fbpx

ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรไทยในพื้นที่หลังบ้าน EEC

เกษตรกรไทยถือเป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตแขวนไว้บนความไม่แน่นอน (uncertainties) อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนจากความผันผวนของตลาดสินค้าและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การเปลี่ยนแนวทางดำเนินนโยบายและกฎหมายของรัฐ การเกิดภัยพิบัติ การเกิดโรคระบาดในพืช สัตว์ ไม่เว้นแม้แต่ในมนุษย์ อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่จัดว่ากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย นั่นคือเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโซนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC)

EEC คือโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อันครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมุ่งเน้นการลงทุนยกระดับอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยต่อยอดมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ในตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมาของการพัฒนาบริเวณดังกล่าว พื้นที่เกษตรกรรมแถบนั้นได้กลายเป็นพื้นที่ที่ต้องผ่านพลวัตการเปลี่ยนแปลงด้านที่ดินมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย จากการถูกจับจ้องโดยบรรดากลุ่มทุนอุตสาหกรรมและนักเก็งกำไรที่ดิน ไม่เพียงแต่พื้นที่เกษตรกรรมในเขตจังหวัด EEC เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมใกล้เคียง เช่นในจังหวัดปราจีนบุรี

ปราจีนบุรีอยู่ภายใต้กระแสของการสนับสนุนให้ผนวกรวมพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Seaboard และ EEC มาตลอด แม้ว่าในเวลานี้จะยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งโครงการ EEC แต่ภูมิทัศน์ของพื้นที่แถบนี้ในสายตาของรัฐและกลุ่มทุนได้เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยพื้นที่เกษตรกรรมถูกลดมูลค่าลงเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ไปสู่สังคมอุตสาหกรรมที่ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากแนวทางการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็น ‘พื้นที่หลังบ้าน’ หรือพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมให้กับโครงการ EEC จากแผนพัฒนาของทั้งรัฐและบางกลุ่มทุนที่ผ่านมา

ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ทำวิจัยสังคมเกษตรกรรมในจังหวัดปราจีนบุรี พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวอันกำลังถูกมองว่าเป็นหลังบ้านของ EEC ล้วนกำลัง ‘แขวนอยู่บนเส้นด้าย’ ท่ามกลางกลุ่มทุนและอุตสาหกรรมที่กำลังรุกคืบเข้ามากลืนกิน

‘ที่ดิน’ การเสี่ยงโชคท่ามกลางความไม่แน่นอนของเหล่าเกษตรกร

Frank Cancian[1] นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจของเกษตรกรรมท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอน เคยให้ข้อสมมติไว้ว่า การตัดสินใจของเกษตรกรเปรียบเสมือนการเสี่ยงโชค เพราะเกษตรกรต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง และในการเสี่ยงโชค ทุกคนต่างก็ย่อมต้องการชัยชนะ เพื่อที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง ส่งผลให้ทุกการตัดสินใจของเกษตรกรมักมีแนวโน้มอยู่ในรูปของการลดความไม่แน่นอนจากการลงทุนลงแรง ด้วยการใช้ทรัพยากรที่พวกเขามีอยู่ หากเราลองนำเอาข้อสมมติฐานข้อนี้ไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสังคมเกษตรกรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรีที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่วิจัยภาคสนาม ก็พบว่าหนึ่งในทรัพยากรที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของเกษตรกรพื้นที่แห่งนี้ในการตัดสินใจอนาคตตัวเอง คือ ‘ที่ดิน’ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และเป็นสิ่งที่แต่ละครัวเรือนมีไม่เท่ากัน

ด้านหนึ่ง กลุ่มเกษตรกรเช่าที่ดินด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาและเงื่อนไขในสัญญาเช่า รวมถึงต้นทุนค่าเช่าที่ดิน ทำให้ทางเลือกในการตัดสินใจของเกษตรกรเช่าที่ดินต้องอยู่บนหนทางที่เน้นปลอดภัยไว้ก่อน (safety-first) คือต้องพยายามลดความไม่แน่นอนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจที่พวกเขาสามารถเห็นราคาได้ชัดเจน และเป็นพืชที่พวกเขามีประสบการณ์เพาะปลูกมาก่อน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และข้าว รวมถึงการลดความไม่แน่นอนด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อควบคุมปริมาณของผลผลิต ดังเช่นที่พี่ริน (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่เกษตรกรตำบลในจังหวัดปราจีนบุรี บอกกับผู้เขียนว่า

“แนวโน้มของเกษตรกรเช่าที่ดินเน้นปลูกเข้มข้น คือเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจน้อยชนิด เพื่อควบคุมต้นทุน เลือกใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้(ปริมาณ)ผลผลิตลดลง รวมถึงเช่าที่ดินจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมรายจ่ายทั้งหลาย และพอมีรายได้คุ้มกับที่ตนลงแรงไป”

ตรงกันข้ามกับกลุ่มเกษตรกรที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ในมือ การตัดสินใจเสี่ยงเลือกแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ เช่นเรื่องรูปแบบการเพาะปลูก และประเภทของพื้นที่จะนำมาเพาะปลูก มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้มากกว่าเกษตรกรเช่าที่ดิน เพราะปราศจากข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาหรือต้นทุนในการเช่าที่ดิน ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถเลือกลงทุนลงแรงไปกับการพัฒนาที่ดินทั้งระยะสั้นและยาวได้ รวมทั้งยังสามารถนำที่ดินไปเป็นหลักฐานค้ำประกันเงินกู้ เพื่อแปลงทรัพยากรให้เป็นเงินทุนที่นำมาหมุนเวียนได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของเกษตรกรในปราจีนบุรีตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ควรเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่ช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและลดความไม่แน่นอนให้กับชีวิตของเกษตรกร กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับเกษตรกรเองได้เช่นกัน เพราะภูมิทัศน์ของพื้นที่ในบริเวณนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในสายตาของรัฐและกลุ่มทุน

ทุน ความรุนแรง กับการพรากที่ดินเกษตรกรรมในพื้นที่หลังบ้าน EEC

การเกิดขึ้นของโครงการ Eastern Seaboard ในช่วงทศวรรษ 2530 ตามด้วยโครงการ EEC ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดปราจีนบุรีถูกหมายตาจากกลุ่มทุน ในการพัฒนาเป็นพื้นที่หลังบ้าน รองรับการขยายตัวของเขตพื้นที่อุตสาหกรรม EEC แน่นอนว่าพื้นที่ที่ถูกหมายตาเหล่านั้นจำนวนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม  

แผนภาพ 1: การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในจังหวัดปราจีนบุรี 2546-2562 (ไร่)

ข้อมูลจาก: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2557). สถิติการใช้ที่ดิน จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ. 2546-2556. เข้าถึงได้จาก http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/tables/22500_Prachin_Buri/100101_46-56.xls; สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2563). ลักษณะการถือครองที่ดินทางการเกษตร จำแนกเป็นรายภาค และจังหวัด พ.ศ. 2553 – 2562. เข้าถึงได้จาก http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_11_19_TH_.xlsx.

การเปลี่ยนมือที่ดินสู่กลุ่มนักลงทุนย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกษตรกรในพื้นที่นี้คาดคิดมาก่อน เพราะไม่มีเกษตรกรคนใดอยากเสียทรัพยากรที่สำคัญต่อชีวิตและการประกอบอาชีพของตนเองไป แต่ด้วยความต้องการที่ดินและมูลค่าที่ดินนอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดความพยายามดึงเอาที่ดินจากมือเกษตรกรพื้นที่บริเวณนี้บ่อยครั้งและเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งด้วยการซื้อที่ดินตามหลักกลไกตลาดทั่วไป กระทั่งการใช้ความรุนแรงและการคุกคามโดยบรรดาผู้มีอิทธิพล ในบางกรณี

หนึ่ง (นามสมมติ) เกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรีเคยพูดกับผู้เขียนไว้ว่า

“ถ้าเขาต้องการที่(ดิน)ของเรา ก็ต้องยอมหลีกทางให้เขาไป หากไปขวางทางเขา ถ้าไม่ถูกยิงตายเสียก่อน ยังไงก็อยู่ที่(แถว)นี้ไม่ได้”

นอกเหนือจากการดึงที่ดินเกษตรกรรมเข้าสู่ตลาดโดยตรงอย่างการใช้ทุนและความรุนแรงแล้ว การดึงที่ดินยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทางอ้อมเช่นกัน โดยเกิดจากการขยายตัวของการใช้ที่ดินภาคอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง และการกว้านซื้อที่ดินโดยรอบของบรรดากลุ่มทุนที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้า เนื่องจากผลของมันตามมาด้วยสถานการณ์การแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากภาคเกษตรกรรม การรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงานสู่แปลงที่ดินเกษตร รวมถึงปัญหาน้ำท่วม (ที่ตั้งของโรงงานและการปรับระดับความสูงที่ดินมีส่วนต่อการขัดขวางเส้นทางเดินทางของน้ำฝนสู่แม่น้ำ) ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อกระบวนการเพาะปลูกของเกษตรกร จนกลายเป็นแรงบีบทางอ้อมให้เกษตรกรจำต้องยอมปล่อยมือจากที่ดิน

ในเมื่อที่ดินที่ควรจัดว่าเป็นทรัพยากรสำหรับสร้างความแน่นอนให้กับชีวิตเกษตรกร ได้กลายเป็นความไม่แน่นอน ด้วยแรงบีบจากทุนและความรุนแรง ดังนั้นหนึ่งในทางเลือกที่เกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้นำขึ้นมาใช้คือการรื้อฟื้นภูมิทัศน์เดิมกลับมา นั่นคือการทำให้ที่ดินแห่งนี้เป็น ‘แหล่งอาหาร’ สำคัญของทั้งคนท้องถิ่นและคนทั่วโลก เพื่อจะช่วยรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมของคนท้องถิ่นและที่ดินภาคเกษตรกรรมของพื้นที่นี้เอาไว้

รูปที่ 1: แปลงเกษตรกรรมขนาดใหญ่ระยะไม่ห่างจากเขตอุตสาหกรรม

           

ปกป้องแหล่งอาหาร ปกป้องอนาคตเกษตรกร

“การส่งเสริมให้ตั้งโรงงานและกิจการที่สืบเนื่องจากกัน(เช่น บ่อขยะ และโรงงานกำจัดขยะ) ถือเป็นความไม่เข้าใจรากของปราจีนบุรี และเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากรากเหง้าเดิมที่มีมา คือการเป็นพื้นที่ทำเกษตร … แม้ตนจะไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น แต่การทำความเข้าใจรากฐาน และคำนึงถึงหลากหลายมิติ (ไม่เพียงแต่มิติเศรษฐกิจเท่านั้น)ถือเป็นสิ่งที่ช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้”

เสียงของป้ารี (นามสมมติ) เกษตรกรในปราจีนบุรี เน้นย้ำถึงให้เห็นถึงสภาพภูมิทัศน์เดิมที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังยึดถืออยู่ นั่นคือการเป็นแหล่งอาหารสำหรับทุกคน แม้จะเป็นเสียงที่ไม่ได้เรียกร้องถึงปัญหาที่ดินเกษตรกรรมถูกรุกโดยตรง แต่ก็สามารถสะท้อนถึงการตัดสินใจและความหวังของเกษตรกรที่มีต่ออนาคตของพื้นที่แห่งนี้

ขณะที่มิว (นามสมมติ) เกษตรกรรุ่นใหม่ในปราจีนบุรี ก็มองว่าการตัดสินใจเลือกเส้นทางเกษตรกรบนพื้นที่แห่งนี้ ยังสามารถเป็นความหวังและช่วยเลี้ยงชีพแก่ตนเองและครอบครัวได้ แม้ว่าต้นทุนและที่ดินที่ครอบครัวมีอยู่จะมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทดแทนข้อจำกัดดังกล่าวได้ก็คือแนวทางทำเกษตรที่แตกต่างจากเกษตรกรคนอื่น

“เกษตรกรเป็นอาชีพที่กุมอาหารของคนทั้งโลก หากอยู่เป็นก็อยู่ได้ … สิ่งสำคัญ คือต้องมีความรู้ ปลูกพืชหลากหลาย มองหาตลาด(ผู้ซื้อ)ก่อนปลูก และสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แม้จะมีที่ดินไม่มากก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามิวจะเชื่อมั่นในแนวทางของตนเองมากเพียงไร แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมใกล้กับแปลงที่ดินเกษตรของตนเอง ซึ่งมิวเองก็เป็นเกษตรกรคนหนึ่ง นอกเหนือจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่อีกหลายคน ที่ได้พยายามลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้ในฐานะแหล่งอาหาร และยืนยันว่าการส่งเสริมวิถีเกษตรกรรมยังสามารถเป็นโอกาสให้กับคนอีกหลายคนได้ในอนาคต

รูปที่ 2: แปลงที่ดินของเกษตรกรรุ่นใหม่กับความหวังในการเป็นแหล่งอาหารหนึ่งของคนทั้งโลก

           

ท้ายที่สุด ในเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลางความไม่แน่นอน และความสำคัญของที่ดินในฐานะใจกลางของความ (ไม่) แน่นอนของเกษตรกรในกรณีนี้ สิ่งที่ควรถูกนำไปพิจารณาต่อคือ จะทำอย่างไรให้การถือครองที่ดินของเกษตรกรมีความมั่นคงได้

จากประสบการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา เราเรียนรู้ว่าการปฏิรูปที่ดินและการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับที่ดินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องผนวกเอาแนวทางการปฏิรูประบบภาษี ระบบสวัสดิการ ระบบการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย โดยที่เราไม่ควรปล่อยให้เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตและผู้พัฒนาแหล่งอาหารของทุกคน ต้องกลายเป็นผู้แบกรับผลจากการพัฒนาและความไม่แน่นอนเพียงลำพัง


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยย่อยเรื่อง ‘เกษตรกรบนหนทางของความไม่แน่นอน: จากการเปลี่ยนที่ดินให้กลายเป็นทุนสู่ยุทธศาสตร์การดำรงชีพของเกษตรกรเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน’ ภายใต้ชุดโครงการวิจัย ‘ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

 

References
1 Cancian, F. (1980). ‘Risk and Uncertainty in Agricultural Decision Making,’ In Peggy F. Barlett (ed.). Agricultural Decision Making: Anthropological Contributions to Rural Development (161-176). Florida: Academic.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save