fbpx

ทำได้ไหม? ถ้านายกฯ อังกฤษจะแต่งตั้งอดีตนายกฯ มารับตำแหน่ง รมว. ต่างประเทศ

ข่าวฮือฮาเกี่ยวกับการเมืองภายในสหราชอาณาจักรเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คือการปรับคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัก ซึ่งได้ดึงเดวิด แคมเมอรอน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อกหักทิ้งวงการการเมือง ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟและสมาชิกสภาสามัญเมื่อ 7 ปีก่อนเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่แพ้ประชามติ Brexit 

สื่อมวลชนในอังกฤษประโคมข่าวกันต่อเนื่องหลายวัน ทำให้สื่อในต่างประเทศติดตามข่าวกันคึกคัก เพราะแคมเมอรอนเองก็เคยมีบทบาทในเวทีการเมืองของโลกอยู่หลายปีในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2010-2016) เลยทำให้ข่าวการปรับ ครม. ตำแหน่งอื่นๆ ไม่ค่อยมีใครสนใจมากนักต่างพุ่งความสนใจไปที่อดีตนายกแคมเมอรอน 

ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์หลักของการปรับ ครม. ครั้งนี้ เป็นวิธีการหนึ่งของซูนักที่จะปลดรัฐมนตรีมหาดไทยอย่างซูลเอลลา บราวเวอร์แมน ผู้จุดประเด็นการเมืองร้อนแรงอื้อฉาวหลากหลายประเด็น อย่างเช่นนโยบายควบคุมคนเข้าเมือง ปัญหาคนไร้บ้าน และล่าสุดคือท้าทายอำนาจนายกรัฐมนตรีไปเขียนบทความตีพิมพ์สร้างแรงกดดันตำรวจลอนดอน ให้สั่งแบนการชุมนุมประท้วงของผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ แล้วให้ท้ายกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา สั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะนี้ก็เหลือเวลาอีกปีกว่าๆ ที่สหราชอาณาจักรจะต้องยุบสภาจัดเลือกตั้งทั่วไปตามวาระ แต่คะแนนนิยมพรรครัฐบาลร่วงหล่นไปเรื่อยๆ มีโอกาสสูงที่พรรคฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้ง จึงทำให้นายกรัฐมนตรีซูนักต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ พลิกเกมเรียกคะแนนนิยมกลับมา จึงมีการวางเดิมพันด้วยการดึงนักการเมืองมากประสบการณ์และบารมีสูง (heavy weight) ในเวทีการเมืองของโลกเข้ามาร่วมรัฐบาล ซึ่งมีทั้งเสียงชมเชยและเย้ยหยันจากสมาชิกพรรคตัวเองและพรรคฝ่ายค้าน ส่วนสื่อมวลชนออกจะงงๆ อยู่ ต้องพลิกตำราว่าปรับ ครม. แบบนี้ผิดธรรมเนียมประเพณีประชาธิปไตยหรือมีประเด็นทางรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ประเด็นโต้เถียงคือ ประเพณีการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) ที่ผ่านการเลือกตั้ง เพราะมีหน้าที่ต้องมาตอบกระทู้ในสภา (accountable to the elected chamber) เมื่อแคมเมอรอนลาออกจากการเป็น ส.ส. ไปนานแล้วจะถือว่าผิดประเพณีประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเขาจะเข้าไปในสภาสามัญเพื่อทำหน้าที่ตอบกระทู้ตามธรรมเนียมปฏิบัติไม่ได้  

The Conversation นิตยสารที่เป็นเวทีของนักวิชาการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมนายกฯ ซูนักแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาสามัญเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เกิดอะไรขึ้น?’ บทความนี้เขียนโดยนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญอย่างแอนดี้ เรน (Andy Rain) ระบุว่าตามประเพณีการเมืองในสหราชอาณาจักรในปัจจุบันนี้ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่โดยหลักการแล้วไม่มีข้อห้ามแต่อย่างได เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยแท้ 

ถ้าว่ากันตามรัฐธรรมนูญแล้ว นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลจากทั้งจากสภาสามัญ (สภาผู้แทนราษฎร-สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง) หรือสภาขุนนาง (House of Lords สภาสูง-สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง) ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็ปฏิบัติตามหลักการนี้มาตลอด 

ประเพณีปฏิบัตินี้ เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่ารัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ซึ่งหมายถึงสภาสามัญและสภาขุนนางรวมกัน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งให้เดวิด แคมเมอรอนเป็นสมาชิกสภาขุนนางก่อนแล้วค่อยแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ตามขั้นตอนนี้ ลอร์ดแคมเมอรอนก็จะไปนั่งอยู่ในแถวที่นั่งของสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาล คอยตอบกระทู้จากสมาชิกสภาขุนนางจากแถวนั่งที่เป็นฝ่ายค้าน แม้กระนั้นก็ตามยังมีคนตั้งคำถามต่อประเด็นเรื่องความชอบธรรม ที่ว่ายุคสมัยคริสตศตวรรษที่ 21 นี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะยังมีการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาเป็นรัฐมนตรีอีกหรือ เพราะหลักการที่ว่า รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อรัฐสภา (accountable to parliament) ในภาคปฏิบัติคือ แสดงความรับผิดชอบต่อสภาสามัญที่สมาชิกมาจาการเลือกตั้ง 

เมื่อรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไม่มีสิทธิเข้าสภาสามัญเพื่อแถลงนโยบายหรือตอบกระทู้ถามจากเพื่อนสมาชิกทั้งฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเองหรือฝ่ายค้าน ก็คงทำให้สมาชิกบางคนไม่พอใจ และประเด็นนี้ลินด์เซย์ ฮอยล์ (Lindsay Hoyle) ประธานสภาสามัญได้เอ่ยปากแสดงความไม่พอใจออกมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนแรงหลายแห่งทั้งในยูเครนและปาเลสไตน์ ผู้แทนประชาชนในสภาสามัญต้องการตรวจสอบผลงานของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศคนใหม่ แต่ต้องมาฟังคำแถลงจากรัฐมนตรีช่วย ซึ่งเป็น ส.ส. แทน  

ความจริงนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศมาจากสภาขุนนาง สมัยที่มาการ์เรต แธตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยแต่งตั้งลอร์ด แคริงตัน (Lord Carrington) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาแล้วระหว่างปี 1979-1982 และเคยมีกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีอเล็ก ดักลัส ฮูม (Alex Douglas Home) หวนกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศระหว่างปี 1970-1974

สำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองในสหราชอาณาจักรคงพอจะมองเห็นยุทธศาสตร์ของนายกฯ ซูนัก เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมานี้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามใหญ่ได้ตลอดเวลา ทั้งกรณียูเครนที่ยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้มาถึงสองปี และเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาและอิสราเอล ซึ่งเป็นปัญหาละเอียดอ่อน 

ในช่วงที่ประธานาธิบดีปูตินสั่งกำลังทหารบุกรุกยูเครนด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่ไม่เข้าข่ายกฎหมายระหว่างประเทศดังจะเห็นได้จากมติของสหประชาชาติ ในช่วงนั้นนายกฯ บอริส จอห์นสัน กระโจนเข้าไปดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยตัวเอง โดยรัฐมนตรีว่าการตอนนั้นแทบไม่มีบทบาทอะไร และเมื่อกวาดดูรายชื่อบรรดานักการเมืองแถวหน้าของรัฐบาลอังกฤษตอนนั้น ก็จะเห็นว่าไม่มีใครที่มือถึงและมีประสบการณ์ด้านต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งคนล่าสุดอย่างเจมส์ เคลเวอร์ลีที่เพิ่งถูกย้ายให้ไปรับตำแหน่ง รมว. มหาดไทย แทนซูลเอลลา บราวเวอร์แมน

เป็นที่ยอมรับกันว่าลอร์ด แคมเมอรอนเป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ มีบารมีสูงทั้งในพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และเป็นที่รู้จักการแพร่หลายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าจะพลาดพลั้งในช่วงการรณรงค์ Brexit ที่เป็นช่องให้จอห์นสันช่วงชิงขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนในที่สุด แต่จอห์นสันก็ต้องลงจากตำแหน่งไปเพราะพฤติกรรมส่วนตัวที่ตกหลุมความลุ่มหลงตัวเองจนพัง 

ระหว่างที่ลอร์ดแคมเมอรอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวหกปีขณะนั้น เขาได้สะสมความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำของประเทศมหาอำนาจหลายคน ทั้งโอบามา, ปูติน และสีจินผิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีจินผิง ซึ่งในช่วงเวลานั้นสื่อมวลชนเรียกว่ายุคทองของความสัมพันธ์สหราชอาณาจักรและจีน 

ยุทธศาสตร์ของซูนักคือ ต้องการใช้ทักษะและความสัมพันธ์ส่วนตัวของลอร์ดแคมเมอรอนกับผู้นำจีน เพื่อปรับรูปแบบความสัมพันธ์กันใหม่ เพราะระยะหลังๆ นี้มีความบาดหมางกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องฮ่องกงมาถึงเรื่องที่จีนส่งตำรวจเข้ามาตั้งสำนักงานในสหราชอาณาจักรเพื่อไล่ล่านักวิชาการจีนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์และนักกิจกรรมประชาธิปไตยจากฮ่องกง 

ส่วนเรื่องที่ลอร์ดแคมเมอรอนจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับปูตินเพื่อคลี่คลายปัญหายูเครนหรือไม่อย่างไร ก็คงต้องเฝ้าดูกันต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save