนักน้อยกว่า

การจะเป็นโจทก์ในการฟ้องคดีแบบกลุ่มนั้น กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติสำคัญไว้ว่าโจทก์ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มที่มีทั้งคุณสมบัติในการเป็นโจทก์ ซึ่งหมายถึงตัวแทนในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม มีส่วนได้เสียในความเสียหายของสมาชิกกลุ่ม และสุดท้ายคือต้องได้สิทธิในการเป็นสมาชิกกลุ่มมาโดยชอบ[19] ถ้าหากต้องการให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมาช่วยเป็นโจทก์ให้ เพื่อให้คำร้องและพยานหลักฐานมีน้ำหนักมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ศาลต้องตีความว่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคนั้นสามารถเป็นโจทก์ได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้โดยตรง 

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี การให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์แทนผู้เสียหายในคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจไว้[20]

การประกาศให้รับค่าชดเชยขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผู้เสียหายบางรายอาจไม่ทราบและไม่ได้รับค่าชดเชย

จากคำพิพากษาคดี Mazda 2 ที่ปรากฏในสื่อ พบว่าศาลได้พิพากษาให้การจ่ายเงินชดเชยนั้นเป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องดำเนินการเอง โดยศาลจะกำหนดเพียงระยะเวลาที่ผู้เสียหายสามารถรับเงินชดเชยได้เท่านั้น ซึ่งการที่ผู้เสียหายต้องติดตามจากผู้ประกอบการเอง นั่นอาจทำให้การได้รับค่าชดเชยไม่ทั่วถึง 

ในสหรัฐอเมริกาการรับเงินชดเชยจากการฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มได้มีการรวบรวมไว้เป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังระบุถึงคดีที่ยังมีการเปิดให้รับเงินชดเชย คดีที่จบไปแล้ว และคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการของศาลด้วย  

ตัวอย่างเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการรับเงินชดเชยในการฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในสหรัฐอเมริกา

นอกจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การขาดการประสานงานระหว่างผู้เสียหายยังมีผลอื่นที่ตามมาด้วย เช่น ผู้เสียหายไม่ทราบเรื่องการนัดไต่สวนหรือนัดสืบพยาน ผู้เสียหายไม่ทราบความคืบหน้าของคดี ไปจนถึงเรื่องที่กฎหมายกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ เช่น การกำหนดวันเพื่อให้สมาชิกแจ้งความประสงค์ออกจากกลุ่มตามประกาศที่ต้องส่งให้สมาชิกกลุ่มเท่าที่ทราบเมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว[21] ซึ่งหากขาดการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกกลุ่มก็จะออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น[22] ซึ่งหากมีแพลตฟอร์มกลางเพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สมาชิกทราบถึงความคืบหน้าในคดีแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อโจทก์และสมาชิกกลุ่มในส่วนการติดต่อประสานงานไปจนถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในกระบวนพิจารณาคดีด้วย

พัฒนาการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ขยายความคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค

1.ทำให้หลักเกณฑ์การรับคดีแบบกลุ่มของศาลชัดเจน

จากการที่ศาลไม่มีคู่มือการดำเนินงานหรือระเบียบการรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ทำให้การพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ใช้เวลานานและไม่มีความแน่นอน หากมีระเบียบคู่มือให้ศาลปฏิบัติเพื่อให้ศาลเกิดความเข้าใจเรื่องของคดีแบบกลุ่มมากขึ้น การพิจารณาคดีของศาลก็จะใช้เวลาน้อยลงและมีความแน่นอนมากขึ้น ไม่ต้องรอให้มีการตัดสินคดีก่อนหน้าเพื่อเป็นหลักให้ศาล

นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดขอบเวลาที่ชัดเจนในการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีแบบกลุ่มหรือไม่ เพื่อป้องกันการโต้แย้งซึ่งใช้เวลานานของโจทก์และจำเลย และเพื่อให้การพิจารณาคดีในขั้นต่อไปสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น และในทางที่ดีที่สุด ศาลก็จะไม่เกิดคดีค้างปีด้วย 


2.ทำให้ผู้เสียหายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายจะกำหนดให้สามารถประกาศในสื่อออนไลน์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ แต่การลงหนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นสิ่งที่โจทก์ต้องทำเนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น ควรแก้ตัวบทกฎหมายให้การประกาศลงหนังสือพิมพ์เป็นทางเลือกหนึ่งมากกว่าบังคับให้โจทก์ต้องทำ ทั้งนี้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องนำไปให้ศาลเมื่อศาลรับเป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว และเพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาวะทางสังคมในปัจจุบันด้วย 

ด้านหนึ่ง การที่กฎหมายกำหนดให้โจทก์มีเวลารวบรวมเงินเพื่อนำไปให้ศาลแค่ 7 วันนั้นเป็นเวลาที่น้อยเกินไป ส่งผลให้การจะฟ้องคดีผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร และยังทำให้ผู้เสียหายในกรณีอื่นที่มีทุนทรัพย์น้อยไม่กล้ารวมตัวกันไปฟ้องคดีต่อศาล ดังนั้น หากเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์มีเวลารวบรวมทั้งเงินมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยเหลือโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนั้นๆ และยังทำให้ผู้เสียหายในคดีอื่นที่กำลังจะเริ่มฟ้องคดีมีความกล้าฟ้องคดีมากขึ้นแม้ทุนทรัพย์จะน้อย 

3. จัดทำระบบรวบรวมผู้เสียหาย

การรวบรวมผู้เสียหายที่ไม่เป็นระบบทำให้ผู้เสียหายขาดโอกาสได้รับการชดเชย และยังทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างผู้เสียหายในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการมีแพลตฟอร์มกลางจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงในการตกหล่นของผู้เสียหาย เพิ่มโอกาสให้ผู้เสียหายและบุคคลภายนอกได้เข้ามาเห็นความคืบหน้าของคดี และยังทำให้การประกาศรับเงินค่าชดเชยไม่ไปตกเป็นภาระของผู้ประกอบการที่แพ้คดี แต่เป็นภาระของรัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มของไทยโดยเฉพาะในคดีผู้บริโภคต้องเปิดช่องให้องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนด้วย ด้วยเหตุนี้ ไม่เพียงแค่พยานหลักฐานจะมีน้ำหนักมากขึ้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในทุกกระบวนการด้วย

References
1 การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ตามข้อเสนอร่างแก้ไขวิธีพิจารณาความแพ่ง”, iLaw, มกราคม 30, 2015, สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566.
2 หนังสือรายงานสถิติคดีของศาลยุติธรรมแยกตามปีพุทธศักราช, สำนักงานศาลยุติธรรม.
3 มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มกราคม 2545.
4 นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ , “ “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม”: ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มของไทยและบทบาท “ใหม่” ของศาล”, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 , มิถุนายน, 2011,  
5 ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566.
6 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม”, 28 เมษายน 2563, สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566.
7 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ผู้บริโภคเฮ! ศาลสั่งรับ “คดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง” เป็นคดีกลุ่ม โดยกำหนดเงื่อนไขให้เฉพาะกลุ่มที่ซื้อกระทะภายใน 17 พ.ค. 60 และยังไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย”, 25 กุมภาพันธ์ 2565 สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566.
8 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคสาม ตอนท้าย.
9 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “เฮ! ศาลอุทธรณ์ รับ คดี ‘มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ – ดีเซล’ เป็นคดีกลุ่ม”, 28 เมษายน 2563, สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2566.
10 โสภณ หนูรัตน์, สัมภาษณ์, 28 สิงหาคม 2023.
11 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “คดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม แจงไม่ระบุวิธีคำนวณค่าเสียหายตามเงื่อนไข”, 18 สิงหาคม 2564 สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566.
12 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), “ซ้ำรอยเดิม! ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม คดีฟ้องกลุ่มดีแทค คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที”, 3 พฤศจิกายน 2564,  สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2566.
13 จิณณะ แย้มอ่วม, “ทนายความกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มภาคปฏิบัติ”, เอกสารประกอบงานสัมมนา“ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายในตลาดทุน (Class Action)” โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, 18 กรกฎาคม 2565,  สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2566. 
14 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคแรก.
15 ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 ข้อ 29
16 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคท้าย.
17 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/14 วรรคท้าย.
18 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/25.
19 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/12 วรรคแรก (5).
20 จุฑามาศ วัฒนะศิริขจร “ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีผู้บริโภค”, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 9 มีนาคม 2555.
21 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/15.
22 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/16 วรรคสอง.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save