fbpx

‘ภารัต’ กับการประชุม G20: ก้าวย่างสู่การเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก

จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ซึ่งในปี 2023 นี้ อินเดียเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมพหุภาคนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรอบความร่วมมือสำคัญที่รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาไว้ในวงประชุมร่วมกัน และถือได้ว่าผลของการประชุมหรือมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากวงประชุมนี้มักส่งผลสะท้อนหรือสะเทือนโลกได้เพราะภาคีสมาชิกของ G20 ล้วนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีขนาดประชากรเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น การจัดประชุม G20 ในแต่ละปีจึงค่อนข้างได้รับความสนใจอย่างมากจากนานาชาติ และยิ่งในช่วงนี้ที่โลกกำลังเผชิญสถานการณ์ความปั่นป่วนจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีเสถียรภาพมากนักจากยุคหลังโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ของการประชุมนี้นับตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ฉะนั้นหลายฝ่ายจึงจับตามองการประชุม G20 ที่มีอินเดียเป็นเจ้าภาพอย่างใกล้ชิด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียถือเป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่ารัสเซียเองก็เป็นภาคีสมาชิกของ G20 ด้วยเช่นกัน ยังไม่นับรวมประเด็นปัญหาทางพรมแดนที่อินเดียมีกับจีน ซึ่งเป็นอีกภาคีสมาชิกหนึ่งในกลุ่มนี้ด้วย

ดังนั้น การจัดประชุม G20 ของอินเดียครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยแรงกดดันและความท้าทายมากมาย แน่นอนว่าหลังการประชุมเมื่อวันที่ 9 และ 10 กันยายนที่ผ่านมา หลายคนคงมีความสงสัยตามมาว่าอะไรคือความสำคัญของการประชุมรอบนี้ อินเดียประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และอินเดียได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้

อินเดีย ภารัต และการทดลองโฆษณาชื่อใหม่ให้นานาชาติรับรู้

หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตาเป็นอย่างมากและเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก จนทำให้การรายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุม G20 ที่อินเดียถูกพูดถึงอย่างมากคงหนีไม่พ้นกระแสข่าวที่อินเดียตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ภารัต’ (Bharat) ประเด็นนี้เกิดขึ้นหลังหนังสือเชิญร่วมกินเลี้ยงอาหารค่ำของผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมที่ออกโดยประธานาธิบดีอินเดียมีการระบุว่า ‘ประธานาธิบดีของภารัต’ (The President of Bharat) นั่นทำให้หลายฝ่ายมองว่าหรืออินเดียกำลังจะเปลี่ยนชื่อประเทศ และนำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมายทั้งในและนอกประเทศอินเดีย

กระแสข่าวการเปลี่ยนชื่อประเทศยังถูกตอกย้ำด้วยการที่ป้ายชื่อประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในฐานะประธานจัดประชุม G20 ถูกใช้คำว่า ‘ภารัต’ ตลอดการประชุมทั้ง 2 วัน นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่านี่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลอินเดีย ที่นำโดยพรรคชาตินิยมฮินดูที่เลือกใช้การจัดการประชุม G20 นี้เพื่อเป็นการ ‘ทดลอง’ โฆษณาชื่อประเทศใหม่ และก็อาจกล่าวได้ว่ามันประสบความสำเร็จอยู่มากพอสมควร เพราะเรื่องนี้ก็ถูกเผยแพร่ไปในสื่อต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งคำถามมากมายที่ตามมา แต่ที่แน่ๆ คำว่า ‘ภารัต’ กลายเป็นคำคุ้นชินมากขึ้นสำหรับชาวต่างประเทศ

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว คนอินเดียส่วนใหญ่เมื่อเรียกชื่อประเทศตัวเองนั้นจะใช้คำว่า ‘ภารัต’ เป็นหลัก ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอินเดียแต่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เช่น คนไทยเรียกเหมือนหลวงของตัวเองว่า ‘กรุงเทพ’ แต่ต่างชาติจะเรียกว่า ‘แบงคอก’ (Bangkok) หรือคนจีนเรียกประเทศตัวเองว่า ‘จงกัว’ (中国) แต่คนไทยเรียกว่า ‘จีน’ ในขณะภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘ไชน่า’ (China) เป็นต้น สำหรับอินเดียแล้วก็ไม่ต่างกันนัก เพราะคำว่า ‘อินเดีย’ (India) นี้ก็ใช้และนิยมกันแพร่หลายในภายนอกประเทศ

การประชุม G20 รอบนี้จึงเหมือนกับเป็นอีกก้าวย่างด้านการส่งเสริมให้คนทั่วโลกได้รู้จักชื่อประเทศที่เราเรียกกันว่า ‘อินเดีย’ มาตลอด ในอีกนามหนึ่งว่า ‘ภารัต’ แม้จะมีข้อถกเถียงทางกฎหมายมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ต้องยอมรับว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษมาตรา 1 ของอินเดียระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “อินเดียซึ่งก็คือภารัตจะเป็นสหภาพของรัฐ” (India, that is Bharat, shall be a Union of States.) แม้ว่าหลังจากนั้นคำว่าภารัตจะไม่ปรากฎเท่าไหร่นักในรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ ตรงกันข้าม คำว่าภารัตกลับปรากฎทดแทนคำว่าอินเดียในรัฐธรรมนูญฉบับอักษรเทวนาคี

ซีกโลกใต้ (Global South) คำใหม่ที่จะติดปากคนทั่วโลก

อีกหนึ่งเรื่องที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของอินเดียในการจัดประชุม G20 คือการผลักดันให้คำว่า ‘ซีกโลกใต้’ (Global South) เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และคำๆ นี้นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและไม่มีลักษณะแบ่งแยกแบบคำที่ใช้เรียกกันอยู่ในปัจจุบันอย่าง “ประเทศกำลังพัฒนา” หรือ “ประเทศด้อยพัฒนา” ซึ่งทั้งสองคำข้างต้นต่างมีลักษณะการดูถูกและเหยียดหยามอันเป็นศัพท์หรือคำที่มักใช้กันในหมู่เจ้าอาณานิคม ซึ่งสำหรับอินเดียแล้ว ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ลดทอนคุณค่าชาติอื่นๆ ที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมตะวันตก ดังนั้นในฐานะประธานการประชุม G20 ในรอบนี้อินเดียเลือกใช้คำว่า “ซีกโลกใต้” อย่างต่อเนื่อง และแสดงตนอย่างชัดเจนในฐานะตัวแทนและผู้นำของกลุ่มนี้

เห็นได้ชัดว่าอินเดียให้ความสำคัญอย่างมากต่อกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และต้องการมีบทบาทในประเทศกลุ่มนี้ โดยเฉพาะหลังรับไม้ต่อการเป็นประธานจัดประชุม G20 จากอินโดนีเซียได้ไม่นาน อินเดียก็มีการจัดประชุมกลุ่มซีกโลกใต้เพื่อรับฟังเสียงความต้องการต่างๆ ของประเทศเหล่านี้ ซึ่งในการประชุม G20 รอบนี้อินเดียได้นำหลากหลายประเด็นของประเทศกลุ่มซีกโลกใต้ขึ้นมาพูดคุยอย่างตกไปตกมากับประเทศมหาอำนาจตะวันตก และเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับประเทศกลุ่มนี้ซึ่งไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของ G20

ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ สหภาพแอฟริกา (African Union) เข้าเป็นภาคีสมาชิกล่าสุดของ G20 ด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่อินเดียเคยให้คำมั่นสัญญากับประเทศกลุ่มซีกโลกใต้ว่าจะพยายามส่งเสริมให้ประเทศกลุ่มนี้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศภายใต้การนำของอินเดีย และอินเดียมีความพร้อมที่จะร่วมผลักดันให้ระเบียบระหว่างประเทศควรหันมาให้ความสนใจเสียงของประเทศเล็กประเทศน้อยทั้งหลายที่มักถูกตัดออกไปเสมอมาในการประชุมใหญ่ๆ ของโลก

ความแพรวพราวทางการทูตที่ทั้งมิตรและคู่ขัดแย้งตกลงกันได้ใน G20 อินเดีย

อย่างที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า G20 เป็นการรวมกันของภาคีสมาชิกที่มีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนี้เองย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งได้เช่นกัน ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ทั้งการผงาดขึ้นมาของจีน และการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แน่นอนว่าทั้งจีนและรัสเซียต่างเป็นสมาชิกของ G20 ในขณะที่ชาติตะวันตกอื่นๆ ที่ไม่พอใจการกระทำของทั้งสองประเทศนี้ในช่วงที่ผ่าน จนนำมาซึ่งการคว่ำบาตรและมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจมากมายก็เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียในฐานะเจ้าภาพเองก็ยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจีนเพราะปัญหาพรมแดนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

ฉะนั้นสำหรับอินเดียแล้วการประชุม G20 รอบนี้ไม่ใช่สิ่งง่าย ไม่แตกต่างจากการประชุมรอบก่อนที่อินโดนีเซีย แต่ยิ่งการประชุมมีความท้าทายมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์ของการประชุมก็ยิ่งสะท้อนศักยภาพทางด้านการต่างประเทศและความแพรวพราวทางการทูตของอินเดียมากขึ้นเท่านั้น และอินเดียก็สามารถทำมันได้สำเร็จอย่างสวยงาม ในลักษณะที่ใครๆ ก็คาดกันไม่ถึง เพราะก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำไม่นาน ทั้งประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ต่างเลือกที่จะไม่เดินทางมาประชุมด้วยตนเองในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดกันว่าแถลงการณ์ร่วมของ G20 รอบนี้จะเผชิญปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ท้ายที่สุดแล้วด้วยศักยภาพทางการทูตของอินเดีย ในการประชุม G20 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพรอบนี้ อินเดียสามารถทำให้ภาคีสมาชิกทั้งหมดมีฉันทามติร่วมกันในการออก ‘แถลงการณ์ของผู้นำ G20 นิวเดลี’ หรือ G20 New Delhi Leaders’ Declaration ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่าหลายชาติมีความขัดแย้งกันอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำกันได้ง่าย การทูตอินเดียในแบบนี้จึงไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร วาทศิลป์ที่ทำให้รัสเซียยอมตกลงที่จะให้มีการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ รวมไปถึงลมปากที่ทำให้ชาติตะวันตกยอมตกลงกับข้อความที่อ่อนนุ่มกับรัสเซียเล็กน้อย หรือการทำให้จีนต้องยอมลงนามตามข้อความที่อินเดียระบุไว้

ยิ่งไปกว่านั้นอินเดียยังประสบความสำเร็จในการสร้างข้อตกลงเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับยุโรปภายใต้ชื่อ ‘ระเบียงเศรษฐกิจอินเดีย-ตะวันออกกลาง-ยุโรป’ (The India-Middle East-Europe Economic Corridor: IMEC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าระเบียงเศรษฐกิจนี้ถูกมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญนอกเหนือจากโครงการบีอาร์ไอของจีนที่ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเอเชียเข้ากับยุโรป

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางการทูต และความสำเร็จของอินเดียที่สะท้อนผ่านผลการประชุม G20 รอบนี้

อินเดียกับเส้นทางการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลก

สำหรับคำถามสุดท้ายที่ว่าอินเดียได้อะไรจากการจัดประชุม G20 ข้อมูลที่ได้เขียนไปข้างต้นคงเพียงพอที่จะเป็นคำตอบเชิงประจักษ์ที่จับต้องได้มากที่สุด ณ เวลานี้ แต่สำหรับอินเดียแล้ว การเป็นเจ้าภาพจัดประชุม G20 รอบนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับอินเดียในการเดินบนเส้นทางความฝันที่อินเดียคาดหวังจะเป็นเสมอมา นั่นคือ การก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกทัดเทียมบรรดาชาติอื่นๆ ที่มีที่นั่งในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บทบาทนำของอินเดียที่สะท้อนผ่านการเป็นเจ้าภาพ G20 จึงไม่ใช่เพียงเพื่อการจัดงานประชุมหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอินเดียที่มีต่อโลก และเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าระเบียบโลกใหม่ที่กำลังถูกจัดวางนั้นจะขาดอินเดียไปไม่ได้

ฉะนั้นภายหลังการจัดการประชุม G20 ครั้งนี้ เราอาจได้เห็นความเคลื่อนไหวเชิงรุกของอินเดียในการแสดงบทบาทนำในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเป็นผู้นำของกลุ่มซีกโลกใต้ที่ต้องการสะท้อนเสียงความต้องการของประเทศเล็ก-ประเทศน้อย ให้ได้ยินมากยิ่งขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม บทบาทนี้อาจจะส่งผลให้อินเดียมีผลประโยชน์เหนือกลุ่มประเทศเหล่านี้ทับซ้อนกับจีน และอาจทำให้เราเห็นภาพความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนและอินเดียมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าขวากหนามสำคัญของอินเดียในการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกนอกจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเดิมแล้ว จีนที่เป็นเพื่อนบ้านของอินเดียก็เป็นอีกขวากหนามชิ้นใหญ่ เพราะทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งกันอยู่แต่เดิม และต่างมีผลประโยชน์ที่ซ้อนทับกันอยู่ในหลายมิติ

ไม่ว่าก้าวย่างของอินเดียบนเส้นทางการเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกจะเป็นอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจนถึงวันนี้ระยะทางที่อินเดียกำลังเดินสู่จุดหมายที่หวังไว้นั้น ผ่านมายาวไกลพอสมควรแล้ว นับตั้งแต่อินเดียเป็นประเทศเอกราชสำเร็จ และตัดสินใจปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนเองในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ตลอดเกือบ 10 ปีผ่านว่า ‘แบรนด์อินเดีย’ เป็นที่รู้จักและทวีความสำคัญขึ้นมาก

ฉะนั้น ไทยเราเองก็คงต้องให้ความสำคัญกับอินเดียให้มากขึ้นด้วย เพราะหลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสพบปะกับนักวิชาการ หรือนักการทูตอินเดียที่ทำงานเกี่ยวกับไทย ทุกคนต่างมองว่าไทยเป็นเพื่อนบ้านทางทะเล และไทยเองก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่อินเดียให้ความสำคัญอย่างมาก เห็นได้ชัดจากหลายปีที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงเทพ ล้วนแต่เป็นนักการทูตมากฝีมือของอินเดีย ตรงกันข้าม ไทยเรากลับให้สำคัญกับอินเดียค่อนข้างน้อย ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าฝ่ายนโยบายต่างประเทศควรหันมาพิจารณาอินเดียให้มากขึ้นกว่านี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save