fbpx

ลดไขมันส่วนเกินรัฐไทย ตั้งหลักใหม่ให้ภาคธุรกิจไทยแข่งขันอย่างเท่าเทียม

เศรษฐกิจไทยยังคงซบเซา เมาหมัดจากมรสุมวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ตัวเลขทางเศรษฐกิจชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง หนำซ้ำยังมีโรคเรื้อรังอย่างความเหลื่อมล้ำและกับดักรายได้รายปานกลางที่กัดกร่อนภายในมานานนับสิบปี

‘ต้นตอ’ สำคัญของการถดถอยของศักยภาพเศรษฐกิจไทยคือ การผูกขาดและบทบาทของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน การ ‘รื้อโครงสร้างตลาด’ เพื่อผ่าตัดเศรษฐกิจไทย จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นยิ่งของการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สกนธ์ วรัญญูวัฒนา อดีตประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และสาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Wisible เปิดวง ‘ปฏิรูปตลาดหรือระบบรัฐไทย ให้ภาคธุรกิจไปต่อได้’ เพื่อถกปัญหาภาพใหญ่ทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงทัศนคติที่ส่งผลต่อการเติบโตของภาคธุรกิจไทย และตั้งหลักใหม่ให้เป็นประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

ลดขนาด-บทบาท-อำนาจรัฐไทย: บรรยง พงษ์พานิช

“ค่อนข้างชัดนะครับว่าประเทศไทยเราไม่บรรลุเป้าหมายในด้านเศรษฐกิจ ไม่อยากจะพูดว่าล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ” บรรยงเปิดบทสนทนาด้วยการสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจไทยพร้อมกับขยายว่า ‘เศรษฐกิจ’ สามารถพิจารณาได้ใน 3 มิติ มั่งคั่ง-ทั่วถึง-ยั่งยืน

มิติมั่งคัง เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา เหลือเพียงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และขึ้นชื่อว่าติดกับดักรายได้ปานกลางมานับ 20 ปี ขณะที่มิติทั่วถึง บรรยงในฐานะทำงานคลุกคลีในแวดวงธนาคารชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่คุณภาพทรัพย์สินลูกหนี้ครัวเรือนตกต่ำอย่างมากกลับกันอภิมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ (บิลเลียนแนร์) ที่มีอำนาจผูกขาดของไทยมีจำนวนใกล้เคียงกับบิลเลียนแนร์อิตาเลียน ทั้งที่เศรษฐกิจไทยมีขนาดเพียงหนึ่งในห้าของฝรั่งเศส อีกทั้งบางบิลเลียนแนร์ไทยยังมีทรัพย์สินมากกว่าบิลเลียนแนร์อิตาเลียน ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดพบว่าบิลเลียนแนร์ไทยส่วนใหญ่จะค้ากับรัฐไทย เป็นธุรกิจที่มีอำนาจรัฐช่วยปกป้องการแข่งขันได้ส่งผลให้เกิดการผูกขาด ขณะที่บิลเลียนแนร์อิลาเลียนส่วนใหญ่จะทำการค้ากับโลก

สุดท้าย มิติยั่งยืน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่กลับไปในระดับก่อนการเกิดโควิด-19 ขณะที่เวียดนามสามารถฟื้นตัวได้ภายในปีเดียว

“กลับมาพูดถึงเรื่องโครงสร้าง ผมพูดทุกครั้งว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่หลักไม่ค่อยชัด ว่าเราจะเป็น ‘ตลาดนิยม’ ทุนนิยมที่อัตราการแข่งขันนําหรือ ‘รัฐนิยม’ ให้รัฐนํา แม้แต่เอกชนพอเกิดอะไรขึ้นเราก็หวังพึ่งรัฐอย่างเดียว แต่ในความเชื่อของผม โครงสร้างที่สำคัญที่สุดที่บิดเบือนทุกอย่างคือโครงสร้างรัฐไทยที่มันใหญ่เกินไป เวลาบอกว่าใหญ่เกินไป ขนาด-บทบาท-อำนาจ ใหญ่เกินทั้ง 3 อย่าง” บรรยงกล่าว

บรรยงเอ่ยว่าเคยถกกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเรื่องขนาดของรัฐไทย ซึ่งคุณอภิสิทธิ์แย้งว่างบประมาณของประเทศไทยมี 25% ขณะที่ประเทศยุโรปหลายแห่งมีงบประมาณถึง 50% แต่บรรยงให้รายละเอียดว่างบของต่างชาติ 85% เป็นงบประมาณแบบ redistribution จัดสรรและเป็นสวัสดิการ ขณะที่งบประมาณไทย 80% ใช้กับค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ (Operation) อีกทั้งจำนวนข้าราชการไทยมี 2.2 ล้านคน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า 2 เท่า มีจำนวนข้าราชการ 5 แสนคน เห็นชัดเลยว่าระบบราชการไทยมีขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้นักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งมักจะได้รับยกเว้นพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า

“ถ้านับรวมทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจมีรวมกัน 20 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นก็แปลว่าเราเอาทรัพยากรจำนวนมากไปบริหารภายใต้ระบบของรัฐและต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาเกณฑ์เต็มไปหมด” บรรยงกล่าวและเสริมว่าด้วยขนาดที่ใหญ่ก็ทำให้บทบาทและอำนาจของรัฐที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายและใบอนุญาตจำนวนมากที่ขัดขวางการทำงานของตลาด บรรยงชี้ว่า 7 ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนโครงการกิโยตินกฎหมาย (Regulatory Guillotine) ละหรือปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่างเกาหลีและเอสโตเนียเผยว่าผู้นำไม่เข้าใจในทางบริหาร ขาดสิ่งที่เรียกว่า tone from the top

เมื่อขยับบทสนทนามาพูดถึงการปฏิรูปตลาด บรรยงให้ความเห็นว่าการปฏิรูปทุกอย่างมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ หากมีการปฏิรูปที่ดีจะตามมาด้วยการกระจายผลประโยชน์สู่คนทุกคนจนแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คนเสียประโยชน์จะเห็นได้ชัดจนลุกขึ้นมาแสดงออกถึงความไม่พอใจ

“ผมยกตัวอย่างการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่พยายามทำ แต่ในที่สุดไม่สำเร็จ เพราะผู้นําไม่เข้าใจ ผมบอกได้เลยใครไม่ชอบการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจบ้าง นักการเมืองไม่ชอบ ข้าราชการก็ไม่ชอบ เพราะอำนาจหดหาย ผู้บริหารก็ไม่ชอบ เพราะว่าเดิมผูกขาด ทำอะไรก็ง่าย พนักงานยิ่งไม่ชอบใหญ่ สหภาพยิ่งไม่มีใครชอบเลย เพราะเดิมจะเช้าชามเย็นสองชามไม่มีใครว่า แต่ถ้าผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพเมื่อไหร่ มันเหนื่อย ซัพพลายเออร์ตัวใหญ่ยิ่งไม่ชอบ เดิมเซ็นแก๊กหนึ่งก็เป็นอภิมหาเศรษฐีแล้ว” บรรยงกล่าว

ต่อมาบรรยงให้ความเห็นประเด็นการแข่งขันทางการค้าใน 2 มิติ ทั้งในด้านการกำกับดูแล และลักษณะของการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทย สำหรับการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแล (regulators) เพราะภาคเอกชนมีความต้องการที่จะผูกขาด เพื่อให้ได้กำไรที่มากที่สุดและไม่ใช่ความผิดของภาคธุรกิจ โดยการผูกขาดมีที่มาหลายรูปแบบ ทั้งการผูกขาดจากการคิดค้นนวัตกรรม เช่น ไมโครซอฟท์ Apple หรือการผูกขาดจากการมีประสิทธิภาพ สามารถกดต้นทุนให้ต่ำลงและมีสินค้าที่ตลาดต้องการ อย่างไรก็ดีบรรยงเตือนว่ากลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ผู้กำกับดูแลจะต้องระวัง เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมีประสิทธิภาพมากเกินไปอาจจะนำไปสู่การกีดกันการแข่งขันและทำให้ตลาดบิดเบือน

“วันก่อนผมไปฟังพระที่ดีมาก มีคนฟังเยอะ ท่านบอกการแข่งขันนํามาซึ่งความทุกข์จะแข่งกันทำไม ร่วมมือกันดีกว่า โถ ผมก็ถามว่า ‘แปลว่าให้ฮั้วใช่ไหมครับ?’ ท่านก็เลยเลิกคุยกับผม ในแง่ของการตลาด ถ้าร่วมมือฟากเดียวกันแปลว่าฮั้ว อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งคือวัฒนธรรมของเราไปรังเกียจการแข่งขัน ซึ่งมันฝืนกับวัฒนธรรมตลาด” บรรยงกล่าวถึงทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในประเทศไทยที่หลบเลี่ยงการแข่งขัน นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทยยังมีลักษณะของชาตินิยม กล่าวคือมีการกำหนดให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย เช่น ในแวดวงธนาคาร โทรคมนาคม การเดินอากาศและการเดินเรือที่ทำการค้ากับหน่วยงานรัฐไทยจะต้องมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทย บรรยงชวนตั้งคำถามว่าการทำธุรกิจเช่นนี้มีคนไทยกี่คนที่สามารถทำได้ คลับคล้ายกับการปกป้องเจ้าสัวบนต้นทุนที่ผู้บริโภครับรอง

บรรยงทิ้งท้ายด้วยการฝากโจทย์ไปถึงนักวิชาการว่าดัชนีชี้วัด (index) 5 ตัว ได้แก่ ดัชนีความมั่งคั่ง ดัชนีการกระจายรายได้ ซึ่งใช้ดัชนีจีนี แต่ก็มีปัญหาพอสมควร ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index) และดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันจะพบว่าประเทศที่ติดอันดับด้านบนจะเป็นรายชื่อที่คล้ายคลึงเดิม “สำหรับผมมันคือเงื่อนไขทางสถาบัน ทางโครงสร้างที่เราควรจะมุ่งปรับปรุงนะครับ” บรรยงเอ่ย

ผลักดันนโยบายทางการค้า-หน่วยงานกำกับดูแลต้องยึดโยงกับประชาชน: สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

สกนธ์เกริ่นว่าแม้จะเป็นอดีตประธานกขค. แต่อยากจะเอ่ยในตำแหน่งเป็นนักวิชาการอิสระมากกว่า เนื่องจากส่วนตัวรู้สึกอายที่อยู่ในตำแหน่งแล้วไม่สามารถบังคับให้เกิดการแข่งขันทางการค้าตามเป้าหมายได้ อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งก็ทำหน้าที่และเป็นเสียงข้างน้อยโดยตลอด และจะขอสะท้อนปัญหาที่จะนำไปสู่การรื้อระบบ

ปัจจุบันการผูกขาดทางการค้าและอำนาจเหนือตลาดเป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่สกนธ์สะท้อนถึงความท้าทายในการสื่อสารและสร้างการตื่นตัวถึงผลกระทบของการผูกขาดกับประชาชน ซึ่งแตกต่างจากประชาชนในยุโรป ออสเตรเสียหรือสหรัฐอเมริกาจะเห็นภาพชัดเมื่อพูดถึงการแข่งขัน นอกจากนี้สกนธ์ยังสะท้อนจุดอ่อนของกฎหมายแข่งขันทางการค้า

สกนธ์เจาะลึกถึงตัวกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ฉบับเดิม พ.ศ. 2542 ถูกปรับปรุงใน พ.ศ. 2560 ให้มีบทบาทและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ถือเป็นกฎหมายสำคัญในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีช่องโหว่ที่สำคัญ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค

“ถ้าเทียบหน่วยงานกำกับดูแล 7 หน่วยงานในบ้านเราและกฎกติกาภาคธุรกิจทั้งหลาย กฎหมายแข่งขันทางการค้าเป็นกฎหมายที่ออกมาหลังสุดเลย ทำให้เกิดช่องว่างในการใช้อำนาจของกฎหมาย ยกตัวอย่างการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบังคับกฎหมายแข่งขันทางการค้า มันก็ไม่ได้อยู่ในการดูแลภายใต้กฎหมายนี้อย่างแท้จริง” สกนธ์กล่าวว่าในการบังคับใช้กฎหมายจริง การพิจารณาของกรรมการ กขค. จะแยกเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคออกไปให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตัดตอนดูเฉพาะเรื่องคู่แข่งทางการค้า ถือเป็นข้อจำกัดในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า

 อีกทั้งสำนักงาน กขค. ทั่วโลกจะมีลักษณะจำเพาะคล้ายคลึงกัน อย่าง ความเป็นอิสระ ผู้บังคับกฎหมายแข่งขันจะต้องมีอิสระในการรวบรวมข้อมูล อิสระในการพิจารณาคดี หากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินสามารถร้องต่อศาลปกครองหรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้ แต่หากดูรายละเอียดตัวกฎหมายจะพบข้อจำกัดเรื่องข้อมูล

“หลายคนอาจจะคิดว่าเราเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่นะ แต่จริงๆ ผมคิดว่าอาจนับถอยหลังไปติดลบด้วยซ้ำ เพราะไม่มีข้อมูล ซึ่งการตัดสินคดีความจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน เราเริ่มไม่ได้เริ่มต้นโดยบนฐานของข้อมูลที่มี มีพร้อมอยู่แล้วเสียเวลาในการดำเนินคดี เสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ”

“พอพูดการแข่งขัน มันไม่ใช่แค่พูดเรื่องการผูกขาด มันมีอะไรข้างในได้อีกเยอะแยะ เรื่องการตกลงรวมกัน การฮั้ว การควบรวม เรื่องของพฤติกรรมต่างๆ อีกเยอะแยะไปหมดเลยครับ ผมคิดว่าผู้ที่กำกับบังคับกฎหมายแข่งขันทางการค้า จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจเศรษฐศาสตร์ การทำธุรกิจบวกเรื่องของกฎหมาย” สกนธ์กล่าวถึงคุณสมบัติของกรรมการ กขค. และเผยว่าการกำกับดูแลแข่งขันทางการค้าในโลกวันนี้ไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องโครงสร้างตลาด จำนวนผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นเรื่องยากและใช้ต้นทุนสูง หลายประเทศในยุโรปเริ่มสนใจเรื่องพฤติกรรมมากกว่า

สกนธ์ทิ้งท้ายถึงการตั้งหลักคิดใหม่ว่าหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมหรือแม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลด้วยกันเองต้องมีความเข้าในเรื่องการแข่งขัน ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายแข่งขันทางการค้า เพื่อเป็นกรอบในการออกมาตรการและนโยบายของรัฐ ป้องกันการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล (Governance) อย่างการเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยกระบวนการการตัดสิน วางระบบกฎกติกาให้ชัดเจนให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการการพิจารณาคดีหรือสังคมโดยรวมได้เห็นภาพของความโปร่งใสในการทำหน้าที่โดยใช้ข้อมูลและหลักการเป็นฐาน สร้างกลไกการรับผิดรับชอบ (Accountability) ให้กับคณะกรรมการ กขค. รวมไปถึงจำเป็นต้องปรับให้มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะแนวนอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

ส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันอย่างเท่าเทียม – เพิ่มการมีส่วนร่วมภาคประชาชน: สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณีเสริมถึงสถานการณ์ตลาดและการกำกับดูที่แย่กว่าในอดีต โดยมี 3 ประเด็นที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและสะท้อนว่าทำไมปัญหาถึงเรื้อรั้ง 3 เรื่องดังนี้

เรื่องแรก การยึดกุมกลไกกำกับดูแล (Regulatory Capture) หรือการยึดกุมกลไกรัฐ (Stage Capture) หมายถึงการกำกับดูแลที่เอื้อกับกลุ่มผลประโยชน์ และเบี่ยงเบนออกจากประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในอดีตมีความพยายามทำอย่างแนบเนียน แต่ปัจจุบันค่อนข้างโจ่งแจ้ง ในแวดวงวิชาการมีทฤษฎีการยึดกุมการรับรู้ (Cognitive Capture) ผู้กำกับดูแลสนิทชิดเชื้อกับกลุ่มผลประโยชน์จนไม่สามารถคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ แต่มองถึวการเติบโตทางธุรกิจ แม้จะไม่ได้ทุจริตผ่านการรับสินบน แต่ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกจนคล้อยตาม ซึ่งประเทศไทยอาจจะใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์ ถือเป็นปัญหาที่เลวร้ายลงในประเทศไทย

เรื่องที่สอง การขาดความรับผิดรับชอบ (Accountability) เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการยึดกุมกลไกรัฐ ผู้กำกับดูแลหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และจำกัดอำนาจตัวเอง

เวลาเราพูดถึงการทุจริตคอรัปชัน หน่วยงานทำหน้าที่ดีหรือไม่ดี อย่างน้อยมันมีความชัดเจนอย่างเรื่องการติดสินบน เราไปร้องเรียนมีการตรวจสอบอะไรก็ว่าไป แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐ องค์กรกำกับดูแลหรือองค์กรอิสระไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ เช่น คุณยอมให้เขาควบรวมง่ายๆ หรือตีความกฎหมายในทางที่จำกัดอำนาจตัวเอง เราจะเรียกร้องความรับผิดชอบตรงนี้อย่างไร เพราะจริงๆ อาจจะบอกว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก พิสูจน์ยากแล้วก็ต้องใช้เรียกว่าทรัพยากรเยอะมากสฤณีกล่าวถึงความท้าทายในประเด็นการพิสูจน์ความรับผิดรับชอบ

ประการที่สาม การคุกคามประชาชนและสื่อมวลชน สฤณีเผยว่าเห็นแนวโน้มของสังคมตื่นตัวในการจับตาเรื่องทุนกินรวบและการผูกขาดมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีโทรคมนาคม แต่ภาวะปัจจุบันก็เห็นการคุกคามประชาชนในลักษณะการฟ้องปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งสื่อมวลชนหลายแห่งก็มีการเซนเซอร์ตัวเอง ไม่เปิดชื่อ แม้รายละเอียดจะบ่งชี้ชัดก็ตาม เนื่องจากกลัวการฟ้องหมิ่นประมาท

นอกจากนี้ สฤณียกยังตัวอย่างรูปธรรมของการยึดกุมกลไกของรัฐ เช่น การทำหน้าที่ในฐานะอนุกรรมการด้านการแข่งขันและราคาของ กสทช. ที่ได้รับมอบหมายในการศึกษา พัฒนาและแก้ไขประกาศการควบรวม แต่จนถึงวันที่งานของอนุกรรมการฯ สิ้นสุดลงแล้ว เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมและดำเนินงานต่อ เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เห็นกลไกภายในมีบางองคาพยพทำงานตามหน้าที่แต่ติดขัดภายใน ซึ่งสะท้อนความซับซ้อนและนำไปสู่โจทย์ท้าทายว่าจะทำอย่างไรเพื่อคุ้มครองคนที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ ปัญหาการผูกขาดหรืออำนาจเหนือตลาดในประเทศไทยมีความเลวร้ายสูงและไม่ใช่ตลาดที่คนรวยได้รับผลกระทบเพียงกลุ่มเดียว เช่น ถ้ามีอำนาจเหนือตลาดในเรือยอร์ชราคาแพง เป็นต้น ปัญหาอาจจะไม่ได้กระทบกับคนไทยจำนวนมาก แต่ภาวะอำนาจเหนือตลาดของไทยเกิดขึ้นในลักษณะการผูกขาดในแนวดิ่ง (Vertical Monopoly) ปล่อยให้บางบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ระดับของเมล็ดพันธุ์ อาหารสัตว์ การผลิตอาหารไปจนถึงร้านที่ขายอาหาร อีกทั้งกรณีที่ให้อำนาจการต่อรองกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ที่แม้สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่ห้างดังกล่าวบังคับให้จ่ายเฉพาะเงินสดหรือผ่านแอปพลิเคชันในเครือเท่านั้น คำถามที่สำคัญคือถือเป็นการกีดกันการแข่งขันหรือไม่และใครจะร้องเรียนได้บ้าง ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ของประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็อาจจะชินชาจนไม่รู้สึกว่ามีสิทธิ์ทำอะไร

นอกจากการมองเรื่องกฎหมายต่างๆ แล้ว ในระดับรองลงมา สฤณียังมองถึงกลไกที่เข้ามากีดกันทางการค้าที่จำเป็นต้องทบทวนอีกเยอะมาก ยกตัวอย่าง ภาคการเงินทีทั้งโลกกำลังเข้าสู่โลก FinTech โดยบริษัท ป่าสาละได้ทำการศึกษาโอกาสและความท้าทายของ FinTech ประเทศไทยพบว่าบริษัทสตาร์ทอัพไทยมีปัญหาเรื่องต้นทุนโครงสร้างทางการเงิน เนื่องจากต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลเครดิตบูโรและการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนสูงมาก เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงและการเข้าแข่งขันในตลาด

สฤณีทิ้งท้ายถึงการตั้งหลักเพื่อปฏิรูปตลาด 2 ประเด็น ทั้งการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจแข่งขันอย่างเท่าเทียมกับภาคเอกชน แม้จะมีโจทย์ว่าในทางกฎหมายแข่งขันทางการค้าจะยกเว้นกับรัฐวิสาหกิจ ที่มีคำขยายว่าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติการตีความอาจจะยังไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างแท้จริง อีกประเด็นคือเรื่องการกำกับดูแลว่าเห็นด้วยกับบรรยงว่ารัฐไทยขนาดใหญ่เกินไป อยากให้ตั้งต้นเป็น Smart Regulation ไม่จำเป็นต้องยุบองค์กรทั้งหมด แต่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและการตรวจสอบ

ปีศาจ (การเอาเปรียบ) อยู่ในรายละเอียด: สาโรจน์ อธิวิทวัส

สาโรจน์เกริ่นด้วยความกังวลในกรณีของการควบรวมโทรคมนาคม และการจำกัดอำนาจของ กสทช. ว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานบริษัทโคมนาคมมาก่อน นักวิชาการและนักการเมืองพยายามขยี้ที่เงื่อนไขให้เอกชนลดราคา  12 เปอร์เซ็นต์ หลังควบรวม ซึ่งความจริงแล้วทางเอกชนสามารถปรับตัวเลขได้หมด ไม่ว่าจะเพิ่มแพ็กเกจให้ราคาเฉลี่ยต่อแพ็กเกจลดลง หรือเมื่อหมดแพ็กเกจแล้วลดความเร็วจาก 4G เป็น 3G ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ นอกจากนี้ยังได้หยิบยกเรื่องพีระมิดแห่งความมั่งคั่งว่า (Pyramid of Wealth) ว่าชนชั้นรากหญ้าเป็นฐานล่าง ชนชั้นกลางและชนชั้นนำอยู่ด้านบน

“พีระมิดแห่งความมั่งคั่งของประเทศไทยหน้าตามันน่าเกลียดมาจนบางทีผมไม่คิดว่ามันจะเรียกว่าพีระมิดดีหรือเปล่านะ นึกถึงภาพฐานล่างยาวเป็น 100-200 เมตรเสร็จแล้วมันก็เหมือนมีธูปมาปักอยู่อันหนึ่งเป็นชนชั้นกลาง แล้วก็บนสุดเป็นเส้นผมเป็นชนชั้นบน” สาโรจน์ฉายภาพถึงการกระจุกตัวและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

ในฐานะผู้ประกอบการ เขาสะท้อนถึงปัญหาที่ขัดขวางการทำธุรกิจขนาดเล็กอย่างเรื่อง พิธีกรรมการวางบิลรับเช็ก เมื่อบริษัทขนาดเล็กทำการค้ากับบริษัทขนาดใหญ่ แม้จะส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องรอเครดิตเทอมอย่างน้อย 30 วัน ในการรับเงิน ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด (Cashflow) โดยเฉพาะบริษัทที่มีสายป่านสั้นจนมีสินเชื่อประเภท บริการรับซื้อหนี้การค้า (Invoice Factoring) หรือสินเชื่อใบแจ้งหนี้ (Invoice Financing)

“Invoice Financing ไม่ได้ใช้ง่ายๆ นะครับ มันต้องโอนเปลี่ยนสัญญา สมมติผมโอนหนี้ไปให้ธนาคารแห่งหนึ่ง ลูกค้าก็จะรู้สึกว่า ‘เฮ้ย! คุณมีปัญหา cashflow ไหม คราวหน้าผมก็ไม่กล้าออเดอร์ของคุณแล้วนะ’ ในทางปฏิบัติ Invoice Financing ก็ใช้ไม่ค่อยได้เหมือนกัน” สาโรจน์กล่าวและเพิ่มเติมว่าปัญหาลักษณะนี้จะไม่เกิดกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูงอย่างไมโครซอฟต์ที่จะต้องจ่ายบิลในเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ดีหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กขค. ก็พยายามแก้ไขในเรื่องดังกล่าวด้วยการออกไกด์ไลน์กำหนดเครดิตเทอม 30-45 วันและหากไม่จ่ายตามกำหนด จะมีโทษปรับ 10% ของรายได้ทั้งหมดในปีนั้น แต่สาโรจน์เอ่ยว่าเมื่อสอบถามไปพบว่ายังไม่มีการปรับจริง แต่มีการออกใบเตือนคาดโทษไว้ อีกด้านบริษัทขนาดเล็กก็ไม่กล้าที่จะส่งเรื่องไปยัง กขค. เนื่องจากเกรงว่าจะสูญเสียลูกค้า

สาโรจน์เสนอถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันผ่านคนที่เป็นคนเก่ง คนดีและมีอำนาจ แม้ทั้งสามองค์ประกอบจะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมาพร้อมกัน แต่ก็เคยเห็นการแก้ไขปัญหาของคนลักษณะนี้ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา และประเด็นเรื่องการกำกับดูแลเรื่องเครดิตเทอม พร้อมกับเสนอว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนามาถึงจุดที่สามารถสร้างระบบที่คนไม่จำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ อาจจะเป็นทางออกที่สำคัญในการทำธุรกรรมสำหรับภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต

“เรามีเทคโนโลยีสารพัดนะครับ e-payment สมัยนี้บ้านเราก็มีหมด TrueMoney SCB ตอนนี้แบงก์ชาติก็กำลังจะออกตัว PromptBiz PromptPay ขององค์กรของธุรกิจ มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำแล้ว” สาโรจน์ทิ้งท้าย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save