fbpx

เพราะ ‘ความยุติธรรม’ คือพื้นที่การต่อรอง จึงไม่มีสังคมไหนผูกขาดความหมายไว้เพียงหนึ่งเดียว – ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

เหมือนกับทุกๆ สิ่งบนโลกนี้ ความหมายของ ‘ความยุติธรรม’ ไม่เคยหาจุดบรรจบได้อย่างลงตัว เมื่อสังคมมีฉันทมติในยุคสมัยหนึ่งแล้ว กาลเวลาจะพัดพาบริบทของยุคใหม่มาท้าทายความเชื่อเดิมจนเกิดพื้นที่ถกเถียงอีกครั้ง 

ในทางหนึ่งการถกเถียงจึงไม่ได้เป็นด้านลบ และสะท้อนว่าไม่อาจมีนิยามใดที่ผูกขาดความยุติธรรมแต่เพียงผู้เดียว เพราะแม้กระทั่งในยุคสมัยเดียวกัน แต่ละสังคมต่างก็มีมุมมองความยุติธรรมต่างกัน เพราะความยุติธรรมผูกโยงกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนของมนุษย์ และต้องการพื้นที่ต่อรองเพื่อสร้างข้อตกลงว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เกิด ‘ความยุติธรรม’ โดยไม่มีใคร ‘ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง’ 

แม้ในโลกสมัยใหม่จะสร้างความเข้าใจว่ากฎหมายคือสถาบันในการรับรองความยุติธรรมในสังคม แต่ใช่ว่าหลักนิติศาสตร์จะเป็นเพียงศาสตร์เดียวที่แก้ปัญหาความยุติธรรมได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นความยุติธรรมที่เกี่ยวพันกับการดำรงชีพของมนุษย์ การเข้าถึงทรัพยากรที่เอื้อต่อวิถีชีวิต เราจึงต้องใช้เลนส์แว่นของศาสตร์อื่นๆ ในการทำความเข้าใจความยุติธรรมให้มากขึ้น

101 สนทนากับศาสตราจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงบทบาท ‘ความยุติธรรม’ ในมุมมองมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เบื้องหลังประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับทรัพยากรนำมาสู่ความหมายของความยุติธรรมในสังคมอย่างไร ไปจนถึงเศรษฐกิจสมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมมนุษย์ต่อความยุติธรรมในสังคมอย่างไร โมเดลแบบไหนที่ควรเป็นฉากทัศน์ของการจัดการทรัพยากรอย่าง ‘เป็นธรรม’ ในสังคมไทยได้

เมื่อพูดถึง ‘ความยุติธรรม’ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกฎหมาย หากสวมแว่นตามานุษวิทยามองเรื่องนี้ เราจะเห็นความยุติธรรมอย่างไรบ้าง

มานุษวิทยาเห็นว่าความเชื่อในความยุติธรรมหรือการแสดงออกถึงความยุติธรรม ตลอดจนแรงจูงใจให้เกิดความยุติธรรมเป็นปรากฏการณ์สากล ทุกสังคมย่อมปรารถนาให้สมาชิกได้รับสิทธิหรือความพึงพอใจที่เสมอกัน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งได้สิทธิเหนือผู้อื่น 

อย่างไรก็ตาม อะไรที่เรียกว่าความยุติธรรม หรืออะไรที่เรียกว่าสิทธิที่เสมอกัน ไม่เพียงจะถูกให้ความหมายที่ต่างกันไปในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม หากแม้แต่ภายในสังคมเดียวกัน ยังมีการนิยามความหมายที่แตกต่างกัน ที่อาจจะขัดแย้งกันอีกด้วย 

ในแง่นี้ความยุติธรรมจึงไม่ได้มีความหมายในแง่กรอบกฎหมายเท่านั้น แต่มีความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย นักมานุษยวิทยาเกาหลีชายท่านหนึ่ง เคยเปรียบเทียบมโนทัศน์ความยุติธรรมของโลกตะวันตกและความยุติธรรมในสังคมเกาหลีว่า ในขณะที่ตะวันตกให้ความหมายคำว่ายุติธรรมโดยเน้นสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ประเพณีทางการเมืองของเกาหลีกลับมองความยุติธรรมจากรากฐานอุดมการณ์ความเชื่อเดิมคือลัทธิขงจื๊อ ซึ่งให้ความสำคัญกับการรักษาระเบียบเชิงโครงสร้างที่มีลำดับชั้น และในลำดับชั้นดังกล่าว แน่นอนว่า ผู้ชายมีบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญในสังคมมากกว่าผู้หญิง ภายใต้กรอบคิดเชิงประเพณีดังกล่าวคนแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่เหมือนกัน ความเป็นปัจเจกบุคคลในสังคมเกาหลีจึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากความสัมพันธ์ทางสังคม และหน้าที่ที่มีต่อหน่วยต่างๆ ในสังคม นับตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป 

แต่ความหมายของความยุติธรรมตามประเพณีดังกล่าว ย่อมไม่ใช่สิ่งที่มีความสถิตหรืออยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือปราศจากการท้าทายหรือคัดง้างจากกลุ่มคนในสังคมที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับกรอบคิดตามประเพณีเสมอไป ในกรณีของสังคมเกาหลี นวนิยายที่สร้างข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมที่เพศชายให้ความหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกับความยุติธรรมที่เพศหญิงปรารถนา อีกทั้งยังสะท้อนการท้าทายกรอบคิดเชิงประเพณีของความยุติธรรมในสังคมชายเป็นใหญ่ของเพศหญิงที่ถูกทำให้ปราศจากตัวตนตลอดมาทางประวัติศาสตร์ 

ในหลายๆ สังคม มโนทัศน์ว่าด้วยความยุติธรรมจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ลงหลักปักฐาน หากแต่สะท้อนการต่อรองและคัดง้างระหว่างความหมายของความยุติธรรมที่ยึดโยงกับกรอบคิดเชิงประเพณีของความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้น กับความยุติธรรมที่เน้นการกระจายความเป็นธรรม (distributive justice) ระหว่างกลุ่มคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน 

ความยุติธรรมจึงไม่ได้เป็นผลผลิตของสังคมเฉยๆ แต่เป็นระบบคุณค่าทางอุดมการณ์ที่ผ่านการปะทะ ต่อรอง คัดง้าง ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อนิยามความหมายของการดำรงอยู่ของผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจที่แตกต่างกัน การลุกขึ้นตั้งคำถามต่อระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียนโดยนักเรียนในสังคมไทย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการคัดง้างทางอุดมการณ์เพื่อนิยามความหมายของความยุติธรรมเสียใหม่ และในการทำเช่นนั้น ก็เป็นการพยายามจัดปรับความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจคือโรงเรียน และผู้ที่ไร้อำนาจคือนักเรียน ให้อยู่ในภาวะที่นักเรียนไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสมบัติของโรงเรียน หากแต่เป็นองค์ประธานที่มีสิทธิ มีเสียง และเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของตนเอง 

เวลาเราพูดถึงการกระจายความยุติธรรม สิ่งที่มีความสำคัญจึงเป็นเรื่องความสัมพันธ์ กล่าวคือ ความสัมพันธ์เช่นไรจึงจะทำให้คนที่อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ที่ไม่เท่ากันในสังคมรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม บ่อยครั้งในทางประวัติศาสตร์ ความเสมอภาคจึงเกิดขึ้นด้วยการกระจายใหม่ (redistribution) ในสังคม เช่น ในงานวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ที่ศึกษาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโจรใต้ในอดีต ที่เรียกค่าไถ่เศรษฐีในเมือง ในทางวัฒนธรรมแล้ว ชาวบ้านมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เป็นการเอาทรัพย์สินจากคนที่มีมากระจายให้กับคนที่ไม่มี แน่นอนในทางกฎหมาย นี่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความยุติธรรม แต่ชาวบ้านกลับเห็นว่านี่เป็นความยุติธรรมเชิงวัฒนธรรมที่ช่วยจัดการกับความเหลื่อมล้ำในสังคม 

เมื่อแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในแบบตะวันตกเข้ามาในพื้นที่ความหมายความยุติธรรมเชิงประเพณี เราจะทำความเข้าใจการปะทะเหล่านี้อย่างไร

มันทำให้เรามองความยุติธรรมในฐานะพื้นที่การต่อรอง สำหรับชาวบ้านการปะทะกันของความยุติธรรมส่งผลต่อความอยู่รอดของพวกเขา งานเขียนคลาสสิกของ Jame C. Scott ชื่อ The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia หรือเศรษฐกิจศีลธรรมของชาวนา สะท้อนเรื่องนี้เป็นอย่างดี งานชิ้นนี้สนใจชาวนาในเขตพม่า เวียดนาม ไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะเวียดนามและพม่า โดยตั้งคำถามว่าอะไรเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดกบฏชาวนาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอาณานิคมตะวันตกเข้ามา พร้อมกับระบบทุนนิยมที่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของการขูดรีด เช่น การเก็บค่าเช่านา   

สกอตต์เสนอว่า ชีวิตชาวบ้านนั้นมีสภาพปริ่มน้ำ แล้วยังอยู่ในระบบที่ถูกขูดรีดโดยเจ้าที่ดิน แต่แม้กระนั้นการขูดรีดก็ดำเนินไปในรูปแบบความสัมพันธ์ที่อนุญาตให้ชาวนาพอที่จะอยู่รอดได้ เช่น การเก็บค่าเช่าตามผลประกอบการ ในปีที่แล้ง ก็เก็บน้อย แต่ในปีทำนาได้ผลดี ก็เก็บมาก แม้เป็นการขูดรีด แต่สำหรับชาวบ้านมันเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น และถือเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบหนึ่งที่สก๊อตเรียกว่าเศรษฐกิจเชิงศีลธรรม

แต่เมื่อรัฐอาณานิคม ใช้ระบบค่าเช่าตามหลักการของทุนนิยม กล่าวคือ เก็บค่าเช่าแบบเท่ากันหมด ไม่ว่าจะแล้งหรือฝนดี  สกอตต์บอกว่าการขูดรีดเช่นนี้ ได้ทำลายภาวะปริ่มน้ำของชาวบ้านลง เพราะจริงๆ แค่ทำนา ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่รอดแล้ว ถ้าในปีที่แย่เขาไปเจอเก็บค่าเช่านาแบบนี้ เขาอยู่ไม่ได้ การลุกขึ้นก่อกบฏจึงสะท้อนความรู้สึกต่อความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับในบริบทที่เปลี่ยนไปในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ไร้อำนาจกับผู้มีอำนาจ ที่ซึ่งระบบขูดรีดชนิดใหม่ของระบบทุนนิยมได้ไปทำลายศีลธรรมแห่งเศรษฐกิจที่เคยมีอยู่จนสิ้นซาก เพราะจริงๆ แล้วศีลธรรมดังกล่าว แม้ว่าจะขูดรีด แต่ยังเหลือที่ให้กับชาวนาได้หายใจ  

ความยุติธรรมจึงเป็นพื้นที่แห่งการต่อรอง ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่คนรู้สึกว่าความยุติธรรมในความหมายใหม่ที่เข้ามากระทบต่อโลกของเขาจนทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ ผลักพวกเขาไปอยู่ในสภาพจนตรอก เราก็จะพบการโต้ตอบด้วยวิธีการต่างๆ คือการต่อต้าน การกบฏ หรือการพยายามที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้คนสามารถอยู่รอดได้ ถ้าจำกันได้ กบฏผู้มีบุญในอีสานที่เกิดขึ้นนับครั้งแทบไม่ถ้วน เป็นตัวอย่างที่ดีของภาวการณ์เช่นนี้  

ถ้าหันมามองสถานการณ์ของชาวบ้านในเขตป่าเขา กับการต่อรองกับความยุติธรรมที่มักมาในนามของกฎหมาย บริบทของปัญหาอาจจะต่างกัน แต่คู่ความสัมพันธ์ไม่ได้ต่างกัน นั่นคือผู้ที่มีอำนาจกับผู้ที่ถูกทำให้ไร้อำนาจด้วยกฎหมายของรัฐ กลุ่มชนที่อยู่ในเขตป่า ทั้งกลุ่มที่อยู่มาก่อนกฎหมายป่าไม้ หรือคนที่อยู่พร้อมๆ กับกฎหมายป่าไม้ และอยู่หลังกฎหมายป่าไม้ แล้วสุดท้ายพวกเขาถูกขับไล่ เราเรียกสิ่งนี้ว่าการปิดล้อมที่ดิน (enclosure) ซึ่งเป็นกระบวนการที่รัฐและทุนเบียดขับประชาชนออกจากทรัพยากรธรรมชาติ และนำเอาทรัพยากรนั้นไปให้กับทุน เช่น การให้สัมปทานเหมืองแร่ การให้เช่าเพื่อลงทุน หรือผูกขาดทรัพยากรนั้นเสียเองในนามของการอนุรักษ์​ เมื่อไหร่ก็ตามที่การปิดล้อมนำไปสู่การทำให้ชาวบ้านอยู่รอดไม่ได้ เราจะเห็นการลุกขึ้นมาประท้วงและการต่อต้าน 

แน่นอนว่ารัฐนั้นอ้างความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากรในนามของกฎหมาย แต่ทุกคนก็ทราบว่ากฎหมายนั้นรัฐเป็นผู้สร้างขึ้น แล้วอ้างว่าทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือใคร สำหรับชาวบ้านการอ้างทำนองนี้สร้างปัญหา เพราะคนมีประวัติศาสตร์ที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน อย่างกรณีชาวบ้านในเขตป่าที่อยู่มาก่อน เขาย่อมอ้างสิทธิที่มีเนื่องมาจากการอยู่ในเขตป่ามาก่อน หรือการที่ชุมชนยังชีพด้วยระบบนิเวศของป่า ในขณะที่คนในเมืองไม่ได้ยังชีพด้วยระบบนิเวศวิทยาของป่า และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ โดยตรงกับป่า แต่กลับได้ประโยชน์จากป่าจากกฎหมายที่รัฐสร้างขึ้น 

การต่อรองความยุติธรรมในเรื่องทรัพยากร จึงเป็นการสู้กันของฐานความชอบธรรมคนละชนิด ระหว่างกฎหมายรัฐที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนำและชนชั้นกลางสร้างขึ้น กับสิทธิตามประเพณีที่ชาวบ้านถือว่ามีมาก่อนกฎหมายและมีประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นรองรับ ในทัศนะของชาวบ้าน สิทธิอันชอบธรรมดังกล่าว ยังมาจากความสัมพันธ์โดยตรงที่ชาวบ้านมีต่อป่า ทั้งในแง่กายภาพและในแง่จิตวิญญาณ ซึ่งได้ผูกชุมชนเข้ากับป่าไม้ การแยกพวกเขาออกจากป่า และกีดกันสิทธิตามประเพณีนี้ออกไป สำหรับชาวบ้าน จึงเป็นเรื่องความอยุติธรรม หากพวกเขาถูกต้อนไปจนไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ชาวบ้านซึ่งไร้ทางออกจะลุกขึ้นมาสู้ อย่างที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้

ทุนนิยมที่คืบคลานเข้ามาตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยมได้เปลี่ยนพฤติกรรมให้คนมองเรื่องความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไรบ้าง

เราต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนเข้าสู่ทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ หัวใจสำคัญคือการทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่กลายเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน คือการสร้างหลักประกันในแง่สิทธิให้กับปัจเจกบุคคล ทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ถูกกำหนดความหมายแค่สองประเภท อันแรกคือ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private property) ถ้าจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นในที่ดิน ต้องทำให้ที่ดินที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์แบบเอกชนนี้เข้าสู่ตลาดได้เพื่อนายทุนจะสามารถลงทุน อันที่สองคือ ระบบสิทธิที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการอ้างว่ารัฐจะเป็นผู้จัดการที่ดินให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งก็จะได้สิ่งที่เรียกว่าป่าของหลวงเต็มไปหมด

กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านถูกกีดกันออกจากป่าไป ถามว่าสิทธิแบบไหนที่ถูกกีดกันออกไป สิทธินั้นคือ กรรมสิทธิ์ส่วนร่วม (common property) ป่าที่ชาวบ้านจัดการเกือบทั้งหมดเป็นป่าที่วางบนหลักการกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมทั้งสิ้น

ถ้าเราหยิบเอาความยุติธรรมเชิงประเพณีที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางสังคมมาอธิบายเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากร เราจะพบว่า สำหรับชาวบ้าน ป่าไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งเลย ทุกคนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน ถามว่าหลักการนี้มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไร ในหมู่บ้านที่มีคนจน แม่ม่าย มีคนที่ไม่ได้มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่นาเหมือนกับคนอื่น คนที่ไร้อำนาจเหล่านี้จะสามารถเข้าไปใช้ป่าชุมชน ซึ่งเป็น common property ทำมาหากินได้ เราจะพบระบบเหล่านี้ในทรัพยากรอื่นๆ ด้วย เช่น หนองน้ำ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่ที่ไม่มีใครใช้ประโยชน์ แต่มีเห็ดมีหน่อไม้งอกออกมา แหล่งทรัพยากรส่วนรวมที่ให้อาหารเหล่านี้ ทำให้คนจนในหมู่บ้านสามารถพยุงชีวิตของตัวเองได้ 

ระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกบุคคล และระบบกรรมสิทธิ์แบบผูกขาดโดยรัฐได้ทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ ลง ทั้งในไทยและที่อื่นๆ ทั่วโลก ด้วยการทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นกลายเป็นสิทธิเอกชน (privatization) ซึ่งเป็นกระบวนการของระบบทุนนิยม เช่น การที่รัฐเอาทรัพยากรป่าไม้ไปให้สัมปทานแก่ทุน ป่าไม้จำนวนไม่น้อยเป็น common property ที่ถูกจัดการโดยชุมชน เช่นเดียวกับการจัดการป่าอนุรักษ์ ที่แม้จะถูกผูกขาดโดยรัฐในนามของการอนุรักษ์ แต่ผู้ที่สามารถเข้าใช้ประโยชน์กลับเป็นชนชั้นกลาง โดยไม่มีชาวบ้านอยู่ในนั้น การลุกขึ้นต่อสู้ของชาวบ้านในมุมมองของความยุติธรรม จึงเป็นการคัดง้างกับกรอบคิดว่าด้วยความยุติธรรมที่ถูกผูกขาดโดยกฎหมายแห่งรัฐ ที่ทำลายความยุติธรรมทางสังคมและความยุติธรรมเชิงวัฒนธรรม เป็นการต่อต้านการนำระบอบกรรมสิทธิ์หลวงมาเบียดขับและทำลายระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมของชาวบ้าน

เมื่อพูดถึงกรรมสิทธิ์หลวง เราจะนึกถึงป่าอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าในเขตการดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งมีแนวคิด ‘ป่าปลอดคน’ ที่อาจารย์เคยศึกษาไว้ว่าเป็นวาทกรรมในการอ้างสิทธิ อาจารย์คิดว่าอะไรที่หล่อเลี้ยงให้คนเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นความยุติธรรมที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้คงต้องเริ่มจากการมองว่า ทำไมอยู่ๆ ป่าจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดมนุษย์ อันนี้ได้เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าคอนเซ็ปต์นี้เป็นคอนเซ็ปต์ชนชั้นกลาง จะเห็นว่าป่าอยู่ในฐานะพื้นที่ปะทะของความยุติธรรมหลายแบบ มันไม่ใช่พื้นที่ที่มีความหมายเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ในตัวเอง แต่เป็นที่ของการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างชนชั้นต่างๆ มาโดยตลอด ในที่นี้หมายถึงชนชั้นกลางกับชนชั้นล่าง

ชนชั้นกลางต้องการป่าปลอดมนุษย์–ในวงเล็บมนุษย์ที่เป็นคนจน เพราะพวกเขาสามารถเข้าไปดื่มด่ำกับป่าที่ ‘บริสุทธิ์’ ที่ปลอดภาพของคนจนเที่ยวเก็บหาของป่าได้ตลอดเวลา จ่ายเงินหน้าปากประตูทางเข้าก็สามารถเข้าไปได้ ในขณะที่ชาวบ้านไม่สามารถจะเก็บของป่าได้ แม้จะอยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ภายในป่ามาเป็นเวลานาน มันจึงเป็นสงครามของการเข้าถึงทรัพยากร เป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ทุน และชนชั้นกลาง ที่เกิดจากการปิดล้อม และก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การพรากสิทธิที่มีอยู่เดิมของชุมชน

ดังนั้น ความยุติธรรมของกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองอ้างว่าป่าเป็นสิทธิของทุกคน แต่นี่เป็นข้ออ้างในเชิงวาทกรรม เพราะว่าในความเป็นจริง มันเป็นการกันสิทธิคนอื่นออกไป เพื่อให้สิทธิกับคนบางกลุ่ม สร้างลัทธิป่าปลอดคนขึ้น 

‘ป่าปลอดคน’ จึงกลายเป็นปริมณฑลของการต่อสู้ทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นกลางที่ต้องการหวงแหนสุนทรียภาพเอาไว้กับตัวเอง โดยมีรัฐเป็นร่มในการห่อหุ้มสิทธินี้ผ่านกฎหมาย กับชาวบ้านที่ไม่มีอะไรเลย นอกจากกฎระเบียบประเพณีพื้นบ้าน แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานาน แต่กลับถูกมองว่าพวกเขาเข้ามาแย่งชิงสิทธิของชนชั้นกลาง

ถ้าหากกลับมามองในมุมของชาวบ้าน จุดที่ทุนนิยมขยายตัวมากขึ้นส่งผลให้ระบบกรรมสิทธิส่วนบุคคลเข้ามาเปลี่ยนความเชื่อเรื่องความยุติธรรมในการครอบครองทรัพยากรของชาวบ้านไหม

การปะทะประสานกันของทุนนิยมทำให้คนเปลี่ยนวิธีคิดในการมองทรัพยากรของตัวเองแน่ๆ  

ดังนั้น ในหมู่บ้านไม่ได้มีแค่ common property ถ้ายกตัวอย่างคือ ระบบไร่ดั้งเดิมของคนบนดอยเป็นไร่หมุนเวียนที่เป็น common property แต่เมื่อเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ามาเราจะพบการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ที่ดินบางส่วนที่เป็นที่ดินครอบครัวเอาไว้ปลูกข้าว เขาอาจจะผลัดกันใช้แต่ละครอบครัว แต่สมมติว่าใครเอากาแฟหรือกะหล่ำปลีมาปลูก มันจะสร้างระบบสิทธิแบบใหม่ที่เป็นสิทธิแบบเอกชนขึ้นมา ซึ่งมาจากฐานคิดที่ว่าถ้าคุณลงทุนลงแรงในที่ดินแปลงหนึ่ง คุณควรจะได้ประโยชน์โพดผลจากที่ดินแบบนี้ สิทธิเอกชน ซึ่งจริงๆ คือสิทธิของครัวเรือน มีอยู่ในชุมชนมาก่อนแล้ว เช่น นาขั้นบันไดในชุมชนที่ทำไร่หมุนเวียน ส่วนใหญ่สิทธิก็จะเป็นของครัวเรือนที่ลงแรงบุกเบิกนา 

แต่สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นตรงนี้คือ ไม่มีหมู่บ้านไหนที่จัดการทรัพยากรด้วยระบอบกรรมสิทธิแบบเอกชนทั้งหมด หรือทั้งหมู่บ้านกลายเป็นระบบตลาดที่แข่งขันกันระหว่างครัวเรือน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น สังคมหมู่บ้านจะไม่สามารถอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดังที่ได้บอกไปตอนต้น คนจนที่มีที่ดินน้อยกว่าใครเพื่อนจะอยู่ไม่ได้ เขาจะถูกผลักให้ไปเป็นแรงงานอย่างเดียว ซึ่งในชุมชนเกษตรกรรมในเขตป่า การพึ่งพากัน และการอยู่รอดร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สภาวะดังกล่าวจึงไม่มีทางเกิดขึ้นจากภายในหมู่บ้านเอง แต่มักเกิดจากแรงผลักดันจากภายนอก 

ปรากฏการณ์ที่ปัจจัยภายนอก ผลักให้ชาวบ้านเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรของตนให้เป็นสินค้าขายแล้วผันตัวเองไปเป็นแรงงานอย่างเดียวก็มี เราจะพบในเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทุนอุตสาหกรรม เข้าปิดล้อมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะ EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษในเขตชายแดน ทุนใหญ่เข้ามาปิดล้อมชุมชน กว้านซื้อที่ดินทั้งหมู่บ้าน ผลักคนออกจากที่ดินตัวเองเพื่อทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เก็งกำไร หรือสร้างโรงงาน พอชาวบ้านขายที่ดินผ่านไปไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นแรงงานรับจ้าง เมื่อหมดอายุของการเป็นแรงงาน กลายเป็นชาวนาไร้ที่ดินทั้งชุมชน ไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากรับจ้างรายวันที่ได้ค่าตอบแทนที่แทบจะไม่พอกิน อันนี้คือการสะสมทุนด้วยการพรากสิทธิ

 

ในภาวะที่มีการปิดล้อมชุมชนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นอุตสาหกรรม เราจะมองชุมชนในฐานะผู้กระทำในพื้นที่ต่อรองนี้อย่างไรบ้าง

งานของลูกศิษย์ที่ศึกษาในพื้นที่หลังบ้านของอีอีซี ในเขตปราจีนบุรี พบว่าการปิดล้อมชุมชนเพื่อเปลี่ยนที่ดินให้เป็นเขตอุตสาหกรรมกว่าสามทศวรรษ ทำให้ชาวนาในบริเวณดังกล่าวกลายเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินจำนวนมาก แน่นอน มีเกษตรกรบางกลุ่มที่อาจได้ประโยชน์ ที่เป็นนายหน้าบ้าง หรือทำงานกับอุตสาหกรรมบ้าง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่ก็มีที่ดินเหลืออยู่ไม่มากนัก แล้วในงานนี้ก็พบว่า ชาวบ้านบางกลุ่มเขาตระหนักว่าการไม่มีที่ดินเลยทำให้ภาวะชีวิตอยู่ปริ่มน้ำในอุปมาของสกอตต์ ย่ำแย่เข้าไปอีก เพราะมีหนี้สินที่ผลักให้ชีวิตอยู่ขอบเหวหนักมาก ชาวบ้านพยายามรวมกันเป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อที่จะให้ที่ดินที่ยังเหลืออยู่เป็นฐานการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก เพราะว่ารอบข้างเป็นอุตสาหกรรมหมด แต่มีกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการคุ้มครองพื้นที่ในการผลิตอาหารที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

กล่าวถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ถูกทำลายจากระบบอุตสาหกรรมคือฐานอาหารของชาวบ้าน เพราะเขตเศรษฐกิจผลักให้ชาวบ้านต้องไปเป็นแรงงานแล้วเอาค่าแรงไปซื้ออาหารกิน ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อพวกเขาทำงานได้ไม่กี่ปี พออายุสัก 40-50 ปี ก็จะถูกโละออก หมดสภาพความเป็นแรงงาน ถามว่าอดีตแรงงานเหล่านี้ที่สูญเสียพื้นที่ทำกินไปแล้ว เขาจะอยู่อย่างไร มันจึงมีกลุ่มที่พยายามทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่ให้สามารถผลิตอาหารได้ขึ้นมา

 

เราเห็นบทบาทของเศรษฐกิจสมัยใหม่เข้ามาส่งผลกระทบต่อผู้คน แล้วเราจะทำความเข้าใจบทบาทของรัฐสมัยใหม่ที่เข้ามาจัดการเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไรบ้าง 

มีงานศึกษาในทางสังคมวิทยาที่อินเดีย ที่น่าจะนำมาใช้ทำความเข้าใจเขตเศรษฐกิจพิเศษในไทยด้วย นักสังคมวิทยาชื่อ Michael Levien ได้ตั้งคำถามว่าทำไมจึงเกิดสงครามชาวนา (peasant war) ขึ้นในอินเดีย ทำไมชาวบ้านถึงออกมาประท้วงรุนแรง เผาสิ่งต่างๆ ต่อต้านรัฐ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เคยสูญเสียที่ดินมาก่อน ในยุคที่ประเทศก้าวเข้าสู่ความทันสมัย รัฐ ทั้งรัฐส่วนกลางและรัฐท้องถิ่น ต่างก็เอาที่ดินชาวบ้านไปสร้างโครงการพัฒนามากมาย เช่น โรงไฟฟ้า เขื่อน ถนนหนทาง โรงงานอุตสาหกรรม 

การสูญเสียที่ดินจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นมา งานศึกษานี้เสนอว่าไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะไม่ประสบปัญหาในยุคพัฒนา แต่การที่ชาวนาจำนวนมากโกรธรัฐและพากันประท้วงอย่างรุนแรง ก็เพราะว่าในยุคพัฒนา แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียที่ดิน แต่อย่างน้อย รัฐอินเดียก็ยังทำหน้าที่เป็นรัฐพัฒนา (developmental state) พวกเขายังได้อะไรจากรัฐบ้าง ได้งาน ได้ถนนหนทาง มีเจ้าหน้าที่มาส่งเสริมการเกษตร พวกเขายังสามารถเข้าถึงการพัฒนาต่างๆ ได้ แต่ในยุคเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐอินเดียเปลี่ยนบทบาทมาเป็นรัฐนายหน้า (broker state) ทำหน้าที่เป็นนายหน้าเอาที่ดินของชาวนาไปประเคนให้กับนายทุนอย่างเดียว หน่วยงานรัฐท้องถิ่นทำหน้าที่ไปรวบรวมที่ดิน หว่านล้อม ขู่บังคับให้ชาวบ้านขายที่ดินให้นายทุน ก่อให้เกิดการสูญเสียที่ดินขนานใหญ่ ในขณะที่ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านจะสามารถไปเป็นแรงงานได้ Levien ศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของอุตสาหกรรมไอที และพบว่าชาวบ้านที่ขายที่ดินให้กับนายทุน ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกจ้างงานในเขตดังกล่าวได้เลย มีแต่ชนชั้นกลางปกขาวที่มาจากที่อื่น มาเอาที่ดินของพวกเขาไป แต่ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา 

เราจะพบว่ารัฐในประเทศกำลังพัฒนา ทำตัวเป็นรัฐนายหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำหน้าที่เอาทรัพยากรของชุมชน ไปยกให้กับทุน โดยไม่มีแผนหรือเป้าหมายใดๆ ว่าอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจะยังประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร จะสร้างคนในท้องถิ่นอย่างไร จะพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นอย่างไร  จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านจะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ยุติธรรม และพากันลุกขึ้นต่อต้าน

ถ้าเราหันกลับมาที่รัฐไทยในการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมหลังการเข้ามาของทุนนิยม รัฐไทยมีบทบาทอย่างไรบ้าง 

รัฐมักอ้างว่าแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ผ่านมา ดำเนินไปในทิศทางที่มีการกระจายความยุติธรรมออกไปสู่ชาวบ้าน โดยมักใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นตัวอย่าง ซึ่งก็จริงที่เรามีกฎหมายที่เปิดทางให้ชุมชนจัดการป่าได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การกระจายความยุติธรรมแบบนี้เป็นการกระจายเศษความยุติธรรม หากพิจารณาแนวนโยบายหลักของรัฐคือการยึดเอาที่ดินต่างๆ เป็นป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25% ในอีก 16 ปีข้างหน้า สิ่งนี้สะท้อนแนวทางกระแสหลักของรัฐ กรณีการไล่ชาวบ้านบางกลอยออกจากเขตป่าสะท้อนแนวโน้มและทิศทางของรัฐในลักษณะรวมศูนย์ ผูกขาดอำนาจเป็นอย่างดี พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้นไม่ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของประเทศ 

พูดให้ถึงที่สุด กระทรวงทรัพยากรเป็นหน่วยงานที่เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ดินที่ควรจะถูก ‘จัดการ’ ในที่นี้ขอย้ำว่าใช้คำว่า ‘จัดการ’ ไม่ใช่คำว่า ‘จัดสรร’ เราควรต้องมีการจัดการอย่าง ‘เป็นธรรม’

คำถามคือว่าความต่างระหว่าง ‘การจัดการทรัพยากรอย่างยุติธรรม’ กับ ‘การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม’ คืออะไร หรือระหว่างความเสมอภาค (equality) กับความเที่ยงธรรม (equity) คืออะไร เรามักอ้างว่าระบบกฎหมายให้สิทธิที่เสมอภาคต่อทุกคน การจัดการทรัพยากรจึงเป็นเรื่องของการที่ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้เท่ากัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร ส่วนความเที่ยงธรรมมีหลักการที่ต่างออกไป เพราะคนแต่ละคนในสังคมมีที่มาไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน มีระบบสิทธิที่มีมาก่อนตามประเพณี  มีความผูกพันและพึ่งพาทรัพยากรที่ต่างกัน มีสถานะและชนชั้นที่ไม่เท่ากัน คำถามจึงได้แก่ ทำอย่างไรการจัดการทรัพยากรจึงจะเป็นไปอย่างเป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เบียดขับคนที่ด้อยอำนาจออกไปจากสังคม และในขณะเดียวกันต้องตระหนักว่าชุมชนที่อยู่กับป่านั้น รักษาป่ามาเป็นเวลาช้านาน ในขณะที่ชนชั้นกลางในเมือง ไม่ได้มีบทบาทอะไรโดยตรงกับป่า แต่กลับได้รับประโยชน์จากป่ามาโดยตลอด

ทั้งหมดนี้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจว่าสังคมมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการ ซึ่งวางอยู่บนอคติทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติ ในกรณีประวัติศาสตร์ทรัพยากร สังคมไม่เคยยอมรับว่าทรัพยากรจำนวนมากได้รับการดูแลโดยคนชายขอบมาโดยตลอด รัฐไปกินรวบพื้นที่เหล่านี้ และผูกขาดสิทธิเอาไว้เพียงผู้เดียว การจัดการทรัพยากรอย่างเท่ากันจึงเป็นข้ออ้างแบบเลื่อนลอย เพราะคนไม่ได้เท่ากันอยู่แล้ว ชนชั้นกลางสามารถเข้าถึงป่าอนุรักษ์ได้ ตั้งแต่กฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับแรกถูกประกาศออกมาใช้ แต่กฎหมายฉบับเดียวกันนี้กลับถีบคนจนออกจากพื้นที่ป่า

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่อยู่ในเขตป่า เราต้องคิดถึงวิธีการจัดการป่าที่คำนึงถึงความเที่ยงธรรม  การจัดการป่าอนุรักษ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทุกๆ กลุ่มอย่างแท้จริง คอนเซ็ปต์ที่ตอบโจทย์นี้คือ หลักการของการต่างตอบแทน หมายความว่า ถ้าชาวบ้านเป็นคนดูแลป่า รัฐก็ต้องให้สิทธิกับเขา เพราะลองมองตามความเป็นจริง ถ้าเอาชุมชนออกไป รัฐมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้กี่คนทั่วประเทศ แล้วจะดูแลป่าเป็นพันเป็นหมื่นตารางกิโลเมตรได้หรือ เป็นไปไม่ได้ พื้นที่ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ก็เพราะมีชุมชนอาศัยอยู่ แล้วเขาก็ดูแลรักษาและตระเวนดูแลป่า ทำแนวกันไฟ ทำงานปกปักรักษาป่าให้กับคนทั้งประเทศมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้สิทธิในการจัดการป่า

ความยุติธรรมจึงต้องวางบนหลักการที่ว่า ถ้าชาวบ้านดูแลสมบัติให้กับประชาชนทั้งประเทศ ชาวบ้านก็ควรได้รับสิทธิในการจัดการ จะอยู่ในรูปแบบไหน เป็นเรื่องต้องมาคุยกัน เพราะในกรณีต่างประเทศ ชนพื้นเมืองดั้งเดิมได้รับสิทธิในการดูแลพื้นที่ที่เขาถูกปล้นไปโดยคนผิวขาว โดยมีลักษณะจัดการหลายแบบมาก ไม่ว่ารัฐจะมาอยู่ข้างหลังคอยให้คำปรึกษา หรือจะเป็น partnership ทำงานไปด้วยกัน  

กลับมาดูในไทย ไม่มีแบบนี้เลย เพราะไทยมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งไล่คนออกจากป่าอย่างเดียว

พูดถึงบทบาทของรัฐ ทำให้นึกถึงระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนจุดมุ่งหมายของรัฐ เราจะมองเงื่อนไขหรือปัญหาในระบบราชการต่อความยุติธรรมการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไรบ้าง

เราต้องเข้าใจว่า ราชการไทยผลักให้คนกลายเป็นกลจักร ทำงานตามรูทีน มันจึงเป็นความยุติธรรมแบบรูทีน ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ที่สำคัญคือไม่มีคอมมอนเซนส์ ระบบราชการเป็นระบบดูดกลืนความเป็นมนุษย์ ทำให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระดาษ 

แล้วชาวบ้านเจอกับระบบราชการมากกว่าเรา เพราะเจ้าหน้าที่เดินไปหาเขาในป่าทุกวัน แล้วเราจะพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้ ทำงานตามรูทีนและกฎระเบียบในแผ่นกระดาษ ที่ระบุว่ากฎหมายตราไว้ว่าอย่างไร 

ในแง่หนึ่ง ชาวบ้านถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ป่าในนามของกฎหมาย โดยไม่มีที่ทางของความเป็นมนุษย์เหลือไว้ให้พวกเขา นอกจากนี้แล้ว พวกเขาก็มักได้รับการปฏิบัติต่อจากเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยท่าทีและทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ ที่มองพวกเขาว่าเป็นคนอื่น การถูกเผาบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน การถูกอุ้มหายของผู้นำชาวบ้าน ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เพียงระบบราชการ และตัวกฎหมายที่ล้าหลังที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรของชาวบ้าน แต่วิธีคิด ทัศนคติ ของผู้ที่อยู่ในระบบราชการที่มีต่อชาวบ้านเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากรเกิดขึ้นได้ยาก

มองในสังคมภาพรวม อาจารย์คิดว่ามีโจทย์สำคัญอะไรที่ต้องร่วมแก้ไขด้วยกันเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรบ้าง

การปฏิรูปกฎหมายป่าอนุรักษ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ลดการผูกขาดสิทธิในการจัดการทรัพยากรโดยรัฐ เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กับป่าได้มีโอกาสเข้าถึง จัดการ และร่วมรักษาป่าธรรมชาติ กระจายงบประมาณในการจัดการและอนุรักษ์ป่าลงสู่ท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาป่าอย่างแท้จริง สร้างแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน ไม่ใช่ในลักษณะการสั่งการจากบนลงล่างแบบที่มักทำกัน แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบ partnership ที่วางอยู่บนหลักการของความเสมอภาค 

ในแง่ของทัศนคติและวิธีคิดของผู้คนในสังคม เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ตลอดจนชนชั้นกลาง มีความจำเป็นต้องทำให้การศึกษาในบ้านเรา มีความ sensitive และตระหนักถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มชนชายขอบที่ดำรงอยู่ในป่ามาเป็นเวลานาน ป่าธรรมชาติ ไม่ได้มีแต่ต้นไม้และสัตว์ป่า แต่มีผู้คน ระบบการเกษตรเชิงประเพณี เช่น ไร่หมุนเวียนและวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าที่ดำเนินมาแม้ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ต้องถูกบรรจุในแบบเรียนในโรงเรียน ในตำราวนศาสตร์ที่นักป่าไม้ร่ำเรียนกัน 

ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นต้นแบบของป่าอนุรักษ์ที่ไทยนำโมเดลมาใช้จัดตั้งป่าอุทยาน หากคุณเข้าไปในเว็บไซต์ของของอุทยานเยลโลสโตน (Yellowstone National Park) คุณจะเห็นหน้าที่อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของเยลโลสโตนว่าเป็นมาอย่างไร  ที่สำคัญคือมีการระบุว่าเยลโลสโตนนั้นเคยเป็นถิ่นฐานของชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตอย่างไร และพวกเขาถูกขับไล่ออกจากป่าอย่างไร การตระหนักถึงประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองและความสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อป่าเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ป่าเยลโลสโตนที่ทางการสหรัฐฯ ยอมรับและให้ความสำคัญ ป่าอนุรักษ์ในไทยก็ควรเป็นเช่นนั้น เราควรเปิดให้มีที่ทางในพื้นที่ทางการที่แสดงถึงการตระหนักถึงการมีอยู่ของชุมชน ยอมรับในบทบาทของพวกเขาในการสร้างประวัติศาสตร์ของป่าของชุมชนต่างๆ ที่ดำเนินมาแม้ในปัจจุบัน การตระหนักและยอมรับในการดำรงอยู่ของชุมชนในเขตป่าอย่างเป็นทางการ เป็นย่างก้าวที่สำคัญในการพาป่าอนุรักษ์ของประเทศออกจากโมเดลป่าปลอดคน และคืนความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรให้กับชุมชน 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save